หลังจาก กสทช. เคาะราคาการประมูล 3G แล้ว เริ่มต้น 4,500 ล้านบาทต่อ 5 MHz ก็เปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะต่อหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่น 2.1GHz สำหรับการประมูล 3G (ฉบับร่าง) เป็นเวลา 30 วัน (จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคมนี้)
ในโอกาสนี้ผมก็ขอมาสรุปเนื้อหาสำคัญในร่างประกาศชุดนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ง่ายขึ้นครับ
สิ่งที่ต้องรู้ก่อน
ผมมีส่วนได้เสียกับร่างประกาศชุดนี้ด้วย คือเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT Advanced ( ตามที่เคยประกาศเอาไว้ ) ดังนั้นประกาศนี้จะดีจะแย่ ผมก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะคณะอนุกรรมการที่เข้าไปช่วยให้ความเห็นต่อการร่างด้วย
คลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรของชาติที่มีจำกัด (และจำกัดมาก) ดังนั้นก็ขอเชิญชวนผู้อ่าน Blognone ทุกท่านในฐานะประชาชน เข้ามาให้ความเห็นต่อร่างประกาศชุดนี้เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. อีกชั้นหนึ่ง ทางสำนักงาน กสทช. เองมีช่องทางรับฟังความเห็นทั้งอีเมล โทรสาร ไปรษณีย์ ซึ่งดูรายละเอียดได้จาก เว็บไซต์ กสทช.
นอกจากนี้ยังมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศอีกด้วย โดยการรับฟังความเห็นต่อตัวเกณฑ์ฉบับหลักจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม (พรุ่งนี้) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค รายละเอียดก็ดูกันเองตามลิงก์
หมดช่วงเกริ่นแล้วก็เข้าเรื่องกันดีว่าครับ
โครงสร้างของ (ร่าง) ประกาศ กสทช.
เอกสารทั้งหมดสามารถดาวน์โหลดได้จาก เว็บไซต์ กสทช.
ตั้งแต่ย่อหน้าแรกจนถึงตรงนี้ ผมใช้คำว่า "ชุด" มาตลอด เหตุเพราะเอกสารของ กสทช. รอบนี้มากันเป็นชุด มีหลายฉบับประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งจะต่างไปจากการประมูลคราวก่อนที่ล้มไปที่มีเอกสารหลักเพียงฉบับเดียว
เหตุผลก็เพื่อแยกเรื่องราวที่อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียวกับการประมูล 3G ออกมาเป็นประกาศ กสทช. คนละฉบับกัน และประกาศเหล่านี้สามารถนำไปใช้กับกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3G 2.1GHz ได้ด้วยนั่นเองครับ
บนเว็บไซต์ของ กสทช. แสดงรายชื่อเอกสาร 5 ฉบับ ดังนี้
- หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. ....
- แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (Telecommunications - IMT) ย่านความถี่วิทยุ 1920-1980/2110-2170 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และย่านความถี่วิทยุ 2010-2025 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
- การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....
- การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. ....
- บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. ....
เอกสารฉบับหลักที่เป็นกฎเกณฑ์การประมูลคือหมายเลข 1 ส่วนเอกสารหมายเลข 2 เป็นตารางแสดงผังความถี่ที่ใช้ประมูลในรอบนี้ (ไม่มีความสำคัญอะไรมากนักเพราะคลื่นที่ว่างอยู่มันก็มีเท่านี้แหละ) ส่วนเอกสารหมายเลข 3-4-5 เป็นประกาศที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ ได้แก่
- หมายเลข 3: ประกาศเรื่องการแชร์โครงสร้างพื้นฐาน (เสาและโครงข่าย) ระหว่างโอเปอเรเตอร์แต่ละราย เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนโครงข่าย และป้องกันการกีดกันการแข่งขันโดยห้ามแชร์เสา
- หมายเลข 4: เรื่องการโรมมิ่งระหว่างเครือข่ายต่างๆ ทั้ง 2G และ 3G
- หมายเลข 5: เรื่อง MVNO
บทความชิ้นนี้จะพูดถึงเอกสารหมายเลข 1 คือตัวกฎเกณฑ์การประมูลเป็นหลักนะครับ (เพื่อป้องกันเอกสารหายไปจากเว็บ กสทช. ในอนาคต ก็ขอแปะเวอร์ชัน Scribd ไว้ตรงนี้สักหน่อย)
NBTC 3G Auction 2.1GHz Rules (2012 Draft)
แนวคิดของการออกแบบกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 3G
ในการร่างกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 3G มีข้อจำกัดที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ดังนี้
- กฎหมาย (พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553) มาตรา 45 ระบุว่าต้องจัดสรรคลื่นโทรคมนาคมด้วยวิธีการประมูล
- คลื่นโทรคมนาคมในประเทศไทย ปัจจุบันถูกถือครองเป็นเจ้าของไปเกือบหมดแล้วโดยหน่วยงานต่างๆ
- คลื่นช่วง 3G ที่ว่างอยู่และ กสทช. สามารถนำมาจัดสรรได้ คือ คลื่น 2.1GHz ความกว้างของช่วงคลื่น 45MHz
- ในแง่เทคนิคแล้ว ผู้ให้บริการ 3G หนึ่งรายจำเป็นต้องใช้ช่วงคลื่นกว้าง 10-15MHz สำหรับการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ (ถ้า 5MHz จะมีสภาพเหมือน AIS ในปัจจุบัน) โดยตัวอย่างการประมูลในต่างประเทศ มีทั้งการให้คลื่นล็อตละ 10-15-20MHz (15MHz มีเยอะที่สุด)
- ผู้ให้บริการที่มีศักยภาพในบ้านเรามี 3 รายใหญ่เท่านั้น แม้ในทางทฤษฎีจะเป็นไปได้ว่า TOT/CAT จะสนใจการประมูลครั้งนี้ แต่ในแง่ปฏิบัติคงยากมาก (มีคลื่นอยู่แล้ว+การลงทุนขนาดใหญ่ของทั้งสองบริษัทนี้ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี)
- ดังนั้นถ้าเอา 45/3 จะออกมาเป็น 15MHz ถือเป็นตัวเลขลงตัวสวยงามพอดี แจกจ่ายเรียบร้อยแล้วแยกย้ายกันให้บริการสักที แต่นั่นไม่ใช่การประมูล และผิดกฎหมายตามเหตุผลข้อแรก
อันนี้เป็นเรื่องยากนะครับ คือผู้ให้บริการในประเทศไทยก็มีอยู่เท่าที่เห็น และคงไม่มีเพิ่มอีกแล้ว ด้วยเหตุผลว่าตลาดค่อนข้างอิ่มตัว (saturate) แล้ว มีพื้นที่ให้รายใหม่ๆ เข้ามาเล่นน้อยมาก (ต่อให้เป็นบิ๊กเนมจากต่างประเทศก็ตาม) การลงทุนไม่คุ้มค่าเพราะนอกจากการเข้ามาประมูลคลื่นแล้ว ยังต้องมีเรื่องโครงข่าย เรื่องการให้บริการ หน้าร้าน การตลาด เอกสาร ฯลฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย (และจากการโรดโชว์ของ กทช. เมื่อ 2 ปีก่อนก็ไม่มีใครเข้ามาสักราย)
ดังนั้น กสทช. จะต้องออกแบบการประมูลให้ขายคลื่นกว้าง 45MHz โดยสันนิษฐานว่ามีผู้เข้าประมูล 3 ราย และยังมีการแข่งขันในฐานะการประมูลอยู่นั่นเอง ซึ่งนี่เป็นประเด็นสำคัญของการประมูล 3G รอบนี้ (รวมถึงรอบที่แล้วด้วย)
ในการประมูล 3G คราวก่อนที่ล้มไป กทช. ใช้สูตร N-1 มาช่วยสร้างสภาพการแข่งขัน โดยกำหนดเงื่อนไขว่ามีใบอนุญาต 3 ชุดชุดละ 15MHz แต่ถ้ามีผู้เข้าประมูลน้อยกว่า 4 ราย จะลดจำนวนใบอนุญาตลง 1 ใบเพื่อให้เกิดการแข่งขันขึ้น ส่วนใบอนุญาตที่งดไปจะนำมาประมูลในภายหลัง
กฎข้อนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งจากผู้ให้บริการเองที่ไม่อยากได้คลื่นช้ากว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ และจากคนทั่วไปที่ตั้งข้อสงสัยว่ากฎ N-1 จะทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลงหรือไม่ เผอิญว่าการประมูลครั้งนั้นถูกล้มไปเสียก่อน กฎนี้จึงไม่ถูกใช้งาน
การออกแบบกฎการประมูลของ กสทช. ในรอบนี้จึงมีโจทย์สำคัญคือแก้ข้อจำกัดของกฎ N-1 ในคราวก่อนนั่นเอง
การแบ่งช่วงคลื่น
แนวทางที่ กสทช. นำมาใช้ในรอบนี้คือยกเลิกกฎ N-1 ทิ้งไป ผู้ให้บริการทุกรายจะได้รับใบอนุญาตพร้อมกัน ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบของการแข่งขันในตลาดไปได้
ส่วนประเด็นว่ามีการแข่งขันหรือไม่ ทาง กสทช. หันมาใช้แนวคิดว่าใบอนุญาตแต่ละใบสามารถมีช่วงคลื่นที่ไม่เท่ากันได้ (ของเดิมคือ 15MHz เท่ากันหมดสามชุด) โดยซอยช่วงคลื่น 45MHz ออกเป็นช่วงย่อยๆ ละ 5 MHz รวมเก้าชุด และให้ผู้เข้าร่วมประมูลเป็นฝ่ายเลือกเองว่าจะเอาคลื่นเท่าไร (รายละเอียดดูข้อ 6 ในร่างประกาศฉบับหลัก)
พูดง่ายๆ ว่าการประมูลของเดิม แข่งขันกันว่าใครจะได้หรือไม่ได้ใบอนุญาต (2 ใบจากผู้เล่น 3 ราย) แต่การประมูลรอบนี้ แข่งกันว่าใครจะได้คลื่นมากหรือน้อยกว่ากัน
กสทช. จำกัดช่วงคลื่นที่สามารถยื่นขอประมูลได้ไว้ที่ 20 MHz (4 ล็อต) เพื่อป้องกันผู้เข้าประมูลรายหนึ่งรายใดที่อาจเงินเยอะกว่าคนอื่นมากวาดคลื่นไปหมด แต่ไม่ได้จำกัดว่ายื่นประมูลน้อยที่สุดเท่าไร (ดังนั้นในทางทฤษฎีเป็นไปได้ว่ามีรายเล็กเงินน้อยเข้ามาขอประมูลแค่ 5MHz)
ถ้าเราสันนิษฐานว่ามีผู้เข้าประมูลแค่ 3 รายเท่านั้น รูปแบบของผลลัพธ์การประมูลที่เป็นไปได้ก็มีตั้งแต่
- 20-15-10 เป็น best outcome คือเกิดการแข่งขัน และผู้ให้บริการไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก
- 20-20-5 อันนี้อาจดีไม่เท่าอันแรก เพราะรายสุดท้ายได้คลื่นน้อย
- 15-15-15 เป็น worst outcome กรณีคลื่นขายหมดทุกสล็อต เพราะไม่เกิดการแข่งขัน (แต่ถ้าทุกรายยื่นประมูลมาแบบนี้ ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจของเอกชน)
แน่นอนว่าการแบ่งคลื่นแบบนี้มีจุดอ่อนในกรณี 15-15-15 ที่โอเปอเรเตอร์ทุกรายรวมหัวกันยื่นขอ 15MHz เหมือนกันหมด ซึ่งมีความเป็นไปได้เช่นกัน แต่สมมติฐานของคณะอนุกรรมการฯ คือโอเปอเรเตอร์ทุกรายอยากได้คลื่นเยอะที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (ไม่ใช่แค่สำหรับ 3G แต่สำหรับเทคโนโลยีในอนาคตด้วย) ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีกรณีคลื่นขายออกไม่หมด (เช่น เหลือ 5 หรือ 10MHz) ซึ่งอันนี้คงไม่ขอพูดถึงนะครับ ความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำเพราะทุกรายอยากได้คลื่นเหมือนกันหมด
วิธีการประมูล
วิธีการประมูลจะเหมือนกับรอบที่แล้ว คือวิธีที่เรียกว่า Simutalneous Ascending Bid(รายละเอียดอ่านจากบทความ กสทช. จัดเวิร์คช็อปสื่อมวลชน ให้ข้อมูลการออกแบบการประมูล 3G ในประเทศไทยโดยผู้เชี่ยวชาญ ที่คุณ Blltz เขียนไว้ละเอียดแล้ว)
กลไกการประมูลคือผู้เข้าประมูลจะยื่นประมูลคลื่นแต่ละล็อตพร้อมกัน (แต่ละรายยื่นกี่ล็อตก็ได้ ล็อตไหนก็ได้ แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 4 ล็อต) โดยผู้ที่ยื่นประมูลสูงสุดในรอบนั้นๆ จะเป็นผู้ชนะชั่วคราวประจำล็อตนั้น ในรอบถัดไปจะเปิดโอกาสให้ทุกรายเสนอราคาเพิ่ม (โดยมีเพดานว่าเสนอเพิ่มได้สูงสุด 5% ของราคาในรอบก่อน) และวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทุกรายจะหยุดเสนอราคา
ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นไปได้ว่าผู้ประมูล A จะชนะในล็อตที่ 1,2,5,8 ส่วนผู้ประมูล B จะชนะในล็อตที่ 3,6,9 เรื่องล็อตไม่ติดกันไม่ใช่ปัญหา เพราะตอนให้คลื่นจริงๆ จะได้คลื่นช่วงติดกันตามจำนวนล็อตที่ประมูลได้นั่นเองครับ (คนที่เสนอราคาประมูลรวมสูงที่สุดจะได้เลือกคลื่นก่อน)
รายละเอียดของกระบวนการประมูล ดูในภาคผนวก ข ของประกาศฉบับหลัก
การประมูลลักษณะนี้ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ เพราะสู้กันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนถอนตัวจนคนที่เหลือขอคลื่นเท่ากับจำนวนคลื่นที่มี ดังนั้นเป็นไปได้ว่าประมูลจบภายในรอบเดียว ไปจนถึงการต่อสู้กันเป็นเดือนๆ เหมือนการประมูลในอินเดีย
กรณีที่มีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียว กสทช. จะยกเลิกการประมูล (ข้อ 10.2.2)
เรื่องสถานที่ของการประมูลอันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าจะเป็นอย่างไร แต่เท่าที่คุยกับประธาน กทค. คือ พ.ท.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ก็ให้คำมั่นว่าจะไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนรอบก่อนเพราะเป็นประเด็นที่ กทช. โดนโจมตีมาก ส่วนเรื่องซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการประมูลจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านระบบการประมูล (ในโลกนี้มีไม่กี่รายและการประมูลในประเทศอื่นๆ ก็จ้างพวกนี้แหละ) มาทำให้
อัพเดต ข่าวการจ้างบริษัทรับทำระบบประมูลครับ ตอนนี้มีตัวเลือก 3 บริษัทคือ Power Auction, NERA, Auction Technology
ราคาตั้งต้นของคลื่นและการจ่ายเงิน
กสทช. จ้างทีมผู้เชี่ยวชาญจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาประเมินมูลค่าของคลื่นความถี่ด้วยวิธี econometrics ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ กำหนดราคาเริ่มต้น (reserved price) ที่ 4,500 ล้านบาทต่อ 5MHz ซึ่งจะถือเป็นราคาเริ่มต้นของการประมูลรอบแรกสุด
ถ้าการประมูลเกิดขึ้นรอบเดียวจบ มีผู้ขอใบอนุญาต 15MHz เท่ากันทุกราย แต่ละรายจะต้องจ่ายค่าคลื่น 4,500x3 = 13,500 ล้านบาท ส่วนเงินรายได้จากการประมูล 13,500x3 = 40,500 ล้านบาท จะหักค่าใช้จ่ายแล้วส่งเข้ากระทรวงการคลัง ถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน (เงินจากการประมูลนี้จะไม่เข้า กสทช. แต่ กสทช. จะได้เงินจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและสัดส่วนจากรายได้ของผู้ให้บริการแทน)
ผู้เข้าประมูลจะต้องวางเงินประกันการประมูลล่วงหน้า 1,350 ล้านบาท ถ้าประมูลชนะก็จ่ายเฉพาะส่วนที่เหลือ ถ้าประมูลแพ้ก็เอาเงินคืน
ผู้ชนะการประมูลจะต้องแบ่งจ่ายเงินค่าคลื่นเป็น 3 งวด คือชำระทันที 50%, ผ่านไปสองปีชำระอีก 25% และ ผ่านไป 3 ปี (นับจากเริ่ม) ชำระ 25% สุดท้าย (ข้อ 11.1) จ่ายช้าโดนปรับ โดนปรับซ้ำซ้อนอาจโดนถอนใบอนุญาต
เงื่อนไขการให้บริการ 3G
สำหรับผู้ชนะการประมูล จะต้องให้บริการ 3G โดยมีเงื่อนไขสำคัญๆ ดังนี้
- ให้บริการได้เป็นเวลา 15 ปี (ข้อ 14.1)
- เป็นใบอนุญาตประเภทที่สาม (ตามระเบียบ กสทช.) ซึ่งเป็นใบอนุญาตระดับใหญ่ที่สุด ผู้ให้บริการเป็นเจ้าของโครงข่ายได้ (ข้อ 13 และ 15)
- ผู้ให้บริการที่ได้คลื่นตั้งแต่ 10MHz ขึ้นไปจะต้องให้บริการ 3G ในทุกจังหวัด และครอบคลุมประชากร (ไม่ใช่พื้นที่) 50% ของประเทศไทยภายใน 2 ปี และ 80% ภายใน 4 ปี (ข้อ 16.3.1)
- ในกรณีที่ได้คลื่นแค่ 5MHz ตัวเลขจะกลายเป็น 20% และ 30% แทน
- ความเร็วของการส่งข้อมูล ยึดตาม ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภท "ข้อมูล" สำหรับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือขั้นต่ำ 345 Kbps (ข้อ 16.3.2)
- ผู้ชนะการประมูลจะต้องประกันความจุ (capacity) อย่างน้อย 10% ของโครงข่ายสำหรับ MVNO รายอื่น
สรุป
หลังการหมดช่วงประชาพิจารณ์ 30 วัน ทางคณะอนุกรรมการฯ (รวมผมด้วย) จะต้องมาประชุมกันอีกครั้งเพื่อนำความเห็นที่ได้มาปรับปรุงร่างประกาศฉบับนี้ จากนั้นทาง กสทช. จะนำประกาศที่แก้ไขแล้วไปเป็นร่างประกาศฉบับจริงในราชกิจจานุเบกษา แล้วจึงจะเริ่มกระบวนการประมูลต่อไป
ดังนั้นช่วงนี้จนถึงวันที่ 28 ก.ค. ถือเป็นเวลาสำคัญที่ประชาชนจะตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อกฎเกณฑ์การประมูลนะครับ
เนื้อหาโดยสรุปของกฎเกณฑ์การประมูลฉบับหลักคงมีแค่นี้ ถ้ามีข้อสงสัยหรือมีประเด็นที่ผมตกไปก็ถามมาได้ในคอมเมนต์ครับ
Comments
เขียนตกไปนิดนึงคือกระบวนการรับฟังความเห็นของ กสทช. ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายครับ ดังนั้นทุกความเห็นที่ส่งไปจะต้องถูกเก็บรวบรวมอย่างมีระบบ (ถ้าดูในเว็บไซต์ กสทช. ส่วนของประกาศฉบับเก่าๆ จะเห็นเอกสารรวบรวมความเห็นเป็นตารางยาวมากๆ ว่ามีใครส่งความเห็นเรื่องอะไรเข้ามาบ้าง และคณะกรรมการมีความเห็นต่อความเห็นนั้นๆ อย่างไรบ้าง)
ดังนั้นใครที่กลัวว่าส่งความเห็นเข้าไปแล้วไม่ได้อ่าน อันนี้ไม่ต้องกลัวเลย ขอให้ส่งเข้าไปกันเยอะๆ ในประเด็นที่กังขา เพราะทาง กสทช. ต้องตอบลงในเอกสารว่าเพราะเหตุใดถึงเลือกทำตามหรือไม่ทำตามความเห็นเหล่านี้
แก้คำผิด economometrics เป็น econometrics ครับ
เดาว่า AIS ต้องเอา 20MHz แน่ๆ เหลืออีก 25MHz นี้ 2 เจ้านั้นจะเอากันเท่าไหร่น้อ
::Update::
ประกาศออกมาแล้วว่าจะเอาแค่ 15MHz
รอจนเหนื่อยครับ พยายามลืมๆมันไปพอมีใช้จริงๆค่อยใช้จะได้ไม่รู้สึกว่ามันรอนาน
ที่คุณ Blttz => ที่คุณ Blltz
แต่ดูกระบวนการแล้ว เที่ยงธรรมดี
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ประกาศนี้ เอื้อประโยชน์ ...ให้กับ AIS
TrueMove ขณะนี้ กำลังย้ายลูกค้าทั้งหมด ไปยัง TrueMove-H
ทั้ง Dtac และ TrueMove-H มี Bandwidth สำหรับ 3G ประมาณ 25 MHz @ ความถี่ช่วง 850 MHz
ทั้ง Dtac และ TrueMove ให้บริการ 3G ช่วงความถี่ 850 MHz ในความถี่ต่ำกว่า 2.1 GHz หรือ 2100 MHz มาก ทำให้ได้เปรียบในเรื่องการลงทุน เพราะ ช่วงความถี่ ...ยิ่งต่ำ รัสมี การให้บริการ ...ย่ิงกว้าง จุดอับสัญญา ...น้อยกว่ามาก ๆ จำนวน Cell Site จึงน้อยกว่า
TrueMove-H ปีนี้กำลังลงทุนขยาย Cell Site ด้วยเงินกว่า 40,000 ล้านบาท จากงบทั้งแผน 100,000 ล้านบาท
Dtac ปีนี้ ปรับปรุงระบบทั้งหมด ด้วยเงินกว่า 40,000 ล้านบาท
ดังนั้น การประกาศ ...ห้ามแชร์เสา หรือ Cell Site ทำให้ไม่น่าสนใจ เพราะทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน ทำให้ผู้ให้บริการที่ร่วมประมูล อาจมีไม่ถึง 3 ราย รวมทั้ง เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับ AIS ที่ไม่มีการพัฒนาระบบเช่นปัจจุบัน เก็บเฉพาะผลกำไร กลับไปยัง สิงคโปร์ เท่านั้น
ความถี่ 2.1 GHz หรือ 2100 MHz เหมาะสำหรับในเขตเมืองเท่านั้น
เช่น Dtac 1800 MHz แม้จะมี Cell Site มากกว่า AIS เกือบเท่าตัว แต่พื้นที่ให้บริการ ...น้อยกว่า มีจุดอับสัญญา ...มากกว่า ทำให้ Dtac เหมาะสำหรับในเขตเมือง ส่วน AIS เหมาะสำหรับในเขตชนบท
การเอาบริบทการลงทุน หรือการให้บริการของแต่ละบริษัทมาประกอบกับการร่าง กฎหมายหรือกรณีนี้คือกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะอย่างแรกเลยคือ กระบวนการร่างหรือตัวร่างเองจะซับซ้อนโดยใช่เหตุ ประการต่อมาซึ่งสำคัญกว่าคือ เป็นเรื่องที่ไม่แฟร์สำหรับบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกนำเอาปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณา
ยิ่งกรณีนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะจริง ๆ แล้วยังไม่ชัดเจนด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ True กับ DTAC ทำ เป็นเรื่องที่ชอบด้วย กม. หรือไม่ หากต้องนำบริบทการลงทุนดังกล่าวมาพิจารณา ก็ไม่เท่ากับว่าเป็นการสนับสนุนให้คนทำให้เรื่องที่หมิ่นเหม่เหรอครับ
การจะมองว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมาแฟร์หรือไม่ ตามหลักแล้วต้องทำเรื่องความโปร่งใส เรื่องการเข้าถึง และผลประโยชน์ของผู้บริโภคมาเป็นหลักในการพิจาณาครับ ไม่ใช่บริบทของบริษัท
2.1 GHz น่าจะเป็น 4G เฉพาะ Data เท่านั้น
ผมอยากให้เปลี่ยน แนวความคิด เรื่อง ...ห้ามแชร์เสา หรือ Cell Site
นอกจาก ทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ....แบบไร้ค่าแล้ว มันยังแสดงถึง กสทช ไม่มี ...ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนี้ ผมเน้นว่า 2.1 GHz หรือ 2100 MHz เหมาะที่จะเป็นทั้ง 3G และ 4G ในเขตเมือง แต่น่าจะคงไว้ 800, 900 และ 1800 MHz สำหรับ 2G และ 3G ในเขตชนบท
หรือ พูดง่าย ๆ น่าจะส่งเสริม และ สร้างความเป็นธรรม คงไว้ซึ่ง 2G และ 3G ในปัจจุบัน 2.1 GHz น่าจะเป็น 4G เฉพาะ Data เหมือนกับ อเมริกามากกว่า โดยปล่อยให้ CAT และ TOT ร่วมบริหาร บริการลูกค้า @ คลื่นความถี่เดิม
ปล. อย่ามองแค่ อำนาจของ กสทช เหนือ ...สัมปทาน เดิม เท่านั้น
เรื่องการแชร์เสาผมคิดว่ายังแลกเปลี่ยนกันได้ในเรื่องข้อดีข้อเสีย แต่ผมไม่เห็นด้วยที่จะเอาเรื่องการแชร์เสามาปนกับเรื่องความแฟร์ของการประมูล
ใครๆก็พูดถึงความชอบธรรมให้กับตัวเองได้ทั้งนั้นแหละครับ
การห้ามแชร์เสาหรือ Cell Site หากคิดว่าเสาแต่ละเสามันมีผู้ใช้ปริมาณหนึ่งแล้ว การแชร์เสานอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ยังมีข้อเสียตามมาเยอะครับ เช่นผู้ใช้ต่อเสาหนาแน่นเกินไป นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างการสัมปทานแบบใหม่ซึ่งคงไม่มีประชาชนคนไหนต้องการ กลายเป็นเสือนอนกิน(แบบ CAT กับ True ในปัจจุบัน) ไม่เกิดการแข่งขัน ซึ่งผมไม่รู้ว่าห้ามหรือเปล่า
หากคุณพูดถึงความเป็นธรรมว่าให้คง 850 900 1800 เดิมไว้ ผมว่ามันก็ไม่เป็นธรรมต่ออีกค่าย(AIS) เพราะมีความกว้างสัญญาณน้อยกว่าถึงสี่เท่าตัวและรอการประมูลอย่างถูกต้อง(ที่ควรจะทำมานานแล้ว) ไม่เหมือนบางค่ายที่ทำผิดแล้วก็มาบอกว่า ลงทุนไปตั้ง 40,000 ล้านบาทแล้วนะ แบบนี้ใครทำผิดอะไรก็มาบอกได้ครับว่าลงทุนไปเท่านั้นเท่านี้แล้ว ผมไม่ควรผิด อีกอย่างไม่ใช่ว่า AIS ไม่มีการลงทุนอะไรเลยนะครับ งบลงทุนรวมตั้งแต่ปี 2010 เกือบหรือเกินกว่า 40,000 ด้วยซ้ำ(ปี53 25,000 ล้าน 54 10,000 ล้าน ซึ่งไม่รู้ว่าเกินงบหรือเปล่า)
ผมคาดว่าปัจจุบัน Cell Site ที่ใช้เป็นแบบ Multi-Band ซึ่งสามารถเปลี่ยนให้รองรับความถี่ใหม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการลงทุนที่ทำไปไม่เสียเปล่าหรอกครับ เพียงแต่ไม่ได้ประโยชน์ไม่เต็มที่เท่านั้นเอง ยกเว้นกรณีของ True-H ที่ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนได้หรือเปล่าหรือโดนสัญญาบังคับว่าไม่ให้เปลี่ยน ดันทำผิดก่อนเอง ช่วยไม่ได้เหมือนกันครับ
เข้าใจครับว่าคุณเสียผลประโยชน์เพราะเป็นลูกค้า True-H แต่ลูกค้าของเจ้าอื่นเค้าก็อยากได้ผลประโยชน์ที่เค้าควรได้รับเหมือนกัน
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
จะหาว่าเอื้อ AIS ได้ไงในเมื่อ กสทช ทำงานก็มี milestone ทำตามเวลาที่กำหนดไว้และประกาศให้ public ได้ทราบก่อนอยู่แล้ว?
@TonsTweetings
ประกาศ ควรอยู่บนรากฐาน ของ ...ความเป็นจริง ด้วย
การยกตัวอย่างของผม เพื่อให้เห็นภาพของความเป็นจริงเท่านั้น ไม่ได้เอาบริบทการลงทุน มาประกอบการยกร่าง
ปล. ด้วยความเคารพในความเห็นนี้ แต่ต้องการให้เข้าใจ ครับ
ประกาศนั้นคือ "ห้ามกีดกันการแข่งขันโดยห้ามแชร์เสา" ครับ ไม่ใช่ "ห้ามมิให้แชร์เสา" พูดง่ายๆ คือทุกคนจงมาแชร์เสากันนั่นแหละ
อ่านตอนแรกผมก็งง ๆ นะ แต่ตอนนี้เก็ตละ "ป้องกันการกีดกันการแข่งขันโดยห้ามแชร์เสา" ไม่ได้บอกว่า "ห้ามแชร์เสา"
ดีใจ ...ครับ อนุญาติ ให้ แชร์เสา
หมายเลข 3: ประกาศเรื่องการแชร์โครงสร้างพื้นฐาน (เสาและโครงข่าย) ระหว่างโอเปอเรเตอร์แต่ละราย เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนโครงข่าย และป้องกันการกีดกันการแข่งขันโดยห้ามแชร์เสา ( เช่นนั้นแปลว่า ...โดยอนุญาติให้แชร์เสาได้ )
ขอบคุณครับ
ผมก็อ่านได้ความว่า กสทช บอกว่า "พวกเอ็งควรมาใช้เสาร่วมกันเยอะๆนะ" ไม่ใช่กีดกันให้อีกฝ่ายไม่ใช้เสาร่วมเหมือนที่เป็นอยู่ตอนนี้แต่อ่านกันยังไงให้เข้าใจความว่า "ห้ามแชร์เสา" กันล่ะเนี่ย (เห็นเถียงกันหลายเม้นท์ผมอ่าน ยัง งง เลย)
มันมีด้วยรึ ประกาศห้ามแชร์เสาน่ะ เห็นมีแต่ข่าวพยายามให้ใช้เสาร่วมกัน
2.1 GHz น่าจะเป็น 4G เฉพาะ Data เท่านั้น
ผมอยากให้เปลี่ยน แนวความคิด เรื่อง ...ห้ามแชร์เสา หรือ Cell Site
นอกจาก ทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ....แบบไร้ค่าแล้ว มันยังแสดงถึง กสทช ไม่มี ...ความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องนี้ ผมเน้นว่า 2.1 GHz หรือ 2100 MHz เหมาะที่จะเป็นทั้ง 3G และ 4G ในเขตเมือง แต่น่าจะคงไว้ 800, 900 และ 1800 MHz สำหรับ 2G และ 3G ในเขตชนบท
หรือ พูดง่าย ๆ น่าจะส่งเสริม และ สร้างความเป็นธรรม คงไว้ซึ่ง 2G และ 3G ในปัจจุบัน 2.1 GHz น่าจะเป็น 4G เฉพาะ Data เหมือนกับ อเมริกามากกว่า โดยปล่อยให้ CAT และ TOT ร่วมบริหาร บริการลูกค้า @ คลื่นความถี่เดิม
ปล. อย่ามองแค่ อำนาจของ กสทช เหนือ ...สัมปทาน เดิม เท่านั้น
ผมไม่มีปัญหากับการแลกเปลี่ยนความเห็นนะครับ แต่การโพสต์ข้อความเดิมซ้ำๆ แบบนี้เราจะถือว่าเป็นสแปมนะครับ และที่นี่เราเตือนกันแค่ครั้งเดียว
post ผิดที่ครับ พยายามลบ ...แต่ทำไม่ได้ ขอบคุณครับ
ถ้าผู้เข้าประมูลตกลงกันก่อนว่าจะเอาล็อตไหนตั้งแต่ต้น เช่น A บอกว่า จะเอาล็อต 1,4,7 ด้าน D ก็บอกว่างั้นเอาล็อต 2,5,8 ส่วน T ก็เอาล็อต 3,6,9 เอาไม่ซ้ำล็อตกันเลย แบบนี้รอบเดียวจบ
จะมีวิธีไหนป้องกันเหตุการณ์แบบนี้บ้างมั้ย
มองด้านหนึ่งก็คือฮั้ว มองอีกด้านก็เหมือนเป็นสิทธิของเขานะ ผมคิดว่าป้องกันยาก แต่กฎเกณฑ์ที่ออกมาน่าจะโอเคแล้ว ตรงที่ได้กำหนดราคาตั้งต้นแบบที่รัฐไม่เสียผลประโยชน์ไว้แล้ว
ยังมีกรณีที่ราคาประมูลรวมเท่ากัน ใครจะได้สิทธิ์เลือกล็อตติดกันก่อน โดยเฉพาะกรณีที่รอบเดียวจบ 15-15-15 ทุกล็อตราคาเดิม ราคารวม 13,500 ล้านบาท
โดยทั่วไปแล้วถ้าราคาเท่ากันจะจับสลากครับ
ถ้าโดนแยกจากกันและตัดการสื่อสารกันหมด
ต่อให้ท่านสาบานกับเพื่อนท่านจะยอมเชื่อไหมครับ
I need healing.
ถ้ามีการหักหลัง ไม่ทำตามที่ตกลง มีการเลือกล็อตตรงกัน ก็สู้ประมูลกันได้อยู่แล้วนี่ จบงานก็ค่อยไปคิดบัญชีกันเอง
ต่อให้หลั่งเลือดสาบาน ผมว่ามันไม่จบที่ 13.5 KM ค่อนข้างแน่ครับ ต่อให้ไปคิดบัญชีข้างนอก เงินมาก็เสียไปแล้วอยู่ดี
I need healing.
ถ้ากฎทุกอย่างใช้ไม่ได้เลย จะ N-1 หรือ N-m ผมก็บอกได้ว่าจะมีการสร้าง nominee มาร่วมประมูลครับ
lewcpe.com , @wasonliw
เห็นในไทยรัฐ AIS ประกาศแล้วนี่ครับ ขอสูตร 15-15-15 ชัวร์
จริงๆ ก็น่ากลัวนะครับ
เพราะว่า เกิดแต่ละเจ้า ไม่อยากเสียเงินมาก มานั่งคุยกัน ก็จบแล้ว
อยากให้เอาออก ไป lot นึงไม่ให้มันสมมาตรมากกว่า ให้เลือสัก 8 lot แทน
ถ้าแบบนี้แข่งกันแน่นอน
เห็นด้วยกับ คห นี้ครับ
ผมนั้งสมัคร Blognoe เข้ามาเพื่อจะมาเห็นด้วยกับความเห็นนี้เลยครับ
โปรดนำไปพิจารณาด้วยครับ
เอาออกไป 1 lot เป็น N-1 เพื่อนำข้อดีของครั้งที่แล้วมาบวกกับครั้งนี้
เพือทำให้เกิดการแข็งขัน อย่างแท้จริง
ไลเซ็นเก่า ให้ยกเลิกให้หมด อย่าไปยอมก้มหัวให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำผิดกฎหมายครับ
ยุบ เลิก หรือ รวม TOT/CAT ได้แล้วครับ ให้เหลือแต่ กสทช เพือกำกับดูแลพอครับ
เพราะธุรกิจนี้ มีการแขงขั้นกันในภาคเอกชนแล้ว
ไม่จำเป็นที่จะต้องมีรัฐวิสาหกิจ เข้ามาช่วยอีกครับ สิ้นเปลืองภาษีปล่าวๆ
+1 เรื่องรวม TOT/CAT ครับ
ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้งสอง ทำธุรกิจทับซ้อนกัน/เสียเงินลงทุนซ้ำซ้อนมามากพอแล้ว
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
คำถามคือ 5MHz อันนั้นจะเอาไปทำอะไรดีล่ะครับ?
จริงๆ มันก็น่าจะมีหนทางเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกน่ะครับ เช่นเอาไปใช้ร่วมกับโครงการ tablet ก็ได้ (ช่อง 3G การศึกษา)
อันนี้ลองเสนอดูน่ะครับ เพราะถ้าตามข่าวจริง พี่ใหญ่บ้อท่ามาแล้วว่าขอฮั้ว งานนี้ประเทศน่าจะเสียประโยชน์ค่อนข้างแน่น่ะครับ
ตอนนี้ "ลอง" ไม่ได้แล้วครับ ถ้าอยากได้จริงๆ ต้องมีข้อเสนอที่มัน solid มากๆ ว่าถ้าหักออกไปแล้วจะเอาไปใช้ทำอะไรได้
อย่าลืมว่าคลื่นความถี่โทรคมทุกชนิดในประเทศไทย จะจัดสรรได้ผ่านวิธี "ประมูล" เท่านั้นด้วยนะครับ
ก็เก็บเอาไว้ประมูลภายหลังเหมือน N-1 ครั้งที่แล้วได้ไหมครับ
ปัญหาคือก้อน 5MHz เดี่ยวๆ มันไม่มีค่าสักเท่าไรน่ะครับ
ผมว่า ถ้าให้ประมูลก่อนที่ 7 (ก็จะได้ 15-10-10 หรือ 20-10-5) ส่วนที่เหลืออีกสองสล็อต ก็รอไปอีก 1-2 ปี ค่อยมาประมูลใหม่ ก็น่าจะทำให้แข่งขันกันได้ แต่ก็จะมีปัญหาว่า 1-2 ปีที่เสียไปกับ 10MHz มันคุ้มไหม
iPAtS
แบบนี้ไม่เชิงว่า N-1 ครับ
ถ้าแบบเดิม ผมเข้าใจว่า หา nominee เข้ามาเพิ่ม เพื่อให้มี slot มากขึ้น
แต่กรณีนี้กำหนดไปเลยว่ามี 8 lot เพื่อไม่ให้เลขมันหารลงตัว (เช่น 3-3-3 ในกรณีมี 9 lot)
ถ้าแบบนี้มันจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทำให้เกิดการแข่งขันกันเสนอราคา (ใครล่ะจะยอมโหล่)
แต่ถ้ามีเจ้าใหม่ (ที่เป็น nominee) โผล่มา ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไงก็แข่งกันด้วยราคาอยู่ดี
แต่กรณีนี้จะลำบาก ผู้เล่นรายใหม่จริงๆ โอกาศเบียดเข้ามาจะยากมาก
AIS ประกาศแล้วครับ ว่าจะประมูลแค่ 15 MHz
เพราะไม่อยากให้ราคาประมูลสูง บีบเบอร์รองที่เงินน้อยกว่า
พูดง่ายๆว่าเปิดเกมฮั้วอย่างเปิดเผยนั่นเอง
เมื่อพี่ใหญ่ยื่นไมตรีมาแบบนี้ พี่รองกับน้องเล็กก็คงไม่เอา 20 MHz หรอก
สุดท้ายก็จบที่ 15-15-15
ผมละกลัวเงิบจังเลย
I need healing.
งั้นต้องถามก่อนเลยว่า เราอยากให้เกิดสูตรไหนมากที่สุด
20-15-10
20-20-5
15-15-15
ถ้าอยากให้เกิดสูตร 20-15-10 ก็ระบุไปเลยครับ ทำ N-1
แล้วให้ผู้ประมูลยืนราคา ทุกสลอต
จะได้สูตร 15-15-10 หรือ 20-10-10 หรือ 20-15-5
แล้วตัดให้ สลอตที่เหลือมาประมูลแข่งกันให้ได้ 20-15-10
เช่น ถ้าตอนแรกได้ 15-15-10 ก็ให้ 15-15 มาประมูลแข่งกัน ตัดสิทธิ์ผู้ที่ประมูลได้ 10 ในการเข้าประมูลครั้งที่ 2จะให้ราคาเริ่มประมูลเป็นราคาที่ถูกมาหน่อยก้ได้ เพื่อชักจุงให้เข้าร่วมประมูล แต่ถ้ารายที่ได้ 15 ไม่เข้าร่วมประมูลทั้งสองบริษัท ก็ยัดเยียดหรือ ยกเลิกครั้งที่ สองไปเลย
ถ้าตอนแรกได้ 20-10-10 ก็ให้ 10-10 มาแข่งกัน ตัดสิทธิ์ผู้ที่ประมูลได้ 20 ไปแล้ว(โดยราคาเริ่มประมูลอาจเป็นราคามากสุดของครั้งแรก)
ถ้าได้ 20-15-5 ก็ให้รายที่ได้ 15 ตัดสินใจว่าจะร่วมประมูลครั้งที่ 2 หรือไม่ ถ้าไม่ก็ขายรายที่ได้ 5 ด้วยราคามากสุดของครั้งแรก
ถ้าทำแบบนี้ จะเป็นการ fix ให้ เกิดสูตร์ 20-15-10 เท่านั้น!
จะทำให้เกิดการแข็งขัน กลัวบริษัทตัวเองได้คลืนบ้วยแน่นอน
ผมเห็นด้วยกับสูตรนี้มากครับ
@TonsTweetings
คือถ้าอยาก fix ขนาด ไม่มีใครห้ามไม่ให้กสทช. ประกาศแบบนั้นเลยนะครับ (ของเดิมก็ fix อยู่)
lewcpe.com , @wasonliw
15 จริงหรือป่าวเน้อ กลัวเอามากกว่าอ่ะสิ :)
ขอโทษน่ะครับ ช่วยแก้หัวข้อข่าวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการประมูลด้วยน่ะครับ
จาก "การประมูล 3G" เป็น "การประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz" น่ะครับ
เพราะคนส่วนมาก ร่วมถึงนักข่าวออกข่าวที่ผิด
การประมูลคืล่นความถี่ 2.1 GHz คือการแบ่งคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่มีอยู่ ให้กับผู้บริการต่างๆมาประมูล เพื่อนำไปประกอบกิจการต่อ
ส่วน 3G ที่เข้าใจนั้น คือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ครับ ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ผู้ใช้งาน หรือแม้ผู้ที่ทำงานสายคอมเอง ก็ยังไม่ทราบกันอย่างแท้จริง ยังไงรบกวน blognone เป็นผู้ที่ทำให้ ข่าวสารมีความถูกต้องด้วยครับ ขอบคุณครับ
หัวข่าวจงใจเขียนแบบนี้เพื่อให้เข้าใจง่ายครับ
AIS บอกมาแล้วว่า 15
อยากให้ใช้ N-1 มากกว่า
สมมติว่ามองข้ามเรื่องการประมูลไปก่อน
15-15-15 ก็ไม่น่าจะใช่ outcome ของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่แย่ เพราะเท่ากับว่ามีเอกชนสามรายให้บริการด้วยคลื่นความถี่ที่ sufficient พอๆ กัน อาจจะเรียกได้ว่า เป็น outcome ที่สมเหตุสมผลด้วยซ้ำ (ถ้า assume ว่าคงไม่มีรายใหม่เข้ามาจริงๆ หรือต่อให้มีจริงๆ 15-15-15 ก็เป็นผลที่โอเค แถมเท่ากับว่าประมูลแข่งกันจริงๆ ด้วย)
ในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ผมเห็นว่า การแข่งขันในการประมูล ยังเป็นประเด็นรองจากการทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดการให้บริการ
แต่แน่นอนว่า เมื่อใช้การประมูล (ที่โดยรวมแล้วเป็นวิธีที่โอเค) ถ้าสามรายเข้ามาแล้วต้องการแค่ 15 MHz กันหมด ในแง่ของการประมูลก็คง moot ไป เพราะเท่ากับไม่ได้ประมูลแข่งกันเลย รายได้จากการประมูลโดยลำพังก็จะลดลง แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นผลที่แย่สำหรับตลาดเสียทีเดียว
ผมจงใจเขียนไว้ว่ามันเป็น worst case "สำหรับกรณีที่ขายหมด" น่ะครับ คือผมก็เห็นว่ากรณีขายไม่หมดนั้นแย่กว่ามาก
ในเมื่อตลาดมีผู้เล่นแค่ 3 ราย ก็คงต้องเป็นเรื่องที่ยอมรับสภาพ (ต่อให้ True ถอนการซื้อ Hutch แล้วรีเซ็ตสถานะกลับ มันก็มีค่าเท่าเดิมอีก)
ครับ จริงๆ ก็ไม่ได้จะแย้งอะไรในตัวบทความเสียทีเดียวครับ แค่ว่าเห็นจากในคอมเมนต์ที่บางท่านเหมือนจะมองว่า การให้การประมูลมีการแข่งขันกันมากๆ เป็นเรื่องสำคัญกว่า ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยครับ
ยังจะประมูล กันอีกหรือ !!! ผมลืมไปแล้วว่า 2.1Ghz มันยังมีอยู่นะเนี้ย 4G ไปเลยไหม
4G ตอนนี้ระบบโทรศัพท์ไม่สมบูรณ์นะครับ ต้องพึ่ง 2G-3G ในการ "โทร" อยู่ดี อยากใช้มั้ยล่ะครับ? มือถือที่เล่นเน็ตได้อย่างเดียว โทรไม่ได้น่ะ
ผมว่าแก้ปัญหา ฮั้ว 15-15-15 ได้โดย กำหนด หมายเลข Slot คลื่นให้แต่ละเจ้า มี slot ไม่ตรงกันไงครับ
เช่น
Slot A = AIS จะเป็น หมายเลข 1, dtac หมายเลข 5, true หมายเลข 7
Slot B = AIS จะเป็น หมายเลข 4, dtac หมายเลข 2, true หมายเลข 9
ทำสลับๆ ไปมา 9 slot
พอเปิดซองออกมา ก็จะทำให้เกิดการประมูล ชน slot กัน ตอนนั้นก็ต้องสู้กันด้วยเงินแล้ว
อันนี้ต้องแยกนิดนึงครับ คือ slot ของการใช้งานคลื่นจริงๆ กับ slot ของการประมูล มันจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ดังนั้นการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว (ได้ slot การประมูลแล้ว) จะต้องมาเลือก slot ใช้งานจริงกันต่อ
ถ้าเอาแบบที่ว่ามา มันจะเกิดอาการ "แหว่ง" ของ slot ทำให้เกิดคลื่นรบกวนกันระหว่างแต่ละ slot (ที่เกิดจากคนละเจ้ากัน) ได้ครับ ในแง่ประสิทธิภาพทางเทคนิคแล้ว เอา slot ติดๆ กันไปน่ะดีกว่า
สุ่มตัวเลข slot ให้แต่ละเจ้าเลขไม่เหมือนกัน เพื่อให้ไม่ให้แต่ละเจ้า lock เลขกันไว้ก่อนไงครับ
เมื่อใครชนะแต่ละ Slot A,B,C ได้กี่ slot ก็ว่าไป แล้วค่อยเอาจำนวน slot ที่ชนะ มาเรียงให้คลื่นติดกันทีหลัง ได้นะครับ :)
วิธีนี้มันจะช่วยให้เกิดการประมูลอย่างน้อย 1 รอบน่ะครับ (คือรอบแรกสุ่มแล้วค่อยมาเรียงกันใหม่รอบสอง) แต่เป็นวิธีที่น่าสนใจครับ เดี๋ยวจะไปเสนอในที่ประชุมให้ครับ
ครับผม :)
จริงๆ 2.1GHz นี่ กสทช ไม่ได้ชี้แนะใช่ไหมครับว่าต้องเอาไปใช้ทำ HSPA เท่านั้น และเอาไปทำ LTE ไม่ได้? คือจุดประสงค์ของการประมูลครั้งนี้เพื่อ 3G เท่า (IMT Advanced) เท่านั้น?
ถ้าไม่มี มีทางเป็นไปได้ไหมครับที่ กสทช จะให้ "โบนัส" กับคนที่ประมูลคลื่นเพื่อไปทำเครือข่าย LTE เพื่อผลักดันให้เกิน LTE อย่างรวดเร็ว เช่น โบนัสในการให้เวลาเพิ่มในการสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม เช่น 6 เดือนแรกครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ 3 ปีแรกให้ได้ 50% ของประชากร (ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เยอะกว่า 3G HSPA)
@TonsTweetings
ผมเข้าใจว่าประมูลเอาคลื่นความถี่ครับ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเอาไปใช้ HSPA เท่านั้น
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
เป็น technology independent ครับ คือเอาไปทำอะไรก็ได้ 15 ปี
ดังนั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกันว่าอีก 7-8 ปีคนเลิกใช้ 3G และมีเทคโนโลยีอื่นๆ มา ก็เอา 2.1GHz ไปใช้แทนได้เลย
ส่วน LTE จะรอ 1800MHz ปีหน้าครับ (ของ True/GSM1800)
ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ
@TonsTweetings
ถ้าออกมา 15-15-15
เอกชนเสียเงินในการประมูลไม่มากเกินไป
แต่ราคาของ 3G ถูกลง ผมถือว่าเป้นเรื่องที่ดี
กว่าประมูลแพง แล้วมาไล่เก็บที่ผู้ใช้ภายหลังนะครับ
แต่กลัวผลมันจะออกเป็นอีกทาง
เวลาดูสาวชอบดูสาวขาวๆ Sex Sex เวลาดู Notebook ชอบแบบ"ถึกๆดำๆ"
Twitter : @Zerntrino
G+ : Zerntrino Plus
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
บรรยากาศดีนะครับช่วยกันเขียนช่วยกันแก้...เห็นบอกว่าจะให้ของขวัญปีใหม่คนไทยพอดี...
ถ้ามีคลื่น 10 สล๊อต ปัญหาจบง่ายเลย