Astro Teller ประธาน X (หรือชื่อเดิม Google X) เผยกระบวนการทำงานและคัดกรองโครงการ เขาเล่าถึงวัฒนธรรมที่ให้คุณค่ากับ "การล้มโครงการ" ถึงขั้นว่าทีมไหนตัดสินใจล้มโครงการใดๆ ทุกคนในทีมจะได้โบนัสกันถ้วนหน้า คนล้มได้เลื่อนตำแหน่ง ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป
Astro เล่าแนวคิดของ X ว่าต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ
- Huge Problemปัญหามีขนาดใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบต่อคนนับล้าน
- Radical Solutionวิธีการแก้ปัญหาต้องคิดต่างจากวิธีการแบบเดิมๆ อย่างสุดขั้ว
- Breakthrough Technologyเทคโนโลยีที่แก้ปัญหานั้นต้องสร้างขึ้นได้จริง
โครงการต้องล้มเลิกได้
ที่ผ่านมา X ล้มโครงการทิ้งไปหลายโครงการ แม้โครงการเหล่านั้นมีความคืบหน้าไปมาก แต่ถ้ามีเงื่อนไขไม่ครบทั้ง 3 ข้อ มันจะถูกยกเลิกทันที ตัวอย่างโครงการที่ X เลิกทำไปคือ
แปลงผักแนวตั้งเพื่อลดพื้นที่เพาะปลูกลงได้ 100 เท่า และลดการใช้น้ำลง 10 เท่า ปัญหาเรื่องอาหารส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก วิธีการปลูกผักแนวตั้งถือเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ ทีมวิจัยถึงขั้นพัฒนาระบบเก็บผักอัตโนมัติได้แล้ว แต่กลับไม่สามารถปลูกพืชบางประเภท (เช่น ธัญพืชหรือข้าว) ด้วยแปลงผักแนวตั้งได้ โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป
ขนส่งสินค้าด้วยเรือเหาะX พยายามแก้ปัญหาการขนส่งสินค้าของประเทศที่ไม่ติดทะเล (landlock) โดยใช้ "เรือเหาะ" แทนเรือขนส่งสินค้า เพราะมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าเครื่องบินมาก มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มีความเร็วมากกว่าการใช้เรือ ทุกอย่างดูจะพร้อมเดินหน้าต่อ แต่ X คำนวณต้นทุนของการสร้างเรือเหาะต้นแบบแล้วพบว่าต้องลงทุนเบื้องต้น 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่ามากเกินไป และไม่สามารถประเมินได้ว่าลงทุนแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ (ตามแนวคิดลองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่แรกเพื่อหาจุดอ่อน) โครงการนี้เลยถูกยกเลิก
รู้จักเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหา
Astro ย้ำว่าการพบจุดอ่อนของโครงการไม่ได้ส่งผลให้โครงการถูกยกเลิกเสมอไป อย่างกรณีรถยนต์ไร้คนขับของกูเกิล ถ้ายังจำกันได้ แนวคิดตอนแรกของกูเกิลคือนำเอนจินขับเคลื่อนอัตโนมัติไปใส่รถยนต์ปกติ แล้วให้คนนั่งอยู่หลังพวงมาลัย เผื่อว่ามีเหตุฉุกเฉินจะได้ควบคุมรถแทน ปัญหาของแนวคิดนี้คือพอคนไม่ได้ควบคุมรถเอง ก็ไม่ได้มีสมาธิคอยแก้ปัญหายามฉุกเฉิน
ปัญหานี้ทำให้ทีม X ต้องกลับไปทำการบ้านใหม่หมด ผลออกมาเป็นรถยนต์ไร้คนขับรุ่นปัจจุบัน ที่คนเป็นผู้โดยสารอย่างเดียวเท่านั้น แล้วที่เหลือเป็นหน้าที่ของรถยนต์จัดการให้ทั้งหมด เอาทรัพยากรไปทุ่มให้กับการขับรถอย่างปลอดภัย และเปลี่ยนมุมมองจากตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถ กลายเป็นการปฏิวัติวงการขนส่งไปเลย
Astro บอกว่าการเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา (shifting perspective) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ X เพราะการพัฒนาเทคนิคเดิมๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่คงอยู่มานาน เขายกตัวอย่างโครงการอื่นของ X ดังนี้
ว่าวพลังลม Makaniแทนที่จะสร้างกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทีม Makani ของ X เปลี่ยนไปรับพลังงานลมที่สม่ำเสมอกว่าด้วย "ว่าว" แทน โดยหาเทคนิคที่ใช้วัสดุขนาดเบาทำเป็นใบพัดของกังหัน
บอลลูน Project LoonX พยายามกระจายสัญญาณเน็ตด้วยบอลลูน ( ข่าวหมวด Project Loon ) แต่พบปัญหาว่าลมแรง บอลลูนถูกพัดไปจากพื้นที่ การผูกบอลลูนไว้กับพื้นดินทำได้ยากเพราะลอยอยู่ในระดับสูง
ทางแก้ปัญหาคือไหนๆ บอลลูนก็ต้องถูกพัดอยู่แล้ว ก็ปล่อยบอลลูนหลายๆ ลูกขึ้นฟ้าไปพร้อมกัน ลูกไหนถูกพัดออกจากพื้นที่ บอลลูนอีกลูกจะเข้ามารับช่วงแทน โดยบอลลูนแต่ละลูกจะมีอัลกอริทึมในการขยับตัวเองให้เข้ากับกระแสลม เพื่อย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งที่ต้องการ
ทีม Project Loon ยังทดลองบอลลูนสารพัดแบบเพื่อให้ลอยค้างฟ้าได้นาน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายถูกลงเรื่อยๆ (ลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว 187 เท่า) แนวคิดแหวกแนวอีกอย่างหนึ่งคือใช้บอลลูน 2 ชั้น ใส่ก๊าซคนละประเภทกัน (อากาศและฮีเลียม) บอลลูนสามารถเพิ่มอากาศเพื่อทำให้ตัวมันเองหนักกว่าเดิม สำหรับการลดระดับลง หรือปล่อยอากาศเพื่อลอยตัวสูงขึ้นได้
สร้างวัฒนธรรมแห่งความล้มเหลว
Astro สรุปปิดท้ายว่า ความสำเร็จของ X เกิดจากการกระตุ้นให้ทีมงานกล้าล้มเหลว (fail fast) เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะคนมักอับอายขายหน้าคนอื่นที่ทำพลาด หรือ กลัวถูกไล่ออก
X แก้ปัญหานี้โดยกระตุ้นให้คนกล้าทดลองไอเดียใหม่ๆ โดยเริ่มจากจุดที่ยากที่สุดของปัญหานั้นๆ ก่อน เพราะจะได้รู้แต่แรกเลยว่าทำได้หรือไม่ (การลองแก้ปัญหาส่วนง่ายๆ ก่อนจะได้กำลังใจช่วงแรก แต่จะไปติดกับปัญหาส่วนที่ยากที่สุดอยู่ดี ดังนั้น X ให้ลองเผชิญหน้ากับจุดที่ท้าทายที่สุดก่อนเลย)
นอกจากนั้น X ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ "ทำพลาดแล้วไม่เป็นไร" ปีที่แล้ว X ยกเลิกโครงการไปแล้วกว่า 100 โครงการ และ Astro ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจยกเลิก แต่เป็นทีมงานของโครงการนั้นๆ เองที่ตัดสินใจยกเลิกโครงการกันเอง ด้วยเหตุผลว่าพนักงานจะได้รางวัลจากการยกเลิก ตั้งแต่การชื่นชมจากเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานเข้ามากอดและแสดงความยินดีด้วย ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้โบนัส ได้ผลประโยชน์ต่างๆ จากการยกเลิกโครงการ
ที่มา - Astro Teller
หมายเหตุ 1: Astro พูดเนื้อหาเดียวกันนี้ใน TED Talk 2016 ด้วย แต่คลิปยังไม่ขึ้นเว็บครับ
หมายเหตุ 2: Astro เดิมทีชื่อว่า Eric Teller แต่เขาเปลี่ยนชื่อเพื่อให้เหมาะสมกับความสนใจของตัวเอง
Comments
สุดยอดแนวคิดจริงๆ
GG close ป่าว
คล้ายๆ กับว่า เขียนโปรแกรมไป ทดสอบบั๊กไปเรื่อยๆ...
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
สงสัยเรื่องแปลงผักแนวตั้ง ว่าก็ปลูกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ข้าวก็ได้นี้ครับ
ทำไมแค่ปลูกข้าวไม่ได้ต้องล้มโครงการด้วย
จากต้นข่าวเหมือนการล้มโครงการเป็นการ freeze เพื่อรอวิธีการใหม่ๆครับ โครงการนี้น่าจะมีเป้าหมายว่าต้องปลูกพืชทุกชนิดที่ให้สารอาหารจำเป็นกับมนุษย์ให้ได้ แล้วพวกธัญพืชกับข้าวนี่แทบจะเป็นตัวหลักเลย พอแก้ปัญหาไม่ได้ก็ดองไว้รอยุคใหม่ ไปทำอย่างอื่นก่อน
"With the first link, the chain is forged. The first speech censured, the first thought forbidden, the first freedom denied, chains us all irrevocably."
ปลูกข้าวไม่ได้ก็ไม่ผ่านข้อแรกครับ "ปัญหามีขนาดใหญ่พอที่จะส่งผลกระทบต่อคนนับล้าน"
ใช่เลยครับ ข้าวนีาอาหารหลักอย่างหนึ่งของโลกเลย
อาจจะเพราะข้าวเป็นอาหารหลักมั้งครับ (หมายถึงข้าวที่จะนำไปทำเป็นแป้งใช้ทำขนมปังและอาหารเส้น/แผ่นต่างๆ ด้วย)
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ปลูกผักใบเขียวอย่างเดียวได้คาร์โบไฮเดรตไม่พอครับ
ก็เลยทำให้กลับมาคิดว่า งั้นปลูกมัน (แบบใน Martian) แทนได้มั้ย?
สังคมกสิกรรมตะวันตกมักจะเป็นแบบ Monoculture ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้นมาก็ซวยถ้วนหน้าครับ ฉะนั้นแล้วต้องหาทางปลูกให้ขึ้นครับ
แม้กระทั่งแนวทางการให้รางวัลก็สุดขั้วเหมือนกัน
เข้าใจเลย บางทีก็ไม่ได้อายนะ แต่เวลาทำอะไรนานๆมันเหมือนลูกหลานอ่ะ จะล้มเลิกก็เสียดายอย่างเขียนโปรแกรม ทำมาครึ่งค่อนอันแล้วมันบั๊กก็เสียดายทั้งๆที่รู้ว่าเริ่มใหม่คงง่ายกว่า 555
+1
แนวคิดแบบนี้ ไมโครซอฟต์น่าจะทำได้ดี
ผมว่าทำมาแล้วนะ เยอะด้วยKin เอย, WP7 เอย, ฯลฯ
แซวหนักมาก
แล้วเครื่องบินไม่เจอปัญหานี้เหรอ เวลานักบินใช้โหมด Auto Pilot?
my blog
ผมคิดว่ามันอาจจะไม่ฉุกละหุกเท่าการใช้รถบนถนนที่ใช้ความเร็วในพื้นที่แคบๆครับ
เครื่องบินนี้บินบนอากาศนะครับ ย่อมอันตรายกว่าแน่นอนถ้าควบคุมไม่ได้ จึงต้องอาศัยมนุษญืในการควบคุมอยู่แม้แต่ตัว Autopilot ยังไม่สามารถลงจอดได้เลงเลย โดยเฉพาะเครื่องบินพาณิชย์ ยกเว้นพวก UAV ที่ทำได้
Get ready to work from now on.
บนอากาศคงไม่มีมอเตอร์หรือสุนัขวิ่งตัดหน้ามั้งครับ ?
เครื่องบินพาณิชย์มีระบบ Autoland นะครับ ถ้าเปิดใช้นักบินแค่นั่งรอเหยียบเบรคหลังลงพื้นเล้วแค่นั้น (จริงๆ นั่งดูความเรียบร้อยของระบบไปด้วย แต่ไม่ได้ยุ่งกับการบังคับเครื่องเลย) ซึ่งช่วงทัศนวิสัยไม่ดี เช่น หมอกหนา ก็ใช้กันเป็นปกติครับ แต่ช่วงสถานการณ์ปกติก็จะลงจอดเองเสมอ
แนวคิดต่างกันมากๆ
นักบินต้องฝึกบินอย่างมากและไม่ใช่ทุกคนจะฝึกได้ แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังต้องบิน 2 คน
รถยนต์ใครๆก็ขับได้ ผช ผญ แก่ หนุ่ม สาว ขับห่วย ขับดี อยู่รวมกันบนถนนหมดจะหัดขับมาจากใหน มีใบขับขี่หรือเปล่า เพิ่งออกถนนวันแรก เมาแล้วขับ
แล้วประเด็นของคำถาม ถ้ารถมันขับเอง เรานั่งอยู่เฉยๆหลังพวงมาลัย
จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา นั่งมองถนนเป๋ง เหมือนเราขับเองเหรอเปล่า
ขนาดขับเองบางทียังใจลอยเลย ผมว่าที่เขาสำรวจมาก็น่าจะเป็นแบบนั้นแหละ
รถมันขับเอง เราก็นั่งทำอะไรอย่างอื่นๆไปแน่ๆ อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ แต่งหน้า
เพราะถ้ากล้าเปิดโหมดนี้ก็คือใว้ใจรถแล้วว่าขับได้
โครงการทำแต่ละทีรักเหมือนลูกครับ ตัดใจล้มยากนะ
เป็นบทความที่ให้ข้อคิดที่ดี ขอบคุณครับ
ผมอยากฟัง TED Talks อันนี้จริงๆ รอๆ
ถ้าผมทำงานที่นี่ ป่านนี้คงเป็น cio ไปแล้วครับ :)
กะว่าจะล้มโครงการทุกวันพุธกับศุกร์เลยครับ