อัพเดต: แก้ไขข้อมูลผิดพลาดจากที่ระบุว่า Akademik Lomonosov เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำลำแรกของโลก เนื่องจากแท้จริงแล้วก่อนหน้านี้มี MH-1A Sturgis ของกองทัพบกของสหรัฐอเมริกาใช้งานมาก่อนแล้วในช่วงยุค 60-70
เช้าวันเสาร์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ณ St. Petersburg ประเทศรัสเซีย คือช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับทีมงานช่างและวิศวกรหลายร้อยชีวิต พวกเขาได้ปลดปล่อยยักษ์ตนหนึ่งให้ออกเดินทาง มันเป็นยักษ์สีแดงที่ลอยตระหง่านเหนือผิวน้ำมีชื่อว่า Akademik Lomonosov และมันจะถูกทั้งโลกรู้จักในฐานะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้ลำแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์
Akademik Lomonosov คือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่สร้างโดย Rosatom บริษัทผู้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และประกอบธุรกิจพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย โดยชื่อของเรือลำนี้ถูกตั้งตามชื่อของ Mikhail Lomonosov นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียที่มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นผู้ค้นพบชั้นบรรยากาศบนดาวศุกร์ และพบกฎการอนุรักษ์มวลของปฏิกิริยาทางเคมี
Akademik Lomonosov มีระวางขับน้ำ 21,000 ตัน ความยาวของมันจากหัวจรดท้าย 144 เมตร และมีความกว้าง 30 เมตร การเคลื่อนที่ต้องอาศัยเรือลากจูง เนื่องจากไม่มีระบบขับเคลื่อนเพื่อเดินทางในตัวเอง ในส่วนของระบบการผลิตไฟนั้นใช้เตาปฏิกรณ์ KLT-40C จำนวน 2 ลูก ซึ่งแต่ละลูกมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 35 MW
หลังเดินทางออกจาก St. Petersburg แล้ว Akademik Lomonosov จะแล่นผ่านทะเล Baltic อ้อมประเทศฟินแลนด์, สวีเดน และนอร์เวย์ ก่อนเบนเข็มมุ่งหน้าไปยังเมือง Murmansk ของรัสเซีย ที่จุดแวะพักนี้มันจะได้รับการเติมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เข้าสู่เตาปฏิกรณ์ ก่อนจะเดินทางไปยังจุดหมายปฏิบัติการคือการทำหน้าที่จ่ายไฟทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าในเมือง Pevek ที่ห่างจาก Murmanks ออกไปทางตะวันออกราว 4,300 กิโลเมตร
Rosatom ระบุว่า Akademik Lomonosov จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละ 50,000 ตัน เมื่อเทียบกับการใช้งานโรงไฟฟ้าเก่า 2 แห่งของ Pevek ในปัจจุบัน ซึ่งโรงหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กำลังผลิต 48 MW อายุกว่า 40 ปี ส่วนอีกโรงคือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอายุมากกว่า 70 ปี โดยเป้าหมายการเชื่อมต่อ Akademik Lomonosov จ่ายไฟเข้าระบบได้จริงภายในปี 2019
ก่อนหน้าการสร้าง Akademik Lomonosov หลายปี ในช่วงยุค 60 สหรัฐอเมริกาเคยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้มาก่อนแล้ว ชื่อของมันคือ MH-1A Sturgis ถูกสร้างขึ้นในปี 1961 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Army Nuclear Power Program ซึ่งโครงการนี้ได้ยุติไปในปี 1977 แต่งานสร้างของรัสเซียในตอนนี้มีเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าลอยน้ำได้หลายลำเพื่อกระจายออกไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่งโดยไม่เกี่ยวกับกิจกรรมของกองทัพ
ในระหว่างนี้ Rosatom กำลังอยู่ในระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แบบลอยน้ำได้ลำที่ 2 โดยเปลี่ยนมาใช้เตาปฏิกรณ์ RITM-200M จำนวน 2 เตา โดยแต่ละเตามีกำลังการผลิตไฟ 50 MW ซึ่งแม้จะมีกำลังการผลิตไฟที่สูงกว่า Akademik Lomonosov ราว 43% แต่ Rosatom ยืนยันว่าเรือลำที่ 2 นี้จะมีขนาดเล็กกว่า Akademik Lomonosov
ที่มา - Energyworld , Ars Technica
Comments
เคยนึกเล่นๆไหนๆคนไทยก็กลัวสร้างนิวเคลียร์ก็น่าไปสร้างวางลอยบนอ่าวไทย
ไม่น่าจะรอด NGO คงโวยน่าดู ซื้อไฟจากเพื่อนบ้านเอาเถอะ
ลอยน้ำนี่ผมยิ่งไม่เห็นด้วยเลยครับ มีปัญหามาเร่งด่วนเข้าไปแก้ไขลำบากกว่า หรือถ้าถึงขั้นหลอมนี่ลงทะเลอย่างเดียวเลย บนบกยังกระทบพื้นที่น้อยกว่า
โอเค บนบกกระทบคนเยอะกว่า แต่คนเป็นคนทำครับ ทำพลาดแล้วกระทบตัวเองก็ถูกต้องแล้ว
จริงๆ มันน่าจะปลอดภัยนะครับ ตัวอย่าง เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกานี่นิวเคลียร์มานานแล้วด้วยนะครับ
คือพวกเรือบรรทุกเครื่องบิน/เรือดำน้ำนี่มันค่อนข้างชัดเจนว่าจุดประสงค์คือให้พลังงานเคลื่อนที่น่ะครับ แต่การตั้งโรงไฟฟ้าแบบไม่ได้จะให้เคลื่อนที่ไปไหนนี่เอาออกไปลอยมันมีข้อดีอะไรบ้าง ถ้ามันคุ้มผมก็ไม่เกี่ยงหรอกแต่พอดีจิ้นๆ เอาแล้วยังไม่เห็นน่ะครับ
เจอข่าวเก่าๆ
ทีมวิศวกรเสนอแนวคิดสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำ ทนทานต่อแผ่นดินไหว
ถ้าตามนี้จริงก็เรื่องป้องกันภัยธรรมชาติ แต่ข่าวบอกต้องสร้างไกลๆ หน่อย แต่ผมว่าข้ออีกเรื่องสร้างที่โรงงานแล้วย้ายไปตั้งง่ายๆ ไม่ต้องเตรียมสถานที่มาก
อยู่บนทะเลผมว่าเรื่องเตาหลอมละลายเป็นไปได้ยากกว่าบนบกนะ
พอดีเห็นข่าวของญี่ปุ่นที่โรงไฟฟ้าขาดน้ำจืดเลยเอาน้ำทะเลเติมไป หลังจากนั้นเกลือก็เกาะรอบเตา (เพราะมันเดือดตอนดูดความร้อนออกมา) สุดท้ายน้ำเข้าไม่ถึงตัวปล่อยความร้อนแล้วแกนก็หลอมน่ะครับ
แต่คงออกแบบแก้ได้? มั้ง
จริงๆ ถ้าเตาทำงานปกติดี เอาไฟฟ้ามาสร้างน้ำจืดจากน้ำทะเล ก็ได้นะครับ ได้น้ำไม่จำกัดด้วย แบบที่เรือดำน้ำนิวเคลียร์ทำกัน ได้ออกซิเจนด้วยมั้ง H2O พอน้ำไปหล่อเย็นเสร็จ ก็ได้อุ่นออกมาด้วย รังสีไม่มีเพราะน้ำนี้แยกส่วนกัน ของอเมริกา ที่ตั้งแถวแม่น้ำอ่านเจอเขาบอกว่าปลาชอบไปว่ายแถวๆ นั้นด้วย น้ำมันอุ่น ฮ่าๆ
รู้สึกมันจะมีส่วนที่เป็น desalination plant ในตัวครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
ถ้าเกิดเพื่อนบ้านทำ แล้วเกิดตูมตามขึ้นมา เราก็โดนด้วยอยู่ดี
เข้าใจว่าซื้อต่างประเทศทำให้ความมั่นคงต่ำกว่าสร้างนิวเคลียร์เยอะ ผมว่าสร้างบนทะเลถ้าออกแบบดีปลอดภัยกว่าเพราะต่อให้เกิดอุบัติเหตุจนระบบล่อเย็นหยุดทำงานเอาเตาจุ่มน้ำทะเลลดความร้อนแทนได้ทำให้โครงสร้างไม่ร้อนจนเสียหายและไม่เกิดการรั่วไหลเพราะเตาละลายด้วย
เค้าคงออกมาประท้วงกันว่าส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมประมงแหละครับ กลัวสัตว์น้ำจะกลายพันธุ์กลายเป็นก๊อดซิลล่า ไม่ก็คนกินสัตว์น้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตะรังสีจะกลายร่างเป็นเดอะฮัล์คมั้ง
ถ้าเป็นเดอะฮัล์คได้ก็คงดีครับ แต่เผอิญว่าก็คงออกมาแต่เป็นมะเร็งกันเต็มไปหมดเสียมากกว่า
โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์แบบลอยน้ำลำแรกของโลกน่าจะเป็น MH-1A Sturgis มากกว่าครับ
น่าจะเป็นลำแรกที่ใช้เตาปฏิกรสองตัว
แก้ไขแล้วครับ ขอบคุณมาก
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกา นี่สเป็คสูงกว่าหรือเปล่า
ถ้าเกาหลีเหนือทำบ้าง ..
my blog
โอ้ว ได้พล๊อตหนังเรื่องใหม่ หรือ เนื้อเรื่องของเกมส์ อย่าง COD ละ