อีกหนึ่งประเด็นน่าสนใจของ Steam Deck คือ SteamOS 3.0 ระบบปฏิบัติการ ที่ มี Arch Linux + KDE เป็นเบื้องหลัง แต่เกมส่วนใหญ่บน Steam นั้นรองรับเฉพาะ Windows
Steam มีระบบ Steam Play ช่วยให้ผู้เล่นสามารถเล่นเกม Windows บน Linux ได้ ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Proton ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ Valve ใช้เพื่อรันเกม Windows บน Steam Deck
Proton เป็นการ “fork” (หยิบซอร์สโค้ดจากโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมาพัฒนาต่อ) มาจาก Wine (ย่อจาก Wine Is Not an Emulator) อีกที แนวทางของ Wine ไม่ได้เป็นอีมูเลเตอร์ตามชื่อ แต่ทำงานโดยแปลงการเรียก Windows API ไปเป็นการเรียก POSIX ของยูนิกซ์แทน ทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพน้อยกว่าการนำโปรแกรมไปรันบนอีมูเลเตอร์
ปัจจุบัน Valve พัฒนา Proton จนมีเกมที่รองรับเพิ่มมากขึ้น (เทียบกับช่วงเปิดตัวในปี 2018) ถ้าใช้ตัวเลขอ้างอิงจาก ProtonDB เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกม Steam ที่เล่นผ่าน Proton มีเกมกว่า 15,000 เกม จาก 19,000 ที่มีผลการทดสอบ สามารถเล่นบน Linux ผ่าน Proton ได้แล้ว
อย่างไรก็ตาม เกมยอดนิยม 10 อันดับแรกบน Steam กลับยังไม่สามารถเล่นผ่าน Proton ได้ถึง 4 เกม มีเพียง 3 เกม คือ CS:GO, DOTA 2 และ Team Fortress 2 ที่เล่นได้ในระดับ Native หรือเทียบเท่ากับการรันบนวินโดวส์ (และทั้งหมดคือเกมของ Valve เอง) ส่วนเกมอื่นเล่นได้ในระดับที่ลดหลั่นกันไป เช่น Grand Theft Auto V ได้ระดับ Gold, Rust ได้ระดับ Silver
ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้เกมเล่นบน Proton ไม่ได้ มาจากระบบป้้องกันการโกง (Anti-Cheat) หลายระบบในเกมออนไลน์ เช่น BattleEye (PUBG) และ Easy Anti-Cheat (Apex Legends) ยังทำงานกับ Proton ไม่ได้ ทำให้เกมออนไลน์ซึ่งเป็นเกมยอดนิยมในยุคนี้อาจมีปัญหากับ Proton ได้ ซึ่ง Steam ก็ทราบปัญหานี้ และระบุไว้ใน FAQ ของ Steam Deck ว่ากำลังเร่งประสานกับผู้พัฒนาเกมเหล่านี้เพื่อให้ใช้งานได้ก่อนเครื่องวางจำหน่าย
คงต้องมาติดตามในวันที่ Steam Deck วางจำหน่ายจริงอีกครั้ง ว่าประสิทธิภาพของเกมที่รันผ่าน Proton จะเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนปัจจุบัน เกมดังๆ ที่ยังเล่นผ่าน Proton ไม่ได้ มีทั้ง
- PUBG
- Destiny 2
- Rainbow Six Siege
- Dead by Daylight
- DayZ
- Black Desert Online
- Hunt: Showdown
เกมเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขทันเวลาหรือเปล่า และเกมที่ใช้ระบบ Anti-Cheat อื่น จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ความเข้ากันได้นี้ อาจเป็นอีกเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายอนาคตของ Steam Deck ได้เลยทีเดียว
ที่มา - PC World
Comments
คนมักติดภาพจำว่า linux เล่นเกมไม่ได้ ซึ่งจริงๆมันก็ทำได้มานานแล้วแหละ แต่ก็นะคนที่ไม่ชอบ Linux จริงๆก็คงไม่ใช้ หรือไม่ได้เป็น power user คงไม่ได้มานั่งสนใจว่าเป็น OS อะไรเล่นได้ก็พอแล้ว
ต่อไปถ้า Steam Deck บูมๆ ผมว่าคนที่ใช้ Linux แล้วอยากเล่นเกม น่าจะได้อานิสงค์ไปด้วย เพราะ Valve น่าจะต้องเมคชัวร์ให้เกมเล่นผ่าน Proton ได้มากขึ้น 55
ผมชอบ Linux นะ เคยเอามาใช้ทดแทนเครื่องทำงานด้วยแต่ติดเครื่องความบันเทิงยามผ่อนคลายเนี่ยหล่ะครับ ทั้ง Codec ทั้ง Player
บน Windows จะสะดวกกว่า
มันไม่ได้เล่นง่ายเหมือนติดตั้งเกมส์บน Windows ครับ มันหลายขั้นตอนกับการเล่นเกมส์ Windows บน Linux ถ้าไม่ได้ติดตั้งผ่าน Steam แม้แต่ Power User ยังปวดหัวครับ นับประสาอะไรกับ End User
Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project
ตามนี้แหละ เพราะเคยพยายาม setup เกมให้เพื่อนที่อยากใช้ Linux แล้ว ตอบได้คำเดียวว่าเวลาที่เสียไปกับการ setup ให้เล่นได้บน Linux นั้นเอาไปลง Windows พร้อมเกมที่ว่าได้ 2 เครื่องครึ่ง แถมเล่นแล้วมีปัญหาว่ามันมี input lag หน่อยๆ ครับ
จริง ๆ ก็มีหนทางที่ช่วย setup ได้ง่ายอยู่ ดังสุดคือ Lutris แต่ก็ไม่ง่ายเท่าไรเมื่อเทียบกับ Windows ที่แค่ดับเบิลคลิก กด Next ต่อไปเรื่อย ๆ จนจบ ฝั่งนั้นก็ Next, Next เหมือนกัน แต่เพิ่มขั้นตอนที่เราต้องมา check ด้วยว่าเกมรันได้หรือเปล่า แล้วเลือกไฟล์เกมว่าอยู่ที่ไหน
ผมกำลังนึกว่า อย่าง tuxracer พอลงแพคเกจมันก็เล่นได้เลยนะ
แต่คนที่ชอบเล่น tuxracer คงมีไม่เยอะ 555
ผมพูดถึงคนเล่นเกมส์ Native Windows บน Linux ครับ
Opensource - Hackintosh - Graphic Design - Scriptkiddie - Xenlism Project
ตอนนี้ส่วนใหญ่ Windows จะเกมมากับเครื่องและคนทั่วไปก็เคยชินกับการใช้วินโดวน์ ก็คงเปลี่ยนยาก แต่ผมว่าคนที่รู้จัก Linux ก็น่าจะรู้ว่ามันเล่นเกมได้นะครับแต่เล่นได้ไม่มาก เพราะคนที่รู้จัก Linux น่าจะรู้เรื่องไอทีระดับนึงต่างจากคนทั่วไป
The Dream hacker..
เลือกเหยียด ว่าคนใช้วินโดว์ ใช้โปรแกรมเถื่อนที่ร้านขายคอมลงมาให้เถอะครับ
ไม่นะครับ ผมซื้อโนตบุคหลัง ๆ มานี่ก็แถมวินโดวส์หมดนะครับ แท้ด้วย เค้าไม่ได้เหยียดอะไรนี่ครับ
ถ้าจะผิดก็คงมีแค่พิมพ์ผิด เกม > แถม
ผู้ใช้ปกติไม่มีความจำเป็นต้องใช้เลย
use case ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยิ่งยุคนี้มีเรื่องของความเป็นส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง use case ยิ่งหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ Linux โด่งดังมากในฐานะระบบปฏิบัติการทดแทนสำหรับ Desktop และระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์งานอดิเรก และเป็นระบบปฏิบัติการที่มุ่งเน้นความเป็นส่วนตัวสูงมาก ๆ ในระดับที่ใน OS มีคนส่องโค้ดแทบจะตลอดเวลาว่าแอบฝังอะไรเข้าไปบ้าง และ Linux จากฝั่งธุรกิจเริ่มได้รับความนิยมจากผู้ใช้ระดับพื้นฐานลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน
กลับเข้าเรื่ออง ในหลาย ๆ use-case เราสามารถพูดได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้ Linux ก็ได้ แต่ก็สามารถพูดว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ Windows ได้เช่นเดียวกัน มันไม่เกี่ยวกับว่าเราจำเป็นต้องใช้ OS ใดหรือไม่ด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ความต้องการ และความพร้อมของผู้ใช้และเครื่องมือที่เขาเลือกว่าไปในทิศทางใด ผมมีประสบการณ์ติดตั้ง Linux ในเครื่องเก่า ๆ ให้กับคนที่เขาแค่อยากใช้คอมดู YouTube, Netflix และมันก็ work สำหรับเขามาก บางคนทั้งชีวิตอยู่แต่กับ Google Docs ในทางกลับกันน้องข้างบ้านที่ใช้ Linux มีปัญหาอย่างมากเมื่อต้องการเล่นเกมออนไลน์ที่ติด anti-cheat เพราะ Linux ไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความรู้ของผู้ใช้นี่แหละ เพราะเกิดมาเขาก็ได้จับแต่ Windows แทบไม่มีโอกาสจะได้ไปจับ OS สำหรับ PC อื่น ๆ เลย นอกจากว่าเขาจะสนใจเรื่องนั้นด้วยตนเอง แผนการตลาดที่ดีย่อมได้ผลเสมอ และ Microsoft ก็ใช้แผนนี้ในการรุกฆาตตลาด PC ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
ปล. บางคนอาจจะคิดว่าผมเกลียด Microsoft เอาอย่างนี้ละกัน ผมใช้บัญชี Microsoft ทำงานเป็นหลัก แต่ผมใช้ Linux เพราะงานส่วนใหญ่ของผมเป็นงาน dev และคอมพิวเตอร์ของผมไม่ได้มีสมรรถนะสูงในระดับที่จะเอามารัน bloatware พื้นหลังของ Windows ได้ และเอาจริง ๆ ผมเกลียดและกลัว Google มากกว่า ควบคุม internet infrastructure แทบจะทั้งโลกแล้ว
ถ้าไม่เล่นเกมกับทำงานกราฟฟิค เล่นแต่เว็บอย่างเดียว เราใช้ chorme os อยู่ก็มีความสุขดี
งานกราฟิก ถ้าไม่มีเงื่อนไขว่าต้องใช้ตัวไหนเป็นพิเศษ ผมวาดรูปใน Krita กับทำ vector ใน Inkscape ก็โอเคนะ มันคง work สำหรับผมแหละ เอาไปเทียบกับ workflow คนอื่นไม่ได้ 555 งาน 3D หลัง ๆ มาไม่ค่อยได้จับเพราะไม่มีใครจ้างทำ Blender ก็ไม่ได้จับงานระดับสูงเลยไม่รู้ว่าระดับโปรเขาใช้อะไรบ้าง SketchUp ก็มีบนเว็บแล้ว แต่สู้ราคา licence ไม่ไหว
ป้้องกันการโกง => ป้องกันการโกง
Coder | Designer | Thinker | Blogger
แก้ความเข้าใจผิดหน่อย เกมของ Valve ไม่ได้รันผ่าน Proton แต่เป็นการรันด้วยไบนารี (เป็นเวอร์ชัน Linux) โดยตรง โดย Valve พัฒนาเกมเวอร์ชัน Linux มานานแล้วในเกือบทุก ๆ เกมที่ Valve ได้ทำ (ยกเว้น HL: Alyx ที่ฝั่ง Linux ยังไม่ก้าวหน้าด้าน VR มากพอ)
มา MAC บั่มมม T-T
my blog
ปัญหาทางเทคนิคมีเล็กน้อย คือต้อง containerize พวก lib32 สำหรับ Proton บน Mac ไปด้วย มีสอง codebase กับแพลตฟอร์มที่ตัวเองไม่ได้โฟกัสมาตั้งแต่ต้นจะลำบากเพิ่มขึ้นเอา
ปัญหาอีกอย่างคือ Proton เป็นโครงการ fork มาจาก WineHQ ที่เป็นของ CodeWeavers อีกที ขืน Valve ไปทำแบบนั้นโดนโวยวายว่าเห็นแก่ตัวแน่ ๆ เพราะ CodeWeavers ขาย Crossover อยู่แล้ว ไปทำแบบนั้นก็เหมือนทับไลน์สินค้าของเขาไปโดยปริยาย (แต่ CW ก็ไม่ได้ทำอยู่ฝ่ายเดียวสักทีเดียวนัก ตอนนี้ Valve จ้างนักพัฒนา DXVK ที่เป็น API translation layer เข้าไปผนวกกับโครงการ Proton ของตัวเอง แล้ว CW ได้อานิสงส์ตรงนี้ไปด้วยเหมือนกัน)
อีกหน่อยคงมีการลงลืนุกซ์เถื่อนเพื่อเล่นเกมเถื่อน
โจรสลัดส่วนหนึ่งกำลังปล่อยเกมเถื่อนของ Windows ผ่าน Flatpak
Linux เถื่อนนี่คือ Ubuntu สินะ