Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

สัปดาห์นี้ข่าวใหญ่ที่สุดของสัปดาห์คงหนีไม่พ้นการที่ เฟซบุ๊กเปิดตัวสกุลเงิน Libra ร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่อีกหลายราย การออกเงินคริปโตสกุลใหม่เป็นเรื่องที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ ตั้งแต่บิตคอยน์ราคาทะยานขึ้นสูงช่วงปลายปี 2017 แต่การที่เฟซบุ๊กและพันธมิตรตัดสินใจลงมาสู่ตลาดนี้ นอกจากความน่าตื่นเต้นที่บริษัทขนาดใหญ่ร่วมลงทุน

ในแง่เทคนิคสำหรับเงินคริปโตแล้ว Libra มีความน่าสนใจหลายประการ ตั้งแต่การเลือกกระบวนการหาข้อตกลงร่วม (consensus) แบบ LibraBFT, ภาษา Move สำหรับเขียนโปรแกรมบนบล็อคเชน Libra แต่คุณสมบัติ (และข้อเสียของการออกแบบ) ก็มีอยู่ในเงินคริปโตหลายสกุลที่ออกมาก่อนหน้า แต่จุดสำคัญของ Libra คือมันจะเป็นเงินที่มี Libra Association ทำหน้าที่ "แบงก์ชาติ" โดยที่ไม่ต้องมีชาติ แต่เป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนจากภาคธุรกิจทำหน้าที่แทน

ทุนประเดิมตั้งแบงก์ชาติอย่างน้อย 31,000 ล้านบาท

Libra ประกาศเปิดตัวโดยมีหน่วยงานร่วมทั้งหมด 28 หน่วยงาน และก่อนที่จะเปิดบริการจริง จะหาหน่วยงานมาร่วมเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง (Founding Member) ทั้งหมด 100 หน่วยงาน โดยหน่วยงานเหล่านี้จะมีหน้าที่ 2 ประการ ได้แก่

  1. จ่ายเงินประเดิมอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์ ต่อราย แลกกับ Libra Investment Tokenเป็นโทเค็นที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดว่าเก็บหรือแลกเปลี่ยนอย่างไร แต่โทเค็นนี้จะใช้ในการรับผลตอบแทนในอนาคต (หน่วยงานจำนวนหนึ่งจึงมาร่วมเพื่อหวังผลตอบแทนเป็นหลัก)
  2. รันโหนด Validator เนื่องจากคนทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมเครือข่าย Libra ได้เอง ช่วงแรกจะมีเฉพาะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง และนักวิจัยที่ได้รับอนุมัติเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงเครือข่าย และรันโหนด Validator ที่ทำหน้าที่ประกาศบล็อคบนบล็อคเชน

หน่วยงานทั้ง 100 หน่วยงานให้ทุนประเดิมรายละ 10 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ Libra Association มีเงินเริ่มต้น 1,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 31,000 ล้านบาท โดยสมาชิกก่อตั้งสามารถลงทุนมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์ และตัว Libra Investment Token เองก็จะขายให้กับคนอื่นนอกเหนือจากสมาชิกอีกด้วย ทำให้กองทุนเริ่มต้นน่าจะมีขนาดใหญ่กว่า 31,000 ล้านบาทมาก หาก Libra สามารถหาสมาชิกได้ครบถ้วนจริง

เงินเหล่านี้จะเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ Libra Association ที่ตั้งอยู่ในเจนีวา และนำมาเป็นกองทุนประเดิมสำหรับกองทุนสำรอง Libra (Libra Reserve)

ลดความผันผวนเงินด้วยกองทุนสำรอง

ค่าเงินคริปโตที่ผันผวนสูงเป็นปัญหาสำคัญของเงินคริปโตส่วนมาก ทำให้การใช้เงินคริปโตเพื่อใช้จ่ายจริงๆ ทำได้ลำบาก เพราะธุรกิจไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าหรือบริการให้ชัดเจนได้ ความเสี่ยงจากค่าเงินมีสูง ส่งผลให้สุดท้ายแม้ธุรกิจไม่กี่แห่งรับเงินคริปโตแต่ก็มักตั้งราคาไว้แพงเพื่อให้คุ้มกับความยุ่งยากและความเสี่ยง

No Description

อัตราแลกเปลี่ยนเงิน USDT จาก Coinmarketcap ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สังเกตว่าราคาใกล้เคียง 1 ดอลลาร์ตลอดเวลา

ความพยายามแก้ปัญหาค่าเงินผันผวนมีมาเป็นเวลานาน โดยมีความพยายามสร้างเงินคริปโตมูลค่าเสถียร (stable coin) ซึ่งที่ผ่านมามักผูกค่าเงินตายตัวกับเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ตัวอย่างเช่นเงิน USDT ที่มีเงินดอลลาร์หนุนหลังทั้งหมด และสามารถขายคืนได้ที่ประมาณ 1 USDT หรือ 1 ดอลลาร์ ทำให้ค่าเงิน USDT โดยทั่วไปแล้วแทบจะคงที่ตลอดเวลา

เงิน Libra ใช้แนวทางต่างออกไป โดยเงินเริ่มต้นจะนำไปก่อตั้งกองทุนสำรอง Libra กองทุนสำรองนี้จะถูกนำไปถือทรัพย์สินในสกุลเงินต่างๆ ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในนโยบายตะกร้าเงิน โดยต้องเป็นทรัพย์สินที่ความน่าเชื่อถือสูงระดับเหมาะสมกับการลงทุน (investment grade) ซึ่งก็อาจจะเป็นพันธบัตรระยะสั้นของชาติต่างๆ ที่อยู่ในตะกร้าเงิน

No Description

ภาพโดย geralt

กระบวนการออกเงิน Libra จะขายเงินออกใหม่ให้กับผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อนำไปขายต่อกับรายย่อยอีกครั้งหนึ่ง โดยเมื่อ Libra Association ขายเงิน Libra ก้อนใหม่ออกไป ก็จะนำเงินที่ได้มา ซื้อสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างๆ ตามสัดส่วนของตะกร้าเงินเข้าสู่กองทุนสำรอง ซึ่งทำให้กองทุนสำรองมีทรัพย์สินหนุนหลัง Libra อยู่เต็มร้อย

ในกรณีที่ความนิยมของเงิน Libra ลดลงและราคาในตลาดเริ่มตก ผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตสามารถนำเงิน Libra กลับมาขายคืนให้กับ Libra Association ได้ กลไกนี้ควรจะทำให้ราคาของ Libra ค่อนข้างเสถียร (low volatile) เพราะหากราคาในตลาดตกลงมากเกินไป ผู้ค้าก็จะกวาดซื้อเงิน Libra ในตลาดมาขายคืนกองทุนสำรองเพื่อทำกำไร ขณะที่หากเงินในตลาดมีมูลค่าสูงขึ้นมากผู้ค้าก็สามารถนำเงินสดไปขอซื้อเงิน Libra ออกมาขายในตลาด

ทาง Libra ระบุว่ากระบวนการนี้คล้ายการทำงานของกรรมการการเงินของ ธนาคารกลางบางชาติ เช่น ฮ่องกง ที่จะพิมพ์ดอลลาร์ฮ่องกงออกมาต่อเมื่อมีดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่เสมอ โดยธนาคารกลางจะพิมพ์เงินออกมาขายธนาคารที่ได้รับอนุญาตที่ราคา 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ และรับซื้อดอลลาร์ฮ่องกงกลับคืนที่ราคา 7.85 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ

เนื่องจาก Libra ไม่ได้มีเงินสกุลเดียวหนุนหลัง แต่เป็นตะกร้าเงินที่ยังไม่ระบุสัดส่วนว่าจะเป็นสกุลใดบ้าง สัดส่วนนี้จะมีความสำคัญอย่างมากต่อเงินสกุล Libra ทำให้มันไม่ได้เป็นเงินที่ค่าเงินตรึงตัวกับเงินจริงสกุลใดสกุลหนึ่ง แต่เป็นสกุลเงินที่มีความผันผวนต่ำ โดยหากสกุลเงินบางสกุลในตะกร้าเงินมีความผันผวน มูลค่าโดยรวมของ Libra ก็เปลี่ยนไปได้ และในบางกรณีเช่นวิกฤติเศรษฐกิจจากบางชาติ ทาง Libra ก็จะมีกรรมการมาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายในกองทุนสำรองนี้เพื่อรักษามูลค่า Libra ตอนนี้ทาง Libra Association ระบุว่าสินทรัพย์นี้จะเลือกจากรัฐบาลที่เงินมีเสถียรภาพและเงินเฟ้อต่ำ

เข้าร่วมเพื่อความเปลี่ยนแปลงและความมั่งคั่ง

ผู้ร่วมลงทุนใน Libra จำนวนหนึ่งอาจต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างเงินสกุลใหม่ที่อาจจะกลายเป็นสกุลสำคัญในโลก แต่รูปแบบของ Libra ทำให้หน่วยงานจำนวนหนึ่งที่ประกาศเข้าร่วมอาจจะไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการลงทุนเพื่อดอกผลในอนาคต

รูปแบบการจัดการกองทุนสำรองของ Libra เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีดอกผล แต่ดอกผลเหล่านี้ไม่ได้นำไปหนุนมูลค่าของ Libra ให้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ทาง Libra จะนำดอกผลที่ได้ไปใช้ในการดำเนินงาน, ให้ทุนวิจัยที่เกี่ยวข้อง, และนำไปจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุนใน Libra Investment Token ที่เป็นโทเค็นแยก ไม่ใช่เงิน Libra

หากในอนาคตมีเงิน Libra หมุนเวียนในตลาดจำนวนมาก กองทุนสำรองของ Libra ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดอลผลเหล่านี้แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ไม่สูงนัก แต่ดอกเบี้ยรวมก็จะเพิ่มขึ้นตามขนาดกองทุนสำรอง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจึงนำมาปันผลให้ผู้ถือ Libra Investment Token

การลงทุนใน Libra Investment Token จึงเป็นการลงทุนโดยหวังว่ากองทุนสำรอง Libra จะมีขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ในอนาคต ดอกผลจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนคุ้มกับการลงทุน

ไม่ใช่แค่ระบบโอนเงิน แต่เป็นการสร้างสกุลเงินทางเลือก

สิ่งหนึ่งที่ควรตระหนักคือเป้าหมายของ Libra นั้นไม่ใช่เพียงการสร้างระบบโอนเงินข้ามประเทศราคาถูกเช่นที่เงินคริปโตหลายสกุลพยายามทำ แต่กลับมีเป้าหมายให้ Libra เป็นทางเลือกสำหรับการใช้งานเงินสกุลที่มีเสถียรภาพสูง เข้าถึงได้ง่าย และใช้งานผ่านบริการดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ

สำหรับบางประเทศที่ค่าเงินสกุลท้องถิ่นไม่มีเสถียรภาพ การถือเงิน Libra อาจจะปลอดภัยกว่าเงินสกุลท้องถิ่นเองเสียอีก

เป็นเรื่องน่าสนใจว่าหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินจะมีท่าทีอย่างไร หากประชาชนมีทางเลือกสามารถถือเงินในสกุลที่สองได้โดยง่ายผ่านทางบริการของเฟซบุ๊กและพันธมิตร และบริการนี้ถูกดูแลโดยหน่วยงานที่ออกเสียงควบคุมนโยบายทั้งในแง่การเงินและเทคนิคโดยตัวแทนของบริษัทเอกชน อย่างไรก็ดี หน่วยงานรัฐแต่ละประเทศจะต้องเป็นผู้กำกับดูแล และให้อนุญาตบริการที่ติดต่อกับผู้ใช้โดยตรง เช่น ตลาดซื้อขายเงินคริปโต, ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (รวมถึง Calibra ของเฟซบุ๊กเอง )

ภายในครึ่งปีข้างหน้าเราน่าจะได้เห็นก้าวแรกของ Libra ว่ามันจะสามารถรวบรวมสมาชิกผู้ก่อตั้งได้ 100 รายตามเป้าหมายหรือไม่ และเงินระดมทุนก้อนแรกจะเป็นเท่าใด ก่อนจะเริ่มเปิดบล็อคเชนตัวจริง

Get latest news from Blognone

Comments

By: lockinlive05 on 20 June 2019 - 17:59 #1116001

จะเรียกว่าแบงก์โลกก็คงไม่ผิด
...
edit คำว่าแบงค์เป็นแบงก์ด้วยฮะ

By: panurat2000
Contributor Symbian Ubuntu In Love
on 20 June 2019 - 18:24 #1116006 Reply to:1116001
panurat2000's picture

ตระกร้าเงิน => ตะกร้าเงิน

กลไกล => กลไก

ท้องถื่น => ท้องถิ่น

By: pepporony
Contributor Android
on 21 June 2019 - 08:21 #1116080 Reply to:1116006

โดยต้องต้องเป็นทรัพย์สิน => โดยต้องเป็นทรัพย์สิน

By: mandarin55 on 20 June 2019 - 18:36 #1116007

อ่านๆไปแล้ว เหมือนกับการสร้างโลกของเงิินขึ้นมาใหม่ น่าสนใจมากๆ

By: soberder
Windows
on 21 June 2019 - 08:38 #1116085 Reply to:1116007

เหรียญที่ จอร์นวิกใช้เป่านี่ แต่มาในแบบดิจิทอล มีองค์กรควบคุม ใช้ในเครือค่าย

By: adente
Contributor SUSE Symbian Windows
on 21 June 2019 - 18:33 #1116249 Reply to:1116085
adente's picture

5555+ continental token กันเลยทีเดียว

By: Sephanov
iPhone Ubuntu
on 20 June 2019 - 19:47 #1116016
Sephanov's picture

ถ้าสำเร็จ อีกหน่อยก็คงซื้อขายของในเฟสบุคโดยใช้เงินสกุลเดียวกัน เฟสบุคก็จะกลายเป็นคนกุมค่าเงินรายใหม่

By: mr_tawan
Contributor iPhone Android Windows
on 20 June 2019 - 20:06 #1116018
mr_tawan's picture

ผมว่า ปัญหานึงคือ การสร้างเงินสกุลใหม่ที่มีกลไกเบื้องหลังแข็งแกร่งขนาดนี้ อาจจะถูกมองว่าเป็นการสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาก็ได้นะครับ


  • 9tawan.net บล็อกส่วนตัวฮับ
By: PriteHome
Contributor Android Windows
on 20 June 2019 - 23:51 #1116056 Reply to:1116018
PriteHome's picture

+1
คิดเหมือนกันว่า นี่คือการสร้างประเทศใหม่ถ้าประเทศบนผืนดินสูญเสียอำนาจการพิมพ์เงินสกุลของตัวเอง เพราะคนใช้น้อยลง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศนั้นมหาศาลแน่นอน อาจถึงขั้นควบคุมไม่อยู่เลย
ส่วนตัวมองว่าอันตรายไม่น้อย

By: xenatt
Contributor Windows Phone Red Hat Symbian
on 20 June 2019 - 20:22 #1116020
xenatt's picture

มันน่าสนใจตรงที่ถ้าคนที่ถือบัตร Visa, Master สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรได้โดยตรง แล้วถ้าร้านค้ารับเงินสกุลนี้มากๆ ต่อไป คนที่ถือเงินสกุลนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงกับอัตราแลกเปลี่ยนเลย เหมือน PayPal จะมีเรทต่อดอลล่าร์อยู่ซึ่งซื้อของเสียเปรียบ แต่ถ้าใช้เงินสกุลนี้จะลดค่าธรรมเนียมตรงนี้ลง ถ้าเงินสกุลนี้แพร่หลาย เงินสกุลต่างในแต่ละประเทศเองจะลดบทบาทลง สุดท้าย libra เองอาจจะต้องซื้อทองมาใช้ในการเป็นทุนสำรองเลยด้วยซ้ำ
แต่หลายประเทศอาจจะไม่ชอบใจนักกับแนวคิดนี้ เฟซบุ๊กมีผู้ใช้ 1000 ล้าน แต่ Visa Master มีผู้ใช้มากกว่าแน่ๆVisa , Master คือตัวเปลี่ยนเกมส์เลยจาก Online to Offline ส่วน PayPal ก็รองรับการซื้อขายบน eBay ถ้างานนี้ WeChat Alipay ลงเล่นด้วยคือ ครบทั้งโลกเลย
เมื่อก่อน Brazil Russia China India พยายามสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมาแล้วล้มไป ตอนนี้เฟซบุ๊กจะทำสำเร็จมั้ย ถ้า Libra อยู่ใน อเมริกา Libra น่าจะไม่เกิด

ผมคิดถึงภาพ บริษัทส่งออกสินค้าไปขายอเมริกา แล้วโอนเงินกลับมาเป็น Libra โดยที่วันรุ่งขึ้นก็จ่ายเงิน พนง จ่ายซับพลายเออร์เป็น Libra พันธบัตรรัฐบาลบางประเทศก็ไม่รู้จะมีไว้ทำไม


Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project

By: sirbom on 20 June 2019 - 20:35 #1116023

จะถูกสอดส่องเส้นทางการเงินไหมครับ

By: ravipon
iPhone Windows
on 20 June 2019 - 21:02 #1116025
ravipon's picture

ประเด็นคือ “รัฐ” น่าจะไม่ยอมนี่สิครับ เพราะธรรมชาติของเขาคือต้องการให้ทุกอย่างสามารถถูกควบคุมได้ เช่นอินเตอร์เน็ตที่เขาพยายามกันทุกชาติ แต่จะสำเร็จไหมอีกเรื่องอย่างตอนที่จีนแบนบิทคอยก็เพราะรัฐบาลจีนมองว่ามันเอาเงินเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เขาตามเข้าไปควบคุมไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจีนก็ไม่ได้เล่นงานเฉพาะบิทคอย แต่แอพ non-bank ของจีนก็โดนไปด้วย

By: PandaBaka
iPhone Android Windows
on 20 June 2019 - 21:22 #1116026
PandaBaka's picture

ถ้าคนใช้มากๆ รัฐเสียผลประโยชน์เยอะมากแน่ พวกพันธบัตรก็จะไม่สามารถปล่อยกู้ได้อีกต่อไป แล้วสมมติว่า Libra ไม่หักภาษีส่งอัตโนมัติ คือรัฐรู้เส้นทางเงินแต่คนไม่ยอมจ่ายภาษีคราวนี้เป็นเรื่องแหง = ="

By: iamfalan
iPhone Android Windows
on 20 June 2019 - 22:11 #1116031 Reply to:1116026

มันก็เหมือนใช้จ่ายด้วยเงินสดแหละครับ ตราบเท่าที่ไม่ออกใบเสร็จ รัฐก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้ นอกจากจะใช้อัตราเหมา แบบที่เขาพูดว่า “นั่งนับชามก๋วยเตี๋ยว” นั่นแหละครับ ต่อให้ธุรกิจดำเนินการด้วยเงินสดทั้งหมด ถ้าเขาจะเก็บจริงๆ เขาก็หาทางประเมินยอดเอาได้ (แล้วก็เจรจากันไป)

รัฐจะรับรู้รายได้จากการทำบัญชีและยื่นภาษีครับ เช่นเรารับงานนอก ทางบริษัทที่จ้างเรา เขาลงบัญชีรายจ่ายไว้ รัฐก็จะรู้ครับ แต่ถ้าไม่ลงบัญชี บริษัทนั้นก็จะไม่สามารถเอารายจ่ายไปลบออกได้ครับ

By: massacre
Android Ubuntu
on 20 June 2019 - 21:58 #1116030

ขอสอบถามหน่อยครับ นี่มันเป็นการสร้างสกุลเงินใหม่ โดยไม่เกี่ยวกับ BTC เลย ใช่ไหมถ้าสกุลเงินตัวนี้เกิด ตัวอื่นๆก็ตายเรียบเลยหรือเปล่าครับ?

By: iamfalan
iPhone Android Windows
on 20 June 2019 - 22:07 #1116032 Reply to:1116030

ตายหรือไม่ ไม่เกี่ยวกันเลยครับ มันเหมือนกับการที่โลกเรามีสกุลเงินมากมายมหาศาลนั่นแหละสกุลเงินมันจะตาย ถ้าไม่มีใครใช้ ไม่มีใครรับ ขายไม่ได้ราคา คนไม่เชื่อถือในสกุลเงิน

By: billion
Contributor iPhone Android
on 21 June 2019 - 18:48 #1116251 Reply to:1116030

เหรียญแต่ละตัว มีวัตถุประสงค์ไม่เหมือนกันครับ บางเหรียญเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่างจริงๆ ซึ่ง Libra อาจจะไม่ได้สามารถทำส่ิ่งนั้นๆได้ ดังนั้นเหรียญเหล่านั้นก็น่าจะยังอยู่ต่อไปครับ

By: tonhor
Contributor Android Red Hat
on 20 June 2019 - 23:37 #1116054
tonhor's picture

เขียนดีครับพี่ อ่านสนุก เข้าใจง่าย


Katinrun ชุมชน Blockchain Developer แห่งแรกในไทย

By: PandaBaka
iPhone Android Windows
on 21 June 2019 - 00:03 #1116059
PandaBaka's picture
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงิน USDT จาก Coinmarketcap ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาสังเกตว่าราคาใกล้เคียง 1 ดอลลาร์ตลอดเวลา

======

กราฟ Coinmarketcap ไม่แสดงช่วงที่มีคนปล่อยข่าวลวงว่า binance จะถอด USDT แฮะ จำได้ว่าตอนนั้นเหลือ 0.8 กว่าๆ

By: 7
Android
on 21 June 2019 - 00:10 #1116060
7's picture

คิดการใหญ่เลยนี่หน่า ถ้าสามารถเดินทางไปตปทหรือซื้อของจากตปทโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงินเลยก็จะดีไม่น้อย

By: keen
iPhone Android Ubuntu
on 21 June 2019 - 06:57 #1116068
keen's picture

อีกหน่อยอาจจะมีการจี้ให้โอนเงินจากเฟส แต่ไม่เอามือถือก็ได้

By: cai8N
iPhone Android Windows
on 21 June 2019 - 08:27 #1116081

reCAPTCHA ค่อนข้างมีปัญหาในการตอบกระทู้จังครับ

By: syootakarn
iPhone Windows Phone Android Blackberry
on 21 June 2019 - 08:41 #1116088
syootakarn's picture

อีกหน่อยคงมีเงินคริบของ google, apple, huawei , samsung

By: 444poon on 21 June 2019 - 12:24 #1116165

ขอชื่นชมผู้เขียนครับ อ่านมาหลายแหล่ง อันนี้เข้าใจง่าย เห็นภาพที่สุดครับ

By: porple on 21 June 2019 - 13:53 #1116185

สิ่งที่เห็นภาพนะ ต่อไปอาณาเขตประเทศ ไม่ได้ถูกแบ่งบนแผนที่โลก แต่ถูกแบ่งด้วยระบบปฏิบัติการณ์สิ่งที่เฟซบุคทำก็เช่นกัน กลายเป็นสกุลเงินโลก

By: btoy
Contributor Android Windows
on 21 June 2019 - 14:18 #1116193
btoy's picture

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ รอติดตามกันต่อไปสำหรับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ fb


..: เรื่อยไป

By: dangsystem
iPhone Android Blackberry Windows
on 21 June 2019 - 15:41 #1116210
dangsystem's picture

ค้าขาย ผ่านสกุลนี้ เข้าข่าย "ผู้มีรายได้ใช่ปะครับ"

By: Tanapongs
Android
on 21 June 2019 - 18:11 #1116244

แล้ว libra association ถูกควบคุมโดยใคร?รวมๆแล้วเหมือนกองทุน กับผู้ถือหุ้นรึเปล่า

แบบนี้ เท่ากับว่า เหมือนแบงค์ชาติที่บริหารโดยนายทุนรายใหญ่มากกว่า

By: billion
Contributor iPhone Android
on 21 June 2019 - 18:56 #1116252 Reply to:1116244

เห็นในข่าวเก่าว่า เป็นกลุ่มพันธมิตรบริษัทเอกชน ซึ่งก็มีแต่บริษัทขนาดใหญ่ทั้งนั้น
จริงๆ ก็น่าสนใจนะครับ ที่ผ่านมาแบงค์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นคนควบคุมเงินตลอดจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเอกชนเป็นคนควบคุมเงินบ้าง?
ถ้ามันประสบความสำเร็จจริง อาจมีเอกชนรายอื่นตั้งกลุ่มขึ้นมาแข่งบ้าง ทำให้เรามีทางเลือกทางการเงินที่หลากหลายขึ้น โดยไม่ต้องอิงกับภาครัฐอย่างเดียวนะครับ

By: eiken
iPhone Windows
on 22 June 2019 - 00:57 #1116277 Reply to:1116252

Regulator ไม่ถูกใจสิ่งนี้

By: Tanapongs
Android
on 22 June 2019 - 03:30 #1116281 Reply to:1116252

แบบนี้สุ่งเสี่ยงกับการผูกขาด อย่างcp google ตอนนี้จะหาใครมาแข่งแทบเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีกลไกของรัฐมาควบคุม

หน่วยงานของรัฐ ยังมีระบบควบคุมโดยประชาชน ผ่านกลไกต่าง (แม้ว่าจะได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง) แต่บริษัทเอกชน ไม่ต้องแคร์รายย่อ แค่หุ้นใหญ่ได้ประโยชน์ก็พอ

By: langisser
In Love
on 22 June 2019 - 11:10 #1116319 Reply to:1116281

บอกภาพ บ.ใหญ่ๆ นี่เห็นภาพเลยครับ

By: Holy
Contributor Android WindowsIn Love
on 23 June 2019 - 00:35 #1116443 Reply to:1116252
Holy's picture

ถ้าให้พูดตรงๆ ถ้ารัฐไม่สามารถควบคุมสื่อกลางแลกเปลี่ยนมูลค่า (เงินนั่นแหละ) ส่วนใหญ่ในรัฐตัวเองได้ คือเท่ากับรัฐนั้นดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้เลยนะครับ

ประเทศเราภาคการส่งออก + ท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจหลัก ลองอ่านข่าวดูก็ได้ครับว่าพอค่าเงินบาทแข็ง (ของที่ส่งออกแพง คนซื้อน้อยลง ค่ามาท่องเที่ยวแพง คนมาน้อยลง) มีสมาคม ฯลฯ ออกมาโวยวายมากมายขนาดไหน รัฐก็ต้องแทรกแซงไม่ให้ค่าเงินแข็งมากเกินไป แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ใช้ Libra ค่าเงินจะแข็งอ่อนยังไงคือควบคุมไม่ได้เลยครับ เศรษฐกิจพังได้ง่ายๆ เลย

By: billion
Contributor iPhone Android
on 23 June 2019 - 12:08 #1116470 Reply to:1116443

มองในแง่นี้ก็จริงทีเดียวครับ งั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือ รัฐควรจะอยู่ตรงไหนในกระบวนการนี้

เพราะดูเหมือนว่าการเกิดขึ้นของ bitcoin นั้น ต้องการหลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐที่กำกับโดยธนาคารกลาง แต่ทีนี้ก็กลายเป็นกลุ่มบริษัทเอกชนเข้าควบคุมแทน ซึ่งก็อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น อย่างที่ว่ามา งั้นจุดสมดุลของเรื่องนี้ควรอยู่ที่ตรงไหน คงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐ และ หน่วยงานตวบคุมต้องขบคิดกันหละ

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 23 June 2019 - 14:40 #1116482 Reply to:1116443
lew's picture

ตรงกันข้าม ถ้าประชาชนไม่เชื่อใจว่ารัฐจะควบคุมการเงินได้ดี (แบบเดียวกับตอน 2540) เงินสกุลทางเลือกอื่นจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก

ที่ผ่านมารัฐควบคุมผ่านทางมาตรการต่างๆ ให้คนถือเงินสกุลอื่นได้ยาก คนทั่วไปฝากธนาคารสกุลอื่นลำบาก ค่าใช้จ่ายสูง แต่ถ้า Libra เปิดทางเลือกให้เข้าถึงง่าย ตัว Calibra เองอาจจะลำบากเพราะเฟซบุ๊กโดนเพ่งเล็ง แต่ถ้ามีช่องทางอื่นในการถือ Libra คนก็น่าจะพร้อมแห่กันไปเหมือนกัน


lewcpe.com , @wasonliw

By: Holy
Contributor Android WindowsIn Love
on 23 June 2019 - 21:15 #1116546 Reply to:1116482
Holy's picture

ถ้าตราบใดที่ยังมีการแบ่งเป็นรัฐ/ประเทศต่างๆ อยู่ การที่รัฐไม่มีอำนาจควบคุมการเงินในประเทศนี่คือตัดเครื่องมือหลักในการบริหารเศรษฐกิจประเทศไปเลยนะครับ

เปรียบเทียบกับโลกความจริงตอนนี้ เช่น สหภาพยุโรป (เกือบ) ทุกประเทศใช้สกุลเงินยูโรเหมือนกัน มี ECB เป็นคนควบคุมนโยบายการเงิน สมมติเกิดเหตุการณ์ประเทศใหญ่ๆ เช่น เยอรมัน เศรษฐกิจดี อยากเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อลดฟองสบู่ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น กรีซ เศรษฐกิจแย่ อยากให้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มดอกเบี้ย อัดฉีดหรือดูดเงินออก หรือไม่ทำอะไรเลยนั่งเฉยๆ ก็ต้องมีฝ่ายได้ฝ่ายเสีย กรณีนั้นเป็น Union เดียวกันยังพอคุยกัน แต่ถ้ามีสกุลเงินที่ใช้กันทั่วโลกควบคุมโดยองค์กรอิสระ ออกนโยบายเอง และมีคนในประเทศใช้สกุลเหล่านี้มากในระดับนึง ประเทศนั้นแย่แล้วครับ ขึ้นกับดวงเลยว่านโยบายขององค์กรนั้นจะเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในตอนนั้นรึเปล่า เพราะออกนโยบายก็จะกระทบกับเงินทุก Libra ไม่ใช่แค่ Libra ที่อยู่ในมือของคนในประเทศใดประเทศนึง

หรือถ้าจะมองให้ง่ายกว่านั้น ประเทศเล็กๆ หลายประเทศก็ใช้เงินดอลลาร์ร่วมกับสกุลเงินของตัวเอง จะเป็นยังไงถ้าวันนึง USA ขึ้นดอกเบี้ยพรวดขึ้นมา แล้วเงินดอลลาร์ในประเทศนั้นไหลออกหมดจนระบบเศรษฐกิจขาดสภาพคล่อง ธนาคารประเทศนั้นต้องขึ้นดอกเบี้ยสู้เพื่อดึงเงินไว้ ทั้งที่เศรษฐกิจตัวเองตกต่ำ อยากอัดเงินใส่แท้ๆ

ปล. ผมเฉยๆ กับการตั้ง "สกุลเงินที่ควบคุมโดยเอกชน" นะครับ ไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่ถ้าคน "แห่กันไป" แบบที่คุณว่า ก็จะมีความเสี่ยงแบบที่ผมเขียนไว้ข้างบนครับ

By: zipper
Contributor Android
on 21 June 2019 - 21:47 #1116264

ถ้ารัฐบาลอเมริกาจะแอบเอาด้วย แอบอยู่เบื้องหลังด้วยหล่ะ เพราะยังไงๆ ถ้ามันฮิตมีคนใช้มาก ก็ไม่พ้นการกุมอำนาจเงินอยู่ที่อเมริกาอยู่ดี

By: eiken
iPhone Windows
on 22 June 2019 - 01:01 #1116278

ตอนแรกก็คิดว่าเป็นสกุลเงินใหม่แบบ bitcoin แต่ไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้

แล้วถ้าสกุลเงินนี้ถูกใช้ผ่าน social network ที่รวมคนทั้งโลกไว้ด้วยกันอีก ถ้าเงินสกุลนี้ไม่เกิดภาวะ appreciation นี่เป็นไปไม่ได้เลย ==

ปล. Single currency ที้ถูกสร้างภาพไว้คงสำเร็จในสักวันนึง

By: Nampuu
Windows Phone Android Symbian Ubuntu
on 22 June 2019 - 13:34 #1116357

ระบบค่าเงินเดียวกันใช้ในหลายๆ ประเทศแบบนี้ มองๆ ไปก็เหมือนประเทศในยุโรป รวมตัวกันใช้เงินสกุลยูโรแต่มาในรูปแบบดิจิตอล และน่าสนใจมากกว่าจะแก้ปัญหาการกำกับดูแลของรัฐ แต่ละรัฐได้อย่างไร

By: MrThursday
Contributor Red Hat Ubuntu Windows
on 22 June 2019 - 15:18 #1116385

world of internet & virtuality

By: whitebigbird
Contributor
on 22 June 2019 - 20:28 #1116420 Reply to:1116385
whitebigbird's picture

MrThursday นี่หมายถึง Thor นึเปล่าครับ?

By: 0FFiiz
Windows Phone Android Windows
on 24 June 2019 - 11:24 #1116630
0FFiiz's picture

จากเหตุการณ์ทรัมป์กับจีนล่าสุดได้แต่หวังว่า อย่าให้เงินสกุลนี้จุดติดเลย ?

ปณิธานแน่วแน่แค่ไหน ก็แพ้คำสั่ง ประธานาธิบดี

By: IDCET
Contributor
on 24 June 2019 - 13:55 #1116677 Reply to:1116630

สำหรับผม ผมว่ามันควรจะจุดติด และเป็นส่วนกลาง และจะดีถ้าไม่ใช่ Facebook จะได้เป็นไทจากขั้วอำนาจ


ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว

By: 0FFiiz
Windows Phone Android Windows
on 25 June 2019 - 10:06 #1116839 Reply to:1116677
0FFiiz's picture

การควบคุมเงิน จะไปอยู่ในมือของเอกชนแทนอะจิครับหรือจะเทียบว่า ถ้าเกิดจุดติดขึ้นมา เงินของโลก จะถูกควบคุมโดยคนรวยไม่กี่คน

มันน่ากลัวนะผมว่า

By: Diaboros_Sorobaid
Windows Phone Android Windows
on 24 June 2019 - 18:05 #1116751
Diaboros_Sorobaid's picture

ต่อไปจะมี Librexit มั๊ย 55+

By: loptar on 25 June 2019 - 10:04 #1116838
loptar's picture

เงื่อนไขนึงในการสร้างเงินแบบนี้ขึ้นมา คือ social network
มองโลกตะวันตก น่าจะไม่มีรายไหนใหญ่พอที่จะสร้างเงินมาเป็นทางเลือก แข่งกับ Libra ได้
ถ้าทางจีนล่ะ Weibo จะทำได้มั้ย?