ข่าวใหญ่ของวงการไอทีสัปดาห์นี้ย่อมเป็นเรื่อง แอปเปิลย้าย Mac จากสถาปัตยกรรม x86 มาเป็น ARM โดยเปลี่ยนมาใช้ซีพียูออกแบบเองที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า Apple Silicon (ยังไม่มีข้อมูลของซีพียูตัวที่จะใช้จริงๆ)
ประกาศของแอปเปิลทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย ซึ่งแอปเปิลเองก็ตอบคำถาม (บางส่วน) ไว้ในเซสซันย่อยของงาน WWDC 2020 เราจึงรวบรวมรายละเอียดมาให้อ่านกันครับ
ทำไมต้องย้ายจาก x86 เป็น ARM
แอปเปิลอธิบายเรื่องนี้ไว้ใน Keynote ตอนเปิดงาน WWDC 2020 ว่าเหตุผลที่เปลี่ยนจากซีพียูสถาปัตยกรรม x86 มาเป็น ARM มีทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่
- ประสิทธิภาพต่อพลังงาน
- ฟีเจอร์ด้านฮาร์ดแวร์
- compatibility ของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดของบริษัท
ถึงแม้แอปเปิลสร้างชื่อขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ตระกูล Macintosh มายาวนานหลายสิบปี แต่ในรอบ 10 ปีให้หลังก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระเอกกลายเป็น iPhone ที่มียอดขายสูงกว่ากันหลายเท่า จนหลายคนอาจรู้สึกว่า Mac ถูกทอดทิ้ง ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะแอปเปิลหันไปโฟกัสที่ iPhone มากกว่าจริงๆ
ประสิทธิภาพต่อพลังงาน
การที่แอปเปิลหันไปโฟกัสที่ iPhone (และขยายมายังอุปกรณ์ข้างเคียงอย่าง iPad และ Apple Watch) ทำให้นวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์บน iPhone พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะตัว SoC ตระกูล Apple A ที่ต้องยอมรับว่าแอปเปิลทำได้ดีมาก ในแง่ประสิทธิภาพก็สามารถเอาชนะคู่แข่งรายอื่นในท้องตลาด (เช่น Snapdragon) ได้สบายๆ
พัฒนาการที่ต่อเนื่องของชิปตระกูล Apple A (ที่สามารถ "เป็นไปได้" ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจคือยอดขาย iPhone/iPad รวมกันหลักพันล้านเครื่อง) ทำให้มิติเรื่อง "ประสิทธิภาพต่อพลังงาน" (ไม่ใช่ "ประสิทธิภาพ" เพียงอย่างเดียวที่ x86 ยังทำได้ดีกว่า) ดีขึ้นมากจนถึงระดับที่สามารถใช้ทดแทนซีพียูเดสก์ท็อปแล้ว
จากแผนภาพของแอปเปิลเองก็แสดงให้เห็นว่าชิป Apple Silicon เหนือกว่าชิปในท้องตลาด ตรงที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับเดสก์ท็อป ในอัตราการใช้พลังงานใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊ก (ในแง่การใช้งานก็ตีความได้ว่า MacBook จะมีแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้นมาก ในประสิทธิภาพเท่าเดิม)
นอกจากเรื่องประสิทธิภาพต่อวัตต์แล้ว ซีพียูสาย ARM ที่ใช้กันบนมือถือยุคหลังๆ ยังมีแนวคิดเรื่อง asymmetric cores ที่มีคอร์หลายรูปแบบสำหรับงานแต่ละประเภท (ที่เราคุ้นกันในชื่อ big.LITTLE บ้าง คอร์แบบ 4+4 หรือ 6+2 บ้าง) ทำให้ประหยัดพลังงานมากกว่าซีพียูแบบ x86 ที่ทุกคอร์มีสมรรถนะเท่ากัน
แอปเปิลจึงให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนมาใช้ซีพียูที่ออกแบบเอง จึงมีประสิทธิภาพต่อพลังงานดีกว่าเพราะปัจจัยนี้ด้วย งานเล็กๆ ก็ให้คอร์เล็กๆ ทำ ไม่ต้องเปลืองไฟใช้คอร์ใหญ่ทำแบบ x86 ในปัจจุบัน (หมายเหตุ: อินเทลเพิ่งเปิดตัว Lakefield ที่ใช้แนวคิดคอร์เล็ก-ใหญ่ แต่คงต้องรออีกสักพักใหญ่ๆ กว่าจะได้เห็นการใช้งานจริง)
ตรงนี้คงต้องรอชิป Apple Silicon วางขายจริงๆ ภายในปีนี้ว่าทำได้ตามที่โม้ไว้แค่ไหน แต่จาก ฮาร์ดแวร์ทดสอบของแอปเปิลเอง (DTK) ที่ใช้ A12Z SoC ตัวเดียวกับใน iPad Pro 2020 ก็คิดว่าผลิตภัณฑ์จริงไม่น่าจะต่างกันมากนักในเชิงสถาปัตยกรรม
เปลี่ยนเพราะฟีเจอร์จาก SoC ที่ออกแบบเอง
นอกจากปัจจัยเรื่องประสิทธิภาพ/พลังงานแล้ว วงการสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาในช่วงหลังๆ ยังมีชิปหรือนวัตกรรมอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานเฉพาะทางบางอย่าง เช่น ชิปถอดรหัสวิดีโอ ชิปเร่งความเร็วคริปโต ชิปประมวลผล AI ฯลฯ ดังที่เห็นในรูปแรกสุดของบทความนี้
แอปเปิลอธิบายว่าเครื่อง Mac ในปัจจุบันประกอบด้วย CPU+GPU ตามมาตรฐาน และชิปพิเศษที่ออกแบบเองคือ ชิป T2 ที่เอาไว้เก็บข้อมูลลับ (secure enclave) และช่วยประมวลผลงานเฉพาะทางบางอย่าง เช่น สัญญาณภาพหรือความเคลื่อนไหว
แผนการของแอปเปิลคือต้องการรวมทุกอย่างไว้บน SoC ชิ้นเดียว เพื่อประโยชน์ในเชิงสถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์ (เท่าที่ยกตัวอย่างมาคือการทำ unified memory ไม่ต้องแยกแรม CPU/GPU แล้วส่งข้อมูลวิ่งไปมา) และต่อยอดฟีเจอร์เฉพาะทาง (เช่น ตัวถอดรหัสวิดีโอ หรือชิปประมวลผล AI) โดยนำชิปที่มีอยู่แล้วบน iPhone/iPad มาใช้ในเครื่อง Mac ด้วย ไม่ต้องลงทุนใหม่
ฟีเจอร์อื่นที่แอปเปิลพูดถึงคือ ความปลอดภัยที่ระดับฮาร์ดแวร์ ซึ่งมีอยู่แล้วบน iPhone เช่น การคุ้มครองเคอร์เนล ไม่อนุญาตให้รันส่วนขยายของเคอร์เนล (kernel extension) โดย Mac ยุคใหม่จะต้องเขียนไดรเวอร์ผ่าน DriverKit ที่อยู่ใน user space แทน
Device isolation การแยก input–output memory management unit (IOMMU) สำหรับฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้น ไม่ต้องมาใช้ IOMMU เดียวกัน
ป้องกันสถานะของหน่วยความจำเป็น write (W) หรือ execute (X) พร้อมกัน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของแรม แต่อาจมีปัญหากับ JIT compiler บางตัวที่ต้องใช้งานฟีเจอร์นี้ ซึ่งแอปเปิลแก้ปัญหาด้วยการสลับสถานะ R/X ให้อย่างรวดเร็วแทน
ถ้าลองสังเกตประกาศของแอปเปิลแทบไม่มีคำว่า "เปลี่ยนเป็น ARM" เลยนะครับ แอปเปิลใช้คำว่า "Apple Silicon" ทั้งหมด เพราะความหมายของมันคือการเปลี่ยนจากซีพียู x86 ทั่วไป (Intel) มาเป็นซีพียูที่แอปเปิลออกแบบเอง (ได้ประโยชน์จากเรื่องพลังงาน+ฟีเจอร์) ไม่ใช่การเปลี่ยนมาใช้ซีพียู ARM ทั่วไป (ที่ได้ประโยชน์เฉพาะเรื่องพลังงานอย่างเดียว)
หมายเหตุ: เอาเข้าจริงแล้ว ไมโครซอฟท์ก็มีแนวทางคล้ายกัน เห็นได้จาก Surface Pro X ที่ชิปพิเศษ Microsoft SQ1 ที่ออกแบบร่วมกับ Qualcomm เพียงแต่ไมโครซอฟท์ไม่ได้ลงทุนกับซีพียูของตัวเองมายาวนานเท่ากับแอปเปิล ผลที่ได้รับกลับคืนมาจึงไม่ชัดเจนเท่า
ความเข้ากันได้ของ macOS และ iOS
ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่อง compatibility เมื่อแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ทั้งหมดของแอปเปิลกลายเป็น ARM การพอร์ตโค้ด ฟีเจอร์ หรือแอพจาก iOS (ซึ่งปัจจุบันถือเป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่กว่า macOS มากๆ ในแง่จำนวนผู้ใช้และจำนวนแอพ) จึงทำได้ง่ายขึ้นมาก
แอปเปิลเองก็ไม่ต้องมาคอยพะวง ดูแลแยก 2 สถาปัตยกรรมขนานกันไป (และทำให้ Mac ถูกทอดทิ้งมานานเพราะ iOS สำคัญกว่า ได้ทรัพยากรไปมากกว่า) พอยุบเหลือสถาปัตยกรรมเดียว ฟีเจอร์ของ Mac ย่อมใกล้เคียงกับ iOS มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ถูกทิ้งห่างเหมือนเดิม
ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน
การเปลี่ยนผ่านจาก x86 มาสู่ ARM รอบนี้ไม่ใช่เรื่องเจ็บปวดมากนัก เพราะแอปเปิลมีประสบการณ์ตรงจากการเปลี่ยน PowerPC มาเป็น x86 เมื่อ 15 ปีก่อน ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านจึงไม่ต่างกัน
แนวทางเปลี่ยนผ่านของแอปเปิลมี 2 แบบขนานกันไปเช่นเดิม ได้แก่
- Universal Binary การคอมไพล์โปรแกรมเป็นทั้ง x86 และ ARM รองรับฮาร์ดแวร์ทั้งสองแบบ
- Rosetta การแปลงไบนารี ARM ไปรันบนฮาร์ดแวร์ x86 จำลอง
แอปเปิลย่อมอยากให้นักพัฒนาแอพเลือกใช้วิธี Universal มากกว่า เพราะคอมไพล์เป็น ARM แบบเนทีฟโดยตรง ซึ่งต้องอาศัยนักพัฒนาปรับแก้แอพใหม่ด้วย Xcode 12 ขึ้นไป แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ (เช่น ซอฟต์แวร์ตัวนั้นไม่พัฒนาต่อแล้วแต่ยังมีคนใช้) ก็ยังมีทางออกคือ Rosetta แม้ประสิทธิภาพจะด้อยลงไปบ้าง
ผมคิดว่าการเปลี่ยนผ่านของแอปเปิลรอบนี้น่าจะราบรื่นกว่ารอบที่แล้วมาก เพราะแอปเปิลมีประสบการณ์แล้ว รู้ว่าอุปสรรคอยู่ตรงไหน, คอมพิวเตอร์ยุค 15 ปีให้หลังพัฒนาขึ้นมาก มีทรัพยากรเหลือเฟือสำหรับการรันอีมูเลเตอร์ และที่สำคัญคือตัวสถาปัตยกรรม ARM มีความต่างจาก x86 น้อยกว่า x86 ต่างจาก PowerPC
ตัวอย่างที่แอปเปิลยกมาคือลำดับการวางตำแหน่งเลข (endian) ของ x86 เหมือนกับ ARM ทำให้ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องสลับตำแหน่งไบต์เหมือนตอนย้ายจาก PowerPC มาเป็น x86
แต่การเปลี่ยนผ่านก็ย่อมไม่ราบรื่นทั้งหมด 100% เพราะความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมย่อมมีอยู่ เช่น Rosetta ไม่รองรับชุดคำสั่งประมวลผลเวกเตอร์ (AVX) ที่มีในซีพียูอินเทล (เพราะ ARM ไม่มีชุดคำสั่งนี้โดยตรง) หรือขนาดของ page file ที่ไม่เท่ากัน (4kB บนซีพียูอินเทล, 16 kB บนซีพียูแอปเปิล)
คำแนะนำของแอปเปิลคือ พยายามอย่าใช้โค้ดที่ระบุสถาปัตยกรรมของซีพียูโดยตรง (เช่น กำหนดเงื่อนไข if ตามสถาปัตยกรรม x86/arm64) หรือเรียกใช้ชุดคำสั่งของซีพียูโดยตรง (เช่น ประมวลผลคำสั่งทางคณิตศาสตร์ด้วย AVX) โดยให้ทำงานผ่านเฟรมเวิร์คของ OS แทน
แอปเปิลบอกว่าพยายามแก้ปัญหาการข้ามสถาปัตยกรรมด้วยเฟรมเวิร์คให้มากที่สุด เช่น งานกราฟิกให้รันผ่าน Metal หรืองานปัญญาประดิษฐ์ให้เรียก Core ML แล้วเฟรมเวิร์คจะไปจัดการเรื่องสถาปัตยกรรมซีพียูให้เอง โดยที่นักพัฒนาไม่ต้องสนใจว่าข้างใต้เป็น x86 หรือ ARM เพราะช่วงแรกๆ จะต้องรองรับทั้งสองสถาปัตยกรรมอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่น่าจะเจอแน่ๆ คือการเรียกใช้ไลบรารีที่คอมไพล์เป็นไบนารีมาแล้ว (pre-compiled binary) ซึ่งนักพัฒนาอาจไม่มีทางเลือกมากนัก ในช่วงแรกๆ คงไม่มีไบนารีเวอร์ชัน arm64 ให้ใช้งาน ตรงนี้คงต้องอาศัยระยะเวลาในการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไลบรารีไปสู่ ARM
สุดท้าย แอปเปิลย้ำว่าการพอร์ตแอพจาก x86 เป็น ARM จำเป็นต้องรันทดสอบบนฮาร์ดแวร์ Apple Silicon จริงๆ เสมอ แปลว่านักพัฒนาควรต้องหาฮาร์ดแวร์มาทดสอบกัน ไม่ว่าจะเป็นชุด DTK ในช่วงแรก (ที่มีค่ายืม 500 ดอลลาร์) หรือซื้อ Mac เครื่องใหม่ที่เป็น Apple Silicon เมื่อวางขายจริงแล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ
- การเปลี่ยนผ่านน่าจะค่อนข้างราบรื่น สำหรับแอพทั่วๆ ไปที่ไม่มีชุดคำสั่งพิเศษที่โยงกับซีพียู
- แอพเฉพาะทางหน่อยหรืออิงกับซีพียูมากหน่อย เช่น เกม แอพสายวิทยาศาสตร์ หรือแอพที่เก่ามากๆ ไม่ได้อัพเดตต่อแล้ว ก็คงมีปัญหาอยู่ดี
- แอปเปิลย่อมจับมือกับผู้พัฒนาแอพสำคัญๆ อย่าง Microsoft Office หรือ Adobe ดังที่เห็นเดโมใน Keynote
- รายละเอียดของ Apple Silicon ยังมีไม่เยอะนักในตอนนี้ คงต้องรอช่วงที่สินค้าจริงเปิดตัว
- การเปลี่ยนผ่านย่อมใช้เวลาพอสมควร ใครที่มีประสบการณ์ซื้อ Mac Intel ในช่วงแรกๆ มาแล้วคงรู้ซึ้งกันดีว่า "รอนานอีกสักหน่อยแล้วค่อยซื้อของใหม่จะดีกว่า"
ข้อมูลเพิ่มเติม
นักพัฒนาแอพสาย Mac สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก
Comments
แล้วก็เป็นสิ่งที่ Apple ทำได้ดีเสมอมาคือการบีบบังคับให้คนเปลี่ยนใหม่ตามที่ต้องการ dev ต้องอัปเดตแอปตามให้ได้ ในขณะที่ Windows รองรับแอปเก่าๆ ได้ค่อนข้างมาก (และไม่ได้ในอีกส่วนนึง) ก็ยังโดนด่าเละเทะกันตลอด
ซึ่งมันก็ดีนะ แบบครั้งนี่ถ้าผมเป็น Apple User นี่ดีใจและตื่นเต้นแย่เลย ขนาดตอนนี้ไม่มีเครื่องใช้ก็ยังตื่นเต้นอยากเห็นว่าจะออกมาเป็นยังไงเลย
แต่ก็ยังคิดเหมือนเดิมคือไม่อยากให้อะไรๆ ไปกองอยู่กับคนกลุ่มเดียวครับ คงไม่ได้ไปใช้เป็นหลักล่ะนะ
ก็จะได้รู้กันซักทีว่า arm จะไปได้ดีแค่ใหนถ้าเทียบกับ intel amd ถ้าไปได้สวยอาจได้เห็นเจ้าอื่นจับมือ ms ทำarmมาแข่งกับ intel amd บ้าง
ส่วนตัวคิดว่าก็คงต้องรออีกพอสมควรกว่าจะเข้าที่ ด้วยความยืดอยุ่นของ arm เองอยากใส่ตัวเร่งประมวลผลช่วยอะไรก็ใส่ได้หมดแต่จะใส่อะไรเพิ่มหรือพัฒนาของเดิมให้ทำงานได้เร็วขึ้นก็ต้องใช้เวลาอยากรู้จริงๆว่า apple จ่ายให้ arm ปีละเท่าใหล่ถ้าซื้อหุ่นบริษัทarmตอนนี้อาจจะหวังผลได้ถ้าarm pc เกิด
กว่าจะลงตัวแบบพอใช้งานได้ก็ปลายปี 2021 เลยมั้ง เครื่องที่ใช้ CPU ARM Mac (Gen2) ออกพอดี หนูลองยาช่วงแรกคงได้บ่นเรื่อง Bug กระจายกัน
จะรอดูสายทำดนตรี กับตัดต่อเสียง [Digital Audio Workstation] ว่าหากต้องใช้ร่วมกับปลั๊กอินที่ยังมีผลิตอยู่ หรือแอปพลิเคชั่นที่แปลงจาก x86 เดิมมาตัวใหม่ได้ จะดีเทียบเท่าตอนที่ใช้ของ Intel มั้ย น่าสนใจจริงๆครับ
ส่วนสายเกม ก็ไปคาดหวังกันเอาเองว่าจะพอร์ตเกมลง Apple Silicon แล้วคุ้มกับคนใช้ Mac และเจ้าของเกมหรือไม่ หรือดีสุดอาจพอร์ตทีใช้ได้ทั้งบน Mac/iMac/Macbook/iPhone/iPad/Apple TV ได้ คงเจ๋งน่าดู
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
คงมีเกมบน Apple Arcade เป็นแนวทางนะครับ ที่เล่นได้ทุกอุปกรณ์ตอนนี้
จริงๆส่วนตัวมองว่าถ้าทำสำเร็จ มีแววรุ่งสูงมาก x86 มันโบราณมาก Windows 10 ออกมากี่ปีแล้ว ยังไปได้ไม่สุดทางเลย พื้นหลังที่เป็น x86 มันก็ยังซ่อนๆอยู่ในหลายๆเมนู
เอาจริงๆ Setting และ Control Panel ต่างๆใน Windows 10 เป็นความล้มเหลวในด้านการออกแบบ UI/UX มากๆ ซ้ำซ้อนกันไปหมด เหมือนยังทำไม่เสร็จก็เอาออกมาขายแล้ว
ไหนจะเรื่องประสิทธิภาพที่หลังๆเหมือนตัว ARM ดูจะมีพลังประมวลผลเทียบกับไฟฟ้าที่ใช้ดีกว่ามาก ถ้าใช้ ARM แล้วจ่ายไฟให้เต็มๆแบบ x86 ไม่รู้พลังจะขนาดไหน แล้วยิ่ง Apple ทำเองตั้งแต่ SoC มาจนถึง App เลยนี่น่าจะโชว์พลังได้สุดมากๆ
ส่วนเรื่องแอพ ผมคิดว่ากลุ่มคนที่ใช้แมคจริงจังอยู่แล้วไม่ค่อยกระทบแน่ๆ แต่กลุ่มไฮบริดน่าจะกระทบหนักที่สุด ส่วนตลาดเกมส์อาจจะไม่หลากหลายเท่าพีซีเพื่อการเล่นเกมอยู่แล้วแน่ๆ แต่ถ้ามองมุมคนเล่นเกมแนว Apple ก็อาจจะชอบทิศทางใหม่มากขึ้น ในมุมของ Dev ทำเกมมาบน Apple Platform เหมือนทำลง Desktop Mobile Console ได้ทุกอย่างในเวลาเดียวกันเลย มีแค่ Apple เจ้าเดียวในตอนนี้ที่แกร่งพอจะทำได้ขนาดนั้น
เดี๋ยว ๆ บอก x86 โบราณ แต่ตอน x86 32-bit เปิดตัวนี่ก็ปีเดียวกับ ARM เลยนะ คือ ARM ไม่ใช่ architecture ใหม่อะไรขนาดนั้นนะคุณ มันดูใหม่กว่าแค่เพียงเพราะคนเพิ่งรู้จัก ARM แค่นั้น แต่ความจริงคือมันเกิดมานานแล้ว แค่ x86 เกิดก่อนเพราะถูกเอาไปใส่ในคอม ส่วน ARM ก็เกิดได้เพราะมือถือ
มันน่าจะเป็นคนละเรื่องกันนะครับ สถาปัตยกรรม กับ UI
+1
เอิ่ม การออกแบบซีพียูมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ขืนจ่ายไฟเทียบเท่า x86 ให้ ARM ชิปไหม้ก่อนแน่ๆ
ส่วนเรื่อง UI มันเกี่ยวอะไรกับสถาปัตยกรรมซีพียูหนอ
งง
คนละเรื่องเดียวกันแล้วครับ
ลองใช้ Windows 10 on ARM ไหมครับ จะโทษ x86 อยู่อีกไหมครับ ฮ่าๆ
เห็นด้วยเลยครับ เอาสถาปัตยกรรมที่อยู่ซีพียู x86 ไปซ่อนไว้ในเมนูนี่ใช้ไม่ได้เลยครับ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหยุดทำแบบนี้ซะที
จะไม่ให้เกลียดได้ยังไงไหว เอาฮาร์ดแวร์ไปซ่อนในเมนูอ่ะคิดดู!
5555555
UI แอปเปิ้ลนี่ เค้าว่ามันเหมือน Windows 3.1 แต่สวยกว่า (และมี Konfabulator ในตัว)
ส่วนกลุ่มคนใช้แม็คนี่จะโดนมั้ย พวกที่ใช้แอปสายโปรระยะแรกน่าจะโดนค่อนข้างหนักครับ (ยกเว้นพวกที่ใช้ Final Cut Pro กับ Logic Pro Audio) เพราะแอปพวกนี้น่าจะใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างนาน อย่าง ProTools นี่ตอนนี้ยังไม่รองรับ MacOS ตัวปัจจุบันเลยมั้ง (และพวกนี้ซวยตลอด คือ Mac ออกอัพเดตเวอร์ชันใหม่ที ก็พังที ต่างกับ Windows ที่แทบไม่เคยมีปัญหาเลยในระยะสิบปีที่ผ่านมา)
สาย Adobe นี่ ผมไปนึกถึงสมัย Rosetta มีคนบ่นค่อนข้างเยอะนะตอนนั้น
Pro Tools เห็นในกลุ่มผู้ใช้ในต่างประเทศบ่นกันระงมเลย ตอนที่ไม่รองรับคือใช้งานลำบากมาก เพิ่งมารองรับตัว Catalina ได้สักพักใหญ่ๆก็ตอนเวอร์ชั่น 2020.3 / 2020.5 (ยังมีปัญหากับ Catalina 10.15.4 ที่ยังใช้ไม่ได้ และบางฟังก์ชันที่ยังเป็น 32 Bit อยู่ก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน เช่น import mov,m4a แบบ VFR หรือทำการ Bounce to Quicktime ก็ทำไม่ได้ครับ ฯลฯ) แต่ Big Sur ยังไม่ทราบว่ามีคนลองกันรึยังนี่แหละ
ปล.ผมใช้ Pro Tools บน Windows 10 มาตลอด (เวอร์ชั่น 2019.12) หงุดหงิดแค่เรื่องที่หา Quicktime มาทดแทนไม่ได้ ต้องทนใช้เวอร์ชั่น 7.7.9 ไม่งั้นจะ import mp3,mp4,mov,aac และ export เป็น mp3,mov ไม่ได้ครับ นอกนั้นโดยรวมคือแทนบน Mac ได้สบายๆ ส่วนเวอร์ชั่นใหม่ๆ (2020.3/2020.5) กลับกินสเปคมากกว่าเดิมเท่าตัว รันปลั๊กอินมากๆแบบแต่ก่อนไม่ไหว เลยต้องถอยเวอร์ชั่นลงมาครับปล2. ปกติคนในกลุ่มส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอัพข้ามเวอร์ชั่นกันสักเท่าไหร่ เพราะกลัวเรื่องปัญหาจุกจิกแบบที่ผมบอกไปนี่แหละครับ
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
เอาจริง ๆ ผมด่า Pro Tools นะ เพราะว่าอัพช้าตลอด แต่ว่ายกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเพราะมันเป็นทูลที่เหมือนเป็นมาตรฐานวงการดนตรี
เท่าที่คุย ๆ กับคนรู้จัก แต่ละคนจะพูดประมาณว่า ถ้าไม่มีเหตุผลให้อัพจะใช้เวอร์ชันเดิมไปยาว ๆ เลยครับ เพราะว่าไม่อยากเสี่ยงอัพแล้วเปิดโปรแกรมไม่ได้
ทั้งนี้โปรแกรมที่อัพเดตแล้วใช้งานต่อได้มีปัญหาน้อยที่สุดต้องยกให้ Logic คือถ้า Logic มีปัญหานี่ โปรแกรมอื่นไม่ต้องถามละ
ใช่ครับ อัพช้าตลอดไม่ว่าจะฝั่ง Mac หรือ Windows ที่ใช้อยู่ ทุกวันนี้ผมยังไม่ได้ตัวที่ใช้เล่นหรืออ่านโค้ดวิดีโอพวก Quicktime ต่างๆแทน Quicktime เดิมที่หมดระยะซัพพอร์ตใน Windows แล้วเลย ทั้งที่เคยบอกว่าจะพัฒนามาทดแทนมาตั้ง 2 ปีแล้ว ยังรอคอยจนเหงือกแห้งละ แถมเวอร์ชั่นหลังๆเพิ่งเพิ่ม Folder Tracks มา (2020.3/2020.5 ~) แต่แลกกับการกินทรัพยากรเครื่องถึงสองเท่าจากเวอร์ชั่นเดิม (2019.12)
มาตรฐานวงการดนตรี (และ Post Production สำหรับสายตัดต่อเสียง) แต่ทำตัวช้าเป็นเต่าต้วมเตี้ยม ปวดกบาลจริงแต่ก็ต้องทนใช้ครับ
แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที
เท่าที่ลอง test ดู 32 Bit ของ Mac OS ระยะปลอดภัยไปได้แค่ sierra เองครับ high sierra ชักเริ่มเด้งล่ะ ไม่แน่ใจว่ามันเด้งเพราะเปลี่ยน layer หรือคำสั่งมาไม่ครบเหมือนกัน - -"
เข้าสู่ยุคใหม่ที่แท้จริง
หวังว่าจะดีกว่า เพราะยังไม่ตัวเลขออกมาให้เห็น
มือใหม่!! ใหม่จริงๆนะ
ด้วยเหตุนี้แหละ ผมเลยทำเกมบนเทคโนโลยีเว็บทั้งหมด...
ผมเน้นเว็บแอปแต่ก็เพลียใจอยู่เรื่อยๆ นะครับ ยิ่งเวลาเจอ Safari ที่หนีไม่ได้แบบ iOS, iPadOS
แล้วเจอแบบนี้ไปไม่รู้ว่า Safari บน macOS จะโดน force เมื่อไหร่ด้วยซ้ำ
ในฐานะคนดู เชียร์ให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ผ่านไปอย่างราบรื่นครับ
..: เรื่อยไป
จะได้เป็นระบบปิด ที่สมบุรณ์ พึ่งพาตัวเอง
Steam จะยังลงได้อยู่ไหมนะ แล้ว DotA2 ผมล่ะ
late 2012 i7 ของผมนี่เปิดแต่ละทีแทบจะต้มกาแฟได้ กราฟิกระดับ SIS6326 โหลดแต่ละทีแทบจะขาดใจ
หวังว่า ARM คงจะแก้ปัญหานี้ได้นะ
เราคือเพื่อนกันครับ lol
ไม่รอด Valve ไม่เห็นตลาดชิปมือถือมาแต่แรกแล้ว ขนาด Artifact, Dota Underlords ยังทำแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ แล้วการพอร์ตไบนารี ARM ของ Steam ที่ยิ่งอ้างอิงไลบรารี x86 (32 บิต) อยู่นี่ไม่เหลือ
อาจมีบางเกมที่เข้ามา แต่ไม่น่าใช่พวกเกมพีซีอย่าง Dota 2
"SIS6326"...ไม่ได้ยินมาหลายปี คิดถึงวันวานมากครับ
ผมนึกถึงคอมโรงเรียนประถมเลยครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
หลังๆไม่ค่อยเชื่อว่าจะมีอะไรเหนือตลาดมากๆออกมาได้ รอดูดีกว่า
หวังว่าคุกกระจกจะกว้างขึ้นอีก
พึ่งถอย iMac มาใหม่ เจอแบบนี้ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อได้อีกกี่ปี ในเมื่อหลายๆอย่างก็ขยับไป ARM เรื่อยๆ โดยเฉพาะ macOS Big Sur หลัง OS รุ่นนี้ไปแล้วจะยังรองรับ x86 อยู่รึเปล่านี่สิ
macos น่าจะซัพพอร์ต x86 อีกยาวครับ จนกว่าประกาศเครื่องที่ใช้ x86 ว่า obsolete ไปแล้ว นั่นคือตัดหาง x86 เลยปัจจัยหลักคือคนไม่ได้ใช้ macos ทำงานหรอกครับ แต่ใช้โปรแกรมที่ทำงานบนแมคต่างหาก ถ้าผู้พัฒนาไม่สนใจจะทำให้รองรับเครื่องรุ่นเก่าก็คงเสียลูกค้าไปเยอะ
โปรแกรมเด่นๆที่คนใช้เยอะบน Mac นี่ส่วนนึงก็ของ Apple เองซะด้วย เสียวๆอยู่นะ
คิดว่าตราบใดที่ยังเขียนโปรแกรมบน Xcode จะโดนบีบทางอ้อมครับ เช่นช่วงแรกห้าม Compile App ใหม่ที่ไม่ Support ARM แล้วช่วงหลังตัว Xcode ก็จะตัดตัว debug x86 ออก
แต่คิดว่ากว่าจะตัด x86 ไปได้เลยอย่างเร็วน่าจะประมาณ 5ปีมั้ง เหมือนตอนย้าย 32bit มา 64bit
ผมว่าสามปีหลังจากนั้น ซัพพอร์ตน่าจะลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียว แล้วห้าปีคือเหลือศูนย์ครับ
ผมก็เพิ่งถอย mbp 13 นิ้วมาเหมือนกัน ตอนซื้อก็รู้แหละครับว่ามันจะต้องออก ARM เพราะข่าวมีมานานแล้ว แต่ก็คิดปลอบใจตัวเองว่ามันต้องซัพพอร์ตอินเทลไปพักใหญ่ๆแหละ จนกว่าบริษัทหรือโปรดักชั่นเฮ้าส์ใหญ่ๆที่เค้าใช้พวก mac pro อะไรพวกนั้นโอเคกับการเปลี่ยนไปใช้ ARM
ผมว่านะ น่าจะไปได้ด้วย ECO system ของ Apple
ส่วนของวินโดว์แอปของตัวเองไม่ได้มีปัญหานะครับ
ต้องบอกก่อน เราจะเห็นว่า ทั้ office ,media player ต่างๆ, movie maker
ไม่ได้มีปัญหา ปัญหาของ windows คือโปรแกรมเฉพาะทางไลเซน ใหญ่ๆ หรือ ฟรีที่หยุดพัฒนาแล้ว
ซึ่ง base on x86
ผมเดา MAC arm น่าจะจบอยู่ที่ระดับเดียยวกับ Chrome book
ซึ่งจะแมสกับผู้ใช้ทั่วไปมากกว่าถ้ากดราคาลงได้ไม่เกิน 30k
แต่จะ play maker คือโปรแกรมเจ้าใหญ่ๆ เช่น
Google (ผมว่าพี่แกโดดมา 100%) MS (อันนี้ก็น่าจะ 100%)
รองก็พวก ADOBE, AutoCAD, Social Apps etc.
อยากให้กระแสนี้ทำให้ Windows ARM ได้อานิสงค์จากการที่บริษัทใหญ่ที่ต้องพอร์ตโปรแกรมของตัวเองไป แล้วเผื่อให้ Windows บ้างจะได้ใช้ Window laptop แบตอึดแบบไม่แพงได้บ้าง
แต่ปัญหาก็อยู่ที่ MS เหมือนเดิมครับ ทำอะไรก็ช้า กั๊กไปหมด และไปไม่สุดสักอย่าง สักพักมันจะกลับไปเหมือน W10M กับ RT อีกตามเคย ของดีๆ ทำพังหมด
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
วินโดว ไม่ได้ช้า แต่ จะขยับที มันกระทบไปหมด ผุ้พัฒนาก้ไม่ตาม คนผลิตฮาร์ดแวร์ก็ไม่เล่นด้วย
สงสัยอย่างแล้วฝั่ง Mac Pro เนี่ย จะไปด้วยเปล่าเนี่ย พวก PCIe การ์ดพิเศษเฉพาะทางอีก ARM มันรับหมดได้เปล่าหว่า
ได้หมดครับ โดยทั่วไปก็ผ่านพวกเมทริกบัสdma
ขอบคุณครับ แบบนี้ CPU เอง น่ากลัวละ support ของเดิมๆ ได้หมดไม่เว้นชุด workstation
Courage ครัช /Phil ไม่ได้กล่าวไว้
ทำแล้วแรงจริงแต่ Multitask ปลอมเปลือกแบบ iPadOS ไม่เอานาาาาา
มันคนละ OS นะ จะมาปลงมาปลอมเปลือกอะไร พูดไปเรื่อย
iOS, iPadOS และ macOS core มันเป็น UNIX ซึ่งเป็นการทำงานแบบ Multitask อยู่แล้วครับ
ส่วน iPadOS ที่ไม่สามารถ run แบบ background ได้ หรือเปิดได้แค่ 2-3 app พร้อมกัน นั้นก็เป็นข้อจำกัดที่ Apple ทำมาเพื่อให้ประสบการณ์การทำงานไม่เสีย (เพราะยัด RAM มาน้อย) และไม่มี app ไหนแอบ run เป็น background ให้หน่วงเครื่อง
macOS เลยไม่มีข้อจำกัดตรงนี้ มันคือ PC หรือ Notebook ถ้าทำแบบจำกัดเรื่อง app ที่ใช้งานพร้อมกันได้นี่เป็นฆ่าตัวตายแน่นอน ถ้าจะทำแบบนั้นเค้าก็แยกเป็นสาย product แล้วครับ (แต่จะแยกไปไหน เพราะ iPad ก็เป็นสายนั้นอยู่แล้ว)
ต้องขอโทษหากผมอาจพูดแรงไป ตอนนั้นหัวร้อนกันการที่ OS ไม่ยอมให้ line skype เปิดกล้องวิดีโอคอลได้เปิดแอปอื่นได้ สลับแอปปุบ ตัดการทำงานกล้องเลย ทำเพื่อ?
เพื่อประหยัดพลังงานครับ :)
น่าจะเพื่อ privacy หล่ะมั้ง กล้องทำงานอยู่เบื้องหลัง อันตรายส่วน iOS 14 แก้เรื่องนี้แล้วโดยทำเป็นเหมือน picture in picture
ตัว Facetime เองทำได้แต่แรก แต่ของเจ้าอื่นไม่ได้ ลอง ios14 แล้วก็ยังไม่ได้ อาจต้องรออับเดต
security ครับ ถ้าเกิด app สามารถเปิดกล้องแบบ background ได้ จะมี app แอปถ่ายโดยที่ run เป็น background ได้ครับ
เป็น picture-in-picture น่ะนะครับ?
ผมไม่แน่ใจว่า picture-in-picture รวมถึงเปิดกล้อง vdo call ด้วยไหมครับ ยังไม่ได้ลอง ถ้าหากรวมก็น่าจะทำได้ ให้ 3rd party app แก้ไขและ update ออกมาแต่ถ้าเปิดกล้องเป็น background และไม่ได้แสดงหน้าจอคุย อันนี้คิดว่าไม่ได้ มันเป็นเรื่อง security ครับ
ถ้าเป็นบน Android ได้ครับ แอปไหนขึ้น PiP จะเปิดกล้องตอนที่ยังแสดงผล PiP ได้อยู่ ส่วน iOS ผมไม่แน่ใจครับ
ios ใช้ไม่ได้เลย ขนาดเปิด Split View ไว้ ถ้าสลับไปใช้อีกแอป กล้องจะ Freeze ไว้ จะกลับปกติเมื่อกลับมาใช้แอปนั้นๆ
ซ้ำ
มันไม่ใช่ข้อจำกัดของ OS หรือ ARM นี่ครับ มันเป็นสิ่งที่เค้าตั้งใจจำกัดใน iPhone, iPad ถ้าใน Macbook เดิมไม่จำกัด เป็น ARM ก็คงไม่จำกัด
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
คงจะเป็นแบบนั้น เห็นหลายคนบอก iPad แรงกว่า Notebook แถมยังออก iPadOS ใหม่ที่โชว์เรื่อง multitask เจอว่าทำเรื่องพื้นฐานแบบนี้ไม่ได้ เสียดายเงินมาก
Privacy กับ Security ล้วนๆเลยครับ
แอปเปิลเอง คงใช้เวลาพิสูจน์ซีพียู ARM ผ่านระบบ iOS และมาถึงการแยก iPad OS ออกมาแล้วสามารถทำงานได้ประสิทธิผลใกล้เคียงซ๊พียู X86 คงต้องตามดูกันว่าเมื่อนำ AMR มาใช้ร่วม OS ใหม่จะไปด้วยกันได้ดีขนาดไหนครับ
Writer no.59 เพื่อสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้
ดูดีมีอนาคตกว่า Windows 10 ARM เยอะ เจ้านั้นมองไม่เห็นประโยชน์อะไรเลยนอกจาก เล่นเน็ตกับพิมพ์งานได้นานขึ้นชีวิตน่าจะสะดวกขึ้นเยอะถ้าได้ใช้ Mac เชื่อมต่อ LTE,5G ใช้งานแอพยอดนิยมของ iOS, iPad OS ในชีวิตประจำวันได้
Life cycle ของ Apple silicon มันจะสั้นลงเหลือแค่ 1 ปีเอง ถ้า iPhone ออกรุ่นใหม่ทุกปี.
ปกติ intel ก็ออกรุ่นใหม่ทุกปีนะครับ
เหล้าเก่าในขวดเดิมสินะครับ
ของเดิม apple A series ใช้ GPU IP จาก PowerVR แล้วปัจจุบันยังใช้ PowerVR อยู่หรือพัฒนาเองครับ
ทำเองแล้ว แต่ซื้อสิทธิบัตรของ PowerVR มาใช้ครับ ส่วน PowerVR เองหลังจากหักหลัง Intel แล้วโดน Apple บอกเทแบบเบาๆ ก็เจ็บหนักอยู่เหมือนกัน
หักหลัง intel ยังไง
Imagination (เจ้าของสิทธิบัตร PowerVR) ไม่ออก driver ที่ใช้งานกับ Windows 10 Creator Update ให้กับ Intel โดยที่ปัญหามันอยู่ที่ driver เก่ามีบัค ทำให้ตัวอักษรแสดงไม่ถูกต้องหรือภาพไม่ขึ้นเลยครับ
ก็ไม่เรียกว่าหักหลังนี่ครับ ปกติในสัญญาพวกนี้จะระบุไว้ว่าตกลง support ให้ถึงเมื่อไหร่ กรณีหมดระยะเวลาสัญญาแล้วไม่ออกให้เพิ่มก็เป็นเรื่องปกติ ถ้ายังไม่หมดสัญญาแล้วไม่ออกให้ Intel ก็ฟ้องร้องได้
PowerVR ไม่จำเป็นต้องแบกรับ cost ที่เพิ่มเข้ามาของ Intel ครับ Intel เองถ้าใจป้ำก็อาจต่อรองซื้อ support เพิ่มเติมได้ แต่ไม่ทำเองมากกว่า
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
จำได้ว่าเคยอ่านข่าวประมาณว่า Imagination ขึ้นค่า support ไปเยอะมากหลังจาก Apple ใช้ PowerVR ใน CPU ที่ทำเอง (เหมือนโดนรีดไถมากกว่าหักหลัง) แต่พอลองอ่านข่าวเกี่ยวกับ PowerVR ก็พอทำให้เข้าใจ Intel ว่าที่ไม่ซื้อ support ต่อเพราะ driver ที่ Imagination ส่งมาให้มีปัญหาตลอดครับ
ขอถามหน่อยครับ Apple เค้าจ่ายไลเซนซ์จาก ARM แบบไหนครับแบบจ่ายครั้งเดียวจบหรือเปล่า หรือว่ายังต้องจ่ายเงินให้ ARM อยู่เรื่อยๆตราบใดที่ยังใช้ arm อยู่ หรือว่าแบบอื่นๆ
มีแนวโน้มได้เห็นเปิดเครือ่ง2วิ เปิดแอพ0.5-1วิ แบบps5 มากกว่าระบบx86เยอะ
The Last Wizard Of Century.
ผมเจอข่าวนี้ วันที่ 5/12/2020 ซึ่งผมซื้อ mac mini รุ่น m1 มาได้ 1 สัปดาห์ พูดได้คำเดียวเลยว่า
มันดีมากมาก จนผมไม่อยากกลับไป intel แล้วครับ