Tags:
Node Thumbnail

เว็บไซต์ The Verge มีบทความเล่าถึงระบบ content distribution network (CDN) เบื้องหลังของ Netflix ที่ทำให้การดูวิดีโอสตรีมมิ่งของ Netflix ราบรื่น มีปัญหาน้อยมาก แทบไม่เคยล่มครั้งใหญ่ๆ เลย และสามารถรองรับโหลดหนักๆ อย่างการที่คนทั่วโลกแห่กันมาดู Squid Game พร้อมๆ กันได้สบาย (111 ล้านคนในสัปดาห์แรกๆ ที่เริ่มฉาย)

ระบบ CDN ของ Netflix ที่ชื่อ Open Connect ไม่ใช่ความลับอะไร เพราะทำมานาน 10 ปีแล้ว (เริ่มทำปี 2012) และ มีข้อมูลทางเทคนิคบนเว็บไซต์ Netflix เองค่อนข้างละเอียด

Gina Haspilaire หัวหน้าฝ่าย Open Connect ระบุว่าอินเทอร์เน็ตเมื่อ 10 ปีก่อนยังไม่สามารถรองรับทราฟฟิกขนาดใหญ่ได้ดีนัก และเมื่อธุรกิจหลักของ Netflix คือสตรีมมิ่ง ลูกค้าจะยอมจ่ายเงินหรือไม่ ประสบการณ์การใช้งานย่อมมีส่วนสำคัญ บริษัทจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำระบบ CDN เองแทนการใช้ระบบของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ หรือ CDN ของบริษัทอื่น

No Description

หน้าตาเครื่อง Open Connect Appliances (OCAs) ภาพจาก Netflix

แนวคิดของ Open Connect นั้นเรียบง่าย เพราะเป็นการนำเซิร์ฟเวอร์ของ Netflix ไปวางไว้ตามศูนย์ข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก โดยคัดเลือกไฟล์วิดีโอที่ผู้ใช้ในพื้นที่นั้นๆ น่าจะเลือกรับชมมากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสที่ผู้ใช้จะสามารถโหลดไฟล์ที่ต้องการได้จากภายในเครือข่าย ISP ที่ตัวเองใช้อยู่ โดยไม่ต้องออกอินเทอร์เน็ตภายนอกเลย

Netflix ให้บริการเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ฟรี และมีทีมงานร่วมดูแลกับแอดมินของ ISP ด้วย ซึ่ง ISP ก็ได้ประโยชน์เพราะช่วยลดค่าทราฟฟิก ลดโหลดทราฟฟิกที่ต้องออกข้างนอกลงมา จุดต่างของ Open Connect กับ CDN ยี่ห้ออื่นๆ คือมันเป็น CDN ของ Netflix เอง มีเฉพาะทราฟฟิกของ Netflix เท่านั้น

ข้อมูลบนเว็บไซต์ Netflix ระบุว่าเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้รัน FreeBSD, ใช้ NGINX เป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์, ใช้ BIRD จัดการเส้นทางเครือข่าย และมีซอฟต์แวร์ของ Netflix เองคอยจัดการระบบอีกที ตัวสตอเรจเซิร์ฟเวอร์แบ่งเป็น 2 ระดับคือ ใช้ฮาร์ดดิสก์ความจุ 350TB สำหรับงานทั่วไป และรุ่นสตอเรจแฟลช สำหรับหนังที่ได้รับความนิยมสูงๆ โดย Netflix มีซอฟต์แวร์ที่ช่วยย้ายไฟล์จากสตอเรจทั้งสองแบบไปมาให้อัตโนมัติ

ในแง่การจัดการไฟล์วิดีโอ เซิร์ฟเวอร์หนึ่งเครื่องมีไฟล์วิดีโอของหนังเรื่องหนึ่ง 3 ไฟล์ แบ่งตามคุณภาพบิตเรต หากเครือข่าย ISP นั้นมีปัญหาทราฟฟิก ระบบจะสลับมาไฟล์ที่บิตเรตต่ำกว่าให้อัตโนมัติ เพื่อให้การเล่นวิดีโอไม่สะดุด ผู้ใช้ไม่ต้องเห็นการบัฟเฟอร์ไฟล์ ส่วนการสำรองไฟล์วิดีโอจะทำในช่วงที่ผู้ใช้งานน้อยๆ เพื่อไม่ให้กระทบบริการอื่น และ Netflix มีข้อมูลการรับชมของผู้ใช้ จึงสามารถพยากรณ์ได้ว่าควรนำไฟล์หนังเรื่องใดมาลง CDN

สถิติของ Netflix ระบุว่ามีเซิร์ฟเวอร์ Open Connect จำนวน 17,000 เครื่องกระจายอยู่ใน 158 ประเทศ ลงทุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และยังจะขยายเพิ่มอีกเรื่อยๆ

ที่มา - The Verge

Get latest news from Blognone

Comments

By: deaknaew on 22 November 2021 - 12:48 #1232345

ไม่ล่ม แต่ดูไม่ได้ เพราะพี่ blacklist ip มั่ว ถ้า เน็ตแมว ได้ วง 119 นี่ ต้องรีบรีไอพี ใหม่

By: impascetic
Android
on 22 November 2021 - 16:31 #1232376 Reply to:1232345

โอ ไม่เคยเจอเลย มันเป็นยังไงอ่ะครับ ขึ้นข้อความว่าแบนเลย หรือโหลดไม่ไป/จอดำ

By: deaknaew on 22 November 2021 - 18:45 #1232391 Reply to:1232376

ขึ้น error เป็น error code อะไรซักอย่างนี่แหละ

By: sukjai
iPhone Android Red Hat Ubuntu
on 23 November 2021 - 07:33 #1232431

ใช้ freebsd เลยทำไมไม่ใช้ linux ??? หรือทีมงานเชียวชาญ freebsd เป็นหลัก

By: big50000
Android SUSE Ubuntu
on 23 November 2021 - 08:11 #1232437 Reply to:1232431
big50000's picture

FreeBSD กับ Linux ไม่ค่อยต่างกันมากในเรื่องของวิธีการพัฒนา แต่ BSD ได้เปรียบในเรื่องของสัญญาอนุญาตที่ไม่บังคับให้เปิดเผยรหัสโปรแกรมของตัวระบบ แค่แนบชื่อไปด้วยก็พอ ส่วน Linux ถ้าดัดแปลงแล้วเผยแพร่ ต้องเปิดเผยรหัสโปรแกรมนั้นออกมาด้วย และเป็นเหตุผลเดียวกับที่ Nvidia ไม่ contribute ไดรเวอร์เข้าไปยัง Linux แต่สร้าง kernel module ออกมาดัดแปลงระบบเรื่อย ๆ แทน

...และมันก็ชอบพังกับ Linux บ่อย ๆ แล้วคนที่โดนด่าคือชุมชน Linux ไม่ใช่ Nvidia ซึ่งก็ไม่แปลกที่ ไลนัสจะชูนิ้วกลางให้

ฉะนั้น มันน่าจะมีรหัสโปรแกรมเฉพาะบางอย่างที่ใช้ optimize ได้ดีกว่า แต่ไม่อยากเปิดเผยนั่นแหละ

By: sukjai
iPhone Android Red Hat Ubuntu
on 23 November 2021 - 11:02 #1232463 Reply to:1232437

ขอบคุณครับ ความรู้ใหม่

By: langisser
In Love
on 24 November 2021 - 20:29 #1232660

เดี๋ยวคงเปิดบริการศูยน์ข้อมูลด้วยแน่ๆ ทำเองมาขนาดนี้