DARPA เผยแพร่การพัฒนาโครงการ Ground X-Vehicle Technologies (GXV-T) ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยหลายอย่างโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ อย่างแรกคือเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่ภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยต่อการวิ่งของยานพาหนะทั่วไป และอย่างที่ 2 คือการเพิ่มระบบการรับรู้ให้แก่ผู้ขับขี่
หนึ่งในงานพัฒนาของ GXV-T ที่น่าสนใจก็คือระบบอุปกรณ์ล้อรถแบบพิเศษที่เรียกว่า RWTย่อมาจาก Reconfigurable Wheel Trackที่มีจุดเด่นคือล้อรถสามารถเปลี่ยนรูปร่างจากวงกลมแบบล้อทั่วไป กลายเป็นรูปร่างสามเหลี่ยมและใช้การขับเคลื่อนรถด้วยสายพานตีนตะขาบได้ โดยการเปลี่ยนร่างนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วินาที ทั้งยังสามารถทำได้ในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ได้ด้วย
การขับเคลื่อนแบบใช้การหมุนของล้อตามปกตินั้นเหมาะสำหรับการวิ่งบนพื้นผิวที่แข็ง ในขณะที่พื้นผิวที่มีความอ่อนนุ่มกว่า เช่นบริเวณที่เป็นชั้นทรายหนา, เลนตม การขับเคลื่อนแบบใช้สายพานนั้นจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นเพื่อให้ยานพาหนะของกองทัพพร้อมสำหรับการวิ่งฝ่าพื้นผิวทุกรูปแบบ จึงได้มีการพัฒนา RWT ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งานในทุกพื้นที่โดยไม่ต้องเสียเวลาถอดเปลี่ยนล้อ
นอกเหนือจากระบบ RWT แล้ว ทาง DARPA ยังพัฒนาล้อรถแบบที่ติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าอยู่ในตัวล้อแต่ละล้อ ทำให้การควบคุมการหมุนของล้อนั้นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งการควบคุมอัตราเร่ง, การหมุนและการหยุด, แรงบิด และทิศทางการหมุน และยังมีระบบ METS (Multi-mode Extreme Travel Suspension)เป็นช่วงล่างออกแบบพิเศษทำให้รถสามารถวิ่งในบริเวณที่พิ้นผิวทางที่แต่ละล้อของรถสัมผัสอยู่นั้นมีความแตกต่างกันมาก
DARPA ยังอธิบายถึงงานอีกด้านของโครงการ GXV-T ซึ่งก็คือการเพิ่มการรับรู้ของผู้ขับขี่ โดยมีด้วยกัน 3 ระบบดังนี้
- V-PANE (Virtual Perspectives Augmenting Natural Experience)เป็นระบบที่สร้างโมเดล 3 มิติแบบมุมมองบุคคลที่ 3 ทำให้ผู้ขับมองเห็นสภาพพื้นที่โดยรอบตัวรถ รวมทั้งสิ่งกีดขวางหรือวัตถุอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกับรถที่ตนเองควบคุมอยู่
- ORCA (Off-Road Crew Augmentation)เป็นการใช้ระบบ AR แสดงเส้นทางที่รถควรจะวิ่งในพื้นที่ off-road
- สุดท้ายคือระบบหน้าต่างเสมือน ที่ใช้ภาพจากกล้องวิดีโอที่ติดตั้งอยู่ด้านนอกตัวรถร่วมกับข้อมูลจากสัญญาณ LIDAR มาฉายภาพในห้องผู้ขับขี่ที่ปิดทึบ ภาพที่ฉายออกมาจะเป็นภาพที่ผู้ขับมองเห็นเสมือนกับว่าห้องที่ตนเองนั่งอยู่นั้นมีหน้าต่างมองเห็นบริเวณภายนอก เหมาะกับการใช้งานกับรถถังหรือยานรบหุ้มเกราะที่ผู้ขับมองไม่เห็นภาพจริงของพื้นที่นอกตัวรถ หรือใช้กับยานพาหนะไร้คนขับที่ผู้ขับขี่นั่งในห้องควบคุมจากระยะไกล
แม้ว่างานวิจัยพัฒนาของ DARPA โดยหลักแล้วจะใช้เพื่อภารกิจทางทหาร แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีโอกาสที่จะถูกถ่ายทอดมาสู่อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์โดยสารของประชาชนทั่วไปได้สักวัน
Comments
ยังมีข้อดีอีกอย่างที่ไม่ได้บอกคือ ล้อแบบนี้ไม่ต้องกลัวโดนวางเรือใบ เพราะเป็นล้อแบบไม่ต้องเติมลม เหมาะกับพื้นที่เสี่ยง นี่ถ้าได้รวมร่างกับ Dron ที่มีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวข้างทางให้บินนำหน้ารถ แล้วแสดงผลจุดที่มีความเคลื่อนไหวเป็น AR ด้วย เนี่ยแทบจะเป็นรถโรบ็อตกันเลย
ติดปืนกลพร้อมระบบเล็งเป้าอัตโนมัติ หรือสั่งจากระยะไกลได้ ได้รถติดอาวุธไร้คนขับคุณภาพดีเลยทีเดียว
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ยางรถแบบไม่ต้องเติมลม ที่ไม่ใช่ยางตันมีมานานแล้วครับ เพียงแต่มันยังใช้งานในวงจำกัดครับ
น่าเอาไปใช้กับ F1 ดัดแปลงสนามให้วิบาก
Yuri is comming!!!
สัญญา => สัญญาณ