กูเกิลออกรายงานเรื่องการใช้ AI จากสถาบันวิจัย DeepMind ตรวจจับมะเร็งเต้านมจากแมมโมแกรม พบว่าสามารถลดข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น
กูเกิลได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยทางการแพทย์ในสหรัฐฯและอังกฤษเพื่อพัฒนาความสามารถ AI ในการตรวจจับมะเร็งเต้านมมาได้กว่า 2 ปีแล้ว
โดยกูเกิลฝึกระบบด้วยการใช้รูปแมมโมแกรมที่ไม่ระบุตัวตนจากผู้หญิงมากกว่า 25,000 คนในสหราชอาณาจักรและอีก 3,000 คนในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูว่า AI จะสามารถสังเกตสัญญาณมะเร็งเต้านมได้หรือไม่ ผลคือ ระบบสามารถลดภาวะ false positive ได้ 5.7% ในกลุ่มผู้หญิงจากสหรัฐฯ และ 1.2% ในกลุ่มผู้หญิงจากอังกฤษ นอกจากนี้ระบบยังลดภาวะ false negative ได้ 9.4% ในกลุ่มผู้หญิงจากสหรัฐฯ และ 2.7% ในกลุ่มผู้หญิงจากอังกฤษ
ปัจจุบันแมมโมแกรมเป็นวิธีที่นิยมในการตรวจจับมะเร็ง แต่ก็ยังเป็นความท้าทาย เพราะแมมโมแกรมยังมีข้อผิดพลาดได้ รูปเอ็กซเรย์ออกมาปกติแม้จะมีมะเร็งก่อตัวอยู่ก็ตาม โดยแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า false negative และยังมีภาวะที่ภาพเอ็กซเรย์ออกมาผิดปกติ แต่ตรวจสอบแล้วไม่มีมะเร็งเต้านม ภาวะนี้เรียกว่า false positive
ทางกูเกิลระบุว่า ประสิทธิภาพของ AI ทำได้ดีกว่าคนที่ต้องตรวจจริง เพราะ AI มีข้อมูลแค่รูปแมมโมแกรม แต่แพทย์จะมีข้อมูลประวัติคนไข้ และรูปแมมโมแกรมก่อนหน้านี้ของคนไข้ด้วย ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ AI จะลดข้อผิดพลาดในการตรวจจับได้ อย่างไรก็ตาม กูเกิลบอกว่าระบบจะช่วยงานแพทย์รังสีวิทยา ไม่ได้มาแทนที่พวกเขา
ที่มา - Google Blog , The Verge
Comments
น่าจะทำขนานกันแล้วเปรียบเทียบผลในภายหลัง ซึ่งเป็นการเอาจุดเด่นของคนและ AI มารวมกันโดย AI ควรชี้ได้ว่าจุดที่คาดว่าน่าจะมีปัญหาคือจุดไหนเพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน และช่วยให้หมอเก่งยิ่งขึ้น
ชอบไอเดียนี้ครับ แต่อาจจะนานหน่อยเพราะ AI ยังอธิบายไม่เก่ง ความรู้ที่ AI เจอ คนยังทำความเข้าใจไม่ได้เท่าที่ควร แต่เชื่อว่าจะมีวันที่คนและ AI คุยกันรู้เรื่องจริงๆ
สุดยอด ต่อไปคงดูดวงได้
ตามทฤษฎีการรวมตัวเพื่อพัฒนา ต่อไปคงได้เห็นแพทย์ที่ upgrade ฐานข้อมูลทางการแพทย์ผ่านชิปที่เชื่อมต่อกับสมองได้ หรือไปให้สุด ทุกบ้านจะมี Chip ทางการแพทย์ สามารถเสียบกับสมอง แล้วเพิ่มความรู้ทางการแพทย์เพื่อรักษาเบื้องต้น และจ่ายยาด้วยตัวเองโดยยาถูกส่งมาด้วยระบบขนส่งอัตโนมัติ ว่าไปนั่น