Airbus บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ได้ออกมาให้ข่าวความคืบหน้าของ Vahana โครงการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับเพื่อการโดยสาร ซึ่งล่าสุดประสบความสำเร็จการทดลองบินจริงเป็นครั้งแรกแล้ว
Vahana เป็นอากาศยานแบบ VTOL (Vertical Take-off and Landing) นั่นคือขึ้นบินและลงจอดในแนวดิ่ง ตัวเครื่องมีความยาวประมาณ 6 เมตร กว้างประมาณ 5.7 เมตร ภายในมีที่นั่งรองรับผู้โดยสารได้ 4 คน มันถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถบินได้โดยอัตโนมัติไม่ต้องพึ่งนักบิน พิสัยการบิน 100 กิโลเมตร และจะทำความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือ Vahana นั้นเป็น e-plane นั่นคืออาศัยเพียงพลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน มันใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออน 4 ก้อน จ่ายกำลังงานรวม 140 กิโลวัตต์ ขับเคลื่อนมอเตอร์ใบพัดจำนวน 8 ใบ
Airbus ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ในการทำให้ภาพสเก็ตช์ต้นแบบไอเดียอากาศยานเพื่อการโดยสารแบบ VTOL เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจนทำการทดสอบการบินจริงได้ในท้ายที่สุด โดยการทดสอบมีขึ้นที่ Oregon เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดย Vahana ทดสอบการออกตัวบินขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 5 เมตร และเลี้ยงตัวเครื่องซึ่งมีน้ำหนักรวม 745 กิโลกรัม ค้างอยู่กลางอากาศนาน 53 วินาที
Zach Lovering ผู้บริหารโครงการ Vahana กล่าวถึงการทดสอบว่ายานบินของพวกเขาใช้พลังงานในการบินทดสอบเกือบ 1 นาที คิดเป็น 8% ของพลังงานแบตเตอรี่ทั้งหมด ซึ่งคำนวณได้ว่าเครื่องรุ่นทดสอบนี้ยังคงบินต่อเนื่องได้เต็มที่แค่ประมาณ 12 นาทีเท่านั้น
แผนการทดสอบขั้นถัดไปของ Vahana คือการทดสอบการบินไปข้างหน้า และปรับปรุงเครื่องโดยเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์จากผู้ผลิตรายใหม่ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะช่วยลดการใช้พลังงานได้บ้าง
ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ Airbus ที่คิดทำบริการแท็กซี่ทางอากาศ คู่แข่งคนสำคัญอย่าง Boeing ก็เดินหมากเข้าสู่ธุรกิจบริการโดยสารแบบใหม่นี้แล้วเช่นกันโดยเข้าซื้อกิจการของ Aurora Flight Science ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาอากาศยานอัตโนมัติที่ร่วมมือกับ Uber พัฒนาบริการแท็กซี่ทางอากาศ Elevated Project นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้พัฒนาอากาศยานอัตโนมัติเพื่อการโดยสารรายอื่นที่ต่างก็พยายามเดินหน้าโครงการอยู่ในขณะเดียวกัน
Airbus เองตั้งเป้าว่าจะทำการทดสอบให้ Vahana สามารถเริ่มให้บริการจริงได้ภายในปี 2020 ลองจับตาดูว่าระหว่างอากาศยานไร้คนขับเพื่อการโดยสาร กับรถยนต์ไร้คนขับ อย่างไหนจะให้บริการจริงได้ก่อนกัน?
ที่มา - AVweb , Digital Trends , CleanTechnica
Comments
น่าจะใช้เครื่องยนต์ลูกผสมนะครับ Main Rotor ใช้น้ำมัน ส่วน rotor รักษาระดับใช้ไฟฟ้าที่ปั่นจาก Main Rotor น่าจะบินได้นานพอ ๆ กับ ฮ.
อยากได้ low speed adaptive cruise control แบบออกตัวได้เอง อ่ะครับ เอาแค่นี้ก็ ฟินแล้ว
ก็ไม่รู้จะทำเป็นโดรนใช้ไฟฟ้าทำไมให้ยุ่งยาก แค่เอาระบบการบินไร้คนขับมาใส่เฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้งานได้จริงอยู่แล้วมาหลายสิบปีก็น่าจะใช้งานได้แทบทันที
fail-safe ครับ หลายหัวดีกว่า สองหัว อยู่แล้ว
เฮลิคอปเตอร์มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วในแนวราบ --> กินพลังงานโดยปล่าวประโยชน์เยอะ
เฮลิคอปเตอร์ใบพัดเดียวมีจุดอ่อนคือ ต้องอาศัยแรงตรงข้ามในการรักษาสมดุล (ใบเล็กๆที่หาง)แค่นกพุ่งเข้าตัวเดียวเครื่องก็ตกแล้ว
เฮลิคอปเตอร์ใบพัดเดียว เสียงดังแบบ ดังบรรลัยมาก ไม่เหมาะกับการใช้ในเขตชุมชนข้อดีของระบบไฟฟ้า มอเตอร์เสียงเงียบ
เครื่องบิน มีการใช้หลักการร่อน ทำให้ประหยัดพลังงาน แต่ข้อเสียคือต้องมีลานบิน ทั้งจุดขึ้น จุดลงข้อดีของ ฮ คือระบบ VTOL ที่ไม่ต้องอาศัยลานบินยาวเป็นร้อยเมตร
Vahana = พาหนะ นั่นเอง ก็งงตั้งนาน (ภาษาสันสกฤต)