เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา Siemens Healthineers บริษัทลูกในเครือ Siemens ได้มีการแถลงข่าวในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับทิศทางของเทคโนโลยีและวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้งานในสายสุขภาพ โดย Dr. Tobias Seyfarthกรรมการผู้จัดการ และประธานประจำภูมิภาคอาเซียนของบริษัท
Blognone มีโอกาสได้ไปร่วมงานแถลงดังกล่าว จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาสรุปการแถลงข่าวดังกล่าวครับ
Siemens Healthineers เป็นบริษัทในเครือกลุ่ม Siemens แต่เดิมเป็นแผนกหนึ่งในเครือของบริษัท จากนั้นจึงค่อยๆ เติบโตขึ้น และเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทจึงทำการแยกตัวออกจากเครือเป็นบริษัทลูก (spin-off) โดยยังมี Siemens เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่ Frankfurt (FWB) เมื่อต้นปีเช่นกัน
บริษัทระบุว่าการแยกตัวออกมาเป็นบริษัทต่างหากจากแผนกอื่น มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวขึ้น เพราะในกลุ่มบริษัท Siemens กิจการของ Healthineers ค่อนข้างมีรอบของธุรกิจเร็ว (ประมาณ 1-2 ปี) ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเครือในกิจการ จะมีช่วงรอบที่ประมาณ 10 ปี ทำให้ต้องทำงานให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทจะตัดขาดการติดต่อกับบริษัทในเครือ ตรงกันข้าม ด้วยแผนงานหลักของ Siemens ทั้งเครือที่ต้องการทำให้เป็นดิจิทัล (digitization) บริษัทจึงมีการทำงานร่วมกันทั้งในเชิงการวิจัยและวิศวกรระหว่างในเครือกับบริษัทเอง เมื่อเทียบสัดส่วนรายได้คิดแล้วตกเป็นประมาณ 18% ของกลุ่มทั้งหมด
ในเชิงผลิตภัณฑ์ บริษัทเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลทั้งหมด (ไม่มีธุรกิจในเชิงผู้บริโภค) บริษัทขายผลิตภัณฑ์อย่าง เครื่องเอ็กซ์เรย์, เครื่อง Ultrasound, เครื่องใช้งานเชิงประยุกต์ (Advanced Therapies), เครื่องตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และอุปกรณ์ออกหน่วยนอกสถานที่ (คู่แข่งโดยตรงคือ GE Healthcare)
แต่ในระยะหลัง บริษัทตระหนักว่าคู่แข่งนอกเหนือจากบริษัทร่วมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีบริษัทสายเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องเริ่มต้นปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น AI (Artificial Intelligence) โดยเฉพาะ ML (Machine Learning) ซึ่งจุดแข็งของบริษัท คือการที่มีฐานลูกค้าอยู่ทั่วโลก ทั้งโรงพยาบาลระดับชั้นนำ จนไปถึงสถานพยาบาลในระดับท้องถิ่น ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า อันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บริษัทมีจุดแข็งมากกว่าบริษัทอื่น โดยเริ่มต้นพัฒนาระบบที่สามารถอ่านภาพของปอด และประเมินโรคได้แล้ว
ในอนาคต บริษัทมองว่าเทคโนโลยีการแพทย์จะไปไกลมากกว่าการทำ Precision Medicine หรือการแพทย์แบบแม่นยำ โดยการสร้าง Digital Twin คือการสร้างคู่แฝดเหมือนของผู้ป่วยในแบบดิจิทัล และใช้ซอฟต์แวร์เพื่อทดสอบค่าต่างๆ (simulation) ทำให้การวิเคราะห์สุขภาพในอนาคต
ผมมีโอกาสสอบถามว่า ในปัจจุบันระบบอัลกอริทึมต่างๆ ถูกเรียกร้องให้มีความโปร่งใสมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเราไม่รู้ว่าการทำงานเบื้องหลังและตัดสินใจของมันเป็นอย่างไร ซึ่งสวนทางกับวงการแพทย์ที่การรักษาต่างๆ ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและอธิบายได้ รวมถึงข้อมูลการรักษาต่างๆ ต้องถูกบันทึกอยู่ในเวชระเบียนของผู้ป่วยด้วย
Dr. Tobias ตอบว่าปกติแล้วคนทั่วไปมักจะคาดคิดว่าซอฟต์แวร์มีสิทธิพังได้ ขณะที่อุปกรณ์ (hardware) ที่จับต้องได้จะต้องไม่พัง ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน ในส่วนของบริษัทมองว่าต้องมีการรับรอง (certification) ความแม่นยำและการวิเคราะห์ของอัลกอริทึม ซึ่งจะทำให้ตรวจสอบได้มากขึ้น (accountability) แต่ในเวลาเดียวกันราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเช่นกัน
Comments
พัฒนาก้าวหน้าดีแล้วครับ แต่ช่วยพัฒนา User Interface ของซอฟแวร์ ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ด้วย จากที่เคยใช้มา เจ้านี้มี UI แย่สุด เครื่องราคาหลักล้าน แต่ซอฟแวร์หน้าตาเหมือน Windows 95