ในงาน Google I/O 2015 วันที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา Google ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพิเศษในชื่อ Project Vault โดยเจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ว่านี้มีขนาดและรูปร่างเหมือนการ์ด microSD
ผลงาน Project Vault ถูกออกแบบโดยทีม ATAP (Advanced Technology and Projects) ของ Google ในทางเทคนิคแล้วมันก็คือคอมพิวเตอร์เครื่องนึง แต่ออกแบบมาเพื่อใช้งานลักษณะเฉพาะสำหรับการติดต่อสื่อสารที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัยสูงและใช้วิธีการยืนยันตัวตนที่ไม่ใช่รหัสผ่าน
Project Vault ใช้ชิปประมวลผลของ ARM, มี NFC, มีเสาอากาศ, มีพื้นที่เก็บข้อมูลแยกต่างหากให้ 4 GB มีฮาร์ดแวร์พิเศษที่ใช้สำหรับคำนวณค่าแฮช เข้ารหัสลับข้อมูล และสร้างตัวเลขสุ่ม ทั้งหมดนี้รันบนระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อทำงานแบบเรียลไทม์ (Real Time Operating System หรือ RTOS)
ในงาน I/O ทาง Google ได้สาธิตการทำงานของเครื่องนี้ด้วย (แต่ตอนนี้ผมยังหาคลิปไม่ได้) โดยได้ใช้สมาร์ทโฟนสองเครื่องที่เอา Vault ใส่ในช่อง microSD ทั้งคู่แล้วคุยแช็ตกัน Google อ้างว่าข้อความทั้งหมดจะถูกเข้ารหัสลับข้อมูลแล้วรับส่งผ่านช่องทางเฉพาะของ Vault ไม่ได้ส่งผ่านสมาร์ทโฟนหรือผู้ให้บริการเครือข่าย ทำให้ไม่สามารถดักข้อมูลได้
สำหรับวิธีการที่ Vault ใช้ในการยืนยันตัวตนนั้นจะไม่ใช่รหัสผ่าน แต่จะใช้สิ่งที่เรียกว่า "trust score" ซึ่งจะดูจากข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน เช่น รูปแบบการพิมพ์ข้อความ หรือแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้เปิดใช้งานในแต่ละวัน ซึ่งถ้าหากมีคนอื่นมาใช้เครื่อง ตัว Vault ก็จะทราบได้ว่าไม่ใช่ผู้ใช้คนเดิม
Vault สามารถทำงานได้ทั้งบน Android, Windows, OS X และ Linux ตอนนี้ Project Vault เป็นโอเพนซอร์ส ใครสนใจว่ามันจะทำงานได้จริงตามที่ Google คุยไว้หรือไม่ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ GitHub
ที่มา - Mashable , TechCrunch
Comments
แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ :)
มือถือรุ่นที่ไม่มีช่องเสียบ microSD ก็อดอีก
ไม่มีลายเซ็น
สงสัยเฉยๆ บอกว่าจุ 4GB ทำไมในรูปเขียน 64GB -
มีพื้นที่เก็บข้อมูล "แยกต่างหาก" 4GB
ส่งข้อมูลผ่านช่องทางเฉพาะ ไม่ได้ส่งผ่านสมาร์ทโฟนหรือผู้ให้บริการเครือข่าย แล้วมันส่งข้อมูลออกมายังไงกันหว่า ให้เครื่องที่อยู่อีกที่สามารถรับได้โดยไม่ผ่านเครือข่าย
ตัว Vault มันมี antenna ไว้รับส่งข้อมูลครับ เข้าใจว่าส่งได้เฉพาะเครื่องที่ใส่ Vault ด้วยกันเท่านั้น
ยัดเข้าไปได้ยังไง แถมฟีเจอร์ล้ำด้วย ชอบอันนี้สุดละของ Google IO ปีนี้