จากที่มีข่าว Acer เริ่มวางขาย Chromebook ในประเทศไทย วันนี้ Acer จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการแล้วครับ
เบื้องต้น Chromebook/Chromebox จะเน้นทำตลาดลูกค้าองค์กรแบบ B2B เป็นหลัก โดย Acer จะทำตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ขายโซลูชันซอฟต์แวร์ 4 ราย แต่สำหรับลูกค้าทั่วไปที่อยากซื้อ Chromebook/Chromebox ก็สามารถซื้อได้เช่นกัน โดยจะเริ่มวางขายผ่านร้าน IT City ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป
ฮาร์ดแวร์ที่นำมาทำตลาดมีทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่
- Chromebook 11.6" C740แบ่งเป็นรุ่น Celeron (10,900 บาท) และ Core i3 (14,900 บาท)
- Chromebook 13.3" CB5-311ใช้ NVIDIA Tegra K1 (14,900 บาท)
- Chromebook 15.6" C910แบ่งเป็นรุ่น Core i3 (15,900 บาท) และ Core i5 (16,900 บาท)
- Chromebox CXI2แบ่งเป็นรุ่น Celeron (8,000 บาท) และ Core i3 (14,900 บาท)
ทุกรุ่นประกันมาตรฐาน 1 ปี ถ้าอยากได้ประกันแบบ on-site สามารถซื้อเพิ่มได้ กรณีของ Chromebox จะมีทุกอย่างมาให้ในชุดยกเว้นจอมอนิเตอร์
มาดูภาพสินค้ากันเป็นรายตัวครับ เริ่มจากน้องเล็ก Chromebook 11" C740
Chromebook 13.3" น้องกลางที่แหวกแนวด้วย Tegra
พี่ใหญ่ Chromebook 15.6" เครื่องใหญ่มากแต่ลองยกดูแล้วเบากว่าที่คิดเยอะเลย
สำหรับคนทำ Kiosk หรือป้ายดิจิทัล (Digital Signage) อาจพิจารณา Chromebox ที่แขวนไว้หลังจอภาพได้ด้วย
Acer ระบุว่าในปี 2014 ที่ผ่านมา มีอุปกรณ์ Chrome OS ขายไปแล้ว 5.7 ล้านเครื่อง ซึ่ง Acer ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ 37% ซึ่งความเชี่ยวชาญของ Acer จะช่วยให้การทำตลาดไทยประสบความสำเร็จมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มเป้าหมายหลักของ Acer คือลูกค้าภาคธุรกิจและสถานศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้บัญชี Google Apps ของกูเกิลอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนมาใช้ Chrome OS ได้ทันที
Acer จะเข้ามาดูแลงานส่วนฮาร์ดแวร์ โดยมีบริการหลังขาย on-site ทั่วประเทศ ส่วนพาร์ทเนอร์ก็จะเข้ามาช่วยขายโซลูชันด้านซอฟต์แวร์สำหรับงานเฉพาะทางด้วย
ในแง่การใช้งาน Chrome OS คงไม่ต่างอะไรกับการใช้คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิมที่เปิดเบราว์เซอร์ ยิ่งปัจจุบันแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่เป็นเว็บแอพเกือบหมดแล้ว จุดขายของ Chrome OS จึงเป็นการผสานงานระหว่างฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์ โดยมีระบบบริหารจัดการที่ง่ายและถูกกว่ามาก
พาร์ทเนอร์ซอฟต์แวร์ของ Acer ประกอบด้วย
- Loxbit PAบริษัทในเครือ Loxley สร้าง Kiosk Apps สำหรับเปลี่ยน Chrome OS เป็นหน้าจอ Kiosk ตามร้านค้าปลีกต่างๆ จุดเด่นคือบริหารจัดการได้จากสำนักงานส่วนกลางที่เดียวจบ
- 9pi(อ่านว่า ก้าวไป) ทำโซลูชัน e-learning ครบวงจรสำหรับสถานศึกษาชื่อ Prinya มีทั้งระบบการเรียน LMS และระบบอื่นๆ ที่สำคัญสำหรับสถานศึกษาอย่างระบบทะเบียน สามารถเชื่อมต่อกับ Google Apps for Education ได้เลย ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเริ่มใช้งานแล้ว
- GoPomeloทำระบบป้ายดิจิทัล (Digital Signage) ที่เขียนด้วย HTML แต่เชื่อมต่อข้อมูลจาก Google Apps ได้ มีระบบบริหารควบคุมจากส่วนกลาง
- Tangerineทำระบบบริหารจัดการ Console Management ใช้ควบคุมอุปกรณ์จากระยะไกล เป็นพาร์ทเนอร์ของ Google for Work ในไทยมานาน เชี่ยวชาญโซลูชันสายกูเกิลเป็นอย่างดี
Comments
เข็ดกับ Acer ชาติขอบายครับ P3เป็นตัวสุดท้าย
คนซื้อ:น้องโน้ตบุ๊คตัวนี้ ลงวินโด้ได้ปะ
ของมันแน่อยู่แล้ว คนไทยยยยยยยยย(จริงๆ ก็ลงได้นะครับ แค่ต้องอาศัยฝีมือในการ Hack หน่อยนิดหนึ่ง)
ยัด Ubuntu ลง Steam . . . . .
แว่บแรกอ่านหัวข่าวเป็น "เน้นขายผ่าน B2S"
ทำไม slide/ppt มันช่างดูย้อนยุคมากเลยอ่ะ
คงพยายามรักษาธีมสีของ Chrome น่ะครับ แต่ทำไม่ลงตัว
ใช้แอพผ่าน chrome os กับใช้แอพผ่าน chrome web browser ที่โหลดผ่าน chrome webstore ต่างกันตรงไหน ?