Tags:
Node Thumbnail

ประเทศไทยมีประวัติการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมายาวนานเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ยุคบุกเบิกโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ จนกระทั่งมีการเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นการถาวรและเป็นกิจลักษณะ โดยมีบริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต จำกัด ( KSC ) เป็นผู้ให้บริการเชิงพาณิชย์รายแรกในไทยในปี พ.ศ. 2537

โครงสร้างอินเทอร์เน็ตประเทศไทยในยุคแรกเริ่มนั้น ต่างหน่วยงานต่างก็เชื่อมต่อออกต่างประเทศกันเองผ่านทางช่องทางสื่อสารต่างๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมากเนื่องจากเป็นการใช้งานจากรายเล็กๆ หลายๆ ราย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากว่าผู้ให้บริการแต่ละรายไม่มีการเชื่อมต่อเข้าหากันได้โดยตรง จึงทำให้การสื่อสารจากหน่วยงานที่หนึ่ง ไปยังหน่วยงานที่สองที่แม้ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยด้วยกัน ในบางครั้งจะต้องติดต่อออกไปอ้อมยังต่างประเทศ เช่นสิงคโปร์ หรือฮ่องกง หรือกรณีเลวร้ายที่สุดคือต้องไปอ้อมถึงอเมริกาเลยทีเดียว จนได้มีการประกาศให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางที่ดำเนินการโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ในยุคนั้น) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 และผูกขาดการเชื่อมต่อทั้งใน และระหว่างประเทศแต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม การที่มีเพียงการสื่อสารแห่งประเทศไทยเพียงรายเดียวนั้นก็ทำให้ค่าเชื่อมต่อสูงมาก (แม้ว่าจะลดลงมาจากการที่ผู้ให้บริการแต่ละรายเชื่อมต่อเองแล้วก็ตาม) อีกทั้งยังไม่มีความหลากหลายของเส้นทางการเชื่อมต่อออกต่างประเทศอีกด้วย โดยเริ่มมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2540 และตามมาด้วยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 จนนำมาสู่การจัดตั้ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมาได้ เป็นผลให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอินเทอร์เน็ตประเทศไทย และมีการประกาศเปิดเสรีอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2549

การจัดตั้ง กทช. ในครั้งนั้นได้ออกใบอนุญาตให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) และบริษัท ทีโอที จำกัด (TOT) ในปี 2548 บริษัท ทรู อินเทอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด (TIG) และบริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ADC) ในปี 2549 และบริษัทอื่นๆ อีกหลายบริษัทในปีต่อๆ มา โดย TOT ได้เริ่มมีการเชื่อมต่อออกต่างประเทศเป็นของตัวเองในเดือนตุลาคม 2549 ด้วยขนาดวงจร 620 Mbps TIG เริ่มให้บริการในเดือนเมษายน 2550 ด้วยขนาดวงจร 3,655 Mbps หลังจากนั้นก็ได้มีการเพิ่มเติมมาอีกหลายรายจนล่าสุดปัจจุบันมีแล้ว 10 ราย (CAT, DTAC, BB Connect, CSL, JasTel, AWN, SYMC, TCCT, TIG, TOT) พร้อมทั้งวงจรเชื่อมต่อที่หลากหลายเส้นทางมากขึ้น

ข้อดีของความหลากหลายของเส้นทางนี้มองเห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบครั้งที่เกิดเหตุการณ์เคเบิลใต้น้ำขาดเนื่องจาก แผ่นดินไหวที่ไต้หวันเมื่อปลายปี 2549 ซึ่งในตอนนั้นยังมีเพียง CAT เจ้าเดียวเท่านั้น ทำให้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยแทบไม่สามารถเรียกใช้งานข้อมูลจากต่างประเทศได้เลยเนื่องจากชำรุดไปมากกว่า 60% และเป็นการชำรุดในเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อไปยังอเมริกาเหนือซึ่งเป็นการใช้งานส่วนใหญ่อีกด้วย แต่ในปี 2554 ที่มีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นที่ทำให้สายเคเบิลใต้น้ำขาดจำนวนมาก ประเทศไทยกลับแทบไม่ได้รับผลกระทบเลยเนื่องจากมีปริมาณเส้นทางสำรองเพียงพอกับปริมาณการใช้งาน โดยผลกระทบมีเพียงการใช้งานที่ล่าช้าลงไปบ้างตามเส้นทางที่ต้องอ้อมมากขึ้นเท่านั้น

หรือแม้แต่ครั้งที่อาคารสื่อสารข้อมูลของ กสท ที่บางรักโดนตัดไฟ หากในครั้งนั้นยังคงมีเพียง กสท เป็นผู้ให้บริการรายเดียว อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยคงล่มหมดทั้งประเทศเลยทีเดียวเนื่องจากศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล CAT ทั้งภายในและต่างประเทศต่างก็อยู่ที่อาคารดังกล่าวทั้งคู่ ผลกระทบโดยหลักจึงเหลือเพียงการใช้งานที่ผ่าน หรืออยู่ที่อาคารดังกล่าวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบไป

อีกทั้งเมื่อตลาดแข่งขันเสรี ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ต่างก็ต้องลงทุนเพื่อแข่งขันกันในตลาดก็ทำให้ขนาดวงจรที่เชื่อมต่อออกต่างประเทศโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแทบทุกปี แผนภูมิแท่งด้านล่างแสดงขนาดวงจรของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของประเทศไทยโดยรวม ในเดือนมกราคมของแต่ละปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา (กราฟเป็น Log scale โปรดระวังในการอ่านค่า) ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีขนาดวงจรเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเกือบๆ เท่าตัวทุกปี

alt=

ในขณะเดียวกัน ข้อดีที่ชัดเจนยิ่งกว่าของตลาดแข่งขันเสรีที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับขนาดวงจรที่ใหญ่ขึ้นคือ ค่าบริการในการเชื่อมต่อ IIG เหล่านี้ได้มีการปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตามแผนภูมิด้านล่าง ซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการค่าใช้จ่ายของการเชื่อมต่อเข้าหา IIG ในแต่ละปีโดยไม่รวมค่าสายสัญญาณ โดยมีแนวโน้มในการปรับลดลงมาไม่ต่ำกว่า 30% ทุกๆ ปี ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่างประเทศความเร็วสูงขึ้นเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง และมีเสถียรภาพดีขึ้น

alt=

แม้ว่าตลาดอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศจะยังคงเป็นตลาดเฉพาะ ที่มีผู้ที่สามารถให้บริการได้น้อยราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านหรือในองค์กรรายใหญ่เท่านั้นถึงจะมีไว้ใช้งานเอง และอาจมีขายให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่ไม่มีเกตเวย์เป็นของตัวเองบ้าง แต่เราก็ยังสามารถเห็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์เหล่านี้เชื่อมต่อเข้าหากันเพื่อเป็นการสร้างเส้นทางสำรอง ทั้งให้กับระบบของตนและรวมไปถึงลูกค้าผู้ใช้งาน ผลการสร้างโครงข่ายแบบนี้ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสถียรภาพในราคาที่คุ้มค่าและเอื้อมถึงได้

Get latest news from Blognone

Comments

By: churos
Contributor Android Windows
on 25 September 2015 - 21:32 #846610

ผมจำได้ว่า KSC เป็น ISP รายแรกนะครับ https://th.m.wikipedia.org/wiki/เคเอสซี
KSC เปิดปี 2537 ส่วน INET เปิดปี 2538 ครับเลข AS number ของ KSC ยุคแรก (AS4274) ก็น้อยกว่า INET (AS4618) คือมีการขอ AS number มาก่อน
ยุคหลังๆดูเลข AS number ไม่ได้แล้วเพราะมีการเอาเลขเก่ามาใช้ใหม่

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 25 September 2015 - 21:39 #846613 Reply to:846610

แก้ไขตามนั้นครับ ขอบคุณมากครับ _/\_

By: iDan
Contributor Android SUSE Ubuntu
on 26 September 2015 - 06:36 #846666 Reply to:846610

นึกว่า CS Loxinfo มาก่อนซะอีก

By: picpost
iPhone Windows
on 25 September 2015 - 22:43 #846628
picpost's picture

ตอนนี้น 56kb ใช่ไหมครับ

By: nzangel
Windows Phone Android Ubuntu
on 25 September 2015 - 22:48 #846629 Reply to:846628

9.6 k เลยครับ ผมใช้ KSC ช่วงแรกๆ แพงแบบเลือดสาด ต่อมาก็ 14.4 33.6 แล้วก็ 56k ไปหลายปี จน ISDN ,าตอนเกม online เริ่มบูม จนมา ADSL แบบ256/128

By: platalay
iPhone Windows Phone Android Windows
on 25 September 2015 - 22:59 #846630 Reply to:846628

ผมซื้อครั้งแรก 14.4 ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นซื้อมา 40ชม. 700บาท

By: Ford AntiTrust
Contributor Android Blackberry Ubuntu
on 25 September 2015 - 23:02 #846631
Ford AntiTrust's picture

จำราคา internet 33.6kbps ราคาชั่วโมงละ 45-50 บาทได้ดี

By: Jonathan_Job
Writer iPhone Ubuntu Windows
on 26 September 2015 - 05:28 #846664 Reply to:846631
Jonathan_Job's picture

จำได้เหมือนกันเสียให้กับ Samart CyberNet ไปหลายพันอยู่

แล้วก็มา InfoNet กับ Anet ที่ถูกหน่อย

By: poa
Android
on 26 September 2015 - 21:44 #846800 Reply to:846664

บางเจ้าราคาถูก แต่ต่อไม่ค่อยจะติด เสียค่าต่อครั้งละ 3 บาทเยอะมาก

By: toandthen
Writer MEconomics
on 26 September 2015 - 10:07 #846681 Reply to:846631
toandthen's picture

จุดเปลี่ยนคือ 299 บาทอันลิมิต


@TonsTweetings

By: iamfalan
iPhone Android Windows
on 26 September 2015 - 12:13 #846705 Reply to:846681

ClickTA หรือเปล่าครับ

By: Go-Kung
iPhone Windows Phone Android Blackberry
on 27 September 2015 - 23:21 #847023 Reply to:846705

เท่าที่จำได้ (และถ้าจำไม่ผิด)
ค่าย True (ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นบริษัท Telecom Asia) เป็นคนเริ่มในชื่อ ClickTA ครับ
แต่ disconnect ทุก 2 ชม. พร้อมแถม ads ที่ด้านล่าง 1 แถบ

By: xxa
Android
on 25 September 2015 - 23:05 #846635

ไปยังหน่วยงานที่สองที่แม้ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยด้วยกัน

ไปยังหน่วยงานทั้งสองที่แม้ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยด้วยกัน

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 และผูกขาดการเชื่อมต่อทั้งใน และระหว่างประเทศแต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนาน

อันนี้งง

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 25 September 2015 - 23:09 #846638 Reply to:846635

อันแรก

เนื่องจากว่าผู้ให้บริการแต่ละรายไม่มีการเชื่อมต่อเข้าหากันได้โดยตรง จึงทำให้การสื่อสาร "จากหน่วยงานที่หนึ่ง ไปยังหน่วยงานที่สอง"ที่ { แม้ว่าจะอยู่ภายในประเทศไทยด้วยกัน } ในบางครั้งจะต้องติดต่อออกไปอ้อมยังต่างประเทศ

อันที่สอง

จนได้มีการประกาศ { ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อผ่านศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางที่ดำเนินการโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ในยุคนั้น) } [เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว] ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 กรกฎาคม 2544

  • ปัญหาดังกล่าว คือปัญหาตาม quote อันแรก
  • ตามมติคณะรัฐมนตรี คือการประกาศที่ว่า
By: PH41
Contributor Android Ubuntu Windows
on 26 September 2015 - 11:51 #846700
PH41's picture

ประมาณ 12 ปีที่แล้ว ซื้อเน็ตนิลมังกรมา ไม่ได้ใช้จนหมดอายุ เพราะ tot เท่านั้น แต่ tot ใช้ totonline ได้ฟรี

By: Kittichok
Contributor
on 26 September 2015 - 14:07 #846718

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ

By: Sephanov
iPhone Ubuntu
on 26 September 2015 - 15:38 #846731
Sephanov's picture

เคยอ่านว่า "ไม่มีทางหรอกที่จะรวบ traffic ให้ผ่านห่วงๆเดียวได้ แค่เก็บ traffic ก็ต้องใช้เนื้อที่วาง server หลายสนามฟุตบอล" เลยสงสัยว่าที่จีนเค้าทำได้ยังไงนี่สิ

By: Architec
Contributor Windows Phone Android Windows
on 26 September 2015 - 16:36 #846746 Reply to:846731

เงินครับ (ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลย)

ส่วนพี่ไทยอยาก วัลลาบี แต่ไม่รู้จะเอาเงินจากที่ไหนทำ

By: tuttap
Android
on 26 September 2015 - 16:13 #846739
tuttap's picture

อุปกรณ์ ที่จะรวบรวมคัดกรองอะ ครับ เร็วพอ ที่จะประมวลผลทั้งหมดในเวลาเดียวกันเลยเหรอครับ

By: Go-Kung
iPhone Windows Phone Android Blackberry
on 27 September 2015 - 23:27 #847025 Reply to:846739

ถ้าเงินถึง อะไรก็ทำได้ครับ

เหมือนปัญหา performance ของโปรแกรมนี่แหละครับถ้างบถึงและไม่เสียดายงบ อัด Processor/Memory/Storage เข้าไปเยอะๆ ปัญหาก็จะหายไปโดยไม่ต้อง optimize ให้เหนื่อยเลย

By: TeamKiller
Contributor iPhone
on 26 September 2015 - 19:11 #846774
TeamKiller's picture

ปัจจุบัน Inter Bandwidth ไทยระดับ Tbps โหดจริงๆ

ว่าแต่ทำไมกราฟ Bandwidth ของปี 2554 มันหายหว่า

By: icez
Contributor iPhone Android Red Hat
on 26 September 2015 - 21:50 #846803 Reply to:846774

สิ้นปีนี้มีโอกาสเห็น 2Tbps ครับ

By: pote2639
Contributor iPhone Windows Phone Windows
on 27 September 2015 - 16:54 #846954 Reply to:846774

น้ำท่วมใหญ่หรือเปล่า? ไม่แน่ใจนะครับ

By: toooooooon
iPhone Windows Phone Android Blackberry
on 26 September 2015 - 19:17 #846776

ฉันพร้อมแล้วเพื่อนเอ๋ย พร้อมจะลุยกันมานานแล้ว ฮา ฮ่า โย่ว

แล้วก็ PIRC98 ก็นะ...

อินเตอร์เน็ตบนความเร็ว 56K

By: Zew on 26 September 2015 - 19:44 #846780

ติ๊ดๆๆๆ ตู๊ด ซ่า....

U89$0y)9@totonline.netj4**9c+p

By: Perl
Contributor iPhone Ubuntu
on 27 September 2015 - 11:34 #846890 Reply to:846780
Perl's picture

แถมเอาใช้เล่น Rag ด้วยนะ

By: Zew on 27 September 2015 - 20:08 #846997 Reply to:846890

ผมนี่กำลังตี้ลุย Glast Heim แพชใหม่กับเพื่อนอยู่เลยและแล้วมันก็หลุดพอดี เพื่อนก็ด่าไปสิ 555

By: aeksael
Contributor iPhone Windows Phone Android
on 3 October 2015 - 13:01 #849161 Reply to:846780
aeksael's picture

ต้องเดินสายขององค์การเพื่อมาต่อ ตัดทุก 2 ชม ใช้ของเทเลคอมก็ไม่ได้มันแยกกัน โดนป้าด่าประจำเลยคนโทรสั่งข้าวไม่ได้


The Last Wizard Of Century.

By: tanapon on 27 September 2015 - 20:46 #847000

Single Gateway ถ้าหมายถึงองค์กรเดียว ดังนั้นการใช้เคเบิลหลายเส้นก็น่าจะช่วยได้ในแง่ของเสถียรภาพ

By: iamfalan
iPhone Android Windows
on 28 September 2015 - 10:05 #847091 Reply to:847000

จะมีเคเบิลเป็น 100 เส้น แต่ถ้าเกทเวย์ล่มก็จบหรือเปล่าครับ?

เอาเข้าจริงๆ ต่อให้ไม่มองเรื่องความเป็นส่วนตัว นโยบายนี้ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆเลยนะครับเท่าที่กล่าวอ้างว่า เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ ไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน

  1. มันไม่มีคำว่าซ้ำซ้อนอยู่แล้ว เพราะ gateway ที่เปิดขึ้นมาใหม่ คือแบนด์วิทออกนอกที่เพิ่มขึ้น
  2. แล้วจะไปเอาภาระผู้ประกอบการออกทำไม ในเมื่อเขาก็ลงทุน ได้ผลตอบแทนกันเป็นปกติ แล้วเราจะเอาเงินภาษีของเราไปทุ่มกี่พันกี่หมื่นล้าน เพื่อทำในสิ่งที่ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถทำได้อยู่แล้ว
By: TeamKiller
Contributor iPhone
on 28 September 2015 - 21:13 #847315 Reply to:847000
TeamKiller's picture

ตัดไฟตึกก็จบแล้วครับ เช่น ที่ตึก CAT