คำว่า "fellow" มีความหมายหนึ่งคือการเป็นสมาชิกที่ผลงานได้รับการยอมรับจากหน่วยงานด้านวิชาการ-สมาคมวิชาชีพ (เช่น research fellow)
บริษัทไอทีบางแห่งที่เน้นเรื่องการวิจัยเชิงวิชาการ ก็นำระบบ fellow มาใช้งานกับพนักงานของตัวเองด้วย ตัวอย่างที่พูดกันบ่อยๆ คือ IBM (ที่พนักงานในสังกัดได้รางวัลโนเบลไปแล้ว 5 คน) มีตำแหน่งชื่อ IBM Fellow ที่ซีอีโอจะเป็นคนแต่งตั้งพนักงานที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดเพียงไม่กี่คนต่อปีเป็น IBM Fellow อันทรงเกียรติ
เดือนที่แล้วมี IBM Fellow คนหนึ่งมาเมืองไทยคือคุณ Kerrie Holley ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันแนวคิด service-oriented architecture (SOA) ผมได้รับเชิญจาก IBM ประเทศไทยให้สัมภาษณ์คุณ Holley มาฝากกันครับ
ประวัติโดยย่อของคุณ Holley คือเป็นชาวอเมริกัน จบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และกฎหมายจากมหาวิทยาลัย DePaul ในชิคาโก ทำงานกับ IBM มาตั้งแต่ปี 1986 ทั้งในฝั่งธุรกิจคือ IBM Global Business และงานวิจัย
คุณ Holley เป็นหนึ่งในบุคคลที่ผลักดันแนวคิดเรื่อง SOA คนแรกๆ มีงานวิจัยและสิทธิบัตรด้านนี้หลายชิ้น เคยเป็น CTO ของศูนย์ IBM SOA Center of Excellence และได้รับการแต่งตั้งเป็น IBM Fellow ในปี 2006
ผลงานสำคัญของคุณ Holley คือ Service Integration Maturity Model หรือโมเดลการวัดว่าองค์กรแต่ละแห่งพัฒนาเรื่อง SOA มากน้อยแค่ไหน แนวคิดนี้ถูกนำไปพัฒนาเป็นมาตรฐานเปิดในชื่อ OSIMM โดยมีหน่วยงานมาตรฐานกลาง The Open Group เป็นผู้ดูแล
ประวัติโดยละเอียดดูได้จาก IBM และ Wikipedia
ผมถามว่ามาถึงวันนี้ แนวคิด SOA ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และวงการไอทีมองเรื่อง "เซอร์วิส" เป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว แต่สมัยที่คุณ Holley เริ่มต้นนั้นคงไม่ง่ายนัก คำถามคือถ้ามองย้อนกลับไป ในฐานะผู้ผลักดันเรื่อง SOA ประเมินผลงานของตัวเองอย่างไร
คำตอบของคุณ Holley คือแนวคิดเกือบทั้งหมดของ SOA นั้นถูกต้องและเกิดขึ้นจริงตามที่คิดกันไว้ เพียงแต่ชื่อเรียกอาจแตกต่างไปจากสมัยนั้น เช่น ตอนนั้นไม่มีใครเรียกคำว่า "คลาวด์" แต่ถ้าเอาเฉพาะแนวคิดก็เป็นเรื่องเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม มีบางเรื่องที่ทีมงานของเขาไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การบูมของอินเทอร์เน็ต การบูมของสตาร์ตอัพ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะสตาร์ตอัพจะบุกเข้าไปยังทุกวงการ และพยายามเปลี่ยนแปลงมันด้วยไอที ในอนาคตเราจะเห็นการหลอมรวมของเทคโนโลยี 3 อย่างเข้าด้วยกัน
- ระบบไอที ("แอพพลิเคชัน")
- คน ("โซเชียล")
- สิ่งของ ("เซ็นเซอร์" ตามแนวคิดของ IoT)
โลกไอทีจะหมุนเร็วมาก สุดท้ายเราจะมีองค์กร 2 ประเภท คือองค์กรที่เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน กับองค์กรที่ยังยึดติดกับแนวคิดเก่าๆ ซึ่งทั้งสององค์กรนี้มีระดับความเร็วในการใช้งานเทคโนโลยีต่างกันอย่างสิ้นเชิง (คุณ Holley ใช้คำว่า "Bimodal IT")
ส่วนเรื่องคลาวด์นั้น คุณ Holley บอกว่าถ้าดูภาพรวมระยะยาวแล้ว เราเพิ่งเริ่มเข้าสู่ยุคของคลาวด์เท่านั้น เส้นทางเบื้องหน้ายังอีกยาวไกล ซึ่งภารกิจของ IBM คือการสร้างแอพพลิเคชันบนอุปกรณ์ยุคใหม่ๆ (ที่ไม่จำกัดแค่สมาร์ทโฟน แต่รวมสิ่งของ รถยนต์ ฯลฯ) ให้เข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ความร่วมมือระหว่าง IBM กับแอปเปิล ซึ่งอยากให้มองว่า IBM ไม่ได้ทำธุรกิจมือถือ แต่อยู่ในธุรกิจที่ช่วยให้ลูกค้าสร้างแอพพลิเคชันที่เหมาะกับตัวเอง
ในประเด็นเรื่องการศึกษาและการวิจัย คุณ Holley บอกว่าทุกประเทศควรสนับสนุนให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และส่งเสริมทักษะการเขียนโปรแกรม ให้มีความสำคัญเทียบเท่ากับการอ่าน-เขียน
ผมถามว่าในฐานะที่ทำงานด้านการวิจัยมานาน คุณ Holley มีคำแนะนำอะไรต่อนักศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ที่ยังเรียนไม่จบบ้าง คำแนะนำมีดังนี้
- ตำแหน่งงานที่ขาดมากคืองานด้านนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist) และด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst)
- นักศึกษาควรใช้เวลาช่วงปีแรกๆ เรียนความรู้ทั่วไปให้กว้างที่สุด พื้นฐานคอมพิวเตอร์ คอมไพเลอร์ ระบบปฏิบัติการ การเขียนโปรแกรม
- จากนั้นเมื่อพอรู้ว่าเราอยากทำด้านไหนแล้ว ค่อยลงลึก คนเราจำเป็นต้องหาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ (specialize) เพื่อสร้างความต่างให้ตัวเอง
คำถามสุดท้ายคือ ประเทศไทยมีโอกาสอย่างไรบ้างในโลกไอที เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่เหมือนสหรัฐ คุณ Holley บอกว่าโอกาสมีอยู่เสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคืออิสราเอลเป็นประเทศเล็กๆ แต่มีสตาร์ตอัพโดดเด่นมากมาย การสร้างสตาร์ตอัพไม่ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาเองทั้งหมด แต่สามารถใช้ช่องว่างทางธุรกิจที่มี สร้างตัวเองขึ้นมาได้
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ GrabTaxi ของมาเลเซีย ในอดีตนั้นเราต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลเพื่อสร้างระบบแบบนี้ แต่ปัจจุบันเราสามารถใช้คลาวด์เป็นตัวช่วยในเรื่องระบบ แล้วเอาเวลาไปพัฒนาเรื่องอื่นๆ แทน ต้นทุนของการสร้างระบบไอทีจึงถูกมากเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ก็ช่วยให้ GrabTaxi แข่งขันในทางธุรกิจได้
ภาพประกอบจาก Wikipedia
Comments
ผลักดิน > ผลักดัน
ผลักทำไมดิน ฮ่าๆๆๆๆ
ผลักดิน ไปทำอะไร
แนวคิดดีมากเลยครับ สมแล้วกับเป็นเจ้าพ่อ SOA มันทำให้ชีวิตผมง่ายขึ้นเยอะเลย
IBM ผลักดันเทคโนโลยีหลายๆอย่างจริงๆ
เสียดายที่ผลักตัวเองออกจากตลาด consumer
ถ้า IBM มาลงตลาดนี้อยู่แล้วทำ Mobile Ecosystem มาแข่งกับ Apple, Google นี่อยากรู้มากว่าจะออกมาในทิศทางไหน
IBM เขาคงคิดดีแล้วครับว่าทำของเล็กแล้วขาดทุน เลยขายของ Consumer ให้ Lenovo หมด
เพิ่งได้มาอ่าน แนวคิดดีมากๆ เลยครับ
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: HP Zbook, iPad Pro, iPhone 15PM, iPhone 16+, Nothing Phone 1