นอกจาก Death Stranding ก็น่าจะมี The Last of Us 2 นี่แหละที่เป็นเกมที่มีคนคาดหวังเอาไว้สูงและรอคอย แต่กลายเป็นว่ามันก่อให้เกิดความขัดแย้งในแง่ของความเห็นต่อตัวเกมระหว่างผู้เล่น ไปจนถึงระหว่างผู้เล่นและนักวิจารณ์ค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมกลับค่อนไปทางชอบมากกว่าไม่ชอบ และมองว่า The Last of Us 2 ในภาพรวมเป็นเกมที่ค่อนข้างดี มีความ “ทะเยอทะยาน” ทั้งในด้านเกมเพลย์ เนื้อเรื่อง การนำเสนอ แต่ด้วยความทะเยอทะยานดังกล่าว กลับนำมาสู่ปัญหามากมาย ทั้งช่องโหว่ในแง่ของบท ในแง่มิติตัวละคร และปัญหาด้านการเล่าเรื่อง ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะยิ่งทวีคูณความไม่เมกเซนส์ เมื่อเทียบกับความสมบูรณ์แบบที่ภาคแรกทำเอาไว้
หมายเหตุ มี minor spoiler เรื่องเกมเพลย์และฉากบางฉากเล็กน้อย แต่ไม่มีการพูดถึงเนื้อเรื่องของเกมภาคนี้
เกมเพลย์ที่ก้าวข้ามภาคแรก
เมื่อเป็นเกมภาคต่อ ก็ไม่น่าแปลกใจถ้าเกมเพลย์จะมีการปรับปรุงให้แตกต่างหรือดีขึ้นจากภาคแรก เกมเพลย์ในภาคนี้จะไม่แตกต่างจากภาคแรกมากนัก ทั้งการสเตลท์ การลอบฆ่า การเก็บชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามฉากเพื่อมาประกอบเป็นอาวุธหรือของใช้
จุดที่ภาคนี้ปรับปรุงมากขึ้นคือฉากที่มีความใหญ่และกว้างมากขึ้นในหลาย ๆ ฉาก แต่ก็มีข้อเสียคือกลับทำให้รู้สึกการฟาร์มของยืดเยื้อ เสียเวลาและเหนื่อยอย่างไม่จำเป็นไปพอสมควร
เกมเพลย์ด้านแอคชันก็มีเพิ่มเข้ามาให้เราสามารถกะจังหวะและหลบการโจมตีของซอมบี้หรือคน ซึ่งดูเหมือนจะทำให้เล่นง่ายขึ้น เวลาต้องประจันหน้ากันตรง ๆ แต่ AI ของซอมบี้หรือคนก็ดูเก่งขึ้น ยากขึ้นในการรับมือ ที่ชัดที่สุดคือตัว Stalker (ผู้ติดเชื้อระดับ 2) ที่ฉลาดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้พุ่งเข้ามาโจมตีผู้เล่นทันที แต่จะซุ่ม เมื่อผู้เล่นหันหน้ามาเจอก็จะซ่อน วิ่งหนีไปซุ่มก่อนหาจังหวะโจมตีเข้ามาพร้อมกัน เพิ่มความยากและกดดันในการเล่นมากกว่าเดิมอยู่ไม่น้อย
เอนจินในภาคนี้ทาง Naughty Dogs ปรับปรุงให้ดีขึ้นมาก ไม่ใช่แค่เรื่องภาพ แสงแต่เป็นระบบฟิสิกส์โดยเฉพาะเชือกที่มีความเป็นธรรมชาติและเหมือนจริงมาก ไม่ว่าจะเวลาดึงเชือก โยน ห้อยหรือแม้แต่แรงหน่วงของตัวละครเวลาดึงเชือกจนสุดแล้วตัวกระตุก ไปจนถึงการสร้างรอยเท้าสร้างรอยกดบนหิมะที่ค่อนข้างสมจริง ทำให้คิดว่าเอนจินน่าจะดึงศักยภาพด้านฮาร์ดแวร์ของ PlayStation 4 ออกมาสุด ๆ แล้ว
นอกจากความเหนื่อยในการไล่หาของจากความกว้างของแผนที่และ AI ที่เก่งขึ้นโหดขึ้นแล้ว สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเกมนี้ใช้พลังมากกว่าเดิมในการเล่นคือความดาร์ก ความกดดันจากทั้งเนื้อเรื่องในหลาย ๆ ส่วน และเสียงโหยหวน เสียงกรีดร้องของคนที่เราลั่นไกใส่ (กรณีที่ไม่ใช่เฮ้ดช็อต) ก่อนจะสิ้นใจ ผมรู้สึกมันมีความสมจริงและน่าหดหู่อยู่ไม่น้อย
ถึงกระนั้นผมก็ยังสนุกกับการฆ่าคน (มากกว่าซอมบี้) อยู่ดี โดยเฉพาะเวลาที่คนอยู่ใกล้ ๆ กันแล้วโยนระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปกลางวง จนทำให้ผมคิดว่าเนื้อเรื่องของเกมมีความย้อนแย้งกับแมคคานิคอยู่ไม่น้อย เพราะด้วยแมคคานิคของเกมที่ทำให้เราต้องฆ่า และไม่รู้สึกรู้สาอะไรในการฆ่าคน แต่ขณะเดียวกันเกมกลับพยายามนำเสนอประเด็นให้เรารู้สึกผิดต่อการกระทำของตัวละครไปพร้อม ๆ กัน ไม่เหมือนในภาคแรกที่เนื้อหาของเกมพยายามนำเสนอว่า Joel ต้องฆ่าเพื่อความอยู่รอด และไม่ได้มีความรู้สึกผิดต่อการฆ่านั้นเลย
ธีมทางสองแพร่งทางศีลธรรมกับการตั้งคำถามถึงการกระทำของตัวละคร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า The Last of Us ที่ออกในปี 2013 ได้ขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของวงการเกมในปีนั้น ไม่ใช่แค่จากเกมเพลย์ที่แปลกใหม่ด้วยแนวสเตลท์เอาตัวรอด แต่มาจากบท จังหวะการเล่าเรื่องและการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละคร ที่ทำให้ The Last of Us เป็นเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง ทำให้เราเห็นพัฒนาการของตัวละครทั้ง Joel และ Ellie ได้สัมผัสความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นระหว่างทาง มีซีนที่ดึงอารมณ์คนเล่นให้ดาวน์ไปกับตัวละคร แล้วพาขึ้นมาด้วยซีนฟีลกู้ดที่ได้รับคำชมอย่างมาก อย่างซีนยีราฟช่วงท้ายเกม ก่อนที่เกมจะขมวดปมด้วยตอนจบที่กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในช่วงนั้นถึงการตัดสินใจของ Joel
ผมรู้สึกว่าการปูเรื่องและตัวละครมาทั้งหมดของภาคแรก ก่อนมาขมวดปมในตอนจบ ก็เพื่อต้องการนำเสนอประเด็นทางสองแพร่งทางศีลธรรม (Moral Dilemma) ของตัวละคร ตัวเกมอาจจะทำให้ผู้เล่นมีความคิดมีความรู้สึกเดียวกับ Joel มาตลอดทั้งเกม แต่พอมาตอนจบ เราอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ Joel ก็ได้ แต่อย่างน้อยเราน่าจะ “เข้าใจ” การตัดสินใจของ Joel จากการที่เกมปูมาทั้งเรื่อง
ในภาค 2 ผมรู้สึกว่า Neil Druckmann ผู้กำกับและผู้เขียนบทต้องการเล่นประเด็นทางสองแพร่งนี้ให้มากยิ่งขึ้น และเล่นกับอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนเล่นมากยิ่งขึ้น ผมเลยไม่ได้มองว่าเกมนี้เป็นเกมล้างแค้นตื้น ๆ แต่สิ่งที่ตัวเกมต้องการนำเสนอคือโลกดิสโทเปียใน The Last of Us มันเป็นโลกกึ่ง ๆ war of all against all หรือ survival of the fittest ดังนั้นสิ่งที่แต่ละตัวละครทำก็เพื่อความอยู่รอดของตัวเองและพวกพ้อง และแน่นอนว่ามันมีผลกระทบตามมาไม่มากก็น้อย
ที่บอกว่าภาคนี้ขยี้ประเด็นทางสองแพร่งมากขึ้น เพราะผมรู้สึกว่าภาคแรก ตัวเกมนำเสนอผ่านมุมมองของ Joel อย่างเดียว ทำให้แม้เราอาจจะไม่เห็นด้วยในเชิงเหตุผล เราอาจจะตั้งคำถามกับสิ่งที่ Joel ทำ แต่ในเชิงอารมณ์ผมเชื่อว่าการดำเนินเรื่อง ทำให้เราเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ (sympathy) หรือเอาใจช่วย Joel ในฐานะพระเอกที่เราเล่นมาสิบยี่สิบชั่วโมง
ขณะที่ภาคนี้นำเสนอมุมตรงข้าม ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการตัดสินใจของ Joel ในภาคแรก ว่าสิ่งที่ Joel ทำมันไม่ต่างจากคนเลวร้ายคนหนึ่ง แพทย์ Fireflies ในห้องผ่าตัดที่ถูก Joel ฆ่าในท้ายภาคแรก เขาก็เป็นพ่อคน มีครอบครัว มีคนรัก มีชีวิตจิตใจ มีความหวังดีว่าอยากช่วยมนุษยชาติ หรือกรณี Marlene หญิงสาวผิวดำที่ Joel ฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็นในภาคแรกทั้งที่เธออ้อนวอนขอชีวิต ก็ถูกนำเสนออีกมุมในภาคนี้ว่าตัวเธอก็ไม่ได้อยากฆ่า Ellie แต่สุดท้ายเธอยอมเลือก the greater good เหนืออารมณ์ส่วนตัว
ด้วยการกระทำข้างต้นของ Joel หากเป็นตัวละครอื่น เราอาจจะรู้สึกว่าคนที่สร้างความฉิบหายให้มนุษยชาติและฆ่าคนอื่นอย่างเลือดเย็นแบบนี้ มันน่าถูกลงโทษ น่าฆ่าทิ้ง แต่พอเป็นตัวเอกอย่าง Joel มันทำให้เราตั้งคำถามผ่านมุมมอง Fireflies ว่า Joel ที่เราเห็นใจและเอาใจช่วย จะยังคงถูกต้อง จะยังเป็นคนดีอยู่หรือไม่ (ประโยค “if this was your daughter, what would you do” ของ Marlene ที่พูดกับแพทย์ที่เลือกจะผ่าตัด Ellie นี่แอบสะเทือนอารมณ์ผมเหมือนกัน เมื่อคิดถึงสิ่งที่ Joel ทำกับเธอ)
นอกจากประเด็นของ Joel ตัวเกมยังพาเราไปสำรวจมุมทางสองแพร่งผ่านตัวร้าย (?) ของเรื่องอย่าง Abby ที่บทในช่วงแรก ปูมาให้เป็นตัวร้ายสุด ๆ ทำให้ผู้เล่นรู้สึกโกรธและเกลียดเธอ ก่อนที่เกมจะค่อย ๆ นำเสนออีกมุมของ Abby เช่นกันว่าการกระทำทุกอย่างของเธอมันก็มีเหตุมีผลรองรับในมุมของ Abby เช่นเดียวกับที่ Joel มีเหตุผลของตัวเอง (แต่เหตุผลนั้นเมกเซนส์แค่ไหน ผู้เล่นตีความเอาเอง) ขณะเดียวกันก็นำเสนอเนื้อเรื่องที่เป็นด้านกลับว่าเธอไม่ใช่คนเลวร้าย เลือดเย็นอย่างที่เกมทำให้เราคิดตอนแรก
มันทำให้ผมมองในมุมกลับว่า ถ้าตัวเอกเป็น Abby เราจะเห็นใจเข้าใจสิ่งที่ Abby ทำ (แบบที่เราเข้าใจเห็นใจ Joel ในท้ายภาคแรก) และจะรังเกียจเดียดฉันท์ Joel ในฐานะคนชั่วคนหนึ่งแค่ไหน เหมือนที่เรารังเกียจ David ที่ลักพาตัว Ellie ในท้ายภาคแรกและสะใจกับการตายของ David หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร เป็นการสะท้อนภาพความเทา ๆ ของตัวละคร สิ่งที่ตัวละครทำลงไปมันไม่ได้มีแค่ขาวหรือดำ มันมีด้านกลับ มันมีผลกระทบ และทำไปด้วยความเป็นมนุษย์ล้วน ๆ
ที่สำคัญคือภาคนี้เล่นกับความรู้สึกคนเล่น ไม่ใช่แค่การนำเสนอ 2 มุมมองของตัวละครและผลของการกระทำดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ตรงที่ เราจะเป็นยังไง จะรู้สึกยังไง ถ้าได้เล่นเป็นตัวละครที่ถูกวางไว้ให้เป็นตัวร้ายในตอนต้นอย่าง Abby ซึ่งผมว่าตรงนี้ค่อนข้างท้าทายมาก ๆ เพราะเหมือนเป็นการบีบบังคับอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นอยู่ไม่น้อย ทำให้ผมพอเข้าใจได้ว่าทำไมหลาย ๆ คนถึงเกลียดเกมนี้ อาจเพราะรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียดว่า จริง ๆ Abby ไม่ใช่คนเลวร้ายนะ ดูสิ รู้จักเธอสิ (โว้ยยย) แต่คนเล่นเกลียดและอคติ Abby ไปตั้งแต่ต้นแล้ว
ตอนแรกผมก็แอบรู้สึก อิหยังวะ ไม่อยากเล่น Abby อยู่เหมือนกัน แต่ก็พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เกมและผู้กำกับต้องการนำเสนอ ก่อนจะกลายเป็นว่าผมกลับชอบ การนำเสนอประเด็นทางสองแพร่ง หรือนำเสนอมุมมอง 2 มุมต่อเหตุการณ์เดียวกันของเกมนี้กลับกลายเป็นพาร์ทที่ผมค่อนข้างชอบ โดยเฉพาะตอนท้ายพาร์ท Abby ไปเสียอย่างนั้น มันทำให้ผมรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครนี้กับเพื่อน ๆ อยู่ไม่น้อย ไปจนถึงรู้สึกแย่กับการกระทำของ Ellie ไปเลยด้วยซ้ำ
ความทะเยอทะยานของเนื้อเรื่องที่สะดุดขาตัวเอง
แม้ผมจะค่อนข้างชอบภาพใหญ่และประเด็นที่เกมนี้ต้องการจะนำเสนอ แต่ในรายละเอียดแล้วมันก็มีปัญหาและส่วนที่ผมไม่โอเคอยู่หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะโครงสร้างและลำดับการเล่าเรื่องที่ไม่ดี น่าหงุดหงิด สลับไปมาจนสาส์นที่จะสื่อมันไม่อิมแพ็ค และการยัดเยียดบทจนรู้สึกว่าเสียคาแรคเตอร์ของตัวละครที่เคยสร้างมา
อย่างที่กล่าวไปว่าตัวเกมนำเสนอมุมมองและเนื้อเรื่อง 2 ฝั่งคือ Ellie และ Abby ขณะเดียวกันการเล่าเรื่องของแต่ละตัวละครกลับไม่ได้เล่าเป็นเส้นตรง ค่อย ๆ ปู ค่อย ๆ หาเหตุให้ตัวละครและนำไปสู่ผลในท้ายที่สุดแบบภาคแรก แต่เล่าแบบกลับหัวคือให้เห็นผลก่อน แล้วค่อย ๆ เล่าเหตุหรือปูมหลังของตัวละครย้อนหลังผ่านแฟลชแบ็ค แถมมีแฟลชแบ็คของแฟลขแบ็คเพื่อท้าวความเข้าไปอีก ซึ่งตรงนี้เองที่ส่วนตัวคิดว่าทำให้ลำดับการเล่าเรื่องและปูประเด็นเพื่อนำไปสู่อีกประเด็น (narrative build-up) ของเกมภาคนี้มีปัญหา ทำให้เมสเสจหลาย ๆ อย่างที่ตัวเกมต้องการจะสื่อ ไม่ทรงพลัง ไม่อิมแพคและรู้สึกผิดที่ผิดทาง
เข้าใจได้ว่าแฟลชแบ็คก็เพื่อทำให้เราเข้าใจปูมหลังของตัวละคร ที่มาที่ไปต่าง ๆ อย่างในพาร์ท Abby วิธีนี้คิดว่าค่อนข้างโอเค เข้าใจและเข้าถึงปูมหลัง แต่ปัญหาการแฟลชแบ็คบางฉากในพาร์ท Abby มันกลับทำให้เราไม่ได้ลุ้นไปกับการคาบเกี่ยวความเป็นความตายของตัวละครเท่าไหร่นัก เพราะเรารู้แล้วว่า Abby มันไม่ตายและอยู่รอดมาถึงปัจจุบัน
การแฟลชแบ็คของฝั่ง Ellie ก็รู้สึกมีปัญหาเช่นกัน คือหากนับเฉพาะตัวฉากแฟลชแบ็ค (per se) ในครึ่งพาร์ทแรกของเกมที่ย้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Ellie กับ Joel ส่วนนั้นค่อนข้างดี โดยเฉพาะฉากในพิพิธภัณฑ์ ที่หากพิจารณาเฉพาะฉาก ไม่สนบริบทประกอบ ฉากนี้ผมชอบในความฟีลกู้ดมากกว่าฉากยีราฟในภาคแรกด้วยซ้ำ (แต่ถ้ามองเรื่องลำดับการเล่าเรื่อง การเล่นกับอารมณ์ผมก็ยังชอบฉากยีราฟมากกว่าอยู่) แต่เมื่อมองในภาพรวมรู้สึกว่าเนื้อหาของเกมและอารมณ์ที่เราจะอินกับตัวละครน่าจะมีพลังมากกว่านี้ ถ้าลำดับการเล่าเรื่องไม่เป็นแบบนี้ (ถ้าให้เสนอว่าควรเล่าเรื่องแบบไหน ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกัน เพราะตัวบทมันมายากและท้าทายตั้งแต่แรก ทำให้ลำดับการเล่าเรื่อง หากจะทำให้ดีมันยากตามไปด้วย)
นอกจากการเล่าเรื่อง อีกปัญหาใหญ่ของตัวเกมภาคนี้คือคาแรกเตอร์ของตัวละครหลักอย่าง Joel และ Ellie ที่ผิดเพี้ยนไปจากที่ถูกสร้างเอาไว้ในภาคแรกและ DLC (out-of-character) อย่างเช่น Joel ที่เปิดเผยชื่อกับคนแปลกหน้าดื้อ ๆ ทั้งที่ในภาคแรก Joel เป็นคนระแวดระวัง ไม่ไว้ใจหน้าไหนทั้งนั้น หรือกรณี Ellie ในตอนท้ายที่หน้ามืดตามัวทิ้ง Dina โดยน้ำหนักของเหตุผลค่อนข้างอ่อน ขณะที่ใน DLC Left Behind คาแรคเตอร์ของ Ellie คือรักและไม่ทิ้งเพื่อน (หรือคนรัก?) ของตัวเอง
ฉากที่ Ellie ทิ้ง Dina ประกอบกับเนื้อหาในองก์สุดท้ายของเกมคือคือไคลแม็กซ์ของความไม่สมเหตุสมผลของทั้งบทและคาแรคเตอร์ตัวละครที่สร้างมาทั้งหมด กล่าวคือ Ellie และ Tommy ที่มีบทสนทนาเหมือนจะยอมปล่อยวางแล้ว ไม่เอาแล้ว (ไม่รวมการถูกซ้อมจนน่วม, ถูกปล่อยให้มีชีวิตรอดถึง 2 ครั้ง 2 ครา แถมด้วยการอ้อนวอนของ Dina) แรงขับเคลื่อนของ Ellie ตอนท้ายจึงให้ความรู้สึกว่ายัดเยียดเอามาก ๆ โดยเฉพาะฉากแฟลชแบ็คสุดท้ายตอนจบที่สับขาหลอกคนเล่น มันยิ่งตอกย้ำความไร้เหตุผลในแรงขับเคลื่อนของ Ellie ในองก์สุดท้ายยิ่งขึ้นไปอีก
กล่าวสั้น ๆ คือเหมือน Druckmann พยายามยัดเยียดให้ 2 ตัวละครนี้เป็นไปตามบทที่ตัวเองเขียนไว้ โดยไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดถึงคาแรคเตอร์ของตัวละครที่สร้างเอาไว้ หรืออย่างน้อย ๆ ก็ควรจะมีเหตุผลคำอธิบายที่เมกเซนส์มากกว่านี้
สุดท้ายประเด็นที่ผมรู้สึกติดใจ (แต่ไม่ได้มีการตัดสินว่าชอบหรือไม่ชอบประเด็นนี้) คือการเล่นกับ Identity Politics ของเกมนี้ที่มากเกินไปแบบผิดที่ผิดทาง กล่าวคือ Druckmann พยายามขายความหลากหลายทางเพศ ให้ผู้หญิงเป็นตัวเอกของเรื่อง มีตัวละครที่เป็น LGBT แต่การนำเสนอหรือชูความหลากหลายที่นำโดยผู้หญิงของ Druckmann ผมรู้สึกว่ามันยังยึดติดอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่อยู่ เช่น นำเสนอผู้หญิงให้มีความ macho ในแบบผู้ชายผ่านการใช้ความรุนแรง หรือกระทั่งร่างกายของ Abby ที่มีกล้ามเป็นมัด ๆ ไม่มีนม และฆ่าคนง่าย ๆ ด้วยการใช้กล้ามรัดคอ หรือการ stereotype ผู้หญิงว่าเป็นเพศที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล อย่างในฉากที่ Dina รู้ความจริงว่า Ellie มีภูมิคุ้มกันแล้ว เธอกลับแสดงอาการนอยด์ไปเลย เป็นต้น
สรุปคือ The Last of Us 2 สำหรับผมเป็นเกมที่เกือบดี จากความสนุกของเกมเพลย์และความน่าสนใจในเนื้อหาที่ Druckmann จะพยายามสื่อ แต่ลำดับการเล่าเรื่อง การปูบทที่ไม่ดี การทำลายคาแรคเตอร์ตัวละคร และความย้อนแย้ง มันกลับทำลายและกลบสิ่งที่ตัวเกมพยายามจะสื่อไปจนหมด โดยเฉพาะเมื่อถูกนำเปรียบเทียบกับภาคแรกที่ทำเอาไว้ดีมาก ๆ และมีคนคาดหวังกับเกมนี้สูง เมื่อมันไปไม่ถึง ก็ไม่แปลกที่แรงสะท้อนกลับมันจะแรง หากถามว่าควรเล่นเกมนี้ไหม ถ้าคุณเคยเล่นภาคแรกมาก่อน ผมแนะนำให้เล่นและตัดสินด้วยตัวคุณเองครับว่าสุดท้ายแล้วเกมนี้ดีหรือไม่ดี
Comments
กำลังดูพี่เอกอย่างใจจดใจจ่อ ไมยอมดูสปอยช่องไหนปล.ไม่ชอบเล่นเกมแนวนี้ ความพยายามไม่มากพอ
เล่นภาค 1 จบครั้งเดียวเท่านั้น ภาคนี้ก็รู้สปอยล์มาแล้ว ส่วนตัวรับไม่ค่อยได้ แล้วก็ปัจจุบันไม่ชอบเกมแนวย่องฆ่าเท่าไร (นี่ก็ยังดอง uncharted 4, horizon zero dawn, tomb raider 2-3, death stranding ซื้อมาตอนลดราคาทั้งนั้น)
Horizon Zero Dawn นี่ไม่ควรดองครับ 5555เล่นไปแล้วจะติดใจ
ผมเลิกตั้งแต่ยังไม่จบ Tutorial ครับ
รู้สึกเกมเพลย์ทรมาณคนเล่นชอบกล
มี Learning curve พอสมควร เนื้อหาไม่มีอะไรน่าดึงดูดพอที่จะเล่นต่อก็น่าจะเบื่อ แต่ถ้าเล่นจนชำนาญในระดับนึงแล้วจะเล่นต่อได้แล้วอาจจะชอบ
ส่วนตัวผมชอบนะเกมนี้ เป็นเกมเดียวที่เล่นได้ Plat ล่ามอนไม่ยากเท่ามอนฮัน พอเล่นเป็นแล้วสนุกอยู่
เห็นด้วยครับ
ทุกวันนี้หยิบมาเล่นอยู่เลย
เลเวลเต็ม ของเต็มหมดแล้วแท้ๆ
ผมเล่นไปได้พักนึงก็เลิก
เข้าใจเลยว่า เกมดีแต่ไม่อิน เป็นยังไง
เกมเพลย์สนุก แต่ไม่น่าติดตาม
เหมือนพยายามสร้างเหตุการณ์ที่ไม่สมจริง แล้วพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่ไม่สมจริงนั้นด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่สมจริงอีกที เพื่อจะพยายามทำให้เป็น moral dilemma ดังนั้นในแง่ของเกมแล้วมันเลยรู้สึกไม่สนุกเลย
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ผมนั่งดูคนเล่นจนจบเกมเพลก็ยังดีเหมือนเดิม แต่เนื้อเรื่องกับบุคลิคของตัวละครบางอย่างไม่สมเหตุผล แล้วก็ดูยัดเยียดมุมมองให้กับคนเล่นมากๆ
เออ จริง
ผมไม่ได้เล่น แต่ก็รู้สึกว่าถ้า Logic มันไม่ต่อเนื่องมันก็ดูแปลก
อารมณ์เดียวกับ Starwars ไตรภาค 3 เลย แต่ Starwars หนักกว่า
ทีมที่มีส่วนร่วมกับภาคแรก ลาออกเพราะการเมืองภาคสองเนี่ย บทมันถึงได้แย่กว่าภาคแรก
โอ้ว เพิ่งรู้นะเนี่ย
*(ไม่มีสปอยล์ภาค 2)
การกระทำของเอลลี่หลังจากกลับมาแจ็คสัน ไม่เมคเซ้นสุดๆ(ทอมมี่อีกคน) ยิ่งบทจบนี่แบบ เพื่อ!
ผมว่าบทความสปอยเละเทะเลยนะ จากมุมมองของคนที่เล่นแล้ว
สำหรับผมมันเป็นเกมที่ดี เล่นสนุก แต่ไม่ชอบเลย รู้สึกถึงการวางบทแบบยัดเยียด การลำดับเรื่องราว เควสแบบอิหยังวะ (ถึงถึง Fast เราติดตรงนี้เราต้องไปหาก๊อดอายส์(มั้ง) เพื่อเอามาทำบลาๆต่อ)บางเควสหรือบางสถานที่รู้สึกว่ามีไปเพื่อ?? เกมพยามบอกเราว่า เฮ้ยแกลองมองอีกมุมสิ ถ้าแกเป็นคนนั้นล่ะจะทำแบบนี้มัย เห็นมั้ยว่าเค้าก็มีเหตุผลของเค้า บลาๆ แต่อย่างที่บอกว่ามันยัดเยียด ไม่มีทางเลือกหรือให้คนเล่นตีความไปอย่างอื่นเลย
ผมชอบครับ ชอบมากๆ ชอบที่มันดาร์คเหลือเกิน ความสมเหตุสมผลนี่ส่วนตัวผมเข้าใจการกระทำของตัวละครทุกช่วงนะ
แต่ บทความสปอยล์หนักอยู่นะครับ ไม่ minor ละ
"อย่างในฉากที่ Dina รู้ความจริงว่า Ellie มีภูมิคุ้มกันแล้ว เธอกลับแสดงอาการนอยด์ไปเลย" หลายๆการกระทำของ Dina รู้สึกว่าเพราะฮอร์โมน ซึ่งมาจากการที่เค้าท้องด้วยแหละครับ
ส่วนตัวคิดว่า จุดที่ทำให้คนมาโวยมากสุด คือ trailer ต้มกบ ถ้าแฟร์ไม่หมกเม็ดบอกว่าจะได้เล่นเป็น Abbey ตั้งแต่ทีแรก คนน่าจะโวยน้อยกว่านี้ =_=
อ่านแล้วเห็นด้วย ตรงเริ่มเนื้อเรื่อง องค์สอง ของ abbey ที่ผู้กำกับพยายามยัดเยียดให้คนคิดว่า Abbey ก็มีเหตุผลนะ Abbey ก็เป็นคนดีนะ ซึ่งเธอก็อาจจะเป็นคนดีจริง ๆ แต่ผู้กำกับล้มเหลวในการเล่าเรื่องที่ไม่สามารถทำให้คนที่โกรธแค้นเธอมาจากองค์แรก สามารถให้อภัยและเข้าใจเธอได้
จากนั้นคนเล่นก็ฝืนอยู่กับความรู้สึกแค้น ๆ ที่โดนยัดเยียดให้เล่นตัวละครที่ตัวเองเกลียด ยาวนานไปจนถึงองค์สาม แล้วแอบคิดดีใจว่า จะได้กลับไปเล่นฝั่งของตัวละครที่ตัวเองชอบ (Eille) ซะที แต่กลับกลายเป็นต้องมาเจอกับ Eille ที่ตรรกะพัง การตัดสินใจที่ไม่ Make Sense แถมตอนจบก็โดนจงใจหักหลังคนเล่นอีก เลยคิดว่ามันเป็นที่มาของอารมรณ์โกรธแค้นของคนที่เล่นที่ออกมาด่ากันตอนนี้ครับ
ผมคิดตรงข้าม
เล่นบทแอบบี้แล้วรู้สึกว่า เป็นนางเอกแทนเอลลี่ไปเลยเหอะ
เอลลี่แม่ม ไม่มีอะไรนอกจากล้างแค้นอย่างหน้ามืดตามัว ฆ่าคนไร้เหตุผลไปก็หลายคนจนท้ายๆ เรื่อง ตัวเองก็เริ่มไม่เข้าใจตัวเอง ( การพลั้งมือฆ่าเมลไปนี่ สำหรับเด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะอย่างเอลลี่นี่ สะเทือนใจมากนะ เจ้าตัวเองก็รู้ตัว )
แถมแพ้เขาตั้ง 2 ครั้ง 2 คราว อีโก้ในใจอาจจะยอมไม่ได้ไรงี้ ( ฮา ) เลยขอแก้มือหน่อยเหอะ
ส่วนแอบบี้นี่ มีทั้งอุดมการณ์ มีทั้งจรรยาบรรณ และศีลธรรม มีความเป็นคนมากกว่าเอลลี่เยอะอะ
ใครจะดราม่าอะไรก็ช่าง แต่ผมโชคดี ที่รับสารของเกมได้ และโอเคกับมัน
แอบบี้ มีจรรยาบรรณและศีลธรรม อย่างการฆ่าคนโดยทรมานเล่นเนี้ยนะ ศีลธรรมแบบไหน? แถมถ้ามันมีความเป็นคนมากกว่าเอลลี่ มันก็ควรปล่อยวางเรื่องพ่อมันตายไปตัั้งนานละ แต่นี่ 4 ปียังคิดเรื่องแก้แค้นไม่ลืม
ผมว่าไม่ได้ล้มเหลวขนาดนั้นนะ ดีที่ภาคนี้มีภาษาไทย นั่งเล่นให้น้อง ๆ ดูทุกคนรวมถึงผมก็สงสาร Abby กันหมด ขนาดตอนสุดท้ายที่จะไปแก้แค้นทุกคนยังงงว่า Ellie เธอจะไปทำอะไร
สำหรับผม แค่รู้ที่มาว่าทำไมต้องแค้น Joel ขนาดนั้นผมก็เข้าใจสิ่งที่เกมจะเล่าแล้วนะ คือเค้าไม่ได้แค่ยัดเยียดความดีของ Abby ให้เรา แต่เค้าทำให้เรารู้สึกถึงความเทาๆในการตัดสินใจของตัวละครมากกว่า มันไม่มีใครดี ไม่มีใครเลว เค้าแค่พยายามชี้ให้เรารู้สึกว่าไอ้ที่เราอินกับ Joel และ Ellie มากเหลือเกินเนี่ย ไอ้สิ่งที่สองคนนี้ทำมันก็เลวร้ายกับคนอื่นมากๆนะ ทำให้เรารู้สึกตั้งคำถามกับตัวเองได้เลยว่าที่เราแค้นจัดๆเนี่ยมันใช่หรือเปล่าหว่า
จนสุดท้ายมันก็มาปิดด้วยประโยคของ Joel ที่หน้าระเบียง ประมาณว่าถ้ามีโอกาสอีกครั้งเค้าก็จะทำแบบนี้อยู่ดี คือในเล็กที่มันไม่มีขื่อมีแปร สุดท้ายสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนไว้ได้คือความรัก ทุกการตัดสินใจของตัวละครจะดีจะเลว ทำไปด้วยความรักทั้งนั้นเลย
เป็นเหมือนกัน ผมเล่นภาค 1 และภาค 2 (เล่นบังคับเองนะครับไม่ได้ดู)เราถูกให้อินไปกับฝั่ง Joel และ Ellie มาตั้งแต่ภาค 1 แล้ว
ผมเข้าใจ Abbey ผมเข้าใจ Story ที่จะสื่อ แต่เราไม่อยากบังคับ Abbey เรายังไม่อิน และช่วงเวลาที่เกมให้บังคับ Abbey คือช่วงที่ผมคิดว่าไม่เหมาะ
ควรทำภาคแยก เหมือนตอน Left Behide ให้เล่นเป็น Abbey ไปเลยดีกว่า
ความจริงยิ่งกว่าละครบางทีคนเก่งก็ทำเรื่อง nonsense รัวๆ
ปล. เกมนี้ก็เช่นกัน
ภาคนี้บู๊น้อยไปหน่อย คัทซีนเยอะเกิน เล่นจบยังไม่อิ่มเลย ต้องซ้ำสองรอบ
รอดูภาค 3 อาจจะเรียนรู้ความพลาดในการยัดเยียดเกมเพลย์ หรือบทบางส่วนมาเกินไป อาจจะเป็น Lev+ลูกของ Dina ก็ได้นะ แอลลี่ก็กลายเป็นคนแก่ไป แล้วน่าจะสร้างปมตรง immune หรือขยี้ประเด็นนี้ของแอลลี่ซักที แอบบี้ก็กลับมาบึกต่อ ฮาาา
*** มี spoiler มั๊งนะ ***
ผมไม่ได้เล่นเองนะ แต่ดูคนอื่นเล่น
การเล่าเรื่องมีปัญหา กำกับไม่เก่ง บทไม่แน่น แถม character ทำหลายอย่างที่ไม่ make sense หรือขัดกับตัวเองในภาคก่อน เนื้อเรื่องยัดเยียด moral dilemma เกินไปแถมด้วยฝืนใส่ hidden agenda เกี่ยวกับความเป็น LBGT ผู้หญิงต้องเก่งกว่าผู้ชาย ผู้หญิงไม่ต้องสวยก็เก่งได้ มันทำให้เกมที่เน้นด้านเนื้อเรื่องบรรยากาศไม่ลื่นไหลอย่างที่ควรจะเป็น
อะไรก็ตามที่ผู้เล่นเล่นไปแล้วรู้สึกว่าฝืนหรือยัดเยียด จะทำให้อารมณ์ผู้เล่นสะดุดเสมอ ถ้าคนเล่าเรื่องเก่งจริงจะต้องสอดแทรกมาโดยที่ผู้เล่นไม่รู้ตัวได้
That is the way things are.
อ่านแล้วรู้สึกอึดอัด
ตั้งใจเข้ามาดู comment ว่าจะมีเถียงเรื่อง คนเล่น vs คนดู มั้ย เหมือนกลุ่มอื่นๆ ว่าจะมีมั้ยหนอ (ส่วนตัวเล่นเอง gameplay ต้องคนเล่นเองจริงๆจะสนุกส่วนนี้มากขึ้น ส่วนเนื้อเรื่องนี้ คนที่เล่นให้คนดูมีส่วนสำคัญในการชี้นำไม่ใช่น้อยเลย)
องก์สุดท้ายของเกมหลัง time skip แย่จริง ไม่ควรมีในพาร์ทนี้ มันดูยัดเข้ามาเพื่อหาทางลงให้เอลลี่ที่กลายเป็นใครไปแล้วก็ไม่รู้
ผมเป็นแฟนสำนักรีวิวเจ้านึงนะ แต่หลังจากรีวิวของเกมนี้ออก และได้สัมผัสเอง รู้เลยว่าสุดท้ายก็แพ้พลัง sponsor อยู่ดีเคยด่าเกมอื่นว่ายัดเยียดยังไง เกมนี้บอกดีหมด เกมนี้เป็นเกมอุดมบัค ก็ให้ performance ซะ 9.5 แหม
ผมนี่ตามดู Bay Riffer กับ HRK เลย
Abbey > Abby
มีสปอลย์
สำหรับผมเองหลังจากเล่นจบ ผมรู้สึกว่าเกมนี้ให้อารมณ์เราครบรสจริงๆ แล้วก็กล้าเสนอในแบบที่เกมอื่นไม่ได้ทำ
ตั้งแต่เริ่มต้น 2 ชม. แรกก็เล่นบีบอารมณ์เราให้เรารู้สึก down สุดๆ แล้วพร้อมจะให้เอลลี่แก้แค้น ใครหน้าไหนที่ขวางทางจะฟาดให้เรียบ
หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ พีคขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการกระทำของเอลลี่ที่มีแต่ความแค้นจนเผลอฆ่าเด็กที่ยังอยู่ในท้อง ซึ่งนั่นเริ่มเป็นจุดที่ทำให้เอลลี่เริ่มตระหนักแล้วว่า สิ่งที่ตนทำลงไปมันถูกแล้วหรอ
แล้วเกมก็ตัดมาเป็นแอบบี้ให้เราเล่นตอนก่อนช่วงไคลแม็กซ์ ซึ่งตอนตัดมาผมว่าน่าจะเป็นเกือบทุกคนคือ หยุดเล่นไปก่อนขอทำใจแป๊บ เพราะความรู้สึกแค้นแอบบี้มันถึงขีดสุดละ
แต่พอเล่นแอบบี้ไปเรื่อยๆ มันทำให้เห็นมุมมองอีกมุมเลย ซึ่งแต่ละคนก็มีเหตุผลในการกระทำ
จนสุดท้ายผมว่าเค้าเล่นกับความรู้สึกคนเล่นได้ดี ผมนี่อยากให้เอลลี่หยุดแก้แค้นเลยตอนท้าย
ที่จริงชีวิตเรามันก็เต็มไปด้วยเรื่องไม่เมคเซนส์ สำหรับผมเกมนี้มันสร้างสภาพแวดล้อมดึงอารมณ์มาได้ดีมากๆ แต่เป็นเกมที่เล่นแล้วเครียดอึดอัด ทนเล่นนานไม่ได้เหนื่อยเกิน ที่ไม่ชอบสุดสำหรับเกมแนวนี้แล้วทำกันอยู่ได้คือแบบ ยืดเยื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็น พวกแบบ เดินจะถึงอยู่แล้ว ทางถล่ม ทางถูกปิด ต้องเดินอ้อม เพิ่มเวลาเล่นไปอีก 1-2 ชม เพื่อเดินอ้อม จะรู้สึกหงุดหงิดมาก เนื้อเรื่องประมาณนี้อยู่สัก 15-16 ชม น่าจะกำลังอิ่มๆพอดี นี่ต้องเล่นกันไป 32 ชม รู้สึกแน่นไป
แต่ตอนนี้พอเล่นจบแล้วมาเล่นเกมอื่นต่อ เริ่มคิดถึง อยากกลับมาเล่นใหม่แฮะ
แปลกใจที่คนว่าเยอะ สำหรับเกมในปีนี้ที่ผมเล่นมา ผมนี่ไม่ชอบ FF7R อย่างแรง อันนั้นประหลาดกว่ามากๆ แต่มีแต่คนชมโดนไม่มีเสียงโต้แย้งเลย
ไม่เพราะเจสซี่อ่อยสุดตอนต้น ๆ เกม ก็เพราะค้าวแต่งหญิงได้สวยกว่านางเอกทั้งสอง แถมกลายเป็นเกมเต้นเบา ๆ ฮาา
อ่านประโยคแรกแล้วสมองหยุดทำงานไปแปบนึง เอ๊ะ เจสซี่ไปอ่อยใครตอนไหน... อ๋อ เจสซี่ใน FF7R ไม่ใช่ TLOU2
ผมไม่ค่อยชอบ FF7R นะ เหมือนทำเกมใหม่แต่ใช้ FFVII เป็นพื้นมากกว่า
ส่วน TLoU ผมไม่ชอบตั้งแต่ภาคแรกแล้วเลยไม่ค่อยแคร์ครับ
สำหรับผมขอแค่ทำภาคนี้ให้จบได้ภายใน 20 ปีผมก็พอใจแล้ว ตัวเลขประมาณตอนนี้คือ 90 ปี (ไม่น่าใช้น้ามันคงไม่กะทำเกมเดียวทั้งชีวิตหลอกมั้ง แต่ก็เชื่อว่าถ้าคิดจะทำละก็ทำแน่)
เท่าที่เล่นมา เป็นเกมที่ยัดเยียด hidden agenda ใน video game ชัดเจนมากๆจริงๆ
จะเห็นได้ว่าภาคนี้ตัวละครเพศหญิง โดดเด่นกว่าเพศชายมาก ขนาดหมาตัวหลักของเรื่องยังเป็นตัวเมียเลย
นอกนั้นผมเฉยๆนะ จุดที่โดดเด่นคือเรื่องภาพและเสียงนี่แหละที่ดีงามสุดในบรรดาเกมสมัยนี้แล้ว แต่ถ้าเคยเล่นภาคแรก gameplay ก็เป็นแบบนั้นเลย เพียงแต่เพิ่ม animation การเคลื่อนไหวมากขึ้น ปืน craft เพิ่มขึ้น นอกนั้นเหมือนภาคแรก ปัญหาหลักๆของเกมนี้คือเรื่องบทแหละ และลำดับการเล่าเรื่องบท มันทำให้เกมนี้เสียงแตกมาก
ที่สำคัญเกมนี้ flashback เยอะมากๆๆ มี flashback ซ้อน flashback อีกทีอีก
สำหรับผมถ้าคนเขียนบทไม่สามารถทำให้ majority คนส่วนใหญ่คล้อยตามไม่ได้ ผมก็ถือว่าล้มเหลวนะครับ
โดยรวม ผมชอบนะ ได้ความรู้สึกแปลกใหม่จัดๆในการเล่นเกม
ยิ่งตอนที่ต้องบังคับ Abby ทั้งที่โคตรเกลียด ผมว่าผู้กำกับทำตรงนี้สำเร็จสุดๆ
คุ้มเงิน
ผมอาจจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเนื้อเรื่องแบบนี้ ผมเล่นภาค 1 แล้วเล่นต่อ ภาค 2 ติดกันให้จบเลย ผมให้อภัย Abby ครับ รู้สึกว่า ตัวละครเรียนรู้ และมีเหตุผลขึ้นเรื่อยๆ (ไม่ได้บอกว่า ผู้กำกับเล่าเรื่องได้ดีนะ) แต่พอเล่นแอลลี่ บางทีก็ถอนหายใจกับการกระทำอยู่บ้าง
เกมเสียงแตกแห่งยุค แต่ผมชอบนะนำเสนอแบบนี้ เล่นไปอึดอัดไป ต้องพักก็จะมีแฟลชแบคให้พัก
Tomb Raider, Uncharted, Horizon zero dawn แล้วก็ Last of US สี่เกมส์นี้ ผมถือว่าคล้ายกันมาก แต่ถ้าให้คะแนน บังคับตัวละคร เวลาต่อสู้ ต้องให้เค้าเลย Last of USแต่ วิธีเล่าเนื้อเรื่องภาคสอง "ไม่โอเค" เลย เหมือนไม่เคยเล่นภาค 1 แล้วมากำกับภาค 2 ตัวละลรหลักนี่ คนละคนเลย แล้วก็ประเด็น LBGT นี่ ที่ทำสำเร็จ มี She-Ra ภาคการ์ตูนของ Netflix เท่านั้นที่ทำออกมาแล้วประสพความสำเร็จ นอกนั้นตายเรียบ เด่น ๆ เลยก็ Ghost Busters, Star Wars 8 เละ .. จะดี จะชั่ว ก็ลองทำ Ep 3 มาอีกครั้ง แล้ว ดูยอดขายเอาก็แล้วกันนะครัช
ยกย่องในความทะเยอทะยานและความกล้าหาญที่จะสร้างความแตกต่างในการเล่าเรื่อง การสร้างคอนเซปต์สร้างธีมที่โคตรแข็งแรง สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้เล่น ถึงแม้ตัวเกมส์บางฉากจะไม่ Make Sense ในบางจุด บางจุดก็บังเอิญเกินไปจนขาดความสมจริง
ผกก เหมือนจะลืมตัวตนภาคแรกไป และไม่ได้ให้เหตุผลถึงความเปลี่ยนแปลงหลายๆอย่างในตัวเอกที่เกิดขึ้น มันเลยทำให้มีคำถามเยอะที่ตัวเอกภาคก่อน ทำไมมาพลาดกับเรื่องง่ายๆแบบนี้ ทั้งที่โดยปรกติเป็นคนที่คิดเยอะมาก และระวังตัวสุดๆ (ถ้าใส่เนื้อเรื่องที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไปของตัวหลักภาคก่อนมา จะสมบูรณ์กว่านี้มาก)
โดยส่วนตัวผมว่าสนุกครับ เนื้อเรื่องน่าติดตามมาก เกมเพลย์ยังสนุกเหมือนเดิม เป็นการนำเสนอเส้นทางสองเส้นที่มาบรรจบกัน โดยแต่ละคนต่างมีเหตุผลของตัวเองในการต่อสู้ และก็เอาประเด็น LBGT กับ Feminist มาเป็นองค์ประกอบหลักของเกม ทำให้ผู้เล่นผู้ชายอย่างเราเลยรู้สึกแปลกๆ หน่อย
จะว่าไป แล้วซอมบี้เห็ดล่ะ ไม่เห็นมีคนพูดถึง 555
มันมีเรื่องอะไรให้พูดถึงอีกนะครับ?
นั่นล่ะครับประเด็น
ทำไมมันถึงไม่มีประเด็นอะไรให้พูดถึงเลย ทั้ง ๆ ที่มันเคยเป็น core mechanics ไม่ใช่หรือ ?
อ่ะ งั้นผมพูดให้ จากประสบการณ์ที่ตัวเองเล่นมา
ภาคนี้ที่เห็นเด่นๆคือจะเพิ่มประเภทของผู้ติดเชื้อขึ้นมาใหม่ 2 ประเภท ซึ่งส่งผลต่อเกมเพลย์เพราะต้องปรับวิธีการเล่นเวลาเจอสักหน่อย
ประเภทแรกคือ Shambler ลักษณะคือตัวใหญ่กว่าปกติ (แต่ไม่เท่า Bloater) ร่างกายจะมีเห็ดงอกเป็นตุ่มๆซึ่งไอ้ตุ่มๆนี่มันปล่อยพิษออกมาได้ การโจมตีจะมีการเด็ดตุ่มนี่มาปาใส่เรา หรือไม่ก็ระเบิดพิษออกมาจากร่างกาย (เวลาตายจะมีพิษระเบิดออกมาด้วย สายงกฟาร์มต้องระวังนิดนึงหลังฆ่า) ซึ่งพิษมันมีลักษณะเป็นกรดอ่ะ ตัวนี้ทำมาเพื่อ Ellie เลยเพราะจะโดน Damage ด้วย
อีกประเภทคือ Rat King หนึ่งในบอสของเกม ผมชอบตัวนี้มากเลย ฉากเปิดตัวระทึกดีเหลือเกิน ลักษณะเป็นผู้ติดเชื้อที่ติดเชื้อนานมากๆแถมโดนจับขังอยู่ในห้องแคบๆจนตัวหลอมรวมกันเป็นผู้ติดเชื้อตัวใหญ่ๆตัวนึง ความสามารถก็ไม่มีอะไรมาก คืออึด ถึก ถึงตัวได้ครั้งเดียวคือจับหักคอคาที่เลย แถมสู้ไปสักพักมีแยกตัวเศษๆที่ติดมาด้วยได้อีก
ภาพรวมก็จะมีการปรับปรุงนิดๆหน่อยๆ เช่นพวก Clicker จะใช้ molotov ขวดเดียวฆ่าแบบภาคแรกไม่ได้ละ (OP มาก) และที่ผมชอบมากๆคือ Stalker ที่ฉลาดขึ้นมากๆ ในบรรดาผู้ติดเชื้อธรรมดาๆผมให้พวกนี้รับมือลำบากสุด มีการพัฒนาเรื่องจังหวะการเข้ามาโจมตีเราแบบเป็นกลุ่ม แถมจะยืนรอใส่ท่า melee บางทีก็ไม่ง่ายละเพราะมันรู้จักหนีไปรอจังหวะ
สาเหตุที่เจ้าของบทความไม่ได้พูดถึงอาจจะเพราะว่าตัวเกมเน้นพัฒนาศัตรูที่เป็นคนมากกว่า และเนื้อเรื่องหลักๆค่อนข้างเทไปที่การปะทะกับคนด้วยกันมากกว่า ส่วนตัวรู้สึกว่าเกมแยกวิธีรับมือระหว่างผู้ติดเชื้อกับคนได้ดีทำให้ประสบการณ์การเล่นหลากหลายอารมณ์กว่าเดิมครับ
ป.ล. ผู้ติดเชื้อในเกมนี้ไม่ใช่ซอมบี้ เพราะผู้ติดเชื้อคือคนเป็นๆที่ได้รับเชื้อเข้าไปแล้วเชื้อราไปเติบโตจนควบคุมระบบประสาทนู่นนี่นั่น และเชื้อไม่สามารถติดศพแล้วบังคับให้ลุกมาเดินไล่งับเราได้
ป.ล.2 เรื่อง Core Mechanics ในภาคแรกนี่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นการสู้กับผู้ติดเชื้อนะครับ อาจจะโดดเด่นถ้ามองจากตอนเปิดตัวเกม แต่เวลาเล่นในเกมจริงๆเราเจอศัตรูทั้งสองประเภทเยอะพอๆกันโดยจะพยายามปรับให้เราใช้วิธีการรับมือคนละแบบแล้วก็ใช้เป็นตัวเดินเรื่องในแบบต่างๆมากกว่า เช่นเจอผู้ติดเชื้อก็จะเข้าโหมดหนังสยอง ลุ้นๆ เจอคนก็เข้าโหมดหนีตาย กลายเป็นเกมชู้ตติ้ง
ที่ไม่ได้พูดเพราะว่า ลืมครับ ผ่าม เรื่องจะพูดเยอะเกินจนล้น
ขอบคุณครับ