แนวทางการสร้างเบราว์เซอร์ในช่วงหลังเริ่มมีแนวคิดการรักษาความเป็นส่วนตัวผู้ใช้ที่หนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ การตั้งค่าเบราว์เซอร์ให้เน้นการรักษาความเป็นส่วนตัวมักหมายถึงเครือข่ายโฆษณาไม่รู้ว่าเบราว์เซอร์ที่กำลังเข้าใช้งานเว็บเป็นใคร ทำให้ไม่สามารนำเสนอโฆษณาตรงกลุ่มได้ หรือผู้ลงโฆษณาก็อาจจะไม่สามารถวัดผลได้ว่าการลงโฆษณาในเว็บหนึ่งๆ แล้วได้ผลจริงหรือไม่
กูเกิลระบุว่าการแสดงโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมายยังจำเป็นอยู่ จากการศึกษาพบว่าหากเว็บไซต์ไม่สามารถยิงโฆษณาตามเป้าหมายได้ รายได้จะลดลงถึง 52% แต่ความเป็นส่วนตัวก็เป็นเรื่องสำคัญจึงเตรียมเสนอแนวทาง แก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวในเบราว์เซอร์ในยุคต่อไป โดยเรียกข้อเสนอนี้ว่า Privacy Sandbox
Privacy Sandbox รวมเอาข้อเสนอชุดหนึ่งที่จะเปลี่ยนการทำงานของเบราว์เซอร์ให้รองรับฟีเจอร์ที่อาศัยการติดตามผู้ใช้ทุกวันนี้ แต่ไม่ต้องติดตามผู้ใช้เท่าเดิมอีกต่อไป โดยมุ่ง 3 การใช้งาน ได้แก่
- การแสดงโฆษณา: ข้อเสนอ Federated Learning of Cohorts (FLoC) เปิดทางให้โฆษณาตรงกลุ่มได้ โดยไม่ต้องติดตามผู้ใข้ แต่อาศัยความร่วมมือของเบราว์เซอร์ที่จะสร้างค่า "กลุ่มความสนใจ" ของผู้ใช้เพื่อแจ้งไปยังผู้แสดงโฆษณาแทน
- การวัดผลโฆษณา: ข้อเสนอให้สร้างลิงก์และ iframe แบบใหม่ เพื่อเปิดทางให้เบราว์เซอร์ยิงข้อความรายงานผลโฆษณา เว็บไซต์ต่างๆ จะสามารถจำกัดได้ว่าการวัดผลต้องทำโดยโดเมนที่ระบุเท่านั้น พร้อมกับแจ้งไปยังบริการวัดผลโฆษณาได้ด้วยว่าสามารถเก็บข้อมูลวัดผลนี้ไว้ได้กี่วัน
- การตรวจจับผู้ใช้ปลอม: แทนที่จะพยายามติดตามผู้ใช้ว่าเคยเข้าเว็บใดมาบ้าง ข้อเสนอ Trust Tokens API เปิดทางให้เว็บไซต์สร้างโทเค็นรับรองผู้ใช้ โดยที่ไม่ระบุว่าผู้ใช้เป็นใครได้ โดยข้อเสนอนี้ปรับมาจาก Privacy Pass ของ Cloudflare
กูเกิลนำเสนอข้อเสนอเหล่านี้โดยจะรอรับฟังความเห็นจากทั้งผู้ผลิตเบราว์เซอร์อื่น, เว็บไซต์คอนเทนต์ต่างๆ, และผู้แสดงโฆษณา พร้อมกับยอมรับว่าข้อเสนอเหล่านี้อาจจะทะเยอทะยานมากแต่ก็สำคัญกับการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
ที่มา - Google: The Keyword , Chromium Blog
ภาพโดย Simon
Comments
ไม่รู้ว่าเบราว์เซอร์เป็นใคร ?
ผู้ใข้ => ผู้ใช้
ดูมันจะขัดกันแปลกๆ
เสียใจและฉันไม่เชื่อเธอ