งานบางประเภทไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรไซส์ไหน ในแต่ละหนึ่งโปรเจกต์มักจะต้องทำงานร่วมกับหลายแผนก คิดค้นเสร็จ ต้องส่งต่อ รอหัวหน้าเคาะแล้วจึงเริ่มทำ แถมจะต้องเหนื่อยโทร. เดินประสานงาน แก้ไขส่งต่อกันไปมา แม้จะมีตัวช่วยอย่างอีเมล กรุ๊ปแชท ไดรฟ์แชร์ไฟล์ หรือแม้แต่คลาวด์สตอเรจที่ซิงค์ถึงกันบางครั้งก็ยังไม่ครอบคลุม
ถึงตอนนี้ก็สบายใจไปเปลาะหนึ่งเมื่อมีระบบ Workflow Management เข้ามาช่วยจัดการเนื้องานให้เป็นระเบียบ และ Slack ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือประเภทนี้ที่ทำให้เราและทีมทำงานง่ายขึ้น ด้วยหน้าตาที่เป็นมิตร และที่สำคัญ 'ฟรี' ทำให้ทุกคนเห็นความคืบหน้าตลอดเวลา ไม่มีใครถูกทิ้งกลางทาง
เริ่มจากสตาร์ตอัพ จับจังหวะเป็นบริษัทเปี่ยมนวัตกรรม
เรื่องราวของ Slack เกิดจากฝีมือของ Stewart Butterfield อดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Flickr และเป็นผู้สร้างเกม Glitch เกม MMO แบบไร้พิษภัยบนเบราว์เซอร์
Slack เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2012 และเปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2013 นี้เอง แต่มาถึงวันนี้ ความสำเร็จทางธุรกิจของ Slack ถือว่าไม่ธรรมดา ล่าสุดเมื่อปีกลาย บริษัทนี้มีมูลค่าถึง 1.12 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นับจากยอดทุนสนับสนุนก้อนล่าสุดราว 120 ล้านเหรียญฯ โดยนักลงทุนจากซิลิคอลวัลเลย์รายใหญ่อย่าง Kleiner Perkins Caufield and Byers, Google Ventures, และ Andreessen Horowitz มากันครบ
โฉมหน้า Stewart Butterfield ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Slack
เมื่อแรกเปิดตัว Slack ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มีบริษัทสมัครใช้งานกว่า 8,000 บริษัทใน 24 ชั่วโมงแรกหลังเปิดตัว
ปัจจุบัน Slack ระบุว่ามีทีมมากกว่า 40,000 ทีมที่ใช้ระบบนี้อยู่ ถ้านับเป็นจำนวนคนก็ราว 360,000 คนต่อวัน ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้อยู่บนระบบนี้คือประมาณ 10 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากช่วงแรก
ทำงานกับ #มิตรสหายหลายท่าน
Slack แนะนำตัวเองว่าเป็น 'แพลตฟอร์ม' สำหรับการสื่อสารกันภายในทีม (team communication) ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนไอเดียในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความธรรมดา, code snippets, ไฟล์ภาพ, วิดีโอ, ลิงก์ อีกทั้งยังโพสต์โต้ตอบกันเหมือน social network
ดังนั้นเราสามารถอธิบายได้ว่า Slack เป็นการรวมฟีเจอร์ของ Twitter, Google Drive และ Dropbox มาไว้ในที่เดียวกัน แล้วเน้นใช้ "เพื่อทำงาน" ไม่ใช่เพื่อคุยเล่น
จุดเด่นอีกประการของ Slack คือในหนึ่งโปรเจกต์ สามารถแยกกลุ่มก้อนการทำงานได้เป็น Channel (เราจะเห็นเป็น #hashtags แยกกันไป) ซึ่งใครมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนไหนก็เข้าไปอัพเดตความคืบหน้าในแชนแนลนั้นๆ พร้อมมีเลขจำนวนข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน ผนวกกับลูกเล่นในการค้นหาคำที่กระจายอยู่ตามการพูดคุยต่างๆ สิ่งนี้จะง่ายกว่าการตามฟื้นฝอยหาอัพเดตที่ยิงกันไปมาทางอีเมล, กลุ่ม Facebook หรือแม้กระทั่งกรุ๊ปไลน์
ขอให้ดูวิดีโอนี้แล้วจะทำให้เข้าใจสิ่งที่กำลังเล่าได้ดี
การพูดคุยกันใน Slack เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยการรองรับ Emoji ทั้งบนแอพบนดีไวซ์พกพาและบนเดสก์ท็อป (อย่างหลังทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ที่สามารถปักไอคอนแยกไว้เสมือนแอพ)
เรายังสามารถ ‘แท็ก’ เพื่อเมนชั่นคนในทีมในแต่ละแชนแนลได้ด้วย สมมติว่ามีโปรเจกต์ทำหนังสักเรื่อง เราก็อาจแยกแชนแนลเป็น #ทีมแคสต์นักแสดง #ทีมช่างไฟ #ทีมแต่งหน้า #ทีมช่างกล้อง #ทีมผู้กำกับ #ทีมสวัสดิการ ทำให้คนอยู่ในเนื้องานที่ถูกส่วน เห็นงานตรงโฟลว์ หัวหน้างานเห็นภาพรวม (บางครั้งเมื่อเห็นความคืบหน้าของทีมอื่นก็จะยิ่งกระตุ้นให้ทีมเราต้องเร่งมือ) หรือถ้ามีเรื่องลับอยากคุยกันเดี่ยว ก็มีกรุ๊ปลับหรือห้องคุยเดี่ยวเพื่อปรึกษากันได้
รวมไฟล์จากหลายที่ ภักดีกับทุกเครื่องมือ
Slack เอื้อให้คุณลากไฟล์จากเครื่องมาวางแบบ drag and drop ได้ทันที พร้อมอินทิเกรตกับระบบฝากไฟล์ยอดนิยมทั้ง Google Docs และ Dropbox ในการซิงค์ไฟล์ล่าสุดให้ตรงกัน เปิดทางให้คอมเมนต์และให้ดาวแต่ละไฟล์ หรือสำหรับดีไซเนอร์ที่อยากอัพเดตงานที่กำลังทำอย่างคร่าวๆ ก็สามารถกดแคปเจอร์หน้าจอแล้ววางใน Slack ได้ทันที
ความร้ายกาจอย่างหนึ่งของ Slack คือการทำงานร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ที่องค์กรใช้ทำมาหากินโดยไม่ต้องสวิตช์แอพไปมา เหมือนเป็นส่วนเสริมที่ทำให้ทีมงานให้เครื่องมือเหล่านั้นได้สะดวกขึ้นด้วย เช่น โชว์เออเรอร์และแจ้งเตือนจาก Airbrake, AppSignal, Asana, Honeybadger เปิดกลุ่มสนทนากับเพื่อนในแชนแนลบน Google hangouts หรือเปิดเคสใน Atlassian JIRA มาดูร่วมกัน เป็นต้น หรือถ้าโปรฯ กว่านั้น Slack ก็แจก API ให้คุณไปประยุกต์ใช้กันต่อได้ด้วย ( รายชื่อแอพทั้งหมดที่รองรับ )
ชุดเล็กฟรี ใหญ่กว่านี้เสียเงิน
ขอรีวิวราคา Slack กันสักนิด ระบบนี้เริ่มต้นที่ใช้งานฟรีกับการคุยกันที่ค้นหาย้อนหลังได้ 10,000 ข้อความ รองรับการอินทิเกรตกับเครื่องมืออื่นๆ ได้ 5 ตัว และรองรับการทำงานแบบ multi-team ได้พื้นที่เก็บไฟล์ 5GB
แพคเกจต่างๆ ของ Slack ที่ชี้ให้เห็นว่าจะมีแพคเกจสำหรับองค์กรใหญ่ให้เลือกใช้ได้ภายในปีนี้ โดยจะเริ่มมีระบบ analytic เข้ามาเกี่ยวข้อง คาดว่าเอาไว้ดู KPI ของทีมงานแต่ละคน
แต่เมื่อตัดสินใจจ่ายเงิน (เริ่มต้นที่เดือนละ 6.67 เหรียญฯ ต่อผู้ใช้หนึ่งคนต่อเดือน) ก็จะทำหน้าที่ต่างๆ ได้มากขึ้นเป็นลำดับ ลองเช็คราคาของ Slack อย่างละเอียดได้ ที่นี่
แม้ Slack จะเป็นแค่เครื่องมือสื่อกลางไว้ให้ทีมงานได้คุยกัน แต่ด้วยลูกเล่นที่ลงลึกได้ถึงตัวไฟล์และเนื้องาน น่าจะเป็นลีลาเด็ดที่ทำให้หลายองค์กรติดใจนำไปใช้งานจริง ทว่าในยุทธภพนี้ยังมีอีกหลายระบบให้เลือกใช้ ทั้ง HipChat, Flowdock, Campfire ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักฟีเจอร์กันดูว่า แบบไหนถึงจะเหมาะกับบริษัทเรา
อ้างอิง
- เว็บไซต์ของบริษัท
- บทความ ‘Slack - FOR SLAYING INTEROFFICE EMAIL.’ ใน FastCo. - Most Innovative Companies 2015
- บทความ ‘Slack is now the fastest-growing workplace software ever’ ใน The Verge
- บทความ ‘This Story About Slack's Founder Says Everything You Need To Know About Him’ ใน FastCo. Labs
- วิดีโอ "So Yeah, We Tried Slack …" ใน Youtube
- กระทู้ ‘What are the pros/cons of Slack vs. Hipchat?’ ใน Quora
Comments
อยู้ => อยู่
ขอบคุณครับ ยังเขียนไม่เสร็จเดี๋ยวจะทยอยแก้ครับ :)
เบราเซอร์ => เบราว์เซอร์
ทีม page365 ย้ายจาก hipchat มา slack ครับ ตอนนี้ปลื้มมาก
เคยใช้ทั้ง Hipchat และ Slack มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือแอพแอนดรอยด์ห่วย
ลองมาได้พักนึงละ ใช้ดีเลย ติดอยู่ที่ว่า tool พวกนี้ ทำยังไงให้คน "ทั้งทีม" ใช้
pittaya.com
+1
บังคับใช้เลยครับ ไม่ใช้มีผลต่อการประเมินหรือเป็น KPI หรืออะไรก็ว่าไป มี Incentive ให้สักหน่อยก็โอเคแล้ว
อันนี้เรื่องจริงเลยครับยิ่งบางคนไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
เคยลองเมื่อประมาณครึ่งปีที่แล้ว
เจอปัญหา notification ไม่ค่อยดี (ตกหล่น ช้า)
เดี๋ยวไปชวนทีมมาลองเล่นกันใหม่
ป.ล. แต่ก็ชินมือ Groups ของ facebook ไปละง่ะ
กำลังอยู่ในโหมดทดลองใช้พอดีเลย
เพิ่งได้เริ่มใช้ ลองดูเหมือนจะแทน Salesforce ได้เลย
oxygen2.me , panithi's blo g
Device: ThinkPad T480s, iPad Pro, iPhone 11 Pro Max, Pixel 6
ตอนใช้ทีมน้อย ๆ ไม่ทีปัญหา พอมีหลายทีมแล้ว เหมือนมันไม่ค่อยทำงาน
สงสัยว่า ถ้าเรามีคนนอกองค์กร เช่น supplier, out source ต้องเข้ามาร่วม join projects. slack จะสะดวกมั้ยครับ เท่าที่ผมลองคือ channel สามารถเลือกว่าใครก็ได้จะเข้าร่วม แต่ direct message นี่ไม่ work มากๆ เพราะทำให้คนนอกเห็นคนในองค์กรของเราได้หมด แถมเค้าสามารถ private message หากันได้ด้วย
general channel นี่ก็อีกอัน สมมุติเราเชิญคนนอกมาร่วม projects เวลาเค้าเข้ามา เค้าจะอยู่ที่ channel นี้เป็นค่าเริ่มต้น ทำให้เวลาเค้าพิมะไรมันออกสู่ public ไปโดยอัตโนมัติ เพราะบางที คนเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ channel ไหนก่อนจะพิมส่งออกไป