Microsoft ลงทุนออกเงินสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลด้วย DNA โดยมีพันธมิตรทั้งห้องวิจัยของมหาวิทยาลัยและบริษัทสตาร์ทอัพ
เริ่มที่ความร่วมมือแรกระหว่าง Microsoft กับห้องปฏิบัติการ MISL (Molecular Information Systems Lab) แห่ง University of Washington โดย Microsoft เป็นฝ่ายสนับสนุนเงินทุนให้แก่ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคการจัดเก็บข้อมูลลงใน DNA เนื้องานของ MISL นั้นเป็นการพัฒนาวิธีการแปลงข้อมูลไฟล์ดิจิทัลให้กลายเป็นข้อมูลในรูปแบบที่เข้ากับองค์ประกอบพื้นฐาน DNA ทั้ง 4 แบบ (แน่นอนว่าด้วยเทคนิคของงานวิจัยก็ย่อมแปลงข้อมูลจาก DNA กลับมาเป็นข้อมูลแบบดิจิทัลได้ด้วย)
อีกทางหนึ่ง Microsoft ก็ได้พันธมิตรเป็นสตาร์ทอัพชื่อ Twist Bioscience ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการเก็บข้อมูลใน DNA ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดย Microsoft จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการจัดเก็บข้อมูลจาก Twist Bioscience ซึ่ง Microsoft จะเป็นฝ่ายกำหนดว่าต้องการให้จัดเรียงลำดับองค์ประกอบของ DNA อย่างไรและปล่อยให้ Twist Bioscience สังเคราะห์สาย DNA ตามนั้น ทาง Twist Bioscience เองจะไม่รู้ว่าข้อมูลของ Microsoft นั้นคืออะไรกันแน่ เนื่องจาก Microsoft เป็นผู้เก็บข้อมูลวิธีการเข้าและถอดรหัสไว้เองฝ่ายเดียว (เป็นไปได้ว่าอาจเป็นงานในส่วนที่ MISL ช่วยทำให้กับ Microsoft)
งานวิจัยเก็บข้อมูลใน DNA นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้ามเสียทีเดียว มีงานวิจัยมากมายที่ ทดลองแปลงไฟล์ภาพหรือเสียงจากรูปแบบไฟล์ดิจิทัลให้ถูกจัดเก็บใน DNA และถอดข้อมูลแปลงกลับเป็นไฟล์ดิจิทัลอีกครั้ง แต่การลงทุนของ Microsoft ในหนนี้จะมีการทดสอบจำลองสภาพแวดล้อมเพื่อทดสอบว่า DNA สามารถเก็บข้อมูลได้นานแค่ไหนด้วย
ด้วยคุณสมบัติการจัดเก็บข้อมูลมหาศาล DNA ปริมาตรเพียง 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า 1EB (1,000,000TB) และอายุการเก็บข้อมูลที่นานหลักพันปี นั่นจึงทำให้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลใน DNA คือความหวังของวงการคอมพิวเตอร์ที่นับวันจะเติบโตและมีข้อมูลมหาศาลเพ่นพ่านล้นโลกเต็มไปหมด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการใช้ DNA จัดเก็บข้อมูล คือต้นทุนของงานพัฒนาวิจัยและปฏิบัติการต่างๆ ในปี 2001 ต้นทุนที่ต้องใช้สำหรับการสังเคราะห์ DNA ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ 1 ชุดนั้นต้องใช้เงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ แต่ในปัจจุบันต้นทุนในการทำงานดังกล่าวลดลงเหลือราว 1,000 ดอลลาร์เท่านั้น หวังว่าใน 1 ทศวรรษข้างหน้า ต้นทุนจะถูกลงจนอยู่ในระดับที่ผู้คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ในที่สุด
ที่มา - WinBeta , IEEE Spectrum
Comments
ตัวเลขมึนๆ แต่จำได้ว่าเคยมีข่าวเก็บข้อมูลได้ 5 มิติ เก็บได้นานเป็นล้านปี(ช่วยขุดข่าวหน่อย)
รู้จักกับการเก็บข้อมูลแบบ 5 มิติ และแผ่นดิสก์ที่จะอยู่กับเราไปจนชั่วฟ้าดินสลาย
ถึงจะดีกว่าที่ความคงทนระดับเก็บได้เป็นหมื่นล้านปีแต่ความจุยังต่างกันระดับคนละชั้นครับ ข่าวนั้นแผ่นขนาดเหรียญใหญ่ๆ ความจุ 360 TB ขณะที่ ดีเอ็นเอแค่สี่กรัมมากพอที่จะเก็บข้อมูลที่มนุษยชาติเคยสร้างขึ้นมาทั้งหมด
พอจะมีภาพประกอบไหมครับ ว่าการเก็บข้อมูลด้วย DNA เขาเก็บกันยัง
ต่อไป ศูนย์ข้อมูลอาจะเป็นอะไรที่หน้าตาน่ากลัวกว่าเดิม และไวรัสคล้าย ๆ หวัด อาจจะทำให้ข้อมูลเราหายได้
มีประโยชนึงที่เพื่อนผมเคยพูดกับผมว่า เห้ยเมิงไม่สบาย อย่าจามใส่คอมสิ เดี๋ยวติดไวรัส และมันพูดจริงด้วย ไม่ใช่มุข ผมมองหน้ามันแล้วถามว่า นี่พูดจริง?ต่อไป ประโยคนี้อาจจะไม่แปลกในอนาคตก็ได้
ดิจิตัล =>ดิจิทัล
1 EB = 1 ExaByte = 1,000 TeraByte = 1,000 TB
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
โทษทีครับ ผมพิมพ์ผิดไปเยอะเลย แต่มันก็ไม่ใช่พัน TB เป็นล้าน TB เลยครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
1 EB (ExaByte) = 1024 PB (PetaByte) = 1024x1024 TB (TeraByte)
เออ จริงด้วย ข้าม Peta ไปเลย ๕๕๕
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ถ้ามีวิธี encode ให้ใส่เข้าไปในสิ่งมีชีวิตแล้วปล่อยให้สืบทอดไปยังลูกหลานได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่อง crossover หรือ mutation ได้ล่ะก็สนุกเลย
เราคงได้กลับมาขุดหาข้อมูลใน DNA ของพวกเราเอง
เหมือนจะเคยเห็นแนวคิดนี้ในนิยายอยู่นะครับ
เคยเห็นเหมือนกันครับ ที่คล้ายๆ ก็ใน The Ring เรื่องนึงล่ะ
จะรู้ว่าเรามาจากไหน ใครสร้างเรามา มนุษย์ต่างดาว หรือพระเจ้า แล้วเราจะไปไหน
บ้าไปแล้ว555
ไป 7-11 ครับ พักเที่ยงแล้ว
ถ้าลองเอาDNA ผู้ชายมาอ่านข้อมูลล่ะก็ ผมเชื่อเลยข้อมูลส่วนมักจะเป็น....แน่ๆเลยครับ
เปลี่ยนจาก "มันอยู่ในสายเลือด" เป็น "มันอยู่ใน DNA" สินะ
ว้าว ตั้งแต่ 3 - 4 ปีที่แล้ว ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง