เว็บไซต์ The Verge อ้างว่าได้เห็นบันทึกภายในของไมโครซอฟท์ ปรับนโยบายเรื่องการลางานของพนักงานในสหรัฐ เพิ่ม "วันลาไม่จำกัด" (unlimited time off หรือ discretionary time off) เข้ามาจากนโยบายเดิม
นโยบายเรื่องวันหยุดของไมโครซอฟท์ ยังมีวันหยุดประจำปี 10 วัน, ลาป่วย, ลาพักแก้เครียด (mental health time off), วันหยุดเมื่อมีการสูญเสียบุคคลในครอบครัว และวันลาไปทำหน้าที่คณะลูกขุน (jury duty) โดยพนักงานที่ใช้วันลาพักร้อนไม่หมดในแต่ละปี สามารถแปลงเป็นเงินได้ด้วย
Kathleen Hogan ผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้เหตุผลของสวัสดิการแบบใหม่ว่าสภาพการทำงานของพนักงานปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ทั้งเรื่องเวลาทำงาน สถานที่ทำงาน วิธีทำงาน บริษัทจึงต้องปรับสวัสดิการด้านวันหยุดให้ยืดหยุ่นมากขึ้นตาม
นโยบายใหม่ยังมีผลเฉพาะพนักงานแบบฟูลไทม์ในสหรัฐเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับพนักงานจ้างรายชั่วโมง และพนักงานนอกสหรัฐที่มีกฎหมายแรงงานแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
ไมโครซอฟท์ไม่ใช่บริษัทไอทีรายแรกที่มีนโยบายวันลาไม่จำกัด ก่อนหน้านี้ Salesforce, Oracle, Netflix รวมถึง LinkedIn ในฐานะบริษัทลูกของไมโครซอฟท์ ต่างใช้นโยบายนี้มาแล้ว
ที่มา - The Verge
Comments
ถ้ารัฐไทยมีคณะลูกขุนบ้างก็น่าจะดี
จะเยี่ยมเลยแหละครับ แต่มันคุมอำนาจเบ็ดเสร็จลำบาก หลายๆ ทั่นน่าจะไม่ถูกใจ
ระบบลูกขุนก็มีข้อเสียของมันเหมือนกัน ใช่ว่าจะควบคุมไม่ได้ครับ
ของเดิมลาพักร้อนสิบวันเอง น้อยจัง
ปี 0-5 = 15 วัน
ปี 6-12 = 20 วัน
ปี 13+ = 25 วัน
ref:
- https://www.glassdoor.com/Benefits/Microsoft-Vacation-and-Paid-Time-Off-US-BNFT29_E1651_N1.htm
- https://www.comparably.com/companies/microsoft/questions/3711707/how-s-the-vacation-policy-at-microsoft
ขอบคุณครับ
ไปอ่านต้นทาง 10 วันนั้นเหมือนวันหยุดบริษัทเฉยๆ
<10 corporate holidays>
ถ้ามองแบบเผินๆ DTO ดูเหมือนจะ unlimited vacation แต่ในทางปฏิบัติ ท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้าอยู่ดี ว่าจะ approve วันลาที่ขอไปหรือไม่ ซึ่งก็ตอบไม่ได้ว่าจะได้วันลาจริงๆ ในจำนวนที่น้อยลง เท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิมที่บริษัท(รวมถึงหัวหน้า) มี liability ที่ต้อง approve วันลาให้ได้ตามที่กำหนดไว้ข้อกำหนดในสัญญาจ้างงาน รวมถึงชดเชยวันลาที่ไม่ได้ใช้ตอนลาออกจากงาน
ก็เป็นไปได้ว่าจะมีขั้นต่ำอยู่ครับ