สืบเนื่องจาก คดีเมื่อปี 2013 ที่รัฐบาลสหรัฐมีการขอหมายค้นอีเมลไปยังไมโครซอฟท์ แต่ไมโครซอฟท์ไม่ยอมส่งมอบให้ เพราะอีเมลนั้นอยู่ในเซิฟเวอร์ที่ไอร์แลนด์ อยู่นอกเขตอำนาจของกฎหมายสหรัฐ
คดีนี้เป็นที่จับตามองในฐานะบททดสอบของการรักษาความเป็นส่วนตัวในยุคสมัยที่ข้อมูลต่างๆ ถูกจัดเก็บบนคลาวด์ โดยทั้ง Apple, Google และ Amazon ได้ออกแถลงจุดยืนสนับสนุนไมโครซอฟท์ในคดีนี้ และตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายที่นำมาปรับใช้ อย่างกฎหมายว่าด้วยการเก็บข้อมูลการสื่อสารปี 1986 (Stored Communications Act of 1986) อาจล้าสมัยเกินไป สภาคองเกรสควรออกกฎหมายใหม่มาเพื่อให้ปรับใช้ได้เหมาะสมกับกรณีมากขึ้น
เมื่อวานนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาคดีแล้ว และดูเหมือนว่าความเห็นของผู้พิพากษาศาลฎีกาอาจเข้าข้างรัฐบาลสหรัฐมากกว่า
ระหว่างพิจารณา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ John G. Roberts Jr. แสดงความกังวลว่า แม้อีเมลที่ต้องการจะถูกส่งมาจากตึกข้างๆ ก็อาจกลายเป็นว่าไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เพียงเพราะว่าอีเมลนั้นบังเอิญถูกเก็บอยู่ในเซิฟเวอร์ต่างประเทศ
เขายังกล่าวอีกว่าจุดยืนของไมโครซอฟท์อาจเป็นข่าวดีของคนที่ต้องการใช้อีเมลติดต่อในการกระทำความผิด และเป็นกลยุทธทางธุรกิจที่ดีสำหรับบริษัทด้วย เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะห้ามไม่ให้ไมโครซอฟท์เก็บข้อมูลการสื่อสารภายในสหรัฐทั้งหมดไว้ที่เซิฟเวอร์ต่างประเทศ ไม่ว่าแคนาดา เม็กซิโก หรือว่าที่ไหนๆ แล้วก็บอกลูกค้าว่าไม่ต้องห่วง รัฐบาลจะเข้าถึงข้อมูลพวกคุณไม่ได้แน่
ผู้พิพากษา Samuel Alito บอกว่าการที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลอีเมลที่เก็บไว้ต่างประเทศของบริษัทผู้ให้บริการที่ตั้งอยู่สหรัฐ อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย
ทนายของไมโครซอฟท์ Joshua Rosenkranz ปฏิเสธว่า หากลูกค้าต้องการหนีให้พ้นจากการบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐจริงๆ ก็คงไม่เลือกใช้บริการของไมโครซอฟท์ที่เป็นบริษัทของสหรัฐ และยังบอกอีกว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถติดต่อขอข้อมูลจากประเทศอื่นให้ช่วยออกหมายได้อยู่แล้ว หากรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นผ่านช่องทางที่เหมาะสม ประเทศอื่นย่อมช่วยเหลืออย่างแน่นอน
ภายหลังจากการพิจารณาคดี ประธานบริษัทและหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของไมโครซอฟท์ Brad Smith กล่าวว่าสภาคองเกรสควรต้องดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่ร่างกฎหมาย Cloud Act ที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา
"เราต้องการกฎหมายศตวรรษที่ 21 ในการดูแลเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 กฎหมายที่นำมาใช้ในคดีนี้ถูกประกาศใช้ตั้งแต่ปี 1986 มันไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ที่จะขยายเขตอำนาจไปทั่วโลก หรือศูนย์ข้อมูลของเราในไอร์แลนด์"
ศาลฎีกาจะตัดสินคดีนี้ประมาณปลายเดือนมิถุนายน
ที่มา: MSPoweruser , LA Times
Comments
ถูกต้องครับ ก็เหมือนกรณีแอปแชตมี End-to-End encryption นี่แหละ ถ้าเค้าจะกระทำผิดแล้วรัฐบาลเข้าอ่านข้อความได้เมื่อต้องการ ผู้เตรียมกระทำผิดเค้าก็ไปใช้แอปอื่นอยู่ดี นี่โลกยุคอินเทอร์เน็ตจะเข้าไปใช้บริการไหนความยากก็ไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้น แบบอีเมลนี่แทบจะต่างกันแค่ตอนพิมพ์ url ด้วยซ้ำ
จัดตั้ง Earth Federation ให้ได้ก่อนสิครับ จากนั้นก็ประกาศกฏหมาย พร้อม Reset ปีศักราช ไปใช้ ปี Universal Century แทน
งั้นเรามาตั้งชื่อตัวย่อปีกันก่อนละกันเอาแบบเท่ๆเลย
ผมเริ่มต้นเลย EF.E. ....
ก็อปดื้อๆ =w=
ถ้าคองเกรสตีความว่าขอบเขตประเทศไม่มีผลสามารถบังคับค้นอีเมลในเซิร์ฟเวอร์นอกสหรัฐอเมริกาได้ ในมุมกลับกันประเทศอื่นก็สามารถมีกฎหมายที่บังคับค้นอีเมลที่เก็บในเซิร์ฟเวอร์สหรัฐฯได้สิ