Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา วงการเว็บโดยเฉพาะผู้ที่ทำเว็บแบบเข้ารหัส HTTPS ทั้งหลายอาจจะได้อ่านข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่ง คือ Chrome กำลังจะประกาศว่า ใบรับรองดิจิตอลที่ยืนยันความถูกต้องด้วย SHA-1 จะถือว่าไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ความโหดร้ายของกูเกิลคือทางกูเกิลประกาศมาโดยให้เวลาเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะเริ่มบังคับใช้กฎใหม่นี้ ดังนั้นภายในสิ้นเดือนนี้เราอาจจะพบว่าเว็บที่เข้ารหัสได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแบ่งปัน "ผู้ดูแลระบบ" ทุกท่านที่ต้องดูแลเว็บที่เข้ารหัสอยู่ ว่าทำไมท่านนั่งอยู่ดีๆ ถึงได้งานเข้า (เหมือนทีมงาน Blognone ที่นั่งแก้ใบรับรองกันในวันนี้)

กระบวนการรับรอง SSL

ก่อนที่จะพูดถึงกระบวนการลดการใช้งาน SHA-1 ของกูเกิล เราจะมาพูดถึงกระบวนการที่เบราว์เซอร์จะ "เชื่อถือ" เว็บสักเว็บหนึ่งกันก่อน เว็บที่เข้ารหัส HTTPS นั้นมีข้อบังคับอย่างหนึ่งคือนอกจากการเชื่อมต่อระหว่างเบราว์เซอร์และเซิร์ฟเวอร์จะเข้ารหัสแล้ว เบราว์เซอร์ยังต้องตรวจสอบได้ว่าเซิร์ฟเวอร์ที่กำลังคุยด้วยอยู่นั้น เป็นเซิร์ฟเวอร์ของโดเมนนั้นๆ จริง

กระบวนการเข้าเว็บโดยทั่วไปไม่ได้รับรองว่าเรากำลังเข้าเว็บโดยตรง เช่น เพราะสิ่งที่เราดาวน์โหลดมาจำนวนมากอาจจะมาจากพรอกซี่ในองค์กรของเราเอง การยืนยันว่าเรากำลังเชื่อมต่อแบบเข้ารหัสกับเซิร์ฟเวอร์ที่ระบุนั้น เบราว์เซอร์ของเราจะเชื่อถือ องค์กรจำนวนหนึ่งเรียกว่า Certification Authority (CA) ให้ตรวจสอบและรับรองเซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ในโลกว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ เบราว์เซอร์บางตัวเลือกจะเชื่อตามที่ "ระบบปฎิบัติการ" เชื่อถือ เช่น Chrome ส่วนบางเบราว์เซอร์ก็มีรายชื่อองค์กรที่เชื่อถือของตัวเอง เช่น Firefox

alt=

เมื่อระบบปฎิบัติการหรือเบราว์เซอร์เชื่อถือองค์กรใดๆ ให้ไปรับรองเว็บอื่นๆ ได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการรับเอาใบรับรองขององค์กรนั้นๆ เข้ามาในระบบ อย่างตัวอย่างในภาพข้างบนเป็นหน้าจอของ Chrome OS ที่มีใบรับรองของบริษัท A-Trust อยู่ในระบบ ดังนั้นหากบริษัท A-Trust เชื่อถือใครก็ตาม Chrome จะถือว่าเว็บนั้นๆ ที่กำลังเชื่อมต่ออยู่น่าจะเป็นตัวจริง และแสดงรูปกุญแจสีเขียวๆ มาให้เราอุ่นใจ

ลายเซ็นดิจิตอล

ในใบรับรองดิจิตอลนั้น ข้อมูลที่เป็นหัวใจสำคัญได้แก่

  • ชื่อที่ต้องการรับรองสามารถเป็นได้หลายอย่าง เช่น อีเมล, โดเมน (ส่วนใหญ่ใช้อันนี้), และชื่อองค์กร (มักใช้กันในกรณีต้องการเซ็นเอกสารส่งราชการ)
  • วันที่เริ่มใช้และวันหมดอายุ
  • กุญแจสาธารณะทุกวันนี้เกือบทุกเว็บจะใช้กระบวนการเข้ารหัสแบบกุญแจอสมมาตร (asymmetric key)
  • ลายเซ็นขององค์กรที่มารับรองประเด็นของบทความนี้อยู่ตรงนี้ มันคือค่าแฮช (hash) ที่เข้ารหัสด้วยกุญแจลับขององค์กรผู้เข้า

alt=

กระบวนการขอใบรับรองนั้นเว็บที่ต้องการใบรับรองจะต้องไปหาองค์กรที่เบราว์เซอร์ส่วนใหญ่เชื่อถือ และขอให้องค์กรเหล่านั้นช่วยรับรองให้ กรณีของ Blognone คือ Comodo ในภาพตัวอย่างตัดข้อมูลบางส่วนออก ไม่ตรงกับความจริงนัก แต่กระบวนการโดยทั่วไปก็คงหลักการเดียวกัน คือ Comodo จะต้องพิสูจน์ว่าคนที่มาขอใบรับรองของ www.blognone.com นั้นเป็นเจ้าของโดเมนจริง ส่วนใหญ่แล้วกระบวนการตรวจสอบคือการส่งอีเมลไปหาเจ้าของโดเมน เช่น admin@[โดเมน] , root@[โดเมน] , หรือ administrator@[โดเมน] คล้ายกับการสมัคร Blognone เองที่ผู้ใช้จะได้รับอีเมลและต้องไปกดลิงก์ยืนยันหนึ่งครั้งก่อนเสมอ

alt=

เมื่อได้ใบรับรองแล้ว ผู้ดูแลระบบจะนำใบรับรองนี้ไปวางไว้ในเว็บเซิร์ฟเวอร์ กระบวนการเชื่อมต่อแบบเข้ารหัส จะเริ่มจากการที่เบราว์เซอร์ดาวน์โหลดใบรับรองและตรวจสอบความถูกต้อง โดยลองถอดรหัสลายเซ็นดิจิตอลด้วยกุญแจสาธารณะ เพื่อตรวจสอบค่าแฮชว่าตรงกับลายเซ็นที่ถอดรหัสแล้วหรือไม่

เนื่องจากข้อมูลที่ถอดรหัสจากกุญแจสาธารณะขององค์กรผู้รับรองได้จะต้องเข้ารหัสด้วยกุญแจลับขององค์กรซึ่งไม่มีใครล่วงรู้ ดังนั้นถ้าเบราว์เซอร์เชื่อองค์กรนั้นว่าตรวจสอบเว็บมาอย่างดี ก็สามารถเชื่อว่ากำลังเชื่อมต่อกับเว็บตัวจริงด้วยเช่นกัน

บางครั้งองค์กรที่เบราว์เซอร์เชื่อถือกลับทำผิดพลาด ถูกแฮก และออกใบรับรองให้กับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าของโดเมนก็มีมาแล้ว เช่น เหตุการณ์ DigiNotar

แฮชชน ปัญหาหลักของความปลอดภัย

ระบบการเชื่อมต่อ SSL นั้นไม่ได้ระบุไว้ตายตัวว่าการตรวจสอบความถูกต้องของใบรับรองจะต้องใช้กระบวนการอะไร แต่เปิดให้ผู้รับรองและผู้ถูกรับรองสามารถเลือกใช้กระบวนการกันเองได้ ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีกระบวนวิธีแฮชที่ได้รับความนิยมสูง คือ MD5 ที่ทำงานได้เร็ว ปรากฎว่านักวิทยาการรหัสลับพบว่า เราสามารถสร้างข้อมูลที่มีค่าแฮชตรงกับข้อมูลอีกชุดหนึ่งได้ไม่ยากนัก

alt=

การที่ค่าแฮชจากข้อมูลที่ไม่เหมือนกันแต่กลับมีค่าแฮชตรงกันนี้เรียกว่า hash collision เนื่องจากใบรับรองนั้นตรวจสอบจากค่าแฮช หากเราสามารถสร้างใบรับรองที่ต่างจากใบรับรองจริง มีกุญแจสาธารณะต่างกัน แต่ลายเซ็นกลับเหมือนกันทุกประการ เมื่อเบราว์เซอร์ตรวจสอบแล้วก็จะเชื่อว่าใบรับรองปลอมนั้นเป็นของจริง ภาพตัวอย่างสมมติว่าใบรับรองของ Blognone ถูกปลอม

ในโลกความเป็นจริง ใบรับรองที่ถูกปลอมสำเร็จเป็น ต้นกำเนิดของมัลแวร์ FLAME ทำให้เบราว์เซอร์ส่วนมากไม่ยอมรับใบรับรองที่ตรวจสอบความถูกต้องด้วย MD5 อีกต่อไป

alt=

ทุกวันนี้ใบรับรองทั่วโลกกว่า 90% ตรวจสอบความถูกต้องด้วย SHA-1 ตามรายงานของ Netcraft เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โดยปริมาณการใช้งาน SHA-2 ยังไม่ถึง 10%

SHA-1 ถูกออกแบบให้แข็งแกร่งมาตั้งแต่ปี 1995 แต่จากการตรวจสอบของนักวิทยาการรหัสลับก็พบว่ามันมีจุดอ่อนหลายอย่าง ทำให้ค่าแฮชที่ยาว 160 บิต มีความแข็งแกร่งเพียง 61 บิตเท่านั้น หมายความว่าแฮกเกอร์ลองสร้างข้อมูลไปประมาณ 2^61 ครั้งก็จะได้ข้อมูลชุดใหม่ที่มีค่าแฮช (และลายเซ็นดิจิตอล) ที่เหมือนเดิมทุกประการ สามารถทำไปหลอกคนอื่นได้ว่าเป็นใบรับรองจริง

ทุกวันนี้ยังไม่มีรายงานพบใบรับรองดิจิตอลที่ใช้ SHA-1 ปลอม แต่ Bruce Schneier เคย ประมาณค่าใช้จ่าย ในปี 2012 ระบุว่าการสร้างใบรับรองปลอม อาจจะใช้เงินประมาณ 2.77 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 หรือต่ำกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ความเสียหายหากแฮกเกอร์สามารถปลอมใบรับรองเหล่านี้ได้กับเว็บเช่นเว็บธนาคารได้ จะสูงกว่า 100 ล้านบาทหลายเท่าตัว ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายนี้จะถูกลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ประมาณค่าใช้จ่ายแล้ว

  • ในปี 2015 ค่าปลอมใบรับรองจะอยู่ที่ 700,000 ดอลลาร์
  • ในปี 2018 ค่าปลอมใบรับรองจะอยู่ที่ 173,000 ดอลลาร์
  • ในปี 2021 ค่าปลอมใบรับรองจะอยู่ที่ 43,000 ดอลลาร์

ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ "ถูกเกินไป" ที่เราจะหวังไม่มีใครรวยพอที่จะปลอมใบรับรองเพื่อดักฟังระหว่างเรากับคนอื่นๆ ที่ต้องการความปลอดภัยสูง องค์กรระดับรัฐอาจจะทุ่มงบประมาณเพื่อปลอมใบรับรองเป็นวงกว้าง การออกแบบฮาร์ดแวร์เฉพาะด้วยความเชี่ยวชาญสูงอาจจะทำให้ต้นทุนถูกลงกว่านี้ได้อีกหลายเท่าตัว พลังประมวลผลขนาดใหญ่มากทุกวันนี้สามารถซื้อได้จาก Amazon EC2, Google Compute Engine, หรือการซื้อการ์ดกราฟิกล็อตใหญ่ๆ สักล็อต

NIST เองระบุว่าหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรใช้ SHA-1 ตั้งแต่สิ้นปี 2013 เป็นต้นไป

ไมโครซอฟท์และกูเกิลเตรียมกระบวนการเลิกรับ SHA-1

ไมโครซอฟท์ออกมาระบุ กระบวนการเลิกรองรับ SHA-1 มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยจะมีผลกับ Windows Vista ขึ้นไป (เพราะ Windows XP ไม่มีการอัพเดตอีกแล้ว) โดยระบุกฎ ได้แก่

  • CA ทั้งหมดจะต้องเลิกออกใบรับรองด้วย SHA-1 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2016 เป็นต้นไป
  • ใบรับรองที่ยืนยันด้วย SHA-1 จะใช้งานไม่ได้อีกต่อไปหลังวันที่ 1 มกราคม 2017

กรนีของไมโครซอฟท์ถือว่า "ใจดี" อย่างมากเพราะประกาศล่วงหน้าสองปีเต็มๆ

alt=

กรณีของกูเกิลเพิ่งออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กูเกิลเลือกแนวทาง "ค่อยเป็นค่อยไป" แทนที่จะเป็นการประกาศวันที่ห้ามใช้ใบรับรองที่ใช้ SHA-1 กูเกิลประกาศโทษสามระดับสำหรับเว็บที่ใช้ SHA-1 คือ เริ่มเตือนว่ามีปัญหาเล็กน้อย (minor error), ไม่ถือว่าปลอดภัย (lacking security), และยืนยันว่าไม่ปลอดภัย (affirmatively insecure) โดยแบ่งตาม ช่วงเวลาที่ใบรับรองหมดอายุมีสามระดับได้แก่ใบรับรองที่หมดอายุตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นปี, ใบรับรองที่หมดอายุภายในสิ้นปี 2016, และใบรับรองที่หมดอายุหลังปี 2015

ด้วยแนวทางนี้ถ้าใครต่ออายุใบรับรองแบบปีต่อปี ก็ยินดีกับทุกท่านครับ ท่าจะไม่มีปัญหาอะไรในปีนี้จนกว่าจะต่ออายุใบรับรองในปีหน้า สิ่งที่ท่านต้องเตรียมก็มีเพียงว่าปีหน้าควรจะขอใบรับรองแบบ SHA-2 ได้แล้ว

แต่สำหรับ คนที่ต่อใบรับรองไว้เกินสองปีจะเริ่มมีปัญหาในเร็วๆ นี้ โดยไม่ว่าจะคอนฟิกถูกต้องแค่ไหน เว็บของท่านจะเริ่มถูกเตือนว่าคอนฟิกผิดพลาดเล็กน้อย ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนนี้เป็นต้นไปส่วนคนอื่นๆ ที่ต่ออายุใบรับรองนี้เอาไว้เกินหนึ่งปี จะเริ่มมีปัญหาในปีหน้า เมื่อ Chrome 41 ปล่อยให้อัพเดต

สิ่งที่ควรทำระหว่างนี้

  • ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการรับรองของท่านรองรับ SHA-2 หรือไม่ การรองรับหมายถึง immediate CA ทั้งหมดของผู้ให้บริการต้องรับรองด้วย SHA-2 ทั้งหมด ห้ามมีตัวใดตัวหนึ่งในสายเป็น SHA-1 ยกเว้นตัว root CA
  • หากต่ออายุใบรับรองปีต่อปี เตรียมหาหน่วยงานรับรองที่รองรับ SHA-2 (ที่จริงน่าจะรองรับแทบทุกที่ แต่กระบวนการขอใบรับรองโดยระบุว่าต้องการ SHA-2 ต่างกันไป)
  • หากต่ออายุใบรับรองไว้ยาวๆ เช่น 5 ปี (เหมือน Blognone) เตรียม reissue ใบรับรองโดยเร็ว โดยทั่วไปแล้วมักไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • สร้างไฟล์ขอใบรับรอง (CSR) ใหม่ โดยเพิ่มออปชั่น -sha256 เพื่อระบุกับองค์กรรับรองว่าต้องการใบรับรองแบบ SHA-2 เช่น openssl req -new -sha256 -key blognone.key -nodes -out blognone.csr โดยอาจจะใช้ SHA-384 หรือ SHA-512 ได้ตามชอบใจ แต่บาง CA อาจจะไม่รองรับ เช่น Comodo นั้นรองรับ SHA-256 เท่านั้น
  • ตรวจสอบความเข้ากันได้ของผู้ใช้ ใน Windows XP นั้น รุ่นที่รองรับ SHA-2 จะต้องเป็น Service Pack 3 เท่านั้น หรือหากเป็นแอนดรอยด์จะต้องเป็น Android 2.3 ขึ้นไป กรณีเช่นนี้องค์กรจำเป็นต้องยกเลิกการให้บริการระบบปฎิบัติการที่ไม่ได้รับซํพพอร์ตเหล่านี้แล้ว (ตรวจสอบการรองรับ SHA-2 กับ Global Sign )
Get latest news from Blognone

Comments

By: jane
Android Ubuntu
on 15 September 2014 - 02:57 #742172
jane's picture

ใช้งาน SHA-2 + RSA หรือ SHA-2 + ECC ดีกว่ากัน?

By: teenigma
Android Red HatWindows
on 15 September 2014 - 08:49 #742202 Reply to:742172

ECC ดีกว่า RSA แน่นอนครับ เช่นใช้ความยาวบิตน้อยกว่าแต่ให้การเข้ารหัสที่แข็งแรงกว่ามากกว่าปัญหาอยู่ที่ software ที่ใช้เป็น web server ครับ ว่าจะรองรับ ECC รึเปล่า อย่าง Apache ต้องเป็น version 2.2.26 ขึ้นไป จึงจะรองรับ ECC

สำหรับผมแล้ว อีกตัวเลือกที่น่าสนใจคือ DSA+SHA256 ครับ

By: NoppawanConan
Contributor iPhone Android Windows
on 15 September 2014 - 03:14 #742173
NoppawanConan's picture

ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นปี >> เป็นต้นไป ครับผม


แค่มนุษย์คนนึงที่อยากรู้เกี่ยวกับวงการไอที

By: Architec
Contributor Windows Phone Android Windows
on 15 September 2014 - 09:35 #742212

MS เงียบเป็นเป่าสากเลยครับ(เฮงซวย) แนะนำให้ใช้ OpenSSL Reissue แล้วยัดลง IIS ครับ

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 15 September 2014 - 09:42 #742216 Reply to:742212
lew's picture

เขาประกาศมาก่อนนานแล้วนะครับ


lewcpe.com , @wasonliw

By: Architec
Contributor Windows Phone Android Windows
on 15 September 2014 - 09:45 #742217 Reply to:742216

คือ MS ประกาศเพียวๆ แต่ตัว IIS ไม่มี Tools หรือ Update สำหรับ SHA-2 เลยครับ

By: lew
Founder Jusci's WriterMEconomics Android
on 15 September 2014 - 09:54 #742219 Reply to:742217
lew's picture

อัพเป็น Windows Server 2008 ช่วยได้ครับ :P


lewcpe.com , @wasonliw

By: Architec
Contributor Windows Phone Android Windows
on 15 September 2014 - 10:19 #742229 Reply to:742219

2012 ก็ยังไม่มี SHA-2 ในตัว IIS ครับ (ง้อ OpenSSL ตามเคย)

By: PH41
Contributor Android Ubuntu Windows
on 15 September 2014 - 09:46 #742218
PH41's picture

จะมีบริษัทไหนรับทำถูก ๆ บ้างนะ

By: Lowband
iPhone Windows Phone Android Blackberry
on 15 September 2014 - 12:35 #742264

กรนีของไมโครซอฟท์ถือว่า > กรณี

By: windows98SE
iPhone
on 15 September 2014 - 18:47 #742415
windows98SE's picture

เปลี่ยนจาก 'ชาวัน' ไปเป็น ... 'ชาลา เฮ็ด ชาลา'

By: kiak
Android Ubuntu Windows
on 23 December 2014 - 20:36 #775521

ตรวจสอบว่าผู้ให้บริการรับรองของท่านรองรับ SHA-2 หรือไม่ การรองรับหมายถึง immediate CA ทั้งหมดของผู้ให้บริการต้องรับรองด้วย SHA-2 ทั้งหมด ห้ามมีตัวใดตัวหนึ่งในสายเป็น SHA-1 ยกเว้นตัว root CA

สงสัยว่าทำไม root CA ถึงยังใช้ SHA-1 ได้ละครับ ไม่เข้าใจ