ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา เราเห็น Satya Nadella ซีอีโอไมโครซอฟท์ออกมาประกาศข่าวสำคัญหลายเรื่อง (ที่สำคัญคือทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับ "กิจการมือถือของโนเกีย") ได้แก่
- ปลดพนักงานครั้งใหญ่ 18,000 ตำแหน่ง โดย 12,500 คนจาก 18,000 คนคือพนักงานโนเกียเดิม
- เลิกทำ Nokia X ฮาร์ดแวร์ที่อยู่ในสายพัฒนาจะเปลี่ยนไปใช้ Windows Phone
- (ยังไม่ยืนยันแต่น่าจะจริง) เลิกทำ Asha และมือถือฟีเจอร์โฟนของโนเกียเดิม
ผมคิดว่าท่าทีของไมโครซอฟท์รอบล่าสุดนี้ น่าจะถือเป็น "จุดสิ้นสุด" ของธุรกิจมือถือของโนเกียอย่างเต็มตัว เพราะต่อจากนี้ไปเราจะเหลือแค่ "Windows Phone เพื่อไมโครซอฟท์" เพียงอย่างเดียว
อะไรคือความผิดพลาดของโนเกีย อดีตราชามือถือโลกติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 14 ปี บทความนี้จะพาไป "ย้อนรอย" ดูความผิดพลาดเหล่านั้นครับ
โนเกียไม่ได้เริ่มจากมือถือ
บริษัทชื่อ "โนเกีย" มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 149 ปี โดยเปิดกิจการตั้งแต่ปี 1865 เพื่อเป็น "โรงเลื่อยไม้" และเริ่มใช้ชื่อ "โนเกีย" ครั้งแรกพร้อมกับจดทะเบียนบริษัทในปี 1871
จากนั้นเส้นทางของโนเกียก็บุกตะลุย ฝ่าฟันกาลเวลามาอย่างโชกโชน เอาตัวรอดผ่านสงครามโลกสองครั้ง ภาวะเกือบล้มละลายหลายครั้ง และทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ยาง สายเคเบิล กระดาษ รองเท้า ยุทโธปกรณ์ (เช่น หน้ากากป้องกันแก๊ส) พลาสติก เคมีภัณฑ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ (โนเกียเคยขายคอมพิวเตอร์มาก่อนในยุค 80s แถมยังเคยทำจอภาพ CRT/LCD ก่อนขายให้ ViewSonic)
อ่านประวัติของโนเกียเพิ่มเติมได้จาก เว็บไซต์โนเกีย
ช่วงปลายทศวรรษ 80s โนเกียประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักในธุรกิจทีวี ถึงขนาดซีอีโอ Kari Kairamo ฆ่าตัวตายในปี 1988
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโนเกียคือปี 1992 ซีอีโอคนใหม่ Jorma Ollila (ปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดของ Royal Dutch Shell) ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจทุกอย่าง แล้วหันมาทุ่มให้ "โทรศัพท์มือถือ" เพียงอย่างเดียว
ช่วงทศวรรษ 80s โนเกียเป็นแกนหลักในการพัฒนามาตรฐาน GSM มาก่อน เมื่อกระแสโทรศัพท์มือถือเริ่มมาแรง บวกกับเทคโนโลยี GSM สามารถเอาชนะ CDMA ได้ ทำให้กระแสเหล่านี้ช่วยหนุนเสริมให้โนเกียภายใต้การคุมบังเหียนของ Ollila กลายเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์อันดับหนึ่งของโลกได้สำเร็จในปี 1998
ย้อนดู "ระบบปฏิบัติการ" ของโนเกีย
นับจากนั้นเป็นต้นมา ยุคทองอันยาวนานของโนเกียก็เริ่มต้นขึ้น แต่ทว่า... เกือบ 20 ปีหลังจากนั้น มันก็สิ้นสุดลง
ในความรับรู้ของคนทั่วไป ความผิดพลาดของโนเกียเกิดจากการปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน แต่คำถามก็คือ โนเกียไม่รู้เลยหรือว่า "สมาร์ทโฟน" กำลังจะมา?
โทรศัพท์มือถือในยุคก่อนเป็น "อุปกรณ์สื่อสาร" ไม่ใช่ "อุปกรณ์คอมพิวเตอร์" หน้าที่หลักของมันคือเชื่อมต่อกับเครือข่าย cellular เพื่อสื่อสารด้วยเสียงเป็นหลัก
จุดขายของโทรศัพท์ในยุคนี้จึงเน้นคุณภาพของสัญญาณ บวกกับการออกแบบตัวเครื่อง ชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ คุณภาพของงานประกอบ ในขณะที่ซอฟต์แวร์นั้นเป็นแค่ "ส่วนเสริม" ที่เป็นลูกเล่นหรือจุดขายเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
ในยุคแรกๆ โนเกียจึงไม่มีชื่อเรียก "ระบบปฏิบัติการ" ของโทรศัพท์มือถือ ในลักษณะเดียวกับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ (คนทั่วไปอาจเรียกกันเล่นๆ ว่า Nokia OS แต่มันไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการนะครับ) พอมาถึงช่วงปี 2000 บวกลบเล็กน้อย โนเกียก็คลอด "แพลตฟอร์มซอฟต์แวร์" (ไม่ใช่ OS เต็มตัว อาจพอเทียบได้กับ Desktop Environment ของฝั่งพีซี) ออกมาทั้งหมด 6 ตัว ( อ้างอิง ) ไล่จากรุ่นเล็กไปใหญ่ดังนี้
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของ Series 40
ตัวอย่างสถาปัตยกรรมของ Series 60
แพลตฟอร์มที่มีชีวิตรอดมาได้จนถึงทศวรรษ 2010s เหลืออยู่ 3 ตัวคือ Series 30, Series 40 และ Series 60 (ภายหลังถูกเรียกว่าเป็น S30+, S40, S60/Symbian) ถ้าเทียบรุ่นตามแบบปัจจุบันก็คือ
- S30+ ใช้กับมือถือโนเกียรุ่นแป้นตัวเลข เช่น Nokia 10x
- S40 ใช้กับมือถือโนเกียรุ่นแป้นตัวเลขความสามารถเยอะขึ้นมาอีกหน่อย เช่น Nokia 11x หรือ 2xx บางรุ่น และคาบเกี่ยวไปถึงสมาร์ทโฟน Asha รุ่นล่างที่ใช้รหัส 2xx กับ 3xx (แต่ไม่ใช่ Asha 5xx)
- S60 หรือภายหลังเรียก Symbian ใช้กับสมาร์ทโฟนโนเกียในยุค 2000s แทบทุกตัว จนมาจบที่ 808 PureView เป็นตัวสุดท้าย
ส่วน Series 80/90 เคยถูกวางตัวไว้ใช้กับสินค้าตัวท็อปสาย Nokia Communicator แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ถูกผนวกรวมกับ S60 แทน
Symbian/S60 ราชาแห่งทศวรรษ 2000s
เมื่อพูดถึงระบบปฏิบัติการของโนเกีย หลายคนมักนึกถึง Symbian แต่เอาเข้าจริงแล้ว โนเกียไม่ได้เป็นผู้สร้าง Symbian ครับ
Symbian มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ต้นกำเนิดของมันมาจากบริษัทชื่อ Psion (อ่านว่า ไซออน) ที่สร้างอุปกรณ์ PDA ยุคแรกๆ ชื่อ Psion Organizer โดยใช้ระบบปฏิบัติการทำเองชื่อ EPOC มาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s
EPOC ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ โดยมีโมเดลธุรกิจคือการขายไลเซนส์ให้บริษัทฮาร์ดแวร์อื่นๆ นำไปใช้งาน พอถึงปี 1998 มันก็กลายร่างเป็นบริษัท Symbian Inc. โดยมีผู้ถือหุ้นทั้งหมด 4 รายคือ Psion เดิม, โนเกีย, โมโตโรลา และอีริคสัน
เนื่องจาก Symbian Inc. เป็นบริษัทที่เกิดจากการลงขันกันของ 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการมือถือในยุคนั้น ตัวระบบปฏิบัติการ Symbian OS จึงมีปัจจัยด้านการเมืองภายในบริษัทมาเกี่ยวข้อง ตัวระบบปฏิบัติการจึงทำงานที่ฮาร์ดแวร์ระดับล่าง และเปิดให้แต่ละบริษัทสามารถสร้าง UI ของตัวเองขึ้นมาครอบระบบปฏิบัติการได้ ซึ่ง UI ก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 ค่ายใหญ่ๆ คือ
- S60 (สนับสนุนโดยโนเกีย ซัมซุง แอลจี)
- UIQ (สนับสนุนโดยอีริคสัน โมโตโรลา)
- MOAP (สนับสนุนโดยบริษัทฝั่งญี่ปุ่น เช่น ฟูจิตสึ ชาร์ป)
ถึงแม้แกนหลักของระบบปฏิบัติการเป็นตัวเดียวกัน แต่ด้วยความแตกต่างด้าน UI และแพลตฟอร์มการพัฒนา บวกกับการเมืองระหว่างค่ายมือถือ ทำให้การเขียน "แอพ" บนมือถือในยุคนั้นทำได้ยากมาก เพราะต้องเขียนเจาะเป็นรายรุ่นเท่านั้น (และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ Andy Rubin ต้องการสร้างระบบปฏิบัติการเพียงตัวเดียวที่ทุกคนมาใช้ได้ และการันตีว่าแอพรันได้เสมออย่าง Android ขึ้นมา)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในโลกมือถือยุค 2000s ก็ไม่ได้บีบให้ผู้ผลิตมือถือต้องจริงจังเรื่องซอฟต์แวร์มากนัก เพราะรูปแบบการใช้งานยังเน้นการสนทนาด้วยเสียง แอพพลิเคชันยังเป็นแค่ส่วนเสริมการใช้งานเท่านั้น ดังนั้นการใช้งาน Symbian จึงถือว่าตอบโจทย์ของยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โนเกียมีระบบปฏิบัติการที่ "ดีในระดับหนึ่ง" ใช้งาน เมื่อบวกกับแสนยานุภาพของโนเกียในยุคนั้นก็สามารถทำยอดขายได้ถล่มทลาย เบียดบังคู่แข่งร่วมยุคอย่าง Windows Mobile, Palm OS และ BlackBerry มาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
Maemo แท็บเล็ตที่มาก่อนยุคสมัย
ปัญหาของ Symbian คือสถาปัตยกรรมของมันค่อนข้างเก่าแก่ เพราะสร้างมาตั้งแต่สมัย Psion ออกแบบมาสำหรับมือถือปุ่มกด เน้นการสื่อสารด้วยเสียงเป็นสำคัญ
แต่ภาพอนาคตที่ทุกคนมองเห็นเด่นชัดคือ โทรศัพท์มือถือกับคอมพิวเตอร์จะถูกหลอมรวมเข้าด้วยกัน แนวคิดการทำงานโดยอิง "ข้อมูล" (data) แบบคอมพิวเตอร์กำลังวิ่งเข้าหาวงการมือถือ เทคโนโลยีการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง EDGE และ 3G กำลังเริ่มกลายเป็นกระแสหลัก
โนเกียเห็นภาพอนาคตนี้ก่อนใครๆ และกระโจนเข้าไป "ทดลอง" รับมือกับมันผ่านโครงการชื่อ Maemo (อ่านว่า "เมโม") ตั้งแต่ปี 2005
Maemo เรียกตัวเองว่าเป็น "Internet Tablet" มันคืออุปกรณ์จอสัมผัสขนาดเล็กประมาณ 4-6 นิ้ว มีเว็บเบราว์เซอร์และโปรแกรมอีเมลในตัว เชื่อมต่อเน็ตผ่าน Wi-Fi ทำงานได้ "เทียบเท่า" คอมพิวเตอร์จริงๆ โดยสถาปัตยกรรมภายในของมันคือ "ลินุกซ์" (เป็น Debian) ที่รันด้วยส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ดัดแปลงมาจาก GNOME
แผนผังแนวคิดและฟีเจอร์ของ Maemo ที่ถือว่าล้ำสมัยมากในยุคนั้น (ลองเปลี่ยนคำว่า Maemo ในแผนภาพออก แล้วเอาคำว่า Android ใส่เข้าไป ยังใช้ได้เลย)
สถาปัตยกรรมของ Maemo เน้นเทคโนโลยีสาย Debian/GNOME เป็นหลัก, ภาพจาก Maemo.org
สินค้าตัวแรกของโนเกียที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Maemo คือ Nokia 770 (เปิดตัวปลายปี 2005) จากนั้นโนเกียก็ออกแท็บเล็ตประมาณปีละ 1 ตัวโดยใช้ชื่อเรียกว่า Nxxx ได้แก่ N800 (2007), N810 (2007/2008) และ N900 (2009)
Nokia N900 แท็บเล็ต Maemo ตัวสุดท้ายพร้อมระบบปฏิบัติการ Maemo 5 (ออกปี 2009)
แผนการของโนเกียในตอนนั้นค่อนข้างชัดเจนว่า ทำ Maemo ขนานไปกับ Symbian โดยวาง Maemo ไว้ที่ตลาดบน จับลูกค้าที่ต้องการฟีเจอร์จากอุปกรณ์พกพาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับคอมพิวเตอร์ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจาก Symbian ไปยัง Maemo อย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ตาม แผนการ Maemo ไม่ออกดอกออกผลอย่างที่หวัง การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า และสุดท้ายโนเกียต้องประกาศรวมโครงการ Maemo เข้ากับโครงการ Moblin ของอินเทลในปี 2010 กลายเป็นโครงการใหม่ชื่อ MeeGo แต่สุดท้ายก็ยังล้มเหลวอีก เราได้เห็นสมาร์ทโฟน MeeGo วางขายจริงได้เพียงรุ่นเดียวคือ Nokia N9 ในปี 2011 (วางขายช่วงที่เมืองไทยมีน้ำท่วมใหญ่พอดี) แล้วก็ถูกยกเลิกโครงการไป
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้โนเกียเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ?
วิสัยทัศน์ของโนเกียในช่วงนั้น (ปี 2005-2007) ดูจะถูกต้องสมบูรณ์ มองการณ์ไกล บริษัทออกสินค้ากลุ่มแท็บเล็ตหรือสมาร์ทดีไวซ์จอสัมผัสก่อน iPhone ถึง 2 ปี, ก่อน iPad ถึง 5 ปี แต่ทำไม Maemo ยังล้มเหลว?
ผมคิดว่าปัญหาที่สำคัญของโนเกียในช่วงยุคเปลี่ยนผ่านคือ "การเมืองภายในบริษัท"
ถ้าเราย้อนดูประวัติซีอีโอของโนเกียตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โนเกียมีซีอีโอเพียงแค่ 3 คน คือ
- Jorma Ollila อยู่กับโนเกียนานถึง 14 ปี (1992-2006) เขาเป็นคนพาโนเกียเข้าสู่ยุคทอง กลายเป็นราชาโลกมือถือติดต่อกันนานเป็นสิบปี
- Olli-Pekka Kallasvuo เนื่องจากชื่อเขาค่อนข้างยาว ในวงการจึงเรียกชื่อย่อ OPK เขาเป็นลูกหม้อของโนเกียมานาน และสืบทอดอำนาจของ Ollila ในปี 2006 มาจนถึงปี 2010
- Stephen Elop ผู้บริหารที่ชาว Blognone น่าจะคุ้นเคยกันดี เขาเป็นคนแคนาดา ย้ายข้ามวิกมาจากไมโครซอฟท์ในปี 2010 และอยู่เป็นซีอีโอถึงปี 2013 ในตอนที่ ไมโครซอฟท์ประกาศซื้อกิจการมือถือของโนเกีย )
ช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือการถ่ายโอนอำนาจจาก Ollila มาเป็น OPK ในปี 2006 ครับ โลกมือถือในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน
- ปี 2005 โนเกียเริ่มโครงการ Maemo
- ปี 2006 เปลี่ยนตัวซีอีโอเป็น OPK
- ปี 2007 แอปเปิลเปิดตัว iPhone รุ่นแรก
- ปี 2008 กูเกิลเปิดตัว Android รุ่นแรก
โนเกียเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เบื้องหน้า ว่าโทรศัพท์มือถือต้องเปลี่ยนเป็นจอสัมผัส ต้องเน้นการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก และคู่แข่งหน้าใหม่ๆ จากสายไอทีเริ่มกระโดดเข้ามาสู่วงการโทรคมนาคม
ทางเลือกของโนเกีย ณ ช่วงปี 2006-2007 มีอยู่สองทางคือ จะอยู่กับ Symbian ต่อไป (ของที่คุ้นเคย พิสูจน์ตัวเองแล้ว แต่เก่าคร่ำครึ) หรือจะมุ่งหน้าสู่ Maemo (ของใหม่ที่น่าจะดีกว่า แต่ยังไม่เคยพิสูจน์ตัวเอง)
โนเกียในช่วงเวลานั้นจึงตัดสินใจอยู่กับ Symbian เป็นหลัก และแบ่งทรัพยากรมาให้ Maemo อีกนิดหน่อย การพัฒนาแยกทีมกันชัดเจนไม่ยุ่งกันนัก
เหตุผลอีกอย่างที่ผมคิดว่าโนเกียเลือก Symbian คือโครงสร้างอำนาจภายในบริษัท เพราะโนเกียมีผู้บริหารใหญ่อีกคนชื่อ Anssi Vanjoki เป็นหนึ่งในสามผู้บริหารยุค "ดรีมทีม" ร่วมกับ Ollila และ OPK ซึ่งเขาถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นซีอีโอคนต่อไป ถัดจาก OPK
Anssi Vanjoki เติบโตมากับอาณาจักรของ Symbian ตลอดมา ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือผู้อำนวยการฝ่ายโทรศัพท์มือถือ (ในขณะที่ทีม Maemo เป็นผู้บริหารคนอื่น) เมื่อคนในคาดกันว่าเขาจะกลายเป็นซีอีโอคนต่อไป ผนวกกับสถานการณ์ในตอนนั้นที่ Symbian ยังแข็งแกร่ง ขายได้เป็นหลักร้อยล้านเครื่อง จึงไม่น่าแปลกใจนักที่โนเกียจะยัง "play safe" เลือกอยู่กับ Symbian ต่อ
สัญลักษณ์สุดท้ายของ Symbian Foundation ที่เหลือเพียงความทรงจำ
Symbian ยุคใหม่ใต้เงา Foundation
เมื่อโนเกียเลือกได้แล้วว่า "เอา Symbian" กระบวนการปรับปรุง Symbian ให้ทันสมัย (modernization) จึงเริ่มต้นขึ้น
อย่างที่เขียนไปข้างต้นว่า Symbian เป็นระบบปฏิบัติการที่ 4 บริษัทร่วมลงขันกันทำ กระบวนการพัฒนาจึงไม่ค่อยคล่องตัวนัก เพราะทิศทางในการพัฒนาแยกไปคนละทาง (ตัว UI แต่ละระบบก็แตกต่างกัน ใช้งานร่วมกันไม่ได้) ในปี 2008 (หลัง iPhone รุ่นแรกวางขายได้ประมาณหนึ่งปี) โนเกียจึง ซื้อหุ้นทั้งหมดใน Symbian ประกาศเปิดซอร์สโค้ดเท่าที่จะทำได้ และตั้ง Symbian Foundation เป็นองค์กรกลางขึ้นมาดูแลกระบวนการพัฒนา Symbian ทั้งหมด (ตอบโต้ Android ที่โอเพนซอร์สมาตั้งแต่ต้น)
ในแง่เทคนิคแล้ว Symbian มีปัญหาเรื่องกระบวนการพัฒนาแอพที่ยุ่งยากซับซ้อน ช่วงต้นปี 2008 โนเกียจึงแก้เกมโดย ซื้อบริษัท Trolltech เจ้าของเฟรมเวิร์ค Qt ที่มีชื่อเสียงด้านความง่ายในการพัฒนาแอพ งานนี้โนเกียหวังยิงนกสองตัวพร้อมกัน โดยใช้ความง่ายของ Qt ดึงดูดนักพัฒนา และ ใช้ Qt เป็นตัวเชื่อมการพัฒนาแอพบนระบบปฏิบัติการสองตัวคือ Symbian และ Maemo (แนวคิดคือ เขียนแอพให้รองรับ Qt ก็พอ ไม่ต้องสนใจว่าเป็น Symbian หรือ Maemo)
ช่วงปี 2008-2009 ถือว่ากระบวนการปรับปรุง Symbian ของโนเกียเริ่มต้นได้ค่อนข้างสวย (ประกอบกับ iPhone/Android ในยุคนั้นก็ยังพัฒนาไม่ดีพอ ความสามารถยังจำกัด แอพยังน้อย) เราเห็นกระบวนการที่น่าสนใจหลายอย่างจากฝั่งโนเกีย ได้แก่
- เปิด Nokia App Store มาแข่งกับ App Store ของแอปเปิล (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Ovi Store)
- แผนการออก Symbian รุ่นใหม่ทุก 6 เดือน (มาแนว Ubuntu) โดยจะใช้ชื่อ Symbian^1, Symbian^2 ไปเรื่อยๆ
- โครงการสนับสนุนนักพัฒนามากมาย ทั้งช่วยทำตลาด ลดความยุ่งยากในระบบ SDK และการ sign โปรแกรม, ระดมความเห็นจากนักพัฒนาและผู้ใช้, ปรับปรุงฟีเจอร์ด้านมัลติมีเดีย
- เจรจาให้ไมโครซอฟท์ทำ Microsoft Office เวอร์ชัน Symbian
- ยกเครื่อง UI ครั้งใหญ่ ปรับหน้าจอให้เรียบง่าย ไม่รก เหมาะกับจอสัมผัส ใช้จำนวนคลิกน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ของ Symbian Foundation กลับไม่ออกมาเป็นไปตามที่หวัง กระบวนการพัฒนาต่างๆ ล่าช้ากว่าที่คาดไปมาก จนทำให้โทรศัพท์มือถือเรือธงของโนเกียหลายๆ รุ่นในช่วงนั้นต้องเลื่อนออกไปเยอะ
ปี 2008 ในช่วง Symbian ก่อนยุคเปลี่ยนผ่าน โนเกียยังสามารถออกมือถือเด่นๆ อย่าง 5800 XpressMusic, มือถือคีย์บอร์ด E71, หรือมือถือรุ่นท็อป N96
แต่พอมาถึงปี 2009-2010 มือถือเรือธงออกน้อยลงและช้าลงมาก กว่าเราจะได้เห็น Symbian รุ่นท็อปตัวต่อมาคือ N97 ก็ต้องรอถึงกลางปี 2009 (พร้อมกับระบบปฏิบัติการ S60 5th Edition หรือ Symbian^1) และกว่าเราจะได้เห็น Symbian ตัวแรกในยุค Foundation ที่เริ่มใช้งานได้ (Symbian^3) ก็ต้องรอถึงปลายปี 2010 (ออกพร้อม Nokia N8)
ช่วงเวลา 2-3 ปีในโลกไอทีถือว่าเร็วมากนะครับ พอโนเกียเข็น N97 ออกมาสำเร็จในปี 2009 ก็ต้องเจอกับคู่แข่งอย่าง iPhone 3GS ที่พัฒนาขึ้นจากเดิมมาก พอมาถึงปี 2010 มือถือเรือธงอย่าง N8 ก็ต้องเผชิญหน้ากับทั้ง iPhone 4 และ Galaxy S1 ที่พัฒนาจนเริ่มอยู่ตัวแล้ว
MeeGo มีความพยายามแต่ยังอ่อนหัด
ในฝั่งของ Maemo/MeeGo เองที่ได้ทรัพยากรน้อยกว่า Symbian มาก ก็มีชะตากรรมที่น่าเศร้าไม่ต่างกันนัก เพราะต้องผ่าน "การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย" หลายครั้ง ตั้งแต่เปลี่ยนจาก GTK+ เป็น Qt ในปี 2008 และการรวมโครงการ Maemo กับ Moblin ของอินเทลในปี 2010
โนเกียออกสินค้า Maemo ตัวสุดท้ายคือ N900 ในปี 2009 และต้องรออีกสองปีกว่าเราจะได้เห็นผู้สืบทอดสาย MeeGo (ที่ออกมาเพียงรุ่นเดียว) คือ N9 ในช่วงปลายปี 2011 ซึ่งก็ออกมา "ช้าเกินไป" ในช่วงที่โนเกียตัดสินใจทิ้ง Symbian/MeeGo และหันไปเลือก Windows Phone แทนแล้ว
Nokia N9 มือถือตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้ระบบปฏิบัติการ MeeGo
ผู้อ่าน Blognone คงทราบกันดีว่ามีทีมงานหลายคนของ Maemo/MeeGo ออกไปเปิดบริษัท Jolla สืบทอดเจตนารมณ์ ต้องรอดูกันต่อไปครับว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน
ความล่าช้าของโนเกีย
ความล่าช้าของโนเกียมีเหตุมาจากหลายปัจจัย
อย่างแรกที่สุดคงเป็นเรื่องการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในปี 2008 โดยแนวคิดของโนเกียคือการเปลี่ยนจาก S60/C++ มุ่งไปสู่ Symbian/Qt เป็นหลัก แนวคิดนี้ในเชิงทฤษฎีฟังดูดี แต่ในเชิงปฏิบัติคือการเขียนใหม่ทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการเอง และส่วนของแอพจากนักพัฒนาภายนอก
แนวคิดของโนเกียคือยุบรวม S60/C++ กับ Maemo/GTK+ ให้มาอยู่ใต้ร่มของ Symbian/Qt ให้หมด แต่กลับกลายเป็นว่าแอพบน S60/C++ กับ Maemo/GTK+ เดิมก็ไม่สามารถนำไปใช้ต่อบน Qt ได้ ในขณะที่ Qt เองที่มีรากฐานมาจากระบบปฏิบัติการเดสก์ท็อป ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการปรับตัวเข้าสู่โลกของอุปกรณ์พกพา ( เบื้องหลังความล้มเหลวของโนเกียในการสร้าง UI ใหม่ให้ Symbian )
ปัจจัยที่สองคือ Symbian เดิมเป็นระบบปฏิบัติการหลายบริษัทร่วมกันทำ การเปลี่ยนมาเป็น Symbian Foundation ก็ดูดีในแง่ทฤษฎี แต่การโอเพนซอร์สมีประเด็นเรื่องกฎหมายเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะ Symbian Foundation ต้องไล่เจรจาคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์โค้ดทีละส่วนทีละราย ให้ยินยอมเปิดซอร์สโค้ด (มีกระบวนการทางกฎหมายยุ่งยากมากมาย, โครงการ Mozilla ยุคแรกๆ ก็เจอปัญหานี้มาก่อน) ดังนั้นกว่า Symbian Foundation จะเปิดซอร์สโค้ดสำเร็จก็ต้องใช้เวลานานมาก (บางส่วนก็ต้องเขียนใหม่ขึ้นทดแทนโค้ดเดิม) ดังนั้นเราจึงเห็นว่าโนเกียประกาศโอเพนซอร์ส Symbian ในปี 2008 แต่ กว่าจะทำเสร็จต้องรอถึงปี 2010
ปัจจัยที่สามคือวัฒนธรรมองค์กรของโนเกียเองที่ไม่รีบร้อนมากนัก อาจเป็นเพราะคงความเป็นอันดับหนึ่งมายาวนาน มีโครงสร้างองค์กรซับซ้อน (โดยเฉพาะถ้าเทียบกับกระบวนการพัฒนา iPhone ยุคแรกๆ ที่สตีฟ จ็อบส์ ลงมาคุมเอง และทำงานกันหนักมาก) เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องเล่าของ Adam Greenfield ดีไซเนอร์ภายนอกที่เคยทำงานกับโนเกียระหว่างปี 2008-2010 เขาเล่าถึงวัฒนธรรมของ "ฟินแลนด์" ประเทศที่อากาศหนาวเกือบตลอดปีว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่เป็นหน้าร้อน (อันหายาก) สำนักงานของโนเกียแทบร้าง เพราะพนักงานและผู้บริหารนิยมไปพักร้อนในกระท่อมส่วนตัวกลางป่าเขา ดังนั้นถ้าเขาต้องการให้โนเกียอนุมัติงานใดๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ต้องรอถึงเดือนกันยายนกว่าผู้บริหารจะเริ่มกลับมาทำงานกัน ( Bloomberg )
ดังนั้นเราอาจพอสรุปได้ว่า เมื่อแอปเปิลวางขาย iPhone รุ่นแรกในเดือนกรกฎาคม 2007 ผู้บริหารของโนเกียน่าจะยังพักผ่อนกันอยู่ และไม่ได้สนใจมากนักกับ "ภัยคุกคามใหม่" ที่กำลังพุ่งเข้าหาตัวเอง(Stephen Elop ให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความเดียวกันของ Bloomberg ว่า สิ่งที่โนเกียต้องปรับปรุงเป็นอันดับแรกคือ "ความรวดเร็ว" ในการทำงาน)
Juhani Risku อดีตผู้บริหารของโนเกีย เคยให้สัมภาษณ์เรื่องปัญหาของโนเกีย ( ข่าวเก่า ) เอาไว้ว่าฝ่ายวิจัยของโนเกียคิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากมายแต่ผู้บริหารไม่สนใจ, ความล่าช้าด้านการตัดสินใจภายในองค์กร (ซื้อ Navteq มา 6 เดือนแล้วไม่ทำอะไร), แต่ละฝ่ายขององค์กรไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (บริการ Ovi และแบรนด์ Nokia ดูแลโดยบริษัทภายนอกจากอังกฤษ), ระบบปฏิบัติการ Symbian ซับซ้อนมากจนคนข้างในเองก็ยังไม่เข้าใจมันนัก
วิกฤตโนเกียปี 2010
สถานการณ์ของโนเกียในปี 2010 ค่อนข้างเลวร้าย เพราะมือถือเรือธงทั้งสองตัว (N8 สาย Symbian และ N9 สาย MeeGo) ไม่สามารถต่อกรกับคู่แข่งได้ทั้งในแง่ฟีเจอร์และแอพ (Symbian ยังเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ ส่วน MeeGo ก็ยังพัฒนาไม่เสร็จ-ไม่มีแอพ)
ผลคือ ส่วนแบ่งตลาดของ Symbian ที่เคยสูงเกินครึ่งเริ่มลดลง นักพัฒนาเริ่มตีจาก ผลประกอบการและมูลค่าหุ้นลดฮวบ ผู้ถือหุ้นเริ่มทนไม่ไหว และ กดดันให้เปลี่ยนซีอีโอและบอร์ด
นักวิเคราะห์จาก Gartner เปรียบเทียบสถานการณ์ของโนเกียในปี 2010 ว่าบริษัท "กำลังย้ายเก้าอี้บนเรือไททานิคที่กำลังจะจม" แต่ดันมัวสนใจเรื่องไร้สาระที่ไม่ใช่ประเด็นหลักในการตัดสินใจซื้อมือถือของลูกค้า ในขณะที่ปัญหาเรื่อง UI ของ Symbian ก็ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง และต้องรอไปถึง Symbian^4 ที่ไม่รู้ว่าจะออกเมื่อไร ( ข่าวเก่า )
เดือนกันยายนปี 2010 บอร์ดของโนเกียก็ออกมาประกาศข่าวที่ทุกคนรอคอยคือ โนเกียตั้ง Stephen Elop เป็นซีอีโอคนใหม่แทน OPK ซึ่งถือเป็นผู้บริหารคนนอกคนแรกในรอบหลายสิบปีของโนเกีย ( ข่าวเก่า )
ส่วน Anssi Vanjoki ที่ถูกคาดหมายว่าจะได้เป็นซีอีโอคนถัดไปก็ลาออกจากบริษัทหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ ( ข่าวเก่า ) ในอีกด้าน Ari Jaaksi หัวหน้าฝ่าย MeeGo ก็ประกาศลาออกหลังจากนั้นไม่นานเช่นกัน ( ข่าวเก่า )
2011: โนเกียบนทางแพร่ง เลือกอะไรดี Symbian, MeeGo, Android หรือ Windows Phone?
ช่วงรอยต่อของโนเกียในปี 2010-2011 ภายใต้ซีอีโอคนใหม่ Stephen Elop ถือเป็น "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของโนเกียว่าจะเลือกไปในทิศทางใด ระหว่างระบบปฏิบัติการภายใน 2 ตัวคือ Symbian, MeeGo (ที่ไม่พร้อมทั้งคู่) หรือจะมุ่งสู่ระบบปฏิบัติการของบริษัทอื่นอย่าง Android หรือ Windows Phone ( นักวิเคราะห์เสนอ 4 ทางเลือกของโนเกีย )
ช่วงนี้เราเห็น "วาทะเด็ด" ของโนเกียออกมามากมาย เช่น การเปลี่ยนมาใช้ Android เปรียบเหมือนการฉี่รดกางเกงให้อบอุ่นในฤดูหนาว ของ Anssi Vanjoki ที่กำลังจะลาออก หรือ Burning Platform ของ Elop
สุดท้ายการตัดสินใจก็เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2011 โดย Elop และโนเกียเลือก Windows Phone และ ประกาศทิ้ง MeeGo/Qt/Symbian โดยยังเก็บ S40 ไว้
โนเกียที่ต้องผ่าน "การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย" หลายครั้งในปี 2008-2009 ก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอีกครั้ง สายการพัฒนามือถือ Symbian/MeeGo ถูกระงับ และเราก็ต้องรออีกประมาณครึ่งปี กว่าจะได้เห็น Nokia Windows Phone รุ่นแรก ( Lumia 800 ช่วงปลายปี 2011)
2011-2014 เมืองขึ้นชื่อ "โนเกีย" ไร้อิสระแต่ต้องดิ้นรน
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการเลือก Windows Phone ค่อนข้างสมเหตุสมผล ณ เวลานั้น คือทิ้งระบบปฏิบัติการเก่าคร่ำครึอย่าง Symbian ออกไปก่อน พอเหลือระบบปฏิบัติการอีก 3 ตัว จะเห็นว่า MeeGo อ่อนแอที่สุดเพราะไม่มียักษ์ใหญ่หนุนหลังเลย ตัวเลือกที่น่าสนใจจึงเหลือแค่ 2 ตัวคือ Android กับ Windows Phone
สถานการณ์ในตอนนั้น Android กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และบริษัทมือถือจำนวนมากก็ร่วมขบวน Android กันหมด (HTC เข้าเป็นรายแรกในปี 2008, ซัมซุงมาปี 2009) ในปี 2011 โนเกียอาจถือว่า "ออกตัวช้า" ถ้าจะเข้าร่วมขบวน Android กับเขาบ้าง (แถมมีข่าวว่าเจรจากันแล้วกูเกิลไม่ให้สิทธิพิเศษใดๆ ทำให้โนเกียไม่สามารถสร้างจุดแตกต่างของตัวเองกับ Android รายอื่นๆ ได้)
ทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่คือการ "เสี่ยง" กับ Windows Phone แพลตฟอร์มที่ "น่าจะดูดี" เพราะมียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์หนุนหลังอยู่ ไมโครซอฟท์เป็นเจ้าโลกเดสก์ท็อปมานาน แถมยังเคยมีประสบการณ์กับ Windows Mobile มาอย่างโชกโชน และยังทุ่มเต็มที่ดึงโนเกียมาเป็นพันธมิตร ช่วยสนับสนุนเงินค่าการตลาดมากมาย
ปัจจัยทุกอย่างพร้อมสรรพ โนเกียเลือก Windows Phone และทุ่มสุดตัวไปกับมัน แต่ปัจจัยหนึ่งที่ตอนนั้นคงไม่มีใครคาดคิด (รวมถึง Elop ในฐานะอดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ด้วย) คือไมโครซอฟท์เองพัฒนา Windows Phone ช้ากว่าที่ทุกคนคิดไปมาก เพราะไมโครซอฟท์ก็เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่าง "การเปลี่ยนผ่าน" เหมือนกัน
ช่วงปี 2011-2013 โนเกียฝากความหวังไว้กับไมโครซอฟท์เต็มที่ และออกมือถือที่น่าสนใจใน (เชิงฮาร์ดแวร์) มาหลายตัว แต่ผลกลับออกมาไม่ดีดังหวังเพราะฝั่งซอฟต์แวร์ที่ไมโครซอฟท์รับผิดชอบนั้นเดินหน้าไปช้ามาก โนเกียจึงต้องหาทางเลือกอื่นๆ ให้ตัวเอง (ในฐานะบริษัทอิสระ) กระบวนการคัดเลือกเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ ผลสุดท้ายออกมาได้เป็น Asha Platform (จากบริษัท Smarterphone ที่ซื้อมาในปี 2012) และ Nokia X มือถือพลัง Android
สถานการณ์ช่วงปี 2013-2014 ของโนเกียจึงวนกลับมาคล้ายกับช่วงปี 2008-2009 คือโนเกียมีระบบปฏิบัติการในสังกัดเยอะมากจนน่าตกใจ (ที่แย่คือไม่สมบูรณ์เลยสักรุ่น) ถึง 5 รุ่นได้แก่
- สมาร์ทโฟนตลาดกลาง-บน: Windows Phone
- สมาร์ทโฟนตลาดกลาง-ล่าง: Nokia X/Android
- สมาร์ทโฟนตลาดล่าง (จอสัมผัส): Asha Platform
- สมาร์ทโฟนตลาดล่าง (ปุ่มกด): Asha S40
- ฟีเจอร์โฟน: S30+
ลองคิดดูนะครับว่าทรัพยากรที่ต้องถูกแบ่งแยกไปยังระบบปฏิบัติการแต่ละตัว จะกระจัดกระจายแค่ไหน และโนเกียลงทุนซ้ำซ้อนมากเพียงใด
2014: ปิดตำนานมือถือโนเกีย, มุ่งสู่โนเกียยุคใหม่
โนเกียที่สับสนวุ่นวายกับระบบปฏิบัติการ 5 ตัว ดูยังไงก็คงไปไม่รอด แต่สุดท้าย ช่วงปลายปี 2013 โนเกีย (ในฐานะบริษัท) ก็เอาตัวรอด (แบบเสียศักดิ์ศรี) โดยการขายกิจการมือถือและบริการให้กับไมโครซอฟท์
ไมโครซอฟท์ (ที่กำลังดิ้นรนปรับตัวเต็มที่เช่นกัน) ตัดสินใจทิ้ง Nokia X, Asha, S40, ฟีเจอร์โฟน เพื่อมุ่งเน้นไปที่ Windows Phone เพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์เอง ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นก็ขึ้นกับฝีมือของ Satya Nadella แล้ว
ส่วนโนเกีย (ในฐานะบริษัท) ยังมีชีวิตอยู่แม้จะขายกิจการมือถือออกไปแล้ว บริษัทยังไปได้ดีในธุรกิจอุปกรณ์เครือข่าย NSN ที่ลงทุนทิ้งเอาไว้ตั้งนานแล้ว (แถมลุ่มๆ ดอนๆ อยู่พักใหญ่) แต่สุดท้ายแล้วมันก็พิสูจน์ตัวเองว่าในยามที่โนเกียบริษัทหลักกำลังย่ำแย่ ก็ยังเหลือ NSN ที่พยุงชีวิตให้อยู่รอดต่อไปได้ในฐานะ "โนเกียรัฐอิสระ" และก้าวเดินต่อไปภายใต้การดูแลของ Rajeev Suri ซีอีโอคนใหม่ที่มาจากธุรกิจฝั่ง NSN
ผมคิดว่าถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์อันยาวนานนับร้อยปีของโนเกียแล้ว บริษัทฝ่าฟันคลื่นลมมามาก ทำธุรกิจมาหลายแขนง ผ่านการเปลี่ยนแปลง ขายทิ้งและเริ่มกิจการใหม่มาโดยตลอด (น่าจะเป็นบริษัท "แมวเก้าชีวิต" อีกรายหนึ่ง) ธุรกิจโทรศัพท์ที่สร้างชื่อให้โนเกียมีอายุแค่ประมาณ 30 ปี ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บริษัท แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในภาพรวมแล้วก็น่าดีใจแทนโนเกียที่สามารถเอาตัวรอดต่อไปได้ แม้จะต้องทิ้งธุรกิจโทรศัพท์ไปอย่างน่าเสียดาย (เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการกระจายธุรกิจให้หลากหลายยามรุ่งเรือง เพื่อช่วยพยุงบริษัทต่อไปได้แม้ธุรกิจหลักจะมีปัญหาในอนาคต)
บทวิเคราะห์: เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน
ทั้งหมดทั้งปวงที่เขียนมาตั้งยาว ถือเป็นกรณีศึกษาเชิงธุรกิจที่ดีมากๆ ว่าความล้มเหลวของโนเกีย เกิดจากความผิดพลาดเพียงเรื่องเดียว แต่ดันไปพลาดในจุดสำคัญที่ส่งผลให้พ่ายแพ้ทั้งกระบวนเกม
ถ้าเรามองอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือตลอด 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือโทรศัพท์เปลี่ยนแปลงตัวเองจาก "อุปกรณ์สื่อสารด้วยเสียงแบบพกพา" มาเป็น "คอมพิวเตอร์พกพา" ในยุคของสมาร์ทโฟน
โนเกียที่เป็นเจ้าโลกของ "อุปกรณ์สื่อสาร" ด้วยเสียง ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น "คอมพิวเตอร์พกพา" ได้ เนื่องจากรากเหง้าของธุรกิจที่แตกต่างกัน
บริษัทมือถือในยุค 90s โดดเด่นในแง่วิศวกรรมฮาร์ดแวร์ ด้านการสื่อสารให้รับสัญญาณได้ดี สนทนาแล้วเสียงคมชัด แบตเตอรี่อึดทน แต่กลับไม่เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ ส่วนติดต่อผู้ใช้ ระบบปฏิบัติการ แอพ ฯลฯ มากนัก
พอมาถึงทศวรรษ 2000s ที่โลกหมุนสู่ "สมาร์ทโฟน" บริษัทมือถือในอดีตจึงล้มหายตายจาก หรือไม่ก็ต้องถอนตัวจากวงการกันถ้วนหน้า ให้เอ่ยชื่อก็อย่างเช่น Siemens, Palm, Ericsson, Motorola และล่าสุดคือ "โนเกีย" (รายที่เหลืออยู่คือ HTC กับ BlackBerry ที่กำลังลำบากอยู่ในเวลานี้)
ในขณะเดียวกัน เราเห็นบริษัทสายไอทีบุกเข้าโลกอุปกรณ์พกพา ที่ชัดเจนคือแอปเปิลกับกูเกิล (ซึ่งทำได้ดีทั้งคู่) ส่วนบริษัทฮาร์ดแวร์สายไอทีก็ปรับตัวเข้าสู่โลกของโทรศัพท์เช่นกัน (Samsung, LG, Lenovo, Huawei)
โนเกียเห็นอนาคตก่อนใครว่าต้องปรับตัว ต้องหา "อะไรบางอย่าง" มาทดแทน Symbian ที่เริ่มถึงขีดจำกัด แต่น่าเสียดายว่าวัฒนธรรมองค์กร และมุมมองของผู้บริหารโนเกียในยุคนั้น กลับไม่สามารถนำพาบริษัทให้เดินตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้
ถ้าโนเกียสามารถเปลี่ยนผ่านจาก Symbian เป็น Maemo/MeeGo ได้ในช่วงปี 2006-2008 สถานการณ์ในเวลานี้อาจไม่เกิดขึ้น เมื่อโนเกียทำไม่สำเร็จเพราะเกิดปัญหาภายในหลายประการ (ดังที่กล่าวไปแล้ว) การเปลี่ยนใจมาเลือก Windows Phone ในปี 2011 จึงถือเป็น "ความพยายามแก้ปัญหา" ที่อาจมาช้าเกินไป (ไม่ว่า Elop จะเลือกอะไร ตัวเลือกที่มีอยู่ในตอนนั้นก็ไม่เลิศเลอเพอร์เฟคต์สักอย่าง)
แถมโนเกียที่พยายามกู้ชีพกลับมาภายใต้ยุค Elop ก็มาเจอ "เคราะห์ซ้ำกรรมซัด" ตรงที่ไมโครซอฟท์ไม่สามารถนำพา Windows Phone ให้โดดเด่นได้ตามที่สัญญาไว้ การเจอปัญหาใหญ่ๆ สองครั้งในจุดสำคัญที่สุด (ในที่นี้คือระบบปฏิบัติการ/แพลตฟอร์ม) จึงทำให้โนเกียหมดอนาคตในฐานะบริษัทมือถืออิสระที่เคยใหญ่อันดับหนึ่งของโลก ไปอย่างน่าเสียดาย
ถือเป็นการปิดตำนานโนเกีย จากการเดินหมากพลาดตาเดียว (เปลี่ยนผ่านจาก Symbian ไม่สำเร็จ) ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากอยู่หลายปี จนพ่ายแพ้ทั้งกระดาน ต้องขายกิจการมือถือทิ้งในท้ายที่สุดครับ
ปิดท้ายด้วยแผนภาพ ประวัติศาสตร์ระบบปฏิบัติการของโนเกีย นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา (คลิกเพื่อดูภาพขนาดเต็ม)
Comments
อ่านแล้วก็เศร้าใจ เสียใจแทนพนักงาน 12,500 คน ที่ต้องตกงาน ในวงการ Technology นี้พลาดแล้วนี่ถึงกับไม่รอดเลยนะครับ //ขอบคุณสำหรับบทความครับ
It's getting harder in the pandemic era. Hope it's getting better in the near future. Jasa SEO https://seohandal.id
อ๊าก เสียดาย Meego เครื่องสเปคต่ำ แต่ลื่นกว่า Android เยอะเลยตอนนั้น ที่สำคัญพัฒนาไวกว่า WP มาก ฮา ๆ
นึกถึงช่วงนึงที่ล้อ Elop ว่าเป็น Trojan จาก MS เลยทีเดียว
MS เองที่เทอะทะไม่แพ้กัน อย่าลืมดูเขาเป็นตัวอย่างด้วยล่ะ
ถ้ามองว่า
elop เป็น trojan จาก ms แน่นอนครับ
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
อีกข้อคือ
Elop เป็นคนสั่งตาย Meego ตั้งแต่ยังทำไม่เสร็จ
ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆมาให้อ่านครับ
มัวแต่หยิ่งว่า Symbian แน่(ใช้ยากเกิน)พอถึงโอกาสสุดท้าย ก็ดันไปเลือก microsoft (มันมีแอพด้วยเหรอ???(ประชด))
ความจริงน่าจะเดินควบไปทั้ง windows phone กับ android ไปเลยสักรุ่นสองรุ่นก็จะรู้ละว่าไปทางไหนมันเวิร์ค
ปัญหาตรงนี้คิดว่าเค้าคงมองออกแต่ปัญหาใหญ่น่าจะเป็นการเมืองภายในและโ่ครงสร้างบริษัท
ก็คงต้องการเงินทุนสนับสนุนจาก MS แหละครับ ซึ่งก็น่าจะมาพร้อมกับสัญญาว่าห้ามทำระบบอื่น
นิยายเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "นิ่ง-ตาย ขยับ-รอด"
ผู้บริหารต้องมองการไกล ทำงานหนัก จึงจะพาบริษัทของตัวเองไปรอด
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
หมากตานี้พลาด สำคัญสุดคือ "การประมาท" เมื่อรู้ว่ายักษ์ใหญ่โลกไอที เริ่มเข้ามาสู่การสื่อสารแต่ยักษ์แห่งโลกมือถือกลับทำงานเชื่องช้าไม่เปลี่ยน ระยะเวลาเพียงสองปี จาก 2008-2010 ผลที่ตามมามันสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อสองยักษ์โลกไอทีเริ่มเข้ามามันมีผลกระทบขนาดไหน แต่ก็ยังกระเตื้องตัวช้ามาก ตัวเลือกอย่าง WP แน่นอนว่ามันก็น่าจะดี แต่เผอิญยักษ์ตัวนี้ก็เคลื่อนตัวช้าเหมือนกันผลกระทบเลย พากันลงเหว ตอนนี้ผมเชื่อลึกๆว่าสุดท้าย Nokia อาจจะกลับมาทำ SmartPhone อีกครั้ง(หวังนะ) เพราะจุดแข็งทางด้าน Here อาจจะกลายเป็นคีย์สำคัญในการจัดการกับ SmartPhone ยุคต่อไปที่กำลังเป็นสื่อกลางระหว่าง Smart Device ทุกชิ้นก็เป็นได้ อยากให้ Nokia กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับกล้องสุดเทพและ Maps ที่เจ๋งกว่า Apple และ Google หน่อย (ชอบมากมันนำทางดีแหะ) ขอ IDE พัฒนา App ให้ง่ายกว่า Apple ก็ดีนะ จะลงเล่นหน่อย 55
ลองเดลไฟ xe6 สิครับง่ายสุดติ่งละ
เห็นราคาแล้วอยากจะร้อง Y__Y
อะไรๆก็ดีครับ ยกเว้นราคา Y__Y
เขียนได้ดีมากครับ เคยเป็น Nokia FC มาก่อน ชอบมากกับ 5800 (เกือบได้ไปกับ N9 แต่คาดไว้ไม่ผิด ว่าจะแถมแพ เลยยังไม่ซื้อ)
RIP นะ Nokia
บทความสุดยอดมากๆๆๆๆ ครับขอบคุณครับ
ผมเองรัก Windows Phone นะแต่จริงๆแล้วผมรัก Nokia แต่พี่แกเลือกแล้วก็ต้องชอบตาม
เรื่องไมโครซอฟช้านี้ผมว่าจริงๆเขาไม่ได้เน้นสาย Mobile OS ป่าวครับ รายได้ของบริษัทมาจากส่วนอื่นมากกว่า เลยไม่ได้สนใจเท่าๆไร
ตอนนี้เริ่มสนใจแล้วแหละสังเกตุอัพเดท 8.1 และข่าวลือ Update 1 ของ 8.1 ก็มีฟีเจอร์ดีเพิ่มมาพอสมควรใช้ได้จริง แก้ไขจริงๆ ไม่ไร้สาระปล่อยมา bug fix หรือ improve performence ธรรมดาแบบในทุกๆ GDR บนWP 8 ซึ่งตอนนั้น Nokia Lumiaได้ฟีเจอร์ใหม่ๆมาจาก Nokia ซะมากกว่า ยังเมื่อเริ่มรู้ตัวแล้วก็รีบๆด้วยครับ
อีกอย่าง เหมือนผมได้ข่างว่า Nokia ที่เหลือจะทำสมาร์ทโฟนในนาม HERE ไม่รู้ว่ารันอะไรสเปคยังไง แต่ถ้ามีจริงผมคงเชียร์ HERE มากกว่า Lumia เพราะผมแค้นๆไมโครซอฟเหมือนกัน ที่ทำ WP ช้าเกินไป ค่อยๆขยับเกินไป
+1
Happiness only real when shared.
Windows Mobile เคยเป็นหนึ่งในผู้นำมาก่อนเลยนะครับ (ก่อนดับใน WP7)
เพราะเหตุผลนี้แหละมั้งครับที่ทำให้ nokia ไว้ใจและเลือกทางนี้เพราะดูแล้วว่าอาจจะนำขึ้นสู่ขั้วที่ 3 ได้แต่คงไม่นึกว่าเจ้ายักษ์ใหญ่ตัวนี้จะประมาทและเชื่องช้าพอๆกับตัวเองล่ะมั้งครับ
คิดถึง Nokia เสมอครับ T T
รักและคิดถึง
รอเป็นหนังอีกสักเรื่อง 55 ;D
my blog
อ่านมันส์มากครับ เปิดมุมมองอีกหลายมุมเลย
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ผมคิดว่าถ้าเลือก android nokia จะยังไม่ล้มแน่ๆ แต่ไม่ได้เป็นที่ 1 อีกต่อไป (แค่เกาะกลุ่มไปได้เรื่อยๆ) ส่วนการเลือก windows phone เป็นการเสี่ยงที่แบบว่าถ้าไม่ดังก็ดับไปเลย(ไม่เอาครึ่งๆ กลางๆ สุดท้ายคือดับ)
เอาจริงๆ MS เขาให้เงินหนุนหลังด้วยครับถ้ามาช่วยกันดัน WP(ข่าวข้างบนก็ระบุไว้นิดนึง) มันไม่ใช่เลือกแล้วก็จบ
เลือก Android แล้วก็ต้องมีทีมพัฒนาครับ มีทีมพัฒนาก็ต้องมีตังค์ครับ
ในโนเกียตอนที่เลือกเรียกได้ว่าถังแตกจะล้มละลายอยู่แล้ว เลือก Android แต่ไม่มีตังค์ ก็ไม่มีทางมี Android อยู่ดีครับ
เข้าใจว่าส่วนนี้ด้วยที่ทำให้ตัดสินใจมาทาง WP พันล้านต่อปีไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ
ฤดูขายตึก โนเกียขายสำนักงานใหญ่เพื่อระดมเงินสด
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ คือเราก็นั่งมองอยู่ข้างนอกอ่ะเนอะ แต่เห็นกับตาเลยว่าโนเกียในส่วนของโทรศัพท์มือถือจากกราฟพุ่งขึ้นมาจนมาถึงตอนดิ่งลงจนแบนราบไปกับแกน X มันแค่ 10 ปีนิดๆเอง ใครจะกล้าคิด
..: เรื่อยไป
อ่านลิ๊งฉี่ในผ้าอ้อม ในความเห็นหลายๆอย่างเหมือนย้อนอดีตไปเลยอ่ะ
ต้องขอบคุณ Nokia เลยครับ ที่ทำให้ผมชอบศึกษาเรื่องโทรศัพท์มือถือ การจากไปครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าโลกธุรกิจมันช่างโหดร้ายยิ่งนัก
ยังเก็บ 5800 XpressMusic ไว้ใช้อยู่เลยเอาไว้ใช้ระบบแผนที่ของมัน ใช้เมื่อไหร่ก็รู้สึกเชื่อใจมากกว่า Google Maps เยอะ
ใช้รุ่นนี้ ระวังหลงป่า
WP ทำให้หลายๆคนผิดหวังจริงๆ
แต่ทำไมเวลาเห็นโชวบนแท่นลองมือถือทีไรกลับมีเสน่ห์ให้เข้าไปกดเล่นดูซะทุกทีก็ไม่รู้ส่วนตัวคิดว่าการที่ MS ไม่สามารถรวมหรืออินทิเกรด OS สองชนิดนี้เข้าด้วยกันได้ทำให้ทุกอย่างพังไปหมด
WP7 สร้างประสบการแย่ๆให้กับนักพัฒนา หลังจากนั้นชื่อ WP ก็ดิ่งลงเหวไปพร้อมๆกับ Nokia ซึ่งกว่าจะได้ออกมือถือ WP7 ก็ต้องรอถึงเกือบ 2 ปี ในกรณีนี้ต้องมองว่า MS ไม่รักษาสัญญาปากเปล่ากับ Nokia ในหลายๆแง่
ที่จริงธุรกิจมือถือของ Nokia ยังสามารถดำรงอยู่ได้ แต่อาจต้องลดขนาดเหลือ ครึ่งหนึ่งหรือถึง 1 ใน 4ในเคสนี้ผู้บริหารเลือกที่จะขายแทนการลดขนาด แล้วสุดท้ายก็ไม่วายโดน MS หักหลังอยู่ดี
ผมคิดว่า CEO อาจไม่มีวิสัยทัศน์ทางเทคโนโยยีก็เป็นได้ เลยมองไม่เห็นแนวโน้ม มองเห็นแต่กำลังและทรัพยากรตนเองในความคิดผม ถ้าโนเกียยอมฉี่ราดตัวเอง เลือก Android ก็อาจจะรุ่งกว่านี้ โดยเน้นจุดต่างที่การดีไซน์มือถือ โนเกียทำได้เจ๋งๆหลายรุ่นเลยนะ
ตอนหน้าขอ "Samsung กับ Bada" และ "ย้อนตำนานของ Blackberry" น่าจะสนุกไม่น้อย
จากที่อ่าน ปัญหาคือคนที่อำนาจมานานอยู่ในนั้นเยอะครับ ไม่ใช่แค่ CEOคนพวกนี้ไม่คิดจะปรับตัว พอมีจำนวนมากๆก็เหมือนพังผืด ยากที่ CEO จะทะลวงได้
ไม่น่าผูกขาดกับ WP ตั้งแต่แรก ขนาด HTC ไม่ได้ใหญ่เท่า Nokia แต่ทำทั้ง WP กับ Android ยังอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ (พักหลังเห็นว่ากำไรเริ่มกลับมาด้วย) ปิด 3 Platform เหลือแค่ Android กับ WP อาจรอดได้ถึงจะไม่ได้เป็นผู้นำเพราะปรับตัวช้า แต่ยังมีโอกาสกลับมานำได้เนื่องจาก brand loyalty ของ Nokia สูงมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ไก่สองตัวรวมกันมันก็ไม่ได้เป็นเหยี่ยวหรอก - Vic Gundotra
+1 (เปิดหูเปิดตาผมมากเลย)
คมครับ
Two turkeys don't make an eagle.
"ไก่งวง" กับ "อินทรี" ครับ อันนี้ไม่ได้จะตำหนิ แต่ขอโน๊ตไว้ละกันครับ
อะไรนะครับ ตุรกีสองประเทศรวมกันไม่เป็นอินทรีย์หรือครับ #แป้ก
ฮ่า ฮ่า
/sidekick
โอ๊ะ ตามนั้น ขอบคุณครับ
ตอนแรกว่าจะยก quote ภาษาอังกฤษมาแทนละเชียวแต่อยากให้เข้าถึงอารมณ์ เลยแปลแบบบ้านๆ ไปครับ
ขอบคุณสำหรับบทความ และเสียดายเส้นทางของ Meego ที่น่าจะไปได้สวยกว่านี้ ลาก่อน "โทรศัพท์โนเกีย" และยินดีต้อนรับสู่ NSN ของโลก 4G ที่จะนำพาโนเกียกลับมามีกำไรแน่นอน
Writer no.59 เพื่อสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้
ขอบคุณสำหรับบทความครับ ยาวมากแต่อ่านรวดเดียวจบเลย
ปล. ติดใจคำว่า เจ้าโลก :P
May the Force Close be with you. || @nuttyi
กด ctrl+F หาอีกรอบเลยทีเดียว
คราวหน้าขอตำนาน BlackBerry ด้วยนะครับ ^^
อยากได้ต้องทำเองครับ
I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.
Nokia แค่วิ่งตาม Apple กับ Google ไม่ทันแค่นั้นเอง ทั้งสองค่ายหลังนี้วิ่งไวมาก ถึงมากที่สุด
เป็นเรื่องปกติของธรรมชาติธุรกิจเลยนะ ถ้าบริษัทไหนประสบความสำเร็จมากแล้ว มักจะเดินช้า ถึงช้าลงแล้วก็มีบริษัทรุ่นใหม่วิ่งเร็วแรงแซงไปให้เห็นอยู่บ่อย ๆ และในโลกไอทีโลกมันเปลี่ยนเร็วมากจนมองตามไม่ทัน
คิดถึง SIEMENS Mobile be inspired
ถ้าตอนนั้น Nokia เลือก Android +กับฮาร์ดแวร์+การประกอบ+มาตรฐานสินค้า จุดจบมันจะเป็นแบบนี้ไหมครับ
ไม่น่าจะต้องขายให้ MS แบบนี้ครับ น่าจะล้มละลายภายในปีนั้นเลย เพราะจริง ๆ ก็เรียกได้ว่าถังแตกแล้วด้วย NSN ก็เหมือนว่ายังไม่ได้กำไรดีแบบตอนนี้นะส่วน HERE ไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่เกิดเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงแบบนี้ด้วยซ้ำ
Sanook เอาไปทั้งแผงหน้าตาเฉย ลงแต่ชื่อคุณ mk ไม่มีต้นทางมาที่นี่ - -http://m.sanook.com/m/it_detail/latest/1390629/
พิมพ์ใน app ไม่ถนัดถ้าแก้ link ได้รบกวนด้วยครับ
ถ้ามีคดีความบ้างสักครั้งสองครั้งดีกรีความด้านอาจจะลดลงบ้างนะเนี่ย ...
ผมดูใน browser ก็มีนะ อยู่ที่ logo bn ล่าง
เข้าไปดูอีกรอบแล้วครับ มีอ้างอิงทั้งด้านบนและด้านล่างครับ (ดูผ่าน Firefox บน PC ครับ)
รูปนิดเดียวถ้าไม่มีคนบอกผมก็ไม่เห็นครับ ผมว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่
เรียกว่าก๊อปไปทั้งดุ้นเลย
อย่างนี้โนเกีย มีโอกาสจะกลับมาทำโทรศัพท์อีกไหมครับ
รักนะคะคนดีของฉัน
เห็นมีข่าวว่ากำลังทำอยู่ครับ (ในชื่อ HERE) ยังเป็นข่าวลือนะ
ลุ้นให้ไปกวาดพนักงานที่ไมโครซอฟท์ปลดออกกลับมาเลยครับ (- -)d
เยี่ยมเลย ผมจะรอ HERE นะครับ
รักนะคะคนดีของฉัน
ถ้าโนเกีย จับ Android ตั้งแต่แรกคงเป็นยักษ์ใหญ่แข่งกับซัมซุงในตอนนี้ ทำไมถึงคิดแบบนี้เพราะว่าผมใช้ Android และโนเกียจะได้กินตังผมถ้าทำ Android ก่อนจะเปลี่ยนสมาทโฟนก็ใช้โนเกียมาตลอด เสียดายที่ไม่สามารถกูชื่อกลับมาได้
เสือนอน Featuring เสือนอน สุดท้ายแพ้ทุกสนาม
ถึงแม้ Android จะเกลื่อนตลาด แต่ถ้า Hardware และกล้องล้ำหน้าชาวบ้านอย่าง Nokia มาอยู่ในตลาด Android ยังไงมันก็โดดเด่นกว่าใครในตลาดนี้ ขนาด HTC เคยจะร่วงอยู่รอมร่อก็ยังกลับมามีกำไร และยิ่ง Android API ผมเชื่อว่าวิศวกร Nokia จะสร้างฟีเจอร์ชูโรงที่เป็น จุดขาย,เอกลักษณ์ ได้มากกว่า WP API ที่ถูกจำกัดจำเขี่ยแบบนี้ (แบบเห็นโฆษณา Nokia แต่ละทีก็บอกแค่ว่าเล่น Line ได้ Facebook ได้ wow ตรงไหน... พอ samsung โฆษณาที แปลภาษาได้ โหมด super power save mode ได้... มวยคนละชั้นเลย)
ปล. งานนี้ผมไม่คิดว่า Nokia เจ๊งเพราะทำตัวเองนะ ก็ทำดีที่สุดแล้ว แต่เจ๊งเพราะ MS เนี่ยหล่ะ ทำ OS แบบทีจริงทีเล่น
MS เองก็มีการเมืองภายในเยอะมาก มีการพัฒนาอะไรซ้ำซ้อนกัน แล้วใช้การเมืองเป็นตัวตัดสินว่าใครชนะใครแพ้ ทั้ง ๆ ที่ถ้าจัดสรรทรัพยากรให้ไปโฟกัสในงานที่แตกต่างกันไปเลยก็น่าจะทำให้การพัฒนาตัวเองทำได้เร็วขึ้นมาก
ผมว่าการปลดคนออกเนี่ยก็น่าจะเป็นสัญญาณเตือนที่ดีว่า ถ้าแต่ละ BU ยังคงเอาแต่งัดข้อกันเอง ระวังว่าจะโดนปลดไปทั้ง BU
+1 กับย่อหน้าแรกครับ แต่ -1 กับย่อหน้า 2
ยาวแต่ก็อ่านจนจบ อ่านเพลินได้แง่คิดหลายอย่าง ก็ว่างั้นครับ ถ้าทำแอนดรอยด์ คงไม่จากไปก่อนวัยอันควรแบบนี้ถึงโนเกียจะจากไปแต่วง Sonata Arctica ยังกระหน่ำรูหูเราอยู่ นึกถึงฟินแลนด์ก็เลยนึกถึงวงนี้
มุมหนึ่งมันคือความผิดพลาดทางธุรกิจ แต่มันอดคิดไม่ได้ว่ามันคือการสมคบคิด...
เริ่มตั้งแต่ดิลประวัติศาสตร์แล้วโนเกีย&ไมโครซอฟท์แล้ว
ไม่เข้าใจว่าทำไมการตัดสินใจต่าง ๆ ของ Elop มันทำให้โนเกียเจ็บหนักแทบทุกที
เช่นประกาศเลือก windows phone และตัดหาปล่อยวัด Meego ตั้งแต่ N9 ยังไม่ทัน
วางขาย!!!
แถมประกาศว่าจะล้ม Android ให้ได้อีก ไมโครซอฟท์คงปลึ้ม แต่โนเกียสิซวยโดนตัดทางเลือกอื่น ๆ ในชีวิตออกไปหมดเลย
หนักกว่านั้น คือ Nokia ลงมาเล่น windows phone 7 ก็ช้ากว่าชาวบ้านเขา พอออก
WP7 ไม่เท่าไหร่ ไมโครซอฟท์ ก็ออก windows phone 8 แถมประกาศว่า WP7จะไม่ได้ไปต่อ... เหมือนหลอกให้ nokia ทำ wp7 แล้วลอยแพเลย (เจ๊งไปสัก
สิบรุ่นได้มั้ง)
ไม่เข้าใจว่า ผู้นำองค์กรที่บริหาร ที่บริหารผิดพลาดขนาดนี้ ไมโครซอฟท์จะยังเก็บไว้ทำไมหว่า นอกเสียจากว่า...
Happiness only real when shared.
ด้วยข้อมูลและสภาพ ณ ตอนนั้น ผมว่าไม่ผิดหรอกครับ ไม่มีใครรู้อนาคต 100% ถึงเลือก android ตอนนั้นก็ใช่จะตาม Samsung ทัน กับเงินที่น่าจะเริ่มมีปัญหาแล้ว อย่าลืมว่า Elop เข้ามาปลายปี 2010 นะครับ การเลือก wp มี MS ช่วยสนับสนุนอีก
อีกอย่างถ้าเลือก android แล้วดันไม่ขึ้นยิ่งมีแต่เสีย เพราะ CEO คนก่อนเพิ่งบอกจะไม่ใช้ android ถ้าขัดคนก่อนแล้วไม่สำเร็จโดนทุกฝ่ายถล่มแน่
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
... อย่างแรกคือการทำ Android ไม่ใด้ยากอย่างที่หลายคนคิด บ. จีนๆ และ startup หลายเจ้ายังทำกันใด้
แค่ CEO คนก่อนยอม google ในบางจุด เช่นมี app สองตัวของ google และ ตัวเอง และไม่พยายามผลักดันสิ่งที่เป็นสิทธบัตรของ nokia ให้ติดไปกับ android (เพื่อเรียกเก็บสิทธบัตรจากค่ายอื่น)
อย่างที่ว่า เรือจะล่มอยู่แล้ว มีเฮลิคอปเตอร์มารับก็ต้องรีบขึ้น นี้จะขอนั้ง 1st class ก็ต้องจมน้ำเป็นธรรมดา
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
ครับ คือผิดเต็มๆ น่าจะที่ CEO คนก่อน Elop ส่วน Elop ผมว่าไม่ได้ผิดขนาดที่คอมเม้นนั้นบอก เพราะมาตอนที่ทำอะไรได้ยากแล้ว
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
ผมว่าElop เนี่ยก็ผิดไม่ได้มากน้อยไปกว่าคนก่อนหรอกครับ เพราะเฮียแกป็นคนกลับลำเรืออีกรอบหลังจากที่กลับกันมาหลายตลบแล้วและควรจะนิ่งได้แล้ว ซึ่งถ้ามองย้อนไป ตอนนั้น Meego ที่อีโล้ปบอกว่าไม่มีแอ้พ พัฒนาเร็วกว่า Windowsphone ที่เชียร์นักเชียร์หนาอีกนะครับ เพียงแต่ว่าวินโด้วดูดีกว่าตรงที่เขาเอาเงินมาล่อ
แล้วอีโล้ปผู้ซึ่งรู้อยู่เต็มอกแต่แรกว่าถ้าขายโนเกียได้ตัวเองจะมีค่าตอบแทนมหาศาล คงเลือกจะเพลย์เซฟไปเรื่อยๆมากกว่า
เสียดาย Meego เหมือนกันครับ ผมว่า UI มันลื่นและเร็วดี แล้วพอเวลาจับทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นมือถือ SmartPhone มากกว WP อีก
ด้วยข้อจำกัดตอนนั้นผมว่า Nokia ไม่สามารถจะดันหลายๆ OS พร้อมกันไหวแล้ว การเลือกเน้น OS ใดก็มีข้อดีข้อเสียและความเสี่ยงต่างๆ กันไป ถ้าเลือกดัน Meego จะดัน Eco system สู้ iOS และ Android ได้หรือเปล่า เพราะตลาด smartphone มันไม่ได้อยู่ที่ตัว hardware หรือ OS อย่างเดียวแล้ว อยู่ที่ Eco system พวก app รวมถึงนักพัฒนา ชุมชนผู้ใช้งาน ฯลฯ ขนาดเลือก WP ที่มี MS ช่วยดัน ยังดัน app สู้ iOS และ Android ไม่ได้เลยครับ การเลือก WP ณ ตอนนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมว่าไม่ใช่ผิดร้ายแรงหรอกครับ
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
"ข้อจำกัดตอนนั้น" นี่คือช่วงที่ภาวะทางการเงินยังดีกว่าล่าสุดที่ทำ Nokia X2 นะครับ กำไรยังดีกว่ามาก
lewcpe.com , @wasonliw
CEO คนก่อนผิดที่ไม่ปรับตัว เลยโดนเปลี่ยน
elop ผิดที่เป็นคนของ ms เมื่อย้ายมา nokia แล้ว แทนที่จะทำงานให้ nokia กลับทำงานให้ ms โดยลดมูลค่า nokia มัด nokia ติดกับ ms แล้วขายให้ ms ในราคาถูก
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
คอมเม้นนี้ตอนแรกเฉยๆ จนมาถึงท่อนนี้
ไม่เข้าใจว่า ผู้นำองค์กรที่บริหาร ที่บริหารผิดพลาดขนาดนี้ ไมโครซอฟท์จะยังเก็บไว้ทำไมหว่า นอกเสียจากว่า...
แล้วก็คิดตามว่า อืมมมมม จิงด้วยยยย
ผมคิดไปคิดมา สะดุดกะความเห็นนี้ โดยเฉพาะ ประโยคสุดท้าย
สงสาร HTC ที่กำลังร่วงอยู่
ไหนๆก็ไหนๆแล้วควรลดลงมาทำตลาดกลางแบบจับต้องได้บ้าง
บ.หน้าใหม่อื่นๆก็เริ่มสร้างชื่อขึ้นมาแล้ว ถ้าตัวเองคิดว่าอยู่ตลาดบนคงรอดไม่นาน
เข็น N97 ออกมาชนกับ iPhone3gs นึกถึงคลิปนี้เลยจริงๆ มันเทียบความตื่นตาของ iPhone ไม่ได้จริง
Nokia N97: The Truth: http://youtu.be/vJpEuMidcSU
นอกเรื่องแป๊บครับ
http://goo.gl/GP0RzX
เขาเอาไปลงไม่มี Link อ้างอิงอะไรเลย อันนี้ปกติใช่ไหมครับ ??
ข้างบนมีพูดถึงละครับ มี Logo เล็ก ๆ อยู่ด้านบนและล่างครับ (เปิดในคอมนะ)
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆและการวิเคราะห์ที่ทำให้น่าอ่านมากๆครับ
ที่น่าสนใจใน (เชิงฮาร์ดแวร์) มาหลายตัว => ที่น่าสนใจ (ในเชิงฮาร์ดแวร์) มาหลายตัว
"เดินหมากพลาดตาเดียว พ่ายแพ้ทั้งกระดาน"
ทำให้ผมนึกถึงเกมเศรษฐีขึ้นมา เหมือน nokia ไปโดน landmark MS เข้า
เกี่ยวไหมนี่
หลายคนมองว่าถึง Nokia จะเลือก Android ในปี 2011 ก็สายไปแล้ว แต่ผมไม่คิดแบบนั้นนะ ด้วยชื่อที่ยังขายได้ บวกกับเทคโนโลยีเจ๋งๆ ที่มีอยู่ซึ่งช่วยสร้างความแตกต่าง เมื่อบวกกับ Android แทบจะเรียกได้ว่า perfect เลยทีเดียว อาจเหนื่อยหน่อยในช่วงแรกที่ต้องฟาดฟันกับ Samsung, LG แต่สุดท้ายผมเชื่อว่า Nokia จะค่อยๆ กลับมาได้ แต่ก็นั่นแหละนะ ด้วยความเชื่องช้าของ Nokia ก็ไม่แน่ว่าจะสู้กับความรวดเร็วของบริษัทเกาหลีและจีนเหล่านั้นไหวหรือเปล่า
ถึงยังไงก็ตามที่ผ่านมา ผมว่า Nokia ทำให้ WP ดีขึ้นมากกว่า WP ทำให้ Nokia ดีขึ้นนะ
เห็นด้วยครับ
ตอน Nokia ออก android รุ่นแรกมา ยังเป็นข่าวใหญ่ ที่มีคนสนใจทั้งวงการเลยนะมีคนคาดหวัง ว่าจะได้กล้องระดับ pure view , ระบบ here map
แต่สุดท้าย ออกมาไม่มีฟีเจอร์อะไรเด่นเป็นพิเศษ แถมไม่มี play store อีกต่างหาก (ถึงจะ root ให้ลงทีหลังได้ก็เถอะ )เรียกได้ว่าไม่มีอะไรโดดเด่นเลย
เห็นโทษถึงแต่ตา Elop กัน... ไม่มีใครพูดถึงตาคนนี้เลยหรือครับ
"Joe Belfiore"
ในยุคที่ Nokia ตัดสินใจเลือก WP นั้นไม่แปลกครับ สมัยนั้นตัวผมเองก็เชียร์ และเข้าใจในเหตุผลของโนเกีย นับว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับโนเกียในสมัยนั้น เหมือนที่คุณ mk กล่าวไว้ในบทความนั่นแหละ
แต่ทุกฝ่ายในโนเกีย ตัว Elop เอง ก็คงคาดไม่ถึง ว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์มันจะดิ่งลงไปขนาดนี้ แต่ถึงอย่างไร Elop ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ไม่ว่าอย่างไรเขาก็ต้องตัดสินใจแบบนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือโทรจันที่ไมโครซอฟท์ส่งมาจริงๆ (ถ้าจะโทษการตัดสินใจ โทษบอร์ดโนเกียที่เลือก Elop เข้ามาดีกว่าครับ)
ทีนี้ ทำไมต้องเป็นตา Joe Belfiore...
ผมเชื่อว่าที่นี่มีแฟนบอย WP หลายคน (หลายคนก็ตั้งแต่ WP7 หรือตั้งแต่ WM มาด้วยซ้ำ) ก็คงจะรู้จักตา Joe Belfiore ดีว่าเป็น Chief ของ WP มาตั้งแต่แรก แนวทางและกรอบในการพัฒนา WP ก็มาจากคุณคนนี้ล่ะครับ โดยเริ่มแรกแนวทางการพัฒนา WP ก็นับว่าน่าสนใจ ด้วยการที่ล้างไพ่ทำใหม่หมด ด้วยฐานที่มาจากการทำ Zune ในสมัยนั้น (ตา Joe Belfiore ที่คุม WP ได้ ก็เพราะเฮียแกทำ Zune มาก่อน) การทำให้ WP เป็นระบบปิด และเดินตามรอย iOS ในหลายๆ ด้าน เสถียรภาพดี UI ใหม่และน่าสนใจในสมัยนั้น การอัพเดตตรงจาก MS ที่นับว่าบี้ข้อจำกัดของ Android ในสมัยนั้นได้ (สมัยนี้ Android แก้เกมด้วยการยกเป็น Google Play Services แล้วไปอัพเดตตรงนี้แทน)
แต่ด้วยการพัฒนาที่เชื่องช้ามาก อัพเดตทีรอกันเหงือกแห้ง (แสดงให้เห็นความเชื่องช้าของ MS จริงๆ) ในขณะที่คู่แข่งที่นำหน้าก่อนแล้วก็ยังก้าวไปเร็วมาก และทีมงาน WP เองก็ยึดแต่แนวคิดของตัวเองโดยไม่ยอมปรับตัวตามตลาด เช่นยึดแต่ Metro UI โดยไม่เปิดให้ customize ได้เลย การมีข้อจำกัดของ API ที่เปิดให้ใช้จำกัดจำเขี่ย (แถมบังคับให้รันใน Sandbox ที่เป็นง่อย) จนกลายเป็นข้อจำกัดของ WP และทำให้ขาดแอพดีๆ อย่างที่ควรจะมีเพราะติดข้อจำกัดในการพัฒนา แต่ข้อจำกัดนี้ก็ไม่ถูกแก้ไขตลอดมาเพราะการยึดติดกับแนวคิดตัวเอง ตา Belfiore คิดว่าแบบนี้แหละมันต้องใช่...แต่ตลาดก็ตอบให้แล้วว่ามันไม่ใช่
ที่ต้องอ้างถึง Joe Belfiore เพราะเขาเป็นหัวหอกที่คุม WP และเวลาเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ๆ ใน WP รุ่นใหม่ๆ ก็จะมีเค้านี่แหละที่มาสาธิตเอง ซึ่งทุกครั้งที่โชว์ฟีเจอร์ใหม่ ก็มักจะเป็นฟีเจอร์ที่มาเต็มเต็มในสิ่งที่ขาดจากรุ่นก่อน (ผมอยากใช้คำว่าฟีเจอร์ง่อยๆ จัง แต่มันฟังดูแรงไป เช่นพวกขยาย live tile จากสีแถวเป็นหกแถวเอย เพิ่มฟีเจอร์ล็อกเอียงหน้าจอเอย แก้บั๊กเอย แฟนบอยเงิบ) ในขณะที่แฟนบอยคาดหวังอะไรที่มัน wow กว่านั้นมาก คาดหวังอะไรที่มันไล่ทัน iOS และ Android แต่ก็ทำให้แฟนบอยเงิบมาตลอด (เพิ่งจะมาก้าวกระโดดตอน WP 8.1 แต่มันก็ยังตามหลัง OS อื่นอยู่ดี) จริงๆ ตา Joe Belfiore เองก็ใช้ Android อยู่ ก็น่าจะเห็นข้อแตกต่างที่ทิ้งห่างระหว่าง Android กับ WP ได้เป็นอย่างดี แต่เฮียแกคงคิดว่า WP แบบที่แกทำอยู่แบบนี้แหละ มันเจ๋ง มันใช่แล้ว!!
ในขณะที่ตา Joe Belfiore ทำ WP ด้วยความชิล แต่ผมยอมรับในความพยายามและทุ่มเทของทีม Nokia มาก ในการออกแอพของตัวเอง เพื่อมาลบข้อจำกัดที่ WP มีอยู่ แต่พลังของโนเกียมันก็ได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ออกมาจากต้นน้ำเอง
ฟีเจอร์ที่ตามหลังคู่แข่งมาก ความเชื่องช้าในการพัฒนาและอัพเดต และข้อสำคัญคือแอพ ที่ยังขาดแอพดีๆ เพราะข้อจำกัดของ API และการรันใน Sandbox ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้นักพัฒนาไม่สามารถทำแอพที่สมบูรณ์แบบ ถึงใจ ถึงอารมณ์ได้ (คนใช้ WP จะทราบดี ว่าแอพบน WP มันดูกั๊กๆ ตลอด... และถามว่าคนใช้รู้ได้ไง ...ขอโทษครับ dev เค้าเขียนประจานไว้ใน app เลยว่าติดเรื่อง API ทำให้ทำฟีเจอร์แบบนี้ไม่ได้ และคุณจะพบแอพที่เขียนแบบนี้หลายแอพมากๆ) และมันก็ส่งผลถึงจำนวนและคุณภาพแอพ และก็ส่งผลในการตัดสินใจเลือกใช้ด้วย และมันก็ย้อนกลับมาที่ยอดขายและขนาด ecosystem เอง แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ทีมงาน WP ก็ยังนิ่งเฉยและปล่อยให้มันเป็นไปแบบนี้ ด้วยความคิดที่อยากให้มันปลอดภัยตามแนวคิดของ WP ที่เดินตามทาง iOS แต่แรก (แต่ปัจจุบัน iOS ก็ทิ้ง WP ไปไกลแล้ว)
และทั้งหมดนี้ ก็คงจะโทษ Elop คนเดียวไม่ได้ ผมว่าเขาเป็นผู้บริหารโนเกียที่พยายามทำดีที่สุดแล้ว (นอกซะจากเรื่องพูดจาฆ่าผลิตภัณฑ์ตัวเอง เช่นบอกจะเลิกทำ Symbian อันนี้พลาดมากจริงๆ) และโนเกียก็พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีและโดดเด่นมาตลอด แต่ข้อจำกัดมันอยู่ที่ WP จริงๆ ซึ่งก็คงต้องโทษฝ่ายต้นน้ำของ WP แล้วแหละ ว่าทำงานกันยังไง
ผมขอยืมคำพูดของคุณ trufa ที่ว่า "ไม่เข้าใจว่า ผู้นำองค์กรที่บริหาร ที่บริหารผิดพลาดขนาดนี้ ไมโครซอฟท์จะยังเก็บไว้ทำไมหว่า นอกเสียจากว่า..." แต่ขอใช้กับ Joe Belfiore ไม่ใช่ Elop นะครับ
เคยรักมาก ก็เกลียดมากนะ ฮ่าๆๆ
ตานี่ออกมาแต่ละที ก็ดีใจนะครับ เพราะหมายถึงต้องมีอะไรใหม่ๆ ออกมาโชว์บ้าง
แต่ผมก็ว่าตานี่แหละครับที่ทำให้ช้าด้วย
สังเกตไหมครับว่า wp เพิ่งจะดีขึ้นพรวดพราด (8.1) ก็ช่วงหลังจากไมโครซอฟทเขมือบโนเกียไปเกือบหมดทั้งตัวแล้วนั่นแหละ
Happiness only real when shared.
ขอบคุณที่มาร่วมแลกเปลี่ยนนะครับ ประเด็นของผมก็คล้ายๆ กันคือ Elop มาช้า ตัวเลือกมีจำกัด ตัดสินใจน่าจะดีที่สุดแล้ว ณ เวลานั้น
เพียงแต่มาเจอปัญหา WP ไม่ได้ดั่งใจ ซึ่งจะเป็นเพราะอะไรนั้น ในบทความนี้ไม่ได้กล่าวถึงไว้ (เพราะไม่ได้เกี่ยวกับโนเกียโดยตรง) แต่ให้ผมแสดงความเห็น ก็ต้องบอกว่าเกิดจาก "การเมือง" ภายในไมโครซอฟท์อีกเหมือนกันครับ
เห็นด้วยกับบทความครับ
หลายๆคนบอกถ้าตอนนั้นเลือก android ไปก็สบายแล้ว มันเป็นการพูดหลังเกมส์แล้วณ ตอนนั้นไม่มีใครรู้หรอกว่าอนาคต Windows Phone จะเป็นยังไง การเลือก WP ไม่ได้ขี่เหร่ขนาดนั้น เพราะทั้งชื่อเสียงของ MS ทั้งเงินสนับสนุน และตลาดที่ยังใหม่ ถ้า nokia ครองตลาดนี้ได้ก่อนก็ได้เปรียบ
และอีกอย่าง android ก็ไม่ได้เป็นตลาดที่สวยงามขนาดนั้น ดูได้จากทั้ง HTC ที่เคยเป็นเบอร์ 1 และ SE ที่ต้อง rebranding และจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดกับ nokia
ยอดเยี่ยมมากเลยครับ บทความนี้ เรียกได้ว่าถูกที่ถูกเป้าเลย จริงๆ ปัญหาตรงนี้ มันคือปัญหาของ MS ด้วยครึ่งนึง WP เนี่ยมีดีที่ Nokia แต่กลายเป็น Nokia จะทุ่มแค่ไหนก็ตาม แต่ MS ที่เคลื่อนตัวช้ามาก(จนถูกทิ้งกระจาย) จนทำให้ Nokia พัง
ปัจจุบัน WP มีดีที่ Here Map และกล้อง Nokia พวก Service อื่นๆก็เหมือนคนพิการ ยิ่งหน้าตามันแปลกๆ ยิ่งทำให้รู้ว่ามันไม่ใช่ คงต้องบอกว่าถ้าจะให้ดีขึ้น เปลี่ยนผู้นำ WP คนใหม่ซะน่าจะทำให้อะไรๆมันดีขึ้น
ปล.อยากให้ทิ้งซะทีเถอะ Metro UI เนี่ยใช้ทีไรรู้สึกว่ามันคือ PC ทุกทีมันไม่สดใสสักกะที อยากให้พื้นหลังเป็นแบบมือถือทั่วไปได้ไหมที่มีสีสรรค์ น่าใช้สักหน่อย
เพิ่งอ่านจบ ว่าจะมาตอบ Joe Belfiore เหมือนกัน จริงๆ เขียนไว้ตรงกับที่กำลังจะเขียนพอดี (ผมอาจจะเสริมนิดหน่อย)
แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ WP หรอก WRT ก็พอกัน เงียบเป็นป่าช้า แถมไม่มีอะไรเพิ่งเติมใดๆ กับ Windows Store App เลย เหมือนจะทิ้งๆ ค้างๆ ไว้แบบนั้น (API ง่อนทั้งสองตัว ผมเลิกเขียนไปเลย น่าเบื่อมาก ทำนั้นโน้นนี่ไม่ได้ เยอะแยะ เสียเงินค่า account dev กับ ebook ไปเกือบหมื่น)
จริงๆ Joe Belfiore ควรรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และลดบทบาทตัวเองตั้งแต่ WP7 แล้วด้วยซ้ำ แต่ยังดันทุรังมา WP8 แถม WP 8.1 ถึงแม้จะมีความสามารถที่เยอะขึ้น ก็แค่ไล่ตาม ไม่ได้ทัดเทียมกับคู่แข่งแต่อย่างใด แม้แต่ BB 10 ยังดูดีกว่าเยอะในแง่ความสามารถที่ครบกว่าในตัว OS (เสียดาย BB 10 แรงดันจากบริษัทที่ส่งให้ Dev มันน้อยไปหน่อย)
ตอน WP7 ผมยังงงว่า Microsoft ประเทศไทยเอามาขายทำไม เพราะมันใช้ภาษาไทยไม่ได้ ตอนแรกว่าจะซื้อ แม้ตอนลองใช้รู้สึกโอเค แต่พอใช้ภาษาไทยแล้วแล้วกลับใช้ไม่ได้ เลยเลิกคิดที่จะซื้อไปเลย เพราะเคยมีประสบการณ์การใช้เครื่องที่ไม่่รองรับภาษาไทยแล้วชีวิตลำบากมากอยู่พัก แถมสร้างประสบการณ์ที่ห่วยแตกให้กับลูกค้าตั้งแต่ตั้งไข่ในตลาดไทย พอ WP8 คนเลยไม่กล้าใช้ไปเลย ถือว่าพลาดเอง ช่วยไม่ได้ Nokia, HTC และ Samsung ก็รับกรรมกันไปตอบคำถามลูกค้าอยู่เรื่อย ส่วน Microsoft ก็ดูจะลอยตัวเหนือปัญหาต่อไป
คือหลังจากที่ผมย้ายจาก WP 8.1 มาใช้ Android 4.4 กว่าเดือนที่ผ่านมา ผมบอกได้เต็มปากกับหลายๆ คนรอบตัวเลยว่า ผมดักดานอยู่กับ WP ได้ยังไงเป็นปีก็ไม่รู้ UI และความลื่นโอเค แต่แอพและความสามารถหากชั้นมาก มันเป็นโทรศัพท์ที่ดีมาก กล้องที่ดี ทั้งสองความสามารถนี้เข้าถึงและใช้งานได้ง่ายและเร็ว แต่ผิดกับ Android แม้จะกระตุกบ้าง (ไม่ลื่นเท่า) แต่ในแง่ประสบการณ์การใช้งานโดยรวมทั้งหมด ประกอบกับแอพต่างๆ ที่เพิ่งเติมเข้ามาให้มันใช้งานได้หลากหลายมากขึ้นกว่าเยอะมากๆ ก็ถือชนะไปได้ไม่ยากเย็นเลย และมันได้ประสบการณ์ในการใช้งานดีกว่า 2 ปีก่อนที่ผมเคยใช้ Android 4.0 อย่างมาก ทิ้ง WP ไปไกลเลย คือถึงผมจะชอบ Live Tile และ Modern UI ก็ตาม
สงสัยว่า Microsoft และเหล่าผู้ถือหุ้นจะทนกับนายคนนี้ได้อีกนานแค่ไหน ....
หวังว่า CEO คนใหม่จะเลือกทำอะไรดีๆ ครับ
ที่ผมโทษ elop มีประเด็นเดียวครับ ทำไมไม่ตัดสินใจเหยียบเรือ 2 แคม คนอื่นก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น นี่คือความผิดที่ไม่เผื่อทางรอดไว้ให้ตัวเอง หรือว่าตอนนั้น มอง ms และโนเกีย เป็นบริษัทเดียวกันไปแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ไงครับ ทำไมต้องผูกตัวเองไว้กับ ms นี่แหละครับคือความผิดของ elop ในการบริหาร (โนเกียมีทั้ง meego wp android ให้เลือก ทำไมเลือกทำตัวเดียว มันเสี่ยงไป)
รอ Nokia Morph ผมว่าถ้าทำได้ น่าจะเป็น Device ยุคต่อไป
Diagram สุดท้าย S90 ต้องเป็นพวก 7700(S90 ตัวแรก ไม่ได้ออกขาย) 7710 นะครับส่วน 9500 เป็น S80
มีอ้างอิงไหมครับ (ข้อมูลตรงนี้หาค่อนข้างยาก) ผมอ้างจาก Wikipedia ครับ
Series 90
Ericsson = Sony, Nokia = Microsoft, Motorola = Lenovo
Motorola ส่วนใหญ่ยังอยู่กับ Google ครับMotorola เฉพาะด้านมือถืออย่างเดียวไปอยู่กับ Lenovo ครับ
Motorola 1 = GoogleMotorola 2 = Lenovo
ลองๆ ไล่ประวัติดู แต่ก่อนโนเกียมองว่ามือถือคือเครื่องมือสื่อสาร ทีนี้พอวงการมือถือเปลี่ยนไป ไม่ใช่อุปกรณ์สื่อสารแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทำหลายๆ อย่างได้ CEO ก็เลยปรับ mind set ไม่ทัน ทำให้ปรับตัวไม่ทันกับ mind set ของคู่แข่งที่มาจากบริษัทสายเทคโนโลยี ไม่งั้นแล้วการพัฒนา symbian คงไม่มีปัญหาและล่าช้ามากขนาดนั้น
เท่าที่อ่านเหมือนเขาจะรู้ครับ แต่ว่าไอ่ที่ไม่รู้คือคู่แข่งจากอเมริกาจะโตเร็วขนาดนี้
เหมือนเล่นเกมเศรษฐี ตกแลนมาคครั้งเดียว เกมพลิกได้ทันที
เคยเสียดายนะครับ ที่ผมอดทนรอซื้อ Nokia Lumia 800 (WP 7) ไม่ไหว ตอนนั้นอยากใช้ Nokia มากๆ เพราะรู้ว่า nokia จะเปลี่ยนจาก Symbian มาเป็น WP ผมเองก็ชอบทั้ง Nokia และ MS อยู่แล้วครับ ตอนนั้นไม่ยอมซื้อเลยทั้ง Android, iOS และ BB ครับ แต่สุดท้ายกลัวว่าจะใช้เงินหมดก่อนที่ Lumia จะวางขาย ผมจึงตัดสินซื้อ Android แทนครับ แต่วันนี้ดีใจครับที่ไม่มีโอกาศได้ซื้อให้เสียดายเงินครับ
ผมคนหนึ่งนี่ล่ะที่ซื้อ Nokia Lumia 800 ไป เครื่องเดียวทำให้รู้สึกเกลียด Microsoft และไม่ชอบ Nokia เลย ทั้งที่ปกติซื้อมือถือแต่ยี่ห้อ Nokia มาตลอด Lumia 800 ภาษาไทยพิมพ์ไม่ได้ โซเชียลเน็ตเวิร์คโหลดหน้าช้ามาก แจ้งเตือนช้ามาก บางตัวไม่แจ้งเตือนเลย(Line) และโปรแกรมไม่สมบูรณ์หรือส่วนดีดีในโปรแกรมไม่มีให้เหมือน iOS/Android ด้วย
ตอนนี้ใช้ Android เป็นหลัก iOS เป็นรอง สบายใจกว่าเยอะครับ
ในอดีตชอบโนเกียมากๆ ถึงกับมีอยู่สองเครื่องคือ N79 กับ N85 ในช่วงที่ iPhone ยังต่อกรไม่ได้เท่าไรนัก จนกระทั่งเมื่อช่วง WP7 มา เกือบจะย้ายแต่ติดเรื่องใช้ภาษาไทยไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เลยต้องจำใจไปใช้ SIII ซึ่งทุกวันนี้ผมยังไม่รู้สึกเสียดายเลยด้วยซ้ำที่ย้ายมา แถมยังได้การสนับสนุนยาวนานจนกระทั่งไป Kitkat ไม่ได้ (แต่ก็ดีกว่ายี่ห้ออื่นที่มาในช่วงเดียวกันแล้วย้ายขึ้นมาไม่ถึง 4.3)
เครื่องรองก็ iPod Touch และ Nokia Lumia 520 ซึ่งไอ้เจ้า 520 ตอนแรกซื้อให้แม่ใช้ แต่แม่ไม่ชอบจอเล็ก พิมพ์ยาก (เพราะใช้ iPad3 เป็นหลัก เวลาโทรก็ Samsung Hero) ก็เลยให้พี่สาวใช้เป็นเครื่องสำรองแทน iPhone4S ไปละ (ถ้า 4S พังนะ)
ความน่าหงุดหงิดก็อย่างที่หลายๆคนบ่นมาว่าแอพส่วนใหญ่ที่ตัวอื่นเขามี ตัวนี้ถึงจะมีแต่ก็ใช้ได้ไม่ดีเท่าเจ้าอื่น เหอะๆ ก็เลยทนไม่ไหว หนีกลับมาใช้ Android, iOS ตามเดิม
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
ผมมีโอกาสได้ใช้ N9 อยากบอกว่าตัวมันเองเป็นโทรศัพท์ที่ดีมาก ตัว MeeGo เข้าใจง่าย ใช้ง่าย ปิด app สลับ app ไหว ตรงไปตรงมา เสียดายที่ไม่มี app ดีๆ ให้ใช้และไม่ได้ไปต่อ ส่วน Jolla เหมือนผีรู้ว่ามีแต่ไม่มีโอกาสจะได้ใช้
ผมก็ชอบ N9 มากนะครับ UI ดีทุกอย่าง เสียอย่างเดียวตรงที่ Back ไม่ควรเป็นปุ่ม ควรจะ swipe กลับได้ด้วย
แต่ Jolla เท่าที่ดูวิดีโอแล้ว รู้สึก UI มัน "เยอะ" เกินไปมาก ไม่เรียบง่ายแบบ MeeGo
ถ้าถือ Nexus อยู่ ก็ใช้เป็นร่างทรงได้นะครับ
เห็นด้วยครับ ผมก็ว่า Jolla เยอะเกิน
ที่ MS ออก OS ช้า นี่เพราะออกแบบ universal หรือเปล่าครับ เลยต้องรอแต่ละ platform ให้เสร็จก่อน จะเพิ่ม feature อะไรทีต้อง approve หลายขั้นตอน
นึกถึงสมัยก่อนนะครับ
ทุกคนที่ผมรู้จัก ที่ซื้อ pocket pc มาใช้ ต้องเคยทำ contact list หายทั้งเครื่องอย่างต่ำ 1 ครั้ง
Symbian ไม่ใช้แค่ลาก Nokia ลงหลุม แต่ลากคนอื่น ลงหลุมตามไปด้วย
อย่าง Sony พวก vivaz, x10 ตัว hardware มันสุดยอดมาก design ก็ดี
เจอความงี่เง่าสุดขั้วของ Symbian เข้าไป จอดหมด
เจอดอกแรก รุ่นแรกๆที่เอาเข้ามา ไม่มีภาษาไทย อันนี้ไม่เท่าไหร่ .. แต่ พวกเล่นไม่ support ภาษาไทยเลย ขึ้นเป็น ภาษาต่างดาวหมด อันนี้รับไม่ได้
ดอกต่อๆมา กดปิดเสียงเป็น silence mode แต่ตัวตั้งนาฟิกาปลุก ก็ยังส่งเสียงดังเตือนได้อยู่
เดินไปถาม 0 ก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า .. ก็พี่ตั้งนาฟิกาปลุกไว้ .. มันก็ต้องดังซิครับ??
อะไรฟะ ?
แล้วก็ พอจะขายทิ้ง เพิ่งมารู้ว่า ..
กดล้างเครื่องไม่ได้ ต้องให้ 0 nokia เป็นคนล้างด้วยเหตุผลง่ายๆ อีกคือ กันขโมยครับพี่
เอาไปให้ตู้ล้าง จำได้จนถึงวันนี้เลยว่ากด *#7370#
ลาขาด Symbian S60
สูงสุดสู่สามัญ
ดีสุดสู่ล้มเหลว
ล้มเหลวสู่ดีที่สุด
ผิดพลาดแล้วยืนได้
ยืนได้แล้วก็ผิดพลาด
จึงสรุปว่า
ทั้งหมดทั้งสิ้นเกิดจากความประมาท : เพราะคิดว่าเป็นอันดับหนึ่ง
อยากถามคุณ mk ว่าข้อความนี้มันมีแหล่งอ้างอิงไหมครับ จะได้อ่านเพิ่มเติม
เท่าที่ผมอ่านประวัติมา Andy Rubin ยกเครื่อง Android เวอร์ชั่นที่เขากำลังพัฒนาใหม่หมด หลังจากการเปิดตัว iPhone
คือคุณ mk รู้ได้ยังไงว่า version ที่ Rubin (ก่อน iPhone เปิดตัว) ทำอยู่เขาตั้งใจ "ให้มีแอพรันได้เสมอ"ในเมื่อ Android ณ ตอนนั้นยังไม่มีอะไรที่คล้ายกับ App store เลย (ที่ซื้อขายแอพ) "in the beginning it had no plans to allow anything resembling an application store"
อีกประเด็นก็คือถ้าไม่มี iPhone เปิดตัวมา Android ก็คงไม่ได้ยกเครื่องใหม่ทั้งหมดและกลายมาเป็น Android ในปัจจุบัน เพราะฉนั้นจริงๆ ควรให้ credit กับทาง Apple ด้วย บทความเหมือนจะพยายาม discredit เล็กๆ ถ้า touch screen ที่มีมาก่อน iPhone ดีจริงทำไมจึงไม่ประสบความสำเร็จ?
Android ก่อน iPhone เปิดตัว
วัน iPhone เปิดตัว
Andy Rubin - "Holy crap, I guess we're not going to ship that phone"Chris DeSalvo - "As a consumer I was blown away. I wanted one immediately. But as a Google engineer, I thought 'We're going to have to start over'."
สรุป
ผมกลับมองว่าสาเหตุการล่มสลายของ Nokia ส่วนหนึ่งมาจาก iPhone โดยตรง ถ้าไม่มี iPhone เกิดมา Android ที่ลงมาแข่งหน้าตาก็จะเหมือนรูปข้างบน ซึ่งกลายเป็น Nokia vs Android แทน ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงรูปเกมค่อนข้างจะสูสี เพราะ Android (ก่อน iPhone) ไม่ได้ล้ำสมัยหรือต่างอะไรมากจาก Nokia
เวลามีคนกล่าวว่า iPhone เป็นผู้ปฎิวัติวงการมือถือ จึงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย (ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยชอบ iPhone ที่มันล็อคโน่นนี่ก็เถอะ 55)
Reference
http://www.theverge.com/2013/12/20/5229618/android-started-over-the-day-the-iphone-was-announcedhttp://www.theatlantic.com/technology/archive/2013/12/the-day-google-had-to-start-over-on-android/282479/
เป็นคำถามที่ดีมากครับ แต่เจตนาของผมไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่อง iPhone (และการยกเครื่อง Android) เลยนะครับ
จริงๆ แล้วคือ Rubin แกเคยทำมือถือ Sidekick มาก่อน และโลกมือถือในตอนนั้น การสร้างแอพให้มือถือแต่ละรุ่นนั้นค่อนข้างยาก ถึงแม้จะมี J2ME แต่มันก็ยังต้องออกแบบและทดลองรันกับมือถือแต่ละค่ายอยู่ดี ดังนั้นไอเดียของ Rubin คือทำระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์สที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายไหนๆ ก็เอาไปใช้งานต่อได้ แต่ยังการันตีว่าแอพที่เขียนบนระบบปฏิบัติการนี้จะทำงานได้เสมอ โดยไม่ขึ้นกับฮาร์ดแวร์ของค่ายใดค่ายหนึ่งครับ
ผมหาต้นฉบับเป๊ะๆ ไม่เจอ แต่ที่ใกล้เคียงก็อย่างเช่น
Android Developers Blog (Rubin เขียนเอง)
Wired
เห็น sanook เอาไปลงไม่ทราบว่าทาง sanook เขาขออนุญาติก่อนหรือว่าเขาเอาไปลงเลยแล้วแค่แปะลิงค์กลับมา แค่สงสัยนะครับว่าเว็บใหญ่เขามีทำแบบนี้ด้วยเหรอครับ
http://hitech.sanook.com/1390629/ย้อนตำนาน-nokia-เดินหมากพลาดตาเดียว-พ่ายแพ้ทั้งกระดาน/
บทความของ Blognone ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons ครับ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ภายใต้เงื่อนไขว่า
ซึ่งกรณีของ Sanook ก็คือทำถูกต้องตามเงื่อนไขครับ (มีแถมโลโก้ให้ด้วย)
นวนิยาย nokia เนื้อเรื่องน่าเบื่อแท้ egoตัวเองล้วนๆอยากรู้ เรื่องราวราชสีห์MSมากกว่า ว่าจะดิ้นรนเอาตัวรอด ในอาณาจักรที่ตัวเองสร้างขึ้นอย่างไร
จนถึงตอนนี้ผมก็ยังชอบบอดี้ E7 มากๆ ผมว่ามันสวยกว่า iPhone หรือ Android ตัวท็อปทั้งหลายอีกนะ
น่าเสียดายมันตายตั้งแต่ก่อนวางขายละ
Nokia E7 N8 เป็นดีไซน์ต้นแบบของ N9 ครับ (ทุกวันนี้ผมยังใช้โนเกียอยู่ โดย N9 64GB เป็นเครื่องหลัก E7 E90 เป็นเครื่องรอง N91 8GB HDD ไว้ฟังเพลง 808 PureView ไว้ถ่ายรูป)
แฟนพันธ์แท้เลยนะครับ
ผมชอบ E7 ตรงที่มันสไลด์คีย์บอร์ดได้นี่แหละครับ ผมว่าโคตรเท่เลยอะ N9 ก็สวยครับ แต่ผมชอบวัสดุแบบ E7 มากกว่า
อนาคตต้องมีข่าวแบบนี้เกิดขึ้นกับ Apple หรือ Samsung
เตรียมรับชมกันได้เลย
ซัมซุงนี่ผมว่าผมเชื่อมือนะครับ ไม่น่าจะเกิดสถานการณ์แบบโนเกียได้ง่ายๆ
ถ้ายังจำกันได้ ซัมซุงเองก็เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการมือถือมานานแล้ว ตั้งแต่ยุคจอขาวดำด้วยซ้ำ (A800 สมัยนั้นไฮโซมากๆ) จนถึงช่วงจอสีใหม่ๆ นี่ซัมซุงเองแย่ง market share ของ Nokia ในสมัยนั้นไปได้เยอะเลย เพราะมือถือซัมซุงเองก็มีความโดดเด่นในตัว อย่างจอสีสวย (สมัยนั้นโนเกียยังใช้จอเห่ยๆ ซีดๆ สี่พันสีอยู่เลย) วัสดุดี ดีไซน์สวย เสียงเพราะ และกล้องดีด้วย (ถ้าใครยังจำรุ่น V200 กันได้ เป็นสุดยอดกล้องมือถือในยุคนั้นเลย) ใครใช้ซัมซุงนี่ดูดีมากในช่วงนั้นเลยนะ
เอาจริงๆ มันก็เป็นเพราะซัมซุงมีเทคโนโลยีอยู่ในมือ มีนวัตกรรมใหม่ๆ และยังผลิตเอง เลยใส่เทคโนโลยีที่ดีกว่าคู่แข่งและสร้างความได้เปรียบได้ เอาจนถึงทุกวันนี้ ซัมซุงเองก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ (เช่นจอ Super AMOLED เป็นต้น)
ถึงอย่างนั้น ซัมซุงเองก็เพลี้ยงพล้ำให้ Nokia ในยุคที่ Smartphone อย่าง Symbian กำลังมาแรง สมัยนั้นใครๆ ต้องใช้ Nokia S60 เพราะเรื่องแอพเป็นหลัก โหลดนั่นนี่อะไรก็มีแต่บน Symbian ที่ทำให้เห็นว่า Ecosystem มันสำคัญแค่ไหน (ชวนทำให้นึกถึง iOS ในยุคนี้จริงๆ) ช่วงนั้นเป็นยุคทองของโนเกียจริงๆ ยี่ห้ออื่นเรียกว่าตายสนิท Siemens, Motorola, Alcatel, Philips, Sagem บลาๆๆ ตายในยุคนี้ทั้งนั้น แต่ซัมซุงก็ยังพอเอาตัวรอดได้ในยุคนั้น ด้วยการขายฟีเจอร์โฟนไปพลางๆ (ถ้ายังจำกันได้ มือถือแบบสไลด์ฮิตอยู่ช่วงนึง) ก็เป็นหมายเลข 2 ไปแบบทิ้งห่างโนเกีย การที่ซัมซุงเอาตัวรอดในยุคนั้นมาได้ ถือว่าซัมซุงเองก็มีดีในตัวเหมือนกัน และสานป่านก็ยาวพอ (อีกรายที่รอดมาแบบคล้ายๆ กันคือ Sony Ericsson)
จนมายุค Galaxy ก็ต้องถือว่าซัมซุงฉลาดที่เห็นช่องว่างในตลาด และเกาะกระแส iPhone จนกลายมาเป็น Galaxy ที่เป็นยุคทองของซัมซุงได้ แต่ถึงอย่างนั้นซัมซุงจะเป็นแบบนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่สะสมเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง ผลิตชิ้นส่วนอย่างชิพ จอภาพเอง จนสร้างความได้เปรียบเหนือยี่ห้ออื่นได้ (ดูตัวอย่าง HTC เป็นต้น) บวกกับการที่สายป่านยาวทำให้มีงบทำการตลาดเยอะๆ ได้
บวกกับการที่มีธุรกิจหลายอย่างอยู่ในมือและเกื้อหนุนกัน (ซึ่งต่างจากโนเกีย) ผมมองว่าซัมซุงยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน แต่สำหรับ Apple ผมกลับมองว่าสถานการณ์คล้ายๆ Nokia คือผูกกับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งมากเกินไป (ดูจากสัดส่วนกำไร iPhone ต่อทั้งบริษัทได้) แถมเสี่ยงกว่าตรงที่เลือกเจาะเฉพาะกลุ่มตลาดอีก และเอาตรงๆ คือยังไม่เห็นสายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นอนาคตของบริษัทเลย ส่วนตัวผมเลยมองว่า อาการน่าเป็นห่วง แม้หลายคนจะไม่รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงเลยก็ตาม เพราะยังมองว่าแอปเปิลเป็นแบรนด์ที่ทรงพลัง ไอโฟนยังขายดี แอพเยอะ ใครๆ ก็อยากได้ iPhone ในตอนนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ใครจะไปคิดว่าแบรนด์ที่ทรงพลังอย่าง Nokia หรือแม้แต่ BlackBerry จะมีสถานการณ์แบบทุกวันนี้ล่ะครับ ถ้าคุณยังจำยุครุ่งเรืองของโนเกียได้ พอนึกภาพตอนนั้นได้ ผมก็เชื่อว่าคุณก็น่าจะมีอารมณ์ทึ่งบ้างแหละ ว่ามันเป็นไปได้อย่างไร
+1 apple น่าเป็นห่วง มากด้วย
ณ ตอนนั้นก็คงไม่มีใครจินตนาการได้ว่าบริษัทที่รุ่งขนาดนั้นเช่นเดียวกับ แซมซัง และแอปเปิ้ล จะสามารถดับได้เช่นเดียวกับตอนนี้ที่หลายคนคิดว่าแซมซังไม่ร่วงแน่นอน
คือการที่ล่มหรือไม่ล่ม มันย่อมมีปัจจัยไงครับ
อย่างตามบทความ คุณ mk ก็เขียนไว้ว่าในอดีตนั้นโนเกียขายธุรกิจสายอื่นออกไปหมด จนเหลือแต่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือแต่เพียงอย่างเดียว (โชคยังดีที่โนเกียยังมี NSN และ Here ที่เป็นทางรอดตายบ้าง) ซึ่งมันก็เป็นบทเรียนที่ดีต่อบริษัทในยุคหลังๆ ว่าช่วงที่อยู่ในช่วงรุ่งเรืองสุดๆ ก็ควรแตกไลน์ธุรกิจออกไปให้หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงหากธุรกิจหลักมีปัญหาในอนาคต สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่กูเกิลกำลังทำอยู่ คือแตกไลน์ธุรกิจออกไปจากเว็บไซต์ค้นหา ไปไกลถึงขนาดสร้างรถยนต์ไร้คนขับ
ซัมซุงเอง ที่ผมมองว่าโอกาสร่วงยาก ก็ต้องมีเหตุผลมาสนับสนุนที่ไม่ได้มาแบบลอยๆ คือปัจจัยที่ซัมซุงมีธุรกิจอยู่ในเครือเยอะ นอกจากโทรศัพท์มือถือ (ไม่ว่าจะเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ทีวี รถยนต์ แม้แต่..ประกัน ฯลฯ) มีเทคโนโลยี นวัตกรรม สิทธิบัตรในมือมากมาย ซึ่งมันก็เสริมซึ่งกันและกัน แถมมีโรงงานและมีเทคโนโลยีการผลิตเป็นของตัวเอง มันสร้างความได้เปรียบยี่ห้ออื่น โดยเฉพาะพวกการผลิตชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ในโลกนี้มีไม่กี่แห่งที่ผลิตได้ ถ้าตามข่าวเรื่องแอปเปิลตลอดมา ก็จะพบว่าเรื่อง supply chain ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวไม่น้อยสำหรับแอปเปิล และยังต้องง้อโรงงานผลิตของซัมซุงในอีกหลายชิ้นส่วนตลอดมา ความได้เปรียบพวกนี้ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าซัมซุงเขาถือไพ่เหนือกว่าจริงๆ
คือถามว่าโอกาสมันร่วงไหมก็มีทุกบริษัทแหละครับ แต่สำหรับซัมซุงมันมีปัจจัยที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท เกิดธุรกิจมือถือมีปัญหา ก็ใช้จุดแข็งของตัวเองมาเกื้อหนุนได้ หรือถึงธุรกิจมือถือล้มไปในซักวัน ก็ยังมีธุรกิจในเครืออื่นๆ ที่แข็งแกร่งมาอุ้มให้ซัมซุงยังไม่ล้มหายตายจากไปจากโลกเราง่ายๆ แน่
แต่สำหรับแอปเปิล ทุกวันนี้ธุรกิจผูกกับ iPhone ไปมากจริงๆ ดังที่สังเกตได้จากสัดส่วนรายได้ และไม่มีความชัดเจนว่าหากในอนาคตธุรกิจมือถือมีปัญหาแล้วแอปเปิลจะนำตัวเองไปในทางใด แต่อันที่จริงก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงขนาดนั้นเพราะแอปเปิลก็ยังมีเงินสดในมืออยู่เยอะมาก ที่สามารถไปเทคโอเวอร์ธุรกิจอื่นมาได้อย่างสบาย หรือมาอุ้มบริษัทยามมีปัญหาได้
ปล. หากย้อนอดีตไปถ้ายังจำกันได้ แอปเปิลสมัยที่กำลังฟาดฟันกับ Windows 95 ยุคนั้น Mac Classic ยอดนิยมที่เริ่มอยู่ในช่วงขาลงแล้ว แอปเปิลก็ใช้เงินไปเยอะมากกับการพัฒนา Mac OS ให้กลับมาทันสมัยทัดเทียมกับ Windows 95 แต่โครงการต่างๆ ที่มีตอนนั้นก็เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเสียหมด เงินเก็บที่แอปเปิลเคยมีก็หดหายไปเรื่อยๆ แต่กลับไม่มีงานที่สมบูรณ์ซักโครงการ ทั้งการพัฒนา MacOS เดิมรวมถึงสร้าง OS ใหม่ขึ้นมา เวลาผ่านไปก็โดนคู่แข่งทิ้งห่างไปเรื่อยๆ จนเกือบล้มละลาย (และเป็นมหากาพย์ Steve Jobs กลับมาอย่างที่ทุกคนทราบดี) อ่านเรื่องของ Nokia และ Symbian/Meego แล้วมันก็ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์นี้จริงๆ ...คือถ้าผูกตัวเองอยู่กับผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว เมื่อถึงช่วงขาลงนี่มันเสี่ยงมากนะครับ เพราะต้องเอาเงินเก็บที่มีมาพัฒนาสินค้าให้กลับมาทันสมัย ถ้ากู่ไม่กลับนี่ก็แทบจะล้มละลายไปเลย
แวะมาเสริมว่า Sony ตอนนี้อยู่ด้วยธุรกิจการเงิน-ประกัน กับธุรกิจสื่อพวกหนัง-เพลงครับ เรียกว่าตอนยุคทองไล่ซื้อกิจการไว้เยอะเลยช่วยได้
Samsung นั้นนอกเหนือจากมีธุรกิจในเครือช่วงพยุงกันไว้เยอะแล้วยังรัฐบาลเกาหลีหนุนหลังอยู่เต็มตัวด้วยครับซึ่งผมเห็นด้วยว่าโอกาสร่วงนั้นยากมาก
อันนี้เป็นเรื่องที่ไกด์เล่าให้ฟังตอนไปเที่ยวว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 นั้นมี 3 บริษัทใหญ่ของเกาหลีที่ทุ่มเงินแบบไม่กลัวบริษัทเจ๊งเพื่อพยุงเศรษฐกิจเกาหลีเอาไว้ซึ่งได้แก่ Samsung (ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน) Hyundai (ยักษ์ยานยนต์และอุตสาหกรรมหนัก) อีกเจ้าผมจำไม่ได้
พอพ้นวิกฤติมาได้ รัฐบาลก็ตอบแทนทั้ง 3 บริษัทด้วยการหนุนหลังสนับสนุนทั้งเบื้องหน้า (สินค้า/บริการ) และเบื้องหลัง (สิทธิพิเศษในการดำเนินธุรกิจ และอื่นๆ) ของทั้ง 3 บริษัทนี้คืนแบบเต็มที่เหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณกับประเทศอย่างใหญ่หลวงสวนสนุก Everland ก็ของ Samsung โดยสร้างบนที่ดินที่รัฐบาลเกาหลียกให้ เป็น 1 ในของตอบแทนจากรัฐบาล
ผลคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือนในเกาหลี = Samsung (มี LG ตามมาห่างๆ)
ประกัน = Samsung
รถยนต์ในเกาหลี = Hyundai (Samsung ก็มีรถยนต์ แต่โดนเทค/ร่วมทุนไปมาหลายมือทั้ง Renault/Nissan ซึ่งยังถือว่าตาม Hyundai อยู่เยอะ)
ผมยืนยันได้อย่างนึง ว่ามีคนจินตนาการได้ครับ ถ้าลองไปอ่านเมนท์เก่า ๆ ของเรื่องนี้ มีคนให้ความเห็นทั้ง 2 ทาง ทุกอย่างมันคาดการได้หมดละครับ คาดถูกคือแม่น คาดผิดคือมีอคติ หรือข้อมูลไม่ครบ
นอกจากเงื่อนไขเหล่านี้ ยังมีอีกอย่างที่ผมเห็นว่าเป็นความได้เปรียบอย่างยิ่งของซัมซุง คือการกล้ากินตลาดตัวเองครับ
หลายๆบริษัทที่รู้ว่าเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนตลาด แต่ก็ยังทำแบบเดิมๆเพราะกลัวการออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะทำให้สินค้าขายดีตัวเดิมๆขายไม่ออก จนสุดท้ายบริษัทหน้าใหม่ก็แทรกขึ้นมาได้
แต่ซัมซุงกล้าออกสินค้าทับไลน์ตัวเองทันทีที่เห็นแนวโน้มของตลาด ไม่ต้องรอจนคู่แข่งออกตัวแล้วค่อยมาไล่ทำตาม
ถ้าโซนี่กล้าทำแบบเดียวกัน ตลาดเครื่องฟัง MP3 คงไม่เป็นแบบนี้......
ถ้ามาดูจุดแข็งจุดอ่อนของ Apple และ Samsung เทียบกับ Nokia ในยุครุ่งเรือง ผมคิดว่ามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรนะครับ
Apple มีเอกลักษณ์ในการทำงานโดดเด่น เป็นผู้นำด้านดีไซน์มาตลอด มีแบรนด์ที่แข็งแรงรวมทั้งแฟนบอยที่เหนียวแน่น ส่วนจุดอ่อนคือ software ส่วน service นั้นสู้ทาง Google หรือ Microsoft ไม่ได้ เรื่องการไม่มีโรงงานของตัวเอง อันนี้กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ Apple กลับมารุ่งเรืองนะครับ โดยการจัดการบริหารของ Tim Cook จนได้ฉายาว่าเจ้าพ่อ supply chainเรื่อง supply chain ผมจึงมองว่าไม่ใช่ปัญหาของ Apple นวัตกรรมใหม่ๆ จากที่ติดตามข่าวคิดว่ามีอยู่ และน่าจะตื่นเต้นเมื่อออกมา แต่สปีดในการพัฒนารู้สึกได้ว่าช้ากว่ายุคก่อน ปัญหาของ Apple ผมจึงคิดว่าคือการปรับตัวและการพัฒนา product ที่ช้าลงหลังจาก Steve Jobs จากไป
...
Samsung ก็อย่างที่ว่ามา จุดแข็งคือมีโรงงานของตัวเอง มีเทคโนโลยีการผลิตที่แข็งแรง แต่อ่อนแอในภาคของ design รวมถึงแบรนด์รอยัลตี้ก็ไม่สูงนัก มือถือตระกูล Galaxy ที่เกิดมาได้เพราะสเปคสูง ราคาถูก แต่ปัจจุบัน สเปคสูง ราคาไม่ถูก และต้องตบตีกับ Andriod จีนที่ราคาต่ำกว่า และไม่ใช่ผู้นำด้านนวัตกรรมแบบที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมได้ อย่าง Apple
...
ส่วนโนเกียในยุครุ่งเรือง จุดแข็งคือแบรนด์ที่คนให้ความไว้วางใจ แต่ในเรื่องดีไซน์ไม่ได้แข็งแรง ใช้การตลาดนำการพัฒนา product (ซึ่งส่วนนี้ผมคิดว่าสวนทางกับ Apple) นวัตกรรมมีบ้าง แต่ไม่มาก และคู่แข่งในยุคนั้นก็ไม่มีใครแข็งแรงหรือโดดเด่น จนทำให้โนเกียแทบจะกลายเป็นเสือนอนกิน และปรับตัวไม่ทันเมื่อมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาเปลี่ยนอุตสาหกรรม อย่าง Apple และ Google
...
สรุปคือแนวโน้มในระยะอันใกล้ ผมคิดว่า Apple จะยังรักษาตลาดระดับบนที่ตัวเองมีไว้ได้ (หลังจากออก iPhone จอใหญ่) ทิศทางการพัฒนายังชัดเจน เรื่องของ Smartphone การขยายตัวคงไม่มากไปกว่านี้เท่าไหร่ ต้องรอดู product ใหม่ตามข่าวลือว่าจะเจ๋งสักขนาดไหน
ส่วน Samsung เมื่อการแข่งขันด้านสเปคและราคาต้องฟาดฟันกับแบรนด์จีนทั้งหลายที่โตขึ้นมาตีตลาดที่ตัวเองเคยครองอย่างรวดเร็ว Samsung จะหาจุดเด่นอะไรใน product ของตัวเองออกมาสู้ ?
ส่วนใครจะล้มตายแบบโนเกีย คงต้องรอให้มี Game Changer แบบที่ Apple เคยทำ แต่จะเป็นใครนี่ยังนึกไม่ออกจริงๆ
อันนี้ความเห็นผมนะครับ
samsung มีสินค้าหลายอย่างมาก ตั้งแต่สวนสนุกยันรถถัง (Everland, k1a1) ไม่นับการผลิตชิ้นส่วน การจะล้มไปหนักๆ เลยยากในระดับที่แทบจะเป็นไปไม่ใด้
android กินส่วนแบ่งตลาดไป มากกว่า 80% แล้ว มันเป็น freeware ของ google สินค้าหลักคือ advertisement และ service ที่แบบไปกับเครื่อง android จะดับใด้ยากเพราะความ free และเป็น opensource
ส่วน apple นั้นมี ios กับ osx เท่านั้น การจะล้มยากเพราะมีเงินสดเยอะ แต่ apple เคยเกือบล้มละลายมาแล้ว ตอนนี้ก็ไม่มี jobs แล้ว ส่วนแบ่งการตลาดของ ios ก็จะแตะ 10% แล้ว การจะล้มไปหนักๆ เพราะ ios ดับ เป็นไปใด้มากกว่าสองอันข้างบนเยอะ การแตกสินค้ามีความพยายามให้เห็นทั้ง tv และนาฬิกา
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
อันนี้พูดกันอยู่ในขอบเขตของธุรกิจมือถือและ IT มั้งครับ ไม่งั้น คงจะว่าโนเกียดับไม่ได้ เพราะโนเกียก็ยังอยู่ได้ด้วยธุรกิจอื่น แต่ที่คุยกันคือธุรกิจมือถือที่โนเกียเคยเป็นเจ้าอยู่
สถิติล่าสุด
ซัมซุง ส่วนแบ่ง 25.2% ลดลงจาก 32.6% เมื่อปีก่อน (ยอดขายลดลง)แอปเปิล ส่วนแบ่ง 11.9% ลดลงจาก 13.4% เมื่อปีก่อน (ยอดขายเพิ่มขึ้น)
ในขณะที่มาร์เก็ตแชร์ของสมาร์ทโฟนทั่วโลกสูงขึ้น 27% แต่ Samsung ขายเครื่องได้น้อยลงส่วน Apple ยังขายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
คงไม่ต้องบอกว่า มาร์เก็ตแชร์สมาร์ทโฟนโลกที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่คือตลาดกลาง-ล่างที่ Samsung เคยเป็นเจ้าอยู่
คงต้องดูครับ ระหว่างบริษัทที่มีโรงงานผลิตของตัวเอง แต่ไม่มี operating system , ecosystem , design identiy , brand royalty ที่แข็งแรงกับบริษัทที่มีตรงข้ามกัน ในธุรกิจนี้ ใครจะไปได้ไกลกว่ากัน
น่าจะรู้จัก sony ที่ติดตัวแดงหลายปี แต่อยู่ใด้ด้วยธุรกิจหนังดนตรีและการเงิน หรือ nintendo ที่พลาดไปตอน n64 แต่อยู่ใด้ด้วย gameboy
กำไรจากมือถือของ samsung อยู่ประมาณ 30% ของ บ. เยอะแต่ไม่ถึงกับ critical แม้ส่วนแบ่งจะลดลง แต่ก็ยังทิ้งห่างอันดับ 2 อยู่เท่าตัว
samsung ใหญ่แค่ใหน ?https://youtu.be/6Afpey7Eldo
บริษัทไอทีมีเกิด มีดับครับ เพียงแต่รอบมันเร็วหน่อยเราเลยเห็นกันเยอะ
ก่อนหน้านี้ก็ SGI, DEC, SUN, Nortel
lewcpe.com , @wasonliw
ความเสี่ยงของ Apple ผมคิดว่ามีอยู่อย่างเดียวคือ การที่ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนด้วยตัวเองได้ ซึ่ง Samsung จะได้เปรียบตรงนี้นอกนั้นเรื่องระบบแนวคิด Product for user จริงๆ และ ecosystem ผมเชื่อว่า Apple กินขาดครับ เค้าทำตลาดด้วย ecosystem ของเค้ามานานนับหลายปี ถึงมันจะไม่ดังแต่มันก็ขายได้เรื่อยๆนะ
แอปเปิลไม่ควรมีธุรกิจโรงงานเป็นของตัวเองครับ
เพราะผมเชื่อว่าด้วยวิธีคิดแบบแอปเปิล พวกเขาจะไม่ยอมผลิตชิ้นส่วนให้คนอื่นแน่นอน ซึ่งในช่วงที่ไม่มีคำสั่งระดับล้านชิ้นต่อเดือนในไลน์การผลิต (i.e. คำสั่งผลิตไอโฟน) จะเป็นภาระทางการเงินมากๆ
อันที่จริงเคยมีช่วงเวลานึงที่แอปเปิลดีพอที่จะมีออเดอร์ป้อนเข้าไลน์ตลอดปี แต่มันก็ยังอยู่ในยุคของจ็อบส์ที่นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเขาจะโอเคกับเรื่องนี้ และมันก็ผ่านไปแล้ว
ด้วยวิธีคิดแบบแอปเปิล และสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างดีที่สุดก็คือไปลงหุ้น/ร่วมทุนกับผู้ผลิตเจ้าใหญ่ๆ เพื่อเป็นการ "จอง" กำลังการผลิตส่วนใหญ่ในช่วงพีคของแต่ละปี ให้มาผลิตของให้ตัวเอง ซึ่งดูจะสอดคล้องกับวิธีคิดของแอปเปิลและความเป็นเจ้าพ่อห่วงโซ่อุปทานของทิม คุก มากกว่าครับ
Apple เลือกที่จะไม่มีครับ แต่เลือกที่จะใส่ชิ้นส่วนที่ดี ลงไปในผลิตภัณฑ์ของตัวเองแทนครับ เพื่อประหยัดต้นทุนทางด้านวัตถุดิบที่จะต้องเสียเวลาผลิตเองโดยไปจ้างเขาทำดีกว่าครับ ข้อนี้เป็นแนวคิดพื้นฐานของ Apple อยู่แล้วครับ เพื่อบริหาร Inventory ให้ดีที่สุด ซึ่งถ้าย้อนไปดูประวัติ Apple เคยผลิตเองนะครับ(ก่อนยุคสตีฟ จ๊อบรุ่งๆนะครับ) ผมกลับชอบแนวทางนี้นะครับ มันทำให้ต้นทุนในการบริหารสต๊อกไม่มากอย่างที่คิดและไม่ต้องแบกต้นทุนทางด้านแรงงานการผลิตด้วยครับ
ไปๆมาๆจะกลายเป็นกระทู้ระบายความอัดอั้นตันใจของแฟนบอย WP นะเนี่ย
ผมเป็นคนนึงที่อยาก อุดหนุน โทรศัพท์ ของ NOKIA ... ทุกครั้งที่เดินเข้าร้านมือถือ ก็ต้องไปจับๆ ดู โทรศัพท์ ของ NOKIA เค้าทำออกมาได้ น่าใช้มาก ในแง่ของ Hardware
แต่ เมื่อ เปิดดูแล้ว ต้องเจอกับ OS ที่ ดูสับสนวุ่นวาย อย่าง WP ผมก็ได้แต่ ถอนหายใจ วางโทรศัพท์ลง แล้ว เดินจากมาอย่างเงียบๆ....
ครับ คิดเหมือนกันเลย มีแต่สีม่วงๆ แดงๆ นำ้เงินๆ แบบสดๆ เหลี่ยมๆ พื้นหลังมืดๆ ทึมๆ ใช้แล้วโลกดูหดหู่ยังไงไม่รู้
ขอบคุณบทความดีๆ ครับ น่าอ่านมาก ความรู้เพียบแถมมีบทวิเคราะห์อีก อ่านแล้วสนุกดีครับ
ขอบคุณทั้งบทความ และคอมเม้นเลยครับ เปิดโลกเป็นอย่างมาก
ผมไม่ใช่แฟนโนเกีย เคย ซื้อมาใช้ แก้ขัดอยู่รุ่นนึง (น่าจะ 2700 มั้ง)สาเหตุ ที่ไม่เคยเลือกโนเกีย เพราะ โนเกีย ดัง ยอดนิยม (ไม่ชอบพวก มวยรอง เลยเลือก โซนี่ หรือ ยี่ห้ออื่นแทน)
แต่ สำหรับเรื่องเทคโนโลยี ดูแล้วไม่มีใครอยู่ได้ยั่งยืนจริง
ที่จิง ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ในด้านของ OS หรือ ของ วงการกล้องบ้างนะอย่าง OS รู้สึก Microsoft จะผู้ขาด หรือ วงการกล้อง แต่ละยี่ห้อ ก็มีตลาดเป็นของตัวเอง ยังไม่มีใครล้มใครได้
สมัยโนเกียเห็นโบชัวว์มือถือบ้าอะไร 18,000 แต่พอสมัยนี้ 24,000 แทบไม่ต้องคิด
ปล.ผมใช้ 5300Xpress Music
สุนัจน์สุดๆ ขอบคุณมากครับ
พึ่งเห็นบทความนี้ครับ การเมืองภายในของบริษัทยักษ์ใหญ่นี่มันขัดต่อการพัฒนาจริงๆ
โมโหอะไรส่วนตัวรึเปล่าครับ
เสียดาย NOKIA
มาร่วมลงชื่อบทความในตำนาน
ขอบคุณสำหรับบทความครับ