Clicknext เป็นบริษัทเทคโนโลยี ผู้ให้บริการดิจิทัลโซลูชั่น ทำธุรกิจในรูปแบบ B2B เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร จุดเด่นคือ นำเทคโนโลยีที่บริษัทพัฒนาและฟูมฟักเข้าไปช่วยให้ลูกค้าเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
โปรดักส์หลักๆ ของบริษัทคือ บริการ Software Service Provider ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นบริการเว็บไซต์ บริการ SMS บริการแชทบ็อท รวมถึงระบบ CRM และงานหลังบ้าน ให้ลูกค้าองค์กรนำเทคโนโลยีไปใช้ สร้างรายได้ให้มากขึ้น
หรือหากองค์กรไหนต้องการซอฟต์แวร์ที่ไปแก้ปัญหาที่มีเฉพาะตัว ทาง Clicknext ก็มีการบริการลักษณะ Software House พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นโปรเจ็คๆ ด้วย
จุดเด่นของบริษัทคือ พัฒนาซอฟต์แวร์ต่อเนื่อง และยกระดับให้มันช่วยลูกค้าได้จริงๆ เน้นประเมินจากผลลัพธ์ของลูกค้าเป็นหลัก ไม่ได้เน้นที่ยอดขาย หรือจำนวนลูกค้าที่บริษัทมี
ความตั้งใจของบริษัทคือ อยากขยายกิจการ และนำซอฟต์แวร์ของ Clicknext ออกสู่สายตาต่างชาติ ตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าในอาเซียน โดยตอนนี้ Clicknext มีออฟฟิศสามที่แล้ว คือบางแสน กรุงเทพ และ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
ตัวอย่างกลุ่มลุกค้าของ Clicknext มีทั้งภาคธนาคาร การเงิน ลูกค้าประกันรายใหญ่ๆ ดังนั้น ที่นี่ จึงเป็นบริษัทที่กำลังโต มีความท้าทายในแง่การทำงาน และมีเป้าหมายใหญ่ไกลกว่าการเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ในประเทศ
วิธีการทำงานในแบบ Clicknext
คุณศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์ (วิน) Managing Director เล่าการทำงานในแบบของ Clicknext ให้ Blognone Workplace ฟังว่า ที่ Clicknext ใช้วิธีแบ่งทีมแบบ Business Unit แต่ละยูนิต โฟกัสในหน่วยธุรกิจที่เรารับผิดชอบ
นอกจากนี้ยังเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มันเป็น cutting-edge technology อย่างบล็อคเชน AI ทีมงานยังได้เรียนรู้จากงานหลายๆ ประเภท สามารถ rotate ไปสู่หน่วยธุรกิจใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา
ศุภยศ ศิริจำรูญวิทย์ (วิน), Managing Director
เมื่อมาเจาะที่ทีม Developer คุณวินเล่ารายละเอียดให้เราฟังว่า ที่บริษัทมีเรื่องมาตรฐาน ISO 29110 และ ISO 27001 ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล ในทีมจะเป็นที่รู้กันว่าการโค้ดดิ้งต้องได้มาตรฐานและต้องปลอดภัย
ในทีมนักพัฒนายังมีการแบ่งงานตามมาตรฐานซอฟต์แวร์ ซึ่งบริษัทพัฒนากระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้นักพัฒนาทำงานได้ง่าย ราบรื่น ทั้งรูปแบบ Waterfall ก็ดี Agile ก็ดี เรานำมาปรับๆ ใช้ให้เหมาะกับลักษณะงานในแต่ละโครงการ
คุณพิเชษฐ์ พิทักษ์วศิน (แม็ค) Project Manager ของ Clicknext ที่ดูแลทั้ง 2 BU ให้ภาพรวมเพิ่มเติมว่า ที่ Clicknext มีการทำงานแบบ 2 BU คืองานด้านโปรดักส์และงานด้านโปรเจกต์ งานโปรเจกต์คืองานที่พูดคุยความต้องการกับลูกค้าโดยตรง ส่วนงานโปรดักส์คือทีมงานที่พัฒนาโปรดักส์หลังบ้าน
งานที่เป็นโปรเจกต์ทีมนักพัฒนาก็จะมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับลูกค้า หาความต้องการและโซลูชันที่ตอบโจทย์ ขณะที่โปรดักส์ แม้จะไม่ได้คุยกับลูกค้า แต่ก็จะได้โอกาสให้การทำวิจัยการตลาด (market research) หรือฟีดแบ็คจากลูกค้า เพื่อพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์/บริการที่มีให้ดีขึ้น
คุณพิเชษฐ์ พิทักษ์วศิน (แม็ค), Project Manager
จุดเด่นหนึ่งของ Clicknext ในการทำงาน คือการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นของน้องๆ ในทีมแบบเต็มที่ และไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะเรื่องเทคโนโลยี อย่างเช่นเรื่องการตลาด ถ้าน้องๆ พอมีไอเดียก็สามารถบอกทีมเพื่อแนะนำแลกเปลี่ยนกันได้
ในการพัฒนาคน ก็จะมีการ rotate ตำแหน่งงานข้าม BU ได้ เป็นความพยายามจะผสมผสานกันระหว่างคนทำงานโปรดักส์กับโปรเจกต์ เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสและเรียนรู้ทั้งวิธีการทำงานและทักษะที่แตกต่างกันได้ครบทั้งหมด มีโอกาสทำสิ่งใหม่ๆ ได้โอกาสเป็นเจ้าของโปรเจกต์ด้วยตัวเอง และพัฒนาโปรดักส์ให้ตรงตามความต้องการลูกค้าแบบเข้าเป้ามากขึ้น
ดังนั้น การทำงานเดิมๆ หรือทำงานด้วยวิธีแบบเดิมไปนานๆ จึงไม่ใช่คัลเจอร์ของ Clicknext อย่างแน่นอน
Clicknext เปิดกว้างทางจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
เทคโนโลยีที่ Clicknext ทำเป็นโซลูชั่นให้บริการลูกค้า ไม่ได้จำกัดแค่เพียงโซลูชั่นเพื่อธุรกิจ แต่ยังมีเทคโนโลยีล้ำๆ อย่างระบบการ Virtual ด้วยหรือถ้าจะใช้ศัพท์ร่วมสมัยก็คงหนีไม่พ้นคำว่า Metaverse
คุณพงษ์สิทธิ์ ผ่องเวหา (เดียร์) Project Manager ในทีม Interactive ที่รับผิดชอบงาน virtual เล่าว่าที่มาที่ไปของการตั้งทีมนี้ คือการมองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์ใช้งานแบบใหม่ให้กับ end-users ได้
คุณพงษ์สิทธิ์ ผ่องเวหา (เดียร์), Project Manager
ตัวอย่างโปรเจกต์ที่น่าสนใจให้ฟังว่า มีงานหนึ่งทำร่วมกับกรมศิลปากร นำโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์มาสร้างเป็นโมเดลสามมิติ มาแมทช์กับ AR และ Image Processing เพื่อนำมาไว้ในพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง
หรือระบบ Virtual Travel ที่บริษัทมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ AOT บริษัทท่าอากาศยานไทย ในการสร้างระบบท่องเที่ยวเสมือนจริง ซึ่งเป็นเทรนด์มาแรงช่วงโควิด-19
ดังนั้นที่นี่จึงเป็นเหมือนสนามประลอง ที่คนทำงานได้เข้ามาสร้างซอฟต์แวร์ใช้งานจริงกับลูกค้า เราเปิดกว้างเรื่องความคิด จินตนาการ ให้สามารถสร้างสรรค์งานได้เต็มที่ ไม่มีถูกไม่มีผิด
ทำงานที่ Clicknext ได้อะไร
ที่บริษัทคลิกเน็กซ์ ที่นี่เขาจัดเต็มเรื่องสวัสดิการณ์ให้พนักงานแบบไม่อั้น ไม่ว่าจะเป็น
- การปรับเงินเดือนประจำปี (ที่มีการพิจารณาถึง 2 ครั้ง!)
- โบนัสประจำปี ตามผลงาน
- ขนมฟรี กิน ดื่ม แบบไม่อั้น
- กินเลี้ยงสังสรรค์ยกทีม
- ทริปท่องเที่ยวประจำปี
- เงินช้อปปิ้งสำหรับซื้อเครื่องแต่งกาย
- สวัสดิการเงินกู้สำหรับพนักงาน
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- เงินช่วยเหลือในกรณีต่างๆ อาทิ งานเเต่งงาน,รับขวัญบุตร,งานฌาปนกิจ
และสิ่งที่เราผลักดันมากที่สุดคือเรื่องของการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ ซึ่งเรามีเงินสนับสนุนที่ให้พนักงานสามารถนำไปใช้ในการสมัครคอร์สอบรมเพื่อพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่
ตัวอย่างเช่น คอร์สอบรมในเรื่องของ การเขียนโปรแกรม, ดาต้าเบส หรือการนำวิทยากรภายนอกมาร่วมแชร์ความรู้ Workshop เป็นต้น
ที่นี่เรามองพนักงานเป็นพาร์ทเนอร์ระยะยาว ไม่ใช่แค่คนที่มาทำงานให้เรา เรากล้าให้พนักงานรับผิดชอบในงานที่ใหญ่กว่าตัวเอง เพราะมันจะดีต่อทั้งตัวพนักงานในระยะยาว
ถ้าใครมีความเชื่อว่า จะสามารถสร้างซอฟต์แวร์ โดยคนไทย ให้ไปถึงระดับโลกได้ ก็อยากจะขอเชิญชวนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ให้มาสมัครงานกันที่ Clicknext เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนี้
แอบกระซิบด้วยว่าออฟฟิศของ Clicknext อยู่ตึก Phayathai Plaza ติดบีทีเอสพญาไท เรียกได้ว่าเกยบีทีเอสเลยทีเดียว สะดวกสำหรับพนักงานมากๆ ด้วย
เสียงจากคนทำงาน Clicknext
คุณกฤตนัญ มั่นมี (บิ๊ก) Developer หนึ่งในคนทำงาน Clicknext พูดถึงความประทับใจที่ได้ทำงานที่นี่ว่า
เนื่องจากเป็นงานแรกที่ได้ทำ และรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี ที่ไม่รู้ว่าจะหาได้จากบริษัทอื่นหรือไม่ที่นี่มีวัฒนธรรมของการรับฟัง ไม่ใช่การสั่งงานแล้วจบ หากเรามีความคิดเห็นต่าง เราก็สามารถเสนอ และเราถูกรับฟังแม้เราจะยังเพิ่งเคยทำงานที่แรกก็ตาม
คุณกฤตนัญ มั่นมี (บิ๊ก) Developer
ตอนแรกคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่เครียด งานเครียด เพราะงานต้องแข่งกับเวลา ซึ่งจากการที่ได้เข้ามาทำงานจริงๆ ก็ยังมีความเครียดและความยากในงาน แต่ที่นี่ให้ความรู้สึกว่า อย่ากดดันตัวเองมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
ในแง่การเรียนรู้ อยู่ที่นี่เราได้ประสบการณ์เพิ่มเยอะมากแม้จะเพิ่งเริ่มงานได้สิบเดือน ได้จับงานใหญ่ งานที่อิมแพค ทำงานร่วมกับรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก
ต้องการคนแบบไหน
ที่ Clicknext มองว่าการได้คนเก่งมาก อาจไม่สำคัญเท่าคนที่อยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นเรื่อยๆ และอาจไม่สำคัญเท่าคนที่อยากเอาชนะในสิ่งที่ตัวเองทำตลอดเวลา
ดังนั้น ดีเอ็นเอคนที่ Clicknext ต้องการคือคนที่กระหาย อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ และอยากโตไปด้วยกัน ไม่ใช่โตเพียงคนเดียว
สรุป
สำหรับใครที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ๆ ได้จับงานจริง ได้สร้างผลงานจากเทคโนโลยียุคใหม่อย่างแว่น VR เทคโนโลยี Interactive, 3D Printing ไปจนถึงมีส่วนช่วยผลักดันและพัฒนาให้ซอฟต์แวร์ไทยไปสู่ระดับโลก ก็ขอให้ลองสมัครงานเข้ามาที่ Clicknext เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่จะนำเทคโนโลยีไทย ไปสู่ระดับสากล
หากสนใจสามารถดูตำแหน่งที่เปิดและสมัครได้ที่ https://jobs.blognone.com/company/clicknext
Hiring! บริษัทที่น่าสนใจ