หากถามคนทั่วไปว่าถ้านึกถึงรถยนต์ไฟฟ้าจะนึกถึงแบรนด์อะไร เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึง Tesla เป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตามหากคุณถามคำถามเดียวกันนี้กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ คำตอบที่ได้กลับมาน่าจะแตกต่างกันไป เพราะในจีนมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายสิบเจ้าเลยทีเดียว
แต่แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจีนเจ้าใหญ่ที่กำลังมาแรงและทำยอดขายได้มากที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ BYD บทความนี้จะพาไปรู้จักกับ BYD กับอาณาจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก
รู้จัก BYD - Build Your Dream
BYD Co. Ltd ย่อมาจาก Build Your Dream ก่อตั้งเมื่อปี 1995 โดย Wang Chuanfu ปัจจุบันเป็นประธานบริหาร (president), ซีอีโอ, ประธานบอร์ดของบริษัท และมหาเศรษฐีอันดับที่ 39 ของจีน ธุรกิจแรกเริ่มของบริษัทคือแบตเตอรี่มือถือ ก่อนจะเติบโตขึ้นจนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับมือถือเบอร์ 2 ของโลก
BYD เข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ในปี 2002 จากการซื้อบริษัทรถยนต์ Tsinchuan Automobile Co Ltd เข้ามาเป็นบริษัทลูก และเปลี่ยนชื่อเป็น BYD Auto Co.,Ltd
ในช่วงแรก BYD ยังผลิตและจำหน่ายรถยนต์น้ำมันอยู่ โดยจุดเด่น (?) คือการออกแบบรถยนต์ที่หน้าตาเหมือนแบรนด์จากญี่ปุ่นและยุโรป
BYD F3 รุ่นแรก - ข้างหน้า Altis ข้างหลัง City - รุ่นนี้ได้รับความนิยมและขายดีมากในจีน ภาพจาก Wikipedia (CC BY-SA 3.0)
ปี 2008 รัฐบาลจีนออกนโยบายผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ BYD ตัดสินใจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริดตัวแรกในรุ่น BYD F3DM และได้รับความสนใจในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก จนถึงขนาด Warren Buffet เข้ามาซื้อหุ้นของ BYD บริษัทแม่ถึง 10% (คิดเป็นเงิน ณ ตอนนั้นราว 230 ล้านเหรียญ) เนื่องด้วยตอนนั้นฝั่งสหรัฐและยุโรปยังไม่ให้ความสนใจหรือสามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ออกมาได้เด่นชัด
ส่วนรถรุ่นที่ทำให้ BYD เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือ BYD Qin รถปลั๊กอินไฮบริด เปิดตัวปี 2013 และขึ้นแท่น เป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในจีนในปี 2014 และติดอันดับรถยนต์ปลั๊กอินที่ขายดีที่สุด อันดับ 7 จาก 10 อันดับในปี 2014 ส่วนปี 2015 ยอดขายขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มรถไฟฟ้าปลั๊กอินทั่วโลก ตามหลัง Tesla Model S, Nissan Leaf และ Mitsubishi Outlander PEV ส่วนอันดับ 5 คือ BMW i3
BYD Qin ภาพจาก Wikipedia (CC BY-SA 3.0)
ปีที่แล้ว BYD Tang รถ SUV ปลั๊กอินไฮบริด, BYD Qin และ BYD e6 ที่เป็นไฟฟ้าทั้งคัน มียอดขายติดท็อป 3 ในจีน
- FYI- BYD ตั้งชื่อรุ่นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดตามชื่อราชวงศ์จีนอย่าง Qin (ราชวงศ์ฉิน), Tang (ราชวงศ์ถัง), Song (ราชวงศ์ซ่ง) และ Yuan (ราชวงศ์หยวน)
BYD กำลังขยายอาณาจักรยานยนต์ไฟฟ้า
ปีที่ผ่านมา BYD ขึ้นแท่นเป็นแบรนด์ที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าได้มากที่สุดในจีนด้วยจำนวน 108,612 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ 9% ทำให้ BYD มีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 19%
ทว่าภาพลักษณ์ของรถยนต์สัญชาติจีนในตลาดตะวันตกยังถือว่าไม่ค่อยดีและไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ปีที่ผ่านมาการขยายตลาดนอกจีนของ BYD โดยเฉพาะในเอเชียจะยังเป็นตลาดรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าและแบตเตอรี่เป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้ส่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาทำตลาดนี้
อย่างไรก็ตาม BYD พยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูอินเตอร์มากขึ้นหลายประการ อย่างการจ้าง Leonardo DiCarprio นักแสดงรางวัลออสการ์มาเป็น Brand Ambassador, ดึงตัว Wolfgang Eggar อดีตหัวหน้าฝ่ายออกแบบของ Audi เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบของบริษัท รวมไปถึงเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในโมร็อกโกเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่สะท้อนว่า BYD เตรียมจะบุกประเทศตะวันตกในเร็วๆ นี้
ถามว่ามาตั้งโรงงานในโมร็อกโกเกี่ยวอะไรกับการขยายไปซีกโลกตะวันตก? นั่นก็เพราะโมร็อกโกตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ติดกับสเปน ห่างกันเพียงช่องแคบยิบรอลตาเท่านั้น เป็นที่ตั้งที่สมเหตุสมผลในการขายรถยนต์ในยุโรป โดย Renault และ Peugeot เองก็ตั้งโรงงานในโมร็อกโกเพื่อขายในยุโรปให้เห็นอยู่ก่อนแล้ว
ส่วนการบุกตลาดรถยนต์สหรัฐ ณ ตอนนี้เหมือนจะยังไม่อยู่ในแผนของ BYD เนื่องจากบริษัทมองว่าสหรัฐ ยังเปิดรับรถยนต์พลังงานสะอาดน้อยกว่ายุโรปหรืออินเดีย เนื่องจากค่าน้ำมันในสหรัฐยังค่อนข้างถูก และยังมีประเด็นเรื่องนโยบายกีดกันการค้าของรัฐบาลทรัมป์ขณะนี้ด้วย
ตลาดรถบัส-รถบรรทุกไฟฟ้า ลุยง่ายกว่ารถยนต์นั่ง
นอกจากรถยนต์ BYD ยังมีรถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าที่อยู่ในไลน์สินค้า โดยรถบัสไฟฟ้าเริ่มผลิตครั้งแรกปี 2010 เป็นรถบัสไฟฟ้าเพียวๆ ก่อนจะเริ่มแตกรุ่นตามขนาดของรถบัสมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีที่แล้วขายไปราว 14,000 คันทั่วโลก เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า
รถบัสของ BYD ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากกว่ารถยนต์ ทำให้รถบัสไฟฟ้าของ BYD ได้ไปวิ่งแล้วในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐ, เม็กซิโก, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฮอลแลนด์, บราซิล, ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ไทยเองก็ตาม และตอนนี้ทาง BYD กำลังพยายามขยายตลาดในตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย
เช่นเดียวกับรถบรรทุกไฟฟ้าของ BYD ที่ได้รับการยอมรับจากตะวันตก โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีการใช้งานรถบรรทุกไฟฟ้าของ BYD ค่อนข้างมากเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีสำนักงานและโรงงานตั้งอยู่ อย่างล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว BYD ก็เพิ่งเปิดตัวรถบรรทุกขยะพลังงานไฟฟ้าคันแรกของโลกใน Palo Alto แคลิฟอร์เนีย (หลังบ้านของ Tesla) แทนที่จะเป็นในจีน
SkyRail เมื่อก้าวต่อไปของ BYD คือมองขึ้นฟ้า
BYD ทำยานยนต์มาเกือบหมดแล้วทั้งรถยนต์ รถบัสรถบรรทุก ก้าวต่อไปของ BYD เลยเลือกที่ขึ้นฟ้าด้วย SkyRail รถรางโมโนเรลไฟฟ้าซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2016 และเริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2017 ในเมืองหยินชวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นระยะทาง 5.67 กม.
โครงการ SkyRail เป็นโครงการที่ BYD ใช้เวลาพัฒนามา 5 ปี ใช้เงินค่า R&D ไปราว 5 พันล้านหยวนหรือ 2.5 หมื่นล้านบาท ปีนี้ BYD ก็มีแผนจะสร้าง SkyRail อีกกว่า 20 เมืองทั่วจีน หลังรัฐบาลจีนสนับสนุนโครงการโมโนเรลเป็นระบบเดินรถสาธารณะในเมืองชั้นรอง (second-tier) เพราะทั้งถูกกว่าและใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน เมื่อเทียบกับรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน อย่างในหยินชวนใช้เวลาสร้างเพียง 4 เดือนเท่านั้น มีนักวิเคราะห์เคยวิเคราะห์ว่า BYD น่าจะทำเงินจากโครงการ SkyRail ได้ราว 3 หมื่นล้านหยวน (1.5 แสนบ้านบาท) ในปีนี้
ไม่เฉพาะแค่ในจีน BYD ได้รับสัญญาสร้าง SkyRail นอกประเทศแห่งแรกในจังหวัด Iloilo ของฟิลิปปินส์ เป็นระยะทาง 20 กม. คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2020 ส่วนเมืองลอสแอนเจลิสก็กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับ BYD อยู่ด้วย
BYD vs Tesla การเปรียบเทียบที่เลี่ยงไม่ได้
สุดท้ายเมื่อ BYD ทำรถยนต์ไฟฟ้าก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Tesla ของ Elon Musk ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก บ้างก็ว่า BYD เป็น Tesla Killer บ้างก็ว่าเป็น Tesla แห่งโลกตะวันออก
อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า BYD กับ Tesla นำมาเปรียบเทียบกันตรงๆ ไม่ได้ซะทีเดียว เพราะทั้งสองบริษัททำธุรกิจกันอยู่ในคนละสภาพแวดล้อม, รูปแบบการทำธุรกิจคนละแบบ และที่สำคัญคือแตกต่างกันแม้กระทั่งปรัชญาของบริษัท
แนวคิดของ Elon Musk ในการทำ Tesla เป็นไปในลักษณะบนลงล่าง กล่าวคือเริ่มที่ Roadster รุ่นแพง เพื่อแนะนำรถไฟฟ้าให้คนทั่วไปรู้สึกว่าไม่น่าเกลียดและมีประสิทธิภาพ ในสภาพแวดล้อมที่คนส่วนใหญ่ใช้รถน้ำมันและไม่มีใครสนใจรถไฟฟ้า ก่อนจะทำรุ่นที่ถูกลงอย่าง Model S และ Model X และแมสมากขึ้นอย่าง Model 3 และปีหน้าที่มี Model Y รออยู่ในคิว
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้กำไรต่อคันของ Tesla ค่อนข้างสูง แต่ภาพรวมยังขาดทุนเพราะการลงทุนในการขยายโรงงานและ R&D เป็นหลัก
ตรงกันข้ามกับ BYD ที่เริ่มจากรถยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม ก่อนที่จะเห็นโอกาสในรถยนต์ไฟฟ้าจากทั้ง know-how เดิมที่มี (รถยนต์ + แบตเตอรี่) และการสนับสนุนเชิงนโยบายและงบประมาณจากรัฐบาลจีน ในสภาพแวดล้อมกึ่งบังคับของจีน ที่ต้องหันไปหาพลังงานสะอาด
ขณะที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่แตกต่างจากบริษัทรถยนต์แบบเดิมๆ ประกอบกับ BYD ไม่ได้ให้ความสนใจแต่รถยนต์อย่างเดียว แต่ยังมีรถสำหรับบริการสาธารณะอย่างรถบัส รถบรรทุกและโมโนเรลด้วย ซึ่งเรายังไม่น่าจะเห็น Tesla หันมาทำรถสาธารณะอย่างรถบัสหรือโมโนเรลแข่งกับ BYD ในเร็วๆ นี้
Comments
มาตั้งโรงงานที่ไทยสิ
Monorail นี่ก็คือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวใช่ไหมครับ ? ส่วนที่เรียกว่ารถไฟฟ้าด้วยคำทั่วไปหมายถึงว่ามี 2 รางหรือเปล่า ?
หรือว่าผมเข้าใจอะไรผิด พอดีอ่านแล้วงง ๆ ว่า Monorail ก็ใช้ไฟฟ้าเหมือนกัน มีลักษณะเป็นรถไฟเหมือนกัน แต่ทำไมไม่เรียกรถไฟฟ้า
That is the way things are.
จริงๆถ้าจะไม่สับสนควรเรียกรถไฟฟ้ารางเบาครับจริงๆมันก็มีจาไปกลับแต่ล้อรถไฟฟ้าเป็นยางวิ่งบนรางคอนกรีตรางเดียว ส่วนรถไไฟ้าที่เกให็นอย่างบีทีเอสเป็นรถไฟฟ้ารางหนกหรือรางเหล็กใช้บ้อเหล็กใหญ่กว่าบรรทุกหนักกว่า
ผมรู้จักชื่อ BYD ตอนที่อุตสาหกรรมยานยนต์จีนเริ่มเป็นที่กล่าวถึง ซึ่งในช่วงแรก ทุกแบรนจีนด์ก็โดนล้อว่าเป็นของเลียนแบบของชาติอื่น อย่าง BYD ก็โดนล้อชื่อไปคล้ายกับ BMW จนกระทั้ง BYD ทำรถยนต์ไฟฟ้า ก็ปรากฏชื่อ BYD ในข่าวยานยนต์บ่อยครั้ง แม้จะไม่มีข่าวเรื่องประสิทธิภาพที่โดดเด่นหรือนวัตกรรมใหม่ที่จะไปเทียบกับ TESLA ก็ตาม แต่ในความรู้สึกของผมแล้ว ถ้าเป็นรถยนต์พลังไฟฟ้า BYD เป็นอีกยี่ห้อที่สามารถเอามาเป็นตัวเลือกได้
วัยรุ่นจีนส่วนนึงเปิดใจยอมรับ BYD เพราะจ่ายเท่ากันได้มากกว่ารถญี่ปุ่น
ส่วนคนมีอายุส่วนใหญ่จะซื้อรถยุโรป (VW)
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
กลัวจะเป็นแบบ MG เนี่ยสิ รถราคาไม่แพง แต่ต้องมาซ่อมบ่อย ๆ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ตอนนี้เค้าเน้นตลาด Fleet อยู่ ถ้าใช้ดีจริง ตลาด Fleet เป็นตัววัดคุณภาพรถเลย
เท่าที่เคยนั่ง BYD ในจีน รุ่นล่างๆ ก็พอใช้ได้ครับ
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
โมรอกโก -> โมร็อกโก
สันดาบ -> สันดาป