ข่าวใหญ่อีกข่าวของวงการมือถือโลกเมื่อวานนี้คือ การเปิดตัว Galaxy S5 ของผู้ขายสมาร์ทโฟนหมายเลขหนึ่งของโลก รายละเอียดเบื้องต้นว่ามันทำอะไรได้บ้าง ผู้อ่าน Blognone น่าจะรับทราบกันหมดแล้วนะครับ
แวบแรกที่ผมอ่านข่าว Galaxy S5 ก็รู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรใหม่สักเท่าไรเลย แต่พอวันนี้ตอนเย็นๆ มีเวลานั่งดู คลิปงานแถลงข่าว Unpacked 2014 แบบละเอียดๆ ก็พบว่ามันมีอะไรน่าสนใจเยอะอยู่เหมือนกัน
บทความนี้จึงเป็นการ "วิจารณ์" ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Galaxy S5 (แบบไม่เคยจับของจริง) ว่าอะไรบ้างที่น่าจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คในมือถือเรือธงตัวล่าสุดของซัมซุงตัวนี้
จาก S4 สู่ S5: กลับสู่แนวทางที่ควรจะเป็น
อย่างแรกเลยต้องย้อนความไปยัง Galaxy S4 เรือธงของปีที่แล้ว ที่จัดงานใหญ่โตหรูหรา ( ผมก็ได้รับเชิญจากซัมซุงไปงานนี้ด้วยนะครับ ) มีฟีเจอร์มากมาย แต่สุดท้ายฟีเจอร์เหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแค่ลูกเล่นที่ใช้งานไม่ได้จริง ใส่มาให้รกเครื่องเปล่าๆ ซึ่งก็สร้างผลสะเทือนให้กับซัมซุงไม่น้อย ("ว่ากันว่า" S4 ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า "ว่ากันว่า")
พอมาถึงยุคสมัยของ Galaxy S5 ตัวแทนซัมซุงก็พูดบนเวทีชัดเจนว่า "รับฟัง" เสียงเรียกร้องจากผู้ใช้และปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ ภายใต้แนวคิดว่า Meaningful Innovationซึ่งผมว่าน่าจะเป็นภาพสะท้อนของ Galaxy S5 ได้เป็นอย่างดี
ของใหม่ใน Galaxy S5 ถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม (เพื่อให้ตรงกับเลข 5 ดูลงตัว) เพื่อความสะดวกของคนเขียนก็จะขอไล่ฟีเจอร์ตามลำดับของซัมซุงเลยนะครับ
ดีไซน์: พัฒนาขึ้นแต่ยังไม่สุด
สิ่งที่ Galaxy S4 โดนวิจารณ์หนักที่สุดคงหนีไม่พ้น "ดีไซน์" ที่ดูเหมือนพลาสติกราคาถูก ไม่สมราคารุ่นท็อปสักเท่าไร ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซัมซุงพยายามแก้ปัญหานี้ไปในหลายทิศทาง เช่น ใน Galaxy Note 3 และซีรีส์ Galaxy Note ในปี 2013 เปลี่ยนมาใช้ดีไซน์เลียนแบบหนังสัตว์ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก)
กรณีของ S5 ก็ใช้ดีไซน์ไปในอีกทาง (ชื่อเรียกของมันคือ Modern Glam) โดยฝาหลังใช้ตารางที่สร้างจากจุด (เหมือนกับ Nexus 7 2012) ส่วนด้านหน้าแทบจะเหมือนของเดิมทุกประการ
เรื่องดีไซน์ตัวเครื่องนี้ไม่เห็นของจริงยังไม่กล้าฟันธงครับ ผมพยายามหารูปจากเว็บของซัมซุงที่ดูเป็นการใช้งานในสภาพจริงมากที่สุด ก็ได้ตามภาพข้างล่างนี้ (ให้ดูแต่รูปแล้ววิจารณ์ ก็คงบอกได้ว่าดีขึ้นจาก S4 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Note 3 แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสวยเป๊ะแบบ iPhone 5/5s)
ประเด็นเรื่องดีไซน์ด้านอื่นๆ ที่ซัมซุงพูดถึงคือจอภาพ จอยังเป็น Super AMOLED เหมือนเดิม ขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.1" (ตัวเครื่องใหญ่ขึ้นด้วยเล็กน้อย) อันนี้ไม่มีอะไรหวือหวา เทคโนโลยีจอภาพบนอุปกรณ์พกพาน่าจะเริ่มตันแล้วทั้งในแง่ชนิดของจอและความละเอียด
แต่ฟีเจอร์ที่ดูจะมีประโยชน์มากคือการปรับแสงสว่างทั้งในแง่สว่างสุดสู้แดด และแสงน้อยสุดๆ เพื่อไม่ให้แสบตาในที่มืด Galaxy S5 ขยายขีดจำกัดด้านความสว่างทั้งขอบบนและขอบล่างแบบนี้ ก็ถือเป็นฟีเจอร์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงมากพอสมควร
อีกประเด็นเรื่องของดีไซน์คือ UI ที่ซัมซุงเรียกว่า Vibrant UX อันนี้ถือว่าผิดจากข่าวลือว่าซัมซุงจะใช้ดีไซน์แนว Magazine UX ที่เปลี่ยนหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ Vibrant UX ปรับปรุงจาก TouchWiz ของเดิมไม่มากนัก
แต่การปรับปรุงก็เป็นไปในเชิงบวกนะครับ หน้าตาดูเรียบง่ายมากขึ้น ลดความ "เยอะ" ลงไปพอสมควร เพียงแต่มันก็ไม่มีอะไรใหม่มากนักในแง่ของนวัตกรรม UI และยังอิงอยู่บนพื้นฐานของ TouchWiz เดิม (ซึ่งก็มีแง่ดีว่าไม่ต้องเรียนรู้กันใหม่เยอะ)
โดยสรุปแล้ว ประเด็นเรื่องดีไซน์ของ S5 ทำได้ดีขึ้นกว่าของเดิม แต่ยังไม่ดีขึ้นเยอะมากอย่างผมแอบที่หวังไว้ครับ
กล้อง: ไม่หวือหวาแต่ใช้งานได้จริง
กล้องบนมือถือกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คน เป็นกล้องที่คนสะดวกในการหยิบมาถ่ายภาพมากที่สุด ดังนั้นมือถือกล้องดีจึงมีชัยไปกว่าครึ่ง แอปเปิลเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีและใส่ใจกับกล้องของ iPhone รุ่นหลังๆ มาก ถึงแม้จะไม่ขั้นเทพแบบ PureView ของโนเกีย แต่ก็ตอบสนองความต้องการใช้งานทั่วไปและที่สำคัญคือ "ใช้ง่าย"
ปีที่แล้วเราแทบไม่เห็นซัมซุงชูประเด็นเรื่องกล้องเลย (แต่ S4/Note 3 ก็มีกล้องที่คุณภาพดีเกินมาตรฐาน เพียงแต่ไม่ใช่ระดับโดดเด่นที่สุด) มาปีนี้ ซัมซุงกลับมาขุดเรื่องกล้องเป็นจุดขายอีกรอบ
ฟีเจอร์ด้านกล้องของ Galaxy S5 มีของใหม่ด้วยกัน 3 อย่างคือ Fast AF, HDR, Selective Focus
Fast AFดูเป็นฟีเจอร์ที่ดูมีนวัตกรรมมากที่สุด ซัมซุงยัดระบบ Phase Detection Auto Focus เข้ามา (ตามภาพ) และปรับปรุงเรื่องชิปในการช่วยประมวลผลภาพด้วย ผลออกมาเป็นว่า S5 จับโฟกัสได้เร็วมาก เพียง 0.3 วินาทีเท่านั้น
ฟีเจอร์ Fast AF น่าจะมีผลต่อการใช้งานกล้องจริงๆ มาก เพราะการถ่ายภาพทุกครั้งจะได้ประสบการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น ถ่ายรูปได้ไวขึ้นในระดับหนึ่ง
ฟีเจอร์ HDRเป็นของที่คงได้ใช้กันเยอะอีกตัวหนึ่ง เพราะในการถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือจริงๆ เรามักเจอสถานการณ์แสงแย่ๆ ที่ต้องบังคับให้ถ่าย HDR อยู่บ่อยๆ ดังนั้นการปรับปรุง HDR ให้ดีขึ้นย่อมมีประโยชน์ แต่ถ้าถามว่ามันเป็นของใหม่หรือเปล่า ก็ตอบได้เต็มปากเลยครับว่าไม่ใหม่เท่าไรนัก ชาวบ้านเขาทำกันมานานแล้ว
Selective Focusอันนี้แปลกใหม่ดี ถือเป็นลูกเล่นที่ช่วยให้ถ่ายภาพดูดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าเราจะได้ใช้มันทุกสถานการณ์หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ ผมยกให้ฟีเจอร์นี้เป็น nice-to-have แต่ไม่ถึงขั้นยกระดับคุณภาพชีวิตเหมือนกับ Fast AF
โดยรวมก็เหมือนที่จั่วหัวไปครับ นวัตกรรมใหม่อาจไม่เยอะเท่ากับคู่แข่งบางราย (เช่น PureView) แต่ถามว่าที่เพิ่มเข้ามามันน่าจะใช้ได้จริงไหม คำตอบก็คงใช่
Speed: เร็วขึ้น แต่ก็ตามมาตรฐาน
ซัมซุงชูจุดขายเรื่องความเร็วในการเชื่อมต่อไว้ 3 ประการ คือ LTE, Wi-Fi MIMO 802.11ac และ Download Booster
เรื่อง LTE มาถึงวันนี้ปี 2014 ต้องถือว่าเป็นฟีเจอร์มาตรฐานของมือถือระดับเรือธงไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่เพราะมือถือเรือธงของปีที่แล้วหลายๆ ตัวก็รองรับ LTE กันบ้างแล้ว เช่น iPhone 5s หรือ Sony/Nokia การที่ซัมซุงใส่ LTE มาเป็นมาตรฐานคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเป็นไฟต์บังคับที่ไม่ใส่มาก็ขายไม่ออก
Wi-Fi MIMO 802.11ac ก็ถือเป็นการรองรับ Wi-Fi ที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในตอนนี้ ฟีเจอร์แบบนี้เป็นเรื่องดีครับ แต่การใช้งานจริงก็ขึ้นกับ access point ของเราเองด้วยว่าเป็น ac กับเขาด้วยไหม (รอบการอัพเกรด access point มันนานๆ ทีทำกันทีซะด้วย ผมเชื่อว่าหลายคนยังใช้ g กันอยู่ หรือบางคนอาจยังเป็น b ด้วยซ้ำไป)
สุดท้ายฟีเจอร์ Download Booster ที่ใช้ Wi-Fi กับ LTE ช่วยกันดาวน์โหลดไฟล์ อันนี้แปลกใหม่ดีแต่โอกาสที่จะได้ใช้งานจริงคงมีน้อย เพราะต้องมีเงื่อนไขครบทุกอย่างจึงจะทำงานได้ดังโฆษณา (เช่น มี LTE, ดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่จริงๆ)
สรุปแล้ว ฟีเจอร์ด้านความเร็วในการเชื่อมต่อก็อยู่ในกลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เช่นกัน
ความอึด: ไม่ใหม่ แต่มีประโยชน์
Galaxy S5 สามารถทนน้ำทนฝุ่นตามมาตรฐาน IP67 เรื่องนี้ดีแน่นอนเพราะผู้บริโภคทำมือถือตกน้ำแล้วมีปัญหากันเป็นจำนวนมาก การที่ Galaxy S5 กันน้ำได้ในระดับที่เรียกว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน (คงไม่มีใครเอามือถือไปแช่น้ำเกิน 30 นาทีกระมัง) ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากๆ
แต่ IP67 ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกนั่นแหละ เราเห็น Sony บุกเบิกเรื่องนี้มานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว ดังนั้นฟีเจอร์นี้ถือว่ามีประโยชน์มาก แต่ซัมซุงไม่ใช่รายแรกที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ายุทธศาสตร์นี้น่าจับตาเพราะช่วงหลังๆ วงการมือถือเริ่มตัน หาฟีเจอร์ใหม่ๆ ใส่เข้ามาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ซัมซุงอาจจะขยายความสามารถด้านกันน้ำกันฝุ่นไปยังสมาร์ทโฟนตลาดบนตัวอื่นๆ ที่จะขายในปีนี้ด้วย (ที่แน่ๆ Note 4 คงมีชัวร์)
ฟีเจอร์อย่างที่สองในประเด็นเรื่องความอึด-ความปลอดภัยคือ ตัวสแกนลายนิ้วมือ ฟีเจอร์ที่หลายคนคงคุ้นเคยมาจาก iPhone 5s (แต่ถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว iPhone 5s ก็ไม่ใช่รายแรกที่ทำเช่นกันนะ)
ฟีเจอร์นี้ชัดเจนว่าซัมซุงเป็นผู้ตาม แต่มันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นจริง (รูดง่ายแค่ไหน เทียบกับ iPhone 5s แล้วเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบ ต้องรอเครื่องจริง)
ซัมซุงพยายามโชว์จุดขายว่ามันไม่ใช่แค่ปลดล็อคเครื่อง แต่ยังสามารถใช้จ่ายเงินด้วย PayPal ได้ด้วย เรื่องนี้ผมว่าดีแต่ทำจริงมันไม่ง่ายเพราะ ecosystem ทั้งระบบต้องสนับสนุนกันหมด การชูว่าใช้จ่าย PayPal ก็คงเป็นแค่ลูกเล่นที่ไม่น่าจะได้ใช้งานจริงกันมากนัก
แต่ฟีเจอร์ที่กลับน่าจะเวิร์คคือ Private Mode ที่ซ่อนไฟล์ข้อมูลสำคัญๆ เอาไว้ เจ้าของเข้าถึงได้โดยการรูดนิ้วเท่านั้น ตัวอย่างการใช้งานที่พิธีกรพูดถึงบนเวทีคือ เขาถ่ายภาพพาสปอร์ตเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แต่ไม่อยากให้คนอื่นเห็นข้อมูลนี้ในเวลาปกติทั่วไป ซึ่งตัวสแกนลายนิ้วมือ+Private Mode ตอบโจทย์นี้มากๆ
ฟีเจอร์ Kids Mode ถือเป็นกลุ่ม nice-to-have อีกเหมือนกัน และซัมซุงก็ไม่ได้ทำเป็นเจ้าแรก (อีกแล้ว) โดยทั้ง Kindle Fire และ Windows Phone มีมาก่อนนานแล้ว
แบตเตอรี่ใช้งานได้อึดกว่าเดิม ตรงไปตรงมาแต่มีประโยชน์ แต่อันที่เจ๋งจริงคือ Ultra Power Saving Mode ฟีเจอร์ที่เรียกเสียงปรบมือได้จากคนดู ด้วยสโลแกนง่ายๆ ว่า "แบตเหลือ 10% สแตนด์บายได้อีก 24 ชั่วโมง"
ส่วนการใช้งานจริงจะทำได้สมราคาคุยหรือไม่ ก็คงต้องรอเทสต์ของจริงกันต่อไปครับ
Fitness: นวัตกรรมของแท้แต่ต้องรอเวลา
ฟีเจอร์ที่ผมยกให้เป็นนวัตกรรม "ซัมซุงทำคนแรก" ของจริงคือ ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate sensor) เรื่องนี้ใหม่จริงและน่าจะมีคนลอกในไม่ช้า
หลายคนอาจมีคำถามว่ามือถือจะวัดอัตราการเต้นของหัวใจไปเพื่ออะไร คำตอบต้องดูภาพรวมของเทคโนโลยีครับ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ซัมซุงยังเปิดตัวสินค้ากลุ่มสวมใส่ได้อีก 2 ตัวคือ Gear 2 และ Gear Fit ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ทั้งคู่
พูดง่ายๆ ว่าในสินค้าใหม่ของซัมซุงที่เปิดตัวในงาน MWC 2014 ทุกตัววัดการเต้นของหัวใจได้หมด มันชี้ให้เห็นถึงทิศทางของซัมซุง (และโลกเทคโนโลยีในภาพรวม) ที่กำลังหมุนไปในยุคของอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้ ซึ่งฟีเจอร์ด้านฟิตเนสและสุขภาพจะกลายเป็นพระเอก
ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องรอให้อุตสาหกรรมพร้อม และความพร้อมของผู้ใช้เองอีกต่อหนึ่ง ในอีกไม่ช้าเราอาจวัดข้อมูลของร่างกายแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา และมีแอพพลิเคชันมากมายที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้เพื่อแจ้งเตือนเมื่อร่างกายเกิดภาวะผิดปกติ
heart rate sensor เป็นก้าวแรกๆ ของวิสัยทัศน์เหล่านี้ มันแปลกใหม่จริงแต่ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะได้ใช้งานแบบเต็มศักยภาพ
สรุป
โลกมือถือแข่งกันดุเดือดมาหลายปี อะไรที่เอามายัดใส่ได้ก็ใส่กันจนไม่รู้จะใส่อะไรเพิ่มได้อีกแล้ว โลกมือถือระดับ flagship ในช่วง 1-2 ปีให้หลังจึงเริ่มหมุนช้าลง (เป็นกันทุกค่าย แอปเปิลก็เป็น)
กรณีของ Galaxy S5 ก็คงไม่หนีกันมาก ของใหม่แบบว้าวจริงๆ ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มีไม่เยอะเท่าไรนัก
แต่ถ้าพิจารณาจากปัญหาของ Galaxy S4 (เยอะแต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์) ต้องถือว่า Galaxy S5 กลับมาอยู่ในแนวทางที่ควรจะเป็นในเรื่องการตอบโจทย์ผู้ใช้งาน (สักทีนะ) และหวังว่าซัมซุงจะเดินหน้าในแนวทางนี้ต่อไป
จุดที่ผมผิดหวังคงเป็นเรื่องดีไซน์ (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) ที่ยังไม่กล้าฉีกแนวใหม่ๆ และยังเลือกที่จะเดินตามสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ อยู่มาก (ซึ่งถ้าจะพูดให้แฟร์ก็ต้องบอกว่า คู่แข่งหลายๆ ค่ายในช่วงหลังก็ไม่ค่อยฉีกแนวทางการดีไซน์เหมือนกัน)
ผมคาดว่า Galaxy S5 น่าจะขายดีในระดับไล่เลี่ยกับของเดิม แต่ถ้าจะหวังยอดขายถล่มทลายแบบที่เคยทำได้ในอดีตคงยากแล้ว เพราะมือถือตลาดบนน่าจะเริ่มอิ่มตัวกันแล้ว
ปี 2014 จะเป็นปีของมือถือตลาดกลาง/ล่างที่จะต่อสู้กันอย่างดุเดือด และเราน่าจะได้เห็นมือถือราคาไม่แพงแต่ดึงฟีเจอร์ของตัวท็อปๆ ของแต่ละค่ายมาฟาดฟันกันอย่างสนุกสนานครับ (ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด เฮ)
ปิดท้ายด้วยคลิปงานแถลงข่าว Unpacked 2014 เผื่อว่าใครยังไม่ได้ดู ผมว่าปีนี้ซัมซุงทำได้ดีทีเดียว เข้าเป้า ตรงประเด็น ไม่ลีลาร่ำไรเหมือนปีที่แล้ว
Comments
โอเคทุกอย่าง ยกเว้นฝาหลัง -*-
Educational Technician
อ่านของเดิมประกอบจะได้อารมณ์ต่อเนื่อง บทวิเคราะห์ Galaxy S4 พลาสติกก๊อบแก๊บบุกอเมริกา
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
รุ้สึกว่า HDR นี่จะเป็นแบบแสดงผลให้ดูก่อนถ่ายเลยนะครับว่ารูปที่ได้จะเป็นแบบไหน ก็ค่อนข้างใหม่อยู่
ใช่ครับแสดงให้เห็นเลยว่าเปิด HDR แล้วจะเป็นอย่างไร (ง่าย)
แถมใช้กับ video ได้ด้วย =w=
:: DigiKin8 ::
ทำไมส่วนตัวผมเห็น heart rate sensor เป็นอะไรที่มือถือเกือบทุกรุ่นน่าจะทำได้อยู่แล้วผ่าน app
แต่ส่วนใหญ่มือถือที่ตัว flash ห่างจากกล้องเกินไป จะทำไม่ค่อยได้ แต่บน iPhone 4 เป็นต้นมา ก็สามารถอ่าน heart rate ได้เป็นปกติอยู่แล้ว
ส่วนเรื่อง heart rate sensor ลักษณะนี้บนอุปกรณ์พกพาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปีนี้คงต้องบอกว่าซัมซุงเริ่มหลงทาง ไม่รู้จะเอาอะไรมาใส่ดี เพราะอุตสาหกรรมเริ่ม "ช้า"
@TonsTweetings
เค้าวัดกันยังไงหรอครับแบบไม่มี heart rate sensor
ถึงจะมีแอพแต่รู้ได้ไงว่ามันวัดจริงๆหรครับ?
แล้ว flash กับ กล้องมีความเกี่ยวข้องกับการอ่าน heart rate ยังไงหรอครับ??
+1
แสงจากเฟลชจะทำให้กล้องสามารถมองเห็นเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนังซึ่งจะมีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามการเต้นหัวใจ แอพจะวัดความแตกต่างของสีแล้วมาพล็อตเป็นกราฟแสดงการเต้นของหัวใจครับ
ถ้าอยากเห็นภาพ โหลด Stress Check มาดูครับ
Jusci - Google Plus - Twitter
ถ้าแฟชกับกล้องอยู่ห่างกันความแม่นก็ลดลงสินะครับ
^
^
that's just my two cents.
ไม่เคยใช้จริงๆเหรอครับ O_O
https://play.google.com/store/apps/details?id=si.modula.android.instantheartrate&hl=en
https://itunes.apple.com/us/app/instant-heart-rate-heart-rate/id395042892?mt=8
"ถึงจะมีแอพแต่รู้ได้ไงว่ามันวัดจริงๆหรครับ?"
เอ่อ ... อันนี้ไม่รู้จะตอบอย่างไรจริงๆ เพราะนั่งเฉยๆบางคนก็รู้สึกแล้วว่าหัวใจเต้นทีนึง กับที่ขึ้นบนจอมันเท่ากัน
@TonsTweetings
ลองแล้วรู้สึกได้เลยว่า... ไฟ Flash ร้อนมาก > <
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
วัดได้กับวัดแม่นยำจริงๆก็ต่างกันเยอะครับการวัดอัตราการเต้นของหัวใจมันมีหลายวิธีการหลายระดับความแม่นยำ
วัดโดยใช้แอพผ่านแฟลช วัดผ่านการคำนวนจากความเร็วหรือแรงในการออกกำลังกายต่ออายุและน้ำหนักวัดจากชีพจรที่ข้อมือแบบนาฬิกาบางชนิด หรือมีสายคาดหน้าอกวัดจากหัวใจโดยตรงแล้วแสดงผล ซึ่งแบบหลังแม่นยำที่สุด realtime ที่สุด แต่ราคาก็แพงกว่า กลางๆพันถึงหลักหมื่น เป็นค่าความแม่นยำที่แพงเหมือนกัน
ดังนั้นผมว่าที่แตกต่างมากๆจากการใช้แอพปกติคือตัวเซ็นเซ่อร์ที่ให้ความแม่นยำมากกว่า ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าแค่ไหน เป็นไปได้ว่าอาจจะระดับเดียวกับตัวเซ็นเซอร์ใต้ Galaxy Fit แต่อยู่ตรงนั้นจะใช้งานได้จริงกับการออกกำลังกายแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ผมใช้ Mio Alpha อยู่ครับ บอกได้เลยว่าพวกนี้การใช้ระหว่างออกกำลังกายจริงๆ แป๊บเดียวก็เมื่อยแล้วครับ ไม่ต้องหวังอะไรกับ Galaxy Fit เพราะว่าพวกนี้เวลาสวมใส่ จะต้องรัดข้อมือค่อนข้างแน่น
ส่วนเรื่องการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ใครเขาวัดการผ่านความเร็วหรือแรงในการออกกำลังกายต่ออายุและน้ำหนักครับ ไม่ใช่ Metabolic Rate นะครับ -____- เขาวัดที่อัตราการเต้นหัวใจ ผ่านการสูบฉีดเลือดในเส้นเลือด ซึ่งความดันแต่ละครั้งของการปั๊มของหัวใจ ทำให้สีเปลี่ยนหากมีการยิงแสงออกมาผ่านทาง flash ครับ
ซัมซุง ใช้เซ็นเซอร์แบบเดียวกับ Mio Alpha และ application ไม่ต่างจากการใช้กล้องผ่านแอพธรรมดาครับ (เพราะต้องใช้ LED ยิงแสงออกมา) แต่ไม่เหมือนกับพวก chest strap
สงสัย เชิญอ่านครับ http://www.whatsyourdigitaliq.com/instant-heart-rate/
@TonsTweetings
การวัดอัตราเต้นของหัวใจ มีวิธีที่ใช้วัดทางการแพทย์สองวิธีใหญ่ๆ
วิธีแรก เป็นการวัดชีพจร หรือแรงสะท้อนที่เกิดจากเลือดถูกบีบตัวจากหัวใจ (Pulse) ซึ่งสามารถวัดได้จากเอานิ้วคลำ, ใช้หูฟังฟัง หรือวัดระดับความเข้มสีของเลือดที่ผ่านอวัยวะส่วนปลาย ซึ่งวิธีหลังสุดนี้เป็นวิธีที่ใช้ในมือถือดังกล่าวครับ
วิธีที่สอง เป็นการวัดสัญญาณไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจากตัวหัวใจบีบตัว ดังนั้นต้องมีการวัดความต่างศักย์บนร่างกายครับ เหมือนที่แปะตามตัวในโรงพยาบาล, แบบที่อยู่บนเครื่องออกกำลังกายที่ต้องเอามือไปจับแผ่นเหล็กสองข้างครับ
ซึ่งทั้งสองอย่างอาจเท่ากัน หรือไม่เท่ากันก็ได้ครับ คนที่หัวใจบีบแต่หลอดเลือดส่วนปลายทำงานไม่ดี อาจส่งผลทำให้การวัดแบบแรกนั้นไม่ได้หรือคลาดเคลื่อนครับ
+1024 นึกว่าจะไม่มาตอบ หุหุ
+1
Jusci - Google Plus - Twitter
ผมละคนนึงใช้งานมา app ประเภท heart rate sensor มานานมากแล้ว แล้วพอ ss มาบอกว่าเป็น เครื่องแรกเลยงง ยิ่งพอมาเห็นหลักการทำงาน เหมือน app ที่อยู่ใน iPhone เปะเลย แล้ว ss รอบนี้ผมคิดเหมือนกันเลยว่าเหมือน มือถือที่แค่จับยัดทุกอย่างมารวมกันแค่นั้นเลย
HDR real time อันนี้ผมว่าแปลกใหม่ HDR video อันนี้ผมก็ว่าแปลกใหม่นะ ผมว่าแนวทางด้านฟีเจอร์สอบผ่านแล้วแต่ด้านการออกแบบนี้สิ
ชอบ Ultra Power Saving Mode มาก อยากให้ Apple มี
แต่เรื่องวัด Heart Rate ด้วยแฟลชกล้อง
เหมือนจะมี App ขายใน App Store ของ Apple มานานแล้วนะ
https://itunes.apple.com/us/app/instant-heart-rate-heart-rate/id395042892?mt=8
https://itunes.apple.com/th/app/runtastic-heart-rate-monitor/id586956623?mt=8
https://itunes.apple.com/us/app/heart-rate-monitor-measure/id795738018?mt=8
แต่เรื่องความเที่ยงตรงผมก็ไม่รู้เหมือนกัน -0-''
ไม่รู้รายละเอียดแตกต่างกันขนาดไหน
ของ Samsung อาจจะเป็น Sensor เฉพาะเลยรึปล่าว
เท่าที่ผมลองทดสอบ App ดู
เทียบกับผลที่ได้จากเครื่องวัดความดันระดับความถูกต้องนี่...แทบจะเป๊ะเลยนะครับ
ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะผมผิวค่อนข้างขาว ทำให้มองเห็นเส้นเลือดได้ง่าย
ไอเดีย Heartrate Sensor นี่ผมก็เห็นมาก่อนนะครับ แต่เป็น Make-shift Sensor ที่ให้เอานิ้วปิดหน้ากล้อง แล้วเอา Flash ส่อง คงไม่แม่นเหมือนใช้ Sensor จริงๆ
ใข้ใน iPhone 5 แล้วลองเทียบกับเครื่องวัดความดันใกบ้เคียงกันมากครับ
แต่ขั้อเาียคือเคสหนาๆ บางแบบมันวางนิ้วไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้
ผมกลับมองว่าสำหรับ Consumer ทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ในเชิงการแพทย์ขนาดนั้น (อาจจะใช้แค่สำหรับตอนออกกำลังกาย) ใช้แค่สิ่งที่มีอยู่แล้ว วัดได้แม่นยำสัก 95% ก็มากเหลือเฟือแล้วนะครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับว่าแอพทั่วไปทำได้ดีจริงแค่ไหน แต่เท่าที่เคยลองก็เรียกได้ว่าใกล้เคียงมากนะครับ
ผมว่าเป็นอย่างที่คุณ mk พูดไว้นั้นแหละครับ มันคือประตูด่านแรก ๆ ของการเปิดเข้าสู่ยุคของการติดตามสุขภาพของผู้ใช้อุปกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเฉียบพลัน หรือโรคที่เกิดจากการสะสมความผิดปกติต่าง ๆ
ต่อไปมันคงจะมี eco system ในด้านนี้มารองรับ เช่นมี app ที่ใช้ติดตาม และวิเคราะห์ แจ้งเตือนปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับสุขภาพได้เลย ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่แจ้งผู้ใช้ มันอาจจะรวมไปถึงการร่วมมือโดยรอบของสังคม เช่นโรงพยาบาล หรือคลีนิคพิเศษ หรือแม้แต่ผู้ให้บริการต่าง ๆ รวมไปถึง Google และ Samsung เอง เปิดตัวศูนย์วิเคราะห์ข้อมูล และผสานงานกับองค์กรแพทย์ทั้งหลายเพื่อจับตาดูผู้ใช้อุปกรณ์ที่มีประวัติการตรวจสอบในทางที่เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ
ข้อมูลพวกนี้ยังช่วยได้เยอะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แล้วรถฉุกเฉินเพียงแค่นำนิ้วมือของผู้ป่ายรูดอุปกรณ์ก็จะตรวจสอบประวัติการติดตามสุขภาพที่เก็บไว้บนคลาวด์ได้ทันที ทำให้ลดระยะเวลาในการเช็คประวัติต่าง ๆ ทางด้านสุขภาพลง เอาเวลาไปสนใจกับการยื้อชีวิตในช่วงเวลาวิกฤต
เป็นต้น
เพจตัวอย่างผลงานถ่ายภาพ / วีดีโอ
ทั้งหมดที่ว่ามาผมเห็นด้วยครับ แต่ประเด็นผมคือ "Sensor วัดอัตราการเต้นหัวใจโดยเฉพาะบนมือถือ" มันไม่มีประโยชน์ครับ ถ้าอยากรู้แค่ครั้งคราวนานๆ ที เราใช้กล้องมือถือ + แอพแทนได้ ส่วนคนที่ต้องการการวัดที่ต่อเนื่องแม่นยำ ก็ใช้อุปกรณ์สวมใส่อื่นๆ จะดีกว่าครับ
S5 คงจะเน้นไปที่ความเรียบง่ายแล้วสินะ
ฝาหลังไม่เรียบง่ายนะครั_
มันเรียบง่อยอะครับ -__-
มีเครื่องวัดชีพจร ต่อไปผมจะพัฒนาเครื่องจับเท็จ อาจจะขายได้ดี
แสกน => สแกน
ของแต่ละขาย ?
ผมอีกหนึ่งเสียงที่บอกว่า heart rate sensor มันไม่ใหม่เลย ได้ลองใช้ตั้งแต่ iPhone4 แล้ว จากการโหลดแอพ แต่ก็ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
ดีไซน์แพ้ nexus G2 หรือแม้แต่ note 3 ของตัวเอง
ผมยืนยันอีกคนว่า Heart rate sensor ไม่ใช่นวัตกรรมซัมซุงทำคนแรก ผมโหลดโปรแกรมCadiograph มาใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจใน iphone4s เกือบปีแล้วจริงๆถ้าใส่นาฬิกาก็จับชีพจรข้อมือนับเอาเหมือนที่หมอทำก็ได้แต่เพราะมือถือบอกเวลาได้เลยเลิกใส่นาฬิกา ถามว่าคนทั่วไปจะเช็คชีพจรทำไมสำหรับคนที่ต้องการออกกำลังกายอย่างถูกต้องต้องออกกำลังให้หัวใจเต้น120ครั้งต่อนาทีต่อเนื่องเป็นเวลา 35-45นาทีและการเดินไม่ใช่การออกกำลังกายครับ
การเขยิบจากการใช้กล้องธรรมดาไปเป็นเซนเซอร์เฉพาะนี่มันไม่ใหม่เหรอครับ? หรือว่าการที่เขยิบจาก accelerometer มาใช้ gyroscope เสริมด้วยนี่ก็นับว่าไม่ใหม่เหมือนกัน?
น่าคิด
ผมเห็นด้วยกับคอมเมนต์นี้ครับ
ผมว่าในโลกนี้ อะไรที่ลงในมือถือไม่มีใครสนใจหรอกว่าเป็นคนทำเจ้าแรกหรือเปล่า สนใจตรงทำได้ดีหรือเปล่า กันน้ำเอย ลายนิ้วมือเอย ทำมาแล้วถ้าเวลาใช้งานติดๆ ขัดๆ ไม่สะดวก ก็ไม่มีคนใช้หรอก
"Design is not just what it looks like and feels like. Design is how it works"ศาสดากล่าว...
การใช้ APP มันไม่สะดวกเท่ากับการใส่พวกอุปกรณ์สวมใส่หรอครับต้องมาเอานิ้ววางแบบ flash กำลังวิ่งอยู่คงไม่ทำแน่ๆ
heart rate sensor อาจจะไม่เหมือนกับบรรดาแอพที่มีมาก็ได้
แต่ที่น่าสนใจคือ มันจะเป็น feature ที่เปล่าประโยชน์ หรือไม่
กลุ่มผู้ใช้งานคิอใคร (ใครจะมาวัดอัตรเต้นหัวใจบ่อยๆ หรือ อาจจะเอาไปใช้ในแง่อื่น ที่ไม่ใช่ออกกำลังกาย)
ถ้าสำหรับการออกกำลังกาย วิ่งๆอยู่ มือนึงต้องถือมือถือ แล้ว ค่อยวัดอัตราการเต้น
หรือ วัดช่วงที่หยุดวิ่ง
หรือ ออกกำลังกายเหงื่อออก มือเปียก ก็เลย มีระบบกันกันน้ำ มาด้วย
แต่ ถ้า คนที่ออกกำลังกายต้องการวัดอัตราการเต้นจริงๆ การใช้ สายคาดอก จะเป็นอะไรที่ ตอบโจทย์ และ ได้ประโยชน์ จริงๆมากกว่า (มีการวัดตลอดเวลา และวิเคราะห์ ถึงการออกกำลังกายในครั้งนั้นๆด้วย)
แถมยังซ้ำซ้อนกับผลิตภัณฑ์ชุดนี้อีกต่างหาก
นั้นซิครับ
ที่จริงนาฬิกานี้ ผมยังไม่แน่ใจว่า มันจะวัดได้ ดีแค่ไหน มันต้องเป็นแบบรัดกับข้อมือ หรือ แค่ หลวมๆก็ได้
เคนยลองจะหานาฬิกา มาวัดตอนวิ่งเหมือนกัน แต่หาไปหามาเหมือนว่า แบบคาดอก จะดีกว่า
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ถ้าใช้เรื่องแสงจาก flash ความแน่นของ sensor กับร่างกาย มีผลกับความแม่นยำ
ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นอินฟราเรดนะครับ แต่ยังไงการแนบแน่นกับร่างกายก็คงมีผลแน่นอน
ประเด็นคือ การใช้flashในนาฬิกา มันจะทำให้แบตลดฮวบๆสิ
มันเป็นแค่ LED เบาๆธรรมดาครับ ใช้แบตน้อยมากๆ
@TonsTweetings
วัดด้วย กล้อง กะ sensor มันต่างกันนะ กล้องนี่เปิด LED ค้าง ร้อนๆ ก็ร้อน ใช้บ่อยเสียทำไงเนี่ย เช็ดหน้าเลนส์อีก
อ่านแล้ว note II ในมือผมมันสั่น ระริกๆ
อันราการเต้นหัวใจ Apps iphone มีมานานแล้วนะครับ?
Android ก็มีครับ แต่ที่ไม่เคยมีกันคือการฝังเซนเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจมากับตัวโทรศัพท์
ไม่เข้าใจว่าดีไซน์ของมันมีอะไรน่าชื่นชม -_____-
ตอน Note3 ทำได้ดีนะ (ใช้อยู่) แต่พอมา S5 พูดไม่ออก ไม่ใช่เสมอตัวแน่ๆ แต่ดิ่งลงฮวบๆเลย
ฝาหลังมันเกินบรรยายจริงๆ
Inspiration Samsung Galaxy S5 โทรศัพท์ที่สวยที่สุดในจักรวาล
Galaxy S6 รุ่นต่อไปมาพร้อมกัน sensor วัดอุณหภูมิร่างกาย
ระบบจะวิเคราะห์ร่วมกับ sensor วัดอัตราการเต้นของหัวใจแล้วแสดงผลออกมาบนหน้าจอว่าคุณเป็นไข้หรือไม่
วิธีการใช้งานคือให้เอามือถือหนีบไว้ใต้รักแร้
และต่อไป มือถือวัดความดันโลหิต วัดอัตราน้ำตาล/ไขมันในเลือดแนะนำเมนูอาหารที่ควรรับประทานในแต่ละวันโดยอ้างอิงกับพื้นที่ใช้งาน
ว่าแต่ไม่มีค่ายไหนคิดจะทำตัวเปิดฝาขวดเครื่องดื่มหรือพวกกรรไกร
แบบพับได้มาด้วยหน่อยหรอครับ ไหนๆก็หยิบมือถือออกมาบ่อยๆแล้ว
ทำให้มันเป็นสุดยอดอุปกรณ์ติดมือไปเลย
คนขี้ลืม | คนบ้าเกม | คนเหงาๆ
เรื่องกล้องไม่รู้ว่าแยกวัดแสงได้รึเปล่า ใช้โน๊ต3 อยู่ ดันวัดแสงได้เฉพาะจุดกลางอย่างเดียวเซ็งเลย พอไปใช้แอพอื่นก็ล้อกค่าวัดแสงไม่ได้อีก เฮ้อ ทำไมเรื่องแค่นี้ดันทำไม่ได้นะ
เจอปัญหานี้เหมือนกันเลยครับ ต้องปรับ -+ ตลอด กลายเป็นช้า - -"
ขออธิบายเพิ่มนะครับ เห็นคุยประเด็นนี้กันเยอะ
เรื่อง heart rate sensor ประเด็นที่ผมจะสื่อคือ การใส่มาในโทรศัพท์ตั้งแต่ต้น มีแอพฝังมาให้ มี ecosystem รายล้อมอย่างจริงจัง (ถึงขนาดมี wearable เปิดตัวพร้อมกัน 2 ชิ้นในงานเดียว) ทั้งหมดทำโดย first party เอง อันนี้ซัมซุงทำเป็นคนแรกแน่ๆ ครับ
ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ จะลงแอพของ third party แล้วทำได้หรือไม่อย่างไร อันนั้นเป็นเรื่องของ third party ครับ (ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้บริโภคอยู่แล้ว)
ดู 2 สีในรูปฝาหลังก็โอเคอยู่นะครับ แต่สีดำนี่ไม่ไหวจริงๆ
จุดตายอยู่ที่ CPU กับฝาหลังครับ CPU ไม่สุด ฝาหลังไร้ซึ่งนวัตกรรมมาก ทำเรียบ ๆ ซะยังจะดีกว่า
ชั่วโมงนี้ดูรวม ๆ S4 หรือ G2 ดีกว่านะ (ถ้าไม่นับ Note3)
CPU ไม่สุดยังไงครับ Snapdragon 801 2.5 GHz ก็เร็วสุดในโลก Android ตอนนี้แล้ว (ไม่นับของที่ยังไม่ออกนะ)
ไม่ยอมเป็น 64-bits, octa-core ล่ะมั้งครับ
อันนี้ผมขอถามเป็นความรู้นะครับภ้าเกิดสมมุติว่า รอชิปตัวใหม่ก่อนซักพักนี่จะมีผลกระทบมากมั้ยครับ
เปิดตัวก่อน ช่วงชิงตลาดได้ก่อน ชิงพื้นที่สื่อได้ เปิดตัวทีหลัง อาจกวาดยอดได้ไม่ตามเป้าครับ และถ้าไม่โดดเด่นมากพอก็จะโดนของเก่ากลบกระแสจนเงียบ และโดนเปรียบเทียบให้เสียหายทั้งที่ยังไม่ทันจะวางขายเสียด้วยซ้ำครับ
ขอบคุณครับ
สังเกตตรง Heart Rate Sensor ดูเหมือนว่ามันก็คือกล้องอีกตัวที่เอาไว้เช็กเรื่องชีพจรแค่นั้นนะ ดูยังไงก็ Same Same เหมือนเดิม
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ผมว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ "ผู้ผลิต" เริ่มทำอะไรก่อน "เจ้าของ" แอนดรอยด์นะครับ
ปรกติฟีเจอร์แตกต่างไปบ้าง ก็มาจากฮาร์ดแวร์เดิมๆ หรือแตกต่างนิดหน่อย (เช่นเซนเซอรร์ตรวจรอยนิ้วมือของ Motoฯ) แต่ตอนนี้เหมือนผู้ผลิตเริ่มอยากกำหนดทิศทางแอนดรอยด์เองกันบ้างแล้ว (หรือไม่ก็ออกมาก่อน แล้วดูผลตอบรับของตลาด แต่ไม่ใช่รอแนวคิดแต่จากฝั่งกูเกิล) เริ่มใส่ฮาร์ดแวร์ที่ยังไม่รู้ว่าอนาคตกูเกิลจะออก SDK ซัพพอร์ตหรือเปล่า หรือไม่ก็ต้องทำมาเองเลย ถ้ามาทางนี้ได้แล้วติดตลาด กลายเป็นว่าผู้ผลิตอาจนำกูเกิล แล้วเกมส์อาจจะเปลี่ยนได้เหมือนกันนะครับ ;)
my blog
ผมสงสัยว่าเซ็นเซอร์ชีพจรนี่มันสำคัญยังไง(หมายถึงที่อยู่บนมือถือนะครับ ที่สายรัดหรือนาฬิกาผมว่าสะดวก)คือเอื้้อมมือไปจับนี่ง่ายกว่าเยอะ แม่นกว่าด้วย
การใช้เครื่องมือวัด ไม่จำเป็นต้องรอถึงนาทีค่อยได้ผลลัพท์ออกมาครับ สามารถบอก bpm ตามช่วงเวลา(เช่นทุกๆ 5 วินาที) และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบอื่นๆได้ เช่น ตอนนี้ bpm ของผู้ป่วยบางประเภท(เช่นความดัน/หัวใจ) มากเกินไป หรือใช้ในการออกกำลังกายว่าควรจะออกกำลังกายให้มี bpm เท่านี้แล้วหยุดพักก่อนเป็นต้น
แม่นกว่าด้วย - แม่นกว่ายังไงครับ?
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
heart rate sensor น่าสนใจดีครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพราะผมเห็นมี Application บนโทรศัพท์ทำนองนี้เยอะ ซึ่งดูเหมือนจะมีงานวิจัยรองรับความถูกต้องอยู่ด้วย
เท่าที่อ่านดูยังไม่คุ้มกับการเปลี่ยนเครื่อง ยกเว้นมีรุ่นเก่าห่างไปสองถึงสามเจน
ไอโฟน 4S กำลังเก่าคร่ำ กำลังเล็งว่าจะรอ 6 หรือข้ามไป note3 หรือ S5 ผมไม่ใช่แนวสุขภาพสักเท่าไร ไอ้ของพวกนี้ไม่ได้อยู่ในปัจจัยในการซื้อของผมล่ะ
แอบผิดหวังนิดๆ T T
S5 ผมว่าการออกแบบยังไม่ได้ดูใหม่ขึ้นเท่าใดนัก แต่ในด้านเทคโนโลยีก็เหมือนพี่เขาจะจัดเต็มให้จริง ๆ