ITU เผยข้อมูลสถิติว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้น 6.6% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น
ข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมาชี้ให้เห็นว่าจำนวนประชากรที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศพัฒนาแล้วนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากที่มีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่ถึง 50% ของจำนวนคนทั้งหมด มาในปีนี้กลับกลายเป็นว่าผู้คนเกือบ 80% ในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้มีอินเทอร์เน็ตใช้งาน ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยในประเทศกำลังพัฒนามีสัดส่วนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำกว่า 10% มาจนสูงกว่า 30% ในปัจจุบัน ส่วนประชากรในกลุ่มประเทศล้าหลังนั้นขยับจาก 0% เมื่อ 9 ปีก่อน ขึ้นมาอยู่ที่ 5% ของจำนวนประชากรเท่านั้น
รายงานของ ITU ได้ชี้ให้เห็นแนวโน้มของระบบโทรคมนาคมที่ชัดเจนอีกอย่างว่าอุปกรณ์พกพาคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งของข้อมูลนับแต่ปี 2007 เป็นต้นมา จำนวนประชากรในประเทศพัฒนาแล้วมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์แบบเดินสายเพิ่มขึ้นไม่มากนัก (จากประมาณ 18% ขึ้นมาเป็น 27.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด) ในขณะที่จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์พกพานั้นพุ่งพรวดจาก 20% ขึ้นมาเป็น 83.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
สามารถอ่านรายงานฉบับเต็มของ ITU ได้จาก ที่นี่
ที่มา - Engadget
Comments
อุปกรณ์พกพาคือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น!!!
ต้องยกความดีให้มือถือรุ่นใหม่ที่ราคาถูกสินะครับ :-D
ถ้าไม่มีเน็ต EDGE ในขณะนั้น ผมก็คงไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตจริงจังถึงทุกวันนี้ครับ
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
IPv6 ก็ยังไม่แพร่หลายอยู่ดี
"การที่ไม่มี 3G ไม่ได้ถือว่าเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ"
บุคคลในอดีตได้กล่าวไว้ :P
ถึงแม้จะมีเน็ตใช้ เวลาซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ในไทย ก็ยังต้องให้ส่งใบ pay in ให้พ่อค้าแม่ค้าดูอยู่ดี เทคโนโลยีช่างไปไกลยิ่งนัก!!