Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 โดยเพิ่มเติมเนื้อหา " ข้อมูลการบริหารสิทธิ" (Rights Management Information) เป็นข้อมูลบ่งชี้ในตัวผลงานอันมีลิขสิทธิ์ และ " มาตรการทางเทคโนโลยี" (Technological Measures) คือเทคโนโลยีให้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เช่น การเข้ารหัสหรือถอดรหัส การตรวจสอบสิทธิใช้งาน) ให้มีผลคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

ผลจากการแก้กฎหมายครั้งนี้ทำให้ผู้ใดทำการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ หลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี หรือให้บริการเพื่อก่อให้เกิดการหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ (มาตรา 53/1 53/4) และถ้าใครนำงานที่เปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วยเช่นกัน (มาตรา 53/2)

สำหรับกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ทั้งผู้ให้บริการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูล ถ้าผู้ให้บริการไม่ได้เป็นผู้ควบคุม ริเริ่ม หรือสั่งการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดําเนินการตามคําสั่งศาล (มาตรา 32/3)

ในวันเดียวกัน พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน โดยเพิ่มเติมเนื้อหาให้การบันทึกเสียงหรือภาพในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และให้ทําซ้ำหรือดัดแปลงเพื่อประโยชน์ของคนพิการ ที่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อหาผลกำไร ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้

ทั้งนี้ ฉบับที่ 2 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ส่วนฉบับที่ 3 ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ที่มา - พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558

Get latest news from Blognone

Comments

By: Kittichok
Contributor
on 8 February 2015 - 21:28 #789498

ผมพยายามคิดข้อความที่จะพิมพ์มาตั้งแต่เห็นในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งได้หาร่างวาระหนึ่งทั้งสองฉบับ ( ร่างของฉบับที่ 2 และ ร่างของฉบับที่ 3 ) ที่มีหลักการ เหตุผล และบันทึกวิเคราะห์ มาอ่านแล้ว ก็ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองเข้าใจและเขียนออกมาถูกต้อง ถ้าผมเข้าใจใจความเนื้อหาผิดพลาด เชิญเขียนข่าวใหม่ได้เลยครับ

By: Kittichok
Contributor
on 8 February 2015 - 22:38 #789519 Reply to:789498

เย้ ! ดีใจที่ได้ขึ้นหน้าเผยแพร่แล้วหลังแก้คำผิดครั้งเดียว (^_^)

By: panurat2000
Contributor Symbian Ubuntu In Love
on 8 February 2015 - 21:35 #789500
panurat2000's picture

คือเทคโนโลยีให้ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ทำงานได้อย่างมีสิทธิภาพ

มีสิทธิภาพ => มีประสิทธิภาพ

ทำให้ผู้ใดการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ หลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยี

ทำให้ผู้ใดการ ?

รวมทั้งได้บฏิบัติตามคำสั่งของศาล

บฏิบัติ => ปฏิบัติ

By: Kittichok
Contributor
on 8 February 2015 - 22:01 #789511 Reply to:789500

ขอบคุณที่แจ้ง ได้แก้ไขแล้วครับ

By: platalay
iPhone Windows Phone Android Windows
on 9 February 2015 - 04:18 #789555

ย่อหน้า 2-3 ผมพยายามอ่านอยู่หลายรอบ อ่านแล้วไม่เข้าใจง่ะ

ใครช่วยแปลไทยเป็นไทยแบบเข้าใจง่ายๆหน่อยได้มั๊ยครับ T_T

By: Kittichok
Contributor
on 9 February 2015 - 08:46 #789582 Reply to:789555

ย่อหน้า 2 คนที่เอาผลงานไปแก้ไข DRM จะผิดกฎหมายนี้ รวมทั้งคนที่เอาผลงานที่แก้ไข DRM แล้ว ไปจำหน่ายหรือเผยแพร่ต่ออีก จะผิดกฎหมายด้วยเช่นกันย่อหน้า 3 ผู้ให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายหรือผู้ให้บริการฝากไฟล์ทั้งหลาย ถ้ามีผู้ฟ้องร้องเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์จนมีคำสั่งศาล ถ้าได้แสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำผิดกฎหมายนี้และได้ปฏิบัติคำสั่งศาลแล้ว จะไม่ถือว่ามีความผิดร่วมด้วย

ตัวอย่าง
ไฟล์เกมหนึ่งต้องเล่นโดยผ่านระบบตรวจสอบสิทธิของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่นาย ก ได้แก้ไขให้เล่นได้โดยไม่ผ่านระบบดังกล่าว (กลายเป็นเกมเถื่อน) แล้วยังอัพโหลดไฟล์ที่แก้ไขแล้วขึ้นเว็บบริการฝากไฟล์ A ให้คนอื่นดาวน์โหลด ซึ่งนาย ข เป็นหนึ่งในผู้ดาวน์โหลดไฟล์ที่แก้ไขแล้วนั้น และนาย ข ยังได้ไปอัพโหลดหรือแชร์ผ่านเครือข่ายของผู้ให้บริการเครือข่าย B (เช่น VPN P2P) หรือคัดลอกลงแฟลชไดร์เพื่อแจกจ่ายให้คนอื่น
เมื่อบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ฟ้องร้อง ทั้งนาย ก และนาย ข เป็นจะถือผู้ทำผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ส่วนเว็บบริการฝากไฟล์ A และผู้ให้บริการเครือข่าย B ถ้าพิสูจน์ตนได้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของนาย ก หรือนาย ข และทำตามคำสั่งของศาลแล้วจะไม่มีความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์

By: socool2550
iPhone Android
on 9 February 2015 - 05:42 #789556

ยกตัวอย่างตามที่ผมเข้าใจนะครับย่อหน้าที่2 ประมาณว่า ภาพเรานำภาพที่ใส่ลายน้ำหรือเราทำตำหนิไว้ว่าภาพนี้เป็นของเรา แล้วมีคนนำภาพเราไปCropรูปหรือทำให้ลายน้ำหรือตำหนิที่เราทำเอาไว้ออกจากรูป และนำไปหาผลประโยชน์ ถือว่าเป็นละเมิดสิทธิของเจ้าของภาพนั้น

ส่วนย่อหน้าที่3 ประมาณว่า ภาพเรานำภาพที่ใส่ลายน้ำหรือเราทำตำหนิไว้ว่าภาพนี้เป็นของเรา แล้วเอาไว้อัพโหลดไปไว้บนCloudแล้วมีคนเอาภาพของเราไปแก้ไขหรือลบลายน้ำหรือตำหนิของเราออกและเอาไปใช้หาผลประโยชน์ แล้วเจ้าของบริการCloudที่เราใช้บริการอยู่สบสวนแล้วว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการละเมิดสิทธิภาพถ่ายของเราก็จะไม่มีความผิดครับ

ปล.อธิบายและยกตัวอย่างตามที่ผมเข้าใจ ถ้าผิดพลาดตรงไหนขออภัยด้วยนะครับ

By: ketting
Android
on 9 February 2015 - 10:32 #789584

:)

By: Architec
Contributor Windows Phone Android Windows
on 9 February 2015 - 10:55 #789611

มันไม่ครอบคลุมถึงการสอบสวนเลย แบบนี้เว็บขายของเจ้านึงที่เคยโดนยกไปก็คงต้องโดนอีกรอบล่ะสิ

By: LazarusSP1
Contributor iPhone
on 9 February 2015 - 23:53 #789812

จริงๆ ผมอยากให้ Creative Commons เข้าไปรวมกับ พรบ.ลิขสิทธิ์ รวมไปถึงมีการรองรับพวกลิขสิทธิ์ของ Opensource ด้วยนะครับ

By: Kittichok
Contributor
on 10 February 2015 - 13:46 #789992 Reply to:789812

ผมจำได้ว่า Creative Commons เป็นสัญญาอนุญาตที่มีผลตามกฎหมาย ส่วนงาน Opensource น่าจะมีสัญญาอนุญาตอยู่แล้วนะครับ

By: chayaninw
Writer MEconomics Android In Love
on 10 February 2015 - 15:44 #790029 Reply to:789992
chayaninw's picture

ตามนั้นครับ Creative Commons ตั้งใจเขียนสัญญาที่อิงอยู่กับกรอบกฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ ให้เป็นสัญญาที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย (เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีการฟ้องร้องกันจริงๆ เลยไม่มีตัวอย่างว่า พอไปถึงชั้นศาลแล้วจะเป็นยังไง)