หลังจากที่มีข่าว Qualcomm โชว์หน้าจอ Mirasol ความละเอียดสูง ออกมาแล้ว ฝ่ายเจ้าตลาดกระดาษอิเล็กทรอนิกอย่าง E Ink ก็ได้เปิดตัวหน้าจอชนิดใหม่ E Ink Spectra เช่นกัน
E Ink Spectra เป็นหน้าจอชนิดสามสี โดยยังคงใช้หลักการเดิมเหมือนกับ E Ink ที่เราคุ้นเคยกันดี คือการใช้ประจุไฟฟ้าในการสลับสีขึ้นมาด้านบนให้เราเห็นเป็นภาพ โดยมีสีขาว, ดำ และสีอื่น ๆ อีกหนึ่งสี ซึ่งขณะนี้มีเพียงสีแดงเท่านั้น ทางบริษัทจะเพิ่มเติมสีอื่น ๆ ขึ้นมาในภายหลัง
แม้จะใช้หลักการเดิม แต่มีส่วนหนึ่งที่ต่างออกไปจากเดิม นั่นคือ E Ink Spectra จะใช้ถ้วยสีขนาดจิ๋วแทน (microcup ink) แทนการใช้แคปซูลสีขนาดจิ๋ว (microcapsules ink)
E Ink Spectra ออกมาจับตลาดที่ต่างไปจากหน้าจอประเภทกระดาษอิเล็กทรอนิกทั่วไป คือไม่ได้ออกมาเพื่อให้ใช้กับเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกหรืออุปกรณ์พกพา แต่เน้นออกมาเพื่อเป็นป้ายราคาโดยเฉพาะ (electronic shelf labels : ESL) ทำให้สามารถเปลี่ยนราคาได้ทุกเวลา ใช้สีเน้นเรียกความสนใจเมื่อมีข้อมูลสำคัญหรือโปรโมชันพิเศษ ทำให้การมีสามสีไม่ใช่จุดด้อยเท่าไหร่ และจากภาพตัวอย่างก็ถือว่าภาพชัดและสีจัดใช้ได้
ภาพตัวอย่างและหลักการทำงาน ด้านในเลยครับ
ภาพอุปกรณ์ที่ใช้จอ E Ink Spectra
ภาพหลักการทำงานของ E Ink Spectra ที่ผมยังดูแล้วเข้าใจไม่ละเอียด ไม่รู้เพราะรายละเอียดไม่พอหรือความสามารถผมเองไม่ถึงกันแน่ (T^T)
ภาพนี้เวลาโดนย่อจะมีเงาตัวอักษร หากรำคาญให้คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพใหญ่ไร้เงา
อธิบายเพิ่มเติมจากความเข้าใจส่วนตัว: เห็นว่าใช้ microcup แทน microcapsules และเห็นว่าสีแดงใหญ่กว่าสีดำ คาดว่าเพื่อให้ถ้วยสีขาวสามารถตักสีดำเอาไว้ได้ในขณะที่สีแดงซึ่งใหญ่กว่าถ้วยสีขาวจะสามารถลอยขึ้นมาแสดงผลที่ผิวหน้าได้ ส่วนที่เวลาแสดงผลสีดำใช้ประจุสุดท้ายเป็น + ทั้งผิวหน้าและด้านล่างผมยังไม่เข้าใจว่าทำเพื่อให้สีดำอยู่เหนือสีแดง หรือเพื่อพลิกถ้วยสีขาวและแดงให้สีดำทั้งหมดสามารถลอยขึ้นไปยังผิวหน้าได้
ใครมีความเห็นด้านหลักการทำงาน เสนอเพิ่มเติมไม่ต้องอายได้เลยครับ งานนี้ผมมั่วแหลก
ที่มา: E Ink , Business Wire
Comments
ผมว่า ทำไมเขาไม่ทำให้หนึ่งจุดมีแค่สองสี (ขาว+สี) แล้วใช้วิธี Dithering เอา ก็ไม่รู้ ง่ายกว่าตั้งเยอะ =3=
มีสี่สีเป็น CMYK ก็จบละ
รุ่นปกติในคินเดิลก็มีสองสีนะครับ เม็ดสีขาวกับเม็ดสีดำ ที่ไล่ greyscale 16 ระดับได้ก็เพราะเป็นการผสมสี (แต่ไม่ใช่ dithering ถ้าเป็นรุ่นเก่า ๆ เวลาเปิดดูภาพจะมีให้เลือกเปิด dithering ให้เหมือนมีมากกว่า 16 ระดับ)
ส่วนถ้าหมายถึงที่ตัวเม็ดสีเม็ดเดียวมีสองสีแล้วพลิกหน้าเอาน่าจะยากครับ เพราะใช้ประจุไฟฟ้าควบคุมขึ้น-ลงไปแล้ว น่าจะเอามาคุมหน้าได้ยากถ้าไม่หาอย่างอื่น (แม่เหล็ก?) มาพลิกหน้า
ส่วนถ้าหมายถึงแต่ละช่องมีขาวกับสี สี่ช่องก็สี่สี อันนั้นหลักการคล้าย E Ink Triton ครับ แต่อันนั้นใช้ฟิลเตอร์สีมาแปะหน้า ผมคิดว่าเค้าคงเลือกประจุให้กับสีไม่ได้อย่างที่ต้องการขนาดนั้น ตอนนี้จอนี้เลยมีแค่ขาว-ดำ-แดง แล้วถ้าทำออกมาจริงพอสี่ช่องออกมาครบสี (เอาสีขาวหมกไว้ด้านล่างหมด) จอจะออกมาเป็นสีดำหรือเปล่าครับ? ผมว่าอย่างมากก็เทา ๆ นะ น่าจะอ่านยากไปอีก
แนวคิดเดียวกับ sub-pixel น่ะครับ แต่เป็นสี่สี CMYK
ปัญหาอาจจะอยู่ที่การทำเม็ดสีจริง ๆ นั่นล่ะ
สาเหตุแท้จริงที่ทำแค่ 3 สีนั้น เพราะ mirasol จดสิทธิบัตร e-ink 4 สี cmyk แล้ว ดังนั้นจึงไปทำแบบ 3 สี คือ rgb แทน โดยใช้ระบบสลับสีมาช่วยครับ
ปัญหาที่คุยกันนี่ไม่เกี่ยวกับทำสามสีหรือสี่สีเลยนะครับ ปัญหาคือเค้าไม่ทำสักแบบ
หน้าจอสีสวยดี ^^
สีขาวนี่อ่านแล้วเข้าใจว่าเป็นสีเพิ่มขึ้นมาอีกสีหนึ่ง ซึ่งต่างจากสีของ E-Ink แบบ Kindle ที่จะเป็นหมึกสีดำ ส่วนที่ไม่ใช่ดำก็คือไม่มีสี
แบบนี้ถ้าเอาสีมาผสมกันก็ไล่ระดับเพิ่มได้อีกหลายสีเหมือนกันเนอะ เหมือนสั่งพิมพ์สีแบบทูโทนใช้สีดำเบรค
~ HudchewMan's Station & @HudchewMan ~
ไม่ใช่ครับ หน้าจอของคินเดิลมีเม็ดสีดำและเม็ดสีขาว ส่วนที่อยู่ข้างในเป็นของเหลวค่อนข้างใสครับ ถ้าไม่มีเม็ดสีขาว พอเม็ดสีดำจมลงไปเราก็เห็นแต่ความมืดอยู่ดี
ถ้าตัว E Ink Triton เลยจะเป็นหน้าจอ 4096 สีครับ แบ่งแต่ละช่องเป็นแต่ละสีไปเลย (เม็ดสีขาว-ดำปกติ แต่ใช้ฟิลเตอร์สีมาแปะด้านหน้า มันถึงได้ซีดขนาดนั้น)
แนะนำให้ย้ายภาพอุปกรณ์ไว้หลังๆ ข่าวเลยฮะ จะได้เอาเนื้อหาข่าวบางส่วนขึ้นก่อน Break :3
Blog | Twitter
จัดให้แล้วครับ
ผมก็ว่าข่าวหน้าแรกมันสั้นไป มันสั้นไปจริง ๆ สินะครับ ^^