สงครามเกมคอนโซลยุคที่เก้า ( นับตามการแบ่งยุคของวิกิพีเดีย ) กำลังจะเริ่มเปิดฉากขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จากการเปิดตัวของสองคอนโซลสำคัญคือ PlayStation 5 และ Xbox Series X
ตอนนี้เรารู้ข้อมูลสำคัญๆ เกือบทั้งหมดของคอนโซลทั้งสองค่ายแล้ว (เหลือแต่วันวางขายกับราคา) ส่วนซอฟต์แวร์เกม ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา เราก็เห็นไลน์อัพของทั้งสองค่ายเผยโฉมกันมาเยอะแล้วเช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจในสงครามคอนโซลรอบนี้ มันอาจไม่ใช่การปะทะกันของคอนโซล 2 เครื่อง PS5 vs Xbox Series Xแต่เป็นการปะทะกันระหว่าง 2 แนวคิดคือ PS5 vs Xbox Game Passแทนต่างหาก
PS5 ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
PS4 คือผู้ชนะสงครามคอนโซลยุคที่แปดอย่างไร้ข้อกังขา ด้วย ยอดขายรวม 110 ล้านเครื่อง มากเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์คอนโซล (แพ้แค่ PS2 เท่านั้น)
ยุทธศาสตร์ของ Sony เรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือสร้างฮาร์ดแวร์คอนโซลที่มีประสิทธิภาพสูง (PS4 รุ่นแรกแรงกว่า Xbox One รุ่นแรก ที่ต้องแบ่งพลังไปประมวลผล Kinect) และพัฒนาซอฟต์แวร์เกมเอ็กซ์คลูซีฟที่ดึงดูดผู้เล่นเข้าแพลตฟอร์ม โดยอาศัยสตูดิโอในสังกัด PlayStation Studios ของตัวเอง บวกกับเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นมายาวนาน
พอมาถึงยุคของ PS5 ยุทธศาสตร์นี้ยังคงอยู่ เรายังเห็นคอนโซลที่ประสิทธิภาพสูง (แม้จะไม่ใช่สูงที่สุด) บวกกับไลน์อัพเกมเด่นๆ อย่าง Spider-Man: Miles Morales, Horizon Forbiden West หรือ Gran Turismo 7 ที่สร้างความว้าวให้บรรดาเกมเมอร์
ยุทธศาสตร์ใหม่ Xbox ที่ไม่เน้นคอนโซล
แต่ยุทธศาสตร์ของ Xbox ในรอบนี้กลับไปเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
หลัง Xbox One พ่ายแพ้ในสงครามยุคที่แปดแบบหมดรูป เพราะวางแผนยุทธศาสตร์พลาดตั้งแต่แรกเปิดตัว (เครื่องแพงกว่า, แรงน้อยกว่า, เน้นความบันเทิงมากกว่าเกม, ย้ายแผ่นเกมข้ามเครื่องได้ยาก ฯลฯ) ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเห็นไมโครซอฟท์ภายใต้การนำของ Phil Spencer ที่ขึ้นมาคุมทีม Xbox ในปี 2014 (หลัง Xbox One ออกขายหนึ่งปี) ปรับทิศทางของบริษัทไปจากเดิมหลายอย่าง เช่น
- ตัด Kinect ออกจาก Xbox One (แก้ปัญหาเครื่องแพงกว่าคู่แข่ง)
- ออก Xbox One X ที่แรงกว่า PS4 Pro (แก้ปัญหาภาพลักษณ์คอนโซลแรงน้อยกว่าคู่แข่ง) ซึ่งสืบทอดมาถึง Xbox Series X ที่พยายามชูจุดเด่นเรื่องคอนโซลที่ทรงพลังที่สุด
- กว้านซื้อสตูดิโอพัฒนาเกมจำนวนมาก มาอยู่ใต้สังกัด Xbox Game Studios (แก้ปัญหาจุดอ่อนที่ขาดเกมเอ็กซ์คลูซีฟ)
- ออกบริการเกมเหมาจ่าย Xbox Game Pass ในปี 2017
- ออกบริการเกมสตรีมมิ่ง xCloud ในปี 2018
- กลับมาสนใจธุรกิจเกมพีซี ดังจะเห็นได้จากการออก Xbox Game Pass for PC หรือการกลับมาออก Halo บนพีซี
แผนการของไมโครซอฟท์มาขมวดปมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเปิดตัวเกมใหม่บน Xbox Series X โดยยังคงแนวทางออกเกมบน Xbox One ด้วย และที่สำคัญคือเกมทั้งหมดจะเปิดให้เล่นบน Xbox Game Pass ตั้งแต่วันแรก (Day One)
ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์รอบนี้จึงชัดเจนว่า ต้องการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสมรภูมิคอนโซล จากสมการ "คอนโซลแรง+เกมเด่น" (ที่ตัวเองแพ้ในยกล่าสุด) มาเป็นแนวคิดใหม่ "เกมที่กลายเป็นบริการ" โดยมี Xbox Game Pass เป็นเรือธงแทน
Xbox Game Pass คืออะไร
ปัจจุบัน Xbox Game Pass ยังไม่เปิดบริการในไทย (ซึ่งคงไม่ต้องหวังอะไรมากเพราะขนาด Xbox ยังไม่วางขายเลย) ถ้าให้อธิบายแบบสรุปรวบรัด ต้องบอกว่ามันคือ "Netflix for Games" ที่ผู้เล่นจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน (ตอนนี้คือ 9.99 ดอลลาร์) เพื่อแลกกับสิทธิเล่นเกมในไลบรารีทั้งหมด (ประมาณ 100 เกม ที่จะเวียนเข้าออกตลอดเวลาเพื่อให้ไลบรารีสดใหม่)
แนวคิดเรื่องบริการเหมาจ่าย (subscription) เพื่อเล่นเกมไม่ใช่ของใหม่ และคู่แข่งหลายๆ รายในอุตสาหกรรมเกมก็มีบริการลักษณะเดียวกัน (เช่น Origin Access/EA Access, Uplay+ หรือแม้แต่ PlayStation Now ที่เริ่มจากสตรีมมิ่งแต่ภายหลังก็หันมารองรับเกมแบบดาวน์โหลดด้วย)
แต่สิ่งที่ทำให้ Xbox Game Pass โดดเด่นเหนือใคร และ มียอดสมาชิกเกิน 10 ล้านรายแล้ว (เทียบกับ PS Now ที่มี 2.2 ล้านราย ) คือไมโครซอฟท์แกะสมการ subscription ออกตั้งแต่แรก นำเกมทั้งหมดของตัวเองมาเปิดให้เล่นแบบ Day One ต่างจากบริการคู่แข่งที่มักมีแต่เกมเก่าเท่านั้น (เท่านั้นยังไม่พอ ช่วงหลังยังเจรจานำเกมของบริษัทอื่นมาให้เล่นแบบ Day One ด้วย ตัวอย่างล่าสุดคือ Destiny 2: Beyond Light ของ Bungie)
แนวทางการดันเกมใหม่ๆ ดังๆ ที่สามารถขายราคา 60 ดอลลาร์ ฟันรายได้เน้นๆ ในช่วงเปิดตัว มาเปิดให้เล่นฟรีสำหรับสมาชิก Game Pass คงไม่สามารถทำได้หากไม่รวยพอ (เพราะเป็นการแย่งรายได้กันเองระหว่างขายแยก vs จ่ายสมาชิก) แต่ ไมโครซอฟท์ดันเป็นบริษัทที่รวยมากพอ จึงสามารถสละรายได้ส่วนนี้ เพื่อมาเน้นการสร้างฐานสมาชิกให้ Game Pass อย่างจริงจัง
เล่นเกมไม่ต้องซื้อคอนโซลก็ได้ เพราะเล่นจากที่ไหนก็ได้
นอกจากการเปลี่ยนโมเดล "ซื้อเกมใหม่" มาเป็น "จ่ายค่าสมาชิกทุกเดือนเพื่อเล่นเกมใหม่" ที่เคียงคู่อุตสาหกรรมเกมมายาวนานหลายทศวรรษ ไมโครซอฟท์ยังพยายามเปลี่ยนมุมมองจากเรื่อง "เกมผูกกับคอนโซล" กลายมาเป็น "เกมเล่นจากที่ไหนก็ได้" ในอีกแกนหนึ่งด้วย
สิ่งที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ ไมโครซอฟท์กลับมาสนใจตลาดเกมพีซีอีกครั้ง (หลังละเลยไปนานมาก) สัญญาณที่ชัดเจนที่สุดคือการนำ Halo ในฐานะเกมเรือธงที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟของ Xbox มาลงพีซี (แถมขายบน Steam ด้วยอีกต่างหาก) และการขยาย Xbox Game Pass for PC สำหรับกลุ่มคนเล่นเกมพีซีด้วย (รายชื่อเกมไม่เหมือนกันกับบน Xbox One 100%)
To celebrate the launch of Grounded in game preview, we challenged some of our favorite creators to build their tiniest computers yetwhat's that phrase about great things coming in small packages? #XGPPCTinyBuild : https://t.co/SM8PUVJaOC pic.twitter.com/i6NDSbUJ9Q
— Xbox Game Pass For PC (@XboxGamePassPC) July 31, 2020
ภาพด้านล่างอยู่บนหน้าเว็บของ Xbox Game Pass ถือเป็นภาพสะท้อนมุมมองของไมโครซอฟท์ได้ดี ว่าต้องการให้เกมของแพลตฟอร์มของตัวเองเล่นได้ทั้งบน Xbox One และพีซี (ถ้าเป็นเกมแบบขายแยก มี Xbox Play Anywhere ที่ซื้อทีเดียวแล้วเล่นได้ทั้งสองเครื่อง แต่พอเป็น Game Pass ก็เหมารวมเลย)
แต่แผนการของไมโครซอฟท์ยังไปไกลกว่าพีซี ในปีนี้เราจะได้เห็น Xbox Series X เพิ่มเข้ามาเป็นคอนโซลอีกตัว และเทคโนโลยีการสตรีมเกม xCloud ที่ช่วยให้อุปกรณ์ที่พลังประมวลผลไม่มากนัก (สมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต) สามารถเข้าถึงเกมดังระดับ AAA แบบเดียวกับคอนโซลหรือพีซีด้วย
เมื่อนำจิ๊กซอทุกชิ้นมาประกอบกัน เราจะเห็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของไมโครซอฟท์ ที่เน้นการเล่นเกมจากที่ไหนก็ได้ โดยมี Xbox Game Pass เป็นแกนกลาง แทนที่จะเป็น Xbox Series X
ศักดิ์ฐานะของ Xbox Series X จึงถูกลดชั้นลงมาเหลือเพียงฮาร์ดแวร์ตัวหนึ่งในจักรวาลของไมโครซอฟท์เท่านั้น คอนโซลไม่ได้กลายเป็น "ตัวนำ" อีกต่อไป เพราะ "ประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีที่สุด" สามารถส่งผ่านไปถึงผู้ใช้ในช่องทางอื่นได้ (เช่น พีซีหรือสตรีมมิ่ง)
อัพเดต 4 ส.ค. 2020หลังจากบทความนี้ลงไปได้เพียง 1 วัน ไมโครซอฟท์ก็เปิดตัว xCloud อย่างเป็นทางการ และอัพเดตเว็บไซต์ใหม่ Game Pass แสดงภาพที่ตรงกับวิสัยทัศน์มากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อ Game Pass คือแกนกลาง
ยุทธศาสตร์การผลักดัน Xbox Game Pass แบบสุดตัว แสดงให้เห็นชัดเจนจากงานแถลงข่าวเกม Xbox รอบล่าสุด (ที่ Halo Infinite โดนวิจารณ์หนักเรื่องกราฟิก) เราเห็นการอ้างอิงถึง Xbox Game Pass อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงท้ายคลิปเทรลเลอร์เกม หรือในหน้าเว็บไซต์รายละเอียดของเกม
หากยึดเอาเกม Halo Infinite ที่เป็นเกมเรือธงของไมโครซอฟท์ในปี 2020 ท้ายคลิปจะเห็นโลโก้ Xbox Game Pass อยู่ในตำแหน่งแรกสุด อยู่ก่อน Xbox Series X ด้วยซ้ำ
ถ้าลองเข้าไปดูใน หน้าเว็บของ Halo Infinite สิ่งแรกที่เห็นคือข้อความว่า Coming to Xbox Game Pass ไม่มีพูดถึง Xbox Series X ในหน้าจอแรกด้วยซ้ำ
ในขณะที่ Xbox Series X ถูกพูดถึงในแง่ว่า "Optimized for" เท่านั้น ประสบการณ์ที่ดีที่สุดของ Halo Infinite อยู่บน Xbox Series X แต่เล่นบนเครื่องอื่นได้เสมอ
เมนูของเว็บไซต์ Xbox.com ก็สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ใหม่นี้ Game Pass อยู่เมนูแรกสุด ก่อนเมนู Games และ Devices
ก้าวต่อไปที่ต้องจับตาคือการผนวก Xbox Live Gold เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Xbox Game Pass (เวอร์ชัน Ultimate ที่รวมพีซีและคอนโซล) ถ้าไมโครซอฟท์เดินเกมสำเร็จ มันจะกลายเป็น "บริการรายเดือน 15 ดอลลาร์" ที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีหมากอื่นๆ รอให้เล่นอีกไม่น้อย เช่น Xbox Series S โค้ดเนม "Lockhart" ที่จะช่วยให้กำแพงการเข้าถึงคอนโซลยุคใหม่ถูกลงจากเดิม และ โมเดล Xbox All Access จ่ายรายเดือนเริ่มต้นที่ 21.99 ดอลลาร์ ได้ทั้ง Xbox Game Pass ทุกเดือน จ่ายครบแล้วเอาเครื่องไปเลย หมากเหล่านี้ล้วนแต่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนเข้าถึง Game Pass ได้ง่ายขึ้นในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ไหนดีกว่ากัน ฮาร์ดแวร์+เกม vs บริการ
ความเคลื่อนไหวของฝั่ง Xbox ชัดเจนว่าต้องการขยับพื้นฐานของวงการเกม จากฮาร์ดแวร์+ซอฟต์แวร์เกม มาเป็นเกมในฐานะบริการ ภายใต้ร่มของ Xbox Game Pass
แรงขับเคลื่อนของไมโครซอฟท์อาจเริ่มมาจากความพ่ายแพ้ของ Xbox One จนต้องขยับหนี แต่มันอาจเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะเทคโนโลยีเกมสตรีมมิ่งกำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเกม ที่เคยต้องอิงกับการส่งผ่านประสบการณ์เล่นเกมด้วยฮาร์ดแวร์เฉพาะมาตลอด
แต่ปี 2020 อาจเร็วไปสำหรับสตรีมมิ่งล้วนๆ 100% ดังที่เราเห็นได้จาก Google Stadia ยังลูกผีลูกคน แนวทางของไมโครซอฟท์ที่ยืดหยุ่น ให้อิสระ เล่นจากคอนโซลก็ได้ พีซีก็ดี สตรีมมิ่งก็ไม่ผิด จึงน่าดึงดูดกว่า Stadia ที่เป็นสตรีมมิ่งอย่างเดียว
ปัญหาของไมโครซอฟท์ในตอนนี้เหลืออยู่ 2 อย่าง ได้แก่ เกมเอ็กซ์คลูซีฟยังไม่เยอะและน่าสนใจพอ (เมื่อเทียบกับฝั่งโซนี่) ตรงนี้ไมโครซอฟท์ก็รู้ตัวดี จึงกว้านซื้อสตูดิโอเกมเข้ามาในสังกัดหลายราย แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าผลงานจะออกดอกออกผล เมื่อเทียบกับฝั่งโซนี่ที่ลงทุนวางรากฐานในเรื่องนี้มายาวนาน
ปัญหาอีกข้อแสดงให้เห็นชัดจากกรณีกราฟิกของ Halo Infinite ว่าการรองรับฮาร์ดแวร์หลากหลายรุ่น ทำให้ศักยภาพของเกมรุ่นใหม่ "ไปไม่สุด" เพราะฮาร์ดแวร์รุ่นเก่า (ในที่นี้คือ Xbox One) ฉุดรั้งเอาไว้ ในขณะที่เกมเอ็กซ์คลูซีฟของ PS5 อย่าง Horizon Forbidden West หรือ Ratchet & Clank ไม่มีปัญหานี้ เพราะสามารถโฟกัสไปที่ PS5 อย่างเดียวได้เลย
ผมเชื่อว่าในช่วงแรกของคอนโซลยุคที่เก้า ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากคอนโซลรุ่นก่อนหน้า ปัจจัยที่มีบทบาทสูงคงเป็นเรื่องของเกมเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งตอนนี้ PS5 ได้เปรียบกว่าพอสมควร และคงไม่น่าแปลกใจนักหาก PS5 จะยังมียอดขายที่ดีกว่า Xbox Series X ในช่วงปีแรกๆ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันจะเป็นการวัดกันระหว่างยุทธศาสตร์ "คอนโซลเรือธง" vs "เกมคือบริการ" ยอดขายของ Xbox Series X อาจไม่สำคัญที่สุดอีกแล้ว หากไมโครซอฟท์สามารถดันยอดสมาชิก Game Pass (ทั้งบนคอนโซลและพีซี) ให้ได้ถึง 100 ล้านรายแบบเดียวกับยอดขายของ PS4
นั่นจะกลายเป็นว่า สงครามคอนโซลยุคใหม่จึงกลายเป็นการปะทะกันของ PS5 และ Game Pass แทน
Comments
อื้อหือ ยุทธศาสตร์นี้น่าติดตามมาก
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
แต่ไม่ทำตลาดในไทย
ปัญหาของ xbox คือตลาดแบบ global ด้วย ขายอยู่ไม่กี่ที่ ถ้ามันไม่ดึงดูดมากพอ ก็ไม่จำเป็นขวนขวาย ในการจ่ายตัง
มันไม่ใช่แบบยุค 360 ที่มีผู้เล่น xbox ค่อนข้างเยอะ อาจจะเพราะความผิดพลาดของ ps3 ด้วยหรือ nintendo ที่ทำให้คนขวนขวายอยากได้จน ราคาเครื่องสูงลิ่ว
ก็เยอะอยู่นะครับ แต่ไม่มีไทยนี่แหละคือปัญหา ในอาเซียนน่าจะมีแค่สิงคโปร์ประเทศเดียว
One windows ผมยังแขยงไม่หายขอดูตอนสำเร็จทีเดียวละกันครับ
แนวคิดดี แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้เครื่องที่มีเกมเด่นๆถูกจริตกว่าอยู่ดี เครื่องคอนโซลมันคนละวัตถุประสงค์ มันไม่ใช่เครื่องที่จะต้องมาจ่ายรายเดือน คอนโซลวัดที่ตัวเกมที่ป้อนเข้ามา
Game Pass ในแง่ราคาผม OK แต่แรงจุงใจผมเฉยๆ นะเพราะเกมที่อยากเล่นอาจไม่อยู่ในนั้นก็ได้ แล้วเวลาเล่นมันไม่ยืดหยุนสำหรับทุกคน
ผมรอ digital game for rent มากกว่า
อ่านจนจบสรุปก็คือมีแต่ Xbox เท่านั้น ฝั่ง PS ไม่เห็นมีเลย เหมือนอวย Xbox อย่างเดียว
คือเขากำลังพูดถึง “ยุทธศาสตร์ใหม่” ครับ ไม่ได้พูดถึงว่าใครดีกว่าใคร
Sony มันไม่ได้มีอะไรต้องอธิบาย เพราะชัดเจน ทำเครื่องที่แรงพอ กับเกมที่น่าสนใจ ที่ดันประสิทธิภาพเครื่องซึ่งยุทธศาสตร์นี้ Sony ก็ใช้มาตั้งแต่ PS1
แต่ของ MS มันแปลกใหม่ (แต่จะ work ไหมก็อีกเรื่อง) ซึ่งบทความนี้เขียนเพื่อพูดถึงจุดนี้
รู้สึกเหมือนกันครับ กลายเป็น PS5 มีไม่เกิน 2 paragraphs แต่อวย Xbox เต็มประดาเลย
ส่วนเรื่อง subscription แนวคิดดีครับถ้า content แน่นแต่ถ้าเกมส์แม่เหล็กยังคง exclusive to PS5 แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ
นอกจากเกม ex แล้ว ps มีไรให้พูดถึงเหรอ
ตอนที่เขียนก็คือวาง PS4 ไว้ข้างๆ ด้วยนะครับ ?
55555
ผมไม่รู้สึกว่าอวยนะ คือบทความเค้าเน้นวิเคราะห์รูปแบบการขายเกมแบบใหม่ของ Xbox เพราะฉะนั้นมันจะมีเนื้อหาของ Xbox เยอะก็ไม่แปลกแต่ไม่ได้ชื่นชมจนออกนอกหน้า
ทำไมยังรู้สึกฉายฉวยและครึ่งๆกลางๆอยู่อ่ะ อ่านแล้วก็ไม่รู้สึกให้อยากจ่ายด้วย
แค่บอกว่า 100เกมส์ หมุนเวียนไปเรื่อยก็ไม่อยากแล้ว ทำไมไม่ 100+ไปเรื่อยๆ เป็นพันเป็นหมื่นไม่เอาเกมส์ออกสิ จะมาเทียบกับ Netflix ก็กากไปหน่อยนะ
ความจริงไม่ต้องเกมส์ AAA ตลอดหรอก ไปกวาดเอาเกมส์เก่าเกมส์อินดี้มาลงเยอะๆ ราคาถูกด้วย เอามาลงเป็นหมื่นๆเกมส์เลย แบบนี้แหละ Netflix จริง ซึ่งก็น่าจะเหมาะกับการเล่นแบบฉาบฉวยทุกกลุ่มทุกวัยแบบนี้ด้วย
ส่วนเครื่อง Xbox ถ้าคิดแบบนี้ คือแพ้ไปแล้ว HW เจ๋งยังไงก็ไปไม่สุด ต้องคิดโน่นคิดนี่เยอะ PS5 อัดหนักๆได้เลยไม่ต้องคิดอะไร ใช้ HW ให้สุด ทำเกมส์ให้คนต้องซื้อเครื่องเพื่อมาเล่นให้ได้ จบ. เรียบง่ายและทรงพลังกว่าจริงๆนั่นแหละ ถ้าเกมส์มันสนุก คนก็แห่มาเล่นเองแหละ ไม่เกี่ยวกับราคาหรือความคุ้มค่าใดๆทั้งสิ้น
ที่มันวนเข้าออกคือเกม third party ครับ เหตุผลก็คิดว่าสัญญามีอายุนั่นล่ะครับ
ถ้าเป็นเกมของไมโครซอฟท์เอง เข้าใจว่ามีไปตลอดกาลครับ
ปัจจัยนึงที่ PS4 ขายดีคือราคาไม่แพงด้วย $399 เท่านั้น (เทียบกับ PS3 ที่เปิดตัว $599) และมีเกมป้อนเยอะมาก เจนหน้ายังไง xbox ก็เจาะตลาดญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ดี เกมแนวญี่ปุ่นๆ เครื่องนี้มีน้อย แล้วการทำเกมให้รองรับฮาร์ดแวร์หลากหลายมันทำให้นักพัฒนางานเยอะขึ้นนะ แทนที่จะเน้น next gen เครื่องเดียวและดีงศักยภาพเครื่องออกมาให้มากที่สุดกลับต้องเขียนโค้ดเผื่อเครื่องอื่นๆ
รอดูผลสรุปอีก 7 ปีละกัน คิดว่าโซนี่ชนะอยู่ดี
ขอบคุณสำหรับบทความครับ
ทำให้เห็นภาพชัดเจนรอบด้านเลยว่า trend อุตสาหกรรมเกมจะเป็นยังไงต่อไปในอนาคต
อย่างที่ในบทความบอก xbox ปัญหาอยู่ที่เกมชูโรงน้อยเกินไป
จะ service ดี คุ้มค่าขนาดไหน
สุดท้ายใน 100+ นั้นไม่มีเกมที่เราอยากเล่น เราจะเสียตังไปทำไม
ก็เหมือนกับ netflix ถ้ามันไม่มีหนังที่เราอยากดู เราก็คงไม่ต่ออายุไว้ให้เสียเงินเปล่า ๆ
ในทางกลับกัน sony ก็เหมือนตัวแทนร้านขายหนังในปัจจุบัน คือ มีหนังทุกเรื่องแน่ๆ
ถ้าเราอยากดูจริง ๆ ก็พร้อมเสียตังให้เป็นก้อนไปเลย แล้วเค้ายังมีหนังฟอร์มยักษ์เพียบซะด้วยสิ
ผมมองว่ายุทธศาตร์รอบนี้ของทาง microsoft คือการแย่งตลาด game as a service ของทั้ง PC และ Console ในยุคที่ cloud gaming ยังไม่สามารถเติมเต็มผู้ใช้งานได้ โดยแบ่งตลาดเป็น 2 ฝั่งคือ PC กับ Console โดยปกติแล้วตั้งแต่ x360 (อันนี้เท่าที่ผมสังเกตจากการเริ่มเล่นคอนโซลจากยุคนี้) เกม exclusive ของฝั่ง xbox ค่อนข้างน้อย และหลายๆเกมมักจะเป็นแค่ console exclusive เสียมากกว่า (Fable ภาคแรกก็ลงคอม Halo ก็ด้วยล่ะ ไหนจะ Gear o war อีก) ซึ่งตลาดเกิดใหม่อย่าง game as a service อาจจะตอบโจทย์ในระยะยาวมากกว่า ในขณะที่เกมหลายๆเกมที่โมเดลเกมแบบประมาณ Tom Clancy's division ที่มีการขายของในเกมควบคู่กับการเล่นออนไลน์เริ่มมีมากขึ้น
ในแง่ของคนเล่นอาจจะคุ้ม แต่ในแง่ของอุตสาหกรรม ผมมองว่ามันคือหายนะเลยล่ะ (Original ของ Netflix ยังไม่ถูกรสผมเท่าไหร่) แรงจูงใจในการพัฒนาเกม master piece อาจจะน้อยลง
ปล.ของ Playstaion ก็มีนะ PS NOW ไง ไม่เปิดให้เล่นบ้านเราเช่นเดียวกัน แต่มุดได้เหมือน game pass แหละ
ถึงรอบนี้ XB จะแพ้แน่ๆ ก็คงแพ้ไม่หนักเท่ารอบก่อน แต่เรื่องเกมไม่ดึงดูดและจำนวนเกมที่มีน้อยไปก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอยู่ดี (ถึงแม้หลายๆคนที่ผมรู้จัก มี PS4 แต่ก็เล่นไปแค่ไม่กี่เกม บางคนหนักเลยมีแค่เกมที่แถมกับเครื่อง)
เป็นไอเดียที่ดี netflix for game ถ้าทำตลาอดที่ไทยจริงๆ การจ่ายเงินสามร้อย ต่อเดือน จบเกมนึงก็คุ้มอยู่นะ
ตัดสินใจง่ายมาก Persona 6 ลง PlayStation เหมือนเดิม ก็จัด PS5
ชอบพรีเซ้น ไอเดียดีนะแต่ที่ชนะแน่ๆ ชอบดีไซน์ฮาร์ดแวร์ เรื่องเดียวจริงๆตอนนี้
ตัวเลข 10ล้านเป็นยอด acc ไม่ใช้ active acc บริการแบบนี้มันควรจะต้องเอา active acc มาเทียบกัน
แล้วอีกอย่างคือ ps now มันเป็นบริการ stream game เหมือนของ geforce now
pass นี้เกม 3rd party แล้วดังๆรวมอยู่ด้วยน้อยมาก เกมที่ day one ได้ก็แค่ first party ซึ่ง ms ก็มีปัญหามาตลอด เจนนี้เหมือนจะเอาจริง แต่ดูจากค่ายที่ไปเอามา คงไม่เน้นเกม aaa
คนเล่นน้อยๆ อย่างผมแค่เกมส์ฟรีของ PlayStation Plus ก็เล่นไม่ทันแล้ว เป็นการจ่าย Subscription อย่างนึงแต่ราคาไม่แพงมากตกเดือนไม่ถึงร้อย
ปรากฎนินเทนโดแซงโค้งไปแทน
เล่นจบแล้วขายแผ่นต่อได้นะ
Xbox Game Pass เดินหน้าหนักจริง ๆ เชียเลย
Game Pass นี่ตอนลดลดโหดมากเลย จ่ายหลักร้อยบางครั้งน้อยกว่า ปัญหาอยู่ที่มีเกมที่เราสนใจรึเปล่า แต่เกมใหญ่ๆที่ลงก็เยอะนะ เกมก็มีเยอะด้วย แต่การที่มันสามารถเล่นผ่านเครื่องไหนก็ได้ในเครือเนี่ยคนใช้ประโยชน์จากตรงนั้นได้น้อยนะผมว่า เพราะว่าปกติเล่นเครื่องไหนก็เครื่องนั้น ถ้าทำอย่างนี้ก็เหมือนไม่ต้องซื้อ Xbox ก็ได้แหละ
น่ากลัวจะออกทางนี้เหมือนกัน สุดท้าย ไปตัดยอดขาย xbox ซะอีก
ปัจจัยสำคัญของคนเล่นเกมส์ คือ Game Play กับความสมดุลในเกมส์ แข่งกันไปก็เท่านั้น ผมว่าสุดท้ายปูนิน เอาไปกินเหมือนเดิม ปู่นินทำให้เห็นมาหลายรอบแล้วว่าเกมส์ที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึง เล่นสนุกโดยกราฟฟิกไม่ต้องเยอะ ราคาไม่แพง (เฉพาะตอนที่ของไม่ขาดนะ) มันเป็นยังไง
ตอน Wii U ก็เจ็บมาเยอะนะครับ
มีท่านใดใช้ Xbox Game Pass อยู่หรือเปล่าครับเกมที่เปิดให้เล่น Day 1 มันเฉพาะตัว Standard หรือเปล่าครับ ถ้าเราอยากได้แพ็คใหญ่ ๆ เช่นตัว Deluxe หรือ Ultimate จะทำยังไงได้บ้างครับ
ผมเล็งๆจะใช้อยู่ เท่าที่ดูมา มันให้ตัว standard มาครับ (แต่ forza 4 มีของพิเศษให้อีก) จะซื้อแพ็คเพิ่มมันมีขายครับ อย่าง forza horizon 4 ตัว ultimate ราคา 79.99$ ถ้าซื้อผ่าน game pass (จากราคา 99.99$)
แล้วแต่ว่า 1st party หรือ 3rd party โดยมากทั้ง 2 อย่างจะเป็นตัวธรรมดา
ถ้าเป็นสายสะสม, Game Pass คงไม่ใช่เป้าหมายของเขา
แต่ก็มีบางเกม (ไม่ใช่ Day 1) มาเซ็ทใหญ่เหมือนกัน เช่น Final Fantacy XV
ถ้าเกมนั้นมีระบบอัพเกรด (จ่าย $$ อัพเป็น Deluxe) ก็กด base เกมจาก Game Pass แล้วซื้อเฉพาะส่วนของ Deluxe แต่ผู้เล่นแบบนี้น่าจะมีน้อย โดยมากถ้าจะซื้อ Deluxe ก็กดซื้อทั้งเซ็ทไปเลย
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
ผมใช้ Game Pass Ultimate ครับ เกมส่วนมากที่อยู่ใน Game Pass Ultimate จะเป็น Standard Edition ทั้งหมด ยกเว้นเกมเดียวที่เป็น Ultimate Edition คือ Gears 5 ครับ (ในอนาคต จะมีอีกรายคือ Destiny 2)
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ถ้าเช่า Destiny 2 ได้ ก็น่าจะคิดนะครับว่า Model จะเป็นอย่างไรเพราะตัวเกมส์หลัก Free อยู่แล้ว แต่ขาย Season Pass
สมมุติว่า ถ้าปีนี้ไม่ต่ออายุ Gamepass แล้วเนื้อหา DLC, Loot Item ที่เคยได้มาจากของ Season นั้น จะทำอย่างไร (ยังคงใช้งานต่อได้โดยไม่ต้องต่ออายุ Gamepass ? หรือยึดคืน ซึ่งผมเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ตัวเกมส์ Destiny 2 ยังไม่มีระบบ Revoke แบบนั้น ซื้อแล้วซื้อเลย)
เขาประกาศมาว่า ในเดือนหน้าทุก Expansion สามารถเล่นได้หมดเลย ส่วนเรื่องไอเทมในเกม อันนี้ไม่ชัวร์เหมือนกัน คิดว่าหลายคนน่าจะมีคำถามส่วนนี้กับ Bungie อยู่พอตัวนะ
แต่โดยปกติแล้ว ถ้าเกมไหนไม่ได้อยู่ใน Game Pass แล้ว จะเล่นได้ต่อสูงสุด 30 วัน ซึ่งไม่แน่ใจว่า สำหรับกรณีของ Destiny 2 มันจะเป็นยังไง
Coder | Designer | Thinker | Blogger
Nintendo ยืนกวาดพื้นหน้าบ้านอยู่
Xbox พยายามจะไม่ขายขาดเกมส์ที่เป็น Physical
(เน้น digital download, season pass, voice chat)
ไม่เชื่อรอดูเครื่องรหัส LockHart ได้ ซึ่งสวนทางกับเครื่องเกมส์ญี่ปุ่น
แล้วก็ปัญหาดั้งเดิมเกิดจาก root ของแผนกเกมส์ ตั้งแต่ยังเป็น
SEGA US ที่ไม่คุยกับ SEGA JP บางทีออกเครื่องมาเตะตัดขากันเองก็มี
(32X กับ Saturn)
ปัญหานี้ยังไม่หาย มันยังคงเป็น SEGA US อยู่ จะคุยให้เกมส์มาลง
นี่ยากระดับนึง เพราะคนญี่ปุ่นไม่พูดภาษาอังกฤษ เพราะงั้นเอาจริง ๆ
XBOX กับ PS จริง ๆ ตลาดแทบจะไม่ตีกันเลย
XBOX เป็นฝรั่งเล่นเกมส์แบบฝรั่ง
PS จะเน้นเกมส์ญี่ปุ่น ขายของสะสมให้รกบ้านเล่น ๆ
ถ้าจะกลับ กลัว Nintendo ออก Switch Pro ดีกว่า
ปล. เลขกระทู้สวยดีนะครับ 117777
ว่าจะทักเรื่อง 117777 เหมือนกันสวยจริง
ก็ถือว่าฉีกออกไปเลย ปัญหาใหญ่น่าจะอยู่ที่การกระจาย game pass ให้แพร่หลายที่สุด (เพิ่มประเทศให้บริการหรือพยายามเจาะตลาดญี่ปุ่น) กว่าจะออกดอกผลน่าจะ5ปีขึ้นไป เท่ากับว่าระหว่างนี้หากไม่มีเกมส์Exดีๆเพื่อมาดึงลูกค้า ยอดขายเจ้าเครื่องGenใหม่อาจถูกทิ้งห่างไปเลย
ในแง่ 3rd-party คิดว่า GamePass น่าจะถูกใช้ในแง่การตลาด มากกว่าเอามาทำตลาดจริงจัง คือจากเท่าที่เคยพูดคุยกับ developer ที่เคยทำตลาด subscription แล้วพบว่ารายได้ที่ได้ต่ำมาก (ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดกับเพลงและหนังด้วย) ดังนั้นคงไม่สามารถใช้เป็นแหล่งรายได้หลักได้ครับ
ซึ่งถ้ามองในแง่เอามาใช้ทำการตลาดนี่ ผมว่าเกมฟรีที่แจกใน PS Plus เองก็เข้าข่ายเหมือนกัน เพราะหลาย ๆ บริษัทใช้เจ้านี่เป็นแพลตฟอร์มในการแจกเกมเก่า (จำกัดระยะเวลา) เพื่อดึงคนเล่นไปยังเกมภาคใหม่
สุดท้ายก็คือฉีกตลาดไม่อยากแข่งกับเจ้าตลาด ถ้าเวิร์คก็ถือว่าเปิดตลาดใหม่ แต่ถ้าแพ้จนต้องพับเสื่อกลับบ้านก็จะกลายเป็นตามหลังคู่แข่งอีกเป็นหลักเกือบสิบปี
ผมคิดว่า Game Pass น่าจะต้องเจอความท้าทายอีกมากหากจะต้องการทำตัวเองให้คล้าย Netflix
เกมชื่อเดียวกันก็มีหลาย package หรือ DLC ที่ให้เนื้อหาประสบการณ์การเล่นเกมที่ไม่เหมือนกัน ต่างจากภาพยนต์หรือ series ที่เรื่องเดียวกันก็มักจะมีแค่ edition เดียว ผู้ชมได้รับประสบการณ์แบบเดียวกันเสมอ
ผู้เล่นเกมแต่ละคนก็มีความคาดหวังต่อเกมไม่เหมือนกัน บางคนอยากเล่นเฉพาะส่วนหลัก บางคนอยากเล่นส่วน DLC ด้วย แต่ที่ยากที่สุดคือคุณภาพและวัตถุประสงค์ของ DLC ของเกมแต่ละเกมไม่เหมือนกัน บางเกม DLC มีไว้เพื่อเพิ่ม content บางเกมมีไว้เพื่อเพิ่ม skin ของสะสม บางเกม DLC ราคุ้มค่า บางเกม DLC แพงและไม่จำเป็น
เมื่อพิจารณาว่า Game Pass มีไว้เพื่อให้เช่าเล่นเกม ไม่ได้เน้นซื้อเก็บเหมือนการซื้อเกมปกติ ดังนั้นผู้ใช้ก็คาดหวังว่าจะสามารถเช่า DLC ของเกมนั้น ๆ มาเล่นได้ด้วย ไม่ใช่ว่าตัวเกมหลักเช่าเล่น แต่พอจะเล่น DLC ต้องซื้อเกม มันขัดแย้งในตัวมันเองอยู่ ซึ่งก็หวังว่าต่อไป Microsoft อาจจะหา business model มาแก้ปัญหานี้ได้
That is the way things are.
รอดูว่าเอา AAA มาลงได้ขนาดไหน สมัยนี้สตูดิโอในมือเพียบ ถ้าทำขึ้นก็จะได้เปิดตลาดเพิ่มง่ายด้วย
ถ้า PS5 ไม่หน้าทิ่มแบบ PS3 ก็น่าจะสมน้ำสมเนื้อกันมากขึ้น
Xbox ไม่เน้นขายเครื่อง(ตามสไตล์ MS) เลยเน้นไปทางขายเกมแทน จะเห็นได้ว่าเกมที่ exc ลง xbox ก็ลง pc ด้วย ซึ่งปกติเขาไม่ทำกันเพราะเกม exc นั้นจะทำให้ยอดเครื่องเพิ่มขึ้น
The Dream hacker..
เค้าเพิ่งไม่เน้นขายเครื่องยุค Satya Nadella นี่ละครับ ยุคก่อนนี้ขยันออก Hardware อะไรมาก้แป็ก มีแต่คนล้อ
ยุค Xbox 360 VS PS3 นี่ถ้าผมจำไม่ผิดคือสูสีมากเลยนะครับ