ทีมนักวิจัยจาก Newcastle University และ Centre for Behaviour and Evolution & Institute of Neuroscience ในอังกฤษได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของคน โดยพบว่าการตกแต่งติดลูกตาให้กล่องรับเงินบริจาคนั้นมีผลต่อความรู้สึกของคน ทำให้คนมีแนวโน้มยอมจ่ายเงินเพื่อบริจาคมากขึ้น 48% เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินเทียบกับจำนวนคนที่ผ่านจุดรับบริจาค
ทีมวิจัยใช้เวลา 11 สัปดาห์เพื่อทำการทดลองนี้ โดยนำถังสำหรับใส่เงินบริจาคไปวางไว้ซูเปอร์มาเก็ตบริเวณจุดคิดเงิน 6 จุด โดยถังทั้ง 6 ใบนั้นมีสัญลักษณ์ของซูเปอร์มาเก็ต พร้อมทั้งรูปภาพและข้อความอธิบายวัตถุประสงค์ของการใช้เงินบริจาค ทว่าครึ่งหนึ่งของถังรับเงินบริจาคเหล่านั้นได้รับการตกแต่งติด "ลูกตา" ให้กับมันด้วย โดยนักวิจัยได้ใช้ชิ้นส่วนลูกตาที่เอาไว้ใช้สำหรับงานทำตัวการ์ตูนหรือตุ๊กตา และใช้กระดาษกาวติด "ลูกตา" ที่ว่านี้เข้ากับด้านบนของถัง
ทีมวิจัยจัดการวางถังรับเงินบริจาคแบบปกติและถังที่ติด "ลูกตา" ไว้ให้กระจายตัวกันตามเคาน์เตอร์คิดเงิน 6 ช่อง จากจำนวนช่องคิดเงินที่มีทั้งหมด 9 ช่องในซูเปอร์มาเก็ตนั้น
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมสถิติยาวนาน 11 สัปดาห์ โดยมีการตรวจนับเงินบริจาคในถังรับเงินทุกสัปดาห์ ทีมวิจัยพบว่าจำนวนลูกค้าที่ใช้บริการคิดเงินตรงเคาน์เตอร์ที่วางถังรับเงินบริจาคทั้งแบบปกติและแบบที่ถูกตกแต่งด้วย "ลูกตา" นั้นไม่ได้แตกต่างกันแบบมีนัยยะ แต่ยอดเงินบริจาคในถังรับเงินที่มีลูกตานั้นเยอะกว่าอีกกลุ่ม 48% โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
- ถังรับเงินบริจาคแบบปกตินั้น เฉลี่ยแล้วได้เงินบริจาค 5.48 ปอนด์ต่อลูกค้าซูเปอร์มาเก็ต 1,000 คนที่ผ่านจุดซึ่งวางถังเอาไว้ ในขณะที่ถังแบบที่มี "ลูกตา" ได้เงิน 6.69 ปอนด์ต่อลูกค้าซูเปอร์มาเก็ต 1,000 คนที่ผ่านมัน
- ในช่วงเวลาที่ลูกค้าซูเปอร์มาเก็ตหนาแน่น จำนวนคนหย่อนเงินบริจาคลงในถังที่มี "ลูกตา" นั้นมากกว่าอีกกลุ่มราว 28% แต่ในตอนที่ลูกค้าซูเปอร์มาเก็ตเบาบาง จำนวนคนที่หย่อนเงินบริจาคลงในถังติด "ลูกตา" นั้นยิ่งมากกว่าอีกกลุ่มถึง 59% (หรืออาจสรุปได้ว่า ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่เร่งรีบ ผลลัพธ์จากการติด "ลูกตา" ก็ยิ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าช่วยให้ได้รับเงินบริจาคเพิ่มมากขึ้น)
ภาพซ้ายมือคือถังรับเงินบริจาคที่ตกแต่งด้วยลูกตา ภาพขวาคือถังรับเงินบริจาคแบบปกติที่ถือเป็นตัวแปรควบคุม
ผลสรุปที่ได้จากงานวิจัยนี้เป็นการยืนยัน งานวิจัยของ University of California, Los Angeles ที่เคยมีมาก่อนในปี 2005 ซึ่งสรุปเอาไว้ว่ารูปภาพของ "ลูกตา" นั้นส่งผลกระตุ้น "Prosocial Behavior' (พฤติกรรมเพื่อสังคม) ของผู้คนได้ กล่าวคือทำให้คนเรามีแนวโน้มที่จะกระทำการใดๆ ในทางบวกด้วยจิตสาธารณะ หรือจรรโลงสังคมเพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งตัวอย่างโครงการหนึ่งที่สอดคล้องกับแนวคิดจากงานวิจัยนี้ที่คนไทยหลายคนน่าจะพอจำได้ก็คือโครงการ "ตาวิเศษ" ที่ช่วยรณรงค์ให้คนใส่ใจเรื่องการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง
นักวิจัยระบุว่า "ลูกตา" ทำให้คนเกิดความรุ้สึกว่ากำลังถูกจับตามองหรือกำลังได้รับความสนใจ ซึ่งทำให้ผู้คนนั้นมีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งดีเพื่อสังคมได้ง่ายขึ้น และนี่อาจเป็นงานวิจัยด้านพฤติกรรมและจิตวิทยาที่นำไปต่อยอดกับการพัฒนาหุ่นยนต์ในอนาคตได้ เป็นต้นว่าการติด "ลูกตา" ให้กับหุ่นยนต์ก็จะทำให้คนที่พบเห็นมีความรู้สึกในเชิงบวก และพร้อมจะให้ความร่วมมือในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์มากกว่าที่จะรู้สึกหวั่นกลัวหรือหวาดระแวงมัน
ที่มา - Engadget , เอกสารงานวิจัย
Comments
นึกถึงโครงการตาวิเศษ
อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ
ผมเสียดายโครงการตาวิเศษเหมือนกัน น่าจะทำเป็นโครงการระยะยาวจนถึงปัจจุบันไปเลย มันติดหูติดตาดีนะ น่าจะปลูกฝังความสนใจเรื่องขยะให้เด็กๆ ได้เยอะ
ตาวิเศษเห็นนะ
That is the way things are.