Mastercard ประกาศแนวทางการยกเลิกแถบแม่เหล็กในสหรัฐฯ ภายในปี 2024 หลังพบว่าการใช้บัตรแบบไร้สัมผัส (contactless transaction) สูงขึ้นจนคิดเป็น 45% ของการจ่ายผ่านบัตรทั้งหมดในสหรัฐฯ และการจ่ายแบบ EMV ซึ่งรวมทั้งแบบไร้สัมผัสและแบบชิปนั้นคิดเป็น 86% ของการจ่ายผ่านบัตรแบบต่อหน้าทั้งโลก
แผนการนี้ต่างกันไปตามแต่ภูมิภาค โดยเริ่มจากปี 2024 ธนาคารผู้ออกบัตรจะสามารถออกบัตรแบบไม่มีแถบแม่เหล็กแต่ยังเป็นการตัดสินใจของธนาคารเอง แต่หลังจากปี 2029 Mastercard จะไม่รองรับการออกบัตรแบบมีแถบแม่เหล็กอีกต่อไป ยกเว้นบางกรณีเท่านั้น เช่นบัตรแบบพรีเพดในสหรัฐฯ และแคนาดา
แถบแม่เหล็กนับเป็นพัฒนาขั้นที่สองของการจ่ายผ่านบัตรที่ใช้งานมาหลายสิบปี จากเดิมที่ร้านค้าเก็บหมายเลขบัตรผ่านทางเครื่องพิมพ์เลขคาร์บอนด้วยเลขนูนบนบัตร หรือเครื่อง zip-zap บัตรแม่เหล็กพัฒนาโดย IBM ในช่วงปี 1960 และ ในช่วงปี 1997 มีการเพิ่มความปลอดภัยเข้ามาเล็กน้อย ด้วยการซ่อนตัวเลขยืนยัน CVV ที่มองไม่เห็นบนตัวบัตรเอาไว้ในแถบแม่เหล็ก (รูปแบบเดียวกับตัวเลขยืนยันหลังบัตร ที่บางธนาคารเรียกว่า CVV2) แต่กระบวนการป้องกันด้วยเลขลับที่เปลี่ยนไม่ได้นี้นับว่าไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไปแล้วในยุคนี้เนื่องจากการสำเนาบัตรแม่เหล็กนั้นทำได้โดยง่าย
Mastercard และ Visa ผลักดันให้ร้านค้าเลิกใช้แถบแม่เหล็กมานับสิบปี โดยขั้นตอนใหญ่ที่สุดคือการ ผลักภาระรับผิดชอบ (liability shift) ให้กับร้านค้าหากยังรับจ่ายผ่านแถบแม่เหล็กอยู่เมื่อปี 2014 โดยร้านค้าต้องรับผิดชอบเองหากเกิดการฉ้อโกง อย่างไรก็ดีแม้ผ่านมาหลายปีร้านค้าจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ยอมรับปรับปรุงระบบให้รองรับบัตรชิป
Mastercard คาดว่าภายในปี 2033 จะไม่เหลือบัตรเครดิตและเดบิตที่มีบัตรแม่เหล็กใช้งานอีกแล้ว
ที่มา - Mastercard
Comments
จะมี QR CODE บนบัตรมั้ยคะ ?
ถ้าหมายถึงให้ร้านสแกน qr code ที่พิมพ์บนบัตรแทนละก็ ผมมองว่ามันก็เป็นข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้และทำสำเนาได้ง่ายเหมือนแถบแม่เหล็กที่กำลังยกเลิกอยู่นี่แหละครับ(ง่ายกว่าด้วย) ที่ใช้กันทั่วไปกรณีผู้จ่ายคือกดโทรศัพท์มาสร้าง qr code กันเป็นรายครั้ง และแต่ละครั้งจะมีอายุไม่กี่นาทีครับ
แซวตลกๆน่ะค่ะ เห็นประเทศแถบนี้รวมไปถึงจีนชอบใช้ QR code scan contactless มากกว่า NFC contactless
แต่ QR สำหรับจ่ายฝั่งลูกค้า มันไม่ใช่ Static แต่เป้น Dynamic ที่เปลี่ยนไปทุกครั้งเวลาต้องการจ่าย มันก้คือการทำจ4ข้อมูลที่เปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งก็ต่างกับแทบแม่เหล็กที่เป็นตัวเลขคงที่ตลอดไม่เปลี่ยนไงครับ แต่ QR Code ฝั่งคนรับต่างหากที่แปะเป็นกระดาศหน้าร้าน ที่เป็นข้อมูลคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่มันทำอะไรกับเงินลูกค้าไม่ได้ เพราะลูกค้าต้องใส่จำนวนเงินเอง ซึ่งมันปลอดภัยกว่า
ในขณะเดียวกันมันก็มี QR Code ของฝั่งร้านค้าที่เปลี่ยนตลอดเวลาที่ใช้และระบุยอดเงินด้วยเหมือนกัน
หรือพูดอีกแง่คือ QR Code ที่ใช้ดกันตอนนี้ก็ยังดูปลอดภัยกว่าแบบแทบแม่เหล็กอยู่ดี
Qr code บนบัตร มีบัตร citi bank แต่เอาไว้สแกนจ่ายบิลบัตรใบนั้นๆแทนครับส่วนของ scb m ก็มี แต่อันนั้นเป็นเลขสมาชิก M card แทน
อาจจะไม่ได้ใช้ชำระสินค้าตรงๆ เพราะมันไม่ค่อยปลอดภัย