ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 9 หน่วยงาน โดยระบุว่าหน่วยงานทั้ง 9 หน่วยนี้เป็นหน่วยงานที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้มัลแวร์ Pegasus เจาะโทรศัพท์เหยื่อทั่วโลก รวมถึงนักกิจกรรมในประเทศไทย
Pegasus เป็นมัลแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงและถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี กระบวนการแฮกโทรศัพท์สามารถเจาะ iOS ได้โดยใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์ปลายทาง และเหยื่อไม่ต้องคลิกรับข้อความใดๆ แต่สามารถ ส่งข้อความเข้า iMessage และแฮกโทรศัพท์ได้ทันที ความร้ายแรงของ Pegasus และการที่มันถูกใช้งานเป็นวงกว้างทำให้ บริษัทไอทีจำนวนมากออกมาฟ้อง NSO Group ผู้พัฒนา ตั้งแต่ช่วงปี 2019 ถึง 2021
ทาง iLaw ระบุว่ามีการใช้ Pegasus ในไทยมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2014 ช่วงเดียวกับการรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดเมนที่ใช้ส่งสปายแวร์ เช่น SIAMHA[.]INFO, THTUBE[.]VIDEO, และ THAINEWS[.]AISA
คำฟ้องขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้หน่วยงานที่ใช้ Pegasus กับคุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และคุณอานนท์ นำภา ระงับใช้งานมัลแวร์นี้, เปิดเผยข้อมูลการใช้งานและข้อมูลที่ได้ไปให้กับเจ้าของข้อมูล และลบข้อมูลออกจากฐานข้อมูล รวมถึงเรียกค่าเสียหายจากการถูกมัลแวร์เจาะระบบ
ข้อมูลทางการที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยซื้อซอฟต์แวร์รูปแบบเดียวกับ Pegasus มาใช้งานจริง ออกมาจากพรรคก้าวไกลเมื่อปีที่แล้วที่ ใส่ไว้ในงบประมาณประจำปี แสดงให้เห็นว่า กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ขอซื้อซอฟต์แวร์นี้ในวงเงิน 350 ล้านบาท ผู้เสนอราคาตัว Pegasus คือ บริษัท เอ็นจิเนียริ่ง รีวอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด แต่ก็ไม่มีข้อมูลว่าการใช้งานในช่วงปี 2014 นั้นเป็นการจัดซื้อโดยหน่วยงานใด
ที่มา - iLaw
Comments
ข้ออ้างที่ว่าซื้อมาเพื่อปราบปรามยาเสพติดนี่ พอไปเช็คประวัติการใช้ Pegasus ของประเทศอื่นๆก็มีแต่ใช้กับพวกนักกิจกรรมกับนักข่าวหรือกับบุคคลสำคัฐอะไรแบบนี้ ไม่เห็นใช้กับอาชญากรอะไรเลย แต่มีข่าวนึงน่าสนใจคือสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของประเทศสหรัฐอเมริกา "ปฏิเสธ" การซื้อ Pegasus มาใช้ด้วยเหตุผลว่า "แพงเกินไป" แสดงว่าถ้าไทยซื้อมาใช้ปราบปรามยาเสพติดจริงนี่คือแสดงว่ารวยกว่าสหรัฐ?
ซื้อมาปราบยาเสพติด แต่ตอนนี้ยาเสพติดพุ่งเป็นประวัติการณ์ ถ้าเป็นซอท์แวร์บริษัทนี่ CTO โดนไล่ออกไปแล้ว…
สหรัฐมันผลิตได้เอง และดีกว่าด้วย ไม่จำเป็นต้องไปซื้อเลยที่บอกว่าแพงคืออาจหมายถึงผลิตเองใช้งบน้อยกว่า
ถ้าสมมติ รัฐบาลต่อๆไปก็ใช้ แต่เอามาใช้เพื่อแฮคมือถือพวกอาชญากรจริงๆแบบนี้จะถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนไหม รัฐบาลจะใช้โปรแกรมนี้ได้ไหม
ถ้าได้ ถามต่อเนื่องไปถึง เราใช้เส้นอะไรแบ่งว่าตรงจุดนี้คนคนนึงก่ออาชญากรรมแล้วและข้อมูลของเค้ารัฐบาลสามารถเข้าถึงได้ ถ้ายังเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยจะเข้าถึงข้อมูลได้ไหม หรือต้องรอคำสั่งศาล (ถ้าต้องรอขนาดนั้นข้อมูลหลักฐานทางอื่นก็คงพอจะฟ้องได้แล้ว อาจจะไม่ต้องมาแฮคแล้ว) แล้วถ้าสมมติได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลผู้ต้องสงสัยได้ แต่กาลต่อมาเมื่อศาลพิสูจน์ว่าคนนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เค้าจะสามารถฟ้องกลับหน่วยงานรัฐได้ไหม
หรือสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลคือทำไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลวก็ห้ามใช้โปรแกรมจำพวกนี้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต
ถ้าได้รับหมายค้นก็จะน่าจะใช้ได้นะหลักการเดียวกับค้นบ้าน เครื่องมือแบบนี้รัฐบาลจะใช้สำคัญคือต้องเปิดเผยใช้กับใครเมื่อไหร่ยังไง
คล้ายๆ พวกคดีจับคนค้ายาเสพติด หลายคนติดคุกฟรี เสียงาน เสียครอบครัวเหลือแต่ครอบครัวหรือญาติที่ทำหน้าที่ช่วยหาหลักฐานหรือองค์กรมาช่วยเหลือกับคดีในชั้นศาล ผู้เสียหายเหล่านี้ไม่สามารถได้รับการเยียวยาใดๆ หรือฟ้องร้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้เลยหรือถ้ามีก็น้อยเคสมากที่จะได้ซึ่งจะเป็นเงินชดเชย มันควรเอาคนที่พิจารณาแล้วทำให้เค้าต้องติดคุกฟรีมาลงโทษหรืออยู่ในคุกเท่าๆกันถึงจะถูก
เช่นข่าวล่าสุดเมื่อ Jan 24, 2023 ที่ผ่านมาศาลยกฟ้อง ! "แพะวีรโชติ" ติดคุกฟรี 2 ปี ปมส่งพัสดุยาเสพติด
เรื่องชดเชยผมเห็นด้วยนะครับ ส่วนเรื่องเอาผิดจริงๆก็เห็นด้วยเหมือนกัน แต่คิดว่ามันอาจจะทำได้ยากอยู่ครับ
ถ้าเอาผิดจริงๆ ผมแอบกังวลว่ามันจะเหมือนกรณีการเอาผิดหมอที่ทำคนไข้เสียชีวิตไหม คือไม่มีใครฟ้องร้องอะไรเลยเพราะกลัวว่ามันจะเข้าตัวหมด
ส่วนตัวผมมองว่าถ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตจริงๆก็อยากจะให้ไม่มีความผิดครับ (หรืออย่างน้อยก็ไม่ผิดอาญา) แต่ในทางปฏิบัติมันทำได้ยากมาก ยิ่งกระบวนการยุติธรรมมันมีหลายขั้นตอนและเกี่ยวข้องกับหลายบุคคลด้วย บางที่ผู้ตัดสินอาจจะทำหน้าที่อย่างสุจริตตามหลักฐานที่มี แต่ไปมีปัญหาที่กระบวนการหาหลักฐานแทนก็เป็นได้
กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ใช้ตัวย่อ ปส. นะครับส่วน ป.ป.ส. เป็นตัวย่อของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดครับ