Mark Zuckerberg เขียนบทความลงใน Washington Post เรียกร้องให้มีกฎควบคุมโซเชียลมีเดียใน 4 ประเด็น คือ เนื้อหาที่เป็นอันตราย, เนื้อหาด้านการเลือกตั้ง, ความเป็นส่วนตัว และ การถือครองและถ่ายโอนข้อมูล
- เนื้อหาที่เป็นอันตราย
Zuckerberg ยอมรับว่าลำพัง Facebook ไม่สามารถกรองและตรวจจับเนื้อหาอันตราย เช่น การสนับสนุนการก่อการร้ายได้หมด รวมทั้งยังทำผิดพลาดอยู่ตลอด และนักกฎหมายก็บอกเขาอยู่เสมอว่า Facebook มีอำนาจในการควบคุมเนื้อหามากเกินไปซึ่งเขาก็เห็นด้วย โดยเขาเสนอว่า ในการควบคุมเนื้อหาอันตราย ควรกำหนดให้มีระเบียบกลาง ที่โซเชียลมีเดียจะปฏิบัติตาม และมีผู้กำกับควบคุมกฎเป็นหน่วยงานภายนอก
- เนื้อหาด้านการเลือกตั้ง
Zuckerberg บอกว่า กฎหมายการโฆษณาการเมืองออนไลน์ที่มีตอนนี้ เน้นไปที่พรรคการเมืองและผู้สมัครเท่านั้น ในขณะที่ประเด็นการเมืองมันครอบคลุมหลากหลายกว่านั้น กฎหมายบางฉบับใช้เฉพาะในช่วงเลือกตั้งซึ่งแคมเปญโฆษณาเจาะกลุ่มด้านการเมืองนั้นมีการผลิตขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยังไม่นับคำถามสำคัญว่า กลุ่มการเมืองใช้การเจาะกลุ่มแบบไหนในการเผยแพร่เนื้อหา เขาจึงระบุว่าควรมีกฎหมายที่สะท้อนความเป็นจริงของภัยคุกคาม และกำหนดให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อสามารถนำไปบังคับใช้ได้ทั้งอุตสาหกรรม
- ความเป็นส่วนตัว
Zuckerberg บอกว่าควรมีมาตรฐานที่ควบคุมความเป็นส่วนตัวเหมือนอย่าง GDPR ให้เป็นกรอบการทำงานที่เหมือนกันทั่วโลก แทนที่จะเป็นกฎแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ, โซเชียลมีเดียจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเมื่อใดที่ข้อมูลจะถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และวิธีที่จะนำไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นปัญญาประดิษฐ์
- การถือครองและถ่ายโอนข้อมูล
Zuckerberg ระบุว่า ควรมีกฎระเบียบที่เป็นหลักประกันในการถือครองและโอนถ่ายข้อมูลว่าถ้ามีการย้ายข้อมูลระหว่างสองที่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการปกป้องข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ Facebook เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ The Data Transfer Project โครงการโอเพ่นซอร์สที่สามารถสร้างเครื่องมือให้ผู้ใช้งานสามารถโอนถ่ายข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มได้ระหว่าง Google, Facebook, Microsoft,Twitter
Mark Zuckerberg ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Facebook Photo: Shutterstock
Mark Zuckerberg ลงท้ายว่า Facebook มีส่วนรับผิดชอบในการแก้ปัญหา ซึ่งหวังว่าจะได้พูดคุยกับฝ่ายกฎหมายทั่วโลก แต่ผู้คนก็ไม่ควรพึ่งพาบริษัทแต่ละแห่งในการจัดการปัญหาเหล่านี้ด้วยตนเอง
ที่มา - Washington Post
Comments
เหมือนพยายามลดบทบาทตัวเองจากฝั่ง Active ไปเป็นฝั่ง Passiveพอมีกฎหมายออกมาแล้ว จะได้อ้างได้ว่า "นี่ไง เราทำตามกฎหมายแล้ว"
แต่ก็น่าเห็นใจ Facebook ในแง่ที่สเกลของปัญหานี้มันแทบจะไร้ขอบเขต แก้ทีนึงก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ครอบจักรวาล เลยต้องทุ่มทรัพยากรมหาศาลเพื่อให้โดนด่าน้อยที่สุด
เห็นด้วยเลยนะ ฝั่งรัฐชอบเรียกร้องให้ facebook ดูแลโน่นนี่นั่น แต่ดันไม่เคยเอาผิดกับคนที่อัพโหลดเนื้อหานั้นขึ้น facebook เลย (กรณีคน re-upload คลิป nz)