หลังจากที่ผมเขียนบทความ แอปเปิล vs กูเกิล - ความแตกต่างที่ลงลึกตั้งแต่ปรัชญารากฐานของบริษัท ไปเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน มีหลายคอมเมนต์ที่ถามว่า "แล้วไมโครซอฟท์ล่ะเป็นอย่างไร"
ตอบตามตรงคือผมก็ยังมองไม่ค่อยออกนักว่าที่ทางของไมโครซอฟท์อยู่ตรงไหนในโลกไอทียุคใหม่ ตัวไมโครซอฟท์เองก็อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ประจวบเหมาะกับที่ผมได้รับเชิญไปงานของไมโครซอฟท์ที่สิงคโปร์ ผู้บริหารของไมโครซอฟท์พูดเรื่องนี้ให้ฟังพอดี ผมคิดว่าเห็นภาพของไมโครซอฟท์ชัดเจนขึ้น เลยมาสรุปให้อ่านกันครับ
ภารกิจใหม่
ผู้บริหารของไมโครซอฟท์เริ่มต้นด้วยประโยคแรกว่า ไมโครซอฟท์ตอนนี้ถือเป็นบริษัทใหม่ โลโก้ใหม่ ซีอีโอใหม่ และวิสัยทัศน์ใหม่ ดังนั้นเราคงต้องมองไมโครซอฟท์ในปัจจุบันให้ต่างไปจากภาพเดิมๆ ของไมโครซอฟท์ในอดีต
เริ่มจากภารกิจขององค์กร เดิมทีไมโครซอฟท์มีเป้าหมายสุดเท่ว่าบริษัทต้องการสร้างโลกที่มี "A computer on every desk and in every home" (เท่มากตรงที่ทำได้สำเร็จ) แต่คำถามคือพอบรรลุภารกิจเดิมแล้วยังไงต่อ?
ไมโครซอฟท์ตอบคำถามนี้ไม่ได้และออกอาการเป๋ ไร้ทิศทางไปสักระยะหนึ่ง ก่อนกลับมาพร้อมกับ ภารกิจใหม่ในปี 2014 ว่า "Empower every person and every organization on the planet to achieve more"
อ่านดูแล้วอาจงงๆ อยู่บ้าง เพราะเป้าหมายไม่ชัดเจนแบบภารกิจเดิม เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า "achieve more" นั้นมีขอบเขตแค่ไหน แต่จากภารกิจองค์กรอันใหม่ก็พอตีความได้ว่า ไมโครซอฟท์จะยังสนใจทั้งตลาดคอนซูเมอร์ (every person) และตลาดองค์กร (every organization) อยู่เช่นเดิม
มุมมองใหม่
ถัดมาจากภารกิจองค์กร เป็น "มุมมอง" (worldview) ของไมโครซอฟท์ที่มีต่อโลกปัจจุบันว่าควรเป็นเช่นไร ซึ่งใครที่ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของไมโครซอฟท์คงคุ้นกับคำนี้ "Mobile-fist, Cloud-first"
แนวทางนี้จะมองว่าคิดนอกกรอบจากไมโครซอฟท์แบบเดิมๆ ("Windows-first") ก็ได้ แต่ในอีกแง่ ทุกบริษัทก็คิดแบบนี้เหมือนกันหมด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกูเกิล ที่มีทั้ง mobile (Android) และบริการคลาวด์สารพัดชนิด
อย่างไรก็ตาม สไลด์อันสำคัญที่ทางผู้บริหารของไมโครซอฟท์นำมาอธิบายให้ฟังคืออันนี้ครับ ยุทธศาสตร์สามขาของไมโครซอฟท์
สไลด์นี้จะช่วยตีกรอบแนวทางของไมโครซอฟท์ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันไมโครซอฟท์วางเป้าหมายย่อยของตัวเองไว้ 3 ข้อตามภาพ
1) Create more personal computing
ข้อนี้หมายถึงธุรกิจระบบปฏิบัติการและฮาร์ดแวร์ทั้งหมด เป้าหมายของไมโครซอฟท์คือสร้าง "คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล" ภายใต้นิยามใหม่ ที่เริ่มเปลี่ยนจากพีซี (Windows/Surface) มายังอุปกรณ์พกพา (Windows Phone/Lumia) แต่ผู้บริหารไมโครซอฟท์ก็เน้นย้ำว่า ประโยคนี้ไม่ได้จำกัดแค่อุปกรณ์พกพา แต่ครอบคลุมถึง "personal computing" ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเกม (Xbox) อุปกรณ์สวมใส่ (Microsoft Band) ไปจนถึงโลกเสมือนจริง (HoloLens)
จากข่าวทั้งหมดที่ผ่านมา เราคงพอทราบกันว่าไมโครซอฟท์ค่อนข้างจริงจังกับการสร้างฮาร์ดแวร์รูปแบบใหม่ๆ หลายชนิด ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นผ่านยุทธศาสตร์ personal computing อันนี้
2) Build the intelligent cloud platform
ยุทธศาสตร์ข้อนี้หมายถึงธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดของบริษัท ที่กำลังเปลี่ยนจากเซิร์ฟเวอร์ในองค์กร (on premise) มาเป็นคลาวด์มากขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งทุกคนคงคาดเดาได้ว่าปลายทางของมันคือคลาวด์ 100%)
ไมโครซอฟท์ดักทางเรื่องนี้โดยออกซอฟต์แวร์สายเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงานได้ทั้งแบบ on premise/on cloud มีฟีเจอร์เหมือนกัน รันงานข้ามกันได้ ในอีกทางก็สร้างแพลตฟอร์ม Azure รอเอาไว้แล้ว ที่เหลือก็รอผู้ใช้พร้อมเปลี่ยนเท่านั้น
คำที่น่าสนใจคือ 'intelligent' ที่เรามองเห็นได้จากบริการบน Azure ช่วงหลังไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่การเป็นคลาวด์แบบ IaaS หรือ PaaS แต่เริ่มมีส่วนของการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาด้วย (เช่น Azure Machine Learning ) ตรงนี้ถือว่าคล้ายกับแนวทางของ IBM ที่มี Watson เข้ามาเป็นส่วนของระบบปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน
3) Reinvent productivity & business processes
ยุทธศาสตร์ข้อสุดท้ายหมายถึง Office แต่ก็ไม่ได้จำกัดแค่ "Office สำหรับงานเอกสาร" แบบที่เรารู้จักกันมานานว่า Office เอาไว้สร้างและแก้ไขไฟล์เอกสาร
ไมโครซอฟท์ใช้คำว่า 'productivity' ซึ่งหมายถึงการทำงานทุกประเภท นอกจากงานเอกสารแล้วยังรวมถึงการประสานงานร่วมกัน (SharePoint/Exchange) การสื่อสารระหว่างกัน (Skype/Lync) รวมถึงการทำงานแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ตามคำว่า 'reinvent' ช่วงหลังเราจึงเริ่มเห็น Office มีผลิตภัณฑ์ตัวแปลกใหม่อย่าง Sway หรือ Delve เกิดขึ้นมา (รวมถึงการไปไล่ซื้อแอพใหม่ๆ อย่าง Sunrise, Wunderlist ด้วย)
โดยสรุปแล้ว ถ้าพูดถึง productivity ก็ขอให้มองไปยังร่มใหญ่ที่ชื่อ Office 365 นั่นเองครับ เรื่องนี้ Satya Nadella เขียนอธิบายไว้ละเอียดในบล็อก Office 2016: Reinventing productivity and business processes
ส่วนคำว่า 'business processes' นั้นเป็นเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในองค์กร ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ตระกูล Dynamics ที่ไมโครซอฟท์ปั้นเอาไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ
สรุป
ในภาพรวม ยุทธศาสตร์ใหญ่ของไมโครซอฟท์ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าไร แต่จัดระเบียบสายผลิตภัณฑ์ให้เคลียร์ขึ้นกว่าเดิมมาก เอาเข้าจริงแล้วไมโครซอฟท์ถือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และผลิตภัณฑ์หลากหลายมากจนงง (และอาจขัดกันเองภายใน)
เมื่อไมโครซอฟท์วางวิสัยทัศน์ใหม่ให้ชัดเจนขึ้น จัดกลุ่มภารกิจให้เหลือเพียงแค่ 3 กลุ่มใหญ่ (หรือจะมองเป็นบริษัทลูก 3 บริษัทก็ได้) จากนี้ไปเวลาไมโครซอฟท์ออกผลิตภัณฑ์หรือฟีเจอร์อะไรใหม่มา ก็สามารถวิเคราะห์ได้ตามกรอบยุทธศาสตร์ 3 ขาข้างต้นนี้ ว่ายังอยู่ภายใต้แนวทางข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ครับ
Comments
ผมรับไม่ได้อยู่ดีที่เอาแอพตัวเองไปปล่อยระบบอื่นก่อนหวังจะยิ่งใหญ่ แต่แย่
+1
ผมว่าควรทำนะ เพราะ platform mobile ที่มีมันง่อยมาก จนทำให้ไม่เกิดผลกระทบที่แรงพอ
อย่างน้อยๆ ก็ปล่อยพร้อมกันเถอะครับ
ສະບາຍດີ :)
+1 แต่ก่อนก็ฮานะครับ แต่หลังจากประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ผมก็พอจะเข้าใจได้ ถึง platform ตัวเองจะเข็นไม่ค่อยขึ้น แต่สาย productivity ยังแข็งแกร่งดีอยู่ครับ(ซึ่งน่าจะครองพื้นที่ใน platform อื่นได้ไม่ยากเย็นอะไร)
อย่างน้อยๆ ก็ปล่อยให้ Windows ก่อนหรือพร้ามกันจะรู้สึกเหมือนไม่โดนทิ้ง
ถ้าจะมีอะไรแย่ ก็คือระบบ ซึ่งตัวที่กระทบก็มีแต่ระบบของ Windows Phone ครับ สิ่งที่ได้คือฐานลูกค้าที่มาติดกับ service ตัวเอง ซึ่งถึงผมจะไม่พอใจอยู่บ้าง (เพราะผมก็ดื้อจะใช้มันนั่นล่ะนะครับ) แต่ก็ไม่คิดว่ามันเป็นแผนที่แย่นะครับ โดยเฉพาะช่วงรอยต่อก่อน Windows 10 Mobile ที่วางโครง UWP ไว้แบบนี้ หากเอาคนมาพัฒนาแอพให้ WP8.1 ก่อนก็เท่ากับเสียเวลาเสียกำลังคนไปอีก (แต่ความเชื่อมันใน W10M ก็ต้องลดลงไปด้วยนั่นแล)
แต่ถ้า W10M ออกแล้วยังคงเป็นแบบนี้ยาวๆ นั่นก็อีกเรื่อง แต่มันก็แย่ในส่วน W10M นั่นแหละครับ
ราคายังปวดตับอยู่เช่นเดิม
จากประโยค " ไมโครซอฟท์ตอนนี้ถือเป็นบริษัทใหม่ โลโก้ใหม่ ซีอีโอใหม่ และวิสัยทัศน์ใหม่ "
สิ่งที่เป็น fact คือ 'โลโก้ใหม่ ซีอีโอใหม่' ที่เหลือเป็นการตีความทั้งหมดครับ
เป้าหมาย 3 ข้อ ก็ 'เบา' มากเมื่อเทียบกับสิ่งที่คู่แข่งกำลังทำไม่แปลกใจเลยที่ Bill Gates ลดพอร์ตตัวเองลงไปเรื่อยๆ และหันไปโฟกัสด้านอื่นแทน
อันนั้นเป็นคำพูดของผู้บริหารไมโครซอฟท์เลยครับ ยกมาเต็มๆ ไม่ได้ดัดแปลง ไม่ใช่เป็นการตีความ
ผมหมายถึงผู้บริหารแกตีความครับไม่ได้หมายถึงท่าน mk ตีความเองครับผม ^^
คือจะบอกว่าพูดออกสื่อระดับนี้แล้ว (สื่อทั่วเอเชีย) คงไม่ใช่ตีความกันเองหรอกครับ เป็นนโยบายบริษัทเลย
ผมว่าถูกแล้วที่ทำให้คนอื่นด้วย แต่ไม่ใช่ทำให้ก่อน แต่บทเรียนของblackberryที่ไม่ยอมทำเมสเซนเจอร์ให้วินโดวในช่วงตัวเองแย่ กลายเป็นไลน์ วอทแอพ วีแชท กาเกา ไวเบอ แทงโก้ แม้กระทั่งเฟสบุคเมสเซนเจอมาตีกินแทนทั้งที่ตัวเองครองลูกค้าแชทไว้ในมือ ยึดติดกะฮาร์ดแว คีบอร์ด แทนที่จะผลักดันตัวเองเป็นมาตรฐานแบบไมโครซอฟ ออฟิส สไกป์ทำ วันได พีดีเอฟสแกนเนอ ...ไอโฟนโปรคือมุกที่ิเด็ด ผมว่านะ
+1
ผมว่ายากครับ ถึง BB จะยอมขยาย messenger ของตัวเองไปอยู่ platform อื่นก็ไม่ได้หมายความว่าฐานลูกค้าจะไม่หายไป
ดูจากที่มี app messenger ใหม่ๆ ซ้ำๆ เกิดขึ้นมาตลอดแต่พวกนั้นก็ยังแย่งส่วนแบ่งไปได้เรื่อยๆ เพราะผู้ใช้ส่วนหนึ่งต้องการใช้ "ของใหม่" เสมอ ของเก่าแม้จะปรับยังไงก็ยังดูเป็นของเก่า (นอกจากจะเล่นแร่แปรธาตุตั้ง brand ใหม่มาครอบของเก่า)
ผมว่ามันมีหลายองค์ประกอบ bbย่ำอยู่กับที่กับความปลอดภัย จุดแข็งของไลน์คืออะไร มีแพลตฟอร์มพีซีเป็นเจ้าแรกๆ สติกเกอร์น่ารักคิกขุ ซึ่งยุคเราๆก็เอ็มเอสเอ็น มันมาแทน เพราะไมโครซอฟ ไปเทคสไกป์จำเป็นต้องทิ้งความซ้ำซ้อน แต่ลืมข้อดีของเอ็มไป emoticonคือสติกเกอร์นั่นเอง ไม่ใช่แค่สติกเกอร์ วอทแอพสติ้กเก้อก็ไม่ได้ดีมากแต่ลูกค้าก็เยอะกว่าไลน์ ฟังเพลงอะไรคู่แชทก็รู้สถานะอีก สไกป์เพิ่งจะมีข่าวเพิ่มสติกเก้อนี่เอง ไลน์มาเป็นคู่ของสไกป์ได้เลย เพราะอะไร วีดีโอคอลครับอีกข้อนึง จะเห็นว่าไลน์มีครบ ทั้งเกม วอทแอพเริ่มลงพีซีตามมา จะเห็นได้วาาอะไรที่ขาดคุณสมบัติพวกนี้เริ่มหายไปจะเป็นแค่แชทข้อความธรรมดาไป
แต่ถ้าจะเอามาคุยแบบเป็นการเป็นงานผมว่า Line ยังห่างไกลเจ้าอื่นๆ ในเรื่องของฟังก์ชั่นมากๆ ครับ
ผมชอบนโยบายของไมโครซอฟต์ยุคใหม่นะคนับ
Mobile-fist --> Mobile-first
My Blog