กลับมาพบกันอีกครั้งกับ Niche Review ครับ กับ gadget ที่ไม่รู้ว่าเพราะมันหาซื้อยากหรือไม่มีคนสนใจกันแน่ คราวนี้จะมารีวิว Google Daydream ให้ดูกัน
Google Daydream (ที่ไม่ใช่ screen saver) เปิดตัวออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยที่ Google วางไว้ให้เป็นมาตรฐานของ VR ที่จะมาแทนอันเดิมคือ Google Cardboard และในงาน #madebygoogle เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นอกจากจะเปิดตัว Pixel และ Pixel XL Google ก็เปิดตัว Daydream View ซึ่งเป็น headset ตัวใหม่ที่รองรับมาตรฐาน Daydream ออกมาด้วย โดยที่ช่วงแรกรองรับเฉพาะ Pixel และ Pixel XL
จนถึงบัดนี้ หกเดือนผ่านไป จำนวนโทรศัพท์ที่รองรับก็เพิ่มขึ้นมา อย่างน่าใจหายอีก 3 รุ่นหลักๆ ซึ่งก็คือ Moto Z, ZTE Axon 7 และ Huawei Mate 9 Pro (เห็นบนเว็บไซต์ยังขึ้นสถานะ Asus Zenfone AR ที่รองรับทั้ง Daydream และ Tango ว่ายังเป็นสถานะ Coming Soon อยู่) ที่อย่างน้อยก็ยังดี ที่มีขายในเมืองไทยหมดแล้ว แต่ตัวมันเองและ Pixel ก็ยังไม่มีขายอย่างเป็นทางการเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ผมได้เอามาใช้งานอยู่สองสามเดือนแล้ว จะพาไปชมว่ามันเป็นยังไงบ้างครับ
เราเริ่มดูกันจากตัวกล่องและรูปร่างโดยรอบก่อนเลยครับ จริงๆแล้ว Daydream View จะมีทั้งหมดสามสี คือ เทา ขาว แล้วก็สีนี้ ซึ่งคงเป็นสีที่เหมาะกับคนเลือก Pixel สี Very Blue ที่สุด
ในส่วนที่ใช้สวมใส่ สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ง่ายๆครับ
อันนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง MI VR Play ที่ต้องถือว่าเป็น Google Cardboard ที่ไฮโซประมาณนึง แต่เมื่อเปรียบกันชัดๆแล้ว Daydream View ก็สวยกว่าเยอะอยู่นะผมว่า Google Daydream View ใช้วัสดุที่เป็นผ้าโดยที่ Google บอกว่าออกแบบมาจากเสื้อผ้าที่คนใส่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีตัวสายคาดหัวที่รัดเฉพาะด้านหลังหัวอย่างเดียว
ส่วนด้านหน้าจะเป็นที่ที่ไว้ใช้ใส่โทรศัพท์เข้าไป แล้วก็เป็นที่เก็บรีโมทด้วย โดยที่มีสายรัดอยู่
ตัว controller จะมี Touchpad อยู่บนสุด ถัดลงมาเป็นปุ่มที่เรียกว่าปุ่ม App (จริงๆ ก็ใช้งานเหมือนปุ่ม Back ล่ะครับ) และก็ล่างสุดเป็นปุ่ม Home ด้านขวามีปุ่มเพิ่มลดเสียง
เมื่อเริ่มใช้งานครั้งแรก จะต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างโทรศัพท์กับ headset และอาจจะมีการอัพเดตตัว controller ซึ่งใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อด้วย แต่หลังจากครั้งแรกแล้ว เพียงแค่เปิดส่วนที่ใช้ใส่โทรศัพท์ ปลดล็อกแล้วก็วางเครื่องเข้าไป ตัว NFC chip จะสั่งให้โทรศัพท์เข้าไปที่แอพ Daydream โดยอัตโนมัติ
หลังจากใส่โทรศัพท์ไปรูปร่างก็จะเป็นประมาณนี้
ครั้งแรก ก็จะมีเหมือนคำเตือนและคำแนะนำในการใช้ตามนี้ครับ
เมื่อเริ่มเปิดขึ้น ตัวแนะนำการใช้งานทำได้ดีมาก จะมีบอกว่าแต่ละปุ่มใช้ทำอะไร แล้วก็ตัว Daydream เนี่ย เมื่อใช้ไปสักพัก มันจะมีอาการหลงทิศ แต่เราสามารถที่จะปรับมันได้ โดยการหันไปทิศทางที่ต้องการแล้วกดปุ่ม Home ค้าง ด้านนั้นก็จะกลายเป็นด้านหน้า
หลังจากนั้น ก็จะมีฉากเล็กๆน้อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย เช่น ให้เราเปิดไฟฉายแล้วก็หันไปดูสัตว์รอบๆ มีให้โยนขอนไม้เล่นกับสุนัข แล้วก็เขย่าต้นมะพร้าวให้ลูกตกลงมา ประมาณนี้ครับ
หน้าจอหลักจะเป็นแบบนี้ ส่วนแถวบน ผมดูรีวิวต่างประเทศก็จะขึ้นปรกติ แต่ผมไม่แน่ใจว่าทำไมของผมไม่ขึ้น
แถวกลาง จะเป็นแอพล่าสุดส่วนแถวล่างก็จะเป็น Play Store และ Library ซึ่งใช้เข้าไปสู่แอพทั้งหมดที่มีในเครื่องแล้วก็ Settings ซึ่งไม่ได้มีอะไรให้ปรับได้เท่าไร
ถ้ามองลงมาข้างล่างจะเห็นตัว controller อยู่ด้วยนะครับ
แอพที่รองรับ มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น แอพของ Google เอง อย่าง YouTube VR ที่มีคลิปต่างๆให้ดูเยอะมาก บางอันก็ทำดีมาก บางอันก็เฉยๆ ส่วน Google Street View อันนี้ พอเป็น VR เนี่ย มันทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับสถานที่ขึ้นมากเลยครับ หวังว่าวันนึง Street View จะทำเป็นแบบให้เราเดินในถนนได้จริงๆเลย
แอพอื่นๆด้านบันเทิงก็มี ไม่ว่าจะเป็น Netflix ที่จะจำลองเหมือนเรานั่งอยู่ในห้องแล้วก็มีจอใหญ่ๆอยู่ด้านหน้า หรือแอพ NYT VR ที่เป็นเหมือนเรื่องราวให้เราเข้าไปชมได้ มีให้เลือกหลายเรื่องอยู่
ในส่วนของเกม ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น Fantastic Beasts and Where to Find Them ที่คนเล่น Harry Potter ก็จะคุ้นเคยดี อันนี้ เวลามองลงไปที่ Controller จะเห็นเหมือนมันเป็นไม้กายสิทธิ์ด้วยหรือเกมรถแข่งอย่าง VR Karts:Sprint ก็จะให้เราเปลี่ยนไปจับ Controller เหมือนเป็นจอย แล้วก็ใช้การเอียงมันในการเลี้ยว
ด้านล่างเป็นภาพตัวอย่างจากแอพนะครับ
Google Street View
VR Karts:Sprint
สรุปผมว่า การใช้งาน Daydream View เนี่ย มันให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นมากว่าการใช้ Google Cardboard พอสมควร แล้วตัว Controller เนี่ย ก็สามารถให้เราสั่งการตัวมันได้ดีว่า แล้วก็น่าจะทำให้ developer มีอิสระมากกว่าในการออกแบบตัวแอพด้วย
แต่ว่า ด้วยความที่ถึงแม้จะออกมาแล้วมากกว่าครึ่งปี และจำนวนแอพที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนรุ่นของโทรศัพท์เนี่ย มันก็ไม่ได้มีเพิ่มขึ้นมาเยอะเท่าไรเลย คงต้องรอดูกันต่อไปครับ ว่าจะเป็นไง
ข้อดี
- สายรัดหัว และ controller เป็นส่วนหลักที่ทำให้การใช้งานดีขึ้นกว่าเดิมมาก
- ใช้งานง่าย
- แอพที่รองรับ ผมว่าเยอะมากเลยนะ เล่นกันไปได้เรื่อยๆเลย
- ตัวแอพหลายๆตัวมีความน่าสนใจดี
- มันคือการได้เข้าไปลองใช้ VR แบบเริ่มต้นที่คุ้มค่าต่อการลงทุนที่สุด
ข้อไม่ค่อยดี
- ไม่มีขายอย่างเป็นทางการในเมืองไทย
- โทรศัพท์รุ่นที่รองรับยังมีน้อยอยู่
- ราคาไม่ได้ถูกมาก
- ใส่นานๆแล้วมีอาการล้าอยู่เหมือนกัน
- ถ้าเป็นโทรศัพท์ที่ไม่ใช่จอ QHD น่าจะไม่ค่อยดีครับ ของผม Pixel XL เวลาเล่นจริงๆ ก็ยังเห็นว่ามันเป็นเม็ด Pixel
ถ้าอยากดูเพิ่มเติม ตามเข้าไปที่วิดีโอรีวิวด้านล่างเลยได้เลย เท่าที่เห็นคิดว่าน่าจะเป็นตัวแรกที่เป็นรีวิวภาษาไทยครับ
ขอบคุณครับ
Comments
มีแอปสำหรับทำงานหรือเปล่าครับอย่างเช่่น RDP Textediter office
VR นิเล่นนานๆ จะเสียสายตาไหมครับ แฟนบอกแสงมือถือยิงตรงใส่ตาเลยนะ เหมือนจ้องจอtvในที่มืดใกล้ๆ?ผมก็แอบเนียนๆเล่นเกมดูหนังตอนแฟนไม่เห็น คือผมสายตาสั้นอยุ่แล้วเลยไม่รู้ มันสั้นลงหรือป่าว?
สรุปสั้นๆ ถ้าปรับถูกต้องไม่ต้องห่วงครับ
แบบยาว ผมแยกเรื่องนะครับ
เรื่องแรก เหมือนจ้องจอ TV ใกล้ๆ เกรงจะสายตาสั้นอีก การที่จ้องอะไรใกล้ๆ นานๆ แล้วส่งผลให้สายตาสั้นมันเกิดจากกล้ามเนื้อที่รั้งเลนส์ตามันเคยชินกับการทำตัวให้อยู่ในระยะนั้นนานๆ บ่อยๆ จนมันยืดค้างๆ อยู่ระยะนั้นครับ แต่พวกแว่น VR, AR นี้จะมีเลนส์นูนที่คำนวณระยะโฟกัสมาแล้วทำให้เราสามารถมองภาพใกล้ๆ ได้โดยที่เลนส์ตานั้นปรับระยะโฟกัสไกลๆ (ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นระยะไกลกว่าระยะหน้าจอคอมพิวเตอร์ปกติด้วย แต่ผมยังไม่ได้ลองนะครับ) ดังนั้นอย่าไปคิดว่ามันใกล้ครับ ดวงตาเราทำงานเหมือนมันไกลนี่แหละแต่เราต้องปรับระยะโฟกัสให้เหมาะสมครับ
เรื่องสอง เหมือนจ้อง TV ในที่มืด อันนี้ผมเคยพูดถึงคร่าวๆ ไว้ ในนี้ ครับ เอามาเล่าในกรณีนี้อีกทีแล้วกัน
ดวงตาคนเรามีระบบปรับปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาหลักๆ อยู่สองตัวครับ ตัวแรกนึงคือความล้าของจอตาเรา เจอแสงสว่างสักพักมันจะล้ากว่าส่วนที่ไม่เจอแสงครับ แต่ตัวนี้ต้องใช้เวลาพักนึงกว่าจะมีผลทำให้ถ้าเรากลอกตาไปมา (ซึ่ง ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะนิ่งสนิท) มันก็จะไม่มีผล อันนี้ส่งผลกระทบที่รู้จักกันดีสองอย่างครับ อย่างแรกคือการปรับ white balance ของเราเอง พอแสงมันเป็นสีนึงทั้งหมดตาเราก็จะล้าจนมองสีนั้นเป็นขาวไปเอง อีกอย่างคือคือการมองภาพ negative ที่ให้มองจุดนึงค้างไว้แล้วไปมองผนังขาวๆ ครับ เนื่องจากมันล้าแยกตามเซลล์สีด้วยดังนั้นส่วนที่เรามองเห็นเป็นสีแดงทีแรกนั้นเซลล์รับสีแดงมันล้าไปแล้วจนรับรายงานค่าออกมาน้อยลงส่วนเซลล์รับสีเขียวกับน้ำเงินรับแสงได้ปกติ พอไปมองพื้นขาวๆ ที่ทุกสีมีค่าเท่ากันนั้นเราเลยมองเห็นสีแดงน้อยลงไปกลายเป็นสีฟ้าแทน แต่อันนี้นี่ไม่น่ามีผลกระทบในกรณีนี้
ตัวปรับแสงที่เป็นตัวหลักอีกตัวคือม่านตาครับ เวลาที่แสงน้อยกล้ามเนื้อม่านตาจะหดทำให้รูม่านตาขยายและรับแสงได้มากขึ้น ซึ่งส่วนนี้จะปรับแสงแบบค่าเฉลี่ยของแสงที่เข้ากระทบจอตา (เรตินา) ถ้าเรามองไปข้างนอกกลางวันแสกๆ มันจะสว่างทั่วไปหมดรูม่านตาก็จะแคบ ถ้าเรามองไปในห้องมืดๆ รูม่านตาก็จะกว้าง แต่ถ้าเรามอง TV ในที่มืดๆ ล่ะ? รูม่านตาจะปรับครึ่งๆ กลางๆ ครับมองที่มืดไม่ค่อยเห็น แล้วก็มองเห็นภาพหน้าจอสว่างเกินไป
ซึ่งในกรณีของ VR นี้ ภาพมันครอบคลุมพื้นที่มากกว่า TV มากครับ น่าจะเกิน 80-90% ของเรตินาเลย ทำให้ส่วนมืดมีน้อยและกระทบกับการปรับรูม่านตาค่อนข้างน้อยครับ กระทบบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการปรับอีกเช่นกัน เราต้องปรับให้เลนส์ของแว่น VR อยู่ใกล้ลูกตาเราให้มากครับ ยิ่งใกล้มากภาพจะยิ่งครอบคลุมมุมกว้างขึ้น แต่ก็ต้องระวังไม่ให้มันใกล้จนส่งเชื้อโรคมาเข้าลูกตาเราได้เหมือนกัน (ซึ่งคงไม่มีใครปรับจนลูกตาโดนเลนส์นะครับ ฮาาา)
โอ้ววววว ขอบคุณครับ
ตามที่คุณ hisoft ตอบไป อันนี้ ลงลึกเกิน ผมไม่มีความรู้เหมือนกันแฮะ
แต่ที่ตอบได้คือ ถ้าใส่นานๆ มึนแน่นอน เพราะตอนทำวิดีโอรีวิวนี่ เล่นซะเกือบขย้อนเลยครับ
ช่อง Youtube ของผมครับ รีวิวและชวนคุยนู่นนี่
ตาไม่เป็นไร
แต่เมาครับ
มึนอ๊วกแตกอ๊วกแตนเลยทีเดียว
หน้าจอหลักแถวบนไม่ขึ้นเพราะยังไม่รองรับประเทศไทยครับ
ทางแก้คือไป Clear Data ของ Daydream และ Google VR Services แล้วเข้าไปใช้ใหม่โดยไม่ Login ครับจะเข้าไปดูได้ แต่ห้าม Install Application ผ่านทางนี้นะครับ ไม่งั้นจะเป็นเหมือนเดิม
ให้ดูผ่าน VR แต่จะลง App อะไรให้มาลงผ่าน Play Store นอก VR เหมือนเดิม
จยถึง => จนถึง
เวบไซต์ => เว็บไซต์
นีง => นึง / หนึ่ง
เพื่ม => เพิ่ม
อัพเดท => อัพเดต / อัปเดต
ใช่ => ใช้
เกมส์ => เกม
คุ้มค้า => คุ้มค่า
ไม่ใช้ => ไม่ใช่
เรียบร้อย ขอบคุณครับ
ช่อง Youtube ของผมครับ รีวิวและชวนคุยนู่นนี่