ข่าว แอปเปิลเปิดตัว CarPlay เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สร้างกระแสความสนใจต่อเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ smart device เข้ากับแผงคอนโซลในรถยนต์ (ที่มักเรียกกันว่า IVI หรือ in-vehicle infotainment) อยู่พอสมควร
ฝั่งคู่แข่งอย่าง Android เองก็เพิ่งประกาศข่าวไปเมื่อต้นปีว่าจะตั้งกลุ่ม Open Automotive Alliance (OAA) แต่ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากนี้เราก็ยังเคยเห็นข่าวผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันอย่าง Ford SYNC ที่ใช้เทคโนโลยีค่ายไมโครซอฟท์
แต่จริงๆ แล้ว ในตลาดมีมาตรฐานสำหรับเชื่อมต่ออุปกรณ์ในรถยนต์ออกมาสักระยะแล้ว มีสินค้าวางขายจริงมา 1-2 ปีแล้วในชื่อทางการค้าว่า MirrorLink
บทความนี้จะแนะนำข้อมูลของ MirrorLink เพื่อให้เห็นภาพรวมของการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีการเชื่อมต่อในรถยนต์ครับ
ประวัติ MirrorLink
MirrorLink ไม่ใช่ของใหม่ มันถือกำเนิดขึ้นในห้องวิจัย Nokia Research Labs ในฐานะโพรโทคอลการแสดงผลข้อมูลแบบไร้สาย พื้นฐานเทคโนโลยีของมันมาจากลินุกซ์ (X11 mirroring) และช่วงแรกใช้อุปกรณ์ smart device ยุคแรกๆ อย่าง Nokia N800 เป็นฮาร์ดแวร์ทดสอบ
กลุ่มบริษัทรถยนต์ Consumer Electronics for Automotive (CE4A) มาเห็นเข้าก็ชอบใจ เลยร่วมมือกับโนเกียนำมันมาพัฒนาใช้กับรถยนต์ โดยใช้ชื่อว่า Terminal Mode และโชว์รถยนต์ต้นแบบที่มี Terminal Mode คันแรกในปี 2010
ในปี 2011 กลุ่ม CE4A เปลี่ยนชื่อมาเป็น Car Connectivity Consortium(CCC) และผลิตภัณฑ์ Terminal Mode ก็เปลี่ยนชื่อมาเป็น MirrorLink ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
รายละเอียดทางเทคนิค
MirrorLink พยายามใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐานเปิด เช่น USB, Bluetooth, Wi-Fi สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับรถยนต์ ส่วนการติดต่อสื่อสารใช้พื้นฐานจากโพรโตคอลดังนี้
- การควบคุม ใช้ UPnP (Universal Plug and Play)
- ภาพ ใช้ Virtual Network Computing (VNC) จำลองจอโทรศัพท์ไปขึ้นบนจอของรถยนต์ (ใช้มาตรฐานบางส่วนของ RealVNC)
- เสียง ใช้ Real-Time Protocol (RTP) สตรีมเสียงไปออกลำโพงรถยนต์
- วิดีโอ ตอนนี้ยังไม่รองรับการแสดงผลแบบวิดีโอ กลุ่ม CCC คาดว่าจะรองรับในอนาคตแต่ก็เตือนว่าการแสดงผลวิดีโออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่
คลิปตัวอย่างการทำงานของ MirrorLink
ใครสนับสนุน MirrorLink บ้าง
สมาชิกระดับบอร์ดบริหารของกลุ่ม CCC มีอยู่ 14 บริษัท แยกกลุ่มได้ดังนี้
บริษัทรถยนต์
- GM
- Honda
- Hyundai
- KIA Motors
- Mercedes-Benz
- Peugeot Citroen
- Toyota
- VW
บริษัทไอที-อิเล็กทรอนิกส์
- Alphine
- HTC
- LG
- Nokia
- Panasonic
- Samsung
นอกจากนี้ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกระดับทั่วไปอีกมาก ยกมาเฉพาะที่ดังๆ นะครับ ( รายชื่อทั้งหมด )
บริษัทรถยนต์
- BMW
- Fiat
- Mazda
- Mitsubishi
- Renault
บริษัทไอที-อิเล็กทรอนิกส์
- Clarion
- Fujitsu
- Harman
- JVC Kenwood
- Pioneer
- QNX
- Qualcomm
- Sony
สินค้า MirrorLink ในท้องตลาด
ปัจจุบันมีสินค้าที่รองรับมาตรฐาน MirrorLink ในท้องตลาดอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง
ฝั่งของสมาร์ทโฟน บริษัทที่รองรับ MirrorLink มากที่สุดคือโซนี่ โดยมือถือตระกูล Xperia หลายตัวรองรับมาตรฐานนี้ (ไปเช็ครายชื่อกันเองนะครับ) ส่วนมือถือค่ายอื่นก็มีพานาโซนิค และโนเกียสาย Symbian (ซัมซุงมีแค่ Galaxy S III GT-I9300 ตัวเดียว)
แต่ฝั่งของระบบความบันเทิงภายในรถยนต์กลับรองรับ MirrorLink กันอย่างกว้างขวาง มีสินค้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ๆ อย่าง Alpine, JVC, Pioneer, Sony วางขายกันพอสมควร ลองดูตัวอย่างอุปกรณ์จากค่าย Alpine ตามวิดีโอครับ
ล่าสุด Peugeot เพิ่งเปิดตัวรถยนต์จาก Peugeot 108 ที่มีระบบ MirrorLink ( CNET ) และทางกลุ่ม CCC ก็ให้ข่าวไว้ว่าจะมีรถยนต์ของ Toyota กับ VW ที่ใช้ MirrorLink ออกสู่ตลาดอีกเช่นกัน ( CNET )
อนาคตของ MirrorLink
จุดเด่นของ MirrorLink คือการเป็นมาตรฐานกลางที่ไม่อิงกับเทคโนโลยีของค่ายใดค่ายหนึ่ง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือบริษัทรถยนต์หรือเครื่องเสียงใดๆ สามารถเข้าร่วมผลิตสินค้าที่รองรับ MirrorLink ได้ แต่ข้อเสียคือผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ทั้งแอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ อาจไม่สนใจใช้เทคโนโลยีอันนี้ และเลือกที่จะกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์หรือเครื่องเสียงเลือกใช้เทคโนโลยีของตัวเองแทน
ในระยะสั้น ผู้ผลิตรถยนต์หรือเครื่องเสียงคงจะใช้วิธี "แทงกั๊ก" คือรองรับทุกมาตรฐานที่มีนั่นแหละ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ
- Pioneerสินค้าตระกูล AppRadio รองรับทั้ง MirrorLink, iOS (Siri Eyes Free), Android ( อ้างอิง )
- Ferrariจะมีทั้ง CarPlay และ MirrorLink ( ข่าวเก่า )
- Mercedez-Benzจะมีทั้ง CarPlay และร่วมงานกับกูเกิลทำ Projected Mode ( ข่าวเก่า )
ผมคิดว่าตอนนี้เรื่อง IVI ยังใหม่มาก (แถมเรายังไม่ได้เปลี่ยนรถกันบ่อยๆ หรือแม้แต่ระบบคอนโซลหน้ารถก็ตาม) เราคงเห็นผู้ผลิตเทคโนโลยีแต่ละค่ายสร้างฐานลูกค้าตัวเองไปเรื่อยๆ อีกสัก 2-3 ปี ก่อนจะเริ่มเห็นแนวโน้มตลาดว่าใครเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ครับ
Comments
ที่มักเรียนกันว่า => ที่มักเรียกกันว่า
อาจมี QNX ด้วย เหอะๆ