หลังจากการเปิดตัวและการวางจำหน่ายของของ Sony Bravia Android TV รุ่นปี 2015 เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราคงจะได้เห็นสินค้า Android TV เข้ามาตีตลาดบ้านเรากันเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากสองค่ายที่ผลิตทีวีอย่าง ชาร์ป และ ฟิลิปส์ แล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์สาย Android TV อีกเป็นจำนวนมากที่รอตีตลาดอยู่เช่นกัน
ผมเองก็เพิ่งได้รับทีวี Sony Bravia KD-43X8300C มาลองทดสอบจากทางโซนี่ประเทศไทยแบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานนี้ แต่หลังจากลองเล่นได้ระยะหนึ่งก็พบว่ารายละเอียดของ Android TV มันมีเยอะมาก และเปลี่ยนไปจากแบบที่เราคุ้นเคยเยอะพอสมควร ก็เลยนำมาเล่าให้ฟังกันในครั้งนี้ ก่อนที่จะลงรีวิวของทีวีตัวนี้แบบยาวๆ ในภายหลังครับ
หมายเหตุ: ภาพเยอะมาก โปรดพิจารณาเน็ตก่อนอ่านต่อ
หน้าจอ Home Screen + Drawer
ใน Android TV กูเกิลได้ยุบหน้า Home กับ Drawer ให้กลายเป็นแถบเมนูแบบเพียวๆ ที่มีชื่อว่า Leanback Launcherและหน้านี้จะอยู่กับเราไปตลอด ตั้งแต่เปิดเครื่อง กดเปิดเมนู หรือรันแอพพลิเคชันต่างๆ
ตัว Leanback Launcher จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ส่วนหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ
แถวแรกเป็น Suggestion List เอาไว้ใช้ในการแสดงรายการคอนเทนต์จากช่องทางต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมถึงรายการคอนเทนต์ที่เล่นค้างอยู่บน Google Play Music หรือ Google Play Movies จุดนี้จะคล้ายๆ Google Now บนมือถือ แต่เป็นการแนะนำคอนเทนต์ขึ้นมาแทนข่าว และกิจกรรมต่างๆ
แถวต่อมาเป็น Input Switching เอาไว้ใช้ในการเปลี่ยนช่องทางเชื่อมต่อแบบต่างๆ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่าผู้ผลิตรายอื่นจะใส่มาให้เหมือนโซนี่ด้วยหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะใส่มาให้ด้วยเหมือนกัน
แถวที่สี่เป็นหมวดของแอพพลิเคชันที่ติดตั้งในเครื่อง ซึ่งเราสามารถรันแอพฯ ของ Android TV (เรียกว่า Leanback App) ได้จากตรงนี้เลย อย่างไรเสีย Android TV สามารถ Sideload APK เข้าไปติดตั้งเพิ่มได้ แต่จะไม่สามารถเรียกจากตรงนี้ได้ นอกจากติดตั้งแอพฯ เสริม หรือเข้าไปเปิดในเมนู Settings
แถวที่ 5 เป็นหมวดของเกมสำหรับ Android TV ที่ติดตั้งอยู่
แถวสุดท้ายเป็นส่วนเมนูการตั้งค่าแบบง่ายๆ ของตัวเครื่อง เช่น Wi-Fi, Google Account หรือการตั้งเวลาเป็นต้น และสามารถกดเข้าการตั้งค่าเครื่องแบบเต็มๆ ได้จากตรงนี้เลย
การควบคุมตัวเครื่อง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กูเกิลคิดมาตั้งแต่แรกว่าจะทำยังไงให้การควบคุม Android TV มันดูง่าย และไม่ยุ่งยากเหมือนสมัย Google TV จนได้คำตอบว่าการใช้แค่ D-Pad 5 ปุ่ม ปุ่มหลักอีกสองปุ่ม และมีไมโครโฟนเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอต่อการใช้งานแบบทั่วๆ ไปแล้ว แนวคิดดังกล่าวจึงกลายมาเป็นข้อบังคับหลักในการทำรีโมทออกมาเพื่อใช้งานคู่กันนั่นเอง
รีรันจากสไลด์ในงาน Google I/O 2014 ที่ผ่านมา
ดังนั้นตัวรีโมทของ Android TV หลักๆ เลยจะมีปุ่ม Home สำหรับเรียกใช้งาน Leanback Launcher มีปุ่ม Back ไว้ใช้ย้อนกลับไปหน้าก่อนหน้า และมีปุ่มไมค์สำหรับใช้เรียก Google Voice Search แต่อย่างไรเสีย ใช่ว่าทุกคนจะได้ใช้รีโมทตัวนี้เพราะผู้ผลิตก็ไม่ได้แถมไปให้ทั้งหมด (เช่นโซนี่ที่ไม่ได้แถมมาให้)
ตัวอย่างรีโมทแบบพิเศษที่ทำตามเงื่อนไขของกูเกิล
หน้า Settings
หน้า Settings ถูกเปลี่ยนไปเยอะพอสมควร จากเดิมที่ขยายเป็นแบบ 2-pane บนแท็บเล็ต ในตอนนี้มันกลายเป็นเมนูแบบ Leanback ไปแบบสมบูรณ์ มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ให้เลือกใช้งาน และแต่ละคำสั่งจะแยกออกเป็นแต่ละหน้าไปเรื่อยๆ
คีย์บอร์ด
คีย์บอร์ดของ Android TV จะมีรูปลักษณ์ที่เหมือนกับคีย์บอร์ดบนมือถือทั่วๆ ไป แต่ไม่มีอย่างเดียวคือการรองรับหลายภาษา ไม่รู้ว่ากูเกิลลืมหรือว่าอะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ปัญหานี้ผู้ผลิตแก้ไขด้วยการเพิ่มคีย์บอร์ดของตัวเองเข้ามาให้เลือกใช้งาน
จุดที่หายไปจาก Android มือถือ คือปุ่มเปลี่ยนคีย์บอร์ด ซึ่งการเปลี่ยนคีย์บอร์ดบน Android TV สามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือการเข้าหน้า Settings เพื่อเปลี่ยนคีย์บอร์ดเท่านั้น
สรุปครึ่งแรก : Launcher, Settings และการใช้งาน
เท่าที่ดูภาพรวม ดูเหมือนว่ากูเกิลพยายามทำให้ Android TV ใช้งานได้ง่ายขึ้น เข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ได้เร็วขึ้น และที่สำคัญคือดูไม่ยุ่งยากเหมือนกับการใช้งานบนมือถือ และก็สามารถทำได้จริงอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะการใช้งาน Android TV นั้นดูใช้งานได้ง่าย ไม่ซับซ้อน (แม้มีฟังก์ชันของผู้ผลิตมาเสริมให้ซับซ้อนกว่าเดิม) และเข้าถึงเนื้อหาต่างๆ ได้ง่ายพอสมควร
รวมถึงการนำ Material Design มาปรับใช้กับ Android TV นั้น ก็ดูลงตัวไปแทบทุกส่วน และดูสวยงามพอสมควรเมื่อขยายขึ้นมาอยู่บนจอใหญ่ระดับ 40-50 นิ้ว ซึ่งนับได้ว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีพอสมควร
ส่วนเดียวที่ไม่ชอบ คือการที่ Android TV ตัดจุดเด่นของ Android ออกไปพอสมควร เช่น Notification หรือ Recent App เพราะถึงแม้ว่า Android TV จะรองรับการทำงานแบบ Multitasking เหมือน webOS ของ LG แต่สิ่งที่ขาดไปคือการสลับไปมาระหว่างแอพพลิเคชัน ที่บางตัวต้องหยุดการทำงานและเข้ามาใช้งานใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งนับว่าสร้างความรำคาญในการใช้งานได้พอสมควร
ต่อไปเราลองมาดูแอพพลิเคชันหลักๆ บน Android TV ที่เราต้องได้ใช้งานกันแน่นอนดีกว่าครับ
Voice Search
หนึ่งในฟีเจอร์หลักของ Android TV ที่กูเกิลแนะนำมาตั้งแต่ต้น โดยฟีเจอร์นี้ลักษณะจะเหมือนกับ Google Now บนมือถือแทบทุกอย่าง เพราะนอกจากค้นหารายการที่เราสนใจได้แล้ว มันยังสามารถสอบถามข้อมูลได้เหมือนกับ Google Now บนมือถือด้วย ไม่ว่าจะเป็นการถามเวลา การถามสภาพอากาศ หรือการถามข้อมูลในเชิงลึกของรายการต่างๆ ก็สามารถถามได้หมด
การเริ่มต้นการใช้งาน Voice Search เราสามารถเริ่มใช้งานได้จากทุกส่วนของตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างการชมโทรทัศน์ หรืออยู่ในหน้าเมนูหลัก เพียงกดปุ่ม Voice บนรีโมท Voice Search ก็จะพร้อมรับคำสั่งในการค้นหาทันที
นอกจากการค้นหารายการต่างๆ ได้แล้ว Voice Search ยังสามารถใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชันอื่นๆ ในเครื่องได้อีกด้วย เช่น Google Play Store, YouTube, Tune In หรือแอพพลิเคชันของ Android TV ที่รองรับเป็นต้น
YouTube
สำหรับแอพฯ YouTube บน Android TV นั้น เป็นแอพพลิเคชันตัวแรกที่เป็นแบบ Native App โดยสมบูรณ์ (เขียนด้วย Leanback Framework) มีส่วนสำคัญทั้งหมดสองส่วน คือส่วนที่เป็นหมวดหมู่และช่องรายการบน YouTube และส่วนวิดีโอ
ในส่วนของช่องรายการจะไม่เหมือนกับแอพฯ YouTube บนสมาร์ททีวีตัวอื่นๆ เพราะเจ้าของช่องไม่สามารถตกแต่งช่องรายการของตัวเองได้ เช่นการใส่ภาพ Header ของช่องเป็นต้น
ในส่วนของตัวเล่นวิดีโอก็เรียบง่ายอย่างมาก เพราะมีแค่ตัวควบคุมการเล่นเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราสามารถเลื่อนลงเพื่อดู Suggestion List ของ YouTube ต่อได้
Google Play
ในส่วนของ Google Play ก็มีการแตก Store ใหญ่ออกเป็นทั้งหมด 4 ส่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้
Play Store
ส่วนสำหรับดาวน์โหลดแอพพลิเคชันและเกมบน Android TV โดยแอพพลิเคชันทั้งหมดล้วนเป็นแอพพลิเคชันที่ถูกปรับแต่งและสามารถทำงานได้ดีบน Android TV ทั้งหมด
โดยใน Store จะแบ่งหมวดหมู่ของแอพพลิเคชันต่างๆ ออกเป็นทั้งหมด 4 หมวด ได้แก่หมวดบันเทิง หมวดเกมสำหรับรีโมททั่วไป หมวดเกมสำหรับเกมแพดหรือคอนโทรลเรอร์ และหมวดแอพพลิเคชันทั่วๆ ไป
การติดตั้งแอพพลิเคชันก็ยังเหมือนกับบนแพลตฟอร์มอื่นๆ นั่นก็คือมีการขอ Permission ในการติดตั้งทุกครั้ง และผู้ใช้ต้องอนุญาตก่อนถึงจะติดตั้งลงบนเครื่องได้
ในส่วนการดูรายละเอียดการติดตั้ง เราจะต้องย้อนกลับมายังหน้า Launcher เพื่อดูรายละเอียด เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่แรกคือ Android TV ไม่มี Notification ให้ใช้งาน เราจึงต้องทำการติดตามรายละเอียดที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยตัวเอง
Play Movie
ส่วนที่สองจะเป็นส่วนของ Play Movie ซึ่งเราสามารถเช่าหนังที่เราอยากดูได้จากที่นี่ หรือจะเปิดหนังที่เราซื้อในมือถือมาดูต่อบนนี้ได้เลย
Play Music
ส่วนนี้จะเป็นส่วนของบริการ Play Music หรือการซื้อเพลงผ่าน Google Play แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า บ้านเรายังไม่ได้เปิดให้บริการ Play Music เลยแม้แต่น้อย (แม้กระทั่ง Cloud Streaming ก็ไม่สามารถใช้ได้) ดังนั้น Play Music บน Android TV ที่ขายในประเทศไทยจึงมีหน้าที่เป็น Music Player โดยปริยาย
Play Games
ส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนของบริการ Play Games สำหรับไว้ใช้เป็น Game Center บน Android TV จุดสำคัญคือมันสามารถ Sync กิจกรรมของเกมต่างๆ ไปๆ มาๆ ระหว่างมือถือและบน Android TV ได้เลย เช่น เล่นเกมค้างถึงไหน เมื่อเปิด Android TV เราสามารถเล่นต่อจากจุดนั้นได้เลยโดยที่ไม่ต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก
นอกจากความสามารถในการ Sync เกมต่างๆ ได้แล้ว เรายังสามารถดู Profile ของเราและของเพื่อนๆ บน Google+ และก็สามารถเทียบ Profile ระหว่างผู้เล่นได้จากจุดนี้ได้เลย (ขอยืมคุณ nismod มาเป็นนายแบบหน่อยละกัน)
ที่สำคัญคือนอกจากสองฟีเจอร์ที่พูดถึงด้านบน Play Games บน Android TV ยังสามารถดู Progress ของเกมต่างๆ ที่เราเล่นบนมือถือได้ด้วย ทั้งรายละเอียดเกม และ Achievement มาครบหมด
สรุปครึ่งหลัง: 6 แอพพลิเคชันพื้นฐานบน Android TV
ยอมรับว่ากูเกิลตัดสินใจได้ดีมากที่ยอมตัดแอพพลิเคชันที่ใช้งานประจำจากหลายๆ บริการบนมือถือ มาพอร์ตลง Android TV เพียงแค่ 3 ส่วนหลักๆ คือ Voice Search, Google Play และ YouTube แต่นับว่าน่าเสียดายที่กูเกิลไม่ได้ใส่ Google Chrome ติดมาให้ด้วย (ลงเองจาก Play Store บนเว็บได้ แต่ใช้งานจริงไม่ได้) เลยทำให้ Android TV ยังเป็นระบบปฏิบัติการสมาร์ททีวีเพียงตัวเดียวที่ยังไม่มี Browser ให้ใช้งาน
และถ้าเราสังเกต เราจะเห็นได้ว่าแอพพลิเคชันทั้งหมด ถูกกูเกิลฟอร์มหนักให้มาในรูปแบบ Leanback Framework แทบทั้งสิ้น ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่ดีในระดับหนึ่ง เหมือนกับที่กูเกิลเคยทำให้ Holo Theme กลายเป็นฟอร์มหลักของ Android ตั้งแต่สมัย Android 3.0 Honeycomb มาแล้ว
จุดสำคัญตอนนี้คือแอพพลิเคชันของ Android TV ใน Play Store ยังมีอยู่น้อยมาก รวมถึงยังไม่มี Browser ให้ใช้งาน (โซนี่แก้ปัญหาด้วยการติดตั้ง Opera มาให้ใช้ไปก่อน) ซึ่งก็ต้องรอดูหลังจาก Android M เปิดตัวออกไปแล้วว่ากูเกิลจะสามารถเรียกให้นักพัฒนาหันมาสนใจ Android TV กันได้มากน้อยแค่ไหน
สรุปทั้งหมด
ถ้าไม่นับ Google TV (กับ Chromecast) ที่ล้มไม่เป็นท่าไปแล้ว Android TV น่าจะเป็นกระสุนลูกใหม่ที่กูเกิลจะสาดลงตลาดสมาร์ททีวีและมินิคอนโซลอย่างเต็มที่ เพราะถ้าถึงขั้นที่ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้เป็นระบบปฏิบัติการหลักของสมาร์ททีวีในปี 2015 ได้ แสดงว่ารอบนี้กูเกิลน่าจะเตรียมตัวและทำการบ้านมาดีพอสมควร แต่จะดีพอให้กูเกิลกลับมามีที่ยืนในตลาดนี้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไปแบบยาวๆ
และเมื่อสรุปประเด็นสำคัญ ก็จะแตกเหตุผลได้ประมาณนี้ครับ
- Android TV เกิดมาเพื่อเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ททีวีอย่างจริงจัง เพราะถ้าเทียบกับ Google TV แล้ว Android TV ยังสามารถใช้งานได้ง่ายกว่ามาก
- Android TV เริ่มนำความคิดสมัย Android 2.x กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง ตั้งแต่การซ่อนเมนูที่ควรจะใช้งานบ่อยๆ ไว้ หรือแม้แต่การพัฒนาการด้านภาษาที่ยังไม่ดีพอ (ตัว Android TV รองรับภาษาไทย แต่คีย์บอร์ดภาษาไทยไม่มี ซึ่งอันนี้เหมือน Android 2.2 Froyo แบบเป๊ะๆ)
- คนที่ใช้มือถือ Android มาแล้วมาเริ่มใช้ Android TV อาจจะต้องคลำๆ กันสักพัก เนื่องจากแนวคิดของทั้งสองระบบนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
และเมื่อเทียบกับ webOS ที่ตีตลาดสมาร์ททีวีมาก่อนหน้านั้นแล้ว
- Android TV ยังตามหลัง webOS อยู่มาก โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง Multitasking ที่ webOS ทำได้ดีกว่า
- ในส่วนของแอพพลิเคชัน (ถ้าไม่นับแอพเก่าที่เป็น HTML5) ถือว่าพอกันทั้งสองแพลตฟอร์ม เพราะเขียนยากทั้งคู่ (และ LG ค่อนข้างแข็งเรื่องการตรวจแอพฯ ด้วย)
ตอนนี้ก็ขอจบบทความรีวิว Android TV เอาไว้เพียงเท่านี้ แล้วเดี๋ยวผมจะเขียนรีวิวเจ้า Bravia Android TV ตัวนี้แบบละเอียดในภายหลัง ซึ่งถ้าใครอยากทราบรายละเอียดอะไรเพิ่มเติม ก็ลองคอมเมนต์สอบถามมาได้เลยครับผม
Comments
ไม่มี Key board ภาษาไทย T T
recommend ใน youtube ท่านผู้เขียน OrZ
ผมนี่อึ้งไปเลย
ผมนี้หามาอ่านเลย #เดียวววววววววว
Mekokung's Story บล็อกส่วนตัวที่ย้ายไป Blogger แล้วนะ
เรื่อง Toshishita kareshi ที่ recommend แรก .. อะไรนั่นน่ะเหลอครับสนุกมั้ยครับ ดูธรรมะธัมโม ยังไงไม่รู้ไม่กล้า search กรูเจิ้น ตามเลยฮะ กลัวมันติด recommend เอ้ยย ! กลัวมันไม่สนุกฮะ
InPrivate, Incognito มีไว้เพื่อการนั้นครับ ;)
OTL
ใช้งานอยู่ เท่าที่เจอจะพิมพ์ไทยต้องใช้แอพรีโมท sideview ของ Sony ในมือถือพิมพ์เอาฮะ ใช้ wireless keyboard กดเปลี่ยนภาษาไม่ได้
Smart TV ยุคโบราณของ Sony ที่ห้องผมก็ต้องทำแบบนั้นครับ 555
555 แอบมึนครับ คีย์บอร์ตwirelessใช้สะดวกดี แต่พอจะพิมพ์ไทยต้องใช้แอพมือถือ จะเปลี่ยนไปดูทีวีต้องหยิบรีโมท อยากใช้ไมค์ค้นหาแต่รีโมทตัวแถมไม่มีไมค์ ต้องกลับไปที่แอพมือถือ พอจะเล่นเกมต้องหยิบจอย -__-" แอพมือถือเหมือนจะควบคุมได้ครบแต่เอาจริงๆก็ใช้ไม่ถนัดต้องคอยมองจอ สมาร์ททีวีนี่มัน first world problem จริงๆฮะ
ใช่ครับ ใช้แอพมือถือถ้าไม่มองนี่นี่จิ้มๆ ไปพลาดเฉยเลย
เพิ่งไปลองของโซนี่มาเมื่อวาน เร็วกว่าและลูกเล่นเยอะกว่าสมาร์ททีวีรุ่นเก่าของแซมซุงอย่างเห็นได้ชัดเลย
webOS อืดมากครับ เวลาจะเปลี่ยนภาษาทั้งเสียงและ subtitle ลำบากมากครับ
Ooh
ทีวีโซนี่ปีนี้น่าสนใจมากๆ ตัว 50" FHD (50W800C) ราคา ~28k เท่านั้นเอง ไปลองเล่นมาแล้วลื่นดีมาก (แต่ร้านดันไม่ต่อเน็ต) ขอบบางมากสวยสุดๆ ภาพแจ่มอันนี้คงไม่ต้องสงสัย
ปล. ผมไม่เห็นด้วยตรงที่ว่า Chromecast ล้มไม่เป็นท่านะครับ ผมว่ามันคือ gadget ที่คุ้มเงินมากที่สุดตัวหนึ่ง ทุกบ้านควรมีเลยแหละ
Pitawat's Blog :: บล็อกผมเองครับ
อยากจัดตัวนี้เหมือนกัน ต้องไปลองเล่นละ
+1 เรื่อง chromecast ฮะ
ผู้เขียนอาจเรียงข้อความผิดที่ผิดทางมั้งนะครับเขาอาจสื่อว่า "ถ้าไม่นับ Chromecast (กับ Google TV ที่ล้มไม่เป็นท่าไป)" นะ
Chromecast นี่ล้มไม่เป็นท่าจริงหรอครับ?
รบกวนช่วยรีวิวให้หน่อยครับ กำลังตัดสินใจซื้ออยู่
Android TV ตัวนี้สามารถตอบโจทย์การดูหนัง HD
โดยไม่ต้องซื้อกล่องพวก playon เพิ่มได้รึเปล่าครับแบบว่าลงพวก app VLC ไรพวกนี้แล้วจบ ไม่ต้องต่อกล่องอีก
การอ่านไฟล์ทำได้ครบรึเปล่า การแสดงซับได้หรือไม่
รบกวนด้วยนะครับ
ผมใช้ mxvideo player/vlc เล่นไฟล์หนังใน HDD ผมได้หมดนะครับเท่าที่ลองดู VLC มันจะดึง sub เอง mxvideo player เรากด open file .srt เพิ่มเอา แต่วิธีเปิดหนังจาก HDD คือต้องไปโหลด ES File Explorer File Manager มาฮะ
VLC รองรับ Android TV โดยสมบูรณ์แล้วครับ VLC เป็นแอพเล่นหนังประจำเครื่อง Nexus Player ของผมไปแล้วครับ สามารถดึงไฟล์จาก usb หรือ lan ได้โดยตัวเองครับ และเลือกเสียงและซับได้
เอา Chrome มาใส่ทีวี เกรงว่าแรมจะไม่พอครับ
สนใจ android tv มานานครับ
พอดูรีวิวนี้ ตกผลึกได้เลยครับ.....ไม่ซื้อแน่ ๆ
เป็น smart TV ที่จืดชืดมาก ผมมองไม่ออกว่า มีอะไรดีกว่า OS ที่ผู้ผลิตทีวีทำกันเอง ซึ่งหลาย ๆ ตัวทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ
ถ้า android tv ยังมีแค่นี้ ไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้ คงได้ม้วนเสื่อกลับบ้านไปอีกทีละครับ
ผมยังมองไม่เห็นว่า ในการเลือกทีวีเครื่องใหม่ ทำไม ผมควรจะเลือก Android TV ครับ ผมไม่เห็นเหตุผลที่จะเลือก เหนือคู่แข่งเลย (อ้างอิงจากข้อมูลในรีวิวนี้เท่านั้นนะครับ)
ถ้ามีการอัพเกรด เป็นเวอร์ชั่นถัด ๆ ไป อาจจะน่าสนใจบ้างครับ
วันนี้ ยังไม่โดน
เปลี่ยนคำว่า Android TV เป็น Windows Phone ก็คงจะให้ผลแบบเดียวกันครับ
ระบบทั้งสองตัวนี่เฉยๆมาก สิ่งที่เป็นจุดขายก็คือการควบรวมบริการจาก ecosystem มาแหละครับ
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
ผมเคยไปเล่น Nexus Player ของคนอื่นมาก็รู้สึกคล้ายๆ กันครับ แต่เท่าที่อ่านจากรีวิวนี้แล้ว เหมือนว่ากูเกิลจงใจให้มันเรียบเลย ตัดทิ้งอะไรไม่จำเป็นออกหมด
ขาดโครมไปนี่เศร้าพอสมควร แต่ก็ยังอยากได้อยู่แต่ละรุ่นใช้cpuอะไร แรมเท่าไหร่ครับ
ของโซนี่เป็น MediaTek MT5955 UHD Platform ครับ
ใช้ตัวเดียวกันทุกรุ่นเหรอครับ
รุ่น 4K ใช้ตัวนี้ทุกรุ่นครับ และแววว่าจะใช้ไปทุกยี่ห้อที่ทำ TV ด้วย เพราะชิปตัวนี้ Google เป็นคนออกแบบครับ
MT5595 หรือเปล่าครับ > <"
Russia is just nazi who accuse the others for being nazi.someone once said : ผมก็ด่าของผมอยู่นะ :)
อุ่บ ><"
Android TV ถ้าเน้นขายแต่ Content ผมว่าสู้ Apple TV ยาก
แต่ทำตัวเป็น media player ที่เล่นไฟล์ External ได้หลายนามสกุล ผมว่า ชนะขาด
ผมสั่ง NVIDIA SHIELD มาจากอเมซอนได้ของมาเกือบสองสามอาทิตย์ แต่ยังไม่มีเวลารีวิวเลยครับ แอปดูหนังใช้ KODI อยู่ ก็โอเคนะครับ
ป.ล. GRID ยังใช้ไม่ได้เพราะสงสัยเน็ตที่บ้านช้าไป แจ้งเปลี่ยนเน็ตเป็น 3BB fttx 1200 รอมาติดตั้งอยู่ ไม่รู้จะเล่นได้หรือเปล่า
ช่อง Youtube ของผมครับ รีวิวและชวนคุยนู่นนี่
พอจะทราบไหมครับว่าความละเอียด YouTube ที่ได้นี่เท่าไหร่ครับ เห็นของหลายๆคนแหงกอยู่ที่ 720p ครับ
ก็วิ่งไป 4K นะครับ :/
ตั้งตารอรีวิวโซนี่แอนดรอยทีวี อิอิ
พึ่งไปซื้อ W800C 43 นิ้ว เมื่อวานเลยครับ
ไปเดินเล่นที่เมืองทองธานี รุ่น 43 นิ้ว 26,990 เหลือ 21,990 บาท แลกซื้อชุด home theater Blu-Ray 3D 5,990 บาท จัดมาเป็น set เลย
ใช้วันแรกมีอาการงงๆครับ ต้องเรียนรู้
มีผ่อน 0% ไหมครับ
ผมได้มา 20,990 จากเมืองทองเหมือนกัน แล้วได้แว่นตามาสองอัน แบบ active อันละ 990 บาทครับ ขาดแต่เครื่องเล่นบลูเลย์ครับ
มี facbook app ยังครับ
ผมขอ youtube พอครับ โรงงาน ใส่มาเยอะเกิน เครื่องร้อน ช่างบอกเมนบอร์ดพัง ไม่มีอะไหล่ มึนนนนนน พอเลย เดี๋ยวนี้เอา Android Box ต่อ แจ่ม
Review จากปี 2016 ครับ ภาพสวย เสียงน่าประทับใจ (เสียงลำโพงจากตัวเครื่องดีเกือบเท่า Sound Bar เผลอๆอาจจะดีกว่า) แต่พอจะเข้าใช้แอพ หรือเล่นเมนูที่เป็น Android กลับทำงานช้ามากครับ (เทียบกับ LG / Samsung) Sony เองต้องเลือก Specs CPU กับ RAM ที่ดีกว่านี้หน่อย ถ้ารุ่นต่อไปยังช้าเหมือนเดิมแฟนๆหายหมดแน่นอน