โครงการเงินดิจิทัล Libra ออกเอกสารทางเทคนิคเวอร์ชันปรับปรุงใหม่ (เรียกกันเล่นๆ ว่า Libra 2.0) หลังเดินสายรับฟังความเห็นจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของประเทศต่างๆ ที่รุมค้าน Libra อย่างหนัก
ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงใน Libra 2.0 มี 2 เรื่องคือ
เปลี่ยนจากค่าเงินสกุลเดียว มาเป็นสกุลย่อยหลายสกุล
แนวคิดเดิมของ Libra คือสร้างค่าเงินสกุลเดียว (≋LBR) ที่อิงกับตะกร้าของค่าเงินในโลกจริงหลายสกุล (multi-currency stablcoins) ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างค่าเงินสกุลใหม่ของตัวเอง ทางโครงการแก้ปัญหานี้โดยปรับมาเป็นการออกสกุลเงิน Libra ย่อยๆ โดยอิงกับเงินสกุลเดียว (single-currency stablecoins) เช่น ≋USD, ≋EUR, ≋GBP เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศ มีขอบเขตการทำงานชัดเจนขึ้น
ส่วนเงินสกุล ≋LBR เดิมก็ยังอยู่ แต่จะอิงจากการคำนวณเงินสกุลย่อยอีกที โดยสูตรคำนวณที่แน่ชัดจะประกาศเพิ่มเติมในอนาคต (ตัวอย่างที่นำมาโชว์คือ 1 ≋LBR มาจาก ≋USD 0.50, ≋EUR 0.18, ≋GBP 0.11 เป็นต้น) และโครงการ Libra จะเชิญหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของประเทศต่างๆ เข้ามาช่วยบริหารสูตรการคำนวณด้วย
แนวทางนี้ตรงกับที่ David Marcus หัวหน้าโครงการ Libra ออกมาพูดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว
Libra ยอมรับว่าการแตกเป็นสกุลเงินย่อยๆ หลายสกุล จะสร้างความซับซ้อนในการใช้งานมากขึ้น เพราะการจ่ายเงิน การแลกเงิน การโอนเงินจะต้องอิงกับทรัพย์สินจริงในสกุลเงินต่างๆ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องถือเงินหลายสกุลมาค้ำประกันเงินดิจิทัล แทนที่จะเป็นเงินสกุลเดียว
เพิ่ม "ผู้ให้บริการ" ที่กำกับดูแลโดยรัฐ
เครือข่าย Libra จะเพิ่มหมวดของผู้ให้บริการแบบใหม่ที่เรียกว่า Virtual Asset Service Providers (VASPs) ซึ่งหมายถึง ตัวแทนให้แลกเงิน (exchanges) หรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน (custodial wallets) ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภทย่อยคือ
- Regulated VASPs ที่ต้องถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานรัฐ
- Certified VASPs ที่รับรองโดยสมาคม Libra
การเปิดเครือข่าย Libra ในช่วงแรกจะเปิดรับเฉพาะ Regulated VASPs เท่านั้น ส่วนตัวแทนประเภทอื่นๆ ที่ไม่ถูกกำกับดูแลโดยรัฐจะเพิ่มเข้ามาในอนาคต โดยยังไม่ระบุช่วงเวลา และจะเพิ่มเข้ามาหลังได้รับความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐแล้ว
ในภาพรวมแล้ว Libra 2.0 ลดระดับความยิ่งใหญ่ของแผนการลงเพื่อให้ไม่ขัดแย้งกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็ทำให้เสียคุณสมบัติเด่นหลายๆ อย่างตามแผนเดิมไปเช่นกัน ทำให้สื่อบางราย เช่น Financial Times เรียกการปรับแผนครั้งนี้ว่า Libra กลายเป็นแค่ PayPal ตัวใหม่เท่านั้น
ที่มา - Libra
Comments
Paypal v2
ยังไงก็มา จะช้าหรือเร็วต่อให้ตัดคุณสมบัติอื่น แต่ฐานผู้ใช้มหาศาลพอ
ค่อยเป็นค่อยไป พอแจ้งเกิดได้ ฐานคนใช้เยอะพอ ก็ค่อยๆเปลี่ยนอีกที
รัฐบาลประเทศไหนปล่อยให้ใช้ก็บ้าแล้ว
ทรัมป์น่าจะยอมให้ทำไปแข่งกับหยวนดิจิตอลนะ
ทำไมไม่ใช้ทองคำเป็นค่าสกุลเงินกลาง เหมือนค่าเงินสกุลปกติ
ประเด็นคือรัฐแต่ละประเทศไม่ชอบค่าเงินกลางหรอกครับ มันเสียการควบคุม การที่ไปอิงสกุลเงินปกติ ทำให้รัฐยังมีอำนาจควบคุมแทรกแทรงได้อยู่
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
คลิปโตที่ชูจุดเด่นเรื่อง
อิสระจากการควบคุมของรัฐ
ก็ต้องกลับมาให้รัฐควบคุมอยู่ดี