เมื่อวันพุธที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม “ห้องเรียนอนาคต” ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โดยความร่วมมือของบริษัท ฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด ในงาน “Pilot Project of Future Classroom’s Fujitsu Learning Project of Tomorrow” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงเรียนนั่นเอง
อันที่จริง “ห้องเรียนอนาคต” แห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 แล้วครับ งานนี้ก็เลยจะพูดถึงความร่วมมือของทั้งสององค์กร ในการประยุกต์นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ การดำเนินโครงการ ความคืบหน้าตลอด 1 ปี จนไปถึงสาธิตบรรยากาศของชั่วโมงเรียนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนดังกล่าวอีกด้วย
คุณ Atsushi Saeki ผู้อำนวยการฝ่าย Educational Business Promotion ของฟูจิตสึ กล่าวถึงการดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านการศึกษาในช่วงเวลาที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นของโครงการ
จุดเริ่มต้น มาจากคณะครูของโรงเรียนได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนนำร่องของโครงการ “ Fujitsu Learning Project of Tomorrow ” ในประเทศญี่ปุ่น ตามคำเชิญชวนของฟูจิตสึ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 โดยฟูจิตสึจะสนับสนุนโซลูชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ ทางคณะเองเมื่อได้ไปเห็นบรรยากาศของการเรียนการสอนที่เป็นลักษณะแบบสองทาง คือระหว่างครู นักเรียน และระหว่างกัน ก็รู้สึกว่าน่าจะเอามาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับโรงเรียนของตนได้ จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งฟูจิตสึเอง และสมาคมผู้ปกครองและครูของโรงเรียน และได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ถือเป็นโรงเรียนนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยและเอเชีย
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Fujitsu Learning Project of Tomorrow
ระบบที่ติดตั้งใช้งานในโครงการเป็นระบบสำหรับ 1 ห้องเรียน ประกอบด้วยแท็บเล็ตฟูจิตสึรุ่น ARROWS Tab Q555, ARROWS Tab Q704/H, ARROWS Tab Q584/H (เป็นแท็บเล็ตที่ใช้ในองค์กร) ทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ฟูจิตสึ PRIMERGY TX120 S3 PC (เซิร์ฟเวอร์เฉพาะ แยกออกมาต่างหากจากที่โรงเรียนใช้) ติดตั้งและแปลเป็นภาษาไทยสำหรับระบบ Fujitsu Opinion Sharing System ให้ครูแสดงความคิดเห็นและตอบคำถามนักเรียนที่เข้ามาจากแท็บเล็ตได้ทันที และระบบสนับสนุนบทเรียน Learning Management System (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ใน ข่าวประชาสัมพันธ์โครงการ ของเว็บไซต์ฟูจิตสึ ประเทศไทย)
มโนทัศน์ “ห้องเรียนอนาคต” ของฟูจิตสึ ในสถานการณ์ที่ครูสั่งงานกลุ่มให้นักเรียนทำในห้อง
การดำเนินโครงการตลอดระยะเวลา 1 ปี
ทางโรงเรียนมีสถิติปริมาณการใช้งานห้องเรียนอนาคตสรุปออกมาเป็นตาราง พบว่ามีอาจารย์หลายๆ ท่านทดลองนำเอาระบบมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนรายวิชาของตนเอง อาทิ
- จัดเกมตอบคำถามแบบเกมเศรษฐี (คล้ายๆ กับระบบ clicker ที่ใช้กันตามมหาวิทยาลัย)
- การเรียนเย็บปักถักร้อยก็ใช้ลักษณะของการอัพโหลดคลิปขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์ แล้วให้เด็กแต่ละคนศึกษาวิธีการเย็บจากคลิป สามารถเลื่อนย้อนหลังได้เมื่อตามไม่ทัน มีประโยชน์ตรงที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้ตามสปีดของตนเองได้ ครูก็มีหน้าที่เดินดูและให้ความช่วยเหลือเด็กที่ตามไม่ทัน
- วิชานวัตกรรม นักเรียนวาดภาพสิ่งประดิษฐ์ของตนเองบนแท็บเล็ต แล้วแชร์ขึ้นโปรเจกเตอร์เพื่อนำเสนอและแบ่งปันความคิดกับนักเรียนคนอื่นๆ ในห้อง
- วิชาคณิตศาสตร์ เรียนการพิสูจน์ทฤษฎีปีทาโกรัส โดยใช้เว็บไซต์วาดภาพจากสมการทางคณิตศาสตร์ผ่าน และถ่ายภาพหน้าจอส่งไปให้อาจารย์
นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังมีการจัด workshop เพื่อแบ่งปันเทคนิคการเรียนการสอนระหว่างครู รวบรวมฟีดแบคจากครูและนักเรียนให้กับทางบริษัท รวมทั้งได้มีโอกาสไปสัมมนา แลกเปลี่ยนความเห็นการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับโรงเรียนนำร่องที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยครับ
อาจารย์อุไร วิจิตร รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ออกมาพูดถึงการดำเนินโครงการ Learning Project of Tomorrow ตลอดระยะเวลา 1 ปี
ห้องเรียนอนาคต
นอกเหนือจากงานแถลงข่าวแล้ว ทางโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ได้เชิญผู้ร่วมงานไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนในห้องเรียนอนาคตด้วยครับ โดยจะสาธิตการสอนวิชา Digital Art ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียน ในวิชานี้ ผู้เรียนจะต้องวาดภาพเหมือนจากภาพถ่ายโดยใช้เทคนิคการซ้อนเลเยอร์ด้วยโปรแกรม Adobe Illustrator สำหรับการเรียนในคาบนี้เป็นการเรียนครั้งที่สองในหัวข้อการวาดคิ้วและตา หลังจากคาบที่แล้วเรียนเรื่องการวาดโครงหน้า
เมื่อเข้ามาในห้องจะมีนักเรียน ครู และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคประจำห้องซึ่งมีหน้าที่ดูแลการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ และให้ความช่วยเหลือยามฉุกเฉินได้ นักเรียนและครูจะได้แท็บเล็ตไปใช้งานกันคนละ 1 เครื่อง (เมื่อใช้เสร็จต้องส่งคืนห้องเรียนตามเดิม) และมีโปรเจกเตอร์ให้ใช้ในห้อง
บรรยากาศภายใน “ห้องเรียนอนาคต” ครูกำลังคอมเมนต์เปรียบเทียบงานรอบที่แล้ว (การวาดโครงหน้า) ของนักเรียนแต่ละคน ก่อนที่จะสอนการวาดตาและคิ้ว
พอเริ่มคลาส ครูก็เริ่มสอนพลางสาธิตการใช้โปรแกรม Chietama (Learning Repository) ซึ่งเป็นโปรแกรมหนึ่งที่ทางฟูจิตสึพัฒนาขึ้นสำหรับอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน ความสามารถโดยรวมคือช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถแบ่งปันคอนเทนต์ระหว่างกันผ่านแท็บเล็ต ผมเห็นการใช้งานหลายๆ อย่างทั้งจากในเอกสารและการสาธิตจริงแล้วประทับใจมาก
- นักเรียนนำงานของตัวเองมาทำต่อจากครั้งที่แล้ว และสามารถบันทึกงานที่ทำไว้เข้าสู่ระบบได้สะดวก
- ส่วนแท็บเล็ตของครูเก็บงานของเด็ก และเอกสารการเรียนการสอนโดยแบ่งหมวดหมู่ตามรายวิชาที่ตนสอน สามารถแชร์เอกสารต่างๆ เข้าแท็บเล็ตของนักเรียนได้
- ครูสามารถติดตามการทำงานของนักเรียนแต่ละคนแบบเรียลไทม์ โดยมอนิเตอร์หน้าจอของนักเรียนทั้งห้อง และสามารถเข้าไปดูหน้าจอของนักเรียนแต่ละคนได้เลย
- ครูสามารถนำผลงานของนักเรียนขึ้นหน้าจอโปรเจกเตอร์ และให้คอมเมนต์ในงานนั้นๆ ได้ผ่านการใช้ปากกาสไตลัส รวมถึงสามารถเปรียบเทียบผลงานของนักเรียนระหว่างกัน และเทียบงานครั้งที่แล้วได้อีกด้วย
ครูคอมเมนต์การวาดของนักเรียน อันนี้ผมเข้าใจว่าครูมอนิเตอร์หน้าจอนักเรียนขณะที่กำลังวาดรูปอยู่ แล้วคงไปเห็นการทำงานของเด็ก เลยเข้าไปดูงานและถ่ายภาพหน้าจอออกมาโชว์พร้อมกับให้คอมเมนต์
ประเด็นด้านอื่นๆ
ทางโรงเรียนและฟูจิตสึยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานซักถามเพิ่มเติมได้ โดยต่อไปนี้จะเป็นการสรุปรวบยอดประเด็นจากบางส่วนของการถาม-ตอบที่ผมสนใจ และจากที่ผมได้ไปสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เพิ่มเติม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยศักดิ์ ชั่งใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
เตรียมแผนการสอนเพื่อใช้งานสารสนเทศอย่างไร และทำอย่างไรให้เด็กเข้าใจวิธีการใช้งาน
ในส่วนของนักเรียน ทางผู้บริหารให้ความเห็นว่าครูจะต้องมีความพร้อมในการใช้งานก่อน เมื่อครูพร้อมแล้ว การสอนเทคนิคเหล่านี้ให้นักเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยาก
การเตรียมความพร้อมให้ครูในช่วงแรกๆ จะเป็นไปตามความสมัครใจ ส่วนใหญ่แล้วคนวัยหนุ่มสาวจะให้ความสนใจขอทดลองใช้ระบบก่อน หลังจากนั้นจะเป็นการอบรมการใช้งานในด้านเทคนิคต่างๆ โดยมีทีมงานคอยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคให้ ซึ่งจะอบรมเฉพาะกระบวนการใช้งานเท่านั้น ครูมีอิสระในการนำเอาเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในการเรียนการสอนของตนเอง
ในส่วนของแผนการสอนนั้นก็ใช้เป็นแผนการสอนตามปกติ อุปกรณ์แท็บเล็ตต่างๆ เป็นเพียงส่วนเสริมเพื่อเพิ่มเติมความสนุกสนานและอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน
อุปสรรคในการใช้งานระบบ
- ครูไม่รู้ว่าจะใช้งานระบบให้เข้ากับการเรียนการสอนได้อย่างไร ตรงนี้ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนได้ยกเคสของวิชาคณิตศาสตร์ที่ครูในรายวิชาไม่กล้าใช้ ทาง ผอ. ซึ่งสอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่แล้ว ท่านเลยเอามาใช้เป็นคนแรกด้วยการวาดเขียนบนกระดาษ แล้วใช้แท็บเล็ตถ่ายภาพและแชร์ให้เด็กๆ ดูเลย (ตรงนี้ท่าน ผอ. บอกเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ไปคุยกับทางฟูจิตสึ จึงรู้ว่าเขามีโปรแกรม Chietama เพื่อใช้งานในลักษณะนี้ด้วย)
- ครูหลายๆ ท่านกลัวการใช้งานเทคโนโลยี ในส่วนนี้ท่านอาจารย์อุไร ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าตอนแรกท่านเองก็ไม่กล้าใช้เหมือนกัน แต่เมื่อได้ลองใช้จริงๆ ก็ติดใจมาก
- ตัว wireless network ในระบบเซิร์ฟเวอร์ยังจำกัดระยะทางอยู่ ผมถามเพิ่มเติมว่ามีอุปสรรคด้านการใช้งานเทคนิคอย่างไร ท่านก็ตอบว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาเน็ตล่ม แต่ทางโรงเรียนมีระบบเน็ตเวิร์คสำรองอยู่แล้วเลยไม่เป็นปัญหาเท่าไหร่
โรงเรียนฝั่งประถมมีปัญหาในการใช้ห้องเรียนอนาคตหรือไม่
ท่าน ผอ. อธิบายว่าการบริหารงานของโรงเรียนในฝ่ายประถมและมัธยมนั้นแยกออกจากกัน เลยไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน แต่ท่านก็พอทราบมาว่าในเคสของเด็กประถมศึกษานั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเด็กเคยชินกับการใช้แท็บเล็ตมาจากที่บ้านอยู่แล้ว และการทดลองใช้งานก็จำกัดอยู่ในช่วงประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4 – 6) เท่านั้น
เปรียบเทียบกับ โครงการ OTPC ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
เคยทดลองใช้แท็บเล็ตตามนโยบายแล้วพบปัญหาหลักๆ 2 ประการ คือในส่วนของของฮาร์ดแวร์ที่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้งานในห้องเรียน และในส่วนของซอฟต์แวร์ที่ตายตัว ไม่สามารถแก้ไขหรือปรับแต่งเพิ่มเติมได้ เห็นว่าการใช้งานควรจะเป็นไปตามกับความต้องการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งโครงการความร่วมมือกับฟูจิตสึตอบโจทย์ตรงส่วนนี้
แผนในอนาคตเกี่ยวกับการขยายโครงการไปยังโรงเรียนอื่นๆ
แผนในอนาคตอันใกล้จะเป็นการขยายการใช้งานให้ครอบคลุมในทุกรายวิชา และให้ใช้ระบบได้ทั่วทั้งโรงเรียนก่อน (ปัจจุบันมีให้ใช้งานได้ 1 ห้อง) หลังจากนั้นจะเริ่มขยายไปยังเครือข่ายกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งประเทศ และเมื่อขยายโครงการไปในระดับนั้นได้แล้ว แต่ละโรงเรียนจะขยายโครงการไปยังส่วนภูมิภาคต่อไป
แท็บเล็ตของฟูจิตสึ
ผมได้เข้าไปดูแท็บเล็ตฟูจิตสึที่ใช้ในโครงการหลังจากที่งานจบแล้ว แต่ไม่ได้ทดลองใช้งานโปรแกรมต่างๆ นะครับ แท็บเล็ตที่ได้ไปดูเป็นรุ่น Stylistic Q506 รันด้วยระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ หน้าจอสามารถแยกออกจากเคสแป้นพิมพ์ได้ ตัวเครื่องแข็งแรงสามารถกันการกระแทกได้ มีปากกาสไตลัสให้ใช้งาน กล้องถ่ายภาพถูกย้ายมาอยู่บริเวณกึ่งกลางของแท็บเล็ตเพื่อให้นักเรียนสามารถถือถ่ายภาพบนกระดานได้สะดวก ไมโครโฟนอยู่ด้านบนของแท็บเล็ตเพื่อให้ตรงกับทิศทางการสอนหน้าชั้นของครู ทำให้สามารถบันทึกการสอนได้อย่างสะดวก เรียกได้ว่าออกแบบมาอย่างดี ส่วนสเปกภายในเพิ่มเติมคือ
- หน้าจอขนาด 10.1 นิ้ว
- โปรเซสเซอร์ Intel Atom x5-Z8550
- RAM 4GB
- ฮาร์ดดิสก์ความจุ 64GB หรือ 128GB
- กล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซล, กล้องหน้า 2 ล้านพิกเซล
สรุป
ในช่วงหนึ่งของการถาม-ตอบ ท่าน ผอ. โรงเรียนได้ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันเด็กๆ สามารถหาข้อมูลต่างๆ จากที่ไหนก็ได้ในโลก ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนอย่างหนึ่งคือจะทำอย่างไรให้เด็กรักการมาโรงเรียนมากขึ้น
ผมมองว่าโครงการที่นำเอาแท็บเล็ตเข้ามาใช้ในโรงเรียนนั้น ถือเป็นการปรับตัวของสถานศึกษา เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่โลกหมุนรอบด้วยอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี และเพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงการใช้ชีวิตของเด็กในสังคมดิจิตอล ซึ่งในท้ายที่สุด โรงเรียนจะต้องใส่ใจและหันมาออกแบบ “ห้องเรียนอนาคต” ของตนเองกันเสียใหม่ ให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มิเช่นนั้น ในวันหนึ่งที่พวกเขาหาความรู้เพิ่มเติมได้เองโดยไม่รอให้โรงเรียนมาป้อนความรู้ให้ บทบาทของโรงเรียนในส่วนของการให้บริการด้านการศึกษาอาจเลือนหายไป เพราะตามพัฒนาการของเด็กไม่ทัน
ทีมงานของฟูจิตสึและโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ในงานแถลงข่าว
ที่มา - ภาพบางส่วนจากทีมงานฟูจิตสึและโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม
แก้ไข: รุ่นของแท็บเล็ตที่ไปดูกับเพิ่มรายละเอียดสเปค
Comments
โห สมัยผมเรียนมีคอมก็หรูละ555
รบกวนแก้ URL ภาพให้เป็น https ด้วยก็ดีครับ เพราะภาพจาก imgur default จะเป็น http แล้วมันจะมีปัญหา warning หรือไม่แสดงภาพน่ะครับ
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
แก้แล้วครับ ขอบคุณมากครับ
เป็นโครงการในอนาคตของคนรุ่นเก่า ภาพที่มองออกมาเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งทำได้ตอนนี้
คนรุ่นใหม่ๆ และเด็กยุคนี้ จะบอกว่ามันล้าหลังที่ต้องมานั่งตั้ง server ใช้ระบบปิด ในยุคที่เขาโล๊ะ server ไป cloud และ web app กันหมดแล้ว
สิ่งที่ทำได้ก็แค่พื้นๆ ซึ่งปัจจุบัน เรามีของฟรี ที่พร้อมและดีกว่า(มาก) ทำได้มากกว่า อัพเกรดตลอดเวลา ใช้แทนพวกนี้ได้ทั้งหมด และไม่จำกัด ประเภท device ใช้ของส่วนตัวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องหาระบบอะไรแบบนี้มาใช้งานแล้ว
เพียงแต่ว่า ทำโครงการเสนอแล้วจะไม่ได้งบ ก็เท่านั้น เพราะมันฟรี และไม่ได้อะไร
หรือถ้าพยายามจะมองในแง่ดีหน่อยคือ พวกเขายังตีโจทย์การเรียนการสอนในอนาคตไม่แตก และกำลังหลงทาง
มีอะไรบ้างบอกหน่อยครับ อยากเอาไปใช้บ้าง
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ใช้ของพื้นฐานง่ายๆอย่าง youtube google docs hangout นี่ก็เรียนรู้และทำงานร่วมกันได้ดีกว่าระบบข้างบนนั่นแล้ว
แหล่งความรู้ก็ youtube itunes u opencourse khan ฯลฯ ทำคอร์สลงไป
ถ้าอยากได้ที่มัน manage ได้ ก็ google classroom apple classroom schoology edmodo เยอะแยะ ดีกว่าและฟรีอีกต่างหาก
ข่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความล้าหลังของโรงเรียนและวิสัยทัศน์ของบุคลากรของเรา ดูๆแล้วอีกร้อยปีก็ไม่ไปไหน
ปล.ข่าวนี้วันเดียวก็ถูกปลดลงจากหน้าแรกซะละ โฆษณายังอยู่นานกว่าอีก
อยากรู้ด้วยคนครับ
ยกตัวอย่างเช่น Google classroomหรืออุปกรณ์ ก็ใช้เป็น chrome book แทน ผมว่าก้อน่าจะจัดการง่ายแล้วก้อราคาถูกกว่าระบบตามข่าวนี้
ตราบใดที่เรายังใช้ KPI เป็นจำนวน Published Papers ของครูผมเชื่อว่าระบบห้องเรียนแบบไหนก็ช่วยไม่ได้ครับ