บทความโดยจันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์บางฉบับวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมให้แก่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปในทางที่ว่า กสทช. อนุมัติใบอนุญาตให้แก่บริษัทไทยคมฯ โดยไม่ได้มีการประมูลคลื่นความถี่ ทั้งมิได้ประมูลวงโคจรให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 แต่ประการใด
ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นที่ได้นำเสนอในบทความดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนทั้งในเชิงข้อกฎหมายและในเชิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวทางในการออกใบอนุญาตดาวเทียมเพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารที่ถือเป็นบริการโทรคมนาคมที่สำคัญของประเทศไทย
หมายเหตุผู้เขียนเห็นว่าบทความนี้เป็นหัวข้อที่อาจเป็นที่สนใจ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน blognone จึงได้ส่งบทความนี้มาลง โดยผมได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่เรียบร้อยแล้ว
สิทธิการใช้งานในวงโคจรดาวเทียมเพื่อการสื่อสารได้มาอย่างไร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตำแหน่งวงโคจรและความถี่ดาวเทียมไม่ได้เป็นสิทธิขาดหรืออยู่ในอำนาจอธิปไตยของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ แต่เป็นทรัพยากรร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งทุกประเทศมีสิทธิใช้งานเท่าเทียมกันตามธรรมนูญของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU Constitution) และกฎข้อบังคับวิทยุ (ITU Radio Regulations) ข้อ 0.3 (Preamble) ที่กำหนดว่า
"ในการใช้คลื่นความถี่สำหรับบริการวิทยุ ประเทศสมาชิกจักต้องระลึกว่าคลื่นความถี่วิทยุและวงโคจรอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวงโคจรของดาวเทียม geostationary เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด และ (โดยเหตุนั้น) จักต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพและประหยัด สอดคล้องกับบทบัญญัติของข้อบัญญัติทั้งปวงว่าด้วยวิทยุ เพื่อที่ประเทศสมาชิกหรือกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งหลายอาจเข้าถึงวงโคจรและคลื่นความถี่เหล่านั้นอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงความจำเป็นอันยิ่งยวดของประเทศกำลังพัฒนาและสภาวการณ์เชิงภูมิศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ"
(In using frequency bands for radio services, Member States shall bear in mind that radio frequencies and any associated orbits, including the geostationary satellite orbit, are limited natural resources and that they must be used rationally, efficiently and economically, in conformity with the provisions of the Radio Regulations, so that countries or groups of countries may have equitable access to those orbits and frequencies, taking into account the special needs of the developing countries and the geographical situation of particular countries.)
ในการใช้งานวงโคจรดาวเทียม ทุกประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับขององค์การสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยมีหลักการสำคัญว่าประเทศใดแจ้งความประสงค์จะใช้งานในตำแหน่งวงโคจรใดก่อนก็จะได้รับสิทธิในการใช้งานก่อน หรือหลัก First Come First Served โดยมีเงื่อนไขว่าหากประเทศนั้นไม่ได้นำวงโคจรดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ภายในระยะเวลาที่กำหนด สิทธิการจองตำแหน่งวงโคจรนั้นก็จะถูกยกเลิกไป และประเทศอื่น ๆ ที่ได้แจ้งความจำนงในลำดับถัดไปก็จะสามารถนำวงโคจรตำแหน่งนั้น ๆ ไปใช้งานสำหรับดาวเทียมของตนเองได้
ตามข้อกำหนด ITU Radio Regulations ก่อนที่ประเทศใดจะนำดาวเทียมขึ้นใช้งานจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลัก ๆ 3 ขั้นตอน กล่าวคือ (1) แจ้งความประสงค์การใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมไปยังองค์การสหภาพ ITU ว่าต้องการใช้วงโคจรตำแหน่งใดและใช้ความถี่ใด (ขั้นตอนนี้เรียกว่าขั้น A : Advanced Publication) หลังจากนั้นก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ (2) คือส่งข้อมูลรายละเอียดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมและดำเนินการเจรจาประสานงานความถี่กับประเทศต่าง ๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย (เรียกขั้นตอนนี้ว่าขั้น C : Coordination) แล้วจึงจะถึงขั้นตอนสุดท้าย (3) คือการแจ้งจดทะเบียนความถี่กับองค์การสหภาพ ITU (เรียกว่าขั้น N : Notification) ทุกประเทศต้องดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ให้แล้วเสร็จ จึงจะสามารถนำดาวเทียมขึ้นไปใช้งานในวงโคจรในตำแหน่งที่ระบุได้ เอกสารที่ประเทศต่าง ๆ จัดส่งให้กับองค์การสหภาพ ITU ก็คือเอกสารจองสิทธิการใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม หรือ Satellite Network Filings (Filings) ซึ่งก็คือเอกสารที่กำหนดลักษณะทางเทคนิคของดาวเทียมนั่นเอง
ในบรรดาขั้นตอนทั้งหมด ขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุดเห็นจะเป็นขั้นตอนการประสานงานความถี่ หรือ Coordination เพราะประเทศที่ต้องการจะใช้งานดาวเทียมต้องทำการเจรจากับประเทศต่าง ๆ ที่มีดาวเทียมอยู่ในตำแหน่งข้างเคียงให้ได้ข้อตกลงว่าจะสามารถใช้งานความถี่ใดได้บ้าง มีพื้นที่บริการในขอบเขตใด มีกำลังส่งแรงได้เท่าใด ผลของการเจรจาประสานงานความถี่กับประเทศต่างๆ นี้เองจะเป็นตัวชี้ขาดว่า สุดท้ายแล้วประเทศจะสามารถใช้วงโคจรนั้น ๆ ได้หรือไม่ และใช้ได้ในขอบเขตใด หากการประสานงานกับดาวเทียมตำแหน่งข้างเคียงต่าง ๆ ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่สามารถใช้งานได้
แนวทางการจัดสรรวงโคจรดาวเทียมให้กับผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกเป็นอย่างไร
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าตำแหน่งวงโคจรเป็นทรัพยากรร่วมของทุกประเทศ ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะ หากประเทศใดประสงค์จะใช้งานดาวเทียมในวงโคจรก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนขององค์การสหภาพ ITU ได้ โดยไม่จำกัดตำแหน่งและจำนวนของวงโคจร เงื่อนไขหลักมีเพียงว่าต้องประสานความถี่กับประเทศอื่น ๆ ให้สำเร็จ จึงจะมีสิทธิใช้วงโคจรนั้น ๆ ได้
ดังนั้น โดยทางปฏิบัติทั่วไป หากประเทศใดต้องการยิงดาวเทียมสักดวงหนึ่ง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการประสานงานความถี่เพื่อให้สามารถใช้วงโคจรได้สำเร็จสักหนึ่งวงโคจร ประเทศนั้นก็จะต้องส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม (Filings) ไปหลาย ๆ ตำแหน่งวงโคจร และพยายามประสานงานความถี่กับประเทศต่าง ๆ ที่มีดาวเทียมอยู่ข้าง ๆ วงโคจรเหล่านั้น ซึ่งบางตำแหน่งอาจจะเจรจาสำเร็จ บางตำแหน่งก็อาจจะเจรจาไม่สำเร็จได้ นอกจากนี้ ในหลายกรณีมีการส่งเอกสารจองสิทธิจากหลาย ๆ ประเทศไปยังตำแหน่งวงโคจรเดียวกันทับซ้อนกัน ซึ่งข้อบัญญัติของสหภาพ ITU ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด ข้อสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการเจรจากับประเทศต่าง ๆ เพื่อแบ่งส่วนการใช้ความถี่ให้สำเร็จให้จงได้
จากลักษณะของการได้มาซึ่งสิทธิในการใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดระหว่างประเทศขององค์การสหภาพ ITU และการเจรจาแบ่งส่วนความถี่กับดาวเทียมของประเทศอื่นๆ เป็นสำคัญ โดยเหตุนี้การจัดสรรวงโคจรดาวเทียมของประเทศต่าง ๆ โดยทั่วไป รัฐบาลจะใช้หลักการให้ผู้ประกอบการเอกชนเป็นคนรับภาระความเสี่ยงในการดำเนินการเอง โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ของประเทศจะออกใบอนุญาตเพื่อรับรองสถานะความเป็นผู้ประกอบการให้กับเอกชน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการเอกชนที่จะประเมินความเสี่ยงและความเป็นไปได้ในการส่งเอกสารจองสิทธิ (Filings) โดยผ่านรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลไปยังองค์การสหภาพ ITU เพื่อจองสิทธิการใช้งานตำแหน่งวงโคจรต่าง ๆ และดำเนินการประสานงานความถี่กับผู้ประกอบการของประเทศอื่น ๆ ต่อไป โดยที่รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลก็ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จในการใช้งานวงโคจรดาวเทียมให้กับผู้ประกอบการเอกชนที่ต้องการทำธุรกิจดาวเทียมได้ อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการเอกชนเองโดยแท้
การประมูลวงโคจรดาวเทียม : ปัญหาในทางปฏิบัติ
การได้มาซึ่งสิทธิในการใช้งานวงโคจรดาวเทียมดังกล่าวมาข้างต้นทำให้การจัดสรรตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมเป็นการดำเนินการตามกระบวนการระหว่างประเทศและอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขององค์การระหว่างประเทศทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการดำเนินการประสานงานความถี่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การจัดสรรวงโคจรดาวเทียมจึงแตกต่างจากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ภาคพื้นดินดังเช่นกรณีการจัดสรรความถี่ 3G ในประเทศไทย เพราะความถี่ภาคพื้นดินเป็นคลื่นความถี่ที่ใช้งานอยู่ภายในดินแดนอาณาเขตของประเทศ ไม่ได้ถูกกำกับดูแลโดยองค์การระหว่างประเทศและด้วยกระบวนการระหว่างประเทศแบบดาวเทียม จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลคือคณะกรรมการ กสทช. ที่จะจัดสรรให้กับผู้ประกอบการฯ ซึ่งตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมต้องจัดสรรโดยวิธีการประมูลเท่านั้น
สำหรับกิจการดาวเทียมนั้น การให้บริการดาวเทียมประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือการได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงโคจรในอวกาศซึ่งอยู่นอกเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย การได้มาซึ่งสิทธิในการใช้งานวงโคจรดาวเทียมจึงเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และผู้ประกอบการเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงในการดำเนินการประสานงานความถี่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการใช้งาน องค์ประกอบที่สอง
ก็คือ การที่ผู้ประกอบการดาวเทียม (Satellite Operator) ต้องได้รับการรับรองสิทธิ คือการได้รับใบอนุญาต ให้เป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมตามบทบัญญัติของกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีสิทธิในการร้องขอให้มีการส่ง Filings ผ่านหน่วยงานกำกับดูแลหรือรัฐบาลของประเทศของตนไปยังองค์การสหภาพ ITU เพื่อที่จะสามารถดำเนินการประสานงานความถี่เพื่อให้ได้มาซึ่งวงโคจรที่สามารถจะใช้งานได้ต่อไป และเพื่อสิทธิในการให้บริการโทรคมนาคมตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของใบอนุญาต ซึ่งองค์ประกอบส่วนที่สองนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าการได้มาซึ่งสิทธิการใช้งานวงโคจรดาวเทียมในอวกาศ ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไม่ได้ขอรับจัดสรรคลื่นความถี่จาก กสทช. จึงไม่ต้องทำการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แต่อย่างใด มีเพียงเฉพาะการให้บริการโทรคมนาคมจากดาวเทียมเท่านั้นที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. และตกอยู่ภายใต้ระบบการประมูลตามกฎหมายภายใน
คำถามที่ต้องวินิจฉัยต่อมาก็คือว่า ใครคือผู้ให้บริการโทรคมนาคมจากดาวเทียมซึ่งจะอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 45 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่กำหนดว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการด้วยวิธีประมูล
ในงานบริการดาวเทียมสื่อสาร นอกเหนือจากผู้ประกอบการดาวเทียม (Satellite Operator) ที่ให้บริการดาวเทียมในอวกาศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการอีกส่วนหนึ่งคือผู้ให้บริการรับส่งสัญญาณจากภาคพื้นดิน (uplink/downlink) ซึ่งเป็นผู้ใช้คลื่นความถี่ในประเทศไทยโดยตรง ผู้ให้บริการกลุ่มหลังนี้เองที่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายปัจจุบันซึ่งต้องได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูล แต่ทว่าโดยข้อเท็จจริง วิธีการประมูลไม่เหมาะสมกับบริการดาวเทียม เพราะผู้ประกอบการ uplink/downlink ทุกรายที่ภาคพื้นดินต้องใช้ความถี่ที่เป็นย่านความถี่มาตรฐานร่วมกัน เช่น C-band, Ku-band, Ka-band ฯลฯ ไม่ว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการกี่รายก็ตาม กฎหมายไม่สามารถให้สิทธิขาดแก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็จะเป็นปัญหาหนักอกที่ กสทช. ต้องหาแนวทางจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
นอกเหนือจากกิจการดาวเทียมแล้ว ยังพบว่ามีกรณีอื่น ๆ อีกซึ่งจะมีปัญหาหากต้องจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูล ยกตัวอย่างเช่น การจัดสรรความถี่ย่าน Wi-Fi (2.4 GHz) เพราะเหตุว่าผู้ประกอบการที่ต้องการจะให้บริการ Wi-Fi ทุกรายย่อมต้องใช้ย่านความถี่เดียวกัน โดยสภาพจึงไม่สามารถนำมาประมูลให้สิทธิขาดแก่ผู้ประกอบการรายหนึ่
รายใดได้ ในกรณีนี้ กสทช.จะต้องหาทางดำเนินการโดยไม่ให้ขัดแย้งกับวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกัน
จึงนำมาสู่ประเด็นที่ชวนให้ต้องขบคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปรับปรุงวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศหรือไม่
การจองสิทธิการใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศมีอยู่อย่างจำกัดหรือไม่
เนื่องจากกฎข้อบังคับวิทยุ (ITU Radio Regulations) ไม่ได้มีการจำกัดสิทธิใด ๆ ในการส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม (Filings) และจากที่กล่าวมาข้างต้นผู้ประกอบการสามารถส่งเอกสาร Filing จองสิทธิการใช้งานวงโคจรดาวเทียมตำแหน่งใด ๆ ได้มากกว่าหนึ่งตำแหน่งเพื่อสร้างโอกาสในการประสานงานความถี่ให้สามารถใช้งานได้มากที่สุด เพียงแต่ผู้ประกอบการจะต้องเป็นผู้ดำเนินการเองและรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทไทยคมและผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาให้บริการในตลาดในอนาคตด้วย ทั้งนี้ หากมีผู้รับใบอนุญาตรายใหม่และผู้นั้นต้องการใช้งานวงโคจรดาวเทียม ณ ตำแหน่งใด ๆ ก็สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นเช่นเดียวกับบริษัทไทยคมฯ โดยไม่จำเป็นต้องรอใช้วงโคจรเดิมจากผู้รับใบอนุญาตที่ใช้งานอยู่แล้ว โดยเหตุนี้ ผู้ประกอบการทุกรายจึงสามารถได้รับสิทธิเสมอกันในการส่งเอกสารและใช้งานเอกสาร Filing ที่ผ่านกระบวนการข้างต้นโดยไม่จำกัดจำนวน
ดังนั้น ในประเด็นที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถส่งเอกสารการจองสิทธิการใช้งานวงโคจรเพิ่มเติมที่ตำแหน่งวงโคจรใด ๆ ได้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทไทยคมฯ ในการขยายสิทธิการใช้วงโคจรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนอาจทำให้ไม่มีวงโคจรเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ จึงเป็นการเข้าใจผิดในสาระสำคัญในเรื่องนี้ ตรงกันข้าม ผู้เขียนกลับเห็นว่าเงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในตลาดได้มากที่สุด
ใบอนุญาตฯ ดาวเทียม เพื่อประโยชน์ของใคร
ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางที่ กสทช. ดำเนินการในวันนี้ คือการเปิดโอกาสให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ขึ้นในตลาด ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านการเงินและทางด้านเทคนิค และได้ยื่นความประสงค์ขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. แล้ว รัฐบาลและ กสทช. ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักความเสมอภาค โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถส่งเอกสารการจองสิทธิการใช้งานวงโคจร ณ ตำแหน่งใด ๆ ต่อองค์การสหภาพ ITU อย่างเต็มที่
บทความนี้มุ่งหมายจะอธิบายถึงกระบวนการได้มาซึ่งสิทธิในวงโคจรดาวเทียมในทางระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กฎหมายควรจะแก้ไขปรับปรุงในอนาคตด้วยว่าควรเป็นอย่างไร และท้ายสุดประเทศไทยควรจะดำเนินการเกี่ยวกับการจองสิทธิในวงโคจรดาวเทียมโดยแนวคิดอย่างไร โดยหวังว่าผู้ที่ได้อ่านบทความนี้จะมีความเข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีวงโคจรใช้งานเพียงพอ เพื่อให้มีความเป็นไปได้ในการจัดสร้างดาวเทียมขึ้นใช้งานเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง ทั้งการสร้างธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ธุรกิจอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ ธุรกิจผู้รับจ้างติดตั้งจานดาวเทียม และทำให้ประเทศไทยมีช่องสัญญาณสำหรับให้บริการที่จำเป็นอย่างเพียงพอ เช่น การให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล (USO) การให้บริการเพื่อการศึกษาทางไกล (e-education) ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนนั่นเอง
Comments
ขอบคุณครับ อักษรพิมพ์เป็นตัวพิมพ์เล็ก หลายคำเป็นคำเฉพาะที่ต้องอธิบายเพิ่มในบทความ ไม่ใช่คำในความหมายทั่วไป ผมเลยคงไว้ครับ
บทความนี้ไม่มีอะไรชี้ชัดว่าผู้โพสต์กับผู้เขียนเป็นบุคคลเดียวกันนะครับ ดังนั้นช่วยยืนยันว่าได้รับอนุญาตจากผู้เขียนในการโพสต์ด้วยครับ
อธิบายเพิ่มไว้ในหมายเหตุแล้วครับ
นาาจะมีเป็น flowchart ขั้นตอนการขอใบอนุญาตจากองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ประกอบนะครับ จะได้ดูง่ายขึ้น จะ/ด้ดูชัดว่าขั้นตอนไหนที่เค้าถกเถียงกันอยู่
ตรงประเด็นที่สุด ชอบบทความนี้มากครับ T_T
เสริมความรู้อย่างดีเลยครับ
^
^
that's just my two cents.