ถ้าใครจำโฆษณานี้ได้ จะเห็นว่ามันเป็นโฆษณาที่แรงมากชนิดมาเมืองไทยเป็นเรื่องแน่นอน (แค่ขวดแชมพูเบลอๆ ยังเป็นเรื่องเลยนะครับ) แต่ก็เป็นโฆษณาที่ยอมรับว่าตรงเป้ามากๆ ของแอปเปิลตัวหนึ่งเลยเชียวล่ะ ผมไปค้นดูพบว่ามันออกมาในปี 98 ใครจะไปคิดว่าอีก 7 ปีให้หลัง เดือนมิถุนายน 2005 สถานการณ์มันจะเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ Blognone มีรายงานพิเศษเจาะลึกครับ
update: เพิ่มผลการ Benchmark ของตัว Rosetta ครับ
ข่าวเก่าอยู่ที่นี่ครับ Blognone: แอปเปิลกำลังจะใช้อินเทล
เรื่องมันเริ่มมาจากวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 มิ.ย.) CNET สำนักข่าวไอทีออนไลน์อันดับหนึ่ง ได้รายงานข่าวรั่วที่ว่าแอปเปิลกำลังจะเลิกใช้ซีพียูในตระกูล PowerPC ของไอบีเอ็ม (พวก G4/G5 ทั้งหลาย) และกำลังจะเปลี่ยนมาใช้ x86 ของฝั่งอินเทลแทน เหมือนกับที่เราใช้ในพีซีกันอยู่ทุกวันนี้ โดยสตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของแอปเปิลจะเป็นคนประกาศอย่างเป็นทางการเองในวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย. ที่งาน WWDC 2005 ซึ่งเป็นงานชุมนุมนักพัฒนาจากฝั่งแอปเปิลประจำปี การที่ CNET เป็นคนรายงานเองทำให้ข่าวนี้น่าเชื่อถือพอสมควร แต่ในเมื่อไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการออกมา ทุกคนก็ต่างคาดเดาไปต่างๆ นานา บางคนถึงกับหวังว่านี่เป็นเดือนเมษายนด้วยซ้ำ (จะได้เป็นข่าวหลอก April Fool) วันเสาร์อาทิตย์สองวันนี้จึงเต็มไปด้วยการถกเถียงโดยไม่มีอะไรมายืนยัน
และสุดท้ายข่าวนี้ก็เป็นจริง เมื่อจ็อบส์เชิญพอล โอเทลลินี (Paul Otellini) ซีอีโอของอินเทลมาขึ้นเวทีด้วย และตอกย้ำโดยการเดโม Intel Macintosh เครื่องทดสอบ ต่อหน้าผู้ชมกว่า 3800 คนในฮอลล์ที่ซานฟรานซิสโก
เนื้อข่าว รายละเอียดมีดังนี้ครับ (ผมยังไม่มีเวลาฟัง Keynote ฉบับจริงครับ ช่วงนี้ทำงานแล้วไม่ค่อยมีเวลา แหะๆ ข้อมูลทั้งหมดสรุปมาจากเวอร์ชันแห้งที่มีคนถอดความมาให้ ลิงก์ที่มาทุกอย่างอยู่ด้านล่างนะครับ)
- เนื้อหาหลักๆ มีแค่ แอปเปิลจะเปลี่ยนซีพียูของผลิตภัณฑ์ในตระกูลแมคอินทอชทั้งหมด จากที่ใช้ PowerPC ของไอบีเอ็ม มาเป็นซีพียูของอินเทล โดยแมคตัวแรกที่เป็นอินเทลจะออกวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนปีหน้า (2006) และกระบวนการการเปลี่ยนแปลงจะเสร็จสิ้น นั่นคือแมคทุกรุ่นที่วางขายจะใช้อินเทลในสิ้นปี 2007
- แอปเปิลยืนยันว่า จะไม่ทำการขัดขวางให้เอาวินโดวส์ไปรันบน Intel Macintosh แต่จะไม่ยินยอมให้เอา OSX ไปรันบน x86 ที่ไม่ใช่ Intel Macintosh (โดยวิเคราะห์กันว่าจะใช้ทริคในไบออส)
- สาเหตุที่เปลี่ยนต้องเท้าความถึงตลาดของแอปเปิลก่อนครับ เดิมทีตลาดหลักของเครื่องแมคคือ ตลาด High End (เช่นพวกตัดต่อกราฟิก, ทำเพลง) กับตลาดโน้ตบุ้ค (ขายภาพลักษณ์ของ iBook/Powerbook) ซึ่งแอปเปิลครองความเป็นเจ้ามาตลอด เพิ่งมีระยะหลังที่แอปเปิลหันมาสนใจตลาดล่างมากขึ้น ดูได้จากการวางตลาดของ Mac mini เป็นต้น เมื่อผู้ผลิตชิป G5 คือไอบีเอ็มมีปัญหากับทั้งสองตลาดหลักของแอปเปิล คือ ไม่สามารถออก G5 ความเร็ว 3.0 GHz ได้ตามกำหนด (ตอนนี้เลยกำหนดมานานแล้ว Power Macintosh ตัวท็อปยังวิ่งที่ 2.7 GHz อยู่เลย) กับมีปัญหาด้านความร้อนของ G5 ทำให้ไม่สามารถยัดลงโน้ตบุ้คได้ (ปัจจุบัน iBook/Powerbook ยังเป็น G4 ทั้งหมด และคงอีกนานกว่าจะเป็น G5) สองข้อนี้สร้างความเสียหายต่อแอปเปิลมากจนต้องยอมเปลี่ยนมาใช้อินเทลอย่างที่เห็น
- การทำงานบน Intel Macintosh จะปรากฎตัวอย่างเป็นรูปธรรมใน MacOSX ตัวถัดไป ที่โค้ดเนมว่า Leopard (น่าจะนับเป็น 10.5) โดยโปรแกรมเดิมๆ ที่เคยใช้กันอยู่ มีวิธีการนำไปใช้บน Intel Macintosh 2 วิธีด้วยกัน คือ
- Fat Binary - ทำการคอมไพล์โปรแกรมใหม่ให้ทำงานบน Intel Macintosh ได้ จากนั้นตัวไฟล์ที่นำไปลงเครื่องจะมีเวอร์ชันเดียว สามารถใช้งานได้ทั้ง PowerPC Macintosh และ Intel Macintosh โดยจะรวมเอาส่วนที่จำเป็นสำหรับทั้งสองแพลตฟอร์มมาในตัวโปรแกรมเลย (นั่นคือถ้าคุณใช้ PowerPC Macintosh ก็จะมีส่วนของ x86 ที่ไม่จำเป็นต้องใช้มาให้ด้วย แต่เพื่อความง่ายในการใช้งานของผู้ใช้ก็โอเค) วิธีการนี้เรียกว่า Fat Binary หรือ Universal Binaries ซึ่งแอปเปิลเคยใช้มาแล้วสมัยตอนเปลี่ยนจากชิป 68000 ของโมโตโรล่ามาเป็น PowerPC ดูรูปประกอบเพื่อความเข้าใจดีกว่านะครับFat Binary
แอปเปิลยืนยันว่าการพอร์ตจะทำได้ง่ายมาก ถ้าโปรแกรมเดิมนั้นพัฒนาด้วย XCode (เป็นชุดพัฒนาของแมค เทียบเท่ากับ Visual Studio) และยืนยันโดยการนำเอา Theo Grey จากบริษัท Wolfram Research เจ้าของโปรแกรม Mathematica (โปรแกรมคณิตศาสตร์คู่แข่งของ Mathcad) มาพอร์ตให้ใช้บน Intel Macintosh โดยให้เวลาตั้งแต่คืนวันพุธที่ 1 แล้วให้โชว์ในงานได้ Grey ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงและแก้โค้ดไปเพียง 20 บรรทัดเท่านั้น ส่วนโปรแกรมอื่นๆ ที่ยืนยันว่าจะมาบน Intel Macintosh แบบ native แน่ๆ คือ Adobe ทั้งสาย Bruce Chizen ซีอีโอของ Adobe ขึ้นไปบนเวทีด้วย และบอกว่าถ้าไม่มี Apple ก็ไม่มี Adobe ในวันนี้ อีกโปรแกรมนึงที่ยืนยันแล้วก็คือ Microsoft Office จากไมโครซอฟต์ Roz Ho GM ฝ่ายแมคอินทอชจากไมโครซอฟต์เป็นคนขึ้นเวทีไปยืนยันด้วยตัวเอง
- Thin Binary - วิธีที่สองนำโปรแกรมเดิมๆ มารันบน Intel Macintosh ได้โดยตรง (Thin Binary) โดยผ่านตัวแปลงชุดคำสั่งจาก PowerPC มาเป็น x86 ที่แอปเปิลเรียกว่า "Rosetta"
ซึ่งนำชื่อมาจากหิน Rosetta Stone ที่นักประวัติศาสตร์ใช้ในการแปลภาษากรีกและอียิปต์โบราณ โดย Rosetta มีข้อกำหนดว่า จะสามารถแปลงได้แต่โปรแกรมที่ใช้ชุดคำสั่งของซีพียู G3 เท่านั้น ถ้าโปรแกรมที่เรียกชุดคำสั่งพิเศษ Velocity Engine หรือ AltiVec
(เป็นชุดคำสั่งที่เทียบได้กับ SSE2 ใน P4) ของ G4 และ G5 จะไม่สามารถแปลงได้ ดูภาพประกอบเช่นเดียวกันครับThin Binary
ตรงนี้หมายความว่า เป็นการการันตีว่าโปรแกรมเดิมๆ จะยังทำงานบน Intel Macintosh ได้ (โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช้ AltiVec) และถ้าคุณต้องการจะพอร์ตให้มาเป็น Intel Native ถ้าคุณใช้ XCode ทุกอย่างจะง่ายมาก แต่ถ้าคุณไม่ได้พัฒนาด้วย XCode ทุกอย่างก็จะยากมาก เป็นการบีบให้ในอนาคตการพัฒนาโปรแกรมทุกอย่างบนแมค (ไม่ว่าจะแมคตัวไหน) ทำบน XCode ซึ่งก็เกิดผลดีกับแอปเปิลในทางอ้อมๆ ว่าจะสามารถควบคุมรูปแบบการพัฒนาให้ไปในทางเดียวกันได้
Update:มีคนที่ไปงาน WWDC ส่งผลการ Benchmark ของ Intel Macintosh ตัวที่โชว์ในงานมาให้ดู (ภาพข้างล่าง) เนื่องจากว่าโปรแกรมต่างๆ ที่รันทดสอบนั้นยังไม่ได้พอร์ต ดังนั้นผลการ Benchmark จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของตัว Rosetta โดยตรง โดยมีผลการทดสอบหลายอย่างผมไม่ขอเอามาลงละกันครับ แต่ภาพรวมคือ โค้ดที่ผ่านการแปลงจาก Rosetta มีประสิทธิภาพประมาณครึ่งนึงของ G5 เดิม (อย่าลืมว่า เครื่องเป็นคนละสถาปัตยกรรมกัน นี่ไม่ใช่การวัดผลว่า PowerPC Mac แรงกว่า Intel Mac แต่อย่างใด และการทดสอบบางอย่างก็มีอันที่ Intel Mac ชนะด้วย) รายละเอียดอ่านได้ที่นี่ครับ Think Secret
วิเคราะห์ เนื้อข่าวก็คงมีอยู่แค่นั้นครับ ให้ผมวิเคราะห์คร่าวๆ จากที่รู้ข้อมูลแค่นี้ ก็ได้ว่า
- สำหรับผู้ใช้แมคเดิม ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนสถาปัตยกรรมด้านล่างเท่านั้น พอเปลี่ยนเสร็จ ข้างบนที่ติดต่อกับเราก็ยังเป็น MacOSX อยู่ดี น่าจะมีผลกระทบที่น้อยกว่าการเปลี่ยน OS9 มาเป็น OSX มาก และดูจากแผนการของแอปเปิลก็คาดว่าเตรียมตัวค่อนข้างดี รวมถึงเคยมีประสบการณ์ในการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมมารอบนึงแล้วด้วย ก็คงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
- ส่วนจะห่วงว่าแมคใหม่จะห่วยลงหรือเปล่า จะเป็นเครื่องโลว์เกรดรึไม่ ผมก็ว่าไม่น่าห่วงครับ แมคใหม่จะยังเป็นคอมพิวเตอร์ในวงปิดเหมือนเดิม คือต้องซื้อแมคทั้งชุด รวมถึงตัว OS อยูแล้ว ถึงจะเอามารันวินโดวส์ (หรือลินุกซ์ได้) แต่ผมคิดว่าก็คงไม่ค่อยจะมีคนทำนะครับ เรื่องประสิทธิภาพนั้น ถึงแม้จะยอมรับกันว่าสถาปัตยกรรม RISC ของ Power จะดีกว่า CISC ของ x86 แต่ด้วยพลังทางการตลาดของอินเทลก็ยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ และ CISC ที่เราใช้ๆ กันอยู่ทุกวันมันก็ไม่มีอะไรที่ด้อยประสิทธิภาพกว่า RISC อย่างเห็นได้ชัดด้วย ตลาด High-End ก็ไม่น่าจะมีปัญหาตรงจุดนี้ ส่วนตลาดโน้ตบุ้คยิ่งแล้วใหญ่เลย Centrino ติดตลาดไปเรียบร้อยแล้ว และความสามารถในการประหยัดพลังงานของ Centrino/Pentium M ก็ดีกว่า G4 อยู่เยอะเลยล่ะ
- สำหรับผู้ใช้พีซีที่อยากใช้แมค แต่ติดว่ามันแพง (คิดว่ามีเยอะ) แล้วหวังว่าการเปลี่ยนมาใช้ x86 ครั้งนี้จะทำให้แมคถูกลง ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นครับ แอปเปิลยังเป็นผู้จัดจำหน่ายแมคแต่เพียงเจ้าเดียวอยู่ มีสิทธิ์ในการตั้งราคาอย่างอิสระ ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ซีพียูอะไรมันก็ไม่น่าจะเกี่ยวอยู่ดี แต่สุดท้ายแล้วผมคิดว่าคุณอาจได้ใช้แมคที่ราคาถูกลง (บ้างแต่ไม่น่าจะเยอะนัก) ด้วยเหตุผลทางด้านการตลาดที่แอปเปิลหันมาเล่นตลาดล่างมากกว่าการเปลี่ยนมาใช้ x86 ครับ
- สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ เจ้าแรกคือ ไอบีเอ็มแน่นอน จริงๆ แล้วปริมาณการผลิต PowerPC ให้กับแอปเปิลถือว่าเป็นจำนวนจิ๊บๆ เมื่อเทียบกับกำลังในการผลิตซีพียูของไอบีเอ็ม ถ้าจะเอาเรื่องเสียยอดขายมาคิดก็คงไม่สะเทือน อันที่เสียไปคือภาพลักษณ์ว่าวิศวกรของไอบีเอ็มไม่สามารถจนแอปเปิลต้องแยกทางต่างหาก แต่ก็อย่าลืมว่าไอบีเอ็มยังมีไม้เด็ดคือ Cell รออยู่ และสถาปัตยกรรม Power ก็ยังได้รับการยอมรับอย่างดี สังเกตจากเครื่องเล่นเกมแห่งอนาคตทั้งสามตัวใช้ Power หมดเลย ถ้าถามผมว่าโลกกำลังหมุนไปในทางของ Power ทำไมแอปเปิลถึงสวนกระแสโดยการใช้ x86 คำตอบก็คงเป็นเรื่องของเวลาล่ะครับ ถ้าแอปเปิลอยากใช้ Cell จริงๆ กว่าจะอยู่ตัวก็ต้องใช้เวลาอีกซัก 5 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือว่าช้าเกินไปแล้ว ถ้าสมมติว่า Cell มันยอดจริงๆ การเปลี่ยนอีกทีซัก 10 ปีข้างหน้าก็คงไม่เสียหลายนะครับ
- บริษัทถัดมาคือ เอเอ็มดีครับ ถึงแม้ผมเชื่อว่าผู้อ่าน Blognone จะมีอัตราส่วนของ อินเทล-เอเอ็มดีประมาณครึ่งๆ ก็ตาม แต่เอาตลาดทั้งหมดแล้วอินเทลครองอยู่ประมาณ 80% ในตลาโน้ตบุ้คนี่เอเอ็มดีสู้กับแบรนด์ Centrino ไม่ได้เลย ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แอปเปิลเลือกอินเทล (ต้องรวมปัจจัยอื่นๆ เช่น ขนาดบริษัท กำลังการผลิต และข้อตกลงภายในอื่นๆ ด้วยนะครับ) สิ่งที่เอเอ็มดีเสียก็คือภาพลักษณ์เหมือนกัน เพราะลองคิดว่าต่อไปคอมพิวเตอร์ที่เท่ๆ ที่ทุกคนอยากได้จะมีตรา Intel Inside แปะอยู่ด้วย
- บริษัทสุดท้ายคือไมโครซอฟท์ ถึงแม้ว่าจะได้ขึ้นเวทีกับเค้าด้วย และสนับสนุนแอปเปิลเป็นอย่างดี แต่อย่าลืมว่ากำหนดของ Intel Macintosh คือกลางปี 2006 ใกล้เคียงกับกำหนดของ Longhorn ปลายปี 2006 มาก ในเมื่อผู้ใช้บางส่วนจำเป็นต้องอัพเกรดเครื่องเพื่อที่จะใช้ Longhorn ได้ แล้วในตลาดมีตัวเลือกอย่าง Intel Macintosh เพิ่มเข้ามา ถ้าผมอยู่ในกลุ่มผู้ใช้เหล่านั้นที่ยังไงก็ต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องใหม่ แมคก็น่าสนใจเหมือนกันนะครับ อย่าลืมว่าความสำเร็จแบบถล่มทลายของ iPod ทำให้เกิดปรากฎการณ์ Halo Effect (iPod สวย อยากได้ iMac บ้าง) อยู่พอสมควรเลย
- สิ่งที่แอปเปิลไม่พูดถึงคือเรื่องของ 64 บิต ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเครื่องที่เดโมก็บอกแค่ว่าเป็น Pentium 4 อย่างเดียว แต่ผมคิดว่าแอปเปิลน่าจะเริ่มที่ 64 บิตเลย และ Leopard อาจเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็น x86-64 (หรือ EM64T ในชื่อของอินเทล) ตั้งแต่แรกเลยก็ได้
- สุดท้ายผมก็คิดว่าโดยภาพรวมแล้ว เรื่องการใช้งานคงไม่เปลี่ยนไปมากนัก สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่ความรู้สึกของหลายๆ คนมากกว่าว่าซีพียูของอินเทลห่วยกว่าแมค แต่ก็อย่าลืมว่าการจ่ายเงินซื้อเครื่องแมคไม่ได้แค่จ่ายเงินซื้อฮาร์ดแวร์ แต่เป็นการซื้อประสบการณ์ในการใช้งานแมคทั้งระบบ (ซึ่ง MacOSX คือหัวใจสำคัญ) ตามประโยคปิดท้ายของจ็อบส์ More than processor, hardware, the "soul of the Mac" is the operating system.
ผมปิดท้ายด้วยประโยคของ Bruce Chizen ซีอีโอ Adobe ที่พูดกับจ็อบส์บนเวทีว่า "I have only one question, Steve: What took you so long?" และได้เสียงปรบมืออย่างล้นหลาม
แหล่งข่าว
- Apple to Use Intel Microprocessors Beginning in 2006 แถลงอย่างเป็นทางการของแอปเปิล
- แถลงจากอินเทล
- The Mac Observer: San Francisco - Live Coverage of Steve Jobs Keynote ถอดความจาก Keynote
- MacNN: Live WWDC Event Coverage ถอดความอีกเวอร์ชัน
- News.com: Apple throws the switch, aligns with Intel
- จาก Ars Technica: http://arstechnica.com/news.ars/post/20050606-4974.html
- SlashDot : Apple Switching to Intel คอมเมนต์เยอะมากครับ
- OSNews: CONFIRMED: Apple to use Intel Chips
- รายละเอียดเรื่อง Rosetta จาก MacSlash
Revision
- 1.0 - First Publish - 7 June 2005
- 1.1 - Fixed Some Information, Add Image - 8 June 2005
- 1.2 - Rosetta Benchmark Update - 9 June 2005
Comments
ต่อๆ ไป เสียงเครื่อง Mac คงจะกระหื่ม เพราะ พัดลมระบายความร้อนของ Intel Processor แน่ๆ เลยครับ
... Steve Jobs ผู้ไม่ชอบเสียงพัดลมจะทำไงกับปัญหานี้ ?
//สำหรับผู้ใช้พีซีที่อยากใช้แมค แต่ติดว่ามันแพง (คิดว่ามีเยอะ) แล้วหวังว่าการเปลี่ยนมาใช้ x86 ครั้งนี้จะทำให้แมคถูกลง ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นครับ
:'( :'( ม่ายจริงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงงง
ผมว่า่hacker ต้อง hack ได้แน่ครับ คงไม่เป็นแบบxbox หรอกครับดีไม่ดี พวก hacker จับlinux ยัดลงอีกอะ อยากใช้มานานแล้ว ไอ้macเนี๊ยะ ชอบ ชอบ
ผมว่าเรื่องอย่างงี้ ไม่พ้นคนไทยกะ จีนแดงหรอก เชื่อเถอะ
Keng: "กราฟ" ที่ว่า ไม่ใช่ "ไดอะแกรม" ครับ แต่เป็นกราฟสามมิติของสมการคณิตศาสตร์ ไม่เชื่อว่า MATLAB จะทำได้ดีกว่า Mathematica
ดูรูปทางขวามือของหน้านี้ http://www.wolfram.com/products/mathematica/newin51/
นี่แหละ กราฟ ที่หมายถึง
ขอบคุณมากครับ แล้วเดี๋ยวผมจะทำลิงค์มาที่เวบนี้ด้วยครับ
น่าจะยากนะครับ เคสคงคล้ายๆ กับแผ่นของ XBox ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครแกะได้เลย
เป็นบทความที่เจาะลึกจริง ๆ ครับ
คิดว่าน่าจะมีคน hack ให้ลง OS X บน x86 ธรรมดาได้แน่ ๆ เลย มันจะยากไหมเนี่ย
ผมแกะดูข้างในแล้วครับ เป็น intel mater board ธรรมดาๆ นี่เอง ไม่มีอะไรพิเศษเลยละ ไม่ต้อง hack ก็เอามาลงได้ อิอิ คิดว่า mac คงทำตลาดล่างได้น่าดูเหมือนกัน
แล้วเครื่องที่จะออกมาจริงๆ คงเป็นระบบ work station เลย ซึ่งปัจจุบันถือว่าราคาถูกกว่า pc มากๆ เมื่อเทียบกับ pc ที่มี performace ระดับเดียวกัน
คุณ alo5555 ยินดีครับผม ช่วยลิงก์กลับมาที่เพจนี้ด้วยก็พอครับ คุณ zee กับพี่จอย เดี๋ยวแก้ให้นะครับ ผมยังไม่มีเวลาฟัง keynote เลย ฮือๆ
กลับมาอ่านอีกรอบ (มีรายละเอียดแล้ว) อุตส่าห์แอบหวังเล็กๆ ว่าจะมี AMD เอี่ยวด้วยอะ
แล้วจะมีใคร hack ให้ลง OS X บน x86 ธรรมดาบ้างไหมครับ ?
บทความดีมากครับ
ประโยคที่ว่า I have only one question, Steve: What took you so long? เนี่ย Bruce Chizen, CEO ของ Adobe เป็นคนพูดครับ
คอมเครื่องต่อไปอาจเป็น Mac 555(แต่คงมี PC Notebook ก่อน)
จ๊อบส์ น้ำลายอร่อยมั้ย
อ้อบทความนี้เจ๋งมากครับ
ผมอยากจะขออนุญาติคุณmk เอาบทความนี้ไปเผยแพร่จะได้ไหมครับ ยังไงก็ส่งเมลล์มาทีผมนะครับว่าอนุญาติรึเปล่า yee55555@hotmail.com
เด็กคอมอย่างผมยังใช้ MATLAB มานั่งวาดกราฟคอนโทรลซิสเท็มเล่นเลยครับ bact'
ชอบอันนี้จัง “I have only one question, Steve: What took you so long?”
[off-topic] ใช้ MATLAB ไม่เป็น ใช้ Mathematica เป็นนิดนึง ตระการตามาก วันแรกที่ได้ทำแลบ นั่งวาดกราฟเล่นถึงดึก -_-"
แต่เหมือน MATLAB นี่มันครอบจักรวาลเลยนะ เห็นเด็กไฟฟ้าชอบนัก ทำได้หมดเลย :P
เจาะลึกมากครับ ขอบคุณจริงๆ ขอบคุณครับ
Mathematica ไม่ใช่คู่แข่งของ MATLAB นะครับ เป็นคู่แข่ง Maple Mathematica, Maple และ MathCad เป็นโปรแกรมคำนวณแบบ Symbolic ในขณะที่ MATLAB เน้นการคำนวณแบบ Numerical และมีการคำนวณ แบบ Symbolic ห่วยๆ โดยใช้ engine ของ Maple
อูยตื่นเต้น ตื่นเต้น :D
คันปากมากเรื่อง Mac กับ PC นี่นานแล้ว ได้สัมผัสเครื่องทั้ง 2 ค่ายมาพอสมควร แต่ในความรู้สึกส่วนตัว ยอมรับว่า Mac เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี แต่ไม่ชอบ Mac เนื่องจากคุณบังคับฉันทุกอย่าง เงินไม่เกี่ยวฉันมีเงินซื้อเครื่อง ฉันจะทำอะไรของฉันก็ได้ในเครื่องฉัน ขาดอิสรภาพอย่างแรง จึงไร้ค่า Application และ ระบบปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นมารองรับให้กับ PC ก็ดีขึ้นมาก ขอให้ทราบว่าถ้าจัดชุด PC ที่มีราคาเท่า Mac แล้วไม่ต้องมาอ้างประสิทธิภาพเทียบกัน Final Cut ก็ไม่ได้แจ๋วกว่า Avid หรอกนะ Adobe ก็ยอมซบทาง PC แล้ว ...... ทุกอย่างตามทฤษฎีทางเศษฐศาสตร์ถ้าไม่เห็นหัวผู้บริโภค ก็ไม่มีทางเป็นผู้ชนะ
-*- ..... อะไรเนี่ย อ่านแล้วงงนะ
"...ขอให้ทราบว่าถ้าจัดชุด PC ที่มีราคาเท่า Mac แล้วไม่ต้องมาอ้างประสิทธิภาพเทียบกัน..." ???
เคยลองเทียบแล้ว กะหลั่วๆ อย่าง Acer คิดราคาเครื่อง + OS + ซอฟต์แวร์ที่จะใช้งาน นี่ราคาพอๆ กันหรือแพงกว่า Mac ที่สเปคใกล้เคียงกัน + ซอฟต์แวร์ประเภทเดียวกัน เลยนะ
Mac กับ PC ผมว่าถ้าราคาเท่ากัน PC แบรนด์จะราคาแพงกว่า Mac นะครับ ยกตัวอย่าง iMac กับ All-in-One ตัวสูงๆ เลยก็ได้ AIO ตัวสูงๆ ยังไม่ได้ใส่ SSD มาเลย ส่วน iMac เราเลือกเพิ่ม SSD เองได้ และราคาก็พอๆ กัน
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6