หลังจากแอปเปิลเปิดตัว Vision Pro เฮดเซตแบบ Mixed Reality ในงาน WWDC23 เมื่อต้นสัปดาห์ แอปเปิลได้เชิญสื่อและยูทูบเบอร์จำนวนหนึ่ง ร่วมทดสอบการใช้งานที่ Apple Park โดยการทดลองใช้งานนี้ ไม่มีการบันทึกภาพและวิดีโอออกมาเผยแพร่ มีเพียงคำอธิบายและบอกเล่าเท่านั้น รวบรวมมาดังนี้
Joanna Stern จาก The Wall Street Journal บอกว่า เฮดเซตค่อนข้างมีน้ำหนัก และรัดจมูกทำให้เวียนหัวเล็กน้อย แต่ทีมงานแอปเปิลบอกว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการสวมใส่นั้นสบายกว่าเฮดเซต Quest ของ Meta
ในการใช้งาน Stern เปรียบเทียบว่าสมาร์ทโฟนยุคแรกต้องมีปากกาสไตลัส iPhone เลือกใช้นิ้วในการควบคุม ในวงการเฮดเซตโลกเสมือนก็ต้องมีคอนโทรลเลอร์ แต่ Vision Pro เลือกใช้ดวงตาเป็นเคอเซอร์ และนิ้วเป็นการกดปุ่ม ซึ่งการควบคุมทำได้อย่างเป็นธรรมชาติดี ประสบการณ์ใช้งานรวมให้ความรู้สึกที่ว้าวมาก
Marques Brownlee ยูทูบเบอร์ชื่อดัง บอกว่า Vision Pro มีฟีเจอร์ใหม่หลายอย่างที่ไม่เคยเจอในแว่น VR ใดมาก่อน เช่น การตรวจจับดวงตา การควบคุมด้วยนิ้วมือ ซึ่งความล้ำหน้านี้เป็นเหตุผลให้ราคาขายยังสูงที่ 3,499 ดอลลาร์ ส่วนข้อเสียคือการไม่มีฟีดแบ็กแบบ Haptic ซึ่งมีหากการควบคุมใช้คอนโทรลเลอร์
Matthew Panzarino จาก TechCrunch บอกว่า เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอีกขั้นของแอปเปิล ซึ่งอาจเป็นคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ในยุคถัดไป จุดเด่นคือการแก้ปัญหาพบมากในแว่น VR เมื่อใส่ไปนาน ๆ เพราะธรรมชาติมนุษย์จะอึดอัดเมื่อมองไม่เห็นอะไรข้างนอก แอปเปิลจึงใส่ความสามารถมองทะลุแว่นเพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมปัจจุบัน ด้วยการฉายภาพโดยรอบผ่านหน้าจอในนั้นอีกที ไม่ได้เป็นกระจกใสทะลุจริง ซึ่งทำให้มองเห็นได้หากมีคนเดินเข้ามาใกล้ แล้วยังดูคอนเทนต์ในเฮดเซตนี้ได้ต่อ ทั้งหมดทำให้ลดความอึดอัดในการใช้งาน
Scott Stein จาก CNET บอกว่าการใช้งานแว่น VR อื่น จะมีความล้าที่ต้องลากคอนโทรลเลอร์ไปกดตามตำแหน่ง แต่ Vision Pro อาศัยดวงตาในการมอง และใช้นิ้วกด จึงสบายกว่ามาก และเชื่อว่าแนวทางนี้น่าจะถูกนำมาใช้แพร่หลายในอนาคต การรับชมคอนเทนต์ 3D ซึ่งเรื่องที่นำมาสาธิตคือ Avatar: The Way of Water ให้ประสบการณ์ใกล้เคียงการชมในโรงภาพยนตร์มากที่สุด เท่าที่เคยเห็นมาในอุปกรณ์ VR ส่วนคอนเทนต์กีฬา ทำให้เห็นว่าการถ่ายทอดมีโอกาสทำสิ่งใหม่ได้อีกมาก
Nilay Patel จาก The Verge ชื่นชมนวัตกรรมใหม่ในรายละเอียดเหมือนกัน แต่ตั้งคำถามว่าสินค้านี้มีโจทย์ที่ท้าทายอีกหลายอย่าง เช่น หากต้องการดูหนังพร้อมกันหลายคนจะทำอย่างไร เดโม่อวยพรวันเกิดจะมีคนใช้จริงแค่ไหน ซึ่งโจทย์เหล่านี้แอปเปิลยังมีเวลาอีกพอสมควรในการปรับปรุง ก่อนสินค้าเริ่มขายจริงปีหน้า
ปิดท้ายที่คุณอู๋ Spin9 ซึ่งทำคลิปเล่าความพีคที่สัมผัสได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะกำลังทดลองใช้งาน รับชมได้ที่นี่
Comments
ภาพท้ายข่าวทำให้นึกถึงฉากโฆษณา 1984 ของ Apple เลย 🤖
อะ มีของเล่นใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกอีกแล้ว หลังจากเงียบมานานหลายปี
EyeSight ถือเป็นจุดเด่นของ Vision Pro เลย ก็สมกับค่าตัวแหละ
ทำทีหลัง ก็ต้องดีกว่าอยุ่แล้ว คิดมาดีแล้วละ ตอนนี้ ก็อยุ่ที่พวกคอนเทนที่เอามาให้ใช้งาน แต่น่าจะมีเยอะมากขึ้นนะ
ราคาระดับนี้ ไม่ได้เท่านี้ก็แย่แระ
แต่ด้วยราคาระดับนี้ จะดึงวงการ VR ขึ้นหรือเปล่า ?
คนสุดท้ายไม่เขียนสรุปให้อ่านบ้างหรอครับ
รายนี้ดู keynote ก็ไม่ต่างกันหรอกครับ ชมอย่างเดียวไม่เคยมีติ - -
อยากให้ไปฟังเองครับ
ราคานี้คือเน้น early adopter แล้วก็รอดูกระแส ถ้ามีรุ่นราคาถูกออกมาน่าจะเปลื่ยนเป็นพลาสติกหมดเพราะเรื่องราคากับน้ำหนักแล้วก็ตัด EyeSight ออกเปลื่ยนเป็นสีแสดงสถานะแทน EyeSight เป็นจุดที่ทำให้ดูต่างจากตัวอื่นในตลาดก็จริงแต่สำหรับผู้ใช้มันไม่ได้ให้อะไรเลย
คนในไทยมี 2 คนที่ได้ลอง
คนนึง fanboy สุดลิ่ม
อีกคนนึง ดูก็ไม่ได้อะไร แยกไม่ออกว่า มารีวิวหรือมาอวด
อยากดูรีวิวจากฝั่ง anti
คุณอู๋คุณซี ? ผมเดาถูกไหม
ฮา คนพวกนั้น เขาจะเชิญให้ไป demo เหรอ
ฝั่งแอนตี้แอปเปิ้ลไม่น่าเชิญไป และเจ้าตัวคงไม่จ่ายเงินแพง ๆ เข้างานครับ ยกเว้นแต่ถ้าเอามาทำเป็นคอนเทนท์ทำเงินได้น่ะนะ
รีวิวไม่ถูกใจ หาว่าอวยซะงั้น
อย่างท่านแรกนี่ ผมว่าไปสุดทุกสายนะครับ
อยากให้กลับมาถ่ายทอดสด บริษัท IT อื่นๆ ก็กลับมาพูด keynote onsite กันแล้ว เริ่มเบื่อการตัดไปตัดมา
อยากได้ยินบรรยากาศผู้ชม
คิดว่าแอปเปิ้ลน่าจะติดใจการทำวีดีโอครับ แล้วทำแบบนี้น่าจะจุคนได้เยอะกว่าลงไปห้อง SJT ที่จุคนได้แค่ 1,000คน ครับ
เอาจริง ๆ ผมไม่ค่อยอินกับการกรอกตาไปมาแฮะ ดูน่ารำคาญแปลก ๆ แต่มันคงช่วยบริหารกล้ามเนื้อรอบ ๆ ลูกตาล่ะมั้ง
จะว่าไป PSVR2 ใช้เป็น interface ด้วยหรือแค่ Foveated Rendering ครับ??
ไม่ใช่คนเรามันมองไปทางที่เรากดปุ่มอยู่แล้วเปล่าครับอาจจะกรอกตาโดยธรรมชาติ
หลาย ๆ คนคิดแบบนั้นแหละครับ แต่จริง ๆ การใช้งานคอมพิวเตอร์ในทุก ๆ วัน เรามองสิ่งที่เราจะคลิกเสมอ ตลกดีไหมครับ
ดังนั้นจะอินไม่อิน ยังไงเราก็ต้องมองสิ่งที่เราจะกดอยู่ดีครับ