Tags:
Node Thumbnail

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา IBM ประเทศไทยและโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จัดงานแถลงข่าวประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการนำเอา Watson ไปใช้งานสำหรับด้านการรักษามะเร็งที่โรงพยาบาล ซึ่งผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษผู้บริหารของทั้งทาง IBM และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในครั้งนี้ด้วย

alt=

ก่อนที่จะเข้าถึงบทสัมภาษณ์ ผมขออนุญาตเกริ่นถึง Watson โดยรวมก่อน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ

อะไรคือ Watson และการทำงานของ Watson

IBM Watson ปรากฏตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2011 ในฐานะของการเป็น “ซูเปอร์คอมพิวเตอร์” ที่สามารถเอาชนะผู้เล่นที่เป็นแชมป์ตลอดกาลของรายการ Jeopardy! รายการทางโทรทัศน์ที่ตอบคำถามความรู้รอบตัวได้ ( ข่าวเก่า ) แต่จริงๆ แล้ว Watson เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า DeepQA ของหน่วยงานวิจัยของ IBM ที่นำโดย David Ferrucci เป็นหัวหน้าทีม

Watson เกิดขึ้นครั้งแรกอย่างจริงจังในปี 2007 (ชื่อตั้งขึ้นตามผู้ก่อตั้ง IBM ซึ่งก็คือ Thomas Watson) หลังจากที่ Charles Lickel ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของ IBM ในเวลานั้นพยายามท้าทายฝ่ายงานวิจัยให้สร้างระบบ/เครื่อง ที่จะตอบคำถามแบบรายการ Jeopardy! ได้ โดยการพัฒนานั้นแม้จะเกิดขึ้นจาก IBM เป็นหลัก แต่หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐ รวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบด้วย

แนวคิดของการสร้าง Watson เกิดจากความพยายามในการที่จะตอบคำถามของมนุษย์ที่เป็นภาษาธรรมชาติ (natural language) ซึ่งอาจจะไม่มีลักษณะของการพูดที่ตรงไปตรงมา และไม่มีความเป็นตรรกะ (ในหลายครั้งเป็นคำใบ้) ซึ่งแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ที่มักจะใช้วิธีคิดที่วางบนพื้นฐานของตรรกะหรือคณิตศาสตร์เป็นหลัก ลองพิจารณาประโยคด้านล่างต่อไปนี้

บริษัทไมโครซอฟท์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 ที่เมือง Albuquerque มลรัฐ New Mexico สหรัฐอเมริกา

ถ้าเป็นคำถามในเชิงระบบที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ จะมีลักษณะ:

บริษัทไมโครซอฟท์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีใด ที่เมืองใด มลรัฐใด

อย่างไรก็ตาม ลักษณะคำถามของ Jeopardy! หรือในภาษาธรรมชาติที่อาจจะบอกคำใบ้คือ:

บริษัทแห่งนี้ ก่อตั้งในช่วงปี 1970 อยู่ที่เมืองชื่อขึ้นต้นด้วยตัว A มลรัฐที่ชื่อเหมือนประเทศหนึ่ง บริษัทนี้คือบริษัทอะไร

ในการถามลักษณะที่สองอาจจะมีลักษณะของคำบอกใบ้และความเป็นไปได้นับล้านๆ ซึ่งการค้นหาตามปกติที่อิงฐานข้อมูล (database) และคำสำคัญ (keyword) ที่มีความเป็นโครงสร้างสูง ย่อมหาคำตอบแบบนี้ได้ยาก โจทย์ของ Watson คือการสร้างระบบที่เรียกว่า Cognitive computing หรือการสร้างระบบประมวลผลที่ดึงเอาความรู้ต่างๆ ออกมา แล้วสามารถเรียนรู้รวมถึงปรับตัวได้ด้วยนั่นเอง ลองดูวิดีโออธิบายเรื่องของการออกแบบเชิงลึกได้จากวิดีโอด้านล่างครับ (ยาวหน่อยนะครับ เกือบครึ่งชั่วโมง)

ในเชิงเทคนิค Watson ถูกสร้างขึ้นและเขียนโดยใช้ JAVA, C++ และ Prolog ( ข่าวเก่า ) โดยทำงานบนเครื่องที่ IBM สร้างขึ้นเป็นพิเศษในตอนแรก (ใช้หน่วยประมวลผล POWER7 กว่า 2,880 แกนประมวลผล) มีหน่วยความจำ 15 TB โดยทีมงานในเวลานั้นบอกว่า หากไม่สร้างคอมพิวเตอร์เฉพาะทางดังกล่าวขึ้นและใช้คอมพิวเตอร์ปกติ (ในเวลานั้น) คำถามเดียวของ Jeopardy! อาจใช้เวลาประมวลผลนานมากเป็นเวลาหลักชั่วโมง ขณะที่การแข่ง Jeopardy! ต้องได้คำตอบออกมาภายในเสี้ยววินาทีเท่านั้น

หลักการทำงานของ Watson ในขั้นแรกคือวิเคราะห์โครงสร้างของภาษาและระบุถึงตำแหน่งแห่งที่ของคำ (เป็นประธาน กริยา กรรม) ของคำถาม เพื่อที่จะได้เข้าใจชนิดคำถาม จากนั้นในขั้นที่สองจึงตั้งสมมติฐานแล้วค้นหาจากฐานข้อมูล เพื่อจะให้ได้คำตอบส่วนหนึ่งก่อน โดยเน้นที่ปริมาณเป็นหลัก เมื่อผ่านจากขั้นที่สองก็จะมาสู่ขั้นที่สามคือการหาหลักฐาน เพื่อให้น้ำหนักกับคำตอบที่ได้มา และในขั้นสุดท้ายคือการนำเอาผลที่ได้มารวมกัน ประมวลผล และจัดลำดับคำตอบ เป็นจำนวน (อย่างเช่นในเกม เป็นเปอร์เซ็นต์) เพื่อแสดงผลว่าคำตอบนี้มีโอกาสมากที่สุดที่จะตอบคำถามดังกล่าว ลองดูวิดีโออธิบายอย่างละเอียดด้านล่างได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ Watson สามารถเรียนรู้ได้จากการตัดสินใจของตนเองในอดีต ไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิด และสามารถรวมเอา algorithms ต่างๆ ของตัวเอง เพื่อสร้างคำตอบที่เหมาะสมกับคำถามในลักษณะดังกล่าวได้ด้วยนั่นเอง

หลังจากการแข่งขัน Jeopardy! จบลง (และแน่นอนว่า Watson กำชัยชนะไป) IBM ก็เริ่มปรับปรุง Watson ในเชิงซอฟต์แวร์ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จนในที่สุดแล้วในปี 2012 ก็เริ่มเอามาทดลองในอุตสาหกรรมสาธารณสุข, การประกันภัย ( ข่าวเก่า ) และการเงิน ( ข่าวเก่า ) ก่อนที่จะเริ่มต้นในการใช้งานจริงปี 2013 และถูกนำขึ้นสู่ระบบคลาวด์ในช่วงสิ้นปีเดียวกัน (ใครใช้ IBM Bluemix อยู่ก็สามารถไปทดลองใช้ได้ มีเป็นบริการแล้ว) โดยจะให้บริการในฐานะเป็นบริการตัวหนึ่ง

ถ้าถามว่า IBM จริงจังกับ IBM Watson มากแค่ไหน? คำตอบก็คงตอบได้ว่าจริงจังมาก ถึงขนาดที่ว่าตั้งกลุ่มงานที่เรียกว่า IBM Watson พร้อมกับเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปีที่ผ่านมาให้เป็นการเฉพาะ

alt= ภาพภายในอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของ IBM Watson ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

การใช้งาน IBM Watson ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ทั้งผู้บริหารของทั้ง IBM และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย

  • ศาสตราจารย์นายแพทย์ James Spence Miserหัวหน้าคณะแพทย์ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและที่ปรึกษาด้านคุณภาพและความปลอดภัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
  • นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดาผู้อำนวยการร่วม ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
  • Mr. Ryan Muschผู้จัดการฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์ กลุ่มงาน IBM Watson สหรัฐอเมริกา

เหตุผลของการใช้งาน

ผมเริ่มต้นถามว่า ทำไมโรงพยาบาลถึงตัดสินใจเลือก Watson เข้ามาใช้งานในโรงพยาบาล James ตอบผมว่า เหตุผลที่สำคัญจริงๆ นอกเหนือจากเพราะเป็น IBM คือเรื่องของการที่ Watson เป็นระบบ Cognitive Computing เพียงตัวเดียวของโลกที่เข้ามาตอบโจทย์การรักษา โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงลงลึกถึงระดับพันธุกรรม ทำให้การรักษาในแต่ละกรณี (case) ของคนไข้แต่ละคนมีความแตกต่างกันมาก รวมถึงความซับซ้อนและจำนวนของข้อมูล (ไม่ว่าจะเป็นวารสารวิชาการ แนวทางในการรักษาและตรวจวิเคราะห์ รวมถึงความเห็นผู้เชี่ยวชาญ) การนำเอา Watson เข้ามาจะทำให้ขั้นตอนนี้ลดลงเหลือเวลาไม่กี่นาที จากเดิมที่ต้องกินระยะเวลานานมาก

James ระบุเหตุผลเพิ่มเติมอีกว่าระบบของ Watson นั้นเป็นระบบที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ (interactive) กับแพทย์เจ้าของไข้ได้ นอกจากนั้นสามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแนะนำวิธีการรักษาในวิธีการแบบต่างๆ ได้ ซึ่งจุดนี้ทำให้สามารถฝึก Watson ได้ และทำให้เขามองว่านี่จะทำให้ Watson ดีขึ้นเรื่อยๆ

alt= ศาสตราจารย์นายแพทย์ James Spence Miser

Ryan เองระบุว่าข้อมูลการรักษาคนไข้มักจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นสองเท่าในทุกห้าปี สำหรับคนไข้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งต้องพิจารณาถึงความซับซ้อนของพันธุกรรมของผู้ป่วยด้วยเช่นเดียวกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา อาจมีแนวโน้มที่ต้องอ่านเอกสารมากกว่า 100 ชิ้นขึ้นไป และอาจกลายเป็นหลักพันหลักหมื่นในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งข้อมูลการรักษาเหล่านี้สำคัญ และถ้าแพทย์จะต้องติดตามข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด จะเป็นงานที่เหนื่อยหนักมาก

คุณหมอณรงค์ศักดิ์ (ในที่นี้ขอใช้คำว่า “คุณหมอ” แทน) ระบุว่าความซับซ้อนของโรคมะเร็งอยู่ที่ระดับพันธุกรรม ซึ่งทำให้การรักษาคนไข้แต่ละรายต้องประเมินอย่างระมัดระวัง ข้อมูลที่จะใช้ในการรักษาคนไข้ในปัจจุบันก็มีอยู่เยอะมากแล้ว (คุณหมอระบุว่าถ้าจะติดตามจริงๆ ต้องมีเวลา 160 ชั่วโมงต่ออาทิตย์, 22 ชั่วโมงต่อวัน แพทย์ไม่มีทางตามได้ทันทั้งหมด) และยิ่งในอนาคตมีเรื่องของการใช้วิธี gene sequencing ในการหาสาเหตุด้วยแล้ว ก็ทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย การเอา Watson เข้ามาเป็นการช่วย “แนะนำ” ให้กับแพทย์ ซึ่งในแง่ของการรักษา อาจจะแนะนำวิธีที่ดีกว่าแพทย์ หรือในมุมที่แพทย์อาจจะคาดไม่ถึงก็ได้

ผมถามต่อว่าทุกวันนี้ใช้วิธีรักษาอย่างไร คุณหมอระบุว่าการรักษาทุกวันนี้คือการอาศัยข้อมูลจากคนไข้ ผสมกับแนวทาง (guidelines) ซึ่งมีทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป (คุณหมอบอกว่าแตกต่างกันที่ความดุดัน (agressiveness) ในการรักษา) เพื่อที่จะประเมินร่วมกับข้อมูลอื่นๆ และความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ซึ่ง James เสริมว่าทุกวันนี้วิธีการเหล่านี้ไม่ได้อาศัยคอมพิวเตอร์ในการช่วยวางแผนการรักษาอย่างเต็มที่

alt= นายแพทย์ ณรงค์ศักดิ์ เกียรติขจรธาดา

James อธิบายว่ากระบวนการของ Watson คือการนำเอาข้อมูลวิชาการ, การทดลองรักษา (clinical trials), ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ (experts opinions) และข้อมูลของคนไข้ นำมาประมวลผลร่วมกันและหาวิธีการที่ดีที่สุดให้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างจากวิธีเดิม เพียงแต่เอาคอมพิวเตอร์มาทำงานให้ ผลที่ได้คือความรวดเร็วยิ่งขึ้นสำหรับแพทย์ในการตัดสินเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้นั่นเอง

ความท้าทาย, การเปลี่ยนผ่าน และอนาคต

ผมหันกลับไปถามคุณหมอณรงค์ศักดิ์ว่า สำหรับแพทย์แล้ว ต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และใช้งานยากหรือไม่ ซึ่งคุณหมอก็ตอบว่าสำหรับแพทย์เองไม่เจอปัญหาในการปรับตัวเท่าไหร่ เพราะปกติแพทย์ก็ใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว และระบบของ Watson เองค่อนข้างง่าย แพทย์แค่กดปุ่มถามเท่านั้น แต่ยอมรับว่าส่วนที่ยากคือเรื่องของการป้อนข้อมูล ซึ่งสำหรับทางโรงพยาบาลเองก็ตั้งทีมพยาบาลขึ้นมาจำนวน 20 คน ประจำศูนย์เป็นการเฉพาะในการทำหน้าที่ดังกล่าว และข้อมูลที่ใส่ลงไปในระบบสำหรับให้ Watson ประมวลผลนั้นต้องละเอียดมาก ซึ่งอาจละเอียดถึงระดับการสร้างแนวทางการรักษาที่เหมาะกับแต่ละบุคคลได้ (ลองดูวิดีโอด้านล่างประกอบ)

James บอกว่าระบบดังกล่าวพร้อมที่จะใช้งานจริงกลางปีหน้า ในตอนนี้คือการเริ่มวางแผนและทำงานกับ IBM ในการนำเอามาใช้และรวมเข้ากับระบบเดิม เขายอมรับว่าความท้าทายในการนำเอา Watson มาใช้กับระบบไอทีของโรงพยาบาล อยู่ที่การส่งข้อมูลของคนไข้ขึ้นไปสู่ระบบคลาวด์ของ Watson ที่จะต้องส่งข้อมูลได้อย่างราบรื่น James ระบุว่าระบบในโรงพยาบาลนี้ยังใช้งานด้านคลาวด์ที่จำกัดมาก แต่พยายามจะปรับเปลี่ยนให้มากขึ้นกว่าเดิมในอนาคต

เมื่อถึงจุดนี้ ผมเลยถามว่าข้อมูลของคนไข้ (เวชระเบียน) ที่ถูกส่งขึ้นไปยังระบบของ Watson จะมีระบบการป้องกันความเป็นส่วนตัวยังไง ทั้ง James และ Ryan ยืนยันกับผมว่าข้อมูลของคนไข้ที่ถูกส่งขึ้นไปยัง Watson จะไม่สามารถระบุตัวคนไข้ได้อย่างแน่นอน โดย James ระบุเพิ่มเติมว่าระบบคลาวด์ของ Watson ที่บำรุงราษฎร์ใช้นั้นไม่ใช่ Public cloud แต่เป็น Private cloud ส่วน Ryan ระบุว่าข้อมูลที่ Watson รู้จะเป็นเพียงชุดข้อมูล (a set of information) ที่ไม่มีข้อมูลส่วนตัวคนไข้เลย ข้อมูลส่วนตัวของคนไข้จะถูกรวมเข้ากับผลลัพธ์ของ Watson ตอนส่งกลับเข้ามายังระบบของโรงพยาบาลแล้วเท่านั้น และไม่เอาข้อมูลจากสถาบันทางการแพทย์อื่นๆ เข้ามารวมด้วย โดยส่วนที่บำรุงราษฎร์เข้าใช้งานบนคลาวด์ของ Watson นั้น เป็นส่วนที่เฉพาะทางโรงพยาบาลเข้าถึงได้เท่านั้น ไม่ใช่ส่วนที่คนอื่นเข้าถึงได้

alt= Mr. Ryan Musch

ท้ายที่สุดผมถามถึงอนาคตว่าจะมีการขยายขอบเขตการใช้งาน Watson หรือไม่ และจะร่วมมือกับ IBM เพิ่มเติมอีกหรือไม่ คุณหมอณรงค์ศักดิ์ตอบว่ามีอย่างแน่นอน แต่โรคมะเร็งที่เอามานำร่องก่อน (ประกอบไปด้วย มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้) เพราะมีข้อมูลเยอะที่สุดส่วน James ระบุว่ามีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน และจะร่วมมือกับ IBM ในการพัฒนาระบบเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคมะเร็งที่พบมากในไทย อย่างเช่นมะเร็งตับเป็นต้น

ขอบพระคุณทาง IBM ประเทศไทย และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์สำหรับโอกาสในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ครับ

Get latest news from Blognone

Comments

By: psemanssc
Blackberry
on 31 October 2014 - 03:41 #759271

ดูวีดีโอแล้วอึ้งมากมาย ไม่ต้องไปนั่งหาเจอน้งเจอน้อล ตรวจเพิ่มแล้วมาป้อนข้อมูลเพิ่ม แนะแนวทางรักษา หาอ้างอิงก็กดๆจากเจอน้อลเอาเลย ยังกะในหนังเลยทีเดียว

By: LazarusSP1
Contributor iPhone
on 31 October 2014 - 07:36 #759296

แสน Journal ในไม่กี่วิ! สุดยอด....

By: dabjed
Windows
on 31 October 2014 - 09:56 #759343

และอาจกลายเป็นหลักพันหลักหมื่นในเวลาไม่กี่กี -> และอาจกลายเป็นหลักพันหลักหมื่นในเวลาไม่กี่ปี

By: panurat2000
Contributor Symbian Ubuntu In Love
on 31 October 2014 - 14:58 #759474 Reply to:759343
panurat2000's picture

IBM Watson ปรากฎตัวต่อสาธารณะครั้งแรกในปี 2011

ปรากฎ => ปรากฏ

จนในที่จุดแล้วในปี 2012 ก็เริ่มเอามาทดลองในอุตสาหกรรมสาธารณสุข

ในที่จุด => ในที่สุด

จะทำให้ขั้นตอนนี้ลดลงเหลือเวลาไม่กี่นาที จากเดินที่ต้องกินระยะเวลานานมาก

จากเดิน => จากเดิม

นอกจากนั้นสามารถเรียนรู้ได้จากข้อมูลที่เพิ่้มขึ้นเรื่อยๆ

เพิ่้ม => เพิ่ม

ผสมกับแนวทาง (guidelines) ซึ่งมีทั่งฝั่งอเมริกาและยุโรป

มีทั่ง => มีทั้ง

ทุกวันนี้วิธีการเหล่านี้ไม่ได้อาศัยคอมพิวเตอร์ในการช่วยวางแผนการักษาอย่างเต็มที่

การักษา => การรักษา

และข้อมูลที่ใส่ลงไประบบสำหรับให้ Watson ประมวลผลนั้นต้องละเอียดมาก

ใส่ลงไประบบ ?

By: nrad6949
Writer Android Blackberry Windows
on 1 November 2014 - 07:44 #759631 Reply to:759474
nrad6949's picture

แก้ให้เรียบร้อยหมดแล้วนะครับ


I'm ordinary man; who desires nothing more than just an ordinary chance to live exactly what he likes and do precisely what he wants.

By: NgOrXz
iPhone Android Windows
on 31 October 2014 - 10:57 #759382
NgOrXz's picture

เก๋กู๊ด

By: F16
iPhone Windows Phone Android In Love
on 31 October 2014 - 14:34 #759462

ดีครับ ขาย Watson ได้เยอะๆ บริษัท IBM จะได้มีเงินมาจ่ายโบนัสพนักงาน อิๆ