ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ไมโครซอฟท์ประกาศเข้าซื้อโนเกีย 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ บทความนี้เป็นการเก็บรายละเอียดการซื้อกิจการ + บทวิเคราะห์แบบเร่งด่วนนะครับ
อย่างแรกสุดเลยต้องย้ำก่อนว่า ไมโครซอฟท์ไม่ได้ซื้อโนเกียหมดทั้งบริษัท ซื้อเฉพาะส่วนมือถือเท่านั้นโนเกียยังอยู่ไม่หายไปไหนในฐานะบริษัทอิสระ เพียงแต่จะไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่มือถือแทนเท่านั้นเอง
ไมโครซอฟท์อธิบายเรื่องการซื้อกิจการรอบนี้ไว้ค่อนข้างละเอียด มีสไลด์ประกอบอย่างดี ผมแปะสไลด์เวอร์ชันเต็มไว้ด้วยจะได้อ้างอิงกันง่ายๆ ส่วนรูปที่ใช้ประกอบบทความจะคัดมาเฉพาะสไลด์สำคัญๆ เท่านั้น
ใครซื้ออะไร
เริ่มต้นเราต้องมาดูรายละเอียดของ "ข้อตกลง" (หรือดีล) ที่ว่านี้ก่อนว่า ทั้งสองบริษัทตกลงอะไรกันบ้าง
จากสไลด์จะเห็นว่า ประเด็นหลักคือไมโครซอฟท์ซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์ (phone business) ของโนเกียเท่านั้น
สิ่งที่โนเกียเหลืออยู่ก็ตามที่ผมไฮไลท์สีเหลืองไว้ ได้แก่
- ธุรกิจอุปกรณ์เครือข่าย NSN (Nokia Siemens Network เดิม โนเกียเพิ่งซื้อหุ้นส่วนของ Siemens คืนเมื่อเร็วๆ นี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น Nokia Solutions and Networks)
- ธุรกิจแผนที่ตระกูล HERE ซึ่งเป็นกิจการ NAVTEQ เดิมที่โนเกียซื้อมาอีกที
- CTO Office อันนี้สำนักงานทั่วไป
- สิทธิบัตรต่างๆ ของโนเกีย โนเกียยังเป็นเจ้าของอยู่
ในสไลด์ไม่ได้บอกไว้ชัด แต่โนเกียยังคงความเป็นเจ้าของ "แบรนด์" ของตัวเองไว้อยู่เช่นเดิม ไมโครซอฟท์ไม่ได้สิทธิทำสมาร์ทโฟนใต้แบรนด์โนเกีย (เรื่องแบรนด์จะกล่าวถึงต่อไป)
งานนี้นอกจากไมโครซอฟท์จะได้ธุรกิจมือถือที่เป็นหัวใจสำคัญแล้ว ก็ยังได้
- "ความเป็นเจ้าของ" สิทธิบัตรบางส่วนของโนเกียที่ซื้อมาจาก Qualcomm อีกที
- "สิทธิการใช้งาน" สิทธิบัตรของโนเกีย
- "สิทธิการใช้งาน" แผนที่ HERE
ข้อตกลงครั้งนี้มีมูลค่ารวมตามตัวเลขในสไลด์ (แปลงเป็นดอลลาร์คือ 7.2 พันล้านดอลลาร์) โดยแยกส่วนการตีมูลค่าเป็นเรื่องของแผนกมือถือ และทรัพย์สินทางปัญญา
ในแง่โครงสร้างการบริหาร โนเกียจะยกธุรกิจมือถือทั้งหมดเข้ามาเป็นฝ่ายใหม่ของไมโครซอฟท์เลย พนักงานทั้งหมดในฝ่ายนี้จำนวน 32,000 คนจะโอนมาเป็นพนักงานของไมโครซอฟท์ (อย่าลืมว่าบริษัทโนเกียยังมีอยู่นะครับ) และผู้บริหารของโนเกียที่เห็นตามภาพก็จะกลายมาเป็นผู้บริหารของไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์จะเรียกฝ่ายของโนเกียเดิมว่าเป็นฝ่าย "Devices" โดย Stephen Elop จะมาเป็นหัวหน้าของฝ่ายนี้ด้วย (รายงานตรงต่อ Steve Ballmer) ส่วนฝั่งของโนเกียจะเปลี่ยนตัวซีอีโอเป็น Risto Siilasmaa ประธานบอร์ดของโนเกียนั่งแทนไปพลางๆ ก่อน (แล้วหาซีอีโอตัวจริงต่อไป)
จากภาพ Risto Siilasmaa คือคนซ้ายมือ ตามมาด้วยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญคือ Steve Ballmer และ Stephen Elop
ลูกน้องเก่าของ Elop จะเข้ามาเป็นผู้บริหารของไมโครซอฟท์ และยังเป็นลูกน้องของ Elop ต่อไปดังเดิม
แต่ไมโครซอฟท์เองก็มีฝ่ายฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว (Devices and Studios ที่คุมโดย Julie Larson-Green อดีตหัวหน้าทีมวินโดวส์) ในเบื้องต้นจะแยกกันบริหารไปก่อน แต่ Julie Larson-Green จะต้องรายงานตรงต่อ Elop แทน
เมื่อการควบกิจการใกล้เสร็จสิ้น (ผ่านกระบวนการอนุมัติของหน่วยงานภาครัฐแล้ว) ไมโครซอฟท์จะยุบสองฝ่ายนี้รวมกันเป็นฝ่ายใหม่ในอนาคต (ไว้ว่ากันอีกครั้ง)
ข้อมูลส่วนนี้นำมาจาก Steve Ballmer email to Microsoft employees on Nokia Devices & Services acquisition
แบรนด์
เรื่องแบรนด์ "โนเกีย" ยังน่าสับสนพอสมควรครับ เรื่องนี้อธิบายเป็นตัวเล็กๆ ไว้ในสไลด์
- โนเกียยังเป็นเจ้าของแบรนด์ "Nokia" ดังเดิม
- ไมโครซอฟท์ได้แบรนด์ Lumia และ Asha
- ไมโครซอฟท์ได้สิทธิใช้ชื่อแบรนด์ Nokia สำหรับฟีเจอร์โฟนนาน 10 ปี
แบบสรุปๆ ก็คือ
- เราจะได้เห็นแบรนด์ Microsoft Lumia และ Microsoft Asha แทน Nokia Lumia/Asha
- เราจะเห็นฟีเจอร์โฟนแปะตรา Nokia ต่อไป แต่ผลิตโดยไมโครซอฟท์
อันนี้จะเหมือนกับ Lenovo ได้สิทธิแปะตรา IBM ต่อไปพักหนึ่ง และได้แบรนด์ ThinkPad เป็นสิทธิขาด
ทำไมไมโครซอฟท์ต้องซื้อโนเกีย?
ไมโครซอฟท์อธิบายไว้ตามสไลด์ โดยเหตุผลหลักคือ 2 ข้อแรกครับ Accelerate Phone Share และ Strengthen Overall Opportunity
เริ่มจากส่วนแรกคือ Phone ก่อน
อันนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากเพราะโนเกียก็อยู่ในสภาพกึ่งเมืองขึ้นของไมโครซอฟท์มาได้ 2 ปีกว่าๆ แล้ว (นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2011) ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์นั้นชัดเจนว่าจะยังผลักดัน Windows Phone ต่อไป ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (แม้ส่วนแบ่งตลาดยังไม่เยอะ) แต่ก็ชนะ BlackBerry ขึ้นมาเป็นขั้วที่สามได้อย่างชัดเจน
ในแง่ของแบรนด์ก็ชัดเจนในหมู่คนทั่วไปว่า Windows Phone = Nokia ตรงไปตรงมามาก
แต่ไมโครซอฟท์ก็ไม่ได้มองแค่มือถืออย่างเดียว ยังมองไปถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ของโนเกีย เช่น กล้อง การสื่อสาร ฯลฯ รวมถึง form factor ใหม่ๆ ของอุปกรณ์พกพาในอนาคตด้วย ซึ่งกิจการฮาร์ดแวร์ของโนเกียตอบโจทย์อันนี้ได้
ส่วนที่สองคือ Strengthen Overall Opportunity เป็นเรื่องของโอกาสใหม่ๆ หลังการควบกิจการ
สังเกตจุดที่ผมวงไว้ในสไลด์นะครับ ไมโครซอฟท์เน้นย้ำคำว่า "devices" และ "services" มาก
ถ้าย้อนไปเปิดดูข่าวเก่า ไมโครซอฟท์ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ยุบหน่วยธุรกิจทั้งหมดเข้าด้วยกัน เน้นการประสานงานที่ดีขึ้น วิสัยทัศน์ใหม่ของไมโครซอฟท์คือ
Going forward, our strategy will focus on creating a family of devicesand servicesfor individuals and businesses that empower people around the globe at home, at workand on the go, for the activities they value most.
อันนี้ชัดเจนมากว่าการซื้อโนเกีย ตอบสนองเรื่อง devices จังๆ และมีเรื่อง services มาเกี่ยวข้องด้วยในส่วนของ HERE (geospatial) ตามที่ไฮไลท์สีไว้
สไลด์นี้ไมโครซอฟท์ขยายความในประเด็น "services"
- Service ที่ไมโครซอฟท์มีอยู่แล้วคือ Office, Skype, Xbox Live, SkyDrive, Bing
- ได้ส่วนของ geospatial/mapping ที่สำคัญต่อยุคแห่งอุปกรณ์พกพามาเสริมทัพ
- ตรงที่ไฮไลท์สีส้ม ชัดเจนมากว่าไมโครซอฟท์ต้องการเป็น "ทางเลือก" นอกจากกูเกิล ในเรื่อง digital map of the world
ย้ำอีกรอบว่าไมโครซอฟท์ไม่ได้ซื้อ HERE แต่ขอสิทธิการใช้งานแทน ช่วยให้ไมโครซอฟท์มีทางเลือกในการนำข้อมูลจาก HERE ไปผสมผสานกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ (เช่น อาจเป็น Tom Tom/Tele Atlas หรือพวก MapQuest ก็ได้) ส่วนโนเกียก็ยังคงสิทธิการนำ HERE ไปขายให้คนอื่นๆ ได้ดังเดิม ซึ่งน่าจะส่งผลไปถึงธุรกิจใหม่ๆ ของโนเกียในอนาคต (เช่น Nokia Connected Driving ที่เพิ่งเปิดตัว)
สไลด์นี้พูดถึง "devices" กับ "services" ว่าจะช่วยเสริมกันได้อย่างไร ไมโครซอฟท์อธิบายว่าในยุค consumerization of IT ผู้ใช้นั้นใช้อุปกรณ์เดียวกันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน (ย้อนกลับไปอ่านวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์อีกรอบ)
- ไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญกับ "โทรศัพท์" เพราะเป็นจุดที่สร้างมูลค่าจากการใช้งานได้เยอะ
- ไมโครซอฟท์จะยังทำบริการของตัวเองให้ใช้ได้บน iOS/Android ต่อไป
- แต่ไมโครซอฟท์ไม่สามารถเสี่ยงให้นวัตกรรมด้านมือถือเกิดจาก แอปเปิล/กูเกิลเพียงสองบริษัทได้ (เป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมาทำมือถือเอง)
- ไมโครซอฟท์จึงจำเป็นต้องมี "Microsoft phone" คุณภาพดี (first-rate) มาแข่งขัน
สไลด์นี้ต่อจากสไลด์ข้างต้น อธิบายว่าการซื้อโนเกียนั้นช่วยการันตีอนาคตของ Windows Phone ระบบปฏิบัติการมือถือที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 (เชียวนะ)
จุดสำคัญในสไลด์คือคำว่า first party hardware โดยอธิบายว่าโมเดลการทำโทรศัพท์แบบ OEM อย่างเดียวนั้นแพงเกินไปสำหรับอุตสาหกรรมนี้
ไมโครซอฟท์ได้อะไรจากธุรกิจฮาร์ดแวร์ของโนเกียบ้าง? ในสไลด์อธิบายไว้ครบถ้วนดี แต่ผมอยากเน้นประเด็นที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจนัก (แต่สำคัญไม่แพ้กัน)
- ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของโนเกีย กว้างขวางมากจากประสบการณ์ในธุรกิจนี้อันยาวนาน
- ซัพพลายเชนระดับโลก ผลิตมือถือขายทันแน่นอน
- ช่องทางการขาย-สนับสนุนหลังการขายผ่านโอเปอเรเตอร์ ซึ่งในหลายๆ ประเทศ (อย่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น-จีน-ยุโรป) สำคัญมากๆ
ความคุ้มค่าของดีล (ในสายตาของไมโครซอฟท์)
ตัวเลขที่ไมโครซอฟท์ประกาศคือ รายได้ของไมโครซอฟท์จะเพิ่มขึ้นทันที 14.9 พันล้านยูโร โดยคิดจาก 50% ของรายได้โนเกียทั้งบริษัทในปี 2012 (เพราะไม่ได้ซื้อทั้งบริษัท)
เรื่องไมโครซอฟท์-โนเกีย ต้องย้อนไปดู ข้อตกลงเมื่อปี 2011 เพราะทั้งสองบริษัทนี้มีข้อตกลงเรื่องการใช้งาน Windows Phone ร่วมกันอยู่แล้ว (อายุสัญญา 5 ปีในช่วงแรก และเจรจาต่อในอีก 5 ปีหลัง)
จากสไลด์ ไมโครซอฟท์อธิบายว่าภายใต้สัญญาฉบับเดิม ไมโครซอฟท์จะได้เงินจากโนเกียเป็นค่า license การใช้ Windows Phone น้อยกว่า 10 ดอลลาร์ต่อเครื่อง โดยที่ไมโครซอฟท์ต้องจ่ายค่าวิจัย-พัฒนา-การตลาดให้
เมื่อเทียบกับสัญญาฉบับใหม่แล้ว ไมโครซอฟท์จะมีรายได้จากการขายมือถือของโนเกียประมาณ 40 ดอลลาร์ต่อเครื่อง (มากกว่าเห็นๆ) โดยที่ได้ประโยชน์เรื่องการพัฒนาที่เชื่อมกับฮาร์ดแวร์ของโนเกียเพิ่มเข้ามา และการตลาดก็จะได้เจาะจงมากขึ้น
ในวงสีแดง ไมโครซอฟท์ประเมินว่าจะคุ้มทุนในแง่การดำเนินงาน (operating income breakeven) ถ้าขายมือถือ smart device ได้มากกว่า 50 ล้านเครื่อง (เข้าใจว่าเป็นตัวเลขต่อปี)
ประเมินโอกาสตลาด เวอร์ชันไมโครซอฟท์ประเมินเอง
ปี 2018 โลกเราน่าจะมีสมาร์ทโฟนขายออกไป 1.7 พันล้านเครื่อง ไมโครซอฟท์หวังส่วนแบ่งตลาด 15% ( ตัวเลขล่าสุดของ Gartner บอกว่า Windows Phone มี 3.3%, ComScore บอก 3.1%)
ไมโครซอฟท์ประเมินว่าจะมีรายรับ (revenue) จากการนี้ 45 พันล้านดอลลาร์ ถ้าคิดอัตราส่วนกำไรแบบหยาบๆ 10% ก็จะมีกำไร 4.5 พันล้านดอลลาร์ เกินครึ่งของเงินที่จ่ายออกไปแล้ว
สไลด์นี้น่าสนใจเพราะเป็นการประเมินความคุ้มค่าเรื่องสิทธิบัตร โดยรวมๆ แล้วสรุปได้ว่า การที่ไมโครซอฟท์ได้สิทธิใช้งานสิทธิบัตรของโนเกีย + สิทธิบัตรเดิมของไมโครซอฟท์เอง + สิทธิบัตรที่ไมโครซอฟท์เคยไปตกลงกับชาวบ้านไว้ (ชื่อตามสีเหลือง) ทำให้ไมโครซอฟท์มีสิทธิบัตรด้านอุปกรณ์พกพาในมือเป็นจำนวนมาก และถ้าตีเฉลี่ยออกมาเป็นต้นทุนแล้ว ไมโครซอฟท์จะมีต้นทุนด้านสิทธิบัตรถูกกว่าคู่แข่งอย่างมาก
แล้วไงต่อ?
ขั้นต่อไป ไมโครซอฟท์จะต้องยื่นเอกสารขออนุมัติการซื้อกิจการในหลายๆ ประเทศ ตามกฎระเบียบในแต่ละประเทศที่โนเกียทำธุรกิจอยู่ คาดว่ากระบวนการทางเอกสารทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2014
ไมโครซอฟท์คาดว่าดีลนี้จะผ่านการอนุมัติโดยเร็ว เพราะช่วยลดการผูกขาดตลาดของแอปเปิล-กูเกิลในภาพรวม นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังการันตีว่าจะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ฮาร์ดแวร์รายอื่นๆ ในธุรกิจ Windows-Windows Phone ต่อไปดังเดิม
สุดท้ายก็จบลงด้วยว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์เพราะมีการแข่งขันมากขึ้น
บทวิเคราะห์การซื้อกิจการ
ผมออกตัวก่อนว่ายังนึกไม่ค่อยออกถี่ถ้วนเท่าไรนะครับ เบื้องต้นเท่าที่ทำได้ก็ตามนี้
- ความต่อเนื่องทางธุรกิจระหว่างไมโครซอฟท์-โนเกียนั้นชัดเจนมานานแล้ว (ตั้งแต่โนเกียเริ่มทำ Windows Phone) หลายๆ คนแถวนี้ก็พูดกันหลายครั้งว่าไมโครซอฟท์ควรซื้อมาตั้งนานแล้ว ช่วงที่ผ่านมาเราก็เห็นข่าวการเจรจาหลุดออกมาหลายครั้ง และมาสำเร็จในวันนี้
- การซื้อกิจการรอบนี้น่าจะเทียบ " กรณีกูเกิลซื้อโมโตโรลา " ได้มากที่สุด เพราะเกมโลกไอทีในปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งอุปกรณ์พกพา มันจะอิงกับตัว device มากกว่ายุคของพีซีมาก เนื่องจากอุปกรณ์เป็นสิ่งที่อยู่ติดตัวกับผู้ใช้โดยตลอด ไม่เป็นของทั่วไป (commodity) เหมือนยุคพีซีที่จะเลือกใช้อะไรก็ได้ไม่ต่างกันนัก คนที่เปิดเกมนี้สำเร็จคือแอปเปิล ซึ่งบีบให้ Google ต้องมี hardware unit ของตัวเอง และไมโครซอฟท์ต้องเดินรอยตาม
- ประเด็นรองลงไปคือส่วนของบริการ (service) ตามวิสัยทัศน์ที่ไมโครซอฟท์วางไว้ตอนปรับโครงสร้างองค์กร เดิมทีไมโครซอฟท์มี Service อยู่บ้างแล้วบางส่วน (เช่น Skype/Outlook/Bing) การได้ Here Maps ของโนเกียย่อมช่วยเติมเต็มให้ไมโครซอฟท์มากขึ้น แต่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ไมโครซอฟท์ก็จับมือกับโนเกียทำ Here อยู่แล้ว ถึงขนาดโยก Bing Maps มารวมกับ Here ตั้งแต่สัญญาฉบับที่แล้ว ในภาพรวมมันช่วยให้ฝั่ง service ของไมโครซอฟท์แข็งขึ้น แข่งกับกูเกิลได้มากขึ้น
- แผนกฮาร์ดแวร์ของไมโครซอฟท์ต่อจากนี้ไป จะประกอบด้วย (1) Xbox (2) Surface (3) Nokia ถือว่าครบไลน์ทุกระดับชั้น (ถ้าจัดทัพดีๆ เหนือกว่าแอปเปิลอีกเพราะมีเกมด้วย) แต่ก็ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าแต่ละแผนกจะทำงานร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน มีการเมืองภายในอย่างไร
- เอาเข้าจริงแล้วไมโครซอฟท์ซื้อธุรกิจมือถือของโนเกียรอบนี้ในราคาถูกมาก (7.2 พันล้านดอลลาร์) เทียบกับกูเกิลซื้อโมโตโรลา 12.5 พันล้านดอลลาร์ หรือ ไมโครซอฟท์เองก็เพิ่งซื้อ Skype ในราคาที่แพงกว่าคือ 8.5 พันล้านดอลลาร์
- การทุ่มทุนซื้อโนเกียรอบนี้ ถ้าไมโครซอฟท์ยังทำไม่สำเร็จอีกในตลาด consumer device (phone+tablet+อื่นๆ) ก็คงต้องม้วนเสื่อกลับบ้านแล้วหันไปทำเฉพาะตลาด enterprise อย่างเดียวแล้ว โอกาสสุดท้ายแล้ว
- คนที่ซวยสุดงานนี้คือ BlackBerry เพราะไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในว่าที่ผู้ซื้อ พอมาซื้อโนเกียแล้วก็คงไม่สนใจซื้อ BlackBerry อีก (ภาษาเซลส์เรียกว่า prospect ลดลงไปหนึ่ง) ก็คงต้องหาผู้ซื้อรายอื่นต่อไป เช่น Lenovo/Samsung
- การซื้อโนเกียทำให้สภาวการณ์ "สามก๊ก" ยิ่งแจ่มชัดขึ้น ในหมู่ทั้งสามก๊กคงสู้กันต่อไปอย่างดุเดือด แต่บริษัทอื่นๆ นอกสามก๊กที่ระดับรองๆ ลงไปก็คงต้องปรับตัวกันมากขึ้น รายแรกเลยที่โดนผลกระทบชัดเจนคือซัมซุง (มีฮาร์ดแวร์เอง พยายามทำซอฟต์แวร์-บริการอยู่) ซึ่งก็คงต้องรีบทำ Tizen ให้เร็วขึ้น แต่ที่น่าจะกระทบหนักคงเป็น HTC หรือ LG ที่ขนาดเล็กกว่าซัมซุง และไม่ว่าจะเลือก Android/Windows Phone ก็ต้องไปทำฮาร์ดแวร์แข่งกับบริษัทลูกของเจ้าของระบบปฏิบัติการอยู่ดี
- ในอีกมุม บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์-บริการที่ขนาดรองๆ ลงมาอย่าง Yahoo! หรือ Facebook ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะไม่มีฮาร์ดแวร์เป็นของตัวเอง
- เป็นไปได้สูงว่าเกมนี้จะบีบให้แอปเปิลซื้อบริษัทมาเสริมทัพด้านบริการของตัวเอง (ที่ยังไม่เด่นเท่ากูเกิล/ไมโครซอฟท์) เป้าหมายขนาดใหญ่ที่เป็นไปได้ก็มีทั้ง Twitter หรือ Foursquare (รายหลังอาจยากหน่อยถ้า ข่าวไมโครซอฟท์ลงทุนใน Foursquare เป็นจริง)
โดยสรุปแล้ว การซื้อกิจการรอบนี้น่าจะทำให้ไมโครซอฟท์เข้มแข็งขึ้นมากในแง่ devices และเป็นจิ๊กซอสำคัญให้ไมโครซอฟท์เปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่
ไมโครซอฟท์ยุคใหม่
- วิสัยทัศน์ใหม่ ขยายจากซอฟต์แวร์อย่างเดียว มาเป็น devices and services
- ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่
- ซีอีโอคนใหม่ (ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร)
ซีอีโอคนใหม่ของไมโครซอฟท์ต้องมือถึงมากๆ ในการผลักดันองค์กรใหญ่ขนาดนี้ให้เดินหน้าไปได้ โดยส่วนตัวแล้วผมยังไม่ค่อยมั่นใจนักว่า Stephen Elop จะได้เป็นซีอีโอ และน่าจะจำกัดบทบาทของตัวเองในการคุมเฉพาะฝ่าย Device มากกว่า (ผมเอนเอียงไปทางซีอีโอคนนอก) แต่เรื่องนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นก็ไม่กล้าฟันธงครับว่า Elop จะได้นั่งเก้าอี้ซีอีโอหรือเปล่า อันนี้ต้องรอดูกันต่อไปอีกไม่ช้าไม่นานครับ
Comments
วิเคราะห์ได้ดีครับ
ว่าแต่เว็บแอบเปลี่ยนฟอนต์นะ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
เรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายที่เห็น MS พลาดมาหลายรอบล่ะตั้งแต่ Zune HD ล่าสุดก็ Surface
ช่องทางที่ควรขายคือช่องทางราคาถูกครับ ต่อให้วางขายตามเซเว่น แต่ราคาดังกล่าวเห็นทีว่าขายยากอ่ะ
เห็นพยายามเปิด Microsoft Store ในสหรัฐอยู่เรื่อยๆ นะครับ แต่ในระยะสั้นก็คงสู้เครือข่ายร้านของแอปเปิล หรือช่องทางการขายของพวกแบรนด์มือถือมากๆ (ซื้อเลยเร็วกว่า)
คราวนี้ได้ ช่องทางของ Nokia มาเสริม น่าจะทำได้ดีขึน้นะครับ
วางเกมไว้เป็นปีเลย ตั้งแต่ส่ง spy ไปทำงาน ตอนนี้งานเสร็จแล้ว เหมือนกลับทัพ ต่อไปก็ดูละว่าเราจะเห็น Nokia ตั้งชื่อแปลกๆ เลขซ้ำๆ กัน แต่มีหลาย edition ก็เป็นได้ เวียนหัวกันไปข้างหนึ่งเลย
ครบถ้วนทั้งเนื้อข่าวและการวิเคราะห์ เยี่ยมครับ
นี่แปลว่าจะไม่ได้เห็น smartphone ยี่ห้อ Nokia ในอนาคตอีกแล้ว กลายเป็น M$ Lumia แทน
อดข้าว อดน้ำ ตามมาอ่านจาก twitter ครับ
อ่านจบดูเหมือนว่าจะสวยงามครับ แต่หนทางยังยาวไกล
ตอนนี้รอสามก๊กเค้าตีกัน ผู้ใช้น่าจะได้ประโยชน์ครับ
อยากให้ช่วยผมวิเคราะห์หน่อยครับว่าข้อ 6 ถ้าไมโครซอฟท์ม้วนเสื่อกลับบ้าน แล้วโนเกียจะทำอะไรต่อ จะไปในทิศทางไหนครับ
ไมโครซอฟท์ซื้อโนเกียเฉพาะส่วนมือถือ ดังนั้นก็แยกกันไปแล้ว ส่วนโนเกียก็คงไปทำธุรกิจในส่วนอื่นๆ ของตัวเองครับ
แสดงว่า ถ้าไมโครซอฟท์ล้ม ก็ไม่เน้นที่พึ่งซื้อมาจากโนเกียใช่ไหมครับ
"ก็ไม่เน้นที่พึ่งซื้อมาจากโนเกียใช่ไหมครับ" แปลว่าอะไรครับ
ตกลงว่าซื้อธุรกิจมือถือของโนเกีย ไม่ได้ซื้อโนเกีย ผมเข้าใจถูกต้องไหม?
ว่าทำไมมันถูก
ต้องไม่ลืม 5 ล้าน ที่ Microsoft ให้ Nokia ไปก่อนหน้านี้นะครับ
ความสั่นสะเทือนน่าจะไปไหวอยู่ทางฝั่งกู้เกิ้ลและโมโต ส่วนแอปเปิ้ลเกิดอาการเหวอเหมือนเห็นข่าวสึนามิ
ขอบคุณครับขออ่านละเอียดๆอีกหลายๆรอบ
เรื่องเบรนนี่ หลักจากผ่านไป 10ปี คนจะลืมโนเกียกันมั้ยเนื้ย
もういい
Microsoft Lumia !!! แฟน Nokia คงจะซื้อหรอกครับ
ตลกแล้ว อุตส่าห์เสียเงินซื้อ แต่ไม่ได้แบรนด์ Nokia มาด้วย
ผมซื้อครับ ;)
คุณเป็นสามวก Microsoft นี่ครับ
Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project
"แฟน Nokia คงจะซื้อหรอกครับ" ผมก็ใช้ Nokia มาหลายเครื่องนะ (3210, 3310, 8250) ก็อาจจะเป็นแฟน Nokia ได้อยู่บ้างมั้ง แต่ผมไม่ชอบ Symbian ก็ไม่ได้ตามหันมาใช้ยี่ห้ออื่นแต่ แต่พอมาใช้ WP8 ผมก็กลับมาใช้ แล้วทำไมจะซื้อไม่ได้เหรอ?
+1
ผมเห็นสาวก Thinkpad ซื้อ Lenovo Thinkpad ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ใช่ IBM แล้ว (แปลว่าอะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม แม้จะใช้ทีมงานเดิมๆ ของ IBM ด้วย)
อันนั้นเขาซื้อแบรด์ Thinkpad ครับแต่ถ้าคนซื้อเพราะแบรนด์ MS ต้องย้อนกลับไปดูประวัติของ Kin ครับ
เกิด apple ซื้อ yahoo เรื่องคงสนุกเป็น 3 ก๊ก จริง ๆ หญ้าแพรกคงแหลกลาน
นึกภาพ โนเกีย ขาย xbox
Microsoft Lumia ผมไม่อยากได้อ่ะ ถ้าเป็น Nokia ถึงจะซื้อทำไมไม่ได้ชื่อโนเกียใน smart phone ด้วยนะ T T
+1 หรือจะเปลี่ยนแผน บอกว่า Windows Phone เป็น feature phone ตามที่เค้าแซวกันดีนะ จะได้ใช้ Nokia Lumia Windows Phone ต่อไปได้ :p
ได้สิทธิใช้แบรนด์ Nokia อีก 10 ปี นะครับ
ถ้าซื้อแค่มีโลโก้ Nokia แปะ ซื้อของปลอมจากจีนก็ได้ครับ มีโลโก้เหมือนกัน ทีมงาน Nokia ย้ายไปที่ microsoft หมด (ตามข่าว) ถ้าผมเป็นสาวก Nokia ผมเชื่อใจทีมงานมากกว่าตัวแบรนด์เอง หรือถ้าเกิดกรณีทีมนี้ลาออกไปอยู่ Jolla (ทำ Salifish) หมด (ทั้งสามหมื่นสองพันคนนี่แหละ! ยกตัวอย่างเวอร์ๆ ดี) ผมว่าสาวก Nokia ก็ควรจะหันไปหา Jolla นะครับ
เชื่อแค่ชื่อแบรนด์ แต่ไม่ได้สนใจชื่อทีมงานนี่... ของก๊อปก็ได้ครับ
จริงๆ เป็นดีลที่ผมไม่อยากให้เกิดเลย ถ้าจะเกิดจริงๆ ก็อยากให้เกิดตอนที่สัญญาห้าปีที่โนเกียต้องทำ Windows Phone ใกล้หมด หรือว่าดีลนี้ถูกเร่งขึ้นมาเพราะสตีฟเกิดเกษียณซะก่อน?
ที่น่ากังวลที่สุดคงเป็นฐานลูกค้าฝั่งยุโรปที่ Lumia ตีส่วนแบ่งการตลาดมาได้ระดับที่น่าพอใจ ว่าจะปลิวไปกับดีลนี้หรือเปล่า
อีกอย่าง พอเป็นไมโครซอฟท์แล้ว Lumia ในไทยจะดูแลเหมือนเดิมมั้ย หรือพี่จะเลิกขายไปเลยเหมือนที่ไม่สนใจกันมาช้านาน
ตรงประเด็นเลยครับ ไมโครซอฟท์นี่โคตรจะทอดทิ้งไทยแลนด์ แล้วแบรนด์ Nokia ที่เป็นที่ชอบใจของชาวยุโรปก็หายไป (ชาวไทยด้วยเผลอๆ)
อ้อ นอกจากตลาดยุโรปและไทยที่เดาว่าจะลด ตอนนี้ผมนึกได้อีกเรื่อง เริ่มสงสัยว่าไมโครซอฟท์จะใจเปรี้ยวบุกตลาดญี่ปุ่นโทรศัพท์ด้วยรึเปล่า
ถัาลองคิดกลับกันดู โนเกียก็สนใจตลาดในไทยอยู่พอสมควร พอไมโครซอฟท์ซื้อไป ก็อาจจะหันมามองตลาดในไทยมั่ง
MS ทิ้งประเทศไทยจริงเหรอคับ Windows ก็ซัพพอร์ตไทยแบบ 100% มาตั้งแต่ Windows 95 (หรืออาจจะเร็วกว่านั้น แต่ผมทันแค่ 95) Office ก็ตั้งแต่ 97 Windows Phone ก็ 100% ตั้งแต่ Windows Phone 8 Office 365 คนไทยก็ซื้อได้
ดู Xbox สิครับ
แล้วสายวินโดวส์โฟนเนี่ยเห็นชัด ขายในประเทศไทยตั้งแต่ HTC HD7, 7 Mozart (WP7.0, 2010) แต่ไมโครซอฟท์ก็ยังไม่ทำคีย์บอร์ดไทยให้สักทีจนถึงปัจจุบัน (ผ่านมาหลาย major update แล้ว 7.0 -> NoDo -> Mango 7.5 -> Refresh 7.5 -> Tango 7.5 -> 7.8 ไม่ได้มีวี่แววจะสนใจเลย) กว่าวินโดวส์โฟนจะใช้ภาษาไทยได้สมบูรณ์แบบ มีคีย์บอร์ดไทย built-in ก็ปลายปีที่แล้วที่วินโดวส์โฟน 8 ออก ซึ่งเครื่องเดิมที่อัพเป็นวินโดวส์โฟน 8 ไม่ได้ ถึงได้วินโดวส์โฟน 7.8 ไปก็ยังไม่มีคีย์บอร์ดไทย ผู้ใช้ต้องมานั่งแหกเครื่องยัดคีย์บอร์ดลงไปกันเอง ยิ่งบางรุ่นโดยเฉพาะโนเกีย bootloader แข็งแรงมาก แหกไม่ได้ ก็ต้องทนใช้แบบไม่มีคีย์บอร์ดไทยไป (ใช้แอพฯ PimThai) จนกว่าจะมีคนหาทางแหกได้
คนใช้ Lumia 900 (แพ edition) นี่น่าสงสารสุดละครับ
ถ้าโนเกียไม่เร่งทำตลาดไทยป่านนี้อาจจะยังไม่ได้เห็น keyboard ไทยบน Windows Phone
ตลาดไทยไม่เคยมีผู้เล่นหลักของฝั่ง Console ลงมาเล่นจริงจังอยู่แล้วครับ (Sony เองก็เอาไปปะกับฮ่องกง เมื่อก่อนมีแต่เกมภาษาญี่ปุ่นกับจีนด้วยซ้ำ) เหตุผลคงเพราะบ้านเรามีคนเล่นเกมไม่มากพอนั่นล่้ะครับ
บ้านเรา ผมเชื่อว่า คนเล่นมากพอ แต่คนซื้อไม่มากพอครับ
จริงสิครับ สาขาบ้านเรามีหน้าที่แค่ทำการตลาด
ส่วนภาษาไทยบน Dekstop OS มันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วหนิ ที่ต้อง Support worldwide multilanguage
ถ้าเอาเคสแบบน่าเกลียดเลยก็เอาเรื่องภาษาไทยบน WP7 เนี่ยหล่ะ ทำตลาดมามากกว่า 2 ปี ยังไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทย ส่วน Unicode ก็ต้องรอมากกว่าปี.. ตลกมาก นี่ขนาดยังไม่ทิ้งนะ
เปลี่ยนชื่อ Nokia shop เป็น Microsoft Store ขายทั้ง Nokia + MS
ผมเดาเองนะว่า โนเกียสะดุดเรื่องการเงิน ขาดทุนเยอะไป เมื่อปีก่อนก็มีข่าววิเคราห์ว่าโนเกียจะล้มในไม่กี่ไตรมาส ในความจริงดีกว่าวิเคราห์ เพราะยังกำไรจากบางส่วน แต่ดูๆก็ยังไม่สดใสเท่าไร
ผมไม่ชอบชื่อเลย Microsoft Lumia ให้ชื่อ Lumia เฉยๆซะยังดีกว่า แต่เอาให้ดีที่สุดต้องมีชื่อ Nokia
ผมว่าคงจะแค่ Lumia, Asha เฉยๆ เหมือน xbox, surface ต่อไปคงจะเหลือชื่อ Nokia แค่ตลาดล่าง feature phone เสียดาย
ผมกลับกันนะครับ กลับชอบชื่อ Microsoft แต่ไม่ค่อยชอบชื่อ Lumia
もういい
ผมว่าที่น่ากลัวที่สุดของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคไอทีใหม่นี้คือการผูกขาดทางอุตสาหกรรมอย่างเบ็ดเสร็จทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ บริการต่างๆ ของทางฝั่งสหรัฐที่แหละครับ อย่างนี้ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆเป็นเมืองขึ้นทางโลกไอทีของสหรัฐเลยนะ ไม่นับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศอื่นที่จะต้องตกกลายเป็นเบี้ยล่างของสามบริษัทยักษ์ใหญ่นี้อีก
แต่ผมมองถึง wp ที่ราคาจะต่ำลงไปอีกหลายตังเลย เหตุผล เจ้าของเครื่อง กับเจ้าของ os เป็นเจ้าเดียวกันแล้ว ค่าไลเซ่น ก็ไม่ต้องบวกเพิ่ม ค่าสิทธิบัตรหลายๆตัวก็ได้มาหมด
Surface RT ก็ไม่ได้ถูกกว่าค่ายอื่นเท่าไหร่เลยนะครับ
ต้นทุนต่ำลงครับ แต่ขายราคาเท่าเดิม
เอาฮาครับ
วิเคราะห์ดีมากครับ -/\-
ผมว่าเป็นดูเป็นดีลที่คุ้มมากๆ เลยครับ เทียบกับสิ่งที่ได้รับ โดยเฉพาะแบรนด์และช่องทางจัดจำหน่าย ยิ่งถ้าเทียบกับ Moto ก็ยิ่งคุ้มขึ้นไปอีก ตั้งแต่ Google ซื้อมาก็ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย(นอกจาก X Phone ที่ผมว่ากลางๆ ไม่ wow เท่าที่ควร) ข่าวนี้อาจทำให้ Google เคี่ยวเข็ญ Moto ขึ้นมามั่งนะ
ส่วนตัวผมว่าดีลนี้จะคุ้มหรือไม่คุ้มคงต้องรอดูว่าผู้ภักดีในแบรนด์โนเกียส่วนมากจะเดินทางไหนต่อกันล่ะครับ หากเลือกจะทิ้ง ไมโครซอฟท์อาจจะลำบากยิ่งกว่าเดิม
วิเคราะห์ได้เห็นภาพดีครับ ขอบคุณครับ
งานนี้ sony คงต้องไปดัน firefox OS กันอย่างเต็มที่ไม่ก็ ดัน vita OS มาลง โทรศัพท์เป็นทางเลือกสำรองสินะ
เคยคอมเมนท์ข่าวเก่าของโนเกียว่า ( "ยกแผนก Windows phone มาซะ ฉันจะทำเองถ้าแกจะทำช้าขนาดนี้" //Biniak ไม่ได้พูด) แต่ตอนนี้ "เอาเงินนี่ไป แล้วยกธรุกิจโทรศััพท์แกมา มาทำแผนกนี้ใหหน่อย" //Julie ไม่ได้พูด
ทีนี้คำถามคือ หลังจากที่แผนก mobile device แยกไปอยู่กับ Microsoft แล้ว Nokia มีสิทธิที่จะสร้างแผนกนี้ขึ้นมาใหม่อีกหรือเปล่า ?
ถามผม ผมว่าทำได้ อาจจะมีระบุในสัญญาว่าภายในห้าปี-สิบปี หรืออะไรก็ตามแต่ ส่วนจะทำไหมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
ส่งโทรจันไปแยกร่าง nokia แล้วซื้อส่วนที่ตัวเองต้องการ จะได้ไม่ต้องจ่ายเยอะ วางแผนแบบนี้ตั้งแต่แรกเลยสินะ
วิเคราะห์ ได้แจ่มมากครับ ขอบคุณมากครับสำหรับบทความดี ๆ
จริงๆแล้ว เหตุผลที่ Microsoft ซื้อ Nokia คือ.....
โอ๊ยยยฮา
พี่ Ballmer แกโหดจัดนี่เอง -_-
Nokia Lumia 1020 รีบๆเข้ามาเหอะกลัวของจะหมด กะจะเก็บเป็นแรร์ไอเทมซักตัว
ข่าวต่อมา Nokia ซื้อแผนกมือถือ RIM 3.5พันล้าน US
ทำ Android หวังแย่งลูกค้า SS
*ตรุอยากเห็นจริงๆ ฮ่าๆๆ
เวลาดูสาวชอบดูสาวขาวๆ Sex Sex เวลาดู Notebook ชอบแบบ"ถึกๆดำๆ"
Twitter : @Zerntrino
G+ : Zerntrino Plus
สิ่งที่รอคอยตลอดมาถึงแล้ว >_<"
เก็บตังรอยาวๆอยากได้ Notebook แบรน Microsoft ด้วย จะมีโอกาสมีมั้ยน้า >///<
surface pro ไงครับ ?
ผมอยากได้แบบ คล้ายๆ แบบ Mac book อะครับที่ทรงเป็น Notebook เลย Surface มันดูเป็น Tablet
M$ บริษัทใหญ่ทำอะไรชักช้าอืดอาดไม่ทันกิน กลัวจะเอา Nokia ไปทำซะเละเทะ เสียวจริงๆ
ยี่ห้ออื่นๆ อย่าง LG หรือ HTC ต้องลองเปลี่ยนมาใช้ Firefox OS ครับ เพราะอย่างไรไส้ใน (Kernel) ยังคงใช้ Android และ Shell = Gecko, UI = HTML5 มันจะปรับปรุงอะไรง่ายกว่าไหม
คำตอบของข้า คือ ประกาศิต
Kernel Firefox OS เป็น Linux นะครับ ไม่ได้ base from android
"รายได้ของไมโครซอฟท์จะเพิ่มขึ้นทันที 14.9 พันล้านยูโร โดยคิดจาก 50% ของรายได้โนเกียทั้งบริษัทในปี 2012"
"ไมโครซอฟท์ประกาศเข้าซื้อโนเกีย 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ"
14.9 พันล้านยูโร = 19.61 พันล้านดอลล่า
19.61 - 7.2 = 12.41
Good job, Elop -..-b
Stephen Elop ผมว่าไม่น่าได้เป็นหรอก ดูพี่แกบริหาร Nokia ดิ ไม่ไปไหนเลย หรือ เป็นแผน ทำให้หุ้นต่ำๆ จะได้ เทคได้ง่ายๆ -*-
ผมยังไม่ได้หาข้อมูลว่ามีสัญญาห้ามโนเกียทำมือถืออีกต่อไปหรือเปล่า
เพราะถ้าไม่มีสัญญาแบบที่ว่า ... โนเกียทำมือถืออีกทีคงเป็นแอนดรอยด์ ... ตัวเชียร์ WP ก็ไปแล้ว
เตรียมฉี่ใส่กางเกงหน้าหนาวได้
อารมณ์คล้ายๆ ที่คุณตันขาย Oishi แล้วไปทำ Ichitan แข่งใช่ไหมครับ ผมคิดว่าไม่น่านะครับ แบบนั้นก็โหดเกิ๊น ฮ่าฮ่า
อยากได้อะครับ Nokia ver. Android จะมีทางเป็นจริงไหมน้า.. XD
แสดงว่าถ้้าดิลนี้ผ่าน Nokia จะมี
1.เงิน 7.2 พันล้านเหรียญ
2.แบรน Nokia
3.องค์ความรู้เดิมเกี่ยวกับโทรศัพท์
4.ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับโทรศัพท์
5.ปัจจัยพื้นฐานพวกอาคารสำนักงานต่าง ๆ
แต่ที่หายไป คือ
1.คนจำนวน 32,000 คน ซึ่ง Nokia สามารถหาคนใหม่ได้โดยไม่ต้องใช้จำนวนเท่าเดิมลดต้นทุนไปในตัว
2.ฮาร์ดแวร์ ซึ่ง สมารถจ้างคนอื่นผลิตให้ได้ตามที่ตัวเองออกแบบ
3.ระบบผลิต ซึ่งสามารถจ้างคนอื่นผลิดให้ได้
4.ระบบขาย สร้างขึ้นใหม่จากประสบการณ์ที่ตนเองมี โดยอาจดึงเอาพนักงานเก่า ๆ ที่เคยทำงานด้วยกลับมาทำงานให้
เป็นไปได้ใหมว่าดิลนี้อาจทำให้ Nokia+Android หรือ Nokia+OS??? มาเร็วขึ้นกว่าเดิม
ดึงทีม Jolla กลับมา ใช้ Sailfish OS รันแอพจาก Android ได้ พร้อมเปิดตัว Nokia Jolla pureview 41 Mpx //แม่เจ้า!
คิดว่าในสัญญาคงระบุไว้แน่นอนว่า Nokia เจ้าของแบรนด์ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มาขายแข่งกับผู้ซื้อสิทธิ์์ได้หรอก โลกธุรกิจผมว่าเค้ารัดกุมเรื่องนี้มาก (และปรกติเค้าไม่ทำกันอยู่แล้ว) ส่วนหลังจากนั้นจะยังไงก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ คิดว่าจะไม่ใช่ใน 10 ปีนี้แน่ๆ เพราะมัน conflict กันเอง แล้วแบบนี้ใครจะกล้าทำธุรกิจด้วยอีก
Nokia คงไม่ แต่ Jolla ล่ะ ?
เริ่มคิดว่ารึนี่เป็นแผนสำรอง ซ้อนแผนของ Elop อีกที
กว่าจะใหญ่กันมาได้ขนาดนี้ ก็คงไม่หมูกันทั้งคู่นั่นล่ะม้างง
มันก็ไม่ใช่แบรนด์ Nokia อยู่ดีนิครับ คนส่วนใหญ่ถ้าไม่ตามข่าวก็ไม่รู้ว่า Jolla คืออะไร
ถ้าโทรจันElop เป็น CEO M$ ข่าว3ปีต่อมา โนเกียซื้อ M$เพราะ Elop ยังทำตัวเป็นโทรจัน
หนทางอยู่รอดของ Nokia
อ่านแล้วก็งง ๆ ตรงเรื่องสิทธิในแบรนด์และสิทธิบัตร
เท่าที่เข้าใจคือ ms มีสิทธิใช้ 10 ปี สำหรับแบรนด์ nokia และ สิทธิบัตร
แปลว่าทั้งสองอย่างยังเป็นของ nokia อยู่
หมายความว่า nokia ยังทำมือถือแต่เป็น brand ใหม่ออกมาได้รึเปล่า
ไม่ใช่ว่าหลังซื้อไปครึ่งปีจะมี Nokia Lunar with Android 4.4 and Pureview นะ
(Samsung หนาวแน่ ๆ)
อาจจะได้ หรือไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ ปรกติเค้าไม่ทำกันครับ
ถ้าในบ้านเราก็มีคุณตันคนนึงล่ะที่ทำ อาจจะเป็นเคสผิดปรกติครับ
เป็นเคสที่ไม่เชิงผิดปรกตินะ เพราะในสัญญาก็ระบุว่าคุณตันสามารถทำได้ภายในกี่ปีนะ แต่ไม่แน่ใจว่าทำก่อนหมดสัญญาหรือเปล่า ไม่แน่ใจผมจำไม่ได้ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ ปรกติที่ทราบในโลกธุรกิจเค้าไม่ค่อยทำกันในแบบประชิดแบบนี้ แนวๆ ขายเสร็จแล้วสร้างใหม่เลยเกือบจะทันทีอันนี้ไม่มีหรอก ส่วนใหญ่จะเว้นๆ ไปหลายปีค่อยกลับมาทำอันนี้เคยเจออยู่บ้างครับ
กรณีคุณตันผมไม่นับว่าน่าเกลียดเท่าไหร่ เพราะหลังจากขายก็บริหารให้อยู่พักนึง มูลค่า บ.ก็เพิ่มจากตอนที่ซื้อมามากอยู่ จนแยกออกมาทำเอง
May the Force Close be with you. || @nuttyi
แล้วแต่มุมมองนะครับ ไม่น่าเกลียดเกินไป แต่ก็ไม่ได้ทิ้งช่วงจนคนลืมแบรนด์เก่าที่ตัวเองสร้างมา กระแสเลยตีกลับบ้างนิดหน่อย
MS ไม่มีสิทธิ์ใช้ยี้ห้อ Nokia ในการทำสมารทโฟน
ส่วนฟีเจอร์โฟนกะ Asha MS ทิ้งแน่นอน
ขอบคุณครับ สำหรับบทวิเคราะห์เจ๋งๆ
ถึงตอนนี้ทั้ง 3 ยักษ์ใหญ่ทั้ง Apple, Google และ Microsoft จะมีหน่วยงาน Hardware ของตัวเองกันถ้วนหน้า แต่ผมมองว่ายุทธศาสตร์ของแต่ละบริษัทก็ยังต่างแตกต่างกันอยู่นะ และไม่น่าจะเปลี่ยนหน้าไปเร็วๆนี้
แอปเปิ้ลนี่ชัดเจนสุด ios ก็ไม่ต่างจาก mac คือทำ hw เอง พ่วงกับระบบบริการของตัวเอง มีแฟนๆเหนียวแน่น กำไรก็จะมาจากค่า hw ที่ขายได้
อากู๋ เจ้านี้เป้าหมายเค้าคือต้องการขยายโอกาสในการโฆษณาออกไปให้ครบทุก platform ที่มีอยู่บนโลกมนุษย์ใบนี้ เพราะงั้นผมว่า google คงใช้ motolora แค่ในการผลักดันทิศทางของอุปกรณ์ที่ใช้น้องด๋อยซะมากกว่าหวังยอดขายจากเฮลโหลโมโต และคิดว่าอากู๋ไม่น่าจะเดินไปทางชูโรงมือถือตัวเองแบบหักหามน้ำใจบริษัทพันธิมิตรอื่นๆที่ทำอุปกรณ์บน android os หรอก ค่ายอื่นๆอย่าง Sony, LG, HTC เองก็น่าจะยังมีที่ยืนในตลาดมือถือ แต่ก็แค่กินกำไรจาก hw ไปเท่านั้น
ไมโครซอฟท์ เจ้านี้นี่สิ ครึ่งๆกลางๆของจริง คงได้แต่รอดูกันต่อไป
..: เรื่อยไป
เดี๋ยวนี้ mac ลง windows ได้แล้ว อนาคต iphone ก็คงลง android ไม่ก็ windows phone ได้
ฟันธง
ไม่หรอกครับ ใครจะเขียน driver ให้กับ iPhone ครับ (จะมีคนทำมั้ยถ้ามันทำได้? มี แต่ใครจะยอมให้ทำ)
Mickia Lumia เถอะครัช....ขำขำ
Steve Ballmer หน้าเหมือนตัวโกงยังไงไม่รู้
ตอนนี้ผมมองเป็นตัวโกงหมดเลย 3 คน ฮ่าๆ
ดีลใหญ่แห่งปี
ธุรกิจมือถือของโนเกีย ราคาถูกกว่า Skype:O
แล้วก็ราคาถูกกว่าตอนที่ Nokia จ่ายเงินซื้อ navteq ปี 2007 ด้วยนะครับ
ที่จริงผมว่า Microsoft ก็น่าจะอยากได้ here เหมือนกัน แต่คงตกลงราคาไม่ได้เพราะแค่นี้ก็ซื้อถูกมากแล้วถ้ายังอยากได้ map/navigation อยู่ ผมว่าซื้อ tomtom + DigitalGlobe ไปเลยจะดีกว่านะ
ที่น่าสนใจคือ Lumia กับ HERE จะไปด้วยกันได้อีกนานแค่ไหน - -"
ขอชื่นชมบทวิเคราะห์นี้ครับ
เอาใจช่วย อยากเห็น windows phone พัฒนา