Blognone มีบทสัมภาษณ์บริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่ทำโซลูชันด้าน enterprise อยู่เรื่อยๆ รอบนี้เราจะพาไปรู้จักกับ NetApp บริษัทด้านสตอเรจชื่อดัง ซึ่งคนที่อยู่ในวงการก็จะคุ้นเคยอยู่แล้ว ส่วนคนที่ไม่รู้จักก็อาจบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย
เราจึงไปคุยกับ คุณวีระ อารีรัตนศักดิ์ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เน็ตแอพ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะมาแนะนำข้อมูลองค์กรว่า NetApp คือใคร ทำธุรกิจอะไร และในโลกของสตอเรจมีประเด็นอะไรที่ควรจับตาบ้าง
ถาม: อยากให้แนะนำบริษัท NetApp สักหน่อยว่าเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรมาบ้าง
NetApp เป็นบริษัทไอทีขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1992 ปัจจุบันมีอายุมากกว่า 20 ปีแล้ว
หลายคนอาจรู้จัก NetApp ในฐานะผู้ขายอุปกรณ์สตอเรจ แต่ในภาพรวมแล้วสิ่งที่ NetApp ทำคือ “ระบบบริหารจัดการข้อมูล” (data management) ซึ่งสตอเรจก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในโซลูชันนี้
เดิมทีโลกของสตอเรจนั้นต่อยอดมาจากเทคโนโลยีในสมัยเมนเฟรม แต่ NetApp เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นโดยไม่มีรากฐานของเมนเฟรมมาก่อน แนวคิดจึงแตกต่างออกไปจากบริษัทสตอเรจที่มีระบบเมนเฟรมของตัวเองด้วยแนวคิดหลักของสตอเรจในยุคเมนเฟรมมองเรื่องความเชื่อถือได้ (reliability) เป็นหลัก คือต้องการันตีว่าต่อให้ระบบหยุดทำงาน ข้อมูลที่เก็บอยู่ในสตอเรจต้องห้ามสูญหาย
แต่ NetApp มองไปไกลกว่านั้น คำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพ (efficiency) และความสามารถในการขยาย (scalability) ด้วย สถาปัตยกรรมหลักด้านการเก็บข้อมูลของ NetApp มีชื่อเรียกว่า WAFL (Write Anywhere File Layout อ่านว่า วัฟเฟิล) จึงถูกออกแบบโดยนึกถึงปัจจัยเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น และการที่บริษัทไม่ต้องผูกตัวเองเข้ากับเมนเฟรม ทำให้เทคโนโลยีเปิดกว้างกับเซิร์ฟเวอร์ของทุกค่าย
ถาม: เมื่อพูดถึงคำว่า “สตอเรจ” คนทั่วไปอาจเคยได้ยินคำว่า NAS กับ SAN มันต่างกันอย่างไร
โลกของสตอเรจเดิมทีแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล คือ
- NAS (Network Attached Storage)หมายถึงอุปกรณ์สตอเรจเดี่ยวๆ (single storage device) ที่ต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่าย และให้บริการด้านการเก็บข้อมูลแก่เซิร์ฟเวอร์หรือคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นผ่านโพรโตคอล TCP/IP ทั่วไป
- SAN (Storage Area Network)หมายถึงอุปกรณ์สตอเรจหลายๆ ตัวที่เอามาต่อกันเพื่อสร้างพื้นที่เก็บข้อมูลความจุสูงขึ้น รูปแบบของ SAN จะเก็บข้อมูลในระดับบล็อคเท่านั้น และให้ไคลเอนต์ที่มาใช้งานเป็นฝ่ายกำหนดว่าจะจัดเรียงบล็อคมาเป็นไฟล์อย่างไร โพรโตคอลที่นิยมใช้ใน SAN ได้แก่ Fibre Channel หรือ iSCSI
ไอทีองค์กรต้องเลือกว่าจะเก็บข้อมูลแบบไหนระหว่าง SAN กับ NAS ซึ่งในสมัยก่อนเลือกแล้วต้องเลือกเลย เพราะการถ่ายข้อมูลกันระหว่างระบบที่แตกต่างกันอย่างนี้เป็นเรื่องยากและสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ทาง NetApp เองเป็นบริษัทแรกๆ ที่พูดเรื่อง Unified Storage ที่รองรับการเก็บข้อมูลทุกแบบ โพรโทคอลทุกชนิด ผู้ใช้งานไม่ต้องสนใจเลยว่ากระบวนการเก็บข้อมูลข้างใต้มันเป็น SAN หรือ NAS
ตอนนี้คู่แข่งรายอื่นๆ ก็ตามมาพูดเรื่อง Unified Storage กันบ้างแล้ว ตลาดก็เริ่มให้ความสนใจ แต่ของเรานั้นพูดเรื่องนี้มา 8 ปีแล้ว
ถาม: นอกจากประเด็นเรื่อง NAS/SAN แล้ว วงการสตอเรจมีประเด็นอะไรที่ควรต้องสนใจบ้าง
หลังจากแก้ปัญหาว่าจะเก็บข้อมูลที่ไหน (Unified Storage) บริษัทก็ชูประเด็นเรื่อง efficiency หรือทำอย่างไรจะให้เก็บข้อมูลอย่างคุ้มค่าพื้นที่มากขึ้น ในแวดวงสตอเรจมีคำว่า usable capacity หรือพื้นที่สำหรับการใช้งานเก็บข้อมูลจริงๆ ซึ่งจะน้อยกว่าความจุตามสเปกหรือ physical capacity เพราะต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ถือว่าเสีย overhead ไปบางส่วน
NetApp มีคำว่า effective usable capacity ช่วยให้องค์กรใช้พื้นที่สตอเรจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น องค์กรส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมในการเก็บข้อมูลชุดเดียวกันซ้ำๆ เช่น ไฟล์ที่แนบในอีเมลแล้วส่งกันไปมาในองค์กร ถ้ามีคนรับไฟล์ 10 คน เวลาแบ็คอัพก็ต้องเก็บไฟล์เดียวกันนี้ 10 ชุด เปลืองพื้นที่เปล่าๆ ในวงการจึงมีเทคนิคเรื่อง deduplication เข้ามาเมื่อสัก 10 ปีก่อน ช่วยให้เก็บข้อมูลได้ชุดเดียวก็พอ ไม่ต้องเก็บซ้ำซ้อน การทำ deduplication ด้วยเทคโนโลยีของ NetApp สามารถ ช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากถึง 80% ในการใช้งานบางประเภท เช่น virtualization
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการใช้พื้นที่เก็บข้อมูลไม่คุ้มค่า ถ้าวัดอัตราการใช้ข้อมูลต่อพื้นที่ (utilization) โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 40% ซึ่งเกิดจากข้อจำกัดในการแบ่งพื้นที่ให้ในตอนแรกสุด (provisioning) เช่น ฝ่ายนี้ขอพื้นที่มา 10GB เราก็จำเป็นต้องแบ่งให้ 10GB แต่คนที่เอาไปใช้อาจใช้งานไม่ถึง ซึ่งในมุมของระบบก็ต้องกันพื้นที่ 10GB รอเอาไว้ตลอด เราจึงมีฟีเจอร์พวก thin provision หรือ provision on demand มาช่วยให้แบ่งพื้นที่ตามที่ใช้จริง จึงไม่ต้องเสียพื้นที่ว่างไปเปล่าๆ
ถาม: NetApp ทำแต่เรื่องสตอเรจเพียงอย่างเดียว คิดจะขยายไปทำผลิตภัณฑ์ไอทีด้านอื่นๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์หรือซอฟต์แวร์ด้วยหรือไม่
นโยบายของ NetApp ชัดเจนว่าจะทำแต่เรื่อง data management เท่านั้น ไม่ต้องการไปแย่งตลาดของพาร์ทเนอร์ที่ทำระดับแอพพลิเคชัน ดังนั้น NetApp จึงใช้วิธีจับมือกับพาร์ทเนอร์แทน เช่น Cisco ทำเซิร์ฟเวอร์สาย UCS (Unified Computing System) เราก็ออกสตอเรจหรือเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานกับ UCS ได้ดีขึ้น
เป้าหมายของ NetApp คือต้องการทำสตอเรจให้ใช้งานกับเซิร์ฟเวอร์หรือแอพพลิเคชันของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด ดังนั้นเราจึงจับมือกับแอพพลิเคชันดังๆ ที่โลกองค์กรใช้กันเยอะๆ เช่น ไมโครซอฟท์หรือ SAP ในส่วนของ application integration กับตัวสตอเรจ เช่น แทนที่แอพพลิเคชันของไมโครซอฟท์อย่าง Exchange หรือ SharePoint จะสั่งเซิร์ฟเวอร์ให้เก็บข้อมูลลงสตอเรจ ก็กลายเป็นว่า NetApp มีโมดูลที่ไปเชื่อมต่อเข้ากับ Exchange แล้วสามารถเขียนข้อมูลลงสตอเรจได้เลย ไม่ต้องผ่านคอขวดที่เซิร์ฟเวอร์
นอกจากนี้เราก็ทำในส่วนของซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือบริหารจัดการ หรือคอยตรวจสอบและปรับปรุงประสิทธิภาพ (monitoring and tuning) ว่าระบบมีปัญหาที่จุดไหน มีคอขวดที่จุดไหน ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถใช้กับสตอเรจยี่ห้ออื่นๆ ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็น NetApp อย่างเดียว แต่เราไม่สนใจการทำซอฟต์แวร์ในระดับแอพพลิเคชัน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลแบบพวก Business Intelligence ให้ตรงนั้นเป็นงานของพาร์ทเนอร์ดีกว่า
ถาม: ทิศทางของตลาดสตอเรจในอนาคต มีเทคโนโลยีไหนที่น่าสนใจบ้าง
ผลิตภัณฑ์สตอเรจของ NetApp มีระบบปฏิบัติการของตัวเองชื่อ Data ONTAP ซึ่งถือเป็น storage OS ที่มีคนใช้เยอะที่สุดในโลก ปัจจุบันอยู่ที่เวอร์ชัน 8.2 แล้ว ผลิตภัณฑ์ทุกตัวของเราไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ใช้ OS ตัวนี้เหมือนกันหมด จึงบริหารจัดการง่ายกว่าสินค้าของคู่แข่งบางรายที่แยก OS ตามผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้เรายังได้นำเสนอทางเลือกในการ scalability สูงๆ จำเป็นต้องใช้แนวทางการเพิ่มเครื่อง (scale out) ซึ่งเราเพิ่งออก Clustered Data ONTAP สำหรับงานลักษณะนี้
นอกจากนี้เรายังพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ FlexArray ด้าน storage virtualization ตามแนวทางของโลกไอทีในปัจจุบันที่เน้น Software-Defined Everything สามารถใช้งานได้กับสตอเรจทุกค่าย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสตอเรจข้ามค่ายทำงานด้วยกันไม่ได้
ฝั่งของฮาร์ดแวร์ เดิมทีสตอเรจใช้ฮาร์ดดิสก์เป็นอุปกรณ์หลัก แต่ตอนนี้ flash storage กำลังมาแรงมาก งานบางอย่างต้องการความรวดเร็วมากกว่าความจุ เช่น องค์กรที่ใช้ virtual desktop infrastructure (VDI) ที่ตอนเช้าคนมาทำงาน แย่งกันบูตเครื่อง มันช้าไม่ทันใจ หรือช่วงที่ต้องการสร้าง report มากๆ อย่างช่วงปลายไตรมาส ตรงนี้เอา flash มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ เรามีทั้ง flash module ที่ช่วยเร่งประสิทธิภาพเฉพาะจุด หรือจะใช้เป็น pure flash ทั้งหมดเลยก็ได้ โจทย์ของ NetApp คือให้ประสิทธิภาพเหมาะสมในราคาที่รับได้
วิดีโอแนะนำ Clustered Data ONTAP
ถาม: เรื่องเทคโนโลยี Big Data มีแนวโน้มอย่างไรบ้าง
NetApp ช่วยในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับนำไปใช้ด้าน Big Data แต่สุดท้ายแล้วองค์กรเองก็ต้องมีโจทย์ว่าเก็บข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่ออะไร
ในระดับโครงสร้าง ทุกคนมีแพลตฟอร์มเหมือนกันหมด เก็บลง Hadoop เป็นมาตรฐาน แต่คำถามคือเก็บแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อ ซึ่งต้องมีการกำหนด data model ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ความยากอยู่ตรงนี้ เรายังไม่เคยเห็นองค์กรที่นำข้อมูลแบบ unstructured data มาใช้งานให้เห็นกันจริงๆ เท่าไร ก่อนหน้านี้เราเคยพูดกันเรื่อง data warehouse แต่นั่นก็เป็นการเก็บข้อมูลแบบ structured data เพียงอย่างเดียว
ถาม: ปัจจุบันตลาดคลาวด์เริ่มมาแรง ลูกค้าองค์กรอาจไม่ซื้อฮาร์ดแวร์สตอเรจโดยตรง แต่ไปเช่าใช้บริการจากคลาวด์แทน ตรงนี้ NetApp มองอย่างไร
ผู้ขายสตอเรจแต่ละรายตอบสนองกระแสนี้ต่างกัน บางรายอาจผันตัวไปเป็นผู้ให้บริการคลาวด์โดยตรง แต่ NetApp จะไม่ไปในทิศทางนั้น เราจะไม่ให้บริการคลาวด์เอง แต่จะทำตัวเป็น cloud enablement ช่วยสนับสนุนผู้ให้บริการคลาวด์อีกทีหนึ่ง
NetApp ตั้งสายงานธุรกิจใหม่ชื่อ Cloud Service Provider Partner เพื่อ สนับสนุนผู้ให้บริการคลาวด์โดยเฉพาะ วิธีการขายก็ต้องเปลี่ยนจากการขายสตอเรจเพื่อใช้ในองค์กร (on premise) มาเป็นการขายเพื่อคลาวด์
ถาม: ตลาดเมืองไทยมีการตอบสนองต่อคลาวด์มากน้อยแค่ไหน
คลาวด์มีหลายแบบ ที่พูดกันเยอะๆ คือ public cloud และ private cloud ที่ใช้กันในองค์กรทั่วไป แต่ปัจจุบันเริ่มมีคลาวด์แบบใหม่ๆ ที่เป็นการหลอมรวมทั้งสองระบบเข้าด้วยกัน
ในยุคของคลาวด์ คนจะสนใจประเด็นว่าจะประมวลผล (compute) ที่ไหนน้อยลง เพราะพลังประมวลผลที่ไหนก็เหมือนกัน แต่จะสนใจว่าข้อมูล (data) ถูกเก็บอยู่ที่ไหนมากขึ้น เพราะข้อมูลกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งแทน ลูกค้าองค์กรจำเป็นต้องรู้ว่าข้อมูลของตัวเองถูกเก็บอยู่ที่ไหนบนคลาวด์ จึงส่งผลให้เกิดแนวคิดอย่าง “cloud on premise” โดยผู้ให้บริการคลาวด์จะยกระบบของตัวเองทั้งหมดมาตั้งที่ศูนย์ข้อมูลของลูกค้า บริหารจัดการให้หมดแต่เครื่องอยู่ในพื้นที่ของลูกค้า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ลูกค้าบางรายอาจซื้อ EC2 มาประมวลผล แต่เก็บข้อมูลไว้บนสตอเรจของตัวเอง
องค์กรหลายแห่งเริ่มใช้คลาวด์แบบผสมผสานกันมากขึ้น ในเมืองไทย private cloud เกิดก่อนเพราะเป็นการต่อยอดจากระบบเซิร์ฟเวอร์ภายในองค์กรเดิม แต่ก็อาจแยกระดับของแอพพลิเคชันได้ เช่น ธนาคารอาจรันแอพหลัก (core banking) บนคลาวด์ภายใน แต่รันระบบอีเมลองค์กรบนคลาวด์ภายนอก เพราะไม่ได้มีผลกระทบกับธุรกิจมากเท่ากับแอพหลัก
องค์กรต่างประเทศตื่นตัวเรื่องตำแหน่งของการเก็บข้อมูลกันมาก แต่เมืองไทยยังไม่ชัดเจนเรื่องกฎระเบียบว่ามีกำหนดไว้มากน้อยแค่ไหน
ถาม: อยากทราบมุมมองต่อทิศทางของตลาดไอทีองค์กรในภาพรวม
เทรนด์ใหญ่ๆ มี 3 เรื่องครับ เรื่องคลาวด์พูดไปแล้ว อีกเรื่องคือ BYOD ที่ช่วงหลังเปลี่ยนคำเรียกเป็น enterprise mobility แทน ไม่สนใจแล้วว่าอุปกรณ์พกพาเป็นของใคร ของพนักงานหรือของบริษัท แต่ต้องบริหารจัดการให้ได้
เรื่องสุดท้ายคือแนวคิดเรื่อง converged infrastructure เดิมทีการซื้อโซลูชันไอทีในองค์กร มักซื้อจากผู้ขายรายเดียวกันเพราะ “เชื่อว่า” สินค้าของค่ายเดียวกันมักจะทำงานร่วมกันได้ดี แนวคิดแบบนี้มีข้อเสียคือเราอาจสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เพราะการที่เป็นสินค้าจากผู้ให้บริการรายเดียวไม่ได้หมายความว่า จะสามารถ Integrate กันได้อย่างดีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ช่วงหลังมีแนวทางที่เรียกว่า best of the breed หรือการคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละสายมาใช้งานร่วมกัน เช่น เซิร์ฟเวอร์จากบริษัทนี้ สตอเรจจากอีกบริษัทหนึ่ง เน็ตเวิร์คจากบริษัทที่สาม ซึ่ง NetApp ก็พยายามตอบโจทย์ตรงนี้โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์บางราย เช่น Cisco ตามที่เล่าไปแล้ว
ถาม: Blognone มีนักศึกษาด้านไอทีอ่านเป็นจำนวนมาก อยากทราบว่าถ้าสนใจทำงานในสายสตอเรจ ควรมีทักษะอะไรติดตัวบ้างจึงจะเป็นที่ต้องการของตลาด
แน่นอนว่าทฤษฎีด้านคอมพิวเตอร์พื้นฐานต้องแน่นก่อน ถ้าพื้นไม่แน่นจะไปทำงานอะไรก็คงไม่เวิร์คอยู่ดีส่วนทักษะการทำงานในสายสตอเรจมีการสอนน้อย เพราะอาจดูเป็นทักษะเฉพาะ และคนไม่ค่อยสนใจเท่ากับทักษะทางโปรแกรมมิ่งหรือเครือข่าย ซึ่งบริษัทไอทีเองก็ควรเข้าไปสร้างความเข้าใจให้กับสถาบันการศึกษาให้มากขึ้นกว่านี้ด้วย ส่วนคนที่จะทำสตอเรจได้ดีต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของศูนย์ข้อมูล (data center) ในภาพรวมว่ามันเป็นอย่างไร ดังนั้นคนที่อยากมาทำงานสายสตอเรจควรหาประสบการณ์ด้านนี้ถ้ามีโอกาส
สุดท้ายคือปัญหาที่พบได้ทั่วไปว่าเด็กจบใหม่ยังขาดวุฒิภาวะ (maturity) ในการทำงาน ต้องมีความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา อันนี้ไม่น่าจะต่างอะไรจากตลาดอื่น
Comments
โพรโทคอล => โพรโตคอล
Protocol โปรโตคอล (สำเนียงไทยอ่านและเขียน) (โพรโตคอล สำเนียง ฝรั่งอ่าน หรือ สำเนียงจาก Google แปล)
ราชบัณทิตยสถาน : Pro-โปร-to-โต-col-คอล
Ph = พ
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นระบบ NAS,SAN ที่เป็นแบบ RAID ใด ๆ ก็ตาม ส่วนหนึ่งที่มีคนรู้จักน้อยในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล
เช่น
1. ปัจจุบันฮาร์ดดิสก์ลูกเดียว มีความจุอย่างน้อย ก็ 500 GB เข้าไปแล้ว
2. เมื่อมีระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ SSD เข้ามาแก้ไขปัญหาการทำงานของระบบจานหมุน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ระ RAID ถูกมองข้ามไป
3. เงินทุน จริงอยู่ ฮาร์ดดิสก์ธรรมดาโดยทั่วไปไม่นิยมนำเอาไปทำระบบ NAS หรือ SAN ด้วยเหตุผลด้านความคงทนและความน่าเชื่อถือสูง ฉะนั้นราคาต่อลูกจึงไม่ใช้ แค่สองสามพัน แต่เริ่มต้นที่ 4,5 พันขึ้นไป พูดง่ายก็คือ ฮาร์ดดิสก์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำงาน ตลอด 24*7 นั่นเอง
4. เมื่อมีบริษัทขายอุปกรณ์เหล่านี้แบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้วผู้ใช้เพียงซื้อ ก็สามารถเอาไปใช้ได้เลย แต่ราคา ก็น่าจะหลักแสน ขึ้นไป (สรุปใช้ได้ดีเหมือนฮาร์ดดิสก์ทั่วไป ในแง่ของความคิด)(ในแง่ของการใช้งานแล้ว ถ้ามี PC สักร้อยเครื่องดึงข้อมูลจากเจ้าระบบ NAS หรือ SAN พร้อม ๆ กันแล้ว ฮาร์ดดิสก์แบบบ้าน ๆ ทั่วไปคงไม่เสถียร อาจจะล่มได้นั่นเอง แต่สามารถใช้ทดสอบได้ ใช้จริงไม่ผ่าน เหมือนระบบ Diskless ที่นิยมกันในปัจจุบันตามร้านเกมส์เป็นต้น
5. เพราะระบบ ฮาร์ดดิสก์แบบนี้ ต้องใช้คอมเตอร์อีกแผนกหนึ่งควบคุมการทำงาน ทำให้มีต้นทุนเข้าไปอีก
6. เพราะระบบ เหล่านี้ ต้องการความมีสเถรภาพสูงดังนั้น จึงมีปัจจัยเกี่ยวกับ สถานที่จัดเก็บจัดวาง (เช่น ต้องมีเครื่องสำรองไฟที่ราคาแพง(ทำเองก็ไม่น่าจะแพงน่ะ) พัดลมที่ใช้ระบายความร้อน ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮาร์ดดิสก์ อุณหภูมิ)
7. อื่นๆ จำไม่ได้ น่าจะมากกว่านี้ ลองหาอ่านเอาเอง
ในปัจจุบัน เป็นเพราะขนาดของฮาร์ดดิสก์นั้นเท่าเดิม แต่มีความจุเพิ่มขึ้น 4000 GB ต่อ หนึ่งลูก ทำให้ปัญหาข้างต้นนั้น อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขแล้ว แต่ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ยังแก้ไขไม่จบคือ เงิน (งบประมาณในการจัดซื้อ)
แล้วระบบที่ว่ามีความสำคัญระดับไหน ตอบ องกร บริษัท เป็นต้น แล้ว บ้าน ๆ อย่างเราท่าน จะมีเวลาที่ไหนไปสนใจใคร่ศึกษาเพราะไม่ได้ใช้โดยตรง การที่บทความข้างต้นระบบุว่า มีคนรู้จักน้อย ก็ถูกในส่วนนี้
พื้นฐานองค์ความรู้ข้างต้นนั้น เกิดจากการศึกษาระบบฮาร์ดดิสก์ที่นำไปใช้งานกับ Supercomputer หรือ ระบบ Cluster นั่นเอง อนึ่ง ขาดอย่างเดียวที่ทำให้ผมทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำเพราะขาดเงินทุนนั่นเองครับ ขอสัก 10 ล้านบาทก่อน เพื่อวิจัยต่อยอดความรู้ (คงไม่ต้องวิจัยหลอกครับ ซื้อแบบสำเร็จรูปเลยก็ใช้ได้เนาะ แล้วต่อระบบเอง ตั้งสิบล้าน กลายเป็น Home Data Center ย่อมๆ เลยทีเดียว (อันนี้คิดเองเออเองครับ ใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงไม่ได้โดยประการทั้งปวง)(ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า คนไทยไม่ศึกษาค้นคว้า แต่เพราะมีเงินน้อยจึงได้แต่ศึกษาอย่างเดียว)
--Note
Hard Disk ที่นิยมนำไปทำระบบจัดเก็บข้อมูล เท่าที่ทราบ น่าจะเป็น Hitachi น่ะครับ ทดอึดเสียน้อยที่สุด
ผิดพลาดประการใดต้องขออภัย ถือว่าเป็นการแสดงความเห็นอีกส่วนหนึ่ง หรือส่วนน้อย