เทสโก้ โลตัส ประกาศจัดงานแฮกกาธอน 2018 ให้สตาร์ทอัพ บุคคลจากวงการต่างๆ นิสิต นักศึกษาสมัครเข้ามาฝึกอบรมและประกวดนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมค้าปลีก Lotus Express โดยนวัตกรรมต้องตอบโจทย์ 5 โจทย์สำคัญคือ digital transformation, เทรนด์สุขภาพ, โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลง ครอบครัวขนาดเล็กลง การมาถึงของสังคมสูงอายุ, ความสะดวกรวดเร็ว และความยั่งยืน เปิดรับผลงานที่จะเข้าประกวดทุกรูปแบบ เช่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น
สำหรับผู้ชนะในงาน เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน จะได้รางวัลมูลค่า 400,000 บาท เป็นตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ - ลอนดอน เพื่อไปดูงานที่เทสโก้ แล็บ และรางวัลเงินสดอีกประมาณ 450,000 บาท
สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ระบุว่าสาเหตุที่กำหนดโจทย์เป็นการค้าปลีก Lotus Express เนื่องจากเป็น touch point หรือจุดสัมผัสสำคัญที่ได้เจอกับผู้บริโภคมาก โดย Lotus Express มีลูกค้าใช้บริการประมาณ 415 ล้านครั้งต่อปี
ในงานประกาศจัดงาน แฮกกาธอน ยังมีสัมมนาหัวข้อ "แนวโน้มการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกและ Mega Trends ของลูกค้ายุคใหม่" ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่
- รศ.ดร. ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดีงานยุทธศาสตร์และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส
- ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผุ้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA
- อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA
แรงงานไหลออกนอกระบบ productivity ลด ส่งผลต่อ GDP
ฉัตรชัย จาก DEPA ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานไหลออกจากระบบปีละ 1% และหาก productivity ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ปีละ 1% จะส่งผลต่อ GDP ฉะนั้นเราจึงต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเพิ่ม productivity สำนักงาน DEPA พยายามเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนวัตกรรมและตลาด เพื่อให้ตลาดปรับตัวได้ และสร้างโอกาสให้นวัตกรรมได้เติบโต
บทบาทมหาวิทยาลัยเปลี่ยนจากผู้สอนมาเป็นผู้สร้างนวัตกร
ณัฐชา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าที่มหาวิทยาลัยเตรียมเปิดตัว Siam Innovation District หรือเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ภายในเดือนมีนาคม 2018 เป็นพื้นที่เปิดให้เยาวชนเข้ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ เนื่องจากสตาร์ทอัพเป็นเทรนด์โลก จึงเป็นพันธกิจของมหาวิทยาลัยจากเดิมที่เป็นเพียงผู้สอน มาเป็นผู้สร้างนวัตกร โดยมีวิสัยทัศน์สำคัญคือ Industry lead Innovation หรือการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและเอกชน ให้มามีส่วนร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อที่คนทำนวัตกรรมจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาสร้างโจทย์ใหม่ ดังนั้นเราจึงจะเห็นเวทีในลักษณะนี้ (แฮกกาธอน) มากขึ้นเรื่อยๆมองศักยภาพเยาวชนไทยว่ามีความสามารถมาก ขอแค่ให้มีระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม มีพื้นที่ให้พวกเขา อย่างทาง Siam Innovation District มี sandbox, มีทุน มี mentor และเวทีให้พวกเขาได้เข้ามาแสดงผลงานกัน
สตาร์ทอัพไทยต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม
อมฤต จาก Hubba มองว่าอาจจะไม่ทันแล้ว ที่สตาร์ทอัพไทยจะสร้างนวัตกรรมที่คนทั่วโลกอยากใช้ จากประสบการณ์เห็นว่าสตาร์ทอัพไทยอาจยังขาดความเข้าใจในอุตสาหกรรม การจัดแฮกกาธอนจึงเป็นโอกาสดีที่ให้คนทำนวัตกรรมทำโซลูชั่นที่เอาไปใช้ได้จริง โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนั้นเข้ามาเล่าปัญหา ในขณะเดียวกัน วงการสตาร์ทอัพของไทยมีจุดแข็งคือมีการทำงานร่วมกันระหว่าง สตาร์ทอัพและภาคอุตสาหกรรมมาก เพื่อจะสร้างนวัตกรรมที่เอาไปใช้ได้จริง
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ