เว็บไซต์ Fast Company มีสกู๊ปเบื้องหลังว่ากูเกิล เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทที่สนใจเฉพาะประสิทธิภาพและอัลกอริทึม มาสู่บริษัทที่สนใจเรื่องการออกแบบที่สวยงาม มีผลิตภัณฑ์ที่เน้นดีไซน์อย่าง Google Glass หรือ Chromebook Pixel ได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อปี 2011 หลังจาก Larry Page ขึ้นมาเป็นซีอีโอได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ เขาเป็นคนเรียกหัวหน้าดีไซเนอร์จากทั้งบริษัทมานั่งประชุมกัน โดยชี้ปัญหาว่ากูเกิลมีแนวทางการออกแบบที่แตกต่างกันมากในผลิตภัณฑ์แต่ละตัว เพราะแต่ละทีมใช้ดีไซเนอร์ของตัวเองทั้งหมด ผลคือประสบการณ์ของผู้ใช้จะรู้สึกว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้มาจากบริษัทเดียวกัน
Page กำหนดเป้าหมายใหญ่ๆ ให้ทีมออกแบบของกูเกิล 2 ข้อคือ สวยงาม (beauty) และกลมกลืน (cohesiveness) โดยรวมเป็นเป้าหมายหลักชื่อ "One Beautiful Google"
ขั้นตอนหลังจากนั้นคือ ทีมดีไซเนอร์ทั่วบริษัทมานั่งประชุมกันเพื่อกำหนดกรอบการดีไซน์ของกูเกิล โดยที่ Page ไม่ได้เจาะจงละเอียดว่าควรเป็นอย่างไรบ้าง (บอกแค่ว่า "ขอเจ๋งๆ นะ") แต่ Page กลับกำหนดช่วงเวลาการทำงานของทีมดีไซเนอร์ว่าต้องเร็วๆ ซึ่งเป็นการบีบให้ดีไซเนอร์ของบริษัทต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้เสร็จตามกำหนด
โครงการกำหนดกรอบการดีไซน์ของกูเกิลใช้โค้ดเนมภายในว่า Project Kenedy โดยมีที่มาจากเป้าหมายที่ดูยากเย็นเหลือเกินสำหรับบริษัทที่ไม่เคยสนใจเรื่องการออกแบบอย่างกูเกิล มีความยากระดับใกล้เคียงกับแผนส่งคนขึ้นไปบนดวงจันทร์ของประธานาธิบดีเคเนดี้ในอดีต ส่วนทีมดีไซเนอร์ชุดนี้ได้ชื่อว่า UXA (User Experience Alliance)
จุดที่น่าสนใจคือกูเกิลไม่ได้แต่งตั้งหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ที่มีอำนาจสุงสุดเพียงคนเดียวแบบ Jonathan Ive ของแอปเปิล แต่เน้นการประสานงานกันเองระหว่างทีมผลิตภัณฑ์ต่างๆ แทน
โครงการแรกที่ผ่านมือทีม UXA ได้แก่ Google Now ช่วงต้นปี 2012 ซึ่งเปลี่ยนกระบวนการทำงานของกูเกิลไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมกูเกิลกำหนดแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทีมวิศวกร แล้วค่อยดึงดีไซเนอร์เข้ามาร่วมงานในช่วงหลังๆ ก็เปลี่ยนเป็นการดึงดีไซเนอร์เข้ามาช่วยออกแบบตั้งแต่แรก (Google Now ใช้ดีไซเนอร์ 8 คนทำงานเต็มเวลา)
ความสำเร็จของ Google Now ส่งผลต่อกูเกิลทั้งในแง่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างมีส่วนร่วมของหลายๆ ฝ่าย และแนวทางการออกแบบที่กลายมาเป็น Card UI ในภายหลัง ซึ่งจากนั้นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้ง Gmail, Google Maps, Chrome ก็เริ่มถูกปรับปรุงด้านการออกแบบขนานใหญ่
Fast Company ยังสัมภาษณ์หัวหน้าทีมดีไซเนอร์คนสำคัญๆ ของกูเกิล ที่น่าสนใจมีดังนี้
- Matias Duarteหัวหน้าทีมดีไซเนอร์ของ Android เล่าว่าเมื่อได้รับการทาบทามจากกูเกิล เขาก็ไม่กล้ามาทำงานด้วยเพราะชื่อเสียงของบริษัทในด้านลบเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบ แต่เมื่อได้คุยกับสองผู้ก่อตั้งซึ่งเล่าเป้าหมายว่าต้องการปรับปรุงเรื่องการออกแบบของบริษัท มุมมองของเขาก็เปลี่ยนไป และย้ายมาทำงานกับกูเกิลในท้ายที่สุด
- Isabelle Olssonนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวสวีเดน ได้รับการทาบทามจากกูเกิลให้มาทำงานในโครงการลับโดยไม่บอกว่าจะต้องทำอะไรแม้ในช่วงการสัมภาษณ์งาน เมื่อเธอเข้ามาเริ่มงานก็ได้รับมอบหมายให้ออกแบบ "กรอบแว่นที่ไม่มีเลนส์" ให้ดูโฉบเฉี่ยวและนำแฟชั่น เธอทำงานนี้อยู่ 2 ปีและสุดท้ายมันออกมาเป็น Google Glass แบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้
ผู้เขียนบทความของ Fast Company ให้ความเห็นว่าแอพ Google Maps ตัวใหม่บน iOS สวยงามกว่า Apple Maps เสียอีก และถ้ากูเกิลสามารถผสมผสานวิธีคิดเชิงข้อมูล การประมวลผลบนกลุ่มเมฆ เข้ากับการออกแบบอินเทอร์เฟซที่สวยงามและเข้าใจง่ายได้สำเร็จแล้ว มันจะกลายเป็นฝันร้ายของทิม คุก เลยทีเดียว
ที่มา - Fast Company Design
Comments
อ่านแล้วทำหน้างง google now นี่ผ่านการออกแบบมาอย่างดีให้สวยแล้วรึนี่
การออกแบบมีทั้งออกมาให้สวย และ ออกมาให้อ่านง่ายใช้ง่ายด้วยนะครับ
GUI หลังๆเลยไม่เน้นหรู เน้นชัดเจนทำแบนๆไปซะเลย
แค่เห็นไอคอนของ iOS 7 กับฝาเคส iPhone 5C นี่ผมก็รู้สึกว่า Google นำ Apple ไปไกลแล้วครับ ...
เอาแบบเจ๋งๆ แต่เร็วๆ นะ แฮ่!!
รักนะคะคนดีของฉัน
ผมว่าไอ้เจ้า card UI นี่มันก็โอเคนะครับ เทียบกับเดิม ๆ นะ
A smooth sea never made a skillful sailor.
งานนี้ขอ #กราบ อย่างเดียวครับ เทพเกิน
Google Now สวยออก การ์ดแต่ละใบทำออกมาเรียบ แต่ดูดีนะ
ส่วนตัวแล้วในบรรดา flat ui ของทั้ง 3 ค่ายผมชอบ Card UI ของ Google มากสุดแฮะ
เห็นด้วยครับ ไม่ดูเรียบจนกินที่เกินไป และไม่เน้นสีฉุดฉาดเกินไป
เห็นด้วยเช่นกัน
Android 4.3 สวยกว่า iOS 7 จริงๆครับ อันนี้ยอมรับเลย นายเจ๋งจริง ขอบคุณบริษัท Google เสมอมาครับ ที่ช่วยให้ชีวิตผมดีขึ้น :-)
ผมว่า Flat แบบ Google สวยนะ ไอคอนมีเงานิดหน่อยไม่ใช่แบนไปเลย สีก็ไม่ฉูดฉาดด้วย
มาถูกทางแล้ว ยิ่งทำยิ่งสวยขึ้นเรื่อยๆ หวังว่าจะไม่ไปใช้ฟอนต์ไม่มีหัวแบบ ios7 ละกัน
นักออกแบบหลายคนค่อนข้างเยียดกูเกิ้ล เพราะออกแบบด้วยวิธีคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่วิธีของมนุษย์ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังเป็นอย่างนั้นอยู่รึเปล่านะ)
วิธีของกูเกิ้ลคือ Big data อย่างจะเลือกสีฟ้าสักสี ก็ดูว่าสีไหนคนชอบ หรือทำแบบสำรวจออกมาเก็บสถิติเพื่อไปเลือกใช้ แต่วิธีการแบบศิลปินคือเลือกมาเลย นักออกแบบชอบสีนี้ สีนี้มีอารมณ์ความรู้สึกกับเขามากกว่า ก็เลือกสีนี้
มันคือความเป็น Personality ของการออกแบบโดยมนุษย์ เป็นลายเซนต์ที่ออกมาจากคนที่คลุกคลีกับมัน และเชื่อว่ามันสวย แม้ว่าคนอีกมากจะบอกว่าไม่สวย (หน้า Ive พร้อมกับไอคอนลูกกวาดลอยมา)
อ่านในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มสิครับ
ตะเอาไว้ใน instapaper ก่อนครับ คงต้องใช้กำลังในการอ่านมาก 555
ส่วนตัวก็ชอบ Google Now เหมือนกันฮ่ะ
ดูดีนะ อย่างน้อยสีก็ไม่แปร๋น แต่ดูออกได้ชัดเจน
สาธุ ... แต่ สวยอย่างเดียวไม่พอนะครับ มันต้องสะดวกด้วย แล้วก็ ต้องได้ประโยชน์ด้วย
ผมก็ชอบ card ui ที่สุดนะ มันเป็นจุดลงตัวของ flat กับ skeuomorphism จริงๆ ได้อ่านกระบวนการเบื้องหลังก็ปลื้มแฮะ
ปล. แต่เกลียด google now สูบแบตเกิน
"With the first link, the chain is forged. The first speech censured, the first thought forbidden, the first freedom denied, chains us all irrevocably."
Kenedy => Kennedy
แอนดรอยด์ยุคหลังๆ มานี่น่าใช้ขึ้นมากครับ
ชื่อของหัวหน้าทีมดีไซน์ Android นี่เขาอ่านว่ายังไงหนอ??
ดู-อา-เต ??
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
น่าจะประมาณ ดู-รา-เทอะ ครับ
ผมอ่าน "ด้วท"
ชาบูๆ ช่วงหลัง ตั้งแต่ ics เปนต้นมาแนวทางออกแบบ Google เข้ารูปเข้ารอยมาก โดยเฉพาะ holo สวยมาก แล้วมาเป็น card Ui ก็ดูเรียบทันสมัยดี นี่ขนาดบอกว่ายังไม่ถึงครึ่งทางของการออกแบบ จะรอดูต่อไป
ผมชอบ UI ใน Gmail for iOS มากๆ ฮะ เรียบง่ายใช้งานสะดวก นำเทรนมาตั้งแต่ iOS 6 แล้วครับ
ไปถูกทางบ้างไม่ถูกทางบ้างสลับกันไปครับ เช่นการนำเอาปุ่มบางปุ่มที่มีคนใช้มากบน Bar เล่นวิดีโอของ Youtube ไปใส่ไว้ในปุ่มอีกทีหนึ่ง (เล่นวิดีโอความละเอียดสูง) ระหว่างที่ CC อยู่ข้างนอก ซึ่งถ้าวัดกันตามหลักแล้วผมว่า Quality น่าจะมีคนใช้มากกว่า CC อีกนะครับ
ส่วนอันที่ดีก็มีเยอะครับ Google เน้น Simplicity มาโดยตลอดอยู่แล้ว ให้เนื้อหาเป็นตัวนำเสมอๆครับ แล้วแต่ช่วงแล้วแต่ตอนครับ ยังไม่ 100% เสียที (ซึ่งก็ดีครับ เพราะมีการปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมการใช้งานอยู่แล้วครับ)
เอาใจช่วยครับ
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ