ความเดิมตอนที่ 1: อธิบายปัญหาการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ของ TRUE และ DPC
ปัญหาการสิ้นสุดสัมปทาน 1800MHz มีองค์กรที่มีส่วนได้เสียโดยตรง 4 ฝ่าย ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีจุดยืนต่อปัญหาแตกต่างกันไป บทความตอนที่สองนี้จะมาย้อนดูว่าข้อเสนอของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรบ้าง ส่วนวิธีไหนจะเวิร์คไม่เวิร์ค สมเหตุสมผลหรือไม่ ก็ขึ้นกับผู้อ่านจะตัดสินครับ
- เจ้าของสัญญาสัมปทานเดิม CAT Telecom และต้นสังกัดคือกระทรวงไอซีที
- เอกชนรายแรก True Move
- เอกชนรายที่สอง AIS ในฐานะเจ้าของ DPC
- กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล (ซึ่ง กสทช. ก็มีความเห็นแตกเป็นหลายฝ่ายอีก)
Disclaimer:สถานะของผมถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย โดยผมได้รับแต่งตั้งจาก กสทช. เป็น "อนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800" (อนุ 1800 ชุดแรกที่ไม่ได้ทำงานต่อแล้ว) ไม่ได้เขียนในฐานะผู้สังเกตการณ์จากภายนอก อย่างไรก็ตาม ความเห็นและมุมมองของผมเป็นอิสระจาก กสทช. ครับ
(1) มุมมองและข้อเสนอของ CAT
CAT ในฐานะเจ้าของสัญญาสัมปทานเดิม มีรายได้จากเอกชนทั้งสองราย (True/DPC) ปีหนึ่งเป็นหลักหมื่นล้านบาท และ CAT เองก็เคยมีสถานะเป็น “เจ้าของคลื่น” (สมัยก่อนมี กสทช.) ดังนั้นการที่ กสทช. จะดึงคลื่นกลับไป CAT ซึ่งเสียประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรงก็ย่อมไม่เห็นด้วยแน่นอน
ท่าทีอย่างเป็นทางการของ CAT ช่วงต้นปีนี้ (ก.พ. 56) คือ ตีความกฎหมายว่าหลังหมดอายุสัมปทานแล้ว คลื่นไม่กลับไปที่ กสทช. ( ไทยรัฐ ) แต่กลับมาที่ CAT โดยอ้างเหตุผลเรื่องการดูแลลูกค้าเก่า แต่ CAT จะเป็นผู้ให้บริการเองโดยตรง ไม่ผ่านสัญญาสัมปทานแบบปัจจุบัน
หมายเหตุ:ความเห็นทางกฎหมายของ อ.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อประเด็นเรื่องคลื่นกลับคืนไปที่ CAT คือ “ไม่ได้” (อ้างอิงบทความเก่าใน Blognone ปัญหาทางกฎหมายกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 1800 MHz )
แผนการของ CAT ที่ยื่นต่อ กสทช. คือ
- คลื่นส่วนของ True Move จะขอใช้งานต่ออีก 12 ปี (อ่านไม่ผิดครับ) ถึงปี 2568 ตามใบอนุญาตประกอบกิจการของ CAT ที่ยังเหลืออยู่ (ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นคนละส่วนกับสิทธิการใช้คลื่น)
- คลื่นส่วนของ DPC จะขอใช้งานต่ออีก 3 ปี จนถึงปี 2559
เหตุที่ CAT อ้างว่าต้องการใช้คลื่น True Move นานกว่าคือลูกค้าเยอะกว่า (17 ล้านเลขหมาย) ในขณะที่ DPC ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 80,000 รายเท่านั้น ( ไทยโพสต์ )
อย่างไรก็ตาม CAT ก็เตรียมทางออกกรณีที่ไม่ได้คลื่นคืนคือ อาจโอนย้ายลูกค้า True Move ไปใช้คลื่น 850MHz (My) แทน
ความคืบหน้าล่าสุดของฝั่ง CAT เมื่อเร็วๆ นี้คือ รมว.ไอซีที น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ในฐานะผู้กำกับดูแล CAT ได้เข้าพบ พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการในเรื่องนี้ โดย CAT ดูยอมอ่อนตามแนวทางของ กสทช. เสียงข้างมากที่จะขยายเวลาใช้คลื่นอีก 1 ปี ( ไทยรัฐ , ผู้จัดการ )
(2) มุมมองและข้อเสนอของ AIS/DPC
DPC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ AIS ให้บริการ GSM1800 โดยเน้นไปที่ลูกค้าองค์กรที่อยากได้โปรโมชันโทรศัพท์ด้วยเสียง (voice) ในราคาถูก ปัจจุบันตัวเลขลูกค้าของ GSM1800 มีประมาณ 80,000 ราย และหลักๆ แล้ว AIS ใช้คลื่น 1800MHz ในการโรมมิ่งช่วยขยายความแออัดของ GSM900/GSM Advance มากกว่า
แผนการของ DPC ตามที่ปรากฎในข่าวคือ DPC ต้องการโอนลูกค้าไปให้ CAT ทั้งหมด รายได้ทั้งหมดจะเข้า CAT และ DPC จะรับจ้างดูแลระบบให้ CAT โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปี เชื่อว่าลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบจะโอนได้ภายใน 1 ปี ( ประชาชาติ )
นายวิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอ AIS ในฐานะบอร์ด DPC ให้สัมภาษณ์หลังหารือกับ กสทช. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2556 ว่าเบื้องต้น DPC เองเห็นด้วยในหลักการของกทค.ที่มีมติออกร่างประกาศ กสทช.ดังกล่าว แต่ต้องการให้ กทค. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค ไม่ใช่เยียวยาผู้ประกอบการ ( กรุงเทพธุรกิจ )
ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดกทค.คือ ต้องการให้กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยา ซึ่งกรอบการเยียวยา การต่ออายุการใช้คลื่นควรมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.2557 ขณะที่การประมูลคลื่น 1800 เพื่อนำมาทำประมูล 4G และขั้นตอนประมูล ควรเสร็จให้ทันปี 2557
"เอไอเอสยืนยันมาตลอดว่ามีความประสงค์จะเข้าประมูลคลื่น 1800 หรือ 4จี และยอมรับว่า คลื่น3จี ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ที่เอไอเอสประมูลได้เกือบไม่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว"
AIS ยังแสดงท่าทีว่าต้องการความชัดเจนจาก กสทช. ในการประมูลคลื่นชุดอื่นๆ โดย AIS เสนอให้รีบประมูลคลื่น 900MHz (หมดสัญญาปี 58) ด้วย ซึ่งตรงกับท่าทีของ dtac ที่อยากให้รีบประมูลคลื่น 1800MHz ของตัวเอง (หมดปี 61) ก่อนหมดอายุสัมปทานเช่นกัน ( ไทยรัฐ )
(3) มุมมองและข้อเสนอของ True
กลุ่ม True ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัมปทาน เพราะมีลูกค้าตกค้างในระบบสัมปทานเดิมเป็นจำนวนมาก (ตัวเลขที่อยู่ในข่าวคือ 16-17 ล้านราย)
ปัจจุบัน True มีบริการมือถือที่แตกต่างกันถึง 3 ระบบคือ
- TrueMove ดั้งเดิมภายใต้สัมปทาน 1800MHz เน้นบริการ 2G
- TrueMove H คลื่น 850MHz ที่มาจากการซื้อ Hutch ไม่ได้อยู่ในระบบสัมปทาน แต่เป็นสัญญาเช่าโครงข่าย-ทำการตลาดกับ CAT
- TrueMove H คลื่น 2100MHz ที่มาจากการประมูลปี 2555
ทางออกที่ True เคยเสนอเมื่อปี 2555 คือขอย้ายลูกค้าจาก TrueMove 1800MHz ไปยัง TrueMove H 850MHz ( ประชาชาติ )
ช่วงต้นปี 2556 กลุ่ม True ยืนยันว่าพร้อมจะประมูลคลื่น 1800MHz ส่วนการดูแลลูกค้าพร้อมจะทำตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ( ไทยโพสต์ )
เมื่อ กสทช. ประกาศแนวทางต่ออายุ 1 ปี เดือนมีนาคม 2556 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอของ True ก็ประกาศว่ามีความพร้อมดำเนินการ และสัญญาว่าจะทำให้ลูกค้าใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ( ไทยรัฐ )
เดือนพฤษภาคม 2556 นายศุภชัย ให้สัมภาษณ์ว่าพร้อมดำเนินตามประกาศของ กสทช. และให้บริการลูกค้าที่ค้างอยู่ในระบบบนคลื่น 1800MHz ต่อ ส่วนลูกค้าทรูที่ค้างอยู่ในระบบราว 16 ล้านราย เห็นว่าควรอยู่ในความดูแลของทรู ไม่ใช่ กสท เนื่องจากกฎหมายบอกว่าลูกค้ามีสิทธิ์เลือกผู้ให้บริการ และลูกค้ากลุ่มนี้ก็เลือกทรูเป็นผู้ให้บริการ
นายศุภชัยยังแสดงความมั่นใจว่าจะชนะประมูล โดยบอกว่าการประมูลจะไม่ดุเดือดเท่ารอบ 2100MHz เพราะเชื่อว่า dtac จะไม่เข้าประมูล ( กรุงเทพธุรกิจ )
เดือนมิถุนายน 2556 นายศุภชัย ให้สัมภาษณ์หลัง กสทช. เรียกเอกชนมาหารือว่า ต้องการให้ระยะเวลาการเยียวยานานมากกว่า 1 ปี เพราะบริษัทไม่มีสิทธิ์ไปดึงลูกค้าที่ค้างอยู่ใน True Move ออกมา ( กรุงเทพธุรกิจ )
(4) ท่าทีของ กสทช.
ก่อนอื่นต้องบอกว่า กสทช. เป็นองค์กรใหญ่ แยกโครงสร้างคร่าวๆ คือ
- บอร์ดชุดใหญ่ 11 คน แบ่งเป็นประธาน 1 คน บอร์ดโทรคมนาคม 5 คน (กทค.) บอร์ดโทรทัศน์ 5 คน (กสท.)
- สำนักงาน กสทช.
- คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคลื่น 1800MHz มี 2 ชุด ได้แก่
- คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800" (หรือ คณะอนุ 1800 ชุดแรก ผมอยู่ในชุดนี้นะครับ)
- คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (หรือ คณะอนุกรรมการ 1800 ชุดที่สอง) มี ดร. เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. เป็นประธานชุด และมี กทค. ทั้ง 5 คนร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย
ความเห็นของบอร์ดแต่ละคน แต่ละกลุ่ม รวมถึงอนุกรรมการแต่ละชุดก็แตกต่างกันไป แยกย่อยได้ดังนี้
(4.1) ข้อเสนอของ คณะอนุ 1800 ชุดแรก
คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้รับแต่งตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 และประชุมทั้งหมด 9 ครั้งระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2556 แล้วทำรายงานส่งให้ กสทช.
ข้อเสนอของคณะอนุฯ ชุดนี้คือ
- กสทช. ขยายระยะเวลาคืนคลื่นไม่ได้แน่นอน ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ที่ปรึกษากฎหมาย กสทช. ก่อนหน้านี้
- ควรจัดการประมูลโดยเร็วที่สุด
- ถ้าประมูลไม่ทัน ให้โอนลูกค้าเก่าไปยัง CAT โดยให้ CAT ใช้คลื่น 850MHz ให้บริการ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ของลูกค้าไม่รองรับคลื่น 850MHz ก็อาจใช้คลื่นสำรองช่วง 1800MHz ที่ CAT มอบให้ dtac ได้ (CAT ต้องเจรจากับ dtac เอง)
- ก่อนหมดสัญญาสัมปทาน ต้องเร่งโอนย้ายลูกค้าเก่าออกให้เร็วที่สุด โดยผู้ให้บริการทุกรายต้องแจ้งลูกค้าทราบโดยเร็ว ลูกค้าสามารถย้ายค่ายได้ตามความสมัครใจ และขยายระบบโอนเลขหมาย Number Port/MNP ให้รองรับการโอนย้ายจำนวนมากขึ้น
- เพิ่มเติม: ข่าวในประชาชาติธุรกิจ พ.ย. 55 , ข่าวในประชาชาติธุรกิจ ก.พ. 56
รายละเอียดดูได้จากเอกสารนำเสนอของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อนุกรรมการชุดเดียวกัน ที่นำเสนอในเวทีรับฟังความเห็น “ทางออกผู้บริโภค กรณีซิมดับ จากการหมดอายุสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 HHz” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ( ไทยรัฐ )
(4.2) ข้อเสนอของ คณะอนุ 1800 ชุดที่สอง
ที่ประชุม กทค. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เห็นชอบให้ตั้ง “คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์” ประกอบด้วย กทค.5 คน และ เลขาธิการ กสทช. นายแก้วสรร อติโพธิ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา ดร.สงขลา วิชัยขัทคะ นายเชิดชัย ขันธ์นะภา นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ( ประชาชาติ , ประชาชาติ , ข่าวเก่า Blognone )
คณะอนุ 1800 ชุดที่สองยังมี คณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ
- "คณะทำงานเยียวยาผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานมือถือของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่สัญญาจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.2556" มีนายสงขลา วิชัยขัทคะ เป็นประธาน
- "คณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์" โดยมีนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธาน
คณะอนุ 1800 เสนอแนวทางการแก้ปัญหาสัมปทาน 1800MHz โดยออก ร่างประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...ซึ่งจะจัดงานรับฟังความคิดเห็นสาธารณะวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ ( กรุงเทพธุรกิจ , ไทยรัฐ )
ตัวร่างประกาศ ( เว็บไซต์ กสทช. )
Click to open documentเอกสารแนะนำที่มาที่ไปของร่างประกาศ
Click to open documentประเด็นสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้
- ใช้กับกรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเป็นการทั่วไป (หมายถึงว่าใช้กับกรณีสิ้นสุดสัมปทานครั้งต่อๆ ไปของ AIS/dtac ด้วย ไม่จำกัดเฉพาะครั้งนี้)
- “ผู้ให้บริการ” สามารถให้บริการต่อไปเป็นการชั่วคราว ไม่เกิน 1 ปีหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ
- ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 90 วัน ผู้ให้บริการต้องจัดทำแผนคุ้มครองผู้ใช้บริการ เสนอต่อ กสทช.
ระหว่างการให้บริการชั่วคราว 1 ปี - ผู้ให้บริการไม่มีสิทธิรับผู้ใช้บริการรายใหม่ โดยต้องรักษาคุณภาพการให้บริการ, ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นระยะเวลาคุ้มครองชั่วคราว, เร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ
- ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโทรคมนาคม และจัดสรรรายได้เข้ากองทุน กสทช. เท่ากับผู้รับใบอนุญาตตามปกติ (เท่ากับผู้รับใบอนุญาต 3G 2100MHz)
(4.3) แผนการของ กสทช. ในการจัดประมูลคลื่น 1800MHz
ท่าทีของ กสทช. เรื่องกำหนดเวลาการประมูลคลื่น 1800MHz ก็เปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง
- ธันวาคม 2555 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “เดือนตุลาคม 2556” ( ไทยรัฐ )
- มีนาคม 2556 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “ปลายปี 2557” ( ประชาชาติ )
- พฤษภาคม 2556 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า “ไตรมาส 3 ปี 2557” ( ประชาชาติ )
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้อธิบายเรื่องปัญหาความล่าช้าของการจัดประมูล 1800MHz ว่า กสทช. เริ่มปฎิบัติหน้าที่เดือนตุลาคม 2554 แต่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำแผนแม่บทต่างๆ ซึ่งกว่าจะเสร็จก็เดือนเมษายน 2555 บวกกับการประมูล 3G 2100MHz ถูกคัดค้านเยอะทำให้งานล่าช้า และคลื่น 1800MHz เองก็มีรายละเอียดทางกฎหมายมากจึงต้องใช้เวลา ( ฐานเศรษฐกิจ )
(4.4) เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อประกาศ ต่ออายุของ กสทช.
แนวทางการออกประกาศเพื่อต่ออายุการให้บริการอีก 1 ปี มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย
กสทช. เสียงข้างน้อย
กสทช. เสียงข้างน้อยคือ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นชอบร่างประกาศฉบับข้างต้นใน 3 ประเด็น ( ไทยรัฐ )
- ยังไม่ชัดเจนว่า กสทช. มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการต่อสัญญาสัมปทานลักษณะนี้หรือไม่
- กทค. มีเวลาเตรียม 2 ปีนับจากวันที่รับตำแหน่ง แต่ทำไมไม่เคยเสนอวิธีการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้
- ยังไม่เห็นแนวทางการชดเชยให้ผู้บริโภคอย่างชัดเจน
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก
ในทางกฎหมาย กสทช.ต้องเรียกคืนสัมปทานกับบริษัทที่ทำอยู่ทันทีเมื่อหมดสัญญา แน่นอนไม่มีใครอยากเห็นซิมดับ แต่อยากจะติงว่า ที่ผ่านมาทำไม กสทช.ไม่เตรียมการประมูลตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ไม่ใช่มาถึงตอนนี้กลับมาขอเวลาอีก 1 ปี ทั้งนี้ หาก กสทช.จัดประมูลไปก่อนหน้านี้คงไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการผิดกฎหมายในการยืดระยะเวลาอีก 1 ปี โดยที่ผ่านมา 2 ปี กสทช.อ้างนู้นอ้างนี่ว่าไม่มั่นใจในอำนาจจัดประมูลได้หรือไม่ แต่พอมาตอนนี้กลับมาพูดอย่างเต็มปากอย่างมั่นใจว่า มีอำนาจเพียงพอในการยืดเวลาให้เอกชนต่อไปอีก 1 ปี
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นกลุ่ม NGO ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาคัดค้านร่างประกาศฉบับดังกล่าว โดยให้เหตุผลดังนี้ ( ฐานเศรษฐกิจ )
แนวทางดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่เป็นการทำผิดกฎหมายตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การนำคลื่นความถี่ไปใช้นั้นจะทำได้โดยวิธีการประมูลเท่านั้น อีกทั้งการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ แต่เป็นปัญหาที่ทราบล่วงหน้า และถูกเขียนไว้ในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมตั้งแต่ปี 2555 รวมทั้งคณะอนุกรรมการอย่างน้อย 2 ชุด ซึ่ง กทค.เป็นผู้แต่งตั้งต่างได้เสนอความเห็นเพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยวิธีการจัดการประมูลคลื่น และการเตรียมการโอนย้ายลูกค้า แต่กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากบอร์ด กทค.
"ทุกฝ่ายได้เร่งรัดให้รีบดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่เมื่อเหลือเวลาอีก 60 วัน จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน คือวันที่ 15 กันยายนนี้ กทค. กลับออกร่างประกาศคุ้มครองดังกล่าว โดยเอาผู้ใช้บริการคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นตัวประกัน จากปัญหาซิมดับ ซึ่งเราไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซิมดับสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภค แต่ไม่ต้องการเห็น กทค. ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย" นางสาวสารี กล่าว
นางสาวสารีกล่าวต่อไปว่า มาตรการคุ้มครองชั่วคราวแม้จะดูมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง แต่วิธีการซึ่งเสมือนเป็นการอนุญาตให้บริษัท ทรูมูฟฯ และ บริษัท ดีพีซีฯ ได้ใช้คลื่นความถี่ต่อไปโดยไม่ต้องประมูลนั้นนอกจากจะขัดต่อกฎหมายแล้ว ตลอดระยะเวลาอีก 1 ปี นี้บริษัททั้ง 2 ยังไม่ต้องจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ และในร่างประกาศยังอนุญาตให้บริษัทจ่ายเงินเข้ากองทุนน้อยลง
นักวิชาการ
นายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะนักวิจัยประจำโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBCT Policy Watch) ให้ความเห็นว่า ไม่สามารถทำได้ หากพิจารณาในทางกฎหมาย เพราะถือเป็นการละเมิดเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อความโปร่งใส ( ไทยรัฐ )
กทค. รู้ล่วงหน้าว่าอายุสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนปีนี้ ในขณะที่ กทค. รับตำแหน่งปี 54 มีเวลาเตรียมตัวตั้งคณะทำงานฯ แต่เหตุใดจึงไม่ดำเนินการ หรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในต้นเดือนเมษายน 2555 ขณะเดียวกันยังเสนอทางเลือกอื่ๆ เพิ่มเติม เช่น ตั้งคณะทำงานฯ เตรียมความพร้อม ควบคู่ไปกับการแจ้งข่าวสารให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูล ขยายขีดความสามารถในการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (mobile number portability) รวมทั้งจัดให้มีการประมูลก่อนสิ้นสุดอายุสัญญา 6 เดือน ปัญหาซิมดับก็จะไม่เกิดขึ้น และไม่ต้องขยายสัมปทาน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ทรูมูฟ และดีพีซี มากกว่าผู้บริโภค
สำนักงานอัยการสูงสุด
ศ.เข็มชัย ชุติวงศ์ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงความเห็นว่า ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่อนุญาตให้สามารถขยายเวลาให้บริการต่อได้เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด เนื่องจาก พ.ร.บ. องค์กรฯ พ.ศ. 2553 กำหนดระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ที่ชัดเจนอยู่แล้วตามแผนแม่บทฯ ที่กำหนดให้คืนคลื่นเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตามเจตนารมณ์ของการตรา พ.ร.บ. องค์กรฯ พ.ศ. 2553 นั้นมีความชัดเจนว่า ต้องการให้คลื่นความถี่เปลี่ยนจากการเป็นสมบัติชาติมาเป็นสมบัติสาธารณะ โดยมี กสทช. เป็นผู้จัดการ จึงต้องการให้คลื่นความถี่ที่หมดพันธะได้รับการส่งคืนมายัง กสทช. ( ฐานเศรษฐกิจ )
(4.5) กสทช. เสียงข้างมาก ตอบเสียงวิจารณ์
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ด้านกฎหมายชี้แจงว่า ( ฐานเศรษฐกิจ )
มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการตามร่างประกาศฯเป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดการให้บริการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่จะต้องทำโดยวิธีประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และมิใช่เป็นการขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเมื่อสัมปทานสิ้นสุดคลื่นความถี่จะต้องตกมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. เพื่อรอการจัดสรรตามกฎหมายต่อไป
การออกประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการนั้นมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการคุ้มครองนี้กำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ให้บริการรับผู้ขอใช้บริการใหม่ รวมทั้งจะต้องเร่งรัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน คือ ไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่สัมปทานสิ้นสุด ทั้งนี้ทั้งสำนักงาน กสทช.และคณะทำงานฯยืนยันว่ามีฐานอำนาจในการออกประกาศชัดเจนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ.2553 นอกจากนี้ยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ
“มีการเสนอเรื่องนี้เข้ามาทั้งในชั้นของคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz กทค.และกสทช. ซึ่งได้ถกเรื่องนี้กันหลายครั้ง เนื่องจากมีบอร์ด กทค.ท่านหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศกำหนดมาตรการเยียวยาเป็นการทั่วไป โดยต้องการให้พิจารณาเป็นรายกรณีไป และเห็นว่าควรส่งร่างประกาศฯที่คณะทำงานฯยกร่างไปให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กสทช.พิจารณาให้ความเห็นก่อน แต่ กทค.ส่วนใหญ่เห็นว่า กทค.มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีซิมดับ และเห็นสอดคล้องตามที่คณะทำงานฯเสนอว่า กสทช.มีฐานอำนาจทางกฎหมายในการออกมาตรการคุ้มครอง โดยผมซึ่งอยู่ในฝ่ายเสียงข้างมากเห็นว่ามีฐานอำนาจตามกฎหมายรองรับชัดเจน เนื่องจากหน้าที่ของ กสทช.ตามรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในส่วนการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน้าที่ในการกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน นอกจากนี้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ การดำเนินการใดๆก็ต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งสอดคล้องกับบทเฉพาะกาลมาตรา 83 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่า ในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต กสทช.จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งหมายความว่า กสทช.มีหน้าที่ที่จะต้องออกมาตรการคุ้มครองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ และป้องกันผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง"
"นอกจากนี้ในการชี้แจงต่อที่ประชุม กสทช. ท่านอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ในฐานะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และหัวหน้าคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ก็ได้เข้าชี้แจงสนับสนุนแนวทางการออกประกาศฯเพื่อป้องกันซิมดับ พร้อมตอบข้อซักถามโดยละเอียด ซึ่งบอร์ด กทค.คนหนึ่งที่เห็นแตกต่างจากมติของ กทค. แต่ที่ประชุม กทค.ไม่เห็นด้วย ก็ได้รับการเปิดโอกาสให้หยิบยกเอาประเด็นที่ที่ประชุม กทค.มีมติจนได้ข้อยุติไปแล้วมาอภิปรายซ้ำอีกครั้ง แต่เมื่อได้รับฟังเหตุผลทั้งฝ่ายที่สนับสนุนร่างฯและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯแล้วที่ประชุม กสทช. ก็มีมติเห็นชอบกับหลักการของประกาศฯ และมอบให้สำนักงาน กสทช.นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”
ข้อมูลเพิ่มเติม
ข้อมูลอื่นๆ สำหรับความเห็นของ กสทช. ที่แตกออกเป็น 2 แนวทาง
- คมชัดลึกจัดถก กสทช.ให้ฟรี…คลื่น1800?
- ฐานเศรษฐกิจ เอกซเรย์แรงหนุน-ค้านต่อสัญญาสัมปทาน1800 สัมภาษณ์ กสทช. ทั้งสองฝ่าย
- สำนักข่าวอิศรา “แก้วสรร” แจงขยายเวลาคืนคลื่น 1800 เพื่อดึงจากมือรัฐ รวมความเห็นจากเวทีถกคลื่น 1800MHz วันที่ 17 ก.ค. 56
- ประชาไท จี้ กสทช. ระบุระยะเวลาประมูลคลื่น 1800 ให้ชัดเจน รวมความเห็นจากเวทีถกคลื่น 1800MHz วันที่ 17 ก.ค. 56
เทปรายการคมชัดลึก เรื่องสัมปทาน 1800MHz
[ตอนที่ 3] สัมภาษณ์ กสทช. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ถึงปัญหาสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800MHz
Comments
กทค.5 คน => กทค. 5 คน
ชั่วคราว, เร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ => ชั่วคราว และเร่งรัดโอนย้ายผู้ใช้บริการ
แล้วเอกสาร ตัวร่างประกาศ (เว็บไซต์ กสทช.) กับ เอกสารแนะนำที่มาที่ไปของร่างประกาศ ไม่แสดงผลทั้งคู่ครับ
ของผมแสดงผลไม่มีปัญหาอะไรนะครับ
เปลี่ยนมาสามเน็ตแล้วครับ กระทั่งลิงค์ต้นฉบับยังเปิดไม่ได้เลย
ลองเปลี่ยน Browser ดูหรือยังครับ ?
เปิดในโทรศัพท์ เปิดขึ้นข้อผิดพลาดแต่กดปิดอ่านได้ครับ - -"
สรุปว่าเป็น IE Bug ละกัน (ไฟล์ไปโลดครับ)
ผมเห็นเอกสารครบถ้วนครับ
ผมอ่านใน Firefox mobile (android) ก็เห็นเอกสารครบถ้วนนะครับ
ใช้ Firefox 22 บนวิน 7 เป็นเหมือนกันครับ
คลิปวีดีโอนี้ คนชื่อแก้วสรร อติโพธินี่ น่ารำคาญมาก
@TonsTweetings
+1
+1 ผมก็เช่นกัน หมด ...ศรัทธา @ เคยมีมาเลยครับ
.......ไม่ฟังใครสักคำเลยแฮะ เวลาประชุมคุยงานนี่คนอื่นคง/facepalm กันเหนื่อยเลย
ถามคุณ mk ว่าทำไมต้องมีอนุกรรมการ 1800 สองชุดหละครับ
ชุดแรกทำงานบกพร่องอะไรเหรอถึงต้องมีชุดสอง
ทำงานล่าช้า (ประชุมตั้ง 7 เดือน) หรือมติอนุฯ ไม่สบอารมณ์กรรมการชุดใหญ่......
Happiness only real when shared.
ไม่ทราบครับ หลังจากส่งรายงานแล้ว ทางประธานชุดก็ไม่ได้เรียกประชุมอีก และผมก็เห็นข่าวการตั้งชุดที่สองตามหน้าสื่อเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปครับ
อ่านแล้วรู้สึกมีอะไรลึก ๆ ที่พูดไม่ได้อยู่เพียบเลยนะครับ(ที่แถลง ๆ กันนี่ เดาว่าหลังฉากคงเละกับเป็นเด็กแย่งเค้กแหงเลย)
มีคำถามหน่อยครับว่า ตามสัมปทาน 1800 ที่กำลังจะหมดลง ผมเข้าใจว่า
คลื่น 1800 ต้องคืน กสทช (ตามกฎหมายที่มอบอำนาจให้จัดสรรคลื่น)
เสาเครือข่าย ต้องให้ CAT (ตามสัญญาสัมปทานเดิม)
ลูกค้า ต้องให้ CAT ดูแล (ตามสัญญาสัมปทานเดิม)
แต่ทำไมอ่านไปอ่านมา ดูเหมือน กสทช จะมีสิทธิ์เข้าไปจัดการเสาเครือข่ายกับลูกค้าด้วย?True กับ AIS มีสิทธิ์อะไรที่จะเบี้ยวไม่โอนเสากับลูกค้าให้ CAT อะครับ
Happiness only real when shared.
ผมว่าเขียนแบบนี้ดีแล้วครับ
เพราะเป็นการสรุปจากข้อเท็จจริงจากหน้าสื่อ และเอกสาร
ไม่ใช่ "ข้อมูลวงใน" ที่เราไม่อาจรู้ได้ว่า จริงหรือไม่
ส่วนตัวผมเชื่อว่าเป็นการดึงเกมของเอกชน ที่ไม่ต้องการเสียลูกค้าจำนวนมาก โดยการอ้างว่าปกป้องลูกค้าจากการซิมดับ
เพราะถ้าเอาตามข้อเสนอของอนุฯ คือปล่อยให้ลูกค้าเลือกย้ายได้เอง ลูกค้าจะมีทางเลือก 3-4 ทาง
ถ้าใช้วิธีปัจจุบัน คือค่อยๆ ให้คนย้ายมาคลื่นใหม่ ก็จะการันตีว่ากลุ่มลูกค้าอยู่กับตัวเองแน่ๆ
ดีกว่า ปล่อยให้คนย้ายด้วยความจำเป็น (กลัวซิมดับ) แม่ว่าวิธีนี้จะช้ากว่ามากก็ตาม
ซึ่งแม้จะไม่มีทางย้ายได้ทั้งหมด แต่ก็ได้เยอะกว่าปล่อยซิมดับแน่นอน
จริงๆที่มีผลกระทบมากๆจะเป็น CAT กับ True ครับ เพราะจำนวณเลขหมายนี่ 16-17 ล้านเยอะมาก เทียบกับ DPC แค่ 8 หมื่น ส่วนวิธีการ ปกติก็จะมีการประชาสัมพันธ์บอกกล่าวลูกค้าให้ย้ายเรื่อยๆ โดยมีระยะเวลา 1 ปีที่เหลือนี่ครับ
การประชาสัมพันธ์ให้ย้าย ในระหว่างสัญญา คือการให้ย้ายโดยเอาโปรโมชั่นใหม่มาล่อครับ แต่ลูกค้ายังไม่จำเป็นต้องย้าย ก็ยังมีเวลาเพิ่ม offer ทีหลังได้ครับส่วนถ้าปล่อยให้ซิมดับ กรณีนี้ ลูกค้าจะอยู่ในภาวะจำยอมต้องย้าย ดังนั้นจึงอาจจะไปที่ไหนก็ได้
อีกอย่าง ผมไม่ได้บอกสักคำว่า กระทบ DPC นี่ครับ
ผมมองว่า มันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยืดเวลาให้ เพราะเวลาเตรียมตัวก็มีมาตั้งนาน ก็โอนลูกค้ามา CAT แล้วประกาศออกไป แล้วไปขยายช่องทาง MNP ตามแบบที่อนุเสนอก็ได้ไม่งั้นไอ้คลื่นนี่ จะเอาไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ มัวแต่ยืดเวลาไปมาเนี่ยแหละ
แล้วคิดเหรอครับ ว่าหมด 1 ปี แล้วจะไม่ยืดอีก
CAT สู้ๆ 555
แหม ไปเชียร์เขาอีก ไม่ต้องประมูลกันละ ให้ CAT ไปหมดเลย!!
ผมว่าเปลี่ยนจาก
เป็น
width="100%" ดีกว่านะครับ
เพราะขนาดย่อพรีวิวหน้าแล้ว ก็ยังอ่านเอกสารลำบาก
บล็อกส่วนตัวที่อัพเดตตามอารมณ์และความขยัน :P
ข้อเสนอคณะ กทค ชุดสองมันช่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมแบบไทยๆ ซะจริง
ดุเดือด!!! (เหรอ?)
@ Virusfowl
I'm not a dev. not yet a user.
นั่นสิ นอนกันมาแบบสบายๆ เลย