Adam Mosseri หัวหน้าทีม ของ Instagram เขียนบล็อกอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจการทำงานของอัลกอริทึมคัดเลือกเนื้อหาขึ้นมาแสดง สำหรับผู้ใช้งานแต่ละคน ซึ่ง Instagram ได้ เปลี่ยนระบบฟีด นี้มาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เคย อธิบาย หลักการคัดเลือกเนื้อหามาครั้งหนึ่ง แต่รอบนี้ลงรายละเอียดที่มากขึ้น
Instagram เริ่มด้วยคำอธิบายว่าในตอนแรกที่ Instagram ใช้การแสดงโพสต์แบบเรียงตามลำดับเวลานั้น ผู้ใช้งานราว 70% ไม่เห็นโพสต์ใหม่ครบทุกอัน เกือบครึ่งหนึ่งที่พลาดไปเป็นโพสต์จากคนที่เขาติดตาม จึงเป็นที่มาของการจัดอันดับคัดเลือกโพสต์เพื่อนำมาแสดงในฟีดของแต่ละคน
ใน Instagram มีส่วนของแอปที่ต่างมีอัลกอริทึมคัดเลือกเนื้อหาเพื่อแสดงผลแตกต่างกันไป รายละเอียดดังนี้
ฟีด และ Stories
เป็นส่วนแสดงผลของบัญชีที่ผู้ใช้งานแต่ละคนติดตามอยู่แล้ว (ยกเว้นโฆษณา) โดย Instagram เก็บข้อมูลของโพสต์ เช่น เนื้อหาในโพสต์ คนที่โพสต์ ข้อมูลของผู้ใช้งาน นำมาเป็นค่า Signal ที่มีหลายพันรายการ เพื่อเป็นปัจจัยจัดอันดับแสดงผล โดย Signal ที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการถูกนำมาแสดงผลเรียงลำดับได้ดังนี้
- ข้อมูลของโพสต์ เช่น ความนิยมโพสต์นั้น จำนวนคน Like วันเวลาของโพสต์นั้น สถานที่ในโพสต์ ฯลฯ
- คนที่โพสต์ หากเรามีการ Like หรือคอมเมนต์บ่อย ก็จะเพิ่มน้ำหนักในการแสดงผล
- พฤติกรรมการใช้งานของเจ้าของบัญชี เช่น ปกติ Like กี่โพสต์ในฟีด หยุดดูแต่ละโพสต์นานแค่ไหน
- ประวัติการ Like หรือคอมเมนต์ โพสต์ต่าง ๆ
Explore
เป็นส่วนให้ผู้ใช้งานได้ค้นพบโพสต์ใหม่ ๆ ที่คิดว่าจะสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือวิดีโอ ฉะนั้น Signal ที่นำมาจัดอันดับโพสต์ จึงเป็นข้อมูลอดีตว่าผู้ใช้งาน กด Like, กดติดตาม หรือเซฟโพสต์แบบใดไว้บ้าง การจัดลำดับนั้นคล้ายกับ ฟีดและ Stories คือดูข้อมูลของโพสต์นั้น ๆ ก่อน จากนั้นจึงให้น้ำหนักประวัติของผู้ใช้งาน เช่น ไม่เคยติดตามแต่ไปกด Like ก็จะถูกนำมาแสดง เป็นต้น
Reels
ส่วนการแสดงคอนเทนต์วิดีโอนี้ใช้แนวคิดเหมือนกับ Explore คือแสดงคอนเทนต์ของคนที่ผู้ใช้งานไม่ได้ติดตามเป็นส่วนใหญ่ เน้นไปที่โพสต์ซึ่งให้ความบันเทิง Signal ที่มีน้ำหนักสูงจึงเป็นประวัติการใช้งาน เช่น โพสต์แบบไหนที่เราหยุดดู โพสต์แบบไหนที่เรา Like หรือคอมเมนต์
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้อาจทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า Instagram เป็นฝ่ายกำหนดเนื้อหามาให้ มากกว่าที่พวกเขาจะควบคุมเนื้อหาได้เอง Instagram จึงแนะนำแนวทางเพื่อกำหนดเนื้อหาที่เราอยากเห็นจริง ๆ ได้แก่ ให้กำหนด Close Friends , Mute คนที่เราไม่อยากเห็น และหากมีโพสต์แนะนำแสดงขึ้นมาและไม่ชอบ ให้เลือก Not Interested เพื่อสร้าง Signal ขึ้นมา
ที่มา: Instagram
Comments
ทำให้มันยากเนอะ
อย่างน้อย feed ก็ดีกว่า fb
อย่างน้อยก็ควรให้ผู้ใช้เลือกได้ ว่าอยากได้ feed แบบไหน ไม่ใช่มัดมือชกมาเลย แล้วบอกว่าเราคิดมาแล้วว่าแบบนี้ดีกว่า
algorithm ปัจจุบันก็เหมือนกันเก็บข้อมูลผู้ใช้อยู่ดี ว่ากด like post แบบไหนไป
แล้วปุ่มทั้งหลายก็ขยันเปลี่ยนที่เหลือเกิน ชอบคิดแทน user ไปหมด